fbpx
ชีวิตที่สองของสิ่งไร้ค่า : บริจาคแล้วไปไหน?

ชีวิตที่สองของสิ่งไร้ค่า : บริจาคแล้วไปไหน?

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

“สิ่งเดียวที่มูลนิธิกระจกเงาไม่รับบริจาคคือกระจก” วีราภรณ์ ประสพรัตนสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรของมูลนิธิกระจกเงา เริ่มเล่าเรื่องให้ฟังในร้านกาแฟที่อัดแน่นไปด้วยหนังสือบริจาค เพชรพระอุมาครบชุดตั้งอยู่อย่างยั่วใจ หนังสือของมูราคามิหลายเล่มวางเรียงสันม่วงอย่างสวยงาม ยังไม่นับวรรณกรรมระดับโลกอีกหลายเล่มที่ตอนนี้หาซื้อไม่ได้แล้ว สลัดภาพหนังสือบริจาคที่มีแต่หนังสือธรรมะและสุขภาพออกไปได้เกลี้ยงเกลา

วีราภรณ์ ประสพรัตนสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรของมูลนิธิกระจกเงา
วีราภรณ์ ประสพรัตนสุข เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรของมูลนิธิกระจกเงา

ภาพหนังสือ เสื้อผ้า รองเท้า ชุดชั้นใน หมวกลูกเสือ คอมพิวเตอร์ ตู้ไม้ ตู้เย็น พัดลม ตุ๊กตา รถเข็นผู้ป่วย กองเป็นภูเขาเลากา แม้แต่กระเบื้องไม่สมบูรณ์ มูลนิธิกระจกเงาก็ยังรับบริจาค แต่เหตุผลที่ไม่รับกระจก เพราะเป็นสิ่งเดียวที่นึกไม่ออกว่าจะเอาไปแปลงเป็นอะไรได้ ยกเว้นว่าจะมาเป็นบานเงาเฟี้ยมที่ใช้ส่องได้จริง

สิ่งเหล่านี้ล้วนเคยเป็นของที่คนไม่ต้องการ ตู้เย็นที่อาจเคยใส่ผลไม้หรือคัพเค้กเป็นตัวช่วยตอนหิวกลางดึก บัดนี้กลายเป็นเพียงเศษเหล็กฝุ่นจับ หรือคอมพิวเตอร์ที่เคยเป็นตู้แห่งความสุขของเด็กสักคน ตอนนี้กลายเป็นเพียงตู้กระจกที่ใกล้เคียงกับตู้ปลา แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อของเหล่านี้เข้ามาอยู่ในมูลนิธิกระจกเงา ของไร้ค่ากลับกลายเป็นดั่งขุมทรัพย์ เมื่อมีเด็กขาดโอกาสจำนวนมากที่โรงเรียนไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือพ่อค้าแม่ค้าจำนวนมากที่อยากได้เสื้อผ้าไปขายแต่ไม่มีทุนรอนซื้อในราคาแพง ทางมูลนิธิฯ จะคัดแยก จัดการของให้เรียบร้อย แล้วส่งต่อไปยังคนเหล่านี้

‘กลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา’

มูลนิธิกระจกเงา เริ่มต้นจากคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งจำนวน 5 คน ที่รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมทางการเมืองหลังช่วงการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ช่วงปลายปี 2534 ใช้ชื่อกลุ่มว่า ‘กลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา’ ก่อนจะขอเข้าเป็นโครงการภายใต้มูลนิธิโกมลคีมทองในปี 2535

ในช่วงที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจ ไล่เรียงตั้งแต่พฤษภาทมิฬ 2535 มาจนถึงวิกฤติฟองสบู่แตก 2540 กลุ่มกระจกเงาเดินสายทำกิจกรรมด้านการละครเพื่อสังคม และจัดกิจกรรมค่ายเด็กและเยาวชน ก่อนจะค่อยๆ ขยับมาทำเรื่องไอซีที แล้วขยายที่ตั้งไปสู่จังหวัดเชียงราย มีหลายโครงการที่ทำเพื่อเด็กด้อยโอกาส แล้วจึงกลับมาเปิดสำนักงานที่กรุงเทพฯ อีกครั้งในปี 2546

