fbpx
พระเอกในความมืด

พระเอกในความมืด: อดีต ปัจจุบัน การสิง และการถูกผีสิง

“บ้านนี้มีผีก็จริง แต่ผีไม่ดุหรอกค่ะ ตั้งแต่คุณผู้หญิงเธอยิงคุณผู้ชาย แล้วเธอก็ยิงตัวเองตายตกไปตามกันแล้ว เธอก็สบายใจค่ะ ไม่คิดทำร้ายอะไรใครอีกหรอก ถึงคุณผู้ชายท่านก็เหมือนกันค่ะ ท่านรู้อยู่แก่ใจว่าที่คุณผู้หญิงฆ่าท่านก็เพราะรักท่าน ท่านไม่โกรธเคืองอะไรหรอกค่ะ ถึงวิญญาณของท่านจะสิงอยู่ในบ้านนี้ก็จริง แต่ท่านก็ไม่เคยทำอันตรายใคร นอกจากล้อเล่นนิดๆ หน่อยๆ พอหอมปากหอมคอเท่านั้นค่ะ”  (หน้า 35) 

ก่อนอื่นผมต้องอธิบายก่อนว่าบทความของผมชิ้นนี้อาจแตกต่างไปจากงานชิ้นก่อนๆ ที่ผมเคยเขียนเอาไว้ เพราะในความตั้งใจของผมคือการหาหนังสือใหม่ๆ หรือไม่ก็อาจเป็นงานที่น่าสนใจแต่ไม่ได้เก่ามากนักและยังคงสามารถพูดถึงได้ในปัจจุบันในฐานะ ‘วรรณกรรมร่วมสมัย’ อยู่บ้าง แต่ในงานชิ้นนี้ ผมไปพบนวนิยาย ‘พระเอกในความมืด’ โดยบังเอิญ ในวันที่ผมออกไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง แล้วดันมีแผงหนังสือลดราคามาวางขายอยู่ด้านหน้า ด้วยความสนใจผมจึงลองไปเดินๆ ดู จนกระทั่งมาเจอหนังสือเล่มนี้ ผมหยิบขึ้นมาเปิดอ่านเพื่อดูว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรและมีรายละเอียดอะไรที่พอจะน่าสนใจบ้างหรือไม่ ก็พบว่า ‘พระเอกในความมืด’ นั้นเป็นนิยายผีที่บันทึกเรื่องราวทางสังคมและประวัติศาสตร์ได้น่าสนใจไม่น้อย

ที่สำคัญคือ แม้ว่ามันจะตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2517 ผมก็พอจะมองเห็นว่ามีประเด็นบางอย่างที่ผมสนใจและคิดว่าอยากเอามาเล่าให้ผู้อ่านได้อ่านกันเพลิดเพลินบ้าง

โดยปกติแล้วเมื่อเราเสพเรื่องผีหรือเรื่องสยองขวัญสั่นประสาท โดยเฉพาะประเภทเรื่อง ‘บ้านผีสิง’ สิ่งที่เราคาดหวังคือความน่ากลัว ความหลอนประสาท และเรื่องราวสุดเฮี้ยนของอดีตเจ้าของบ้านที่กลายเป็นผีคอยหลอกหลอนผู้คนที่แวะเวียนกันมาอาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น ส่วนใหญ่ปมของเรื่องผีเช่นนี้มักเกิดจากการฆาตกรรมสุดโหด การฆ่าตัวตาย หรือเป็นคำสาปโบราณที่จองจำผู้วายชนม์ไม่ให้ไปสู่ ‘ที่ชอบๆ’ และกลายเป็นวิญญาณดุร้าย อาฆาตแค้น เต็มไปด้วยพลังของการสั่นประสาทผู้คนให้ขนหัวลุกไปตามๆ กัน 

