fbpx
สมรภูมิสุดท้าย โอกินาว่า

สมรภูมิสุดท้าย โอกินาว่า

ในยุคฟรีวีซ่าที่ใครๆ ก็บินไปเที่ยวญี่ปุ่นได้ไม่ต่างจากบินไปเชียงใหม่หรือภูเก็ต สายการบินต้นทุนต่ำแข่งกันเปิดเส้นทางบินไปเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่นยิงโฆษณาถี่ยิบ โอกินาว่า เกาะทางใต้ของญี่ปุ่นก็ได้รับการโฆษณาว่าเป็นญี่ปุ่นที่บินไปได้ง่ายและอยู่ใกล้ประเทศไทยที่สุด เป็นดินแดนสวรรค์ทะเลใต้ที่มีความสวยงามของหาดทรายและชายทะเลไปพร้อมกับวัฒนธรรมที่ผสมระหว่างอารยธรรมริวกิวพื้นเมืองและความเป็นญี่ปุ่นทันสมัยที่แสนสะดวกสบายให้ท่องเที่ยว ชิมรสอาหาร และเพลิดเพลินกับสายลมทะเลที่ปลอดโปร่ง

แต่อีกด้านหนึ่ง โอกินาว่าก็เป็นเกาะที่มีประวัติศาสตร์โชกชุ่มไปด้วยเลือด การกดขี่ข่มเหง และความขัดแย้งระหว่างผู้เข้ามายึดครอง และผู้ถูกปกครอง เป็นบาดแผลปรากฏอยู่ตามสถานที่ต่างๆ และยังส่งผลความขัดแย้งนั้นมาถึงปัจจุบัน

ราชอาณาจักรริวกิว เป็นรัฐอิสระที่ตั้งขึ้นบนหมู่เกาะริวกิวระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15-18 ปกครองในฐานะรัฐบรรณาการของจักรวรรดิหมิง เป็นจุดเติมน้ำและอาหารให้แก่เรือสินค้าที่ขึ้นล่องระหว่างประเทศในทะเลจีนใต้กับท่าเรือฉวนโจวของต้าหมิง และเกาะหลักของญี่ปุ่น แต่เมื่อจักรวรรดิหมิงปิดประเทศงดการค้าทางทะเลหลังรัชสมัยของพระเจ้าหย่งเล่อ ความรุ่งเรืองทางการค้าของริวกิวก็เสื่อมถอยลง ถูกโจรสลัดวะโคเชื้อสายญี่ปุ่นรุกรานทำลายหลายครั้ง จนกระทั่งแคว้นซัทสึมะทางตอนใต้ของเกาะคิวชู ยกพลบุกยึดริวกิวเป็นเมืองขึ้น และถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 19

ราชบัลลังก์ริวกิว ปราสาทชูริ
ราชบัลลังก์ริวกิว ปราสาทชูริ

เมื่อเข้าศตวรรษที่ 20 โอกินาว่ากลายเป็นฐานทัพของกองทัพจักรวรรดิอาทิตย์อุทัย เพื่อส่งทหารไปรุกรานหมู่เกาะทางใต้ และคืบคลานเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากโอกินาว่าอยู่ห่างจากเกาะฟอร์โมซาหรือไต้หวันเพียง 732 กิโลเมตร และห่างจากฟิลิปปินส์เพียง 1,600 กิโลเมตร เป็นระยะทำการของเครื่องบินรบภายใน 1 ชั่วโมง และเรือรบไม่ถึง 1 วัน

ความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าว ทำให้โอกินาว่าเป็นสมรภูมิสุดท้ายในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นศึกเพียงแห่งเดียวที่กองทัพอเมริกันยกพลขึ้นบกเพื่อยึดครองแผ่นดินที่เป็นของญี่ปุ่น

