fbpx

ถึงคราวสื่อเคลื่อนสังคม ‘The Momentum’

ช่วงเวลาที่สังคมไทยเริ่มได้เห็นคนหนุ่มสาวออกมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนนอย่างร้อนแรงเมื่อปลายปีที่แล้ว คือช่วงเวลาเดียวกันกับที่ อินทรชัย พาณิชกุล และ สุภชาติ เล็บนาค ก้าวเข้ามารับบทบาทบรรณาธิการบริหารชุดใหม่ของ The Momentum 

จากนักข่าวหนังสือพิมพ์สู่สนามสื่อออนไลน์ ความท้าทายไม่ใช่แค่จริตคนอ่านที่เปลี่ยนไป แต่ในสถานการณ์ที่การเมืองยังเป็นประเด็นร้อนระอุและสื่อถูกตั้งคำถามเรื่องการนำเสนอข่าวจากสังคม จะทำอย่างไรให้สื่อเป็นกระบอกเสียงของประชาชน? บทบาทของสื่อควรเป็นอย่างไร? จุดยืนของสื่อต้องเป็นกลางแค่ไหน?

ในฐานะบรรณาธิการบริหารของ The Momentum พวกเขาอยากให้สื่อสร้างแรงกระเพื่อม ขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางใด? 101 ชวน อินทรชัย พาณิชกุล และ สุภชาติ เล็บนาค มาตอบคำถามเหล่านี้ พร้อมพูดคุยถึงแนวคิดของ The Momentum ใหม่ในยุคที่เติมความเข้มข้นด้านคอนเทนต์การเมือง การทำงานในสนามสื่อออนไลน์ และภาพของ The Momentum ที่เราอาจได้เห็นในอนาคต


จากคนข่าวหนังสือพิมพ์ สู่สนามออนไลน์


อินทรชัย : ผมเข้าวงการสื่อสารมวลชนมาตั้งแต่ปี 2548 เริ่มต้นด้วยการเขียนสารคดีให้นิตยสาร ฅ.คน 1 ปี แล้วย้ายมาทำข่าวให้หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ทำตั้งแต่โต๊ะข่าวสังคมทั่วไป การเมืองบ้างเล็กน้อย ข่าวไลฟ์สไตล์ ศิลปะ ความบันเทิงต่างๆ รวมถึงเป็นนักข่าวออนไลน์ทำสกู๊ปพิเศษให้ในช่วงท้าย ก่อนไปอยู่อินเดีย 1 ปี เดินทาง ท่องเที่ยว เขียนหนังสือ พอกลับมาก็เป็นฟรีแลนซ์ รับจ้างเขียนสารพัด ทั้งเขียนสคริปต์สารคดีทีวี สัมภาษณ์พิเศษต่างๆ และบทความ อีก 1 ปีถัดมาก็ได้เป็นบก.ออนไลน์ของสำนักพิมพ์ยิปซี ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ จนสุดท้าย พี่นิภา เผ่าศรีเจริญ ซื่งเป็นคอนเทนต์ไดเรกเตอร์ของเครือ Daypoets ชวนมาทำงานที่ The Momentum เราจึงได้มาเริ่มทำเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้เอง

ความท้าทายส่วนตัวคือการกลับมาลงสนามข่าวอีกครั้งในรอบ 3-4 ปี การร้างราจากบรรยากาศการทำข่าว ติดต่อแหล่งข่าว การลงพื้นที่ เขียนสกู๊ป ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนอะไรต่างๆ เยอะพอสมควร ความท้าทายต่อมาคือสถานการณ์บ้านเมืองกำลังร้อนแรงพอดี มีม็อบใหญ่ เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย ที่ท้าทายไปอีกคือเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ เทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์สื่อ และวิกฤตโควิด-19 การทำข่าวในช่วงเวลานี้ถือเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็น่าตื่นเต้น