แต่สำหรับการอ่านนวนิยาย ‘พระเอกในความมืด’ ของ ชูวงศ์ ฉายะจินดา ผมคิดว่าเราอาจต้องตั้งต้นกันใหม่ว่าสิ่งที่เรากำลังอ่านนั้น คือนิยายผี นิยายขำขัน หรือเป็นนิยายโรมานซ์ชวนหัวกันแน่ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่ผมยกมาข้างต้น แม้จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงที่มาของผีที่สิงอยู่ในบ้านนั้นว่ามีจุดกำเนิดอย่างไร แต่เรากลับได้เห็นว่า ผีในบ้านหลังนี้ไม่ได้มีความน่ากลัวใดๆ ต่างจากผีบ้านอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยความดุร้าย แรงอาฆาตที่รอการแก้แค้น หรือติดอยู่ในคำสาป บ่วงเหตุการณ์ในอดีต

ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งผี “คุณผู้หญิง” และ “คุณผู้ชาย” ในบ้านหลังนี้ สำหรับผม คิดว่าทั้งคู่เหมือนรอคนย้ายเข้ามาอยู่แล้วจะพากันชวนเล่นสนุก ชวนปาร์ตี้สังสรรค์ระหว่างคนกับผี… ดังที่ “นางรวย” แม่บ้านของบ้านหลังนี้ต้องยืนยันกับผู้มาอยู่ใหม่ว่า “โธ่ คุณคะ คุณอย่ากลัวไปเลย อยู่ที่นี่น่ะ ไม่มีอันตรายแน่ๆ ดีเสียอีกซีคะ เวลาคุณไม่ว่าง คุณผู้หญิงที่เสีย เธอจะได้มาคอยเล่นเป็นเพื่อนกับคุณเอ ไม่ให้คุณเอเธอเหงา” (หน้า 35) กลายเป็นว่าผีกับคนอยู่ร่วมกันได้อย่างฉันมิตรไปเสียอย่างนั้น…

กลับมาที่เรื่องราวของ ‘พระเอกในความมืด’ เป็นเรื่องของ “ประกายศักดิ์” ข้าราชการกรมพิธีการทูตที่เพิ่งกลับมาจากญี่ปุ่นพร้อมกับครอบครัว ประกอบด้วย “กระจ่างศรี” ผู้เป็นภรรยา และ “เอ” ลูกชายตัวน้อย ประกายศักดิ์พาครอบครัวของเขาย้ายมายังบ้าน “ผีสิง” หลังนี้ที่เจ้าของเดิมคือ “สัญญา” และ “รัชนี” ต่างฆ่ากันตายภายในบ้าน ด้วยเหตุเรื่องความหึงหวงของฝ่ายหญิง

ก่อนตายนั้น “รัชนี” อยากมีลูกมากแต่เธอเป็นหมัน เมื่อได้พบกับ “ตาเอ” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของประกายศักดิ์และกระจ่างศรี เธอจึงเกิดความเอ็นดูเด็กคนนี้มาก จนกระทั่งพากันไปเล่นตั้งแต่วันแรกที่ย้ายเข้ามาในบ้านทันทีและมีเพียง “ตาเอ” เท่านั้นที่สามารถเห็น “คุณลุง” กับ “คุณป้า” ของเขาได้ ในยามที่ตาเออยู่คนเดียว รัชนีและสัญญาก็มักจะมาเล่นด้วยและเมื่อพ่อแม่ของเอเดินมา ทั้งคู่ก็หายไป ทำให้เอคิดว่าทั้งคู่เป็นพ่อมดแม่มด ความสัมพันธ์ของครอบครัวผีกับครอบครัวคนจึงอยู่ภายในพื้นที่และเวลาแบบเดียวกันแต่ต่างมิติ โดยมีตาเอเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของพื้นที่ เวลา และมิติทั้งสองแบบ

‘พระเอกในความมืด’ กับการเป็นละครโทรทัศน์

‘พระเอกในความมืด’ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2517 ภายใต้นามปากกา แก้วเจียระไน และได้รับการดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์อยู่หลายครั้ง ครั้งแรกในปี 2533 ทางช่องสาม ใช้ชื่อว่า ‘พระเอกในความมืด’ ตามต้นฉบับนวนิยาย ต่อมาในปี 2548 ในช่องสามเช่นเดียวกัน ใช้ชื่อว่า ‘วิญญาณหฤหรรษ์’ และครั้งสุดท้ายในปี 2558 ทางช่องวัน ใช้ชื่อว่า ‘สองรักสองวิญญาณ’ ผมไม่แน่ใจว่าในครั้งแรกของการดัดแปลงเป็นละครในปี 2533 นั้นได้แต่งเพิ่มเติมโครงเรื่องอย่างไรไปบ้าง แต่ในสองครั้งหลังเท่าที่สืบค้นได้ ผมพบว่ามีการเพิ่มรายละเอียดบางอย่างเข้ามาในละคร เช่น การเปลี่ยนชื่อตัวละคร และความตายของ “สัญญา” และ “รัชนี” อาชีพของประกายศักดิ์และกระจ่างศรี เป็นต้น

