fbpx
ดอกไม้ที่บานช้า : The Mule

ดอกไม้ที่บานช้า : The Mule

 ‘นรา’ เรื่อง

 

 

ผมเกิดและโตไม่ทันดูหนังของคลินท์ อีสท์วูดในยุคแรกเริ่มสร้างชื่อ จากไตรภาคหนังคาวบอยสปาเก็ตตีที่กำกับโดยเซอร์จิโอ เลโอเน ซึ่งประกอบไปด้วย A Fistful of Dollars (1964)  For a Few Dollars More (1965) และ  The Good, the Bad and the Ugly (1966)

มารู้จักและได้ดูหนังของคลินท์ อีสท์วูดเป็นครั้งแรก จากเรื่อง Every Which Way But Loose เมื่อปี 1978 หรือ 41 ปีที่แล้ว นับแต่นั้นก็ได้ติดตามผลงานกันมาตลอด จนกระทั่งเจริญวัยไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ภาพจำที่ผมนึกถึง ‘ปู่คลินท์’ เมื่อระยะเพิ่งรู้จัก เทียบกับปัจจุบันแล้ว แตกต่างตรงข้ามกันไกลลิบลับเลยนะครับ ตอนนั้นผมเรียกแกว่า ‘พี่จ่า’ อันสืบเนื่องมาจากความโด่งดังในการสวมบทบาท ‘มือปราบปืนโหด’ แฮร์รี คัลลาแฮน ในหนังชุด Dirty Harry (1971) ซึ่งได้รับความนิยมมาก จนต้องมีภาคต่อๆ มา อีก 4 เรื่อง (คือ Magnum Force ปี 1973 The Enforcer ปี 1976 Sudden Impact ปี 1983 และ The Dead Pool ปี 1988)

คลินท์ อีสท์วูด เมื่อคราครั้งนั้น เป็นพระเอกหนังแอ็คชัน ขึ้นแท่นดาราหนังทำเงินอันดับหนึ่งแห่งปีอยู่เนืองๆ โดยผลัดกันครองแชมป์ขับเคี่ยวกับเบิร์ท เรย์โนลส์อย่างสูสีคู่คี่ ผูกขาดครองความยิ่งใหญ่เคียงกันอยู่นานหลายปี

พูดง่ายๆ เป็นภาพจำในท่วงทำนองเดียวกับที่มีต่อดาราอย่างซิลเวสเตอร์ สตอลโลน, อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ หรือบรูซ วิลลิส พวกเขาเหล่านี้มีพลังดารา บุคลิกเฉพาะตัวโดดเด่นเปี่ยมเสน่ห์ เล่นหนังทุกเรื่องด้วยมาดและบทบาทคล้ายๆ กันไปหมด จนเป็นเหตุให้โดนมองข้ามในเรื่องฝีไม้ลายมือความสามารถเรื่องการแสดง

แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านจาก ‘พี่จ่า’ มาเป็นลุงและปู่ตามลำดับ คลินท์ อีสท์วูดก็สั่งสมประสบการณ์ความจัดเจนและชั่วโมงบิน ค่อยๆ ยกระดับตนเองเรื่อยมา ทั้งในฐานะนักแสดงและผู้กำกับ

ในบทบาทตำแหน่งผู้กำกับ ผลงานช่วงต้นของคลินท์ อีสท์วูด ก็เป็นไปในครรลองคล้ายๆ กัน เริ่มจากการทำหนังเพื่อความบันเทิงเอาใจตลาด ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง สลับกันไป โดยมากเป็นหนังฮิต แต่ไม่ได้รับคำยกย่องชื่นชมจากนักวิจารณ์สักเท่าไร

จนกระทั่งถึงปี 1988 แววเก่งในฐานะ ‘คนทำหนัง’ ก็เริ่มปรากฏ จากเรื่อง Bird หนังประวัติชีวิตชาร์ลี พาร์คเกอร์ นักดนตรีแจ๊ซในตำนาน ติดตามมาด้วย White Hunter, Black Heart (1990) และ Unforgiven (1992) ซึ่งทำให้คลินท์ อีสท์วูดได้รับรางวัลออสการ์ผู้กำกับยอดเยี่ยม และขึ้นหิ้งหนังคาวบอยคลาสสิกในเวลาต่อมา

