fbpx
เมื่อไฟไหม้หนังสือ The Library Book เรื่องของคนรักหนังสือ

เมื่อไฟไหม้หนังสือ The Library Book เรื่องของคนรักหนังสือ

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

นานมาแล้ว เพื่อนเคยพาไปนั่งๆ นอนๆ อ่านหนังสือที่ห้องสมุกยักษ์ใหญ่ใจกลางเมืองลอสแองเจลิส ซึ่งก็คือ Los Angeles Public Library

ตอนนั้นผมตื่นตาตื่นใจมาก เพราะน่าจะเป็นห้องสมุดใหญ่โตมโหฬารระดับโลก ที่เคยเข้าไปเป็นครั้งแรกในชีวิต และทำให้ต่อจากนั้นมา ไม่ว่าจะไปเมืองไหน ก็ต้อไปแวะเยี่ยมห้องสมุดประจำเมืองเสมอ ตั้งแต่ห้องสมุดของนิวยอร์ค ห้องสมุดของสิงคโปร์ จนถึงห้องสมุดที่เมืองอเล็กซานเดรียของอียิปต์ และกระทั่งหอสมุดแห่งชาติของกรุงเทพฯ ที่ปรับปรุงใหม่จนน่าเข้าไปนั่ง แต่น่าเสียดายที่คนไม่ค่อยรู้ และอยู่ห่างจากขนส่งมวลชนหลักค่อนข้างมาก เลยไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงนัก

จำได้ว่า ตอนเข้าไปใน Los Angeles Public Library นั้น ตื่นเต้นกับหลายเซ็กชั่นที่นั่น เพราะห้องสมุดยักษ์ใหญ่แห่งนั้นไม่ได้มีแค่หนังสือภาษาอังกฤษ ด้วยความที่แอลเอเป็นเมืองหลากหลายวัฒนธรรม ผู้คนมาอยู่ที่นั่นจากไม่รู้กี่ประเทศ ตั้งแต่เม็กซิโก เกาหลี จีน รวมถึงคนไทยด้วย ห้องสมุดจึงต้องให้บริการหนังสือภาษาต่างๆ เหล่านี้ด้วย

ความรู้สึกเมื่อได้หยิบนิยายของคุณกฤษณา อโศกสิน ขึ้นมาอ่านในห้องสมุดของลอสแองเจลิสนั้น เป็นความรู้สึกที่พิเศษจริงๆ เป็นความมหัศจรรย์ใจแกมอิจฉาริษยา ที่ห้องสมุดของเขาดูแลใส่ใจผู้คนต่างชาติต่างภาษาที่มาอาศัยอยู่ในเมืองเดียวกันถึงขนาดนี้

แต่ผมไม่เคยรู้เลย ว่าห้องสมุดใหญ่แห่งนี้ เคยเกิดไฟไหม้ เป็นไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ห้องสมุดของสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นในวันที่ 29 เมษายน 1986 ไหม้ยาวนานถึงเจ็ดชั่วโมง อุณหภูมิของไฟนั้นร้อนกว่าสองพันองศาเซลเซียส ผลลัพธ์สุดท้ายก็คือ มีหนังสือถูกเผาไปถึงกว่าสี่แสนเล่ม

ใช่ครับ – สี่แสนเล่ม!

แต่ไม่ใช่แค่นั้นนะครับ เพราะนั่นคือหนังสือที่ถูกเผาวายวอดไม่เหลือชิ้นดี แต่ยังมีหนังสือที่เสียหายอีกมากกว่าเจ็ดแสนเล่ม ทั้งหมดทำให้เกิดความเสียหายราว 22 ล้านเหรียญในตอนนั้น ซึ่งถ้าคิดเป็นมูลค่าในปัจจุบัน ก็จะอยู่ที่มากกว่า 50 ล้านเหรียญ

นี่คือไฟไหม้ห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา!

