fbpx

ทำไมจึงเรียกรัฐสภาที่เวสต์มินสเตอร์ว่า The Mother of Parliaments

อาคารรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ของสหราชอาณาจักรที่มีหอนาฬิกาบิ๊กเบนเป็นสัญลักษณ์ริมแม่น้ำเทมส์ในลอนดอน เป็นสถาบันทางการเมืองที่เรียกขานกันมายาวนานว่าเป็นต้นแบบของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) อันเป็นพัฒนาการทางการเมืองการปกครองในรูปแบบที่ยอมรับกันว่าสามารถธำรงรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์มาได้ถึงทุกวันนี้

จอห์น ไบรท์ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมปฏิรูปการเมืองอังกฤษเป็นบุคคลแรกที่ใช้ประโยคว่า “England is the mother of parliaments” ในคำปราศรัยที่เมืองเบอร์มิงแฮม เมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1865 เนื่องจากการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ดำเนินต่อเนื่องกันมาในรูปแบบที่เรียกว่า Westminster model ประสบความสำเร็จในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยผ่านทางรัฐสภา

ที่มาภาพ

ในขณะที่ราชวงศ์ในยุโรปหลายแห่งต้องล้มพังลง เพราะแข็งขืนไม่ยอมปรับตัว หมกมุ่นอยู่กับอำนาจและหลงผิดพาตัวเองลงไปมีส่วนได้เสียในความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจทางการเมืองทั้งภายในและต่างประเทศ ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคือ ออสโตร-ฮังการี ซึ่งเคยเป็นราชอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของยุโรป รวมไปถึงกรีกและฝรั่งเศส

มีนักวิชาการบางคนลงความเห็นว่าระบอบการปกครองแบบรัฐสภาของอังกฤษมีจุดเริ่มต้นมากว่าแปดร้อยปี เมื่อมีการประกาศข้อตกลง Magna Carta (ค.ศ. 1215) ที่เป็นการกำหนดรูปแบบการปกครองใหม่โดยที่พระมหากษัตริย์จะมีอำนาจการปกครองได้ก็ต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจจากผู้ถูกปกครอง และเวลาต่อมาก็มีพัฒนาการรูปแบบการเมืองการปกครองต่อเนื่องกันมา ซึ่งในบางครั้งก็มีต่อรองอย่างสันติ แต่บางครั้งถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมืองเสียเลือดเนื้อกัน จนครั้งหนึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เกือบล่มสลายไป

ตลอดมาในประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษ มีการปฏิรูปและแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รวมทั้งที่เป็นการสร้างขนบประเพณีประชาธิปไตย) ตามลำดับ เพื่อยกพระมหากษัตริย์ออกจากการเมือง ซึ่งได้ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่เป็นการล้มล้าง ทว่าเป็นการรักษาสถาบันฯ ให้พ้นจากความขัดแย้งความมัวหมองทั้งปวง จึงกลายเป็นที่ศรัทธาของประชาชนไม่ว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดก็ตาม

พัฒนาการทางรูปแบบการเมืองการปกครองของอังกฤษที่ปรับเปลี่ยนตามลำดับมา ได้กลายเป็นการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยผ่านกลไกทางรัฐสภา (parliamentary democracy) มีหลายประเทศทั่วโลกนำรูปแบบไป โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในเครือจักรภพ จึงมีการเรียกขานกันว่า รัฐสภาเวสต์มินสเตอร์ที่กรุงลอนดอนเป็น ‘รัฐสภาตัวแม่’ (The Mother of Parliaments)

แต่เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คำว่า The Mother of Parliaments ถูกนำมาใช้ในสภาในอีกความหมายหนึ่ง เมื่อ สมาชิกสภาสามัญหญิงคนหนึ่งถูกห้ามนำลูกทารกอายุสามเดือนเข้าไปร่วมประชุมในห้องโถงที่ใช้อภิปรายของสภา เพราะมีระเบียบห้ามเอาไว้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็เคยมี ส.ส.หญิงคนหนึ่งนำลูกน้อยเข้าไปในห้องประชุม แต่ไม่มีใครทักท้วง ทำให้เกิดการโต้เถียงในสภาและลามออกมาสู่สื่อมวลชน เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ความเป็นแม่และบทบาทหน้าที่การทำงานทางการเมืองในหมู่ ส.ส. หญิงในสภา ในฐานะเป็นปากเป็นเสียงของประชาชน

สเตลลา ครีซี (ภาพจาก Parliament TV)

ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องโต้เถียงกันอย่างดุเดือดในทวิตเตอร์ ในกลุ่ม ส.ส. ที่เห็นอกเห็นใจแม่ลูกอ่อนและฝ่ายที่ขึงขังว่าระเบียบก็ต้องเป็นระเบียบ เพราะห้องประชุมสภาเป็นสถานที่ทำงานไม่ใช่บ้าน บางครั้งมีเรื่องอภิปรายกันอย่างดุเดือดและอึกทึก ไม่ควรนำเด็กอ่อนเข้ามาร่วมฟังการอภิปรายด้วย ส่วน ส.ส.สเตลลา ครีซี แม่ลูกอ่อนสังกัดพรรคเลเบอร์ แย้งว่าตนควรจะทำหน้าที่ ส.ส. พร้อมๆ กับเลี้ยงลูกไปด้วยกันได้

ประธานสภา เซอร์ลินด์เซย์ ฮอย แจ้งต่อที่ประชุมว่า ตนได้ส่งเรื่องนี้ให้ทางคณะกรรมการที่มีหน้าที่ดูแลระเบียบการประชุมพิจารณาทบทวนดูว่าจะมีทางออกอย่างไร เพื่อเป็นการอำนายความสะดวกให้กับแม่ลูกอ่อนและเพื่อจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนไปพร้อมๆ กันด้วย

ความจริงก็มีนักการเมืองหญิงแม่ลูกอ่อนหลายคนที่นำลูกทารกเข้าไปทำหน้าที่ของตนในสภา เคยมี ส.ส.หญิงออสเตรเลีย สวีเดนและสเปน อุ้มลูกอ่อนของตนไปร่วมการประชุมและให้นมลูกในสภาด้วย นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ จาซินดา อาเดิร์นก็เคยอุ้มลูกชายอายุสามเดือนเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติในนิวยอร์กมาแล้ว ส่วนในอังกฤษเองเมื่อ 2-3 ปีก่อน ส.ส.หญิง โจ สวินสัน ซึ่งต่อมาได้เป็นหัวหน้าพรรคลิเบอรัลเดโมแครต ก็เคยอุ้มลูกอ่อนเข้าประชุมสภาเช่นกัน

ทั้งนี้หากมองในภาพใหญ่ก็คงเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางการเมืองที่จะผลักดันให้สังคมตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่และสิทธิของนักการเมืองหญิงที่ก้าวสู่แนวหน้าในวงการเมือง แม้ว่าการเมืองการปกครองด้วยระบอบรัฐสภาในอังกฤษได้ก้าวเดินมาหลายร้อยปีก็ตาม แต่ผู้หญิงในอังกฤษเพิ่งจะมีสิทธิไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งก็เพียงร้อยปีกว่าที่ผ่านมานี้เอง

หลังจาก Magna Carta ต่อมาก็เกิดพัฒนาการที่ทำให้ระบอบการปกครองแบบรัฐสภาก่อรูปก่อร่างชัดเจนขึ้น คือการประกาศใช้กฎบัตร The Bill of Rights โดยพระปรมาภิไธยของกษัตริย์วิลเลียมที่สามและพระราชินีแมรีที่สอง ในปี 1689 แต่ทั้งนี้ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามกลางเมืองแย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างฝ่ายนิยมกษัตริย์ (royalists) ที่พ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายนิยมรัฐสภา (parliamentarians) 

นับได้ว่า The Bill of Rights เป็นรัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่งที่สถาปนาระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ กล่าวคือกษัตริย์หรือราชินีทรงเป็นประมุขแห่งรัฐแต่การใช้อำนาจใดๆ ก็จะถูกกำหนดด้วยกฎหมาย ซึ่งภายใต้ระบบนี้ พระมหากษัตริย์จะใช้อำนาจก็ด้วยความยินยอมของรัฐสภา และประชาชนมีสิทธิมีเสียงที่จะคัดเลือกตัวแทนไปทำงานในรัฐสภา อันเป็นพัฒนาการที่บ่งบอกว่าอำนาจการปกครองมาจากประชาชน ไม่ใช่กษัตริย์อีกต่อไป

นักประวัติศาสตร์ของอังกฤษหลายคนเชื่อว่า นี่เป็นการสิ้นสุดลงของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยผ่านทางรัฐสภา ซึ่งโดยแท้จริงกลายเป็นการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ในอังกฤษให้มั่นคงสืบเนื่องมาได้อย่างยาวนาน เมื่อเทียบกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในหลายประเทศของยุโรปที่ล้มสลายไป เพราะฝ่ายรอยัลลิสต์ในประเทศเหล่านั้นไม่ยอมรับการปฏิรูป