ถัดจากนั้นมา คลินท์ อีสท์วูด ก็กำกับหนังมากขึ้น เล่นหนังน้อยลง และโดดเด่นเป็นที่จดจำในบทบาทหลังกล้องมากกว่าการโลดแล่นบนจอ มีงานเด่นในระดับมาสเตอร์พีซออกมาอย่างต่อเนื่องมากมาย เช่น The Bridges of Madison County (1995), Mystic River (2003), Million Dollar Baby (2005), Flags of Our Fathers (2006), Letter from Iwo Jima (2006), Changeling (2008) และ Gran Torino (2008)

ผลงานเหล่านี้ หนุนส่งให้ปู่คลินท์กลายเป็นผู้กำกับหนังอเมริกันร่วมสมัยที่โดดเด่นมากสุดคนหนึ่ง และกลายเป็น ‘ตำนานที่ยังมีชีวิต’ ไปอย่างเต็มภาคภูมิ

มีข้อน่าสังเกตว่า งานเด่นเกือบทั้งหมด ล้วนเกิดขึ้นต่อเนื่องติดกัน ในยุคที่แฟนคลับเรียกขานนับญาติคลินท์ อีสท์วูดเป็น ‘ปู่คลินท์’ แล้วทั้งสิ้น

เป็นความน่าทึ่งที่สวนทางต่างจากคนปกติทั่วไป ซึ่งมักจะเปี่ยมด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์ในช่วงวัยหนุ่มสาว แล้วจากนั้นก็ค่อยๆ อ่อนล้าโรยแรงลงเมื่อชราภาพ แต่ปู่คลินท์นั้นตรงกันข้าม เข้าลักษณะ ‘ขิงแก่’ ที่ยิ่งนานวัน ยิ่งทวีความเข้มข้น

ความยอดเยี่ยมในหนังที่ปู่คลินท์กำกับ พอจะสรุปได้สั้นๆ ว่า เป็นผลพวงสืบเนื่องมาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือ การเรียนรู้จากประสบการณ์สั่งสมอันคร่ำหวอดโชกโชนมายาวนาน และการทำงานออกมาในช่วง ‘ตกผลึก’ เข้าใจโลกและชีวิตอย่างรู้ซึ้ง

จนถึงปัจจุบัน ปู่คลินท์กำกับหนัง (มีหนังโทรทัศน์ปะปนอยู่บ้างเล็กน้อย) ทั้งหมด 41 เรื่อง

The Mule เป็นผลงานชิ้นล่าสุด ออกฉายเมื่อปีกลาย เสียงตอบรับจากผู้ชมยังคงเป็นที่ชื่นชอบอุ่นหนาฝาคั่ง ขณะที่ฟากนักวิจารณ์ ผลออกมาก้ำกึ่ง มีทั้งชื่นชมและไม่ชอบ ในอัตราส่วนใกล้เคียงกัน

หนังมีต้นตอที่มาจากบทความของแซม โดลนิคที่เขียนลงใน The New York Time ชื่อ The Sinaloa Cartel’s 90-Year-Old Drug Mule ว่าด้วยชีวิตของลีโอ ชาร์ป ผู้เฒ่าวัย 90 อดีตทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งพลิกผันมาทำงานขนยาเสพติดให้กับกลุ่มนักค้าชาวเม็กซิกันในช่วงทศวรรษ 1980

ผมเข้าใจเอาเองและไม่ยืนยันความถูกต้องนะครับ ว่าตัวหนังคงจะนำมาเฉพาะไอเดียและเค้าโครงคร่าวๆ เท่านั้น ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ คงจะปรับเปลี่ยนใหม่หมด

