fbpx
การเดินทางของ ‘คนเดือนตุลา’ กับประชาธิปไตยแบบไทยๆ

การเดินทางของ ‘คนเดือนตุลา’ กับประชาธิปไตยแบบไทยๆ

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

 

ทุกครั้งที่เดือนตุลาเวียนมาถึง และมีการรำลึกทบทวนประวัติศาสตร์เดือนตุลาฯ ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519 แน่นอนว่าตัวละครที่ปรากฏอยู่ในเหตุการณ์อย่าง ‘คนเดือนตุลา’ ย่อมถูกหยิบยกมาอ้างถึง ในฐานะส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

ครั้นเมื่อวันเวลาผ่านไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนเดือนตุลาต่างกระจัดกระจายกันไปตามภาคส่วนต่างๆ ของสังคม จากคนรุ่นหนุ่มสาวในยุคแสวงหา สู่นักเคลื่อนไหว ศิลปิน นักวิชาการ นักธุรกิจ ไปจนถึงนักการเมือง มีบทบาทสำคัญท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคพฤษภาประชาธรรม ยุคชู ‘ธงเขียว’ สนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2540 ยุคสงครามระหว่างสีเหลือง-แดง เรื่อยมาจนถึง ยุค กปปส. จนถึงปัจจุบันในยุคที่ คสช. ยึดอำนาจมา 4 ปีกว่า

จุดที่น่าสนใจคือ คนเดือนตุลาในวันนั้นกับคนเดือนตุลาในวันนี้ มีพัฒนาการทางความคิดหรืออุดมการณ์อย่างไร เหมือนหรือแตกต่างจากเดิมแค่ไหน ประวัติศาสตร์เดือนตุลาที่พวกเขาร่วมกันสร้างมา ยังมีความหมายอะไรอยู่หรือไม่ ท่ามกลางภาวะสังคมการเมืองในปัจจุบัน

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา หนึ่งในนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องของคนเดือนตุลาอย่างจริงจัง คือ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีหมุดหมายสำคัญคืองานที่ชื่อว่า ‘The Rise of the Octobrists in Contemporary Thailand: Power and Conflict Among Former Left-Wing Student Activists in Thai Politics’ (2016) ซึ่งอธิบายความเป็นคนเดือนตุลาภายใต้บริบทการเมืองไทยไว้ได้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่ยุค 14 ตุลาคม 2516 , 6 ตุลาคม 2519 บทบาทและพัฒนาการหลังจากนั้น ไปจนถึงความไม่ลงรอยกันของคนเดือนตุลา ซึ่งปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนภายใต้บริบทการเมืองช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้อย่างน่าสนใจ

ในรายงานชิ้นนี้ จะไล่เรียงให้เห็นพัฒนาการของ ‘คนเดือนตุลา’ ภายใต้บริบทการเมืองที่เปลี่ยนไป พร้อมหาคำตอบว่า เหตุใดกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ‘วีรบุรุษประชาธิปไตย’ จำนวนไม่น้อย จึงหันไปสนับสนุนการรัฐประหารซึ่งตนเองเคยต่อต้านมาในยุคสมัยหนึ่ง โดยยึดจากมุมมองและข้อเสนอของกนกรัตน์เป็นหลัก

 

คนเดือนตุลา’ คือใคร

 

สิ่งแรกที่อาจต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน ก็คือ ‘คนเดือนตุลา’ นั้นหมายถึงใคร ครอบคลุมเหตุการณ์ไหนอย่างไรบ้าง

กนกรัตน์ให้คำนิยามไว้ว่า ‘คนเดือนตุลา’ หมายถึง “นิสิต นักศึกษา นักกิจกรรม ที่มีบทบาทและมีส่วนร่วมกับการสนับสนุนการต่อต้านระบอบเผด็จการถนอม-ประภาส ในช่วงก่อนและระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลา รวมถึงคนกลุ่มอื่นๆ ที่ทำกิจกรรมอย่างเข้มข้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ในช่วงปี 2516-2519 จนถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และรวมถึงนิสิต นักศึกษา และนักกิจกรรมอื่นๆ ที่เข้าร่วมรบทั้งในป่ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และทำงานอยู่ในเมืองเพื่อคอยสนับสนุนกิจกรรมในป่า”