มาถึงตอนนี้ มูลนิธิกระจกเงาก่อตั้งมาแล้วกว่า 28 ปี ถ้าเป็นคนก็คงอยู่ในวัยกำลังแข็งแรง โตเป็นผู้ใหญ่ และยังมีความฝัน แต่ถ้ามองในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสังคมโดยไม่แสวงผลกำไร ก็แทบนึกไม่ออกว่าอยู่มาได้อย่างไรอย่างยาวนาน และดูเหมือนว่าจะยังไปต่อได้อีก ทั้งเข้ามามีส่วนกับปัญหาสังคมหลายเรื่อง เช่น คนหาย ผู้ป่วยไร้บ้าน ผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ฯลฯ

จากกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ยังมีไฟฝัน ตอนนี้มูลนิธิกระจกเงากลายเป็นองค์กรที่แข็งแรงและแทงรากไว้อย่างคงมั่น แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ การทำงานเพื่อสังคมโดยที่สามารถเลี้ยงตัวเองไปด้วยได้ ย่อมมาจากการวางแผนอย่างเป็นระบบ

ในประเทศที่การบริจาคของเป็นมากกว่าแค่การส่งต่อของใช้แล้ว เพราะบางคนยังหมายรวมไปถึงบุญ การได้ ‘ให้’ คือสิ่งที่ชุบชูจิตใจผู้คน แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือมีหลายชีวิตที่ได้ประโยชน์จากของเหล่านี้จริง และการดำรงอยู่ของวงจรนี้สะท้อนโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างถนัดตา

แบ่งปันเพื่อเปลี่ยนแปลง

 

รองเท้าอดิดาสสีขาวนวลสภาพดี ติดป้ายราคา 50 บาท เสื้อยืด ชุดกระโปรงนอน อยู่ในกองเสื้อผ้าลังละ 30 บาท ตุ๊กตาตัวใหญ่ที่ราคาน่าจะแตะพันในวันวาเลนไทน์ นอนนิ่งน่ารักรอคนมาช้อปปิ้งในราคาตัวละ 30-70 บาท  หากห้างสรรพสินค้าหรูกลางกรุงเป็นสวรรค์ของนักช้อป โซนแบ่งปันฯ ของมูลนิธิกระจกเงาก็ไม่ต่างจากโอเอซิสกลางทะเลทราย

‘กลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา’

ทุกเช้าที่มูลนิธิฯ เริ่มตั้งแต่ 09.00 – 12.00 น. จะมีพ่อค้าแม่ค้ามาต่อแถวเลือกซื้อสินค้าได้ตามใจ เพื่อนำไปขายตามตลาดนัด

“เหมือนต่อแถวเข้าคอนเสิร์ตเลยครับ” กิตติพงษ์ ประชุมพล เจ้าหน้าที่โครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง อธิบายให้เห็นภาพ ตัวเขาเองก็สวมเสื้อยืดที่ได้จากการบริจาค เป็นเสื้อ Harley Davidson ที่หลายคนอยากได้ เป็นข้อยืนยันได้ว่า ถ้าค้นดีๆ มีของแรร์ไอเท็มอยู่มากในของบริจาคเหล่านี้

ในร้านขายของชำน้อยๆ นี้ แบ่งเป็นสัดส่วน โซนช้อปปิ้งจะขายในราคาสูงหน่อย (50-100 บาทก็นับว่าสูงแล้ว) อีกโซนจะเป็นเสื้อผ้าเหมาลัง ไล่เรียงไปตั้งแต่ ลังละ 10 – 20 – 30 บาท นั่นหมายความว่าเสื้อผ้าแทบจะตกตัวละบาท ขายวันต่อวัน ถ้าเสื้อผ้าชุดไหนไม่มีคนเลือก วันต่อมาก็จะขยับไปในโซนราคาถูกลง และท้ายที่สุดถ้าไม่มีใครต้องการจริงๆ เสื้อผ้าก็จะถูกส่งต่อให้ผู้ขาดโอกาส ระบบการปล่อยขายแบบนี้เรียกว่า ‘การระดมทุน’