ย้อนไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน ปี 1945 จักรวรรดิญี่ปุ่นพ่ายแพ้ถอยร่นทุกแนวรบ หลังจากจักรวรรดินาวีพินาศสิ้นที่การศึกที่มิดเวย์ ตามด้วยการสูญเสียกองเรือรบจำนวนมากที่สมรภูมิเกาะเลย์เต ฟิลิปปินส์คืนสู่กองทัพอเมริกา กองทัพจีนกว๋อหมินต่างได้รับอาวุธจากสัมพันธมิตรบุกขึ้นปลดปล่อยเกาะฟอร์โมซา กองเรือแปซิฟิกที่ห้าของสหรัฐอเมริกา นำโดยพลเรือเอกเรย์มอนด์ สปรูแอนซ์ ร่วมกับกองทัพบกที่สิบ สั่งการเข้าปิดล้อมหมู่เกาะริวกิวเพื่อใช้เป็นฐานต่อเนื่องในการรุกเข้าสู่เกาะหลักของจักรวรรดิญี่ปุ่น

กองกำลังอเมริกากว่าห้าแสนนาย เรือรบและเครื่องบินรบเต็มอัตรา พร้อมที่จะบุกเข้ายึดเกาะสวรรค์แดนใต้แห่งนี้

ในขณะเดียวกัน จักรวรรดิญี่ปุ่นที่เสื่อมถอยลง ได้ดื้อดึงที่จะไม่ยอมแพ้ โดยสั่งการมายังพลเอกอุชิจิม่า มิทสุรุ ให้นายทหารทุกคนบนเกาะสู้จนตัวตาย และยังสั่งให้พลเรือนทุกคนบนเกาะร่วมสู้และสนับสนุนด้วย ทำให้ทหารญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดกว่า 76,000 คน และพลเรือนกว่า 150,000 คนตายลง พร้อมกับความสูญเสียของกองทัพอเมริกากว่า 14,000 นาย เป็นจุดตัดของความสูญเสียมหาศาลซึ่งทำให้ประธานาธิบดีทรูแมนต้องตัดสินใจใช้ระเบิดนิวเคลียร์กับจักรวรรดิญี่ปุ่น

ความโหดร้ายของสงครามครั้งนั้นยังคงหลงเหลืออยู่ในใจของชาวโอกินาว่า สื่อส่งมาผ่านพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสงครามสามแห่งบนเกาะนาฮะ เกาะหลักของโอกินาว่า

อนุสรณ์สถานฮิเมะยูริ

อนุสรณ์สถานฮิเมะยูริ เป็นอนุสรณ์สถานที่ตั้งขึ้นบนพื้นที่ที่เป็นถ้ำเพื่อเป็นที่ระลึกให้แก่กลุ่มนักเรียนสตรีฮิเมะยูริ ผู้ถูกเกณฑ์ให้ทำงานพยาบาลและลำเลียงเสบียงร่วมกับกองทัพจักรวรรดิในช่วงการรบ เมื่อทัพอเมริกันยกพลขึ้นบก หน่วยนักเรียนหลายหน่วย รวมถึงหน่วยฮิเมะยูริ ถูกส่งให้กระจายไปตามถ้ำพยาบาลต่างๆ ส่งเสบียง นำสาร รักษาพยาบาล ตักน้ำ เสี่ยงกับกระสุนและระเบิดจากเครื่องบินและเรืออเมริกัน ล้มตายลงเรื่อยๆ

ในที่สุด 18 มิถุนายน ปี 1945 พลเอกอุชิจิม่า แม่ทัพกองทัพปกป้องโอกินาว่า สั่งสลายหน่วย และยุบปฏิบัติการ แต่กำชับให้สู้ตามกำลังบุคคลจนชีวิตสิ้น เพื่อถวายเป็นจักรพรรดิพลี เด็กนักเรียนหญิงที่รอดชีวิตจากห่ากระสุนและระเบิดมาได้ ถูกอบรมฝังหัวจากการศึกษาแบบชาตินิยมรุนแรง ว่าทหารอเมริกันเป็นยักษ์เป็นปีศาจ จะข่มขืนฆ่าทารุณ แบบเดียวกับทหารญี่ปุ่นทำกับหญิงชาติอื่นที่ไปรุกราน จึงพร้อมใจกันฆ่าตัวตายในวิธีต่างๆ ทั้งกระโดดลงหน้าผา ระเบิดตัวตาย แทงตัวเองตาย