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณไปเปิดดูวิกิพีเดียว่าด้วยห้องสมุดแห่งเมืองแอลเอแห่งนี้ คุณจะไม่พบข้อมูลที่ว่า ห้องสมุดใหญ่แห่งนี้เคยเกิดไฟไหม้ลุกท่วมถึงขนาดนั้น คล้ายกับว่า ผู้คนได้ลืมเลือนเรื่องราวนี้ไปแล้วกระนั้น แม้เมื่อผมไปนั่งๆ นอนๆ อ่านหนังสืออยู่ที่ห้องสมุดแห่งนี้ ก็ไม่พบร่องรอย หลักฐาน หรือมีใครกล่าวขานเลยว่า ห้องสมุดแห่งนี้เคยมีไฟไหม้มาก่อน

บางทีนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ ซูซาน ออร์ลีน (Susan Orlean) ลุกขึ้นมาเขียนหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนั้นก็เป็นได้

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า The Library Book

ที่จริงแล้ว ตอนนั้นเรื่องนี้ไม่ได้เป็นข่าวใหญ่นะครับ เนื่องจากในสัปดาห์เดียวกันมีข่าวใหญ่กว่าเกิดขึ้น นั่นก็คือข่าวเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิลหลอมละลาย ทำให้ตลาดหุ้นล่ม และแม้กระทั่งตัวซูซาน โอนีล เอง ในตอนนั้นก็ไม่ได้รับรู้หรือสนใจข่าวเรื่องนี้มากเท่าไหร่

คำถามก็คือ แล้วทำไมเธอถึงมาสนใจเขียนหนังสือ ‘ทั้งเล่ม’ ออกมาในตอนนี้

คำตอบก็คือ ความสงสัยใคร่รู้นั่นแหละครับ

เรื่องของเรื่องก็คือ ซูซานเป็นคนที่รักหนังสือมาก เธอเล่าไว้ในหนังสือ The Library Book อย่างน่ารัก (และน่าอิจฉาอีกนั่นแหละ) ว่าเธอแทบจะโตขึ้นมาในห้องสมุด เพราะพ่อแม่ของเธอพาเธอไปห้องสมุดบ่อยมาก ตอนนั้นเธออยู่ที่คลีฟแลนด์ในโอไฮโอ ซึ่งมีห้องสมุดในแบบที่เรียกว่า Public Library System คือเป็น ‘ระบบ’ (หรือเครือข่าย) ห้องสมุด ที่ชื่อ Shaker Heights

ความที่ห้องสมุดอยู่ใกล้บ้าน (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเธอโชคดี ‘บังเอิญ’ มีห้องสมุดอยู่ใกล้บ้านนะครับ แต่เพราะเครือข่ายหรือระบบห้องสมุดที่ว่านี้ พยายามกระจายตัวไปให้ถึงผู้คนมากที่สุด คนจะได้เดินมายืมหนังสืออ่านได้ง่ายๆ) แม่จึงพาเธอไปห้องสมุดบ่อยๆ สัปดาห์ละหลายๆ ครั้ง เธอบอกว่า การไปห้องสมุดนั้นไม่เคยนานพอสำหรับตัวเธอเลย เธอชอบอยู่ในนั้น ถ้าไม่อ่านก็ดูภาพต่างๆ จากหนังสือ เธอจะยืมหนังสือกลับมาบ้านทีละเป็นตั้งๆ บางครั้งเอาใส่หลังรถไม่พอ ก็ต้องเอามาวางไว้กับตัก ที่น่ารักมากก็คือ เวลาขับรถกลับบ้าน บทสนทนากับแม่ก็คือ ใครจะอ่านเล่มไหนก่อนหลังอย่างไร คือเรียงลำดับการอ่านกัน จะได้ไม่ต้องแย่งกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการอ่านที่ ‘ฝัง’ ลึกลงไปในครอบครัว