กิตติพงษ์ ประชุมพล เจ้าหน้าที่โครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง
กิตติพงษ์ ประชุมพล เจ้าหน้าที่โครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง

นอกจากจะจัดการของบริจาคจำนวนมหาศาลไปสู่ผู้คนได้แล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือช่วยให้ผู้รายได้น้อยมีอาชีพ ปัจจุบันมีคู่ค้ารายได้น้อยอยู่ประมาณ 900 ครอบครัว เบื้องหลังพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ยังมีเด็กที่กำลังเรียนหนังสือ และคนแก่เฒ่าที่กำลังเจ็บป่วยต้องดูแล

แต่ถึงแม้ของราคาจะถูกจนต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แต่ก็ยังมีบางคนที่ไม่มีเงินสักบาทที่จะซื้อของจากที่นี่ไป หลายคนเพิ่งออกจากเรือนจำ บางคนเป็นคนไร้บ้าน บางคนตกงาน และไม่รู้จะเดินหน้าชีวิตไปอย่างไร หลายครั้งทางมูลนิธิฯ ก็ให้ของไปก่อน เมื่อขายได้ทุนแล้วจึงค่อยกลับมาซื้อ และก่อร่างสร้างตัวต่อไป

“มีคนที่ตกหล่นจากโครงสร้างสังคมเยอะมาก” วีราภรณ์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กรเริ่มเล่าเรื่อง เธอยกตัวอย่างชีวิตของพนักงานทำความสะอาดที่ตกงานจากเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทชื่อพี่จ๋า มีแฟนเป็นคนขับแท็กซี่  แต่ชีวิตคน ถ้าพายุจะมาก็มักจะพัดไม่หยุด ระหว่างที่พี่จ๋าตกงาน แฟนที่ขับแท็กซี่ก็ขับรถมาครบ 12 ปี ตรงกับข้อกำหนดห้ามวิ่งรถโดยสาร กลายเป็นว่าตกงานทั้งสองคน

พี่จ๋าเดินตรงเข้ามาที่มูลนิธิกระจกเงา ดั้นด้นจากคลอง 4 ออกจากบ้านตั้งแต่ดวงอาทิตย์ยังไม่ขึ้น เพื่อมาพบว่าของที่จะมาเอาหมดแล้ว ระดมทุนเสร็จหมดแล้ว มาอีกหลายรอบก็ไม่รู้จะเข้าถึงของอย่างไร จนถึงฟางเส้นสุดท้าย เมื่อไม่รู้จะหาทางอยู่รอดอย่างไร จนมาเจอ หนูหริ่ง – สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา พี่จ๋าก็เข้าไปหาและพูดว่า “ถ้าวันนี้ไม่ได้ของกลับไปขาย จะฆ่าตัวตายแล้ว ไม่รู้จะอยู่ยังไงแล้ว”

จบการคุยกัน พี่จ๋าได้ชุดชั้นในไป 4 ถุงใหญ่โดยไม่ต้องเสียเงินสักบาท เพราะก่อนหน้านี้ชุดชั้นในมักเป็นของที่คนไม่สนใจในการระดมทุน วันนั้นพี่จ๋าหอบชุดชั้นในไปวางขายที่ตลาดนัดแถวบ้าน ขายหมดไป 2 ถุง ได้เงินมา 4,000 บาท วันต่อมาพี่จ๋ากำเงินจำนวนนั้นมาซื้อชุดชั้นในไปขายอีก กระสอบใหญ่ที่อัดแน่นไปด้วยชุดชั้นในราคาแพง ได้ไปในราคากระสอบละ 200 บาท