สุภชาติ : ผมเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ตั้งแต่ตอนเรียนจบปี 2554 ทำงานสายการเมืองกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งโพสต์ทูเดย์เป็นหนังสือพิมพ์ที่ค่อนข้างเปิดกว้าง ทำให้ผมมีโอกาสไปสัมภาษณ์ตัวละครค่อนข้างเยอะ ได้ทำทั้งสัมภาษณ์พิเศษ บทวิเคราะห์ เขียนคอลัมน์ประจำ ทำงานอยู่ 5 ปีเศษก็ลาออกไปเรียนต่อสายวารสารที่ออสเตรเลีย เรียนจบกลับมาเมืองไทยก็ทำงานเป็นฟรีแลนซ์อยู่พักหนึ่ง เป็นคอลัมนิสต์ประจำให้ The MATTER เรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์ เพราะส่วนตัวผมเป็นเนิร์ดการเมือง สนใจด้านนี้อยู่แล้ว พอพี่เดียร์ (อินทรชัย) ชวนมาสร้างทีมใหม่ที่ The Momentum เลยเข้ามาทำงานบรรณาธิการบริหาร

สำหรับผม ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปหมด จากเดิมผมทำหนังสือพิมพ์ ทุกอย่างยังไม่เร็วเท่ากับข่าวออนไลน์ เรายังมีเวลาคิดเรื่องสัมภาษณ์ ใคร่ครวญว่าจะทำอะไรให้แตกต่างไปจากเดิม แต่ตอนนี้พอมาทำงานสื่อออนไลน์ถือว่าเป็นสมรภูมิใหม่ สิ่งที่ท้าทายมากคือเรามาจากคนข่าวดั้งเดิม ตอนที่มาตั้งทีม The Momentum ใหม่ก็ไม่ได้ใหญ่ เราต้องดูว่าคู่แข่งทำอะไร แล้วเราจะทำอะไร การทำสำนักข่าวออนไลน์ไม่ใช่มีเรื่องอะไรก็ลงด่วนๆ ไป เพราะมันไม่สร้างคุณค่าให้กับโลกอินเทอร์เน็ต เราต้องหาความแตกต่างและจุดขายของเราใหม่

อีกเรื่องคือเรารับช่วงต่อมาจากพี่เคน (นครินทร์ วนกิจไพบูลย์) และพี่นิ้ว (อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา) The Momentum มีกลุ่มผู้ติดตามเดิมอยู่แล้ว เราต้องใช้เวลาพอสมควรในการจับทางว่าแฟนเพจที่มีอยู่สนใจเรื่องอะไร ชอบคอนเทนต์ที่เราทำไหม ตอนที่เราเข้ามาการเมืองค่อนข้างเข้มข้น เริ่มจับแกนนำ นำมาตรา 112 กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต่างไปจากตอนเราทำหนังสือพิมพ์ เราก็พยายามแตะเรื่องเหล่านี้ เพราะอยากให้สื่อออนไลน์ที่เราเข้ามารับช่วงต่อพาสังคมไปได้ไกลขึ้น


บรรณาธิการ The Momentum


เบื้องหลังวิธีคิดและแก่นหลักของ The Momentum


อินทรชัย : ตอนแรกที่เข้ามา เราเซ็ตทีมกันว่าจะมาทำข่าว ช่วงแรกมีทีมงาน 9 คน เป็นช่วงปรับตัวและเป็นช่วงที่สถานการณ์การเมืองดุเดือดมาก มีม็อบ มีการจับแกนนำแทบทุกอาทิตย์ เราก็คิดประเด็น คิดทิศทางว่าจะทำข่าวกันแบบไหน

พอทำไปได้ 1 เดือน เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือมีทีมจาก a day BULLETIN มารวมทีมกับ The Momentum ซึ่งข้อดีมากๆ คือทีมงานใหญ่ขึ้นจาก 9 คนเป็น 25 คน ได้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ มีความสนใจหลากหลาย สามารถเล่าเรื่องในรูปแบบต่างๆ มาร่วมทีม แต่การรวมทีมก็ทำให้เราต้องทำการบ้านอย่างหนัก ต้องวางทิศทางใหม่ว่า The Momentum หลังจากนี้จะเดินไปทางไหน การออกแบบโครงสร้างทีมจะมีใครบ้าง เราวางแผนจากการไปคุยกับน้องๆ ทีมงานทุกคน ถามถึงความถนัด เป้าหมาย แล้วมาประชุมแบ่งโต๊ะแบ่งตามความถนัดและความสนใจ รวมไปถึงการออกแบบคอนเทนต์