เธอบอกว่า ที่บ้านมีหนังสือไม่เยอะเท่าไหร่ ที่ไม่เยอะก็เพราะสามารถมายืมหนังสือของห้องสมุดไปอ่านได้นี่แหละครับ สะดวกมาก ดังนั้นที่บ้านเลยมีหนังสือเฉพาะที่จำเป็น เช่น เอนไซโคลปีเดีย แต่หนังสือแบบหนึ่งที่เธอพบว่าพ่อแม่ซื้อมาก็คือหนังสือเกี่ยวกับ ‘คู่มือเซ็กซ์’ (เช่น Ideal Marriage: Its Physiology and Technique หรือ ‘การแต่งงานในอุดมคติ: สรีรวิทยาและเทคนิค) ซึ่งเธอบอกว่าพ่อแม่คงเอามาใช้งานในชีวิตจริง (ช่างเปิดเผยนัก!) แม้เป็นหนังสือที่ห้องสมุดมีให้บริการอยู่ด้วยเหมือนกัน แต่เวลาจะไปขอยืม ก็คงรู้สึกเขินอาย เลยซื้อมาเป็นคู่มือติดบ้านไว้เลยดีกว่า

ด้วยความที่เธอรักในหนังสือและห้องสมุดมาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้น เธอก็เลยกลายมาเป็นนักเขียน เธอทำงานกับ New Yorker เธอเขียนหนังสือมาแล้วหลายเล่ม ล้วนแต่เป็นหนังสือแนว Non-Fiction ทั้งนั้น พอมาถึงเล่มใหม่นี้ แนวคิดของเธอก็คือการเขียนถึงห้องสมุดในเมืองใหญ่ เธอจึงลงมือค้นคว้า

แล้วเธอก็พบว่า ห้องสมุดของแอลเอนี่แหละ มีความเป็นมาน่าสนใจอย่างยิ่ง

แล้วไม่ใช่แค่น่าสนใจเท่านั้น แต่ยัง ‘ลึกลับ’ อีกด้วย!

ความลึกลับก็คือเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่ครั้งนั้นนั่นแหละครับ เพราะแม้เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนั้นจะจบลงและผ่านมาแล้วหลายสิบปี แต่เชื่อไหมครับว่า ยังไม่มีใครรู้เลยว่าไฟไหม้นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

แรกทีเดียว ควันในชั้นหนังสือนิยายเบาบางราวเปลือกหัวหอม แล้วมันก็หนาแน่นขึ้นจนกลายเป็นสีเทานกพิราบ จากนั้นก็กลายเป็นสีดำ มันลามเลียหนังสือนิยายจากตัว A จนถึงตัว L ค่อยๆ เลื้อยลามเกียจคร้านเป็นวง รวมตัวเป็นเปลวปะทุเบาบางที่ค่อยๆ ผุดพ่นปะทะเข้ากับชั้นหนังสือราวกับรถบัมพ์ แล้วทันใดนั้น เปลวเพลิงเลื้อยไหลราวนิ้วมือก็ผุดควันพลุ่งขึ้นด้านบน เปลวไฟระเบิดออก ความร้อนก่อตัว อุณหภูมิถึง 451 องศา หนังสือเริ่มเผาไหม้ หน้าปกของมันระเบิดออกมาเหมือนป๊อบคอร์น

 

เธอบรรยายอย่างนั้น และในการให้สัมภาษณ์ต่อมาก็เน้นย้ำเรื่องเสียงแบบป๊อบคอร์นบ่อยครั้ง นั่นคือใจกลางของหนังสือเล่มนี้ เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น เธอขุดค้น นำเอาทั้งความทรงจำ ชีวประวัติของผู้คน ประวัติศาสตร์รายล้อม การสืบสวน และวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อนำไปสู่ผลสรุปที่ว่า ใครกันแน่ก่อให้เกิดไฟไหม้ครั้งนี้ขึ้น

นี่คือการ ‘วางเพลิง’ หรือเปล่า?