“พี่จ๋าขายไม่แพง คนที่มาซื้อคือชาวบ้านแถวนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนงาน มาเลือกซื้อตัวละ 10-20 บาท แต่ได้ยี่ห้อแบรนด์เนมไปเลย บางตัวมาเป็นเซ็ต มีชุดว่ายน้ำดีๆ ขายดีมาก หลังจากนั้นพี่จ๋าจะมาซื้อทุกวันอังคาร เราก็เตรียมไว้ให้เลย” วีราภรณ์เล่าให้เห็นภาพ

ไม่ใช่แค่มีเงินทำทุนต่อเท่านั้น แต่ยังมีทุนส่วนหนึ่งเอาไปซ่อมแซมบ้าน จากบ้านที่แทบไม่เป็นบ้าน ไม่มีฝา ไม่มีประตู มีแต่โครง เพราะวิกฤติน้ำท่วม

“พี่จ๋าบอกว่าสิ่งแรกที่จะทำก็คือไปซื้อฝาบ้าน เราก็บอกว่า ถ้าจะเอาฝาบ้าน มาเอาที่นี่”

นอกจากพี่จ๋าแล้ว ยังมีอีกหลายคนที่ผูกปิ่นโต รับของจากกระจกเงาเอาไปสร้างอาชีพได้ต่อเนื่อง เช่น พี่อึ่ง ที่ว่ากันว่าเป็นนักแยกสายไฟมือฉมัง ด้วยอาชีพซาเล้งที่เก็บของเก่าขาย ทุกวันนี้พี่อึ่งจะขับรถมอ’ไซค์พ่วง เข้ามาเลือกสายไฟ ทองแดง โครเมียม จากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไม่ได้แล้ว เพื่อขายต่ออีกทอดหนึ่ง

“คอนเซ็ปต์ของกระจกเงาคือเราไม่ให้ฟรี เรื่องงานพัฒนาเราจะไม่ทำงานเชิงสงเคราะห์ ต้องคำนึงถึงคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แล้วการที่เขาซื้อเรา เขาก็จะรู้สึกว่า เขามีศักดิ์ศรี ไม่ได้มาขอกิน เราเชื่อว่าคนเราไม่ได้อยู่ได้ด้วยการขอคนอื่น แต่อยู่ได้ด้วยการนับถือตัวเอง ไม่อย่างนั้นใจเขาจะค่อยๆ ล่มสลาย สุดท้ายก็จะป่วย” วีราภรณ์สรุป

พัดลมมือสอง

หลังฉากร้านกิ๊ฟช็อปข้างหน้า ยังมีโกดังใหญ่ด้านหลัง เสื้อผ้าจำนวนมหาศาลที่รอการคัดแยก ในห้องคัดแยกมีอาสาสมัครซึ่งเป็นคนย่านนั้นเข้ามาช่วย ยังไม่นับของเล่น หมวกลูกเสือ ไม้พลอง ลูกบอล ผ้าพันคอ นาฬิกา ป้ายผ้าลายศิลปินเมทัล และอื่นๆ ที่ยากจะจินตนาการถึง

นอกจากนี้แล้ว ยังมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น รถเข็น เตียงผู้ป่วย ยา แพมเพิร์ส ไม้เท้า ทิชชู่ มาม่า ข้าวสาร อาหารแห้ง อยู่อีกอาคาร เอาไว้สำหรับทีมงานในโครงการอาสามาเยี่ยมเพื่อนำของเหล่านี้ไปช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง ที่ญาติไม่มีเวลาดูแล หรือรายได้น้อย ของเหล่านี้ส่วนมากจำเป็นต้องรับของใหม่ และต้องตรวจสอบวันหมดอายุอย่างสม่ำเสมอ

อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น รถเข็น เตียงผู้ป่วย ยา แพมเพิร์ส ไม้เท้า ทิชชู่ มาม่า ข้าวสาร อาหารแห้ง