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือใน ‘วิญญาณหฤหรรษ์’ ปี 2548 ตัวละคร “ศักดา” ที่เป็นเจ้าของบ้าน ‘อมตวงศ์’ ผู้มีศักดิ์เป็นหลานของ “สัญญา” และ “รัชนี” ได้รับมรดกบ้านหลังนี้ไปครอบครอง ซึ่งในตัวนวนิยายไม่ปรากฏทั้งตัวละครนี้และชื่อของบ้าน ส่วนความตายของทั้งสัญญาและรัชนีก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เวอร์ชันละครได้เปลี่ยนให้รัชนีบันดาลโทสะหยิบปืนมายิงสัญญาแต่ไม่โดน กระนั้นก็ทำให้สัญญาตกบันไดลงมาคอหักตาย ในขณะที่รัชนีเองก็หัวใจวายที่สามีของตนต้องตาย ทว่าในตัวนวนิยาย รัชนีโกรธสัญญาที่มีชู้จึงยิงปืนใส่สัญญาไป 5 นัด ก่อนที่ตัวเธอเองจะยิงตัวตายตามตกกันไป ส่วนในเรื่อง ‘สองรัก สองวิญญาณ’ ในปี 2558 พระเอกอย่าง “ประกายศักดิ์” ที่ในเวอร์ชันนี้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “อนวัช” พร้อมทั้งเปลี่ยนอาชีพมาเป็น ‘พนักงานบัญชี’ ของบริษัทเครื่องถ่ายเอกสาร ต่างไปจากในนวนิยายที่เป็นข้าราชการในตำแหน่งหัวหน้ากองต้อนรับของกรมพิธีการทูต

ความเจ้าชู้เป็นเหตุ

ปมของเรื่องนี้เกิดขึ้นจากความเจ้าชู้ของสัญญาทั้งสิ้น กล่าวคือเมื่อตอนมีชีวิต สัญญามีบ้านเล็กบ้านน้อยมากมายและดันไปทำสาวสองคนท้อง นั่นคือ “เยาวเรศ” และ “ชนิดา” เมื่อรัชนีจับได้จึงบันดาลโทสะยิงสัญญาจนตายและยิงตัวตายตาม ผลกรรมที่ทั้งคู่ได้ทำไว้ขณะที่มีชีวิตทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ในนรกและไม่สามารถไปผุดไปเกิดได้ รัชนีและสัญญามีบ่วงกรรมที่ต้องชดใช้และวนเวียนอยู่ในบ้านดังกล่าวไม่รู้จบ

แม้กระนั้น ดูเหมือนว่าทั้งคู่จะไม่ได้มีความเคียดแค้นใดๆ ต่อกัน มิหนำซ้ำยังใช้ชีวิตแบบผัวเมียในอีกภพภูมิหนึ่งด้วย ที่สำคัญ สัญญาก็ยังคงความเจ้าชู้อย่างไม่สิ้นสุด เขาทั้งเข้าสิงประกายศักดิ์เพื่อไปพบกับเยาวเรศและชนิดา หรือทำกะลิ้มกะเหลี่ยใส่ “รื่น” ลูกสาวของนางรวยแม่บ้านประจำบ้านหลังนี้ ความเจ้าชู้ของสัญญาได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประกายศักดิ์อยู่เนืองๆ เพราะทุกครั้งที่สัญญาเข้าสิงประกายศักดิ์และไปทำเจ้าชู้กับผู้หญิงอื่น ประกายศักดิ์ไม่สามารถจำได้เพราะอยู่ในสภาวะถูกสิง เช่น การแอบไปพบกับเยาวเรศและชนิดาอดีตคนรักเก่า จนนำมาสู่เหตุการณ์การลักพาตัวตาเอลูกชายของประกายศักดิ์ เป็นต้น