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คนเดือนตุลาต่างกระจัดกระจายไปอยู่คนละขั้ว โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็ยกความเป็นคนเดือนตุลาขึ้นมาอ้าง และโจมตีอีกฝ่ายว่าทรยศต่ออุดมการณ์ของคนเดือนตุลา คำถามคือเราจะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร

ในมุมของกนกรัตน์ เธอมองว่าอาจเป็นเพราะเราเข้าใจคนเดือนตุลาแบบผิดๆ มาตั้งแต่ต้น จากการสร้างความหมายใหม่ของคนเดือนตุลาเอง ที่พยายามเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเองใหม่ โดยทำให้ 14 ตุลา และ 6 ตุลา กลายเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งที่ความจริงแล้วพวกเขามีความแตกต่าง-แตกแยกทางความคิด มาตั้งแต่ 40 ปีก่อนแล้ว

ด้วยเหตุนี้ การจะทำความเข้าใจจุดยืนและอุดมการณ์ของคนเดือนตุลาในปัจจุบันได้นั้น อาจต้องตั้งต้นจากการแยกแยะให้ชัดก่อนว่า คนยุค 14 ตุลา และ 6 ตุลา นั้นมีแนวคิดและอุดมการณ์ที่ต่างกัน มิได้มีความเป็นเอกภาพหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมดอย่างที่หลายคนเข้าใจ

 

ความขัดแย้งของคนยุค 14 ตุลา กับ 6 ตุลา : ปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรม

 

คนยุค 14 ตุลา กับ 6 ตุลา แตกต่างกันอย่างไร กนกรัตน์ให้คำอธิบายว่า ขบวนการนักศึกษาที่เติบโตในช่วงก่อน 14 ตุลา ผ่านการกล่อมเกลาทางสังคมที่หลากหลาย ตั้งแต่เสรีนิยม ประชาธิปไตยสังคมนิยม ไปจนถึงคอมมิวนิสต์ แต่ภายหลัง 14 ตุลา เมื่อขบวนการฝ่ายขวาเติบโต ความหวังเดียวที่ขบวนการนักศึกษาจะมีได้คือ พคท. ซึ่งมีพลังมากที่สุดที่พอจะสู้กับฝ่ายขวาในสังคมไทยได้ ด้วยเหตุนี้นิสิตนักศึกษาที่โตหลัง 14 ตุลา จึงมีความเป็นซ้ายแบบเหมาอิสต์มากกว่า

“ในเขตป่าเขา ความขัดแย้งระหว่างคน 14 ตุลา กับ 6 ตุลา ค่อนข้างรุนแรงมาก อีกทั้งในเชิงอุดมการณ์ การวิเคราะห์ปัญหา ทางออกและทางเลือกในสังคมไทย ทั้งสายที่เป็นเสรีนิยมแบบคน 14 ตุลา กับคน 6 ตุลา ก็มองไม่เหมือนกัน เช่น คน 6 ตุลาซึ่งเชื่อแบบเหมาอิสต์ จะมองว่าพลังสำคัญในการปฏิวัติคือกรรมกรชาวนา ขณะที่คน 14 ตุลาเชื่อว่าต้องประสานทุกชนชั้น เป็นต้น”

จุดแตกต่างที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ คนยุค 14 ตุลา มีประวัติศาสตร์ชัยชนะเป็นหมุดหมายสำคัญ ขณะเดียวกันก็มีความใกล้ชิดผูกพันกับสถาบันกษัตริย์มากกว่า ในทางกลับกัน คนยุค 6 ตุลา กลับมีประวัติศาสตร์ที่ไม่น่าจดจำเท่าไหร่นัก คือการเป็นฝ่ายซ้ายที่พ่ายแพ้

