fbpx

“อยากบังเอิญเจอใครที่ยังฝันอยู่…” เปล่งเพลงรับ ‘ไผ่ ดาวดิน’

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

-1-

 

ก่อนหน้าวันเดียวที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘The Hunger Games’ จะเข้าฉายในไทยวันที่ 20 พ.ย. 2014 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เดินทางไปราชการที่ศาลากลาง จ.ขอนแก่น เขาได้พบกับการชู 3 นิ้วจากนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในนามกลุ่มดาวดิน ที่นับเป็นเชื้ออารยะขัดขืนที่แพร่ลามมาจากการต่อต้านรัฐประหารในช่วงเดือนแรกๆ ตามถนน ห้างสรรพสินค้า รถไฟฟ้าบีทีเอส

แน่นอน, การตรึงกำลังโดยชายฉกรรจ์ติดอาวุธที่มีรายได้จากภาษีประชาชน พวกเขาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบทำให้มีชาวบ้านไม่น้อยถูกรวบตัวออกไปเพื่อไม่ให้กระด้างกระเดื่อง

3 นิ้วที่กำลังฮิตจากหนังเรื่องดังกล่าว และอีกนัยหนึ่งคือ เจตนารมณ์การปฏิวัติฝรั่งเศสเพื่อเปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐ สมัยศตวรรษที่ 17 ที่มีหมุดหมายอยู่สามประการคือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ พุ่งเป้าสื่อสารไปที่นายพล ข้าราชการและพลเรือนที่ทั้งกระทำและสนับสนุนรัฐประหารทั้งในบริเวณนั้นและบริเวณพื้นที่สื่อ

คนหนุ่ม 5 คนในนามกลุ่มดาวดินนอกจากชู 3 นิ้วแล้ว ยังสวมเสื้อสกรีนข้อความบนหน้าอก แต่ละคนเมื่อยืนเรียงกันอ่านได้ว่า “ไม่ เอา รัฐ ประ หาร” และทั้งหมดก็ถูกเจ้าหน้าที่รวบตัวไปค่ายทหาร ถูกบังคับให้เซ็นยินยอมว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนได้รับปล่อยตัวในเวลาต่อมา

โลกจำชื่อพวกเขาทั้ง 5 คน ได้แก่ นายเจตษฤษติ์ นามโคตร, นายพายุ บุญโสภณ, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, นายวสันต์ เสตสิทธิ์ และนายวิชชากร อนุชน

เมื่อ คสช. ลากสังคมไทยมาได้ครบปี ตั้งแต่รัฐประหาร 2014 มีนักศึกษาและประชาชนไม่น้อยที่ไม่ยอมถูกลากให้กลับไปสู่ยุคทหารครองเมือง แม้ความจริงจะเป็นเช่นสิ่งที่เกิดขึ้น

เย็นค่ำวันที่ 22 พ.ค. 2015 พวกเขาหลายสิบคนออกมารวมตัวกันที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เพื่อรำลึกวาระครบ 1 ปี แต่กำลังเจ้าหน้าที่ที่จำนวนใกล้เคียงกันก็ดำเนินการปราบพวกเขาให้ยุติกิจกรรมทันที ภาพที่เห็นคือคนหนุ่มสาวถูกกระชากผมและเสื้อจนขาดวิ่น บางคนถูกอุ้ม บางคนถูกลากไปกับพื้น ถูกล็อคคอ บางคนถูกไฟช็อต

เช่นเดียวกับกลุ่มดาวดินที่ออกมาชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จ.ขอนแก่น พวกเขาก็ถูกรวบตัว และถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 7 คน ส่วนกลุ่มที่หน้าหอศิลป์ฯ ถูกคุมตัวทั้งสิ้น 37 คน และทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในเช้าวันรุ่งขึ้น

จนเวลาผ่านไปได้สองสัปดาห์ นักศึกษาอย่างน้อย 9 คน ทยอยได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน และให้เข้ารายงานตัววันที่ 8 มิ.ย. แต่พวกเขาขอเลื่อนเป็นวันที่ 24 มิ.ย.