ที่ถ้ำแห่งนี้ กลุ่มนักเรียนฮิเมะยูริตายลง 139 คน และยังมีกลุ่มอื่นๆ ตายไม่ทราบสถานที่อีก 91 คน รวมนักเรียนชาวโอกินาว่า ตายไป 1,039 คน ในหมู่พลเรือนโอกินาว่ากว่า 100,000 คนที่ตายในสงคราม

กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นมุ่งทำสงครามทั้งที่รู้ว่าจะแพ้บนโอกินาว่า เพียงเพื่อถ่วงเวลาไม่ให้อเมริกาบุกเกาะหลักไม่กี่เดือน ผลาญชีวิตชาวริวกิวอย่างไร้ค่า ไม่ยอมแม้แต่จะเจรจาต่อรองให้ความปลอดภัยพลเรือน ด้วยลัทธิทหารนิยมและบูชาจักรพรรดิ

ไม่แปลกเลยที่ชาวโอกินาว่าจะปฏิเสธกองทัพและสงครามอย่างรุนแรง น้ำเสียงในพิพิธภัณฑ์กล่าวโทษจักรวรรดิญี่ปุ่นอย่างรุนแรงที่สุด แตกต่างจากการนำเสนอเรื่องราวสงครามในมุมมองที่เห็นว่าชาวญี่ปุ่นเป็นเหยื่อในฮิโรชิม่าหรือนางาซากิ หรือการกล่าวอ้างวีรกรรมปกป้องชาติในพิพิธภัณฑ์ศาลเจ้ายาสุกุนิ ในห้องสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์ที่แสงจากด้านบนส่องลอดปากถ้ำลงมา มีภาพใบหน้าของเหล่านักเรียนที่เสียชีวิตจ้องมองอยู่ พร้อมบทกวีจากผู้รอดชีวิต

“เราเข้าสู่สงครามโดยไม่รู้ความจริงใด

บัดนี้ เราจะบอกเล่าความจริงของสงคราม อันโหดร้าย ทารุณ และเจ็บปวดรวดร้าว

จารึกไว้ด้วยร่างกายและจิตวิญญาณของเราชั่วนิรันดร์”

อดีตศูนย์บัญชาการใต้ดินแห่งจักรวรรดินาวีญี่ปุ่น

อดีตศูนย์บัญชาการใต้ดินแห่งจักรวรรดินาวีญี่ปุ่น เป็นเครือข่ายอุโมงค์ที่ทำเป็นฐานทัพของจักรวรรดินาวีในยุคสงครามโลก ตั้งอยู่ในเขตโทมิกุสุคุ ที่เชื่อมต่อกับอ่าวอิโตมัน เป็นที่ซึ่งพลเรือโทโอตะ มิโนรุ นายพลเรือผู้ป้องกันโอกินาว่าใช้บัญชาการรบจากใต้ดิน พลเรือโทโอตะแห่งจักรวรรดินาวีเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการดื้อดึงสู้รบกับกองทัพอเมริกาบนโอกินาว่าเนื่องจากขาดแคลนทั้งกำลังพลและยุทธปัจจัย แต่เมื่อคำสั่งจากรัฐบาลทหารโตเกียวสั่งการมา พร้อมกับการสำทับของพลเอกอุชิจิม่า พลเรือโทโอตะก็จำต้องสั่งการทหารเรือในอาณัติให้คุ้มกันพลเรือนและสู้กับทหารอเมริกาอย่างสุดความสามารถ แต่เมื่อทหารอเมริกันสามารถเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์ได้ทั้งปราสาทชูริ และผาแฮ็คซอว์ริดจ์ ทหารเรือที่ถูกล้อมจึงพร้อมใจกันปลิดชีพตัวเองทั้งหมดตามวิถีบูชิโดในฐานทัพใต้ดินแห่งนี้ 4,000 คน พลเรือเอกโอตะได้ส่งโทรเลขไปถึงรองแม่ทัพเรือแห่งจักรวรรดิ บอกถึงความทุ่มเทของประชาชนชาวโอกินาว่าและความโหดร้ายที่ต้องเผชิญ เพื่อให้รัฐบาลญี่ปุ่นจงได้ใคร่ครวญถึงการปฏิบัติต่อชาวโอกินาว่าในอนาคตให้ดี และส่งโทรเลขเพื่อกล่าวลาแม่ทัพอเมริกาก่อนจะลั่นไกปืนพกเข้าที่ศีรษะ