เนื้อเรื่องคร่าวๆ ของ The Mule เล่าถึงชีวิตของเอิร์ล สโตน ชายชราที่ประกอบอาชีพเป็นชาวสวนปลูกไม้ประดับ หนังเริ่มต้นด้วยช่วงเกริ่นในปี 2005 เอิร์ลกำลังอยู่ในช่วงรุ่งเรือง ดอกไม้ในสวนของเขาชนะการประกวดครั้งแล้วครั้งเล่า กิจการเป็นไปด้วยดี ผู้เฒ่าเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนร่วมงาน และผู้คนในชุมชน ด้วยอัธยาศัยใจคอเป็นมิตร มีน้ำใจ ร่ำรวยเสน่ห์และอารมณ์ขัน

แต่แล้วหนังก็ให้ภาพอีกด้านตรงข้าม ในวันที่ไอริสลูกสาวของเอิร์ลกำลังจะเข้าพิธีแต่งงาน (หนังไม่ได้บ่งบอกชัดเจน แต่น่าจะเป็นการแต่งงานใหม่ เพราะขณะนั้นไอริสมีลูกแล้ว อายุประมาณ 9 ขวบ) และรอคอยผู้เป็นพ่อมาร่วมงานด้วยใจกระวนกระวาย เอิร์ลกลับเพลิดเพลินอยู่กับการดื่มฉลองรางวัลชนะการประกวดดอกไม้ และแสดงความใจกว้างเลี้ยงคนทั้งบาร์ (ซึ่งรวมไปถึงคู่บ่าวสาวที่เอิร์ลไม่รู้จัก ซึ่งมาทำพิธีในโรงแรมเดียวกัน)

เรื่องตัดข้ามมายัง 12 ปีต่อมา (ปี 2017) ธุรกิจของเอิร์ลล้มคว่ำไม่เป็นท่า ปรับตัวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ได้รับผลกระทบจากการค้าขายออนไลน์ (ซึ่งในอดีตเอิร์ลเคยมองด้วยความรู้สึกดูแคลน) จนต้องเลิกกิจการ เป็นหนี้จำนวนเงินก้อนโต บ้านและสวนดอกไม้จวนเจียนใกล้จะโดนธนาคารยึด

เอิร์ลเดินทางมาร่วมงานเลี้ยงล่วงหน้าก่อนพิธีสมรสของจินนีผู้เป็นหลานสาว ซึ่งเป็นคนเดียวในครอบครัวที่ยังรักใคร่มีไมตรีต่อตัวเขา ขณะที่แมรีอดีตภรรยาและไอริสผู้เป็นลูกสาว ต่างโกรธและเจ็บช้ำเกินกว่าจะยินยอมให้อภัย ทั้งไม่ต้อนรับและเสือกไสไล่ส่งด้วยความเกรี้ยวกราด

ขณะที่เอิร์ลกำลังจะกลับแบบคนหมดสภาพ สิ้นไร้ไม้ตอก แขกแปลกหน้ารายหนึ่งในงานเลี้ยง แวะเข้ามาพูดคุยเรื่องสัพเพเหระต่างๆ นานา แล้วลงเอยด้วยการยื่นข้อเสนอชักชวนให้เอิร์ลมาทำงาน เป็นคนขับรถส่งของ

ผู้ชมรู้ชัดตั้งแต่เหตุการณ์ยังไม่เริ่มต้นนะครับ ว่าการส่งของนั้นต้องโยงใยเกี่ยวข้องกับเรื่องผิดกฎหมายแน่ๆ ขณะที่ตัวละครคือเอิร์ล อาจจะรู้หรือสงสัยอยู่บ้างหรือไม่ระแคะระคายใดๆ เลย เบื้องต้นเขาปฎิเสธ แต่แล้วความจำเป็นก็บีบบังคับ บ้านและสวนดอกไม้โดนประกาศยึด เตรียมขายทอดตลาด เอิร์ลจึงตัดสินใจรับงาน เพื่อหาเงินมาชำระหนี้ และได้รับผลตอบแทนเป็นเงินก้อนโตมากเกินกว่าที่เขาจะคาดฝัน

นั่นนำไปสู่การ ‘ขนยาเสพติด’ ครั้งต่อมาและต่อมาอีกหลายเที่ยว ไม่นานนักเอิร์ลก็สงสัยอยากรู้อยากเห็น จนละเมิดข้อห้ามเปิดกระเป๋าดูสิ่งของที่นำส่งจุดหมาย และพบว่าภายในคือ โคเคนจำนวนมาก แต่เขาก็ยังคงทำงานสกปรกนี้ต่อไป