เป็นไปตามนัด หลังเสร็จจากรำลึกวันคณะราษฎรผู้ทำการอภิวัฒน์สยาม พวกเขาทั้งนักศึกษาในกรุงเทพฯ และกลุ่มดาวดินต่างทยอยมารวมตัวกันที่หน้า สน.ปทุมวัน แต่เป็นการมาเพื่อแสดงตัวเท่านั้น ไม่ใช่การมารายงานตัว เพราะยืนยันว่าไม่ได้ทำผิด และประกาศฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำร้ายร่างกายนักศึกษา โดยต่อมาได้ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-3 ในคดีละเมิด เพื่อเรียกค่าเสียหายจำนวน 16,468,583 บาท ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

จากเที่ยงวันยัน 4 ทุ่มกว่าที่ปะทะคารมกับเจ้าหน้าที่ถึงหลักสิทธิมนุษยชน ดูเหมือนฝ่ายถือปืนจะไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้ พวกเขาแยกย้ายการรวมตัวออกจากหน้า สน.ปทุมวันไปพักที่สวนเงินมีมา ย่านคลองสาน แหล่งเพาะบ่มนักกิจกรรมเพื่อสังคม ที่ก่อตั้งโดย ส.ศิวรักษ์

จนเย็นของวันที่ 25 มิ.ย. พวกเขารวมตัวเดินเท้าจากสวนเงินมีมาไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อไปที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ และสิ้นสุดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

แสงส้มเข้มเปล่งมาจากทิศตะวันตก เสียงพวกเขาเปล่งออกลำโพงโทรโข่งย้อนแสงนั้นออกไปเพื่อประกาศก่อตั้งกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือหลักการ 5 ข้อ ได้แก่ 1.เสมอภาค 2.สิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน 3.ยุติธรรม 4.การมีส่วนร่วม 5.สันติวิธี

แต่ไม่ถึง 24 ชั่วโมงในอีกวันถัดมา 26 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่ากองร้อยบุกเข้าคุมตัวพวกเขาที่สวนเงินมีมาอีกครั้ง พร้อมหมายจับที่อนุมัติโดยศาลทหาร นักศึกษาทั้งหมด 14 คนถูกพาไป สน.พระราชวัง และขึ้นศาลทหารทันทีเพื่อขออำนาจนำตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ผู้ชาย 13 คนถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนผู้หญิง 1 คน ถูกแยกไปขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ทั้งหมดเผชิญโลกในคุกอยู่ 12 วัน ก่อนได้รับปล่อยตัวในเช้าวันที่ 8 ก.ค.

โลกจำพวกเขาทั้ง 14 คน ได้แก่ 1.รังสิมันต์ โรม  2.วสันต์ เสดสิทธิ  3.ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์  4.พายุ บุญโสภณ  5.อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์  6.รัฐพล ศุภโสภณ  7.ศุภชัย ภูคลองพลอย  8.อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์  9.ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์  10.สุวิชา พิทังกร  11.ปกรณ์ อารีกุล  12.จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา  13.พรชัย ยวนยี และ 14.ชลธิชา แจ้งเร็ว

 

-2-

 

กลางแดดร้อนเปรี้ยง แต่ดูเหมือนแสงส่องไม่ทั่วฟ้า บางหลืบบางมุมดูทะมึนทึมเทา คนหนุ่มสาวพร้อมชาวบ้านที่ทราบข่าวรวมตัวไปให้กำลังใจ 14 นักศึกษาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

เสียงกีตาร์โปร่งเก่าๆ ตัวเดียว แจมด้วยเสียงแคน พร้อมเสียงร้องของชาวบ้านทำเอาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หยุดตั้งใจฟัง ‘บทเพลงของสามัญชน’ คือเพลงที่ถูกขับร้องอยู่ท่ามกลางแดดเปรี้ยงนั้น

“อยากบังเอิญเจอใครที่ยังฝันอยู่นั่งฟังเพลงอยู่ตรงนี้ แบบว่ามีจริงๆ ได้ก็คงดี บอกทีว่ายังฝันอยู่ บนเส้นทางที่เราร่วมเดินกันไป อาจมองดูไม่สวยงาม นี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายและเราจะไม่ยอมแพ้”—เนื้อเพลงท่อนแรก

หนุ่มสวมแว่นตาดำ ไว้ผมทรงเดรดล็อค ที่กำลังกรีดนิ้วบรรเลงกีตาร์ คือ แก้วใส สามัญชน นักกิจกรรมเยาวชน เขาแต่งเพลงนี้ร่วมกับ ชูเวช เดชดิษฐรักษ์ บัณฑิตปริญญาโท สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหิดล

กล่าวอย่างรวบรัด แก้วใส บอกว่าหลังรัฐประหาร 2014 มีประชาชนและนักกิจกรรมถูกเรียกไปรายงานตัวในค่ายทหารจำนวนมาก และหลังจากนั้นก็มีการดำเนินคดีตามมา หลายๆ คนที่เป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้องกัน ถูกจับกุมคุมขัง ครอบครัวกระจัดกระจาย

