ภายหลังขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2566 ไม่นานมานี้ได้ปรากฏข่าวที่สั่นสะเทือนวงการวิชาการและการวิจัยไทยเป็นอย่างมาก หลังจากมีนักวิชาการหลายท่านออกมาเปิดเผยข้อมูลถึงรูปแบบการฉ้อฉลทางวิชาการรูปแบบหนึ่งของบุคลากรทางวิชาการ ที่กระทำในลักษณะการจ่ายเงินเพื่อแลกกับการซื้อผลงานทางวิชาการโดยนำชื่อของตนเองไปอยู่ในงานวิจัยของต่างประเทศในฐานะผู้วิจัยหรือผู้นิพนธ์ โดยที่ตนไม่ได้เป็นผู้ศึกษาวิจัยหรือประพันธ์งานวิจัยอย่างแท้จริง อีกทั้งยังนำงานวิจัยดังกล่าวไปใช้แสวงหาประโยชน์ต่างๆ ที่เป็นคุณต่อตำแหน่งหน้าที่ในทางวิชาการอีกด้วย[1]
หลังจากเหตุการณ์นี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว ผู้กระทำการดังกล่าวก็คงมีความรับผิดทางสังคมที่จะต้องถูกประณามจากประชาชนทั้งในและนอกวงการวิชาการ พร้อมกับความรับผิดทางกฎหมายปกครองด้านวินัยของบุคลากรสายวิชาการตามข้อบังคับหรือข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องความรับผิดตามกฎหมายอาญาโดยเฉพาะ ‘ความผิดฐานจ้างทำผลงานวิชาการ’ ตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 70 ที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างสนับสนุนอย่างกว้างขวางเพื่อลงโทษผู้ถูกกล่าวหาในเหตุการณ์ครั้งนี้ ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าฐานความผิดอาญาดังกล่าวนั้นอาจมีช่องโหว่ขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อลงโทษการฉ้อฉลทางวิชาการในหลายกรณี รวมถึงไม่สามารถปรับใช้ลงโทษในกรณี ‘การซื้อผลงานทางวิชาการหรือตำแหน่งสถานะการเป็นผู้ประพันธ์ผลงานวิชาการ’ ดังที่ปรากฏในเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ และนอกจากนี้ถึงแม้จะมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินคดีความผิดอาญาฐานอื่นทดแทนก็ตาม (ในกรณีที่ไม่สามารถลงโทษด้วยพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาได้) แต่ด้วยกลไกของกระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้นก็อาจทำให้การดำเนินคดีความผิดฐานอื่นถูกยุติลงไปได้ในท้ายที่สุดโดยไม่ต้องรับผิดในทางอาญาอีกเช่นกัน
ทั้งนี้ ผู้เขียนจะอธิบายความผิดฐานจ้างทำผลงานวิชาการตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 70 พร้อมกับข้อสังเกตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การซื้อผลงานวิชาการที่เกิดขึ้นโดยตรงและโดยอ้อม
ความผิดอาญาฐานจ้างทำผลงานวิชาการ
พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 70 ได้บัญญัติว่า
“เพื่อประโยชน์ในการรักษามาตรฐานการอุดมศึกษา หลักธรรมาภิบาล และความซื่อสัตย์สุจริตทางวิชาการ ห้ามมิให้ผู้ใด จ้าง วาน ใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเพื่อไปใช้ในการทำผลงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ หรือเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ก็ตาม
ห้ามมิให้ผู้ใดรับจ้างหรือรับดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เพื่อให้ผู้อื่นนำผลงานนั้นไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่เป็นการช่วยเหลือโดยสุจริตตามสมควร”
และมาตรา 77 ได้บัญญัติโทษสำหรับความผิดฐานจ้างทำผลงานวิชาการไว้ โดยบัญญัติว่า
“ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นสามารถอธิบายในเบื้องต้นได้ว่า เมื่อผู้กระทำได้มีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งคือ ‘จ้าง วาน หรือใช้’ ให้ผู้อื่นทำผลงานวิชาการ พร้อมกับการมีมูลเหตุชักจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ ‘เพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฯลฯ‘ แล้ว ผู้กระทำก็จะมีความผิดฐานจ้างทำผลงานวิชาการพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 70
อย่างไรก็ตามผู้เขียนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับฐานความผิดฐานจ้างทำผลงานวิชาการ ดังจะกล่าวดังต่อไปนี้
1. ลักษณะของการกระทำ
ความผิดฐานจ้างทำผลงานวิชาการที่ปรากฏในมาตรา 70 วรรคหนึ่งนี้ได้แบ่งลักษณะของการกระทำออกเป็น 3 รูปแบบ คือ ‘จ้าง วาน และใช้’ ให้ผู้อื่นทำผลงานวิชาการขึ้นมาให้แก่ตนเอง นั่นหมายความว่าการกระทำดังกล่าวนี้จะต้องเป็นการก่อให้ผู้อื่นทำการสร้างสรรค์ผลงานวิชาการขึ้นมาให้กับตนเองด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 วิธีการนี้เท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่ากฎหมายกำหนดรูปแบบการกระทำที่จะเป็นความผิดไว้อย่างคับแคบอย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งแม้ข้อสังเกตดังกล่าวนี้ดูเผินๆ จะไม่ใช่ข้อสังเกตที่มีนัยสำคัญเท่าใดนัก แต่บทบัญญัติดังกล่าวนั้นก็คงทำให้ไม่สิ้นสงสัยว่า หากเป็นการกระทำรูปแบบอื่นนอกเหนือจากนี้ เช่น การ ‘บังคับ ขู่เข็ญ ยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด‘ ที่เป็นเหตุให้ผู้อื่นทำผลงานวิชาการให้แก่ตนเองแล้ว จะยังอยู่ในความหมายของการจ้าง วาน และใช้ให้บุคคลอื่นทำผลงานวิชาการให้แก่ตนเองอันเป็นความผิดตาม มาตรา 70 พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 อยู่หรือไม่ เพราะเจตนารมณ์ของฐานความผิดดังกล่าวนี้ในวรรคหนึ่งและวรรคสองได้สะท้อนถึงความมุ่งหมายในการปราบปรามการกระทำอันเป็นการขอความช่วยเหลือและให้ช่วยเหลือในการทำผลงานทางวิชาการในลักษณะเป็นการรับจ้างเพื่อเงินหรือประโยชน์ตอบแทน หรือมีการทำเป็นอาชีพ[2] ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกรณีที่ก่อให้บุคคลอื่นทำผลงานวิชาการให้ตนด้วยความสมัครใจทั้งสิ้น
ยกตัวอย่างกรณีปัญหาเช่น อาจารย์ X เป็นหัวหน้าทีมวิจัยที่มีอิทธิพลสูงในทางสังคมและวงการวิชาการ เขาไม่ได้ลงมือทำวิจัยร่วมกับผู้ร่วมวิจัยเลยแม้แต่น้อย แต่ปล่อยให้ผู้ร่วมวิจัยผู้น้อยคนอื่นเป็นผู้เขียนผลงาน ที่อาจารย์ X มีพฤติกรรมเช่นนี้ก็เนื่องจากเขารู้ว่าอย่างไรเสียผู้ร่วมวิจัยผู้น้อยก็ต้องอาศัยบารมีของเขาในวงการวิชาการเพื่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตนเองในอนาคต ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ผู้ร่วมวิจัยจึงไม่กล้าที่จะเรียกร้องให้อาจารย์ X ร่วมลงแรงเขียนงานวิจัย และภายหลังจากที่งานวิจัยได้เขียนจนแล้วเสร็จ อาจารย์ X ก็ได้ใส่ชื่อของตนเองเป็นผู้วิจัยและนำผลงานวิจัยไปขอตำแหน่งทางวิชาการหรือประโยชน์อื่นๆ