ในความเยียบเย็นชวนหนาวสันหลังของฐานทัพใต้ดิน มีเพียงแสงไฟสีส้มอ่อนบางและแผ่นป้ายบอกเล่าเรื่องราวในสถานที่ต่างๆ และในห้องบัญชาการที่พลเรือโทมิโนรุเคยใช้อยู่ มีโต๊ะไม้เก่าคร่ำคร่า แจกันดอกเบญจมาศ พระพุทธรูปหิน รอยกระสุน และบุหรี่หนึ่งมวนที่จุดไว้อุทิศแทนธูปบูชา

อดีตศูนย์บัญชาการใต้ดินแห่งจักรวรรดินาวีญี่ปุ่น

สวนสันติภาพโอกินาว่า ตั้งอยู่บนเนินมาบุนิ ทางตอนใต้สุดของเกาะนาฮะ เป็นสมรภูมิโชกเลือดแห่งสุดท้ายก่อนที่ทหารญี่ปุ่นที่เหลือบนเกาะจะยอมแพ้โดยสิ้นเชิง ในสวนบนเนินที่ถูกปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม มีพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวสงครามตั้งแต่ต้นจนสิ้นสุด บนเนินเขามาบุนิเหนือพิพิธภัณฑ์ มีสุสานที่จังหวัดอื่นทั้ง 46 จังหวัดในญี่ปุ่น สร้างไว้เพื่ออุทิศให้แก่ทหารผู้ล่วงลับที่มาจากจังหวัดนั้นๆ อีกฟากฝั่งหนึ่ง เป็นหอประดิษฐานพระพุทธศานติวนาตถาคต พระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ปางพนมมือภาวนาเพื่อสันติภาพบนฐานดอกบัว ริมหน้าผานั้นมีสระน้ำปูกระเบื้องเป็นแผนที่โลก จุดไฟไม่มีวันดับเพื่ออธิษฐานให้สันติภาพเกิดขึ้นตลอดกาล

สวนสันติภาพโอกินาว่า

สวนสันติภาพโอกินาว่า

ในพิพิธภัณฑ์ยังมีเรื่องราวสืบเนื่องไปถึงยุคแห่งการยึดครองโอกินาว่าของอเมริกา ที่แม้ว่าการยึดครองของจักรวรรดิทหารญี่ปุ่นสิ้นสุด แต่การปกครองของอเมริกาก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของชาวริวกิวดีขึ้น กองทัพอเมริกันแบ่งแยกโอกินาว่าไม่ให้มีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิต จำกัดสิทธิการประกอบอาชีพ ห้ามการเดินทางไปยังญี่ปุ่นเกาะหลัก ชาวโอกินาว่าไม่ได้เป็นทั้งคนญี่ปุ่น ไม่ได้เป็นทั้งคนอเมริกา และยังไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นคนริวกิวตามสายเลือดดั้งเดิม หญิงชาวโอกินาว่าถูกทหารอเมริกันข่มเหงทางเพศ และได้รับการเหยียดหยามจากชาวญี่ปุ่น ในยุคที่ญี่ปุ่นฟื้นตัวจากสงครามได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสงครามเกาหลี ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจในยุค 60 กลับไม่มีผลดีอะไรแก่ชาวโอกินาว่าเลยแม้แต่น้อย