เราพยายามวางคอนเทนต์ที่หลากหลายและครอบคลุม จนสุดท้ายผมไม่ได้มอง The Momentum เป็นสำนักข่าวจ๋าแล้ว เพราะโมเดลสำนักข่าวต้องใช้กำลังคนเยอะ ต้องมีนักข่าวหลายประเภทและมีการทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง คือทำข่าวด่วน ข่าวร้อน เกาะกระแส แต่เราเรียกตัวเองว่าเป็นสำนักสื่อดิจิทัลออนไลน์ ซึ่งเป็นนิยามเปิดกว้างกว่า และยึดถือแก่นหลักสามอย่าง

อย่างแรกคือ The Momentum ยังคงใช้ความ current เป็นธงนำ หรือก็คือข่าว เราทำประเด็นต่างๆ ที่เป็น กระแส talk of the town หรือกระแสสังคมที่คนสนใจ

อย่างที่สองคือ Drive the momentum ประเด็นที่เราเลือกทำจะต้องเป็นประเด็นที่ขับเคลื่อนสังคม ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อม เพศ สิทธิมนุษยชน กีฬา และหนังสือ เราจะตั้งต้นคิดจากความ current และสามารถขับเคลื่อนสังคมได้เป็นสำคัญ

อย่างสุดท้ายคือความเป็นสื่อดิจิทัลออนไลน์ เมื่อหลายปีก่อน สื่ออาจจะเน้นการนำเสนอบทความ แต่ตอนนี้เรามีรูปแบบและแพลตฟอร์มต่างๆ จึงพยายามออกแบบการเล่าเรื่องที่หลากหลาย เช่น เล่าผ่านคลิปวิดีโอ หรืออัลบั้มภาพ 

เรายังเปิดพื้นที่ให้ความเห็นต่าง ซึ่งตรงกับสโลแกนของ The Momentum คือ Stay Curious, Be Open เพื่อให้มีทั้งความหลากหลายด้านเนื้อหาและความเร็ว เราจะมีสิ่งที่เรียกว่าหมัดหนึ่ง หมัดสอง หมัดสามเวลานำเสนอ หมัดหนึ่งคือข่าว รายงาน บทวิเคราะห์ที่ต้องเกาะกระแสร้อน หมัดสองอาจจะเป็นฟีเจอร์ที่ต้องใช้เวลาทำ ลงพื้นที่ แต่ทันกระแสอยู่ ส่วนหมัดสามเป็นงานที่ลดความเร็วลง แต่พูดถึงประเด็นต่อยอดจากกระแสและเล่ามุมใหม่ อาจจะเป็นสารคดี พอดแคสต์ แต่ทั้งหมดจะส่งเสริมกันและกัน

เนื่องจากกลุ่มคนอ่านของเราเป็นคนหนุ่มสาวอายุ 25-35 ปีเป็นส่วนใหญ่ ชอบเสพเนื้อหาที่หนัก critical thinking เราจึงพยายามทำคอนเทนต์ให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายด้วย โดยข่าวที่เป็นธงนำก็พยายามทำให้ต่าง ลึก และน่าสนใจ มีงานแปล บทความต่างๆ ซึ่งแบ่งออกเป็นบทความจากน้องในทีม เราเปิดโอกาสให้เขาได้ออกแบบประเด็นและมีพื้นที่ทำสิ่งที่อยากทำ กับบทความจากคอลัมนิสต์ข้างนอก เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือคนรู้ลึกรู้จริงเรื่องต่างๆ มาเขียน ถือเป็นสีสันและแม่เหล็กของเราทางหนึ่ง

นอกจากนี้ เรายังพยายามออกแบบการเล่าเรื่องราวผ่านช่องทางต่างๆ ที่คิดว่าเหมาะกับยุคสมัย เช่น พอดแคสต์ วิดีโอคลิป อินโฟกราฟิก อัลบั้มภาพ หรือกระทั่งคลับเฮาส์ที่ดังๆ อยู่ตอนนี้