ทั้งนี้ หลังจากความล่มสลายของ พคท. ในช่วงต้นทศวรรษ 2520 และนักศึกษาทยอยกันออกจากป่า คำว่า ‘คนเดือนตุลา’ ก็เริ่มปรากฏขึ้นมาในช่วงเวลานี้  จากอดีตแกนนำนักศึกษาช่วง 14 ตุลา อย่าง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล โดยนัยหนึ่งก็เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคน 14 ตุลา กับ 6 ตุลา ผลที่ตามมาคือทำให้ภาพของนักศึกษาที่ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ถูกกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน

“การไม่เล่าเรื่องความขัดแย้งของนักศึกษาฝ่ายซ้ายช่วง 6 ตุลา กับปีกเสรีนิยมและกลุ่มอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่น 14 ตุลา ทำให้มองไม่เห็นภาพรวมและความซับซ้อนของความขัดแย้งระหว่างพวกเขา ที่มีมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2510

“พวกเขาลดทอน 6 ตุลา ให้เหลือเพียงประวัติศาสตร์ของขบวนการนักศึกษาผู้บริสุทธิ์ ผู้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความยุติธรรม ทำให้ 6 ตุลาเป็นเรื่องดีงาม พยายามลบภาพภูมิหลังของความเป็นซ้ายสุดขั้ว มีการเล่าเรื่องชุดความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับ พคท. ใหม่ ให้นักศึกษาดูห่างเหินและไม่เห็นด้วยกับ พคท. พยายามอธิบายว่าพวกเขาเป็นฝ่ายซ้ายเพราะไม่มีทางเลือก เนื่องจากถูกบีบบังคับโดยฝ่ายขวา และในปัจจุบันพวกเขาได้ละทิ้งความเป็นซ้ายไปแล้ว พวกเขากลายเป็นเสรีนิยม…

“การทำเช่นนั้นส่งผลต่อการรับรู้ประวัติศาสตร์ของคนรุ่นต่อมา คือการทำให้ภาพความเป็นซ้ายที่พ่ายแพ้ของ 6 ตุลาค่อยๆ จางลง และกลายเป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตย”

 

การเกิดใหม่ของคนเดือนตุลา

 

ช่วงต้นทศวรรษ 2530 คนเดือนตุลาเริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้ง แต่ไม่ใช่ในนามของคนเดือนตุลาหรือดีตนักศึกษาฝ่ายซ้าย แต่กลับมาในฐานะนักธุรกิจดาวรุ่ง พนักงานระดับสูงในองค์กรต่างๆ นักวิชาการรุ่นใหม่ไฟแรง นักหนังสือพิมพ์ฝีปากกล้า  นักเขียนรางวัลซีไรต์ นักแต่งแพลง ผู้มีชื่อเสียงในธุรกิจบันเทิง นักพัฒนาเอกชนชื่อดัง ฯลฯ นอกจากนี้พวกเขายังมีบทบาทนำในขบวนการต่อต้านทหารช่วงเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

“หลายคนตื่นเต้นมากในการกลับมามีบทบาทในเหตุการณ์พฤษภา 35 ภายใต้นามใหม่ และพยายามเชื่อมประวัติศาสตร์เดือนตุลากับประวัติศาสตร์พฤษภา 35 ที่พวกเขาเน้นย้ำว่านี่คือเส้นทางประชาธิปไตยของประเทศไทย และพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางประชาธิปไตยนั้น”

ช่วงปลายทศวรรษ 2530 กิจกรรมทางการเมืองของคนเดือนตุลาเริ่มขยายตัวมากขึ้น จากบทบาทของคนชั้นกลางในการสนับสนุนประชาธิปไตยและคนจน พวกเขายังขยายบทบาทไปถึงการปฏิรูปการเมืองในระดับชาติ คนเดือนตุลาสายวิชาการกลายเป็นนักคิดที่สำคัญในการเสนอความคิดวิพากษ์โครงสร้างทางการเมืองไทย เช่น เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กับ ‘สองนคราประชาธิปไตย’ รวมถึงนำเสนอข้อเสนอต่างๆ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศ เช่น การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540