ปัญหาสำคัญที่ เกศรา วิมลเกษม หัวหน้าโครงการอาสามาเยี่ยม พบเจอก็คือ การช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงเหล่านี้ ยังเป็นการช่วยในเบื้องต้น และไม่อาจช่วยได้ทั่วถึงทุกคน ยิ่งในภาวะที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาเหล่านี้ต้องแก้ตั้งแต่ระดับโครงสร้าง แต่สิ่งที่รู้ได้แน่ชัด ณ ตอนนี้คือ ยังมีคนขาดโอกาสอีกมากที่อยู่ในสภาพแวดล้อมย่ำแย่ อาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ขาดแคลนยา ในบางบ้านก็แทบไม่มีแสงสว่างและเครื่องปรับอากาศเลย

เกศรา วิมลเกษม หัวหน้าโครงการอาสามาเยี่ยม
เกศรา วิมลเกษม หัวหน้าโครงการอาสามาเยี่ยม

คอมพิวเตอร์และหนังสือ – ที่มากกว่า ‘สิ่งของ’ คือความรู้

 

โกดังคอมพิวเตอร์ในมูลนิธิกระจกเงา ชวนให้นึกถึงความจำวัยเยาว์ ที่มีคอมพิวเตอร์เป็นตู้ และเม้าส์ยังมีลูกกลมๆ คอยขับเคลื่อน ไม่ใช่เซนเซอร์เหมือนทุกวันนี้

กองคอมพิวเตอร์หลากหลายรูปแบบ ไล่รุ่นยาวนานตั้งแต่สมัยจอนูน มาจนถึงจอแบน ซีพียูนอนกองกันสูงจรดเพดาน สายไฟระโยงระยาง กับแป้นพิมพ์อีกจำนวนมาก กำลังถูกคัดแยก จัดชุดให้ใช้งานได้ แล้วส่งต่อไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลน ถ้าเครื่องไหนใช้การไม่ได้ ก็จะถูกจับแยกขายเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าเป็นเป็ดคือกินตั้งแต่ปากไปถึงปลายเท้า หรือถ้าเป็นกล้วยก็ใช้ตั้งแต่หน่อไปถึงใบ

ส่วนมากคอมพิวเตอร์จะได้รับบริจาคจากบริษัทที่โละคอมพ์ฯ รุ่นเก่าทิ้ง มีทีมอาสาสมัครและทีมประจำคอยทดสอบเมาส์ ทดสอบโปรแกรม จัดตกแต่งเครื่องให้สวยงาม ลงโปรแกรมพื้นฐาน แล้วก็จัดวางไว้เพื่อส่งต่อ หรือถ้าอาจารย์อยากได้แลปท็อปไว้ใช้งาน ก็สามารถมาซื้อเครื่องที่ตกแต่งซ่อมแซมดีแล้วได้ในราคา 1,000 บาท ถ้าใครอยากได้อย่างอื่น หากสะดวกเข้ามารับจะมีอุปกรณ์การเรียน คอมพิวเตอร์ หนังสือให้คัดเลือกอย่างหลากหลาย

ใน 1 เดือน มีคอมพิวเตอร์ที่ถูกส่งออกไปจากมูลนิธิฯ ประมาณ 200 เครื่อง  ณัฐวัฒน์ คงสุขสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง เป็นคนดูการซ่อมบำรุง ดูรายชื่อโรงเรียน จัดคิว และขับรถไปส่งเอง เขากับทีมงานดูแลทุกขั้นตอนนับตั้งแต่รับของเก่าไปจนถึงส่งของใหม่ จนถึงตอนนี้ โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้องดำเนินมาถึงปีที่ 11 ส่งต่อคอมพิวเตอร์ไปแล้วกว่า 22,000 เครื่อง

ณัฐวัฒน์ คงสุขสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง
ณัฐวัฒน์ คงสุขสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง

แม้จะดูราบรื่นดี แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่คือการขาดแคลนฮาร์ดดิสก์ ที่คนมักไม่ส่งมาพร้อมตัวเครื่อง

“เราจะไม่ค่อยได้รับบริจาคฮาร์ดดิสก์ เพราะพอเขาส่งมาในนามบริษัท ก็จะมีการเก็บข้อมูลของลูกค้าไว้ หรือไม่ก็ต้องทำลายฮาร์ดดิสก์ไปเลย เขาเลยให้เราไม่ได้ ซึ่งเวลาเราไปคุยกับผู้บริจาค เราก็จะบอกว่าการล้างข้อมูลของเราเทียบเท่ากับบริษัทรับจ้างล้างข้อมูลเลยนะ แค่เราไม่สามารถออกใบรับรองให้ได้เท่านั้นเอง ถ้าเขาไปจ้างบริษัทล้างข้อมูลตกลูกละประมาณ 300-800 บาท แต่ถ้าทำกับเราคือได้บริจาค ไม่ต้องเสียเงิน เราลบข้อมูลให้ฟรีเลย” ณัฐวัฒน์ คงสุขสวัสดิ์กล่าว

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ หลายคนมักมองว่าบริจาคคอมพิวเตอร์ไปแล้วกลายเป็นเศษเหล็ก ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่ณัฐวัฒน์ บอกว่า สำหรับคอมพ์ฯ บางเครื่องก็เก่าเกินใช้งาน การแยกชิ้นส่วนบางครั้ง ก็แยกเพื่อไปใช้กับเครื่องอื่น สำหรับส่วนที่ใช้ไม่ได้ก็ขายต่อเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเงินที่ได้มาก็จะนำมาซ่อมเครื่องอื่นเพื่อส่งต่อให้โรงเรียน

“ผมพยายามจะบอกทุกคนที่บริจาคว่า ของที่เขาให้มีประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่บริจาคแล้วเราเอาไปขายเป็นเศษเหล็ก”

โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง

ถัดจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หนังสือก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่คนนิยมบริจาคกันมาก แต่สิ่งหนึ่งที่เราน่าจะเคยได้ยินปัญหากันมาบ้างคือ หนังสือบริจาคส่วนมากมีแต่หนังสือธรรมะและสุขภาพ แต่หนังสือที่ขาดแคลนและเป็นที่ต้องการจริงๆ คือ หนังสือเด็ก หรือหนังสือเสริมพัฒนาการ

โครงการอ่านสร้างชาติ รับบริจาคหนังสือจำนวนมาก มีระบบคัดแยกแบ่งหนังสือเป็นหมวด ตามช่วงวัย โดยเฉพาะหนังสือเด็กที่จะคัดแยกให้เด็กโดยเฉพาะ รอส่งต่อให้โรงเรียนที่ขาดแคลน นักกิจกรรม หรือห้องสมุด ฯลฯ ทางมูลนิธิฯ ส่งหนังสือออกไปได้ปีละประมาณ 200,000 เล่ม

ในโกดังหนังสือของอ่านสร้างชาติ มีทั้งวรรณกรรม หนังสือเรียน หนังสืออ่านนอกเวลา สุขภาพ ธรรมะ การ์ตูน ฯลฯ คละอยู่ หนังสือวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ที่มีราคาและสภาพดี จะมีการจัดไว้ในห้องสมุด มีโครงการให้ยืมฟรี หรือหากใครว่าง สามารถเดินเข้าไปในร้านกาแฟของทางมูลนิธิแล้วยืมหนังสือไปอ่านได้ เพราะพวกเขาเชื่อว่าหนังสือต้องเข้าถึงได้

หนังสือบางส่วนจะมีพ่อค้าแม่ค้าหนังสือมือสองเข้ามาช่วยเป็นอาสาสมัครคัดแยกหนังสือ แล้วเอาหนังสือไปขาย บางคนอยู่เป็นคู่ค้ากันมายาวนานกว่า 10 ปี

