fbpx

‘รอนแรม’ สัมผัสหัวใจผู้ลี้ภัยผ่านนิทาน

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

‘นิทานสำหรับเด็กที่พูดถึงชีวิตผู้ลี้ภัย’ เพียงแค่คิดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นก็ยากที่จะนึกออกว่าจะสื่อสารกับเด็กอย่างไร ให้เข้าใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นของผู้คนที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอน ทั้งสาเหตุจากสงคราม เศรษฐกิจ ความปลอดภัย หรือความไม่เป็นธรรมต่างๆ ซึ่งส่วนมากเกี่ยวพันกับเรื่องความรุนแรงในระดับที่แตกต่างกัน

แต่ละคนมีประสบการณ์กับคำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ แตกต่างกัน สำหรับฉันมันคือความเจ็บปวด ความผิดพลาด ไร้มนุษยธรรม รวมถึงภาพความตายในรูปแบบต่างๆ ระหว่างการอพยพของผู้คนจำนวนมาก จนเป็นเรื่องยากที่จะพูดเรื่องนี้กับเด็ก

สำหรับคนที่ต่อต้านผู้ลี้ภัยก็คงมีมโนทัศน์ต่อคำนี้แตกต่างกันไป นี่จึงเป็นปัญหาสำคัญที่เราต้องช่วยกันเกลี่ยความเข้าใจในความสำคัญของปัญหาผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลบนโลกนี้ โดยให้ความสำคัญต่อการโอบประคองชีวิตเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ที่เดือดร้อน เหนืออุดมการณ์และค่านิยมบางอย่างที่ทำให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ด้อยกว่าคุณค่าอื่นๆ

The Journey หรือ รอนแรม เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าเราสามารถสื่อสารประเด็นนี้กับเด็กๆ ได้อย่างไร

นิทานภาพเล่มนี้เขียนโดย Francesca Sanna นักเขียนและนักวาดภาพประกอบสำหรับเด็กชาวอิตาลี ที่ปัจจุบันพำนักอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ฉบับภาษาไทยแปลโดย สุมาลี พิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์คิดดี้

รอนแรม เป็นนิทานภาพที่มีลายเส้นและการเลือกใช้สีที่โดดเด่น แต่เหนืออื่นใดคือการเลือกหยิบเรื่องผู้ลี้ภัยมาเล่าในรูปแบบนิทานสำหรับเด็ก เนื้อเรื่องที่ไม่ซับซ้อน ตัวหนังสือเพียงไม่กี่บรรทัด แต่กลับมีเรื่องราวมากมายอัดแน่นอยู่ในแต่ละภาพ บ่งบอกเรื่องราวการจากบ้านเกิดของเด็กคนหนึ่งที่ต้องทิ้งเมืองอันเป็นที่รักเมื่อการอยู่บ้านไม่ปลอดภัยอีกต่อไป ต่อเนื่องด้วยการเดินทางอันยาวนานก่อนไปสู่แผ่นดินใหม่

เรื่องถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของเด็ก จึงเต็มไปด้วย ‘ความไม่รู้’ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความไม่รู้นี้เองที่ทำให้เด็กในเรื่องตั้งคำถามไปพร้อมผู้อ่านถึงความไม่ปกติที่เกิดขึ้น

เรื่องราวการเดินทางเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ต้องเผชิญ ราวกับเป็นแบบแผนอันเรียบง่ายที่จะเกิดขึ้นเมื่อคุณกลายเป็นผู้ลี้ภัย การหยิบจุดร่วมของผู้ลี้ภัยมาเล่าทำให้ผู้อ่านจินตนาการต่อไปถึงแต่ละเรื่องราวที่อยู่ในความทรงจำผ่านภาพข่าวและการรับรู้ผ่านช่องทางต่างๆ

มันอาจเป็นนิทานภาพสดใสที่เศร้าที่สุดสำหรับใครคนหนึ่ง

มันอาจเป็นนิทานที่สร้างความหวังให้คนอ่านอีกคน

มันอาจเป็นนิทานที่ทำให้ใครบางคนลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง

และอาจเป็นนิทานที่เปลี่ยนโลกทัศน์ของเด็กคนหนึ่งไปตลอดกาล

 

 

ทลายกำแพงด้วยภาพ

 