ตรงนี้ต้องเล่าแทรกขยายความสักเล็กน้อยว่า เหตุที่แก๊งค้ายาเจาะจงเลือกเอิร์ลมาทำงาน เป็นด้วยคุณสมบัติที่เหมาะเจาะ ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม ไม่เคยโดนใบสั่งในการขับรถผิดกฎจราจรตลอดระยะเวลาอันยาวนาน และที่สำคัญคือ ช่วงวัยอาวุโส รูปลักษณ์ภายนอก และบุคลิกนิสัยใจคอมีมนุษยสัมพันธ์ดีของเอิร์ล ทำให้เขาหลุดพ้นจากการคาดหมายและตกเป็นที่สงสัยของตำรวจ

เอิร์ลประสบความสำเร็จในการ ‘ขนยาเสพติด’ กลายเป็นคนสำคัญในองค์กร เป็นที่โปรดปรานของหัวหน้าแก๊งค้ายา และปริมาณของสินค้าที่เขานำส่งจุดหมาย ก็ค่อยๆ ทวีมูลค่าและจำนวนจนมากมายมหาศาลยิ่งๆ ขึ้นในแต่ละครั้ง

 

 

เรื่องราวที่เหลือของหนัง ว่าด้วยการเดินทางถลำลึกพัวพันกับงานผิดกฎหมาย จนยากจะหาทางกลับ ขณะที่อีกเส้นเรื่องหนึ่ง ก็ว่าด้วยการทำงานสืบสวนสอบสวนของฝ่ายเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด ซึ่งค่อยๆ ติดตามร่องรอยเข้ามาใกล้พบตัวการมากขึ้นทุกชั่วขณะ

บทลงเอยของหนังนั้นคาดเดาได้ไม่ยาก ว่าจะคลี่คลายลงเอยในทิศทางใด (อันที่จริง ผู้ชมสามารถทำนายทายทักได้ถูกต้อง ตั้งแต่ช่วงต้นๆ เรื่องเลยด้วยซ้ำ) ทว่าใหญ่ใจความไม่ได้อยู่ที่ความสลับซับซ้อนของพล็อต หรือการล่อหลอกพลิกผันหักมุม แต่มุ่งไปที่การนำพาผู้ชมติดตามตัวเอกอย่างใกล้ชิด ได้เห็นกระบวนการขั้นตอนการทำงานอย่างไร้แบบแผนนอกตำราของเขาโดยถี่ถ้วน ได้เห็นเบื้องลึกของนิสัยใจคอตัวละคร และมีปลายทางสำคัญอยู่ที่การเรียนรู้ชีวิตของเอิร์ล

นอกจากเนื้อเรื่องจะเดาทางได้ง่ายแล้ว สาระสำคัญของหนังก็ยังเล่าชัดตรงไปตรงมาผ่านบทพูดหลายๆ ตอน มันเป็นเรื่องความผิดพลาดในการใช้ชีวิตของชายคนหนึ่ง ซึ่งเลือกให้ความสำคัญกับงาน และการเป็นที่เคารพรักนับถือจากสังคมวงกว้างนอกบ้าน มากกว่าการใส่ใจใยดีคนในครอบครัว จนกระทั่งทุกอย่างพังย่อยยับ แต่แล้วก็ยังเลือกทำคล้ายๆ เดิม คือการมุ่งหาเงิน เพราะเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ร้าวฉานให้กลับมาสมัคสมานคืนดีได้ดังเดิม แต่ยิ่งกลายเป็นความผิดพลาดที่บานปลายหนักหนากว่าเดิม

คำโปรยบนโปสเตอร์หนัง ได้สรุปใจความสำคัญไว้ว่า Nobody Runs Forever ผมคิดว่ามันสะท้อนความหมายเอาไว้ 2-3 ประการ

อย่างแรกมันอาจเป็นการ runs ในแง่ของการปฏิบัติภารกิจขนส่งยาเสพติด เที่ยวแล้วเที่ยวเล่า และสะท้อนความหมายในเชิง ไม่สามารถฝ่าฝืนกฎหมายทำผิด แล้วลอยนวลตลอดรอดฝั่งได้เรื่อยไป