อินทรชัย พาณิชกุล


สื่อรุ่นเก๋า-คนรุ่นใหม่ ยุคของการเรียนรู้ร่วมกัน


สุภชาติ :  ด้วยความที่เรามาจากคนข่าวยุคหนังสือพิมพ์ หลายๆ อย่างก็จะดึงจากทักษะในยุคหนังสือพิมพ์ที่เราทำกันมาก่อน ทั้งวิธีเลือกข่าว ประเมินข่าว ดูว่ามีความน่าสนใจไหม กระทบกับคนไหม ปกป้องใครได้ไหม สามารถนำเสนอในเชิงลึก สืบสวนสอบสวนได้ไหม เราพยายามเน้นคุณค่าข่าวเหล่านี้กลับมาโลดแล่นบนโลกออนไลน์อีกครั้ง

เราต้องการทำข่าวที่ลึกกว่าสำนักข่าวออนไลน์อื่นๆ โดยพยายามอธิบายว่าเบื้องหลังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์แต่ละตัวละครเป็นอย่างไร ประวัติศาสตร์เป็นมาอย่างไร และสามารถวิเคราะห์ได้อย่างไร เพราะสมัยก่อนที่เราทำข่าวการเมืองในหนังสือพิมพ์ หน้าที่หลักของนักข่าวคือการคุยกับหาให้ได้ว่าเบื้องหลังมีอะไรบ้าง เป็นสิ่งที่ผมนำกลับมาใช้ในการทำงานของ The Momentum และเราพยายามพาคนให้หลุดจากเสียงก้องในห้องแคบ ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวในมุมอื่นๆ เช่น เรื่องเกร็ดในประวัติศาสตร์ เรื่องในต่างประเทศที่เชื่อมโยงกัน คุยกับคนหลากหลาย หาตัวละครอื่นที่ไม่มีสื่อไหนคุยหรือตัวละครที่เป็นขั้วความคิดตรงข้าม หัวอนุรักษนิยมมามองปรากฏการณ์ เพื่อให้คนอ่านไม่ติดอยู่กับชุดความคิดหรือภาพเหมารวมแบบเดียว

ในแง่หนึ่ง การทำงานตอนนี้ก็ถือเป็นการเรียนรู้ของเราสองคนที่มาจากยุคอะนาล็อกเหมือนกัน เพราะคนรุ่นใหม่ที่โตมากับโลกออนไลน์จะมีวิธีคิด วิธีการทำงาน มองประเด็นต่างจากเรา เช่น การทำงานไม่จำเป็นต้องลงแรงสัมภาษณ์อย่างเดียว แต่ดูจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือในเว็บไซต์ต่างประเทศอื่นๆ ก็ได้ อีกอย่าง การได้รวมทีมกับ a day BULLETIN ก็ทำให้เวลาทำบทสัมภาษณ์ วิดีโอ มีองค์ประกอบศิลป์ที่พิถีพิถันมากขึ้น มีการนำจุดเด่นของภาพในนิตยสารมาอยู่บนออนไลน์อีกครั้ง

อินทรชัย : ตอนนี้เป็นยุคการผสมผสานระหว่างความรู้ด้านวารสารศาสตร์ของผมกับลูกหมี (สุภชาติ) ที่เป็นนักข่าวยุคหนังสือพิมพ์และความเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ของน้องทีมงาน เราถูกฝึกมาอย่างสมบุกสมบัน ไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้าหาข้อมูล ลงพื้นที่สัมภาษณ์ คัดสรรแหล่งข่าว การหยิบประเด็น ข้อเท็จจริงมาใช้ ซึ่งความรู้เหล่านี้ก็ไปช่วยน้องๆ ให้มีความละเอียดในการทำงาน แต่ขณะเดียวกัน จุดเด่นของคนรุ่นใหม่คือความคิดสร้างสรรค์ ทันสมัย คิดนอกกรอบ นั่นหมายความว่าเราได้เรียนรู้การคิดประเด็น การเล่าเรื่องแบบสนุกๆ ใหม่ๆ จากพวกเขา