Francesca เคยให้สัมภาษณ์ว่าเธอสนใจประเด็นนี้จากสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปและทั่วโลก ยิ่งได้คุยกับเพื่อนๆ ถึงประเด็นนี้ยิ่งรู้สึกคับข้องใจและหมดหวัง จึงเลือกประเด็นผู้ลี้ภัยเป็นหัวข้องานวิจัยปริญญาโทการวาดภาพประกอบหนังสือที่มหาวิทยาลัยในเมืองลูเซิร์น สวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2014

ก่อนจะเริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้ เธอไปตามอ่านงานวิจัย และข่าวที่เกี่ยวข้อง โดยพบว่ามีหนังสือภาพเกี่ยวกับเรื่องผู้ลี้ภัยน้อยมาก Francesca กลับไปที่ศูนย์ผู้ลี้ภัยในอิตาลีซึ่งแม่ของเธอเคยทำงานอยู่ช่วงหนึ่ง สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัย 15 คนและได้พบกับเรื่องเล่าที่มีพลังของผู้คนหลากหลายจนเกิดเป็นหนังสือเล่มนี้

“ครั้งหนึ่งฉันสัมภาษณ์เด็กผู้ชายจากทิเบต เราไม่รู้จะสื่อสารกันยังไง สุดท้ายเราเลยวาดรูปโต้ตอบกัน เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกดีว่าภาพวาดสามารถทลายกำแพงภาษาได้ คนเหล่านี้มาจากหลากหลายประเทศที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่เรื่องเล่าการเดินทางของพวกเขาจะมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่

“มีผู้หญิงคนหนึ่งพูดภาษาอังกฤษเก่งมาก เพราะก่อนลี้ภัยเธอกำลังเตรียมสมัครเป็นแอร์โฮสเตส เป็นเรื่องประหลาดที่ฉันกำลังคุยกับคนที่มีประสบการณ์เรื่องการบินและรู้เรื่องเครื่องบินเป็นอย่างดี แต่เธอไม่สามารถขึ้นเครื่องบินได้ กลับต้องเดินทางอย่างยาวนานตอนที่ลี้ภัย ฉันจึงหยิบเรื่องนี้มาเป็นการเปรียบเปรยถึง ‘การบิน’ ในหนังสือเล่มนี้”

Francesca เน้นว่าหนังสือเล่มนี้ย้ำเตือนพวกเราว่า สิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน เป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคนและเด็กทุกคนที่จะมีที่อยู่อันปลอดภัย นั่นคือ ‘บ้าน’

 

พอแสนโซ บรี, พิมพ์ภัทรา รักเดช, กรองทอง บุญประคอง

 

เรื่องเล่าซ้ำๆ ของผู้ลี้ภัย

 

ในการเปิดตัวหนังสือรอนแรม ฉบับภาษาไทย พอแสนโซ บรี อดีตผู้ลี้ภัยจากเมียนมาได้รับเชิญมาพูดถึงประสบการณ์ของเธอเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้

เธอเล่าว่าตัวเองเกิดในหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงในเมียนมา อพยพมาไทยตอนอายุ 6 ขวบพร้อมพ่อแม่และพี่น้อง 8 คน ใช้ชีวิตในศูนย์อพยพบ้านนุโพ อ.อุ้มผาง จ.ตาก อยู่ 13 ปี จึงได้เดินทางไปนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เรียนต่อจนจบปริญญาโทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน จนได้สัญชาติอเมริกา และเพิ่งกลับมาไทยเพราะแม่กับพี่ชายพี่สาวยังอยู่ที่ศูนย์อพยพ

“อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วนึกถึงตัวเอง เพราะตอนเด็กที่อยู่ในเมียนมาต้องหลบซ่อน ต้องหนี อยู่ด้วยความหวาดกลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัยตลอดเวลา ฉันถามพ่อแม่ว่าทำไมเราต้องหลบซ่อนและหาที่อยู่ใหม่ตลอด ทำไมพวกเขาอยากทำร้ายเรา ทำไมเขาไม่อยากให้เราอยู่แบบสงบ ฉันไม่เข้าใจเพราะเป็นเด็ก พ่อแม่บอกว่าเขาจะมาหมู่บ้านเรา เขาจะมาเอาวัวควายหมูและเอาชีวิตเรา ฉันเติบโตมาด้วยความหวาดกลัว ไม่เข้าใจว่าทำไมชีวิตต้องเผชิญกับประสบการณ์แบบนี้