แม้การสิงร่างประกายศักดิ์ของสัญญาด้วยความตั้งใจในการกลับไปหาคนรัก (ลับ) เก่าจะส่งผลเสียตามมา แต่ในบางครั้ง การเข้าสิงของสัญญาก็ส่งผลดีเช่นกัน ดังในตอนที่ตาเอถูกลักพาตัว สัญญาเข้าไปสิงร่างของคนที่ลักพาตัวและนำคนร้ายไปสารภาพกับตำรวจด้วยตนเอง หรือในตอนที่เข้าสิง “มิ่ง” คนขับรถของบ้านประกายศักดิ์ที่รู้เห็นเป็นใจกับแผนการลักพาตัวโดยให้มิ่งไปสารภาพกับยามที่หน้าหมู่บ้าน นอกจากนี้ ในหลายๆ ครั้งสัญญาก็ใช้อำนาจพิเศษที่ตนมีในฐานะ ‘ผี’ ช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับประกายศักดิ์ เช่นตอนที่มีโจรเข้ามาปล้นแขกในงานเลี้ยงรับรองคณะทูตที่ประกายศักดิ์เป็นคนรับผิดชอบ สัญญาก็ใช้อำนาจพิเศษของตนจัดการพวกโจรเหล่านั้นด้วยการบีบคอตามสูตรของเรื่องผีทั่วๆ ไป หรือในตอนที่ประกายศักดิ์ไปซื้อรถ สัญญาก็ตามไปด้วย ระหว่างที่กำลังทำการซื้อขายรถ แท็กซี่เกิดเบรกแตกหันหัวมาจะชนตาเอ แต่สัญญาก็เอาตัวบังไว้ทำให้ตาเอไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรเลย

ผีและอดีต

ทุกๆ ครั้งเวลาที่ผมนึกถึงผีในแบบที่ซีเรียสสักหน่อย ผมมักจะอธิบายกับตัวเองว่า ผีคือการดำรงอยู่ของความทรงจำอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้วหรือเป็นการดำรงอยู่ของ ‘ห้วงเวลา’ หนึ่งๆ ในประวัติศาสตร์

สำหรับความสัมพันธ์ของอดีตที่มีต่อปัจจุบัน เราอาจเข้าใจได้ด้วยว่าคือความสัมพันธ์ในลักษณะของเหตุ-ผล ในลักษณะที่เป็นเส้นตรงตามตรรกะของความเป็นสมัยใหม่ แต่การปรากฏตัวของผีคือการรบกวนระเบียบความเป็นสมัยใหม่ เพราะอดีต (ผี) ไม่ได้ผ่านไปแต่ยังดำรงอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบันอีกด้วย การมีอยู่ของผีได้ทำให้เส้นตรงของเวลาบิดเบี้ยวและผิดเพี้ยนไป ดังนั้นการดำรงอยู่ของผีคือการ ‘หลอน’ ของอดีตที่มีต่อปัจจุบัน 

สิ่งที่เราสังเกตได้อย่างหนึ่งคือ ผีมักจะมีรูปร่างโปร่งแสง เลือนราง หายตัวได้ ปรากฏตัวต่างพื้นที่ได้ในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน สามารถเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้ในเวลาชั่วพริบตาเดียว คุณลักษณะดังกล่าวนี้ คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความเป็นสมัยใหม่ที่ต้องการความชัดเจนในการปรากฏตัว พื้นที่ต่างๆ มีเวลาเฉพาะตัว ไม่สามารถตัดข้ามไปมาได้ และทั้งหมดจะต้องเป็นเส้นตรงที่ชัดเจน ผมเห็นว่าคุณลักษณะของผีมีความคล้ายคลึงกับ ‘ความทรงจำ’ เพราะความทรงจำสามารถข้ามเวลาได้และมีอำนาจเหนือปัจเจกบุคคลในการกำกับความคิด ความเชื่อ หรือแม้แต่โลกทัศน์ 