“เราจะขายหนังสือถูก เพื่อให้เขาไปขายถูก” คือแนวคิดของมูลนิธิกระจกเงา

ส่วนหนังสืออื่นๆ ที่ชำรุด หรือหนังสือพิมพ์ แม็กกาซีน ชีทเรียน เอกสารวิชาการ ที่ส่งต่อไม่ได้ ก็จะนำไปรีไซเคิลเพื่อให้กลับมาเป็นกระดาษอีกครั้งหนึ่ง โดยการร่วมมือกับ SCG ในการแปลงหนังสือเหล่านี้ให้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

เมื่อการให้อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

 

ถ้าจะมีการแข่งอะไรสักอย่างระดับโลก ประเทศไทยน่าจะติดอันดับเรื่องการบริจาคเป็นอันดับต้นๆ ขอแค่มีการระดมทุน เงินจำนวนมากจะไหลเข้าบัญชีผู้ขอรับบริจาค ผ้าห่ม ข้าวสารอาหารแห้ง ถูกส่งขึ้นไปบนดอยครั้งแล้วครั้งเล่ามายาวนานกว่า 20-30 ปี น่าแปลก ที่คนด้อยโอกาสก็ยังมีอยู่มากในสังคมไทย ทั้งที่เราก็พยายามช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่

ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง เป็นคำที่พูดกันจนชินหู และคนพูดเองก็คงเหนื่อยจะพูด แต่นี่เป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเราต้องยอมรับว่าปัญหาความยากจนคือต้นตอของปัญหาอื่นๆ อีกมากในประเทศ

การ ‘ให้’ อาจช่วยเหลือผู้คนที่ลำบากได้จริง แต่จะทำอย่างไรให้ประเทศเรามีคนด้อยโอกาสมีรายได้มากขึ้น ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีใกล้เคียงกัน ถึงไม่รวยล้นฟ้า แต่อย่างน้อยๆ ก็ไม่ควรต้องนอนตากฝนใต้บ้านที่ไร้หลังคาเช่นนี้ และไม่ต้องรอรับของบริจาคเช่นนี้

“ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องโครงสร้างภาครัฐ เป็นเรื่องของรัฐสวัสดิการ ประเทศเรามองคนเป็นปัจเจกมาก พวกเราเข้าใจกันว่าทำงานเพื่อเลี้ยงปากท้องของตัวเอง แต่เราไม่ได้เข้าใจว่าเราทำงานอยู่ในฟันเฟืองหนึ่งของสังคม เพื่อทำให้สังคมเคลื่อนไป ดังนั้นเราจึงมองตัวเองแยกส่วนจากสังคม

“วันหนึ่งถ้าคุณป่วย ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของคุณ คุณต้องมีเงินรักษาตัวเอง ซื้อประกันหรือยัง มีเงินออมหรือยัง แต่ถ้าเราไปดูประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดีๆ เขาเก็บภาษีเพื่อเอาไปดูแลชีวิตคน หลายประเด็นประเทศไทยก็มีความพยายามจะทำ แต่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้จริง” วีราภรณ์พูดถึงปัญหา

แม้ทุกคนจะเข้าใจตรงกันว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ใช่เรื่องจะแก้ได้ในวันสองวัน การทำงานช่วยเหลือคนในทันทีทันใดจึงเป็นเรื่องที่เราทำได้ และอาจต้องทำไปก่อน

“เราทำงานสร้างคน สร้างนวัตกรรม เพื่อไปสร้างการเปลี่ยนแปลง ถ้าถามว่าเป้าหมายสูงสุดของเราคืออะไร เราไม่มีเพดานค่ะ เราเป็นกระจกเงาที่จะสะท้อนมุมเล็กมุมน้อยของคนในสังคมที่คนอื่นมองไม่เห็น หรือว่าเห็น แต่ยังไม่มีใครเข้าไปช่วยดูแล”

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save