“เด็กผู้หญิงในหนังสือเล่มนี้มีประสบการณ์เหมือนฉัน เด็กคนนี้ไม่เข้าใจว่าทำไมเหตุการณ์จึงไม่ปลอดภัย แต่เธอยังมีความหวังว่าจะได้ไปอยู่ในที่มั่นคงปลอดภัย เหมือนผู้ลี้ภัยทุกคนที่หวังจะได้อยู่ในบ้านโดยไม่ต้องหวาดกลัว ตอนนี้ฉันมีชีวิตมั่นคง ไม่ต้องหวาดกลัวอีกแล้ว แต่ยังมีเด็กอีกหลายคนที่ยังต้องใช้ชีวิตเหมือนเด็กในหนังสือเล่มนี้อยู่”

พอแสนโซ อยากให้ทุกคนมองผู้ลี้ภัยในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง โดยไม่ต้องสนใจว่าเขาเชื้อชาติอะไร นับถือศาสนาอะไร แต่อยากให้มองเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ร้ายแรงมากและต้องการความช่วยเหลือ

“มนุษย์ทุกคนต้องการความรัก ความปลอดภัย ชีวิตที่มั่นคง และความสุข อยากให้คนไทยดูทีวีแล้วตั้งคำถามว่าทำไมพวกเขาต้องมาที่นี่ ถ้าเป็นไปได้อยากให้เป็นเพื่อนกับเขา คุยและฟังเรื่องราวของเขาว่าทำไมจึงต้องหนีออกจากประเทศ ทำไมรัฐบาลของเขาและประเทศของเขาจึงไม่ต้องการเขา อยากให้ตั้งคำถามและแลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน ถ้าคุยเรื่องนี้กับเด็กจะปลูกฝังให้เด็กรู้จักตั้งคำถามและเห็นใจผู้อื่นได้” พอแสนโซกล่าว

 

 

มองจากสายตาของความเป็นมนุษย์

 

ในความเห็นของผู้ที่ทำงานร่วมกับผู้ลี้ภัย พิมพ์ภัทรา รักเดช อาสาสมัคร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองและการระหว่างประเทศ (ภาคภาษาอังกฤษ) ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่าหนังสือเล่มนี้คล้ายกับเรื่องราวของผู้ลี้ภัยหลายคนที่เธอรู้จัก

พิมพ์ภัทรา เล่าว่าสนใจเรื่องผู้ลี้ภัยตั้งแต่เห็นข่าวผู้อพยพชาวซีเรียที่ลงเรือหนีไปต่างประเทศอย่างลำบาก บางคนเสียชีวิต บางคนถูกส่งตัวกลับ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะเข้าคณะรัฐศาสตร์และได้รู้จักกับองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยจึงเข้ามาเป็นอาสาสมัครเรื่อยมา

“ตอนอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรก อ่านได้เพียง 3 หน้าก็ต้องวางเพราะคิดถึงเรื่องผู้ลี้ภัยที่เจอมาแล้วเศร้า เมื่ออ่านอีกครั้งจนจบก็พบว่าคล้ายกับเรื่องของผู้ลี้ภัยที่เราเจอในไทย ผู้ลี้ภัยในเมืองจะมีชาวปากีสถาน อัฟกานิสถาน โซมาเลีย เคนยา เอธิโอเปีย มีครอบครัวหนึ่งเป็นผู้ลี้ภัยจากปากีสถาน เดินทางมาลำบากมาก ต้องขึ้นรถลงเรือ เสี่ยงถูกจับ ลูกก็ยังเล็ก และไทยไม่ได้ลงนามรับรองผู้ลี้ภัย ทำให้เขาไม่ได้รับสิทธิอะไรเลย ลูกไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย พ่อก็ทำงานไม่ได้”

พิมพ์ภัทรา บอกว่าอยากให้คนไทยใช้สายตาของความเป็นเพื่อนมองผู้ลี้ภัย ไม่ใช่สายตาของกฎหมายที่มองเพียงแค่ว่าคนพวกนี้คือคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

เธอเล่าว่าพอได้มาทำงานอาสาสมัครเพื่อผู้ลี้ภัยจึงอยากทำงานด้านนี้ แต่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย อาจเพราะกระแสในโซเชียลมีเดียที่คนไทยจะแสดงความเห็นต่อข่าวผู้ลี้ภัยในแง่ลบมาก เช่น “คนที่อยากช่วยผู้ลี้ภัย ก็เอาผู้ลี้ภัยไปอยู่ที่บ้านเองไหม” แต่พอเธอเล่าประสบการณ์การทำงานช่วยผู้ลี้ภัยให้พ่อแม่ได้ฟังทุกเดือน ต่อมาทั้งคู่ก็ให้การสนับสนุน และฝากบอกเพื่อนผู้ลี้ภัยว่า “พวกเราต้อนรับ มีอะไรก็คุยกันได้”