ในเรื่อง ‘พระเอกในความมืด’ เราจะเห็นได้ว่า “สัญญา” และ “รัชนี” คือ ‘ความทรงจำ’ ในอดีตที่ผูกติดอยู่กับบ้าน และดำรงอยู่มาจนถึงในห้วงเวลาปัจจุบัน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ โลกของอดีตที่มี “สัญญา” และ “รัชนี” เป็นตัวแทนในเรื่องนี้นั้นสบกันอย่างสมมาตรกับโลกในปัจจุบันของ “ประกายศักดิ์” กับ “กระจ่างศรี” ณ ที่นี้ อดีตและปัจจุบันไม่ใช่เวลาที่แตกต่างกันแต่ดำรงอยู่ควบคู่กันอย่างแยกไม่ออกอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ผีสัญญาและรัชนียังหมายถึงการรบกวนระเบียบของความเป็นสมัยใหม่ แม้ทั้งคู่จะไม่ใช่สิ่งที่ ‘หลอน’ ปัจจุบันด้วยความน่ากลัวหรือน่าสยดสยอง แต่การรบกวนระเบียบของความเป็นสมัยใหม่ของสัญญาและรัชนีกระทำผ่านการสิงนั่นเอง หากเราพิจารณาว่าเวลาและเหตุการณ์ในโลกสมัยใหม่นั้นเป็นเส้นตรง การเข้าสิงก็คือการยึดครองห้วงเวลาของโลกสมัยใหม่ โดยความทรงจำและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นั่นเอง

ในแง่นี้เราอาจพิจารณาได้ว่า เส้นตรงของเวลาและประวัติศาสตร์ในปัจจุบันอาจไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยความราบรื่น สม่ำเสมอและมีความเป็นเหตุเป็นผล แต่ถูกเข้ายึดครองจากอดีตอยู่บ่อยครั้ง สิ่งที่เราเห็นและเข้าใจว่าเป็นปัจจุบันโดยปราศจากการแทรกแซงของช่วงเวลาแบบอื่นๆ เป็นปัจจุบันที่ดำรงอยู่อย่างเป็นวัตถุวิสัยนั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นสิ่งที่ถูกควบคุมจากอดีตผ่านการ ‘สิง’ ซึ่งส่งผลให้เราในฐานะ ‘สิ่ง’ ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันมีโลกทัศน์ที่ขึ้นตรงอยู่กับอดีตก็เป็นได้

ดังนั้น อดีตจึงไม่ใช่สิ่งที่อยู่นิ่งๆ ในฐานะที่เป็นรากฐานให้กับเหตุการณ์ในปัจจุบัน หรือเป็นอดีตที่ไม่มีความเคลื่อนไหวเพราะมันได้ผ่านไปแล้ว แต่อดีตคือสิ่งที่มีพลวัติ มีพลังในการจัดการกับปัจจุบัน เพียงแต่รอจังหวะที่เหมาะสมเพื่อเข้าสิงและยึดครองเหตุการณ์ปัจจุบันนั่นเอง 

การสิงในฐานะการแทนที่ / ยึดครองปัจจุบันโดยอดีต

ตลอดทั้งเรื่อง สัญญา ‘สิง’ ร่างของประกายศักดิ์และอีกหลายคน การกระทำนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า ‘การสิง’ มีอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ

เพราะ ‘การสิง’ คือการเข้าแทนที่ของความทรงจำที่ครอบงำปัจเจกบุคคลและทำให้เสียตัวตนไปในชั่วระยะเวลาหนึ่ง กล่าวคือการสิงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เกิดขึ้นเป็นห้วงๆ และผู้ที่ถูกสิงนั้นไม่สามารถควบคุมได้ ดังจะเห็นได้จากอาการของประกายศักดิ์หลังจากที่ถูกสิง เขาไม่เคยจำได้เลยว่าเขาเคยไปที่ไหน ไปพบใคร เขาไปยังสถานที่แห่งหนึ่งทำไม นั่นเป็นเพราะเขาถูกแทนที่ด้วยความทรงจำของสัญญา ทำให้ความทรงจำ ความรู้สึกนึกคิดและตัวตนของเขา ‘หายไป’ ชั่วขณะ เขารู้สึกไม่ดีจนกระทั่งต้องไปพบแพทย์เพื่อให้การแพทย์สมัยใหม่วินิจฉัยว่าคืออาการของโรคแบบใดกันแน่