ความหมายต่อมาใกล้เคียงกัน คือ runs ในแง่หลบหนีจากการไล่ล่าของตำรวจ

ความหมายสุดท้าย ยังเป็นการหลบหนี แต่ไม่ใช่ขนยาเสพติดหรือหนีตำรวจ หากแต่เป็นการหลบหนีจากปัญหาภายในครอบครัวที่เอิร์ลก่อไว้มากมายกลายทบหลายชั้น และไม่เคยกล้าเผชิญหน้าสะสางแก้ไข

 

 

ส่วนคำโปรยข้อเขียนชิ้นนี้ของผม ที่ว่า ‘ดอกไม้ที่บานช้า’ มาจากคำพูดของตัวละครรายหนึ่งในเรื่อง เปรียบเปรยเอิร์ลที่ทำผิดซ้ำซากมายาวนาน ท้ายที่สุด แม้จะล่าช้าเอามากๆ และเกือบจะสายเกินการณ์ แต่เขาก็ได้เรียนรู้เข้าใจชีวิตตอนอายุ 90

ช่วงตอนที่หนังเล่าแสดงถึง ‘การรู้ซึ้งในรสพระธรรม’ ของเอิร์ล เป็นไคลแม็กซ์ของหนังที่ทำได้ซาบซึ้งน่าประทับใจมาก และเป็นกระบวนท่าเก่งของปู่คลินท์ ซึ่งหาใครทำเหมือนเทียบเท่าได้ยาก นั่นคือ การเร้าอารมณ์แต่เพียงเล็กน้อย ไม่บดขยี้ ไม่ฟูมฟาย แต่ง่ายและงามเหลือเกิน

มีบทวิจารณ์ต่างประเทศชิ้นหนึ่งใน Indywire เขียนโดยเดวิด เออร์ลิช เสนอความคิดเห็นไว้ว่า The Mule มีแง่มุมความเป็นหนังส่วนตัวของคลินท์แฝงซ่อนอยู่

เล่าต่อโดยรวบรัดก็คือ หนังเรื่องนี้เสมือนเป็นการสารภาพและคำขอโทษของเขา ส่งผ่านสื่อสารไปยังคนในครอบครัว โดยชี้ให้เห็นว่า จากประวัติผลงาน ปู่แกก็ได้ชื่อว่า เป็นคนบ้างานและขยันมากเข้าขั้นแรงเหลือ จึงน่าจะทุ่มเทใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการทำหนัง และอาจเหลือเวลาสำหรับลูกเมียไม่มากนัก

เท็จจริงไม่ยืนยันนะครับ และยากจะพิสูจน์หยั่งรู้ได้ แต่ผมอ่านแล้วก็รู้สึกว่า เป็นการตั้งข้อสังเกตที่เข้าเค้า และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง หนังเรื่อง The Mule ก็จะยิ่งทวีความซาบซึ้งจับใจมากขึ้นอีกเยอะเลย

เมื่อดูหนังจบ ผมพอจะเข้าใจ ว่าเพราะเหตุไรคำวิจารณ์ของหนังจึงออกมาก้ำกึ่งทั้งบวกและลบ

ว่ากันที่ข้อด้อยนะครับ โดยพล็อตและเนื้อหาสาระ The Mule สามารถไปได้ไกลและลุ่มลึกกว่าที่เป็นอยู่ได้เยอะเลย ในแง่นี้ปัญหาสำคัญก็คือ บทหนังขาดข้อมูลรายละเอียดหลายๆ อย่างที่จำเป็น เช่น เรื่องราวทางฝั่งครอบครัวของเอิร์ล เท่าที่มีอยู่นั้นไม่ได้ขาดตกบกพร่อง ยังเล่าเรื่องได้ใจความครบถ้วน แต่การรวบรัดตัดความ ขาดแคลนส่วนขยาย ก็ส่งผลน้ำหนักความซาบซึ้งน่าประทับใจไปได้ไม่สุดอย่างที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม ส่วนดีของหนังก็คือ ปู่คลินท์เลือกที่จะเล่าเรื่องในลีลาเรียบง่าย ค่อยเป็นค่อยไป ปราศจากฉากหรือเหตุการณ์หวือหวาโลดโผน ได้เพลิดเพลินชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นงานในแนวทาง old school ซึ่งอาจจะแลดูจืดไปบ้าง เมื่อเทียบกับหนังฮิตทุกวันนี้ แต่ก็เหมือนอาหารสูตรโบราณ ที่เริ่มพบเจอได้ยาก และรสมือยังดีเหมือนเดิมไม่แปรเปลี่ยน