 

 

สอนเด็กให้รู้จักเพื่อนมนุษย์-รู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น

 

สิ่งสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือเป็นนิทานที่เขียนมาเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องผู้ลี้ภัยแก่เด็ก ครูก้า-กรองทอง บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และผู้บริหารโรงเรียนจิตตเมตต์ เล่าว่าที่ผ่านมาเธอให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาของเด็ก แต่ยอมรับว่าไม่เคยให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเลย

“พอได้หนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกว่าเราได้รับโจทย์ที่มีคุณค่ามาก เราเคยคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว หนังสือเล่มนี้ทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่าในโลกความเป็นจริงมีผู้ลำบาก มีคนถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐาน ทำให้เด็กเห็นอกเห็นใจคนอื่น และได้เรียนรู้ว่าชีวิตผู้คนไม่เหมือนกัน ความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เราจะอยู่ร่วมกับความแตกต่างอย่างไร

“หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยภาพเด็กเล่นหาดทรายอย่างมีความสุข หนังสือนิทานจะสร้างคุณค่าให้เด็กได้ต้องทำให้หนังสือนั้นเชื่อมกับตัวเขาได้ เช่น ถามเด็กว่าวันหยุดเด็กๆ อยากทำอะไรที่มีความสุข เด็กคนนี้มีความสุขเมื่อได้ไปเล่นหาดทราย แล้วต่อมาทำไมครอบครัวนี้จึงไปเล่นหาดทรายไม่ได้อีกแล้ว นี่เป็นสื่อที่ดีเหลือเกิน คำถามที่ทำให้เด็กเชื่อมโยงกับตัวเองได้จะทำให้นิทานนี้เข้าไปถึงหัวใจของเด็กได้”

ความโดดเด่นอีกอย่างของหนังสือเล่มนี้ ครูก้าเห็นว่าคือการเป็นหนังสือที่มีตัวหนังสือน้อย เปิดพื้นที่ให้เด็กได้คิดและตั้งคำถาม จากนั้นผู้ใหญ่ก็ค่อยๆ บอกให้เขาเห็นภาพเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นได้

“คนอาจคิดว่าการเรียนรู้เรื่องผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องสำหรับผู้ใหญ่ แต่หนังสือเล่มนี้ทำเพื่อเด็กเล็ก ทางหนึ่งคือเด็กจะได้รู้จักเพื่อนมนุษย์ อีกทางหนึ่งคือพ่อแม่จะได้เข้าใจพร้อมลูกด้วย ถ้าใช้หนังสือเล่มนี้ถูกวิธี เราจะทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้เรียนรู้เพื่อนมนุษย์ และไม่ใช่แค่ว่าเด็กและพ่อแม่จะได้เข้าใจผู้อพยพมากขึ้น แต่เด็กที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะเป็นผู้หนึ่งที่ไม่สร้างปัจจัยให้มีผู้อพยพมากขึ้น เพราะหากเข้าใจว่าเราไม่อยากอยู่ในสถานการณ์น่าหวาดกลัวเช่นนี้ เราก็จะเข้าใจผู้อื่นด้วย”

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการสอนเรื่องประชาธิปไตยแก่เด็กผ่านหนังสือ รอนแรม

“เมื่อประเทศไทยโหยหาประชาธิปไตย หนังสือเล่มนี้สอนได้ เป็นประชาธิปไตยที่เกิดจากหัวใจของเด็กจริงๆ พื้นฐานของประชาธิปไตยคือการเคารพมนุษย์ด้วยกันและระมัดระวังไม่ยึดความต้องการของตัวเองอย่างเดียว แต่มองผลกระทบรอบๆ ว่าสิ่งที่เราทำนั้นสร้างความหวาดกลัวให้เด็กน้อยๆ หรือเปล่า ทำให้ครอบครัวต้องแตกแยกโยกย้ายถิ่นฐานหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสอนเรื่องประชาธิปไตยให้กับคนรุ่นต่อไปได้” ครูก้ากล่าวปิดท้าย

 

_____________________________________________

หนังสือ รอนแรม ได้รับการสนับสนุนจาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหราชอาณาจักร สามารถติดต่อขอทรัพยากรการเรียนการสอนเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและข้อเสนอแนะในชั้นเรียนเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ได้ทางเว็บไซต์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save