บ้านถูกบุกค้น บรรยากาศเต็มไปด้วยความกลัว เราอยากให้กำลังใจ อยากบอกคนที่เป็นคนธรรมดาสามัญชนว่าอย่าท้อ เรายังอยู่บนเส้นทางเดียวกัน

“กี่ลมฝันที่พัดละอองโปรยอ่อนมาในกรงขัง คงเหน็บหนาวเงียบเหงาลำพัง โปรดฟังเพลงที่เราร้องอยู่ อยากได้ยินเธอร่ำร้องตะโกนบทเพลงของสามัญชน ปลุกผู้คนปลูกฝันสู่วันของเรา”—เนื้อเพลงท่อนฮุก

หลังทั้งคู่ช่วยกันแต่งเสร็จไม่นาน เพลงนี้ถูกเผยแพร่ลงยูทูบประมาณเดือนกรกฎาคม 2014 คลื่นกำลังใจไหลบ่า ไม่ใช่แค่แชร์ต่อกันไป แต่บทเพลงถูกคัฟเวอร์หลายร้อยเวอร์ชั่น ทั้งเสียงแบบคนเมือง เสียงชาวบ้านชนบท แม้แต่ฝรั่งต่างประเทศที่รู้เรื่องราวก็นำไปร้องเล่นอัดคลิปลงยูทูบก็มี

ไม่เฉพาะแก้วใส แต่รวมถึงคนอื่นๆ ด้วย ไม่มีใครคาดคิดว่าเพลงนี้จะถูกเผยแพร่ไปวงกว้าง และต้องมาร้องกันซ้ำๆ หลายครั้งหลังจากที่มีคนหนุ่มสาวถูกจับกุมดำเนินคดีต่อเนื่องเป็นปีๆ

“เท่าที่ผ่านตาผมมีมากกว่าร้อยคลิปนะ แต่ที่ผมเคยรวบรวมไว้มีประมาณสิบกว่าคลิป” แก้วใสบอก

นอกจาก ‘บทเพลงของสามัญชน’ ‘สามัญชนเปลี่ยนโลก’ ‘เราคือเพื่อนกัน’ ที่แก้วใสกับชูเวชแต่งร่วมกัน แก้วใสยังแต่งเพิ่มเองอีกเพลงคือ ‘ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ’

“ฝากรัก ฉันไปกับลม ช่วยไปห่ม ให้เธอคลายหนาว ยามเหงา แหงนมองดวงดาว ส่งยิ้มแพรวพราว ส่งเธอให้นอนฝันดี อยู่ไหน แสนไกลเพียงใด คิดถึงสุดใจ หัวใจฉันเฝ้าร่ำหา จากกัน รักมิร้างลา เรายังสบตา กันและกันที่บนดวงดาว  ซักวันหนึ่งเราจะกลับมาพบกันเพื่อนรัก คงไม่นานนักถ้าตีนยังเหยียบย่ำอยู่บนดิน แม้อยู่ใต้ฟ้าชะตากำหนดจากคนบนดิน ก่อนร่างจะพลิกลงดิน ผีเสื้อจะบินไปถึงดวงดาว”

แก้วใสบอกว่า เราติดต่อกับพวกเขาไม่ได้ เลยอยากใช้เพลงแทนความรู้สึก ตอนเขียนเพลงนี้ได้ทำนองมาพร้อมๆ กัน แล้วมาใส่คอร์ดทีหลัง “ผมเขียนเพลงนี้จากความรู้สึกที่คิดถึงเพื่อนที่ถูกดำเนินคดี และประชาชนที่ต้องลี้ภัยทางการเมือง ต้องจากบ้านไปต่างเมือง ผมเข้าใจความรู้สึก มันเหงา มันคิดถึงบ้าน”

จังหวะสังคมแบบนี้อยากหาอะไรใหม่ๆ มาช่วยขับเคลื่อนขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เขาเชื่อว่าเพลงเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเชิงวัฒนธรรม เพลงที่ออกตามหลังบทเพลงของสามัญชนมา เหมือนเป็นภาคต่อในการเคลื่อนไหว จังหวะไหนที่ออกไปเดินบนถนนเพลงก็ดูฮึกเหิม จังหวะไหนที่เพื่อนถูกจับติดคุก เพลงก็ทำหน้าที่ปลอบโยนให้กำลังใจ