“ไม่ใช่เพียงการเมืองนอกสภาเท่านั้น แต่เรายังเห็นบทบาทของพวกเขาในสภาด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ที่ปรึกษาทางการเมือง ผู้ช่วยนักการเมือง นักวางแผนการรณรงค์หาเสียง ล็อบบี้ยิสต์ให้นักการเมืองและพรรคการเมืองมากมาย ไม่ว่าพรรคเทพ พรรคมาร พรรคก้าวหน้าหรืออนุรักษนิยม ทุกพรรคต้องการคนแบบนี้”

กนกรัตน์ให้นิยามคุณสมบัติแบบคนเดือนตุลาว่าเป็น ‘Unique Group of Generation’ กล่าวคือเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าใจความคิดของชนชั้นสูง พูดภาษาชนชั้นกลาง ขณะเดียวกันก็มีประสบการณ์กับชนชั้นล่าง แบบที่ไม่มีชนชั้นไหนหรือกลุ่มไหนในห้วงประวัติศาสตร์ไทยเคยมี คุณสมบัติเหล่านี้เองที่ทำให้คนเดือนตุลาโดดเด่นและเป็นที่ต้องการทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ

การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ 2540 ส่งผลให้เกิดการเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ๆ รวมไปถึงการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระ แน่นอนว่าคนเดือนตุลาก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เช่น จรัล ดิษฐาอภิชัย สุนี ไชยรส ได้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดแรก หรืออีกหลายคนที่ได้เป็น ส.ว.จากการเลือกตั้งชุดแรก

ต่อมาช่วงกลางทศวรรษ 2540 นับเป็นจุดสูงสุดของคนเดือนตุลา ซึ่งเป็นยุคของพรรคไทยรักไทย ภายใต้นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

“รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้เกิดชนชั้นนำกลุ่มใหม่คือกลุ่มคนทักษิณ พร้อมกับสร้างพันธมิตรทางการเมืองใหม่ๆ ให้กับคนเดือนตุลา จากบทบาทและทักษะที่เขามี พวกเขาเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ถูกเชื้อเชิญให้เข้าไปในพรรคไทยรักไทย ผ่านสายสัมพันธ์กับคุณทักษิณเอง ผ่านเพื่อนที่เข้าไปอยู่ในนั้น ทำให้ได้เข้าไปช่วยวางนโยบาย วางแผนรณรงค์หาเสียง

“คนเดือนตุลาที่เข้าร่วมพรรคไทยรักไทยได้นั่งทั้งสมาชิกพรรค ที่ปรึกษาส่วนตัวคุณทักษิณ นักวิเคราะห์นโยบายเกี่ยวกับคนจน ทีมวางแผนหาเสียง ทีมเจรจาและจัดการความขัดแย้ง ทีมประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ หลายคนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งระดับรัฐมนตรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ คนเดือนตุลาก็อยู่ในลิสต์เลขตัวเดียว อาทิ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ภูมิธรรม เวชชยชัย เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์”

นอกจากความสำเร็จในแง่การเมือง คนเดือนตุลายังประสบความสำเร็จในการสถาปนาสถานะของ ‘เดือนตุลา’ ให้กลับมาสู่ความรับรู้ของสาธารณะชนได้ด้วย โดยสามารถผลักดันให้รัฐเข้ามาสนับสนุนการรำลึกเดือนตุลา จัดงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมเฉลิมฉลองเดือนตุลา รวมไปถึงการสร้างอนุสาวรีย์ต่างๆ

ทว่านั่นคือช่วงสุดท้ายของความศักดิ์สิทธิ์ของคนเดือนตุลา เพราะนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ความชอบธรรมของคนเดือนตุลาก็ค่อยๆ ถูกสั่นคลอน จากความขัดแย้งทางสีเสื้อ ขบวนการต่อต้านทักษิณ อันเป็นชนวนใหญ่ที่แบ่งแยกคนในสังคมออกเป็นสองขั้วอย่างยากที่จะประสาน