ผมคิดว่าเป็นการผสมผสานระหว่างความโอลด์สคูลและนิวสคูลมาเจอกัน ระหว่างที่เราพยายามปลุกปั้นเนื้อหาให้ลึก แตกต่าง น่าเชื่อถือ มืออาชีพ พวกเขาก็เข้ามาทำให้มันไม่เชย เมื่อรวมกับว่าการเล่าเรื่องที่เคยถูกตีกรอบด้วยพื้นที่ ความยาวของข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์เปลี่ยนมาอยู่บนโลกออนไลน์ ก็ทำให้เราได้เห็นการออกแบบสไตล์การเล่าเรื่องๆ ต่างๆ ที่ท้าทายและสนุกมากในตอนนี้  


สื่อและการขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า


เสรีภาพและความกล้า – กรณีมาตรา 112


อินทรชัย : ในสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ คนหนุ่มสาวตื่นตัวทางการเมือง แล้วการเคลื่อนไหวของม็อบที่ผ่านมา ผมคิดว่ามาตรา 112 เป็นหัวข้อสำคัญที่หลีกเลี่ยงการพูดถึงไม่ได้อีกแล้ว ตลอดการชุมนุมที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกพูดถึงอย่างเปิดเผยมากขึ้น สาธารณะมากขึ้น ในวันที่เพดานขยับ สื่อต้องเข้าใจว่าไม่นำเสนอเหมือนยุคก่อนไม่ได้แล้ว

ตอนที่ผมกลับมาลุยสนามข่าวในนาม The Momentum ผมคิดว่าเรื่องที่คนไม่ค่อยพูดถึง ไม่กล้าพูดถึง มันยิ่งต้องพูด เพราะเป็นประเด็นที่สำคัญมากๆ  เราเห็นว่ากฎหมายนี้ส่งผลกระทบต่อผู้คน ถูกจำคุกไม่รู้เท่าไร มันเป็นกฎหมายที่คนกลัวและยังสับสนอยู่ว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง ดังนั้น ผมมองว่าสื่อต้องช่วยให้ความรู้แก่คนอ่านมากขึ้น เหมือนที่ iLaw หรือศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพยายามทำ

ความท้าทายของสื่อตอนนี้คือความกล้าในการนำเสนอ แต่ก็เป็นความจริงที่กฎหมายประเทศนี้ค่อนข้างรุนแรง ผมจึงบอกกับทีมว่าเราต้องนำเสนอข้อเท็จจริงเรื่องสถาบันฯ และมาตรา 112 อย่างตรงไปตรงมา เปิดพื้นที่ให้ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม แต่ไม่แซะ ไม่เอาสะใจ ไม่เอามัน   

สุภชาติ : ผมเก็บกดมาตั้งแต่ตอนทำหนังสือพิมพ์ เวลามีเรื่องเกี่ยวกับมาตรา 112 เราเสนอได้แค่มีคนถูกดำเนินคดี แต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าโดนเพราะอะไร พฤติการณ์เป็นอย่างไร มันเป็นความผิดปกติที่เรามองเห็น เมื่อมาทำงานสื่อในตอนนี้ ตอนที่สังคมมีพัฒนาการจากการที่กลุ่มผู้ชุมนุมและทุกคนพยายามดันเพดานขึ้นไป เราจึงอยากนำเสนอให้สังคมเห็นว่ามีความแปลกประหลาดเช่นนี้เกิดขึ้นจริง อย่างวันแรกที่เข้ามาทำงาน The Momentum เราเลือกทำรวมคดีแปลกๆ เกี่ยวกับมาตรา 112 ว่ามีคดีอะไรบ้าง ทั้งเรื่องคุณเจ๋ง ดอกจิกชี้นิ้วขึ้นฟ้า เรื่องหมิ่นสุนัข ฯลฯ เพื่อทลายเพดานเดิมๆ ความกลัวเดิมๆ ที่สื่อเคยมี

ผมคิดว่าสื่อในช่วงเวลาที่แหลมคมแบบนี้ ส่วนหนึ่งต้องทำหน้าที่พาสังคมเข้าสู่ความเป็นปกติ ทำลายความสุดโต่ง ความกลัวที่เราเคยมี ถ้าสังคมเดินไปข้างหน้า สื่อควรจะก้าวไปพร้อมๆ กัน อะไรที่สังคมยังขาด สื่อก็ควรจะเข้ามาช่วย ควรเข้ามาปกป้องผู้ถูกกระทำต่างๆ ให้พื้นที่นำเสนอว่ายังเกิดความไม่ยุติธรรมและความไม่ปกติอยู่นะ