“การทำเพลงของผมไม่ซับซ้อน ยึดหลักการ 5 ข้อที่เพื่อนหนุ่มสาวประกาศไม่เอาเผด็จการ 1. ประชาธิปไตย 2. ความยุติธรรม 3. มีส่วนร่วม 4. สิทธิมนุษยชน และ 5. สันติวิธี ผมเชื่ออีกว่าเพลงจะช่วยขยายแนวร่วมได้ เราไม่มีป่าให้หนี เราไม่เชื่อในการใช้ความรุนแรง เราอยู่ในยุคที่สู้ด้วยเหตุผล”

นักดนตรีสามัญชนหวังว่าใน 50-60 ปีนี้ ถ้ายังไม่ตายหรือไม่ติดคุกตามคนอื่นไป เขาอยากแต่งเพลงที่เป็นเรื่องราวชัยชนะของสามัญชนเหมือนกัน

ใช่, วันนั้นต้องมาถึง เขาเชื่อเช่นนั้น

 

-3-

 

วันที่นักศึกษา 14 คนถูกปล่อยตัวตั้งแต่เช้ามืด ผู้มีอำนาจคงเฝ้ามองว่าพวกเขาออกมาแล้วคงจะรู้สำนึก สงบเสงี่ยมเป็นพลเมืองดี ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองอีก

เปล่าเลย, พวกเขาในเสื้อยืดสีขาวสกรีนข้อความสีแดงว่าเราคือเพื่อนกันกอดคอร้องเพลง เต้นส่ายก้นที่หน้าป้ายเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯอย่างอารมณ์ดี ใช่หรือไม่ว่าเมื่อยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง แจ่มชัดในการกระทำ คุกก็ไม่อาจพรากความมีชีวิตชีวาของพวกเขาไปได้

ลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว อดีตนักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร บอกว่าตอนเข้าไปในทัณฑสถานหญิงกลาง เธอถูกสั่งให้ถอดเสื้อผ้าเพื่อตรวจร่างกายตามระเบียบของเรือนจำ และผู้คุมให้เก็บข้าวของไว้ จากนั้นผู้คุมพาไปที่แดนแรกรับ ให้กรอกประวัติและการสอบถามเบื้องต้น ซึ่งผู้คุม รวมถึงนักโทษคนอื่นๆ ก็แปลกใจไม่เคยพบในกรณีที่มีผู้ต้องหาเข้ามาที่เรือนจำในช่วงเวลากลางดึก เธออธิบายไปว่าศาลทหารอนุมัติกลางดึกในข้อหาชุมนุมทางการเมือง

“เช้ามาก็เล่าให้ทั้งผู้คุมและนักโทษฟังว่าพวกเราทำอะไรถึงถูกจับขึ้นศาลทหารและฝากขัง แม้เพื่อนๆ จะย้ำก่อนหน้านี้ว่าอย่าไปพูดกับใครว่ามีความคิดทางการเมืองอย่างไร เพราะกลัวจะถูกนักโทษคนอื่นๆ มองเป็นพวกหัวรุนแรงและอาจทำให้ใช้ชีวิตลำบากกว่าที่ควรจะเป็น”

แต่สุดท้ายลูกเกดเลือกที่จะไม่เงียบ “เพราะถ้าเงียบคนอื่นจะเข้าใจว่าก่อคดีทางการเมืองร้ายแรงมา” คล้ายลูกบอลไหลเข้าเท้าได้จังหวะยิง เธอจึงย้อนความไปตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารว่าทำไมถึงไม่เห็นด้วย รวมถึงการคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ และคัดค้านการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ทั้งหมดทำไปเพราะอยากเห็นสังคมเคารพสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แม้อาจถูกมองว่าเป็นเด็ก ไร้เดียงสาก็ตาม

ทัณฑสถานหญิงกลางสำหรับลูกเกดช่วงแรกค่อนข้างลำบาก เพราะกฎระเบียบเข้มงวด วันแรกที่เข้าไปต้องนอนกับพื้นกระเบื้อง มีแค่หมอนกับผ้าห่ม

“ที่รู้สึกแย่คือเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้นำแปรงสีฟันที่เตรียมมาเข้าไปด้วย เลยไม่ได้แปรงฟันถึง 6 วัน เพราะใช้เวลานานมากในการทำเรื่องขอซื้อแปรงสีฟันจากข้างใน ช่วงแรกที่อาบน้ำก็ต้องยืมสบู่จากพี่ๆ นักโทษคนอื่น แอบท้อและร้องไห้บ้าง กินข้าวไม่ได้อยู่ 2 ถึง 3 วัน จนญาติและทนายมาเยี่ยมค่อยสบายใจขึ้น”

ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ เธอบอกว่าผู้คุมจะมาคุยด้วยตลอด และส่วนใหญ่มักจะเกลี้ยกล่อมให้เรายื่นขอประกันตัวออกไป “เขาอ้างว่าไม่สงสารพ่อแม่หรือไง บางคำถามเช่นทำไมไม่ช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน เราก็บอกไปว่าเพิ่งเรียนจบเพิ่งทำงานได้ไม่นาน แต่ส่งเงินให้เหมือนกัน”

ทั้งวันเข้าคุกและวันที่ออกมา ลูกเกดเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับบาดเจ็บจนเดินขากะเผลกจากการถูกทำร้ายร่างกายที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ ในวันที่ 22 พ.ค. ในคุกช่วงแรก เธอไม่มียากิน อาการเจ็บขาก็แย่ลงเพราะเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เอายาส่วนตัวเข้าไปด้วย ต้องนอนทรมานอยู่หลายวันจนถูกย้ายไปแดนพยายาลและได้ไปพักที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ก็ได้รับยากินปกติ

“แดนพยาบาลมีอยู่ประมาณ 30 คน ส่วนมากเป็นคนตั้งครรภ์และคนป่วย สภาพความเป็นอยู่เหมือนห้องรวมของโรงพยาบาล คนไข้ต้องนอนเบียดกันบนพื้น ที่ได้นอนบนเตียงไม่กี่คน ส่วนใหญ่มักมีสภาพร่างกายที่แย่ เวลานอนได้ยินเสียงคนไอทั้งคืน”

กับผู้คุม ลูกเกดบอกว่าการปฏิบัติตัวต้องสงบเสงี่ยม เวลาเรียกต้องเรียกว่าคุณ ส่วนเวลาเรียกผู้อำนวยการต้องเรียกว่าท่าน ต้องพยายามทำตัวเป็นกุลสตรี

 

-4-

 

โรม-รังสิมันต์ โรม อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่าทางเรือนจำค่อนข้างดูแลพวกเราดี เราใช้ชีวิตเหมือนนักโทษทั่วไป พยายามสังเกตว่านักโทษคนอื่นปฏิบัติกันอย่างไร เช่น เรือนจำจะมีระเบียบว่าต้องตื่นนอนเวลา 06.00 น. และขึ้นเรือนนอนเวลา 15.00 น. เราก็ปฏิบัติตามระเบียบทุกอย่าง เพราะไม่ต้องการมีข้อขัดแย้งใดๆ กับเรือนจำ

“เวลาว่างผมจะอ่านหนังสือฆ่าเวลา สิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับพวกเราคือการได้พบญาติพี่น้องและทนายที่มาเยี่ยม ทำให้รับรู้ความเป็นไปภายนอก เพราะการอยู่ในเรือนจำค่อนข้างน่าเบื่อ ชีวิตในนั้นเหมือนไร้กาลเวลา เขาไม่ให้อ่านหนังสือพิมพ์ เลยไม่มีทางรับรู้ข้อมูลข่าวสาร”

วันเวลาในเรือนจำของโรมกับพวกนอกจากทำตามระเบียบอย่างเคร่งครัดแล้ว แต่เมื่อมีเหตุให้ต้องอารยะขัดขืนด้วยเพราะพวกเขาถูกจับแยกแดนขังเพื่อไม่ให้เกิดการรวมตัว

“พวกเราโกนหัวประท้วง เพราะรู้ว่ามีการแทรกแซงจากเรือนจำ จากปกติเราต้องอยู่ในแดนแรกรับประมาณ 14 วัน ถึงจะมีการแยกแดน แต่ปรากฏว่าอยู่ได้ 6 วัน เราก็ถูกแยกไปแดนละ 2-3 คน คาดว่าเขาต้องการให้พวกเราแตกกลุ่มกันเพื่อบีบคั้นให้เครียดจนอยากประกันตัว เพื่อจะได้เกลี้ยกล่อมได้ง่ายขึ้น”

จากที่พูดคุยกับนักโทษคนอื่น โรมบอกว่าเขารู้ว่าเราถูกจับเพราะอะไร มากกว่านั้นพวกเขาอยากรู้ว่าทำไมเราถึงมาทำแบบนี้ เพราะอิสรภาพเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขามาก และคิดว่าการได้ออกไปสำคัญที่สุด เลยค่อนข้างแปลกใจว่าทำไมพวกเราถึงไม่ยอมประกันตัว