จากตัวอย่างที่ผู้เขียนได้ยกมานี้จะเห็นได้ว่า อาจารย์ X ไม่ได้มีการจ้าง วาน และใช้ ให้ผู้ร่วมวิจัยคนอื่นๆ ในทีมเขียนงานวิจัยให้ตนเองเลยแม้แต่น้อย แต่การกระทำของเขานั้นเพียงแต่เป็นการกระทำรูปแบบหนึ่งที่อาศัยอิทธิผลของตนเองซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ร่วมวิจัยคนอื่นๆ ในทีมเขียนวิจัยให้แก่เขาโดยไม่สมัครใจอย่างแท้จริง ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 70 ก็ไม่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อลงโทษอาจารย์ X ได้ในกรณีเช่นนี้
2. มูลเหตุชักจูงใจ
การจ้าง วาน หรือใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานวิชาการที่จะเป็นความผิดตาม มาตรา 70 นั้น ต้องปรากฏว่าผู้กระทำนั้นจ้าง วาน หรือใช้ผู้อื่นโดยมีมูลเหตุชักจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
1) เพื่อไปใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษา
2) เพื่อไปใช้ในการทำผลงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ
3) เพื่อเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง
4) เพื่อการเลื่อนตำแหน่ง
5) เพื่อการเลื่อนวิทยฐานะ
6) เพื่อการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น
ทั้งนี้เมื่อฐานความผิดดังกล่าวมีมูลเหตุชักจูงใจ 6 รูปแบบที่ผูกติดอยู่กับการเป็นองค์ประกอบความรับผิดทางอาญาแล้ว นั่นจึงหมายความว่า ถึงแม้ว่าผู้กระทำนั้นจ้าง วาน หรือใช้ให้ผู้อื่นทำผลงานวิชาการให้แก่ตนเองก็ตาม แต่ถ้าเขากระทำไปโดยมีมูลเหตุชักจูงใจในการแสวงหาประโยชน์ที่เป็นคุณกับตำแหน่งหน้าที่ในวงการวิชาการที่มิควรได้โดยชอบในรูปแบบอื่นใด นอกจากมูลเหตุชักจูงใจทั้ง 6 รูปแบบแล้ว ผู้กระทำก็จะไม่มีความผิดฐานดังกล่าวอีกเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์ X นั้นไม่เขียนงานวิชาการเลย จนกระทั่งใกล้ถึงเดดไลน์ที่มหาวิทยาลัยจะเลิกสัญญาจ้างหากอาจารย์ X ไม่มีผลงานวิชาการ ด้วยเหตุนี้อาจารย์ X จึงจ้างนาย Y ให้เขียนงานวิจัยให้ เพื่อที่ตนจะได้รับการพิจารณาต่อสัญญาจ้างจากทางมหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อประโยชน์ที่เป็นคุณกับตำแหน่งหน้าที่ในวงการวิชาการที่อาจารย์ X ปรารถนาคือ ‘เพื่อที่ตนจะได้รับการต่อสัญญาจ้างจากทางมหาวิทยาลัย’ แล้ว กรณีดังกล่าวก็จะไม่อยู่ในเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ต้องรับผิดแต่อย่างใด พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 70 จึงไม่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อลงโทษอาจารย์ X ได้ในกรณีนี้อีกเช่นกัน
กรณีการซื้อผลงานวิชาการ
จากข้อมูลและข้อเท็จจริงที่นักวิชาการเปิดเผยออกมาตามสื่อต่างๆ นั้น เป็นกรณีที่บุคลากรทางวิชาการใช้เงินไปซื้องานวิจัยโดยเป็นการซื้อตำแหน่งของการเป็นผู้แต่งหรือผู้นิพนธ์ ในงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยคนอื่นๆ และเมื่องานวิจัยได้จำนวนผู้ประพันธ์ครบแล้ว งานวิจัยดังกล่าวนี้ก็ส่งไปตีพิมพ์ โดยผู้ที่จ่ายเงินจะสามารถนำผลงานวิจัยนี้ไปกล่าวอ้างผลงานทางวิชาการของตน หรือไปใช้ขอทุนจากหน่วยงานต่างๆ ได้[3] ซึ่งผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้อมูลเช่นว่านี้แล้ว กรณีดังกล่าวจะไม่สามารถนำความผิดฐานจ้างผู้อื่นทำผลงานวิชาการตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 70 