สุภชาติ เล็บนาค


ทลายมายาคติความเป็นกลาง และอยู่ข้างผู้ถูกกระทำ


อินทรชัย : ในยุคที่รัฐบาลกดขี่ประชาชน มีอำนาจเถื่อนบางอย่างที่เมื่อคุณเห็นต่าง ก็มีคนไปถ่ายรูปหน้าบ้าน ข่มขู่คุกคาม เสี่ยงต่อการโดนอุ้มหาย ในสภาวะแบบนี้ ถ้าสื่อกระแสหลักไม่สนใจ คนก็อาจไม่สนใจ มันจึงเป็นหน้าที่ของเราในการนำเสนอข่าว เช็กข่าว ส่งเสียงออกไปเพื่อให้สังคมหันมาสนใจ ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ปกป้องเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ตัวอย่างกรณีบางกลอย ชาวกะเหรี่ยงตัวเล็กตัวน้อยอยู่ในป่า ไม่มีอำนาจเส้นสายในมือ วันหนึ่งถูกรังแกอย่างไม่เป็นธรรม ถ้าสื่อไม่พื้นที่ไปรายงานความเดือดร้อน ความทุกข์ยาก การที่เขาถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า สังคมจะไม่รับรู้เลย กลับกัน เราเห็นได้ชัดว่าเมื่อสื่อช่วยกันฉายไฟ นำเสนอข้อเท็จจริงของคนไม่มีปากเสียง ทำให้สังคมหันมาสนใจได้จริง และช่วยกดดันส่งเสียงไปยังรัฐบาล ผู้มีอำนาจได้จริง

วันนี้คนอาจถามเรื่องความเป็นกลางของสื่อว่าควรเปิดพื้นที่ให้สองฝ่าย สองแนวคิดอุดมการณ์มาถกเถียงแลกเปลี่ยนหาทางออก ผมก็อยากจะตอบว่าในสถานการณ์บ้านเมืองที่รัฐบาลกดขี่คนหลายทาง กฎหมายล้าหลัง เป็นพิษต่อประชาชน สื่อควรเลือกข้างคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีปากเสียง ไม่มีพื้นที่ให้พูด เพราะถ้าอีกฝ่ายมีเส้นสาย อำนาจ เงิน และพื้นที่พูดแล้ว เราก็ควรอยู่ข้างคนที่เสียเปรียบเทียบเพื่อทำให้มันแฟร์

ถ้าสื่อบอกว่าตัวเองเป็นกลางได้ในสถานการณ์ที่ไม่แฟร์ ผมก็คิดว่ามันโหดร้ายไปหน่อย คำว่าสื่อเลือกข้างอาจจะน่ากลัว แต่เราควรยึดหลักการคนเท่ากัน ต่อต้านเผด็จการ สนับสนุนประชาธิปไตย และเคารพสิทธิเสรีภาพของทุกคนมากกว่าความเป็นกลางแบบนั้น


มีจุดยืนชัดเจน และทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ


สุภชาติ : บทบาทสื่อที่สำคัญมากในประเทศประชาธิปไตยคือการตรวจสอบอำนาจรัฐ และปกป้องคนตัวเล็กตัวน้อยที่โดนกระทำจากอำนาจรัฐหรืออำนาจไม่เป็นธรรมอื่นๆ ดังนั้น สื่อต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนเวลาตั้งคำถามเรื่องการใช้ความรุนแรงกับประชาชน ตั้งคำถามเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบกับประชาชน และทำหน้าที่ตีแผ่อย่างเต็มที่