“หลายคนบอกว่าที่นี่ไม่ใช่ที่ของพวกผม พวกเขาไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่พวกผมทำจนทำให้ต้องสูญเสียอิสรภาพ แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ คสช. ทำ แม้แต่ผู้คุมจำนวนไม่น้อยก็รู้สึกว่าสิ่งที่พวกผมโดนกระทำมันมากเกินไป เพราะเป็นเพียงแค่คนเห็นต่าง ไม่ได้เป็นอาชญากร”

โรมพยายามอธิบายว่ากฎหมายที่คสช. อ้างว่าเป็นกฎหมาย มันไม่ใช่กฎหมาย ม.44 เป็นเพียงคำสั่งหรือประกาศ การจะเป็นกฎหมายได้จะต้องดูด้วยว่าสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยไหม ถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้วจะใช้คำสั่งทางทหารเอาพวกเราขึ้นศาลทหารได้อย่างไร

“สถานการณ์ในเมืองไทยมีลักษณะที่ใครก็สามารถติดคุกได้ เป็นนักโทษทางความคิดได้ทุกคน เพราะประเทศเราไม่ได้ปกครองด้วยกฎหมาย แต่ปกครองด้วยการเมือง ใครยึดอำนาจได้คนนั้นมีอำนาจเหนือประชาชน” โรมตอบน้ำเสียงกำปั้นทุบดิน

 

-5-

 

ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น บอกว่าตอนถูกพาเข้าเรือนจำกลางดึก ผู้คุมให้แก้ผ้าเพื่อตรวจร่างกาย เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดนักโทษแล้วพาไปกินข้าว ก่อนพาไปส่งตัวที่ห้องแรกรับ ซึ่งมีคนนอนเบียดกันบนพื้นเป็นร้อยคน

นอนได้ไม่กี่ชั่วโมง ไผ่และเพื่อนๆ ถูกปลุกให้ตื่นแต่เช้ามืด ผู้คุมพาไปที่บล็อกโซน เป็นพื้นที่แรกก่อนถูกแยกไปแดนต่างๆ เขามองเห็นเป็นรั้วปูนสูงมีการแบ่งเขตชัดเจนและมีสนามฟุตบอลอยู่ตรงกลาง

วันต่อมาทั้งหมดถูกย้ายไปที่สายกลาง หรือที่นอนของนักโทษที่กำลังจะพ้นโทษ ไผ่บอกว่าแต่ละวันค่อนข้างน่าเบื่อ เพราะตื่นตั้งแต่ตีสี่ อาบน้ำและกินข้าวตอน 6 โมงเช้า ร้องเพลงเคารพธงชาติตอน 8 โมง ช่วงสายถึง ได้เยี่ยมญาติประมาณ 20 นาที ตอนเที่ยงก็กินข้าว และกินข้าวเย็นอีกครั้งประมาณบ่าย 2 โมงครึ่ง ก่อนจะอาบน้ำอีกครั้งประมาณ 3 โมงครึ่งและเข้าเรือนนอนตั้งแต่ 4 โมงเย็น ช่วงที่ว่างก็ไปหาหนังสือมาอ่าน หรือคุยเล่นกับเพื่อนเพื่อไม่ให้ฟุ้งซ่าน

“ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในเรือนจำทางผู้คุมจะกล่อมให้ประกันตัวออกไปสู้คดี แต่ผมยืนยันในการต่อสู้แบบสันติวิธี รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ ผมอารยะขัดขืน ประกันตัวทำไมเพราะไม่ได้ทำผิดอะไร ผู้คุมก็ได้แต่พยักหน้า”

ช่วงแรกที่ถูกจับแยกแดนเพราะไม่มีใครรู้ว่าต้องเจอกับอะไร ไผ่รู้สึกว่าการอยู่ด้วยกัน 13 คนยังพอให้กำลังใจกันได้ ทุกคนจึงตกลงกันว่าต้องไว้ใจเพื่อน ยึดมั่นในแนวทางการต่อสู้คือไม่ขอประกันตัว เพราะที่ผ่านมาเห็นได้จากประวัติศาสตร์ที่เจ้าหน้าที่แยกผู้ต้องหาออกจากกัน และพยายามใช้จิตวิทยาเกลี้ยกล่อมว่ามีคนยอมรับสารภาพแล้ว มีคนขอประกันตัวแล้ว ทำให้คนอื่นๆ ต้องใจอ่อน