 

ความตกต่ำ-แตกแยก ของคนเดือนตุลา

 

เหตุใดคนเดือนตุลาจึงขัดแย้งกันเองอย่างรุนแรง โดยเฉพาะภายใต้บริบทการเมืองในรอบทศวรรษที่ผ่านมา กนกรัตน์วิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง จากรัฐบาลผสมที่อ่อนแอในช่วงทศวรรษ 2530 มาสู่รัฐบาลที่มีความเข้มแข็งโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว คือพรรคไทยรักไทย ในช่วงทศวรรษ 2540 ทำให้ความขัดแย้งที่เคยได้รับการสมานฉันท์ชั่วคราว กลายเป็นการเผชิญหน้าอีกครั้งหนึ่งของคนที่อยู่ทั้งในและนอกพรรค รวมถึงคนอื่นๆ ที่มีความคิดแตกต่างกัน

“คนเดือนตุลาไม่สามารถจัดการกับความขัดแย้งระลอกใหม่ ที่ปะทุท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองแบบสีเสื้อได้ และนี่สะท้อนจุดสูงสุดของพัฒนาการของความขัดแย้งของพวกเขา ตั้งแต่ความขัดแย้งในอดีตที่รอวันปะทุ มาจนถึงความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์และผลประโยชน์ใหม่ๆ ที่พัฒนาตัวขึ้นในช่วงหลายสิบปีให้หลัง”

“ในช่วงการเมืองสีเสื้อหรือการเติบโตขึ้นของขบวนการต่อต้านทักษิณ คนเดือนตุลาจำนวนมากเข้าร่วมขบวนการต่อต้านทักษิณและตั้งคำถามต่อเพื่อนๆ ของเขาที่ยังคงสนับสนุนรัฐบาลทักษิณอยู่อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะโจมตีในแง่ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่อำนาจที่ได้ ไปจนถึงการโจมตีระดับอุดมการณ์ว่าเพื่อนของพวกเขาที่อยู่ในรัฐบาลทรยศต่ออุดมการณ์เดือนตุลา สนับสนุนทุนสามานย์ สนับสนุนรัฐบาลเลือกตั้งอำนาจนิยม”

“ช่วงแรกของความขัดแย้ง เวทีรำลึกเดือนตุลากลายเป็นเวทีแห่งการทะเลาะเบาะแว้ง การปะทะคารมของคนเดือนตุลาที่มีจุดยืนทางการเมืองต่างกัน ระยะต่อมามีความพยายามยึดกุมความหมายและสัญลักษณ์งานฉลองเดือนตุลาโดยกลุ่มที่มีจุดยืนทางการเมืองตรงกันข้ามกัน การยึดกุมพื้นที่ใช้ชัยชนะของ 14 ตุลากลายเป็นฐานของกลุ่มที่ต่อต้านระบบทักษิณ ในขณะที่ 6 ตุลากลายเป็นที่ยืนและพื้นฐานของกลุ่มที่ต่อต้านรัฐประหาร”

นอกจากมุมมองที่ว่ามา ยังมีอีกหนึ่งทรรศนะที่น่าสนใจจาก เอกสิทธิ์ หนุนภักดี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ที่ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมจากการอ่านงานของกนกรัตน์ว่า หากเราลบภาพคนเดือนตุลาแบบเดิมๆ ออกไป ภาพที่เราจะได้รับรู้จากงานของกนกรัตน์ก็คือ คนเดือนตุลาเป็นนักปฏิบัตินิยม มากกว่าเป็นนักฝันหรือนักอุดมการณ์

“งานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาสามารถเปลี่ยนจากอุดมการณ์หนึ่ง ไปสู่อุดมการณ์อีกอย่างหนึ่งได้ เพื่อให้มีที่ทางในสังคม และพวกเขาพร้อมปรับตัวเพื่อความอยู่รอด มากกว่ากอดอุดมการณ์แล้วตายไปกับมัน ขณะเดียวกันก็ยอมเสียหรือปรับเปลี่ยนหลักการได้ เพื่อเป้าหมายทางการเมือง…”