The Mule นั้นไม่เฉียดกรายเข้าใกล้กลุ่มหนังคลาสสิคของปู่คลินท์นะครับ ห่างไกลอยู่พอประมาณเลยทีเดียว แต่ผลลัพธ์โดยรวมก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี มีมาตรฐานสูงเข้าขั้นน่าพึงพอใจ และรวมจุดเด่นหลายๆ อย่างอันเป็นเครื่องหมายการค้าของปู่คลินท์เอาไว้ครบครัน ไม่ว่าจะเป็น จังหวะผ่อนหนักผ่อนเบาและลูกล่อลูกชนในการเล่าเรื่อง การใส่เพลงประกอบที่โดดเด่น การใช้ดนตรีประกอบเพื่อเร้าอารมณ์ แบบใส่เข้ามาแต่น้อย และได้ผลเกิดประสิทธิภาพทุกครั้ง งานสร้างที่ไม่หวือหวาจัดจ้าน แต่ตอบสนองและสนับสนุนการเล่าเรื่องอย่างดียิ่ง

ในแง่ของฝีมือการกำกับหนังนั้น The Mule ถือว่าปกติธรรมดา เป็นงานของปู่คลินท์ที่ไม่ได้ท็อปฟอร์ม แค่เกาะเกี่ยวรักษามาตรฐานเดิมเอาไว้

แต่เมื่อคำนึงถึงว่า ปู่คลินท์กำกับหนังเรื่องนี้ขณะอายุ 88 ก็นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจเอามากๆ

เป็นผมอายุ 88 ละก็ แค่เล่นหมากรุกก็น่าจะหอบแฮ่กให้ออกซิเจนแล้วครับ

ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ ปู่คลินท์ไม่ได้กำกับเพียงอย่างเดียว แต่ยังแสดงในบทนำ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง และปรากฏตัวเกือบทุกฉากทุกตอน

ถ้านับเฉพาะหนังที่ปู่คลินท์กำกับ The Mule คืนการหวนคืนมาแสดงอีกครั้ง หลังจาก Gran Torino เมื่อปี 2008 แต่ถ้ารวมไปถึงหนังที่คนอื่นกำกับ บทบาทบนจอครั้งสุดท้ายของปู่คลินท์คือเรื่อง Trouble with the Curve ในปี 2012

เมื่อตอนสมัยยังเป็น ‘พี่จ่า’ คลินท์ อีสท์วูด เล่นหนังด้วยมาดเท่ๆ เป็นหลัก ไม่มีวี่แววว่าจะเป็นนักแสดงที่เก่งเลยนะครับ แต่พอเข้ายุค’ปู่คลินท์’ กลับกลายเป็นคนเล่นหนังเก่ง (ด้วยมาดเท่ๆ เหมือนเดิม แต่มีการแสดงอารมณ์เชิงลึกเพิ่มเข้ามาอย่างพอเหมาะกำลังดี) ซะยังงั้น

ฝีมือการกำกับใน The Mule ของปู่คลินท์นั้น พูดได้ว่าประมาณนึง แต่คุณภาพในเรื่องการแสดงนั้น ผมคิดว่า เป็นส่วนดีที่สุดของหนัง (อีกคนที่เล่นดีมาก แต่บทน้อยไปหน่อยคือ ไดแอน วีสต์ ซึ่งรับบทเป็นภรรยาของเอิร์ล)

ยิ่งไปกว่านั้น บทเอิร์ล สโตน ยังเป็นอีกหนึ่งการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของปู่คลินท์ด้วยนะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save