“เรารู้ทัน ไม่คล้อยตาม จนโกนหัวประท้วง เพราะเราไม่ใช่อาชญากร ตอนหลังทราบว่ามีพี่สมยศ พฤกษาเกษมสุข และพี่ทอม ดันดี ผู้ต้องขังคดีการเมืองก็มาโกนหัวประท้วงเป็นเพื่อนด้วย”

นักศึกษาหนุ่ม 13 คนเข้าไปได้ไม่นาน การโกนหัวประท้วงย่อมเกิดคำถามกับนักโทษรายอื่นว่าพวกเขาทำอะไร คิดอะไร “นักโทษส่วนใหญ่มักสงสัยว่าพวกเราทำอะไรถึงถูกจับ พอบอกไปว่าชูป้ายต้านรัฐประหาร เขาก็หัวเราะ งงว่าชูป้ายแล้วติดคุกได้อย่างไร ผมบอกว่าได้สิ เพราะประเทศนี้มันอยุติธรรม”

หลังจากพวกเขาผ่าน 12 วันในคุกมาแล้ว หลายความเห็นมองว่า คสช. กำลังผ่อนปรน ยืดหยุ่นกับการดำเนินคดีต่อประชาชน เพราะอยากสร้างความปรองดอง แต่ความปรองดองที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีไผ่ ดูไปก็คล้ายงูที่กัดรัดเหยื่อแล้วค่อยๆ เขมือบกลืนลงไป เป็นการกลืนกินที่ยาวนาน ยาวนานพอที่ทำให้สังคมเชื่อว่าเหยื่อไม่เป็นอะไร และสุดท้ายก็ไม่มีใครจำว่าเหยื่อถูกกินไปแล้ว

สิงหาคม 2016 ช่วงรณรงค์ประชาติร่างรัฐธรรมนูญ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ออกแคมเปญไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ไผ่ถูกจับก่อนวันลงประชามติ 7 ส.ค. เพียง 1 วัน ขณะที่เขากำลังเดินแจกเอกสารรณรงค์ประชามติที่ตลาดสดเทศบาลภูเขียว  ตำรวจนำตัวเขาไปฝากขังที่เรือนจำอำเภอภูเขียว จ.ชัยภูมิ ในข้อหากระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559

ไผ่อดอาหารประท้วงจนล้มป่วย กระทั่งศาลมณฑลทหารบกที่ 23 มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงินประกัน 10,000 บาท ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และห้ามยุ่งเกี่ยวหรือชุมนุมทางการเมือง

แต่ไผ่ก็คือไผ่ เมื่อยืนต้นแล้วก็มีแต่จะแกร่งลำต้นยืดเหยียดตรงสูงขึ้นไป แต่จากนั้นมาราวกับว่าป่าไผ่นั้นกว้างขวางเกินกว่าจะใช้ขวานฟันให้หมด เลยต้องเผาป่าทั้งป่าแทน

ต้นเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ระหว่างที่ไผ่ร่วมขบวนธรรมยาตราลุ่มน้ำปะทาว อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจาก สภ.เมืองขอนแก่น นำหมายจับจากศาลจังหวัดขอนแก่นมาแสดงต่อไผ่ กระดาษแผ่นดังกล่าวระบุเป็นหมายจับเลขที่ 433/2559 วันที่ 2 ธ.ค. 2016 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ผู้แจ้งความคือ พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี รองหัวหน้ากองยุทธการจากมณฑลทหารบกที่ 23 จ.ขอนแก่น โดยการกระทำที่ไผ่ถูกกล่าวหาคือการแชร์ลิงค์บทความเกี่ยวกับพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จาก BBC Thai

ไผ่อ่านรายละเอียดหมายจับจนถี่ถ้วนก่อนก้มลงกราบลาพระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ที่ไผ่เคยบวชเป็นลูกศิษย์ด้วย จากนั้นไผ่ก็ลุกขึ้นเดินตามเจ้าหน้าที่ขึ้นรถตำรวจไปด้วยใบหน้าที่ปราศจากความกลัว

แม้จะได้รับอนุญาตประกันตัวด้วยเงินสด 4 แสนบาท แต่วันที่ 22 ธ.ค. ไผ่กลับถูกเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวและถอนประกันตัว เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างต่อศาลว่าเขากระทำการโพสต์ข้อความเย้ยอำนาจรัฐ