สิ่งที่ผมสนใจตลอดการอ่าน ‘พระเอกในความมืด’ คือ การสิงร่างประกายศักดิ์ได้ทำให้เขาอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นได้เลยแม้แต่น้อย เช่นในตอนเปิดเรื่อง หลังจากที่ครอบครัวของประกายศักดิ์ย้ายเข้าบ้านแล้ว สัญญาเห็นว่ากระจ่างศรีเป็นคนสวยมาก จึงสิงร่างประกายศักดิ์แล้วบรรเลงเพลงรักกับกระจ่างศรี และทำให้กระจ่างศรีรู้สึกว่า “สัมผัสของเขาเร่าร้อนราวกับสามีหนุ่มในคืนแรกสมรสก็ไม่ปาน!”  (หน้า 22) รสรักอันเร่าร้อนนี้ได้ติดตราตรึงใจกระจ่างศรีมาจนถึงวันรุ่งขึ้น แต่ประกายศักดิ์กลับจำอะไรไม่ได้เลยสักอย่างเดียวและยังเป็นเหตุให้กระจ่างศรีเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจที่ประกายศักดิ์ไม่สามารถจำอะไรได้เลย หรือจะเป็นตอนที่สัญญาสิงร่างประกายศักดิ์แล้วพบกับเยาวเรศอดีต ‘เมียลับ’ เมื่อครั้งยังมีชีวิตที่ร้านบะหมี่ จนกระทั่งเยาวเรศตามไปหาประกายศักดิ์ถึงที่ทำงาน แต่ประกายศักดิ์ก็กลับจำอะไรไม่ได้เลยเช่นกัน

ในโลกสมัยใหม่นั้นมักทำให้คนเชื่อว่า ปัจเจกบุคคลมีอำนาจในการตัดสินใจกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองอยู่เสมอ ‘เจตจำนงเสรี’ ของมนุษย์เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากในการอภิปรายเรื่องโลกสมัยใหม่และสภาวะความเป็นสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม นอกจากการดำรงอยู่ของผีที่เป็นการรบกวนระเบียบของโลกสมัยใหม่แล้ว การเข้าสิงก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยอธิบายความไม่เสถียรของโลกสมัยใหม่และยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วในหลายๆ ครั้งปัจเจกบุคคลไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือกระทำสิ่งต่างๆ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘เจตจำนงเสรี’ ที่ดำรงอยู่ ‘ในปัจจุบัน’ แต่อย่างใด เพราะการถูกสิงคือการถูกยึดครองและแทนที่ ‘สำนึกในปัจจุบัน’ โดย ‘อดีต’

เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับประกายศักดิ์ ในแง่หนึ่งประกายศักดิ์คือคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง ตรงไปตรงมา เป็นคนที่มีอำนาจเด็ดขาดที่สุดในครอบครัว แต่ความมั่นใจและอำนาจเหล่านั้นก็ถูกทำให้หายไปชั่วคราวผ่านการถูกสิง ตัวตน (self) และสำนึก (conscious) ของประกายศักดิ์ถูกยึดครองจากตัวตนและสำนึกอีกแบบหนึ่งที่ ‘เป็นของอดีต’ และยังมีบทบาทในการควบคุมการกระทำ ความคิด ของประกายศักดิ์ที่ ‘ดำรง’ อยู่ในปัจจุบันอีกด้วย

ดังนั้นสิ่งที่ผมสนใจเกี่ยวกับการถูกผีสิงคือ นี่อาจเป็นการท้าทายความเชื่อที่ว่ามนุษย์ที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันนั้นมีอำนาจในการกระทำและมีศักยภาพในการคิดได้ด้วยตนเอง และที่สำคัญคือปัจเจกบุคคลไม่ได้เป็นอิสระจากอดีต แต่ทั้งอดีตและปัจจุบันดำรงอยู่ด้วยกันอย่างแยกไม่ออก และในบางครั้งก็มีอำนาจที่สามารถยึดครองตัวตนและสำนึกในปัจจุบันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกด้วย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save