ตัวละครปรากฏในหนังสือเล่มนี้หลายคน ตั้งแต่คนแรกอย่างแฮรี พีค (Harry Peak) ที่มีผมสีบลอนด์โดดเด่น ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นมือวางเพลิง แต่สุดท้ายก็ต้องปล่อยตัวไปเพราะไร้หลักฐาน ไปจนถึงบรรณารักษ์เก่าแก่ และชาลส์ ลุมมิส (Charles Lummis) ซึ่งเป็นบรรณาธิการคนแรกของแอลเอไทม์ส รวมทั้งเป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุดด้วย

ตอนจะเริ่มเขียน ซูซานต้องไปถกกับบรรณาธิการเล่มว่า นี่เป็นหนังสือที่ผู้คนจะสนใจหรือเปล่า เพราะมันเป็นแค่เรื่องเล่าเก่าๆ ของห้องสมุดแห่งหนึ่ง จึงน่าจะจำกัดกลุ่มผู้อ่านมากทีเดียว แต่ซูซานยืนยันว่า เรื่องราวที่เธอค้นคว้ามานั้นน่าสนใจมากๆ พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด และเมื่อเธอเขียนออกมา ผมก็พบว่าหนังสือเล่มนี้น่าสนใจจริงๆ

ซูซานเขียนหนังสืออย่างประณีต เธอเลือกคำมาบรรยายลักษณะท่าทางและสภาพแวดล้อมได้น่าสนใจ มีเอกลักษณ์ แข็งๆ แบบนักเขียน Non-Fiction ไม่ได้ละเมียดละเอียดละออแบบนักเขียนนิยาย ซึ่งทำให้เกิดความสมจริงราวกับดูสารคดี ที่สำคัญก็คือ หนังสือเล่มนี้ต้องพลิกอ่านต่อไปเรื่อยๆ แบบหยุดไม่ได้ มันเหมือนการอ่านเรื่องราวฆาตกรรมที่มีนักสืบมาค่อยๆ คลี่คลายเรื่องราวให้เรารู้

เพียงแต่นี่ไม่ใช่ฆาตกรรมมนุษย์

มันคือฆาตกรรมหมู่หนังสือ – หนังสือ ซึ่งเป็นเพียงวัตถุ แต่เป็นวัตถุที่มีคุณค่าทางใจต่อคนรักหนังสืออย่างมาก

สำหรับซูซาน หนังสือไม่ใช่แค่กระดาษเรียงซ้อนกัน เธอบอกว่าหนังสือมีอะไรมากกว่านั้น แม้ว่าเราจะหาเล่มใหม่มาทดแทนได้ พิมพ์ใหม่ได้ แต่การได้เห็นภาพหนังสือถูกเปลวเพลิงเผาไหม้จนดำเป็นตอตะโกไม่เหลือซาก ก็สร้างความสะเทือนใจและแรงผลักดันในอันที่สืบค้นเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด

ปริศนายืนยาวหลายสิบปีของไฟไหม้ครั้งนั้น จึงผสานรวมกับความรักในหนังสือ ย้อนกลับไปขับเน้นวัยเด็กที่คลุกคลีอยู่กับการอ่าน และทำให้เรารู้ว่า หนังสือสร้างผู้คนบางแบบขึ้นมาได้อย่างไร และเพราะอะไรพวกเขาถึงรักหนังสือและห้องสมุดมากมายถึงเพียงนี้

The Library Book คือไม่ได้แค่บอกเล่าเรื่องราวของห้องสมุดแห่งหนึ่งเท่านั้น แต่ยังบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนที่ผูกพันและเป็นหนึ่งเดียวกับห้องสมุดแห่งนั้นด้วย

เรื่องราวที่คนในบางที่มี  แต่ในบางที่, ก็ไม่อาจมี…

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save