แม้คนประเทศเดียวกับไผ่จะทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการเรียกร้องความเป็นธรรมและให้กำลังใจ แต่ที่เกาหลีใต้ มีการมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนให้เขา โดยคนไทยคนแรกที่ได้รางวัลนี้ในปี 2006 คือนางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนที่ถูกบังคับให้สูญหายไป

รางวัลกวางจูจัดโดยมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ก่อตั้งขึ้นโดยบรรดาประชาชนที่ถูกปราบปรามจากการต่อต้านรัฐประหารโดยนายพลชุนดูฮวาน ที่เมืองกวางจู เมื่อปี 1980

เพื่อที่จะพาไผ่ไปรับรางวัลที่เกาหลีใต้ในวันที่ 18 พ.ค. 2017 ทนายอู๊ด-วิบูลย์ บุญภัทรรักษา พ่อของไผ่ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นเงิน 7 แสนบาท แต่ศาลไม่อนุญาต พ่อไผ่และนางพริ้ม บุญภัทรรักษา จึงต้องบินไปเกาหลีเพื่อรับรางวัลแทน

สุนทรพจน์สั้นๆ ของไผ่ที่มอบให้ทนายอู๊ดอ่านแทนบนเวทีรับรางวัลประจำปี 2017 บอกว่า “อยากให้เสรีภาพเป็นของทุกคน ไม่ใช่แค่ตนเอง และขอบคุณที่เห็นคุณค่าของการต่อสู้เพื่อสิทธิ และขอให้สิทธิเสรีภาพจงมีแก่ทุกคน”

 

-6-

 

จากวันที่ 22 ธ.ค.2016 ครอบครัวไผ่พยายามยื่นประกันตัวทั้งสิ้น 10 ครั้ง และได้รับการปฏิเสธจากศาลทุกครั้ง ในการไต่สวนคดีทุกครั้งก็เป็นการไต่สวนลับ

กระทั่งวันที่ 15 ส.ค.2017 ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษาให้จำคุก 5 ปี แต่ไผ่รับสารภาพ จึงลดโทษเหลือกึ่งหนึ่งคือ 2 ปี 6 เดือน

บีบีซีไทยเผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของพ่อไผ่สั้นๆ ว่า “ไผ่ร้องไห้ที่จำเป็นต้องรับ เขาร้องไห้เป็นชั่วโมง เกิดมาไม่เคยร้องไห้ขนาดนี้ พักเที่ยงไม่กินข้าว คิดว่าใช้เวลานึกคิดอะไรบางอย่าง”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่ามีประชาชนถูกข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 22 พ.ค.2014-31 เม.ย.2017 ถึงอย่างน้อย 37 คดี 242 คน

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ ยังมีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการลงประชามติ 212 คน ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 6 คดี 45 คน มีประชาชนถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 อย่างน้อย 23 คดี 69 คน

มีประชาชนถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 อย่างน้อย 93 คดี 138 คน ในส่วนคดีนี้มีพลเรือนต้องขึ้นศาลทหารถึง 86 คดี โดยแบ่งเป็นศาลทหาร กรุงเทพฯ 64 เปอร์เซ็นต์ และศาลทหาร ต่างจังหวัด 36 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่นับผู้คนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง ตั้งแต่ต้นปี 2017 ต้องถูกดำเนินคดียาวเป็นหางว่าว

ส่วนคดีที่กลุ่มนักศึกษายื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐข้อทำร้ายร่างกาย ที่หน้าหอศิลป์ฯ วันที่ 22 พ.ค. 2015 นั้น ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ก็พิพากษายกฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2017 ว่า มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว ให้อำนาจหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. เสรีภาพในการชุมนุมจึงถูกจำกัดภายใต้คำสั่งนี้

ไม่มีใครรู้ว่าบทเพลงของสามัญชนจะถูกยุติการร่ำร้องเมื่อไหร่ เช่นเดียวกับที่บางใครเคยชวนให้ลองหลับตานึกถึงความยุติธรรม สิ่งที่พบคือความมืดดำสนิท ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ไผ่ได้รับพระราชทานอภัยโทษในเช้าวันที่ 10 พ.ค. 2019

อิสรภาพและการต่อสู้ของไผ่ แม้ดูเป็นความหวังให้คนหนุ่มสาวก้าวเดินไปข้างหน้าต่อ แต่ยังไม่มีใครกล้าหาญพอที่จะการันตีได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่วกกลับมาเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก.

 


หมายเหตุ – เรียบเรียงใหม่โดยผู้เขียน จากการตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ประเทศเทา ปี 2018

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save