การเรียกร้องให้อเมริกายินยอมคืนอำนาจให้แก่โอกินาว่ากว่าจะประสบผลสำเร็จก็ลากยาวมาถึงปี 1972 โดยให้กลับเป็นส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าชาวโอกินาว่าบางส่วนจะเรียกร้องความเป็นเอกราชก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ได้ทุ่มเงินปฏิรูปโอกินาว่าให้เป็นเกาะสวรรค์รีสอร์ททะเลใต้ แหล่งการท่องเที่ยวหย่อนใจที่มีฟ้าครามสวย ทะเลใส หาดทรายขาวสะอาด และผลไม้เมืองร้อนรสดี แต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวโอกินาว่าเพื่อเรียกร้องให้อเมริกาถอนฐานทัพออกไปก็ยังคงดำเนินอยู่อย่างไม่ประสบความสำเร็จ

แม้ในปัจจุบัน การรณรงค์ต่อต้านฐานทัพอเมริกันก็ไม่สิ้นสุด ฮิโรจิ ยามาชิโระ นักกิจกรรมผู้เป็นแกนนำต่อต้านฐานทัพอเมริกา ถูกรัฐบาลญี่ปุ่นจับกุมและฟ้องให้ศาลกักขังซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยข้อหาเล็กน้อย หากไปเที่ยวโอกินาว่าแล้วเดินผ่านที่ว่าการจังหวัดต้นถนนโคคุไซโดริย่านชอปปิ้งสำคัญ อาจได้เห็นม็อบปู่ย่าชาวโอกินาว่าเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา พร้อมกับรถตู้สีดำติดธงจักรวรรดิของฝ่ายขวาจัดคอยเปิดลำโพงเสียงดังก่อกวนผู้ชุมนุมไปด้วยกัน

การต่อสู้ของชาวโอกินาว่า สันติภาพ

การต่อสู้ของชาวโอกินาว่า สันติภาพ

สุดท้ายแล้ว การต่อสู้ของชาวโอกินาว่าจะสำเร็จหรือไม่ สันติภาพของโลกที่เกิดขึ้นได้เมื่อใด อาจอยู่ที่ว่านักท่องเที่ยวที่หวังมาพักผ่อนบนเกาะสวรรค์แดนใต้สุดของญี่ปุ่นไม่ว่าชาวญี่ปุ่นเองหรือชาวต่างชาติ จะหันมาใส่ใจประวัติศาสตร์แสนเศร้าเหนือหาดทรายขาวละเอียดและทะเลครามของเกาะแห่งนี้ แล้วสดับฟังบทเพลงแห่งหมู่เกาะ (ชิมะอุตะ 島唄) ทำนองพื้นบ้านที่ครวญคลอเสียงชามิเซนหนังงูให้ลึกซึ้งถึงนัยของการต่อต้านสงคราม

島唄よ 風に乗り 鳥とともに 海を渡れ

島唄よ 風に乗り 届けておくれ 私の涙

島唄よ 風に乗り 鳥とともに 海を渡れ

島唄よ 風に乗り 届けておくれ 私の愛を

เพลงแห่งหมู่เกาะ ล่องลอยตามสายลมไป ข้ามทะเลอันแสนกว้างไกล กับมวลหมู่วิหคนานา

เพลงแห่งหมู่เกาะ ล่องลอยตามสายลมไป ฝากน้ำตาฉันที่รินไหล ให้คุณได้รับรู้สักครา

เพลงแห่งหมู่เกาะ ล่องลอยตามสายลมไป ข้ามทะเลอันแสนกว้างไกล กับมวลหมู่วิหคนานา

เพลงแห่งหมู่เกาะ ล่องลอยตามสายลมไป ฝากความรักแท้จริงจากใจ ให้คุณได้รับรู้สักครา

ดอกไม้ การต่อสู้ของชาวโอกินาว่า สันติภาพ

โอกินาว่า สันติภาพ หาด ทะเล

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save