มาปรับใช้ลงโทษได้ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. แม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการซื้อตำแหน่งสถานะการเป็นผู้ประพันธ์งานวิชาการที่พ่วงไปกับการซื้อผลงานวิชาการมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวไม่ใช่การ ‘จ้าง วาน และใช้’ ให้ผู้อื่นสร้างสรรค์ผลงานวิชาการให้แก่ตนเองแต่อย่างใด เพราะงานวิจัยนั้นได้มีการถูกสร้างขึ้นมาอย่างสำเร็จรูปอยู่ก่อนตั้งแต่แรกแล้ว ก่อนที่ผู้กระทำจะทำสัญญาซื้อขายงานวิจัย หรือจ้างทำงานวิจัย เพราะฉะนั้น การกระทำของเขาจึงไม่ใช่การก่อให้ผู้อื่นหรือเป็นเหตุให้ผู้อื่นสร้างสรรค์ผลงานวิชาการให้แก่ตนเอง และนอกจากนี้เนื่องจากมาตรา 70 นี้เป็นกฎหมายอาญา บทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องถูกจำกัดการตีความอย่างเคร่งครัด ไม่อาจตีความให้การซื้อผลงานวิชาการที่ทำเสร็จสำเร็จรูปอยู่ก่อนแล้วอยู่ในความหมายเดียวกับการก่อให้ผู้อื่นสร้างผลงานวิชาการขึ้นมาใหม่แก่ตนเองได้ เพราะจะเป็นการตีความโดยเทียบเคียง (analogy) และจะนำสิ่งที่ไม่ได้ถูกบัญญัติโดยชัดแจ้งให้เป็นความผิดมาใช้ลงโทษแก่บุคคลซึ่งต้องห้ามตามกฎหมาย[4]
2. หากมูลเหตุชักจูงใจของผู้กระทำเป็นไป ‘เพื่อใช้ขอทุนจากหน่วยงานต่างๆ’ โดยที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อใช้ในการเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเพื่อไปใช้ในการทำผลงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขอตำแหน่งทางวิชาการ หรือเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินอื่นในระดับที่สูงขึ้น กรณีดังกล่าวก็จะไม่เข้าเงื่อนไขของกฎหมายในความรับผิดอาญาตามมาตรา 70 อีกเช่นเดียวกัน
3. หากเป็นกรณีที่ผู้กระทำมีการซื้อสถานะตำแหน่งผู้ประพันธ์งานวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้ซื้อตัวผลงานวิชาการให้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองโดยตรงแล้ว ผู้กระทำก็ไม่อาจที่จะถูกลงโทษตาม มาตรา 70 ได้อีกเช่นกัน เพราะ ‘สถานะการเป็นผู้ประพันธ์ผลงานวิชาการ’ ไม่อาจถูกตีความให้รวมอยู่ในความหมายของ ‘ผลงานวิชาการ’ ได้ (ด้วยเหตุผลเรื่องหลักความชอบด้วยกฎหมายอาญาเช่นเดียวกับข้อสังเกตแรก) และนอกจากนี้ พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 หรือกฎหมายอื่นก็ไม่ได้มีการกำหนดบทนิยามของ ‘ผลงานวิชาการ’ ให้รวมไปถึง ‘สถานะการเป็นผู้ประพันธ์ผลงานวิชาการ’ ไว้โดยชัดแจ้งอย่างเฉพาะเจาะจงอีกด้วย เพราะฉะนั้นแล้ว หากมีกรณีเช่นว่านี้เกิดขึ้น แม้ผู้กระทำจะจ้าง วาน ใช้ให้ผู้รับจ้างหรือรับดำเนินการ นำชื่อของตนเองไปใส่ไว้ในผลงานวิชาการที่ถูกเขียนขึ้นมาใหม่ที่ไม่ได้มีอยู่อย่างสำเร็จรูปอยู่ก่อนที่ตนจะจ้าง วาน หรือใช้ก็ตาม แต่เมื่อวัตถุแห่งหนี้ที่ถูกจ้าง วาน ใช้ให้ดำเนินการนั้นคือการให้ ‘สถานะการเป็นผู้ประพันธ์ผลงานวิชาการ’ ไม่ใช่ ‘ผลงานวิชาการ’ แล้ว การกระทำที่เกิดขึ้นก็ไม่เข้าลักษณะการกระทำที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงไม่อาจมีความผิดตามมาตรา 70 ได้อยู่นั่นเอง
การดำเนินคดีความผิดฐานฉ้อโกง
ความผิดฐานฉ้อโกงนั้นได้ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 โดยบัญญัติว่า
“ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ทั้งนี้จากข้อกฎหมายดังกล่าวนั้น ในเบื้องต้นอย่างผิวเผินเราอาจจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น หากผู้กระทำการซื้อผลงานวิชาการได้มีการนำผลงานวิชาการนี้ไปใช้แสวงหาประโยชน์เป็นเงินแก่ตนเองในภายหลังอาจเป็นกรณีที่เขาสามารถถูกดำเนินคดีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ได้ เพราะเป็นการที่ผู้กระทำมีเจตนาโดยทุจริตอันเป็นมูลเหตุจูงใจในการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำการหลอกลวงมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานอื่นโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ คือการแสดงออกว่าเป็นเจ้าของหรือผู้ประพันธ์ผลงานวิชาการ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงตนไม่ได้ทำขึ้นด้วยตนเอง แล้วโดยการหลอกลวงนี้ก็เป็นเหตุให้ตนได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานอื่น
แต่ทั้งนี้กรณีการดำเนินคดีความผิดฐานฉ้อโกงยังทิ้งข้อสังเกตที่เป็นช่องโหว่ของกฎหมายไว้ว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดดังกล่าวนั้น ผู้กระทำจะต้อง ‘ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ’ ดังนั้นหากสิ่งที่ผู้กระทำการดังกล่าวได้ไปจากการหลอกลวงนั้นไม่ใช่ประโยชน์ในทางทรัพย์สิน หรือไม่ได้ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ แต่เป็นการได้ประโยชน์ในลักษณะอื่นที่เป็นคุณแก่ตำแหน่งหน้าที่การงานในทางวิชาการ เช่นการขอตำแหน่งทางวิชาการ หรือประโยชน์อื่นที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินโดยตรงแล้ว กรณีดังกล่าวก็ไม่อาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกงได้ (ในประเด็นนี้อาจยังพอโต้แย้งได้อยู่บ้างว่า แม้การได้เลื่อนตำแหน่งวิชาการไม่ใช่ประโยชน์ทางทรัพย์สินโดยตรง แต่ก็อาจเป็นประโยชน์ทางทรัพย์สินโดยอ้อมจากการที่ผู้กระทำได้รับการเพิ่มเงินประจำตำแหน่ง จึงยังเป็นความผิดฐานฉ้อโกงอยู่)
อย่างไรก็ตาม แม้จะเข้ากรณีที่สามารถดำเนินคดีความผิดฐานฉ้อโกงได้ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม แต่เนื่องจากความผิดฐานฉ้อโกงนั้นเป็นความผิดอันยอมความได้[5] ซึ่งแตกต่างจากความผิดฐานจ้างทำผลงานวิชาการตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษามาตรา 70 ที่เป็นความผิดต่อแผ่นดินที่ไม่อาจยอมความได้ ความผิดฐานฉ้อโกงจึงมีเงื่อนไขการเริ่มและยุติคดีที่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้เสียหาย ด้วยเหตุนี้ แม้ผู้ซื้อผลงานวิชาการมาใช้ในการหลอกลวงมหาวิทยาลัยจะมีการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงจริงก็ตาม แต่ถ้าทางมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีอาญาความผิดดังกล่าว หรือมีการดำเนินคดีอาญาแล้ว แต่ถ้าหากสุดท้ายทางมหาวิทยาลัยทำการตกลงยอมความไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป การดำเนินคดีอาญาความผิดฐานฉ้อโกงก็คงยุติแต่เพียงเท่านั้น
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้จึงสรุปได้ว่า ผู้ที่ทำการซื้อผลงานวิชาการที่ทำไว้สำเร็จรูปอยู่ก่อนแล้วหรือผู้ที่ซื้อสถานะการเป็นผู้ประพันธ์ผลงานวิชาการ ไม่อาจมีความผิดฐานจ้างทำผลงานวิชาการตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 70 ได้เลย และหากผู้กระทำการดังกล่าวนั้นได้นำผลงานวิชาการที่ซื้อมาไปหลอกลวงมหาวิทยาลัยจนได้ประโยชน์อันเป็นคุณแก่ความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ทางวิชาการที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ทางทรัพย์สินโดยตรงแล้ว ก็อาจไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 อีกด้วย