หากพิจารณาจากจุดเริ่มต้นของคนเดือนตุลาเมื่อ 40 กว่าปีก่อน กับบทบาทและอุดมการณ์ทางการเมืองของพวกเขาในปัจจุบัน จุดที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ คนในยุค 14 ตุลา มีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนกลุ่มพันธมิตร รวมไปถึง กปปส. มากกว่า ขณะที่คนยุค 6 ตุลาฯ กลับเลือกที่จะอยู่อีกฝั่ง

ทั้งนี้ หากเรายึดแนวคิดและอุดมการณ์ตั้งต้นของแต่ละกลุ่มเป็นตัวตั้ง ผลลัพธ์ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ อาจไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเท่าไหร่นัก

 

ประวัติศาสตร์เดือนตุลา กับ คนเดือนตุลา สองเรื่องที่ต้องแยกจากกัน

 

แม้จะหาคำอธิบายได้ว่า สถานะของคนเดือนตุลามีจุดกำเนิด ขัดแย้ง และเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใด ทว่าอีกโจทย์หนึ่งซึ่งกนกรัตน์พยายามต่อยอดในฐานะคนรุ่นหลัง ก็คือวิกฤตความชอบธรรมของ ‘คนเดือนตุลา’ ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลหรือไม่กับสถานะทางประวัติศาสตร์หรือมรดกทางประวัติศาสตร์ของ ‘เดือนตุลา’ ถ้ามองผ่านคนที่ไม่ใช่คนเดือนตุลา

คำตอบที่เธอได้คือ พัฒนาการของคนเดือนตุลา กับ ประวัติศาสตร์เดือนตุลา “เป็นเรื่องที่ต้องแยกออกจากกัน” กล่าวคือ ในขณะที่สถานะของคนเดือนตุลา ดูเหมือนว่าจะถูกสั่นคลอนและเผชิญกับวิกฤตอยู่เป็นระยะ สถานภาพของ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ก็มีพัฒนาการในรูปแบบของมันเองเช่นกัน คือถูกช่วงชิงความหมายและตีความใหม่อยู่ตลอดเวลา ทั้งจากคนเดือนตุลา รวมถึงคนรุ่นใหม่ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้ในประเด็นต่างๆ

“สถานะของ 14 และ 6 ตุลา มีพัฒนาการตลอดเวลา มันไม่เคยหยุดนิ่ง จากการสำรวจประเด็นในการจัดงานรำลึกทุกปีจะเห็นความพยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์ 14 และ 6 ตุลา กับบริบททางการเมืองใหม่ๆ อยู่ตลอด และไม่ใช่เพียงการแย่งชิงความหมายกันเองในหมู่คนเดือนตุลา นักศึกษาและขบวนการภาคประชาชนอื่นๆ ที่ต้องต่อสู้กับรัฐและถูกกระทำโดยความรุนแรงของรัฐ ก็ขยายและใช้เดือนตุลาด้วยมิติที่หลากหลาย โดยเฉพาะการสร้างความชอบธรรมให้กับขบวนการนักศึกษา

“ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ประวัติศาสตร์ทั้งสองช่วงก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจทางการเมือง โดยไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคนเดือนตุลา ทำให้พวกเขาตื่นตัวและเชื่อว่าอะไรก็เป็นไปได้ เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ จากการที่ดิฉันได้สัมภาษณ์คนหนุ่มสาวในขบวนการสีเสื้อใดก็ตาม พวกเขามักบอกว่าได้แรงบันดาลใจจากการมางานนิทรรศการแบบนี้ หรือการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ของทั้งสองเหตุการณ์ ทั้งหมดเป็นการจุดไฟให้พวกเขาลุกขึ้นสู้ทางการเมือง”

 


หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจาก งานเปิดตัวหนังสือ ‘The Rise of the Octobrists in Contemporary Thailand’ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2560 และ ปาฐกถา ‘มองเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ด้วยแว่นขาว’ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2561

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save