ผมเคยอยู่ในสมาคมนักข่าวและเคยเป็นกรรมการเรื่องสิทธิเสรีภาพ ในช่วงต้นๆ ของการรัฐประหาร มีเหตุการณ์พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร มีการใช้ ม.44 แม้จะมีนักข่าวออกมาบอกว่ารัฐไม่ควรทำแบบนั้น แต่เมื่อถึงเวลาออกแถลงการณ์ในนามสมาคมกลับมีท่าทีอีกแบบ พยายามประนีประนอมกับรัฐพอสมควร และมีการออก motto ว่าสื่อควรมีเสรีภาพบนความรับผิดชอบ เราก็สงสัยว่าทำไมต้องออกแถลงการณ์ด้วยท่าทีแบบนั้น ในเมื่อรัฐใช้อำนาจกดดันอย่างไม่เป็นธรรม มันฝังใจเรามาตลอดว่าสื่อควรจะมีจุดยืนที่ชัดเจน ทำหน้าที่ปกป้องประชาชนจากการคุกคาม ใช้อำนาจโดยมิชอบที่อาจเลยกรอบของกฎหมายจากรัฐ

ทุกวันนี้เมื่อได้มาบริหารองค์กรสื่อ เราจึงพยายามมีจุดยืนบางอย่าง อย่างน้อยคือพยายามทำให้เหตุการณ์ความไม่ปกติต่างๆ กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ประชาชนจะได้เชื่อถือว่าสื่อเป็นตัวแทนให้เขาได้นะ ไม่ใช่ตัวแทนของผู้มีอำนาจฝ่ายไหน ที่เรายังทำสื่อทุกวันนี้เพราะเชื่อว่าสื่อมีประโยชน์ในการต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม เชื่อว่าสื่อมีพลังเปลี่ยนสังคมได้ ถึงไม่สามารถต่อสู้จนล้มอำนาจรัฐ อำนาจทุน แต่สื่อจะช่วยปลูกปัญญา ทำให้คนมีความคิดกว้างไกลจากข้อมูลข่าวสารที่เราให้ ถ้าคนมีความรู้มากขึ้น เห็นเบื้องลึกเบื้องหลัง ประวัติศาสตร์มากขึ้น ผมเชื่อว่าคนก็จะมีวิธีการต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมของรัฐที่ชัดเจนขึ้น แม้จะต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการต่อสู้ร่วมกันก็ตาม



เส้นทางของ The Momentum ในอนาคต


อินทรชัย : เราตั้งใจและปรับแก้ The Momentum กันมาตลอด หลังเราปรับแก้กันล่าสุดเพื่อออกแบบคอนเทนต์ ปรับโครงสร้างทีมภายใน ตอนนี้เราวางแผนจะประชุมกันอีกรอบ โดยพูดถึงเรื่องภายนอกกันมากขึ้น เรากำลังมองเรื่องการหาแนวร่วม เช่น ร่วมมือกับองค์กรสื่อที่มีเป้าหมายอยากขับเคลื่อนสังคมเหมือนกัน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของคน สิทธิมนุษยชน รวมถึงร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมด้วย

ผมคิดว่าในยุคนี้ ถ้าสื่อแข่งขันกันอย่างเดียวอาจจะไม่ก่อให้เกิดผลดีเท่ากับการร่วมมือกัน ถ้าเราร่วมมือกันมากขึ้น พลังจะมากขึ้น เสียงของเราจะดังขึ้น และสร้างแรงผลักดันให้เราเดินไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น

สุภชาติ : ในเชิงคอนเทนต์ก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น ครอบคลุมกลุ่มคนใหม่ๆ มากขึ้น ถ้าคนมองว่า The Momentum ตอนนี้นำเสนอเรื่องการเมืองหนักเกินไป หลังจากนี้คงจะมีเรื่องอื่นๆ เข้ามาเสริม เช่น เรื่องเศรษฐกิจ และมีสื่อใหม่ๆ เช่น พอดแคสต์ มาเพิ่ม ในส่วนวิดีโอก็จะสร้างเป็นผังรายการชัดเจนมากขึ้น ทั้งหมดนี้เรากำลังเรียนรู้จากทีมงานเหมือนกันว่าจะทำอย่างไรให้ภูมิทัศน์ของ The Momentum หลากหลายมากที่สุด


หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจาก รายการ PRESSCAST EP.18 : ถึงคราวสื่อเคลื่อนสังคม ‘The Momentum’ ดำเนินรายการโดย ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 13 เมษายน 2564

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save