The Bill of Rights ได้วางหลักการสำคัญๆ สำหรับการยกฐานะของรัฐสภา ลดอำนาจของกษัตริย์และรับรองสิทธิของประชาชนไว้เป็นหลักดังนี้

  • สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะคัดเลือกตัวแทนไปเป็นสมาชิกรัฐสภา โดยปลอดจากการชี้นำของกษัตริย์หรือราชินี
  • สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในรัฐสภา
  • มาตรการป้องกันมิให้กษัตริย์หรือราชินีเข้าแทรกแซงหรือชี้นำการออกกฎหมาย
  • สิทธิเสรีภาพในการยื่นฎีกาต่อกษัตริย์
  • สิทธิเสรีภาพที่จะปลอดจากการถูกลงโทษอย่างทารุณหรือจากการลงโทษอย่างผิดปกติ หรือจากการถูกกำหนดเรียกเบี้ยประกันตัวที่มากจนเลยเถิด
  • สิทธิเสรีภาพที่จะปลอดจากการถูกเรียกเก็บภาษีจากการใช้พระราชอำนาจ โดยไม่ผ่านการรับรองของรัฐสภา
  • สิทธิเสรีภาพที่จะปลอดจากการถูกเรียกปรับ การถูกยึดทรัพย์สิน โดยปราศจากการไต่สวนอย่างเป็นธรรม
  • สิทธิเสรีภาพที่จะไม่ถูกเรียกเกณฑ์ทหาร ในระหว่างที่ประเทศไม่มีศึกสงคราม

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า กฎบัตรว่าด้วยสิทธิของประชาชนนี้ได้กลายเป็นรากฐานของการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยรัฐสภา (parliamentary democracy) ของสหราชอาณาจักรในปัจจุบัน และเป็นแม่แบบของประชาธิปไตยสมัยใหม่ในหลายๆ ประเทศ ทั้งประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ

หลักการหรือปรัชญาหลายประการจาก The English Bill of Rights ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้มีการก่อร่างสร้างตัวของชุมชนคนยุโรปที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในโลกใหม่ที่รวมตัวกันประกาศเอกราชก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นพื้นฐานของการร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐ The U.S. Constitution และกฎบัตร The U.S. Bill of Rights นอกจากนี้ยังเป็นหลักการที่สหประชาชาตินำไปใช้ในคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วย

ในปี 1948 สหประชาชาติได้ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) อันเป็นคำประกาศรับรองสิทธิมนุษยชนในทุกประเทศที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ  โดยรัฐบาลของแต่ละประเทศมีพันธะจะต้องออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศของตน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สหประชาชาติจะไล่เบี้ยกับประเทศที่ไม่รักษามาตรฐานและปฏิบัติตามพันธะสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

สำหรับในประเทศไทยนั้น การรับรู้เกี่ยวกับระบอบการปกครองแบบรัฐสภาหรือที่ชาวสยามเรียกว่า ปาลีเมนต์ นั้น คงได้วี่แววมาจากบทประพันธ์ นิราศลอนดอน ของหม่อมราโชทัย ที่เป็นล่ามของคณะราชทูตสยามนำพระราชสาส์นและบรรณาการของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปถวายสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียในกรุงลอนดอนเมื่อประมาณ 164 ปีก่อน ซึ่งมีบทหนึ่งที่บรรยายถึงบรรยากาศพระราชพิธีเสด็จเปิดประชุมสภาที่เวสต์มินสเตอร์

ครั้นเอกองค์อัครเรศเกศกัญญา

เสด็จคลาถึงที่ปาลีเมนต์ …

พระราชพิธีเสด็จเปิดการประชุมรัฐสภา ตามที่หม่อมราโชทัยบรรยายในนิราศลอนดอน ยังคงเป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานถึงทุกวันนี้ จากพระนางเจ้าวิกตอเรีย ถึงพระราชินีเอลิซาเบธที่สองถือว่าเป็นการบ่งบอกถึงการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่อำนาจการปกครองและการบริหารประเทศอยู่ที่สภาสามัญชน (House of Commons) เพราะเป็นที่ประชุมของตัวแทนที่ประชาชนคัดเลือกมาเป็นปากเป็นเสียง

ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมทั่วโลกจึงยอมรับว่ารากฐานแนวคิดทางการเมืองซึ่งมีต้นตอมาจาก Magna Carta และ Bill of Rights ในอังกฤษได้มีการต่อยอดมาเป็น The Mother of Parliaments

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save