นอกจากนี้ แม้ว่าการหลอกลวงจะเป็นการได้เงินหรือประโยชน์ทางด้านทรัพย์สินไปด้วยการหลอกลวงนั้นอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงก็ตาม แต่ถ้าทางมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแล้ว ในท้ายที่สุดผู้กระทำก็ไม่ต้องมีความรับผิดชอบทางอาญาแต่อย่างใดเลย
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
ความเห็นทางกฎหมายทั้งหมดที่ผู้เขียนได้อธิบายไว้ข้างต้นนี้ ผู้เขียนไม่ได้มีความประสงค์ที่จะเข้าข้างหรือชี้ช่องทางการต่อสู้คดีให้แก่ผู้ที่ทำการซื้อผลงานวิชาการไปใช้ประโยชน์แต่อย่างใด แต่เป็นความต้องการที่จะอธิบายการปรับใช้กฎหมายในกรณีดังกล่าวแก่ประชาชนอย่างตรงไปตรงมา พร้อมกับชี้ข้อบกพร่องของกฎหมายเพื่อให้นำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงอุดช่องโหว่ของกฎหมายเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวนี้ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ผู้เขียนมีข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปรับปรุง พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 70 ดังนี้
1. ควรบัญญัติองค์ประกอบเรื่องลักษณะการกระทำเพิ่มเติมให้มีความกว้างขวางมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงแค่ ‘จ้าง วาน ใช้’ โดยบัญญัติเป็น “ก่อให้ผู้อื่นทำผลงานวิชาการให้แก่ตนเองไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด” ซึ่งเป็นการนำถ้อยบัญญัติประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84 เรื่องการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เป็นต้นแบบ
2. เพิ่มรูปแบบการกระทำลักษณะใหม่ให้ครอบคลุมไปถึงกรณีการซื้อผลงานวิชาการที่ทำสำเร็จรูปอยู่ก่อนแล้วหรือการซื้อตำแหน่งผู้ประพันธ์ โดยบัญญัติว่า “รับ หรือกล่าวอ้างผลงานวิชาการที่ทำขึ้นโดยบุคคลอื่นเป็นของตน”
3. ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบเรื่องมูลเหตุจูงใจให้มีถ้อยคำสั้นกระชับแต่ครอบคลุมไปถึงการแสวงหาผลประโยชน์ได้หลายรูปแบบมากขึ้นโดยบัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์อันเป็นคุณแก่ตำแหน่งหน้าที่ทางวิชาการ”
ดังนี้ ความผิดตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 70 (ที่ได้รับการปรับปรุงตามความเห็นของผู้เขียน) จึงปรากฏออกมาเป็นดังนี้
“…ห้ามมิให้ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นทำผลงานวิชาการให้แก่ตนเองไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด รับ หรือกล่าวอ้างผลงานวิชาการที่ทำขึ้นโดยบุคคลอื่นเป็นของตน เพื่อประโยชน์อันเป็นคุณแก่ตำแหน่งหน้าที่ทางวิชาการ”
[1] กระหึ่มโซเชียล! นักวิชาการจี้สอบปมอาจารย์ซื้องานวิจัยใส่ชื่อตัวเอง
[2] เจตนารมณ์พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562
[3] พบหลักฐาน 6 นักวิชาการไทยซื้องานวิจัย
[4] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29
[5] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 348