fbpx
โลกโซเชียลป้องกันการคุกคามจากรัฐได้หรือไม่?

โลกโซเชียลป้องกันการคุกคามจากรัฐได้หรือไม่?

สุรัชนี ศรีใย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

ตั้งแต่มีการพัฒนาอินเทอร์เน็ตเข้าสู่ยุค Web 2.0 และมีการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลายในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 แน่นอนว่าช่องทางการสื่อสารในรูปแบบใหม่นี้ก็ถูกนำมาใช้เพื่อประเด็นทางการเมือง

นักรัฐศาสตร์หลายคนเคยทำการศึกษาบทบาทของแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ที่มีต่อการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนและพบว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้มีบทบาทในการกดดันให้รัฐลดการใช้ความรุนแรงและการข่มขู่ผู้เห็นต่าง เพราะหากข้อมูลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนถูกกระจายไปอย่างแพร่หลาย อาจส่งผลในทางลบต่อตัวรัฐเอง ทำให้เกิดภาวะได้ไม่คุ้มเสียขึ้น กล่าวคือหากประชาชนในประเทศรับทราบถึงการใช้ความรุนแรงหรือข่มขู่ผู้เห็นต่างของรัฐ อาจทำให้เกิดความไม่พอใจและออกมาร่วมกับผู้เห็นต่างมากขึ้น

ในขณะเดียวกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานของคณะมนตรีเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็อาจทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาประชาคมโลกเสียหายอีกด้วย ดังนั้นแม้ว่านักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วทุกมุมโลกจะหันมาเลือกใช้โซเชียลมีเดียเพราะหลายเหตุปัจจัยที่แตกต่างกันไป แต่จุดร่วมกันของหลายขบวนการเคลื่อนไหวในยุคนี้คือการพยายามสร้างเกราะป้องกัน (safety net) ให้กับตัวเองผ่านความสามารถในการกระจายข้อมูลในวงกว้างของโซเชียลมีเดียอย่างที่กล่าวมานี่เอง

ตัวอย่างหนึ่งคือการที่ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ โพสต์สเตตัสและไลฟ์สดในเฟซบุ๊กหลังจากที่เขาและเพื่อนๆ ไปอ่านประกาศคณะราษฏรเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ พ.ศ. 2475 (เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563) แล้วถูกกลุ่มคนซึ่งเพนกวินอ้างว่าถูกส่งมาจากหน่วยพิเศษของรัฐติดตาม โดยโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ไปกว่า 500 ครั้ง ส่วนวิดีโอนั้นถูกแชร์ไปเกิน 100 ครั้งและมียอดผู้ชมกว่า 1.7 แสนวิว

ที่มา : เพจ เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak

นอกจากกรณีของเพนกวินแล้ว หลายต่อหลายครั้งเราก็ได้เห็นนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองใช้โซเชียลมีเดียสื่อสารเรื่องการถูกคุกคามโดยรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงหลังที่หากมีการจับกุมนักศึกษาและนักกิจกรรมเมื่อใดก็จะมีการไลฟ์สดขณะโดนจับแทบทุกครั้ง ตัวอย่างเช่นกรณีของ ฟอร์ด-ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือ ทนายอานนท์ นำภา ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสื่อสารอย่างรวดเร็ว กว้างขวาง และมีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องปฏิบัติการด้วยความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเมื่อสเตตัสเหล่านี้ถูกแชร์ไปอย่างแพร่หลายบนโลกออนไลน์

อย่างไรก็ตาม กรณีการอุ้มหาย ทำร้ายร่างกาย หรือข่มขู่ผู้เห็นต่างก็ยังเกิดขึ้นและมีให้เห็นอยู่ในยุคสังคมโซเชียลนี้ เช่นกรณีล่าสุดของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ ‘กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ’ และนักกิจกรรมทางสังคมที่ลี้ภัยออกนอกประเทศตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557

คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าโซเชียลมีเดียสามารถเป็นเกราะป้องกันนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจากเงื้อมมือของรัฐได้จริง ทำไมยังมีการจัดการกับผู้เห็นต่างด้วยวิธีการเหล่านี้อีก?

หนึ่งในคำอธิบายของปัญหานี้อยู่ในงานวิจัยที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้เมื่อปี 2561 ใน Journal of Human Rights ว่าโซเชียลมีเดียหรือการแผ่ขยายของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้น แม้จะมีบทบาทในการสร้างแรงกดดันให้รัฐทั้งภายในและนอกอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นจริง แต่ก็ไม่ได้ใช้ได้กับทุกที่ในโลก และสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงร่วมด้วยคือลักษณะเฉพาะของแต่ละระบอบการปกครอง (regime characteristics)

ข้อค้นพบหลักของงานนี้ก็คือ protective effect ของแพลตฟอร์มออนไลน์จะเห็นได้ชัดเจนที่สุดในกลุ่มประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งมักจะอ่อนไหวต่อแรงกดดันและมักหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้เห็นต่างมากกว่าประเทศที่ปกครองโดยระบอบอื่นๆ

หากดูให้ลึกลงไปอีกก็พบว่าประเทศที่มีการควบคุมอำนาจรัฐผ่านช่องทางสถาบันทางการเมืองต่างๆ และการเลือกตั้งที่โปร่งใสมักจะมีอัตราการล่วงละเมิดทางกายภาพของผู้เห็นต่าง (physical integrity) ลดลงเมื่อมีจำนวนผู้ในอินเทอร์เน็ตในประเทศเพิ่มขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มประเทศที่มีตำแหน่งแห่งที่ในประชาคมโลก โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ มักจะมีแนวโน้มที่จะระมัดระวังการใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่าง เพราะอาจทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศในสายตานานาชาติเสียหาย ส่งผลให้สูญเสียคู่ค้าหรือถึงขั้นถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

ตัวอย่างเช่นกรณีของจีนกับการจัดการกับผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง จีนซึ่งถือว่าเป็นรัฐที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพสูง (strong state with high capacity) แถมยังเคยมีประวัติการใช้ความรุนแรงกับผู้เห็นต่างมาอย่างโชกโชน เช่น การสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี ค.ศ.1989 กลับเลือกที่จะใช้ช่องทางทางกฎหมายมาบีบฮ่องกง หรือยืมมือรัฐบาลฮ่องกงเองในการจัดการกับผู้ชุมนุม เรืยกได้ว่าจีนพยายามวางตัวให้ห่างจากการกระทบกระทั่งครั้งนี้ แม้ว่าหากมองในมุมด้านขีดความสามารถและกำลังแล้วจีนสามารถทำได้ นั่นเป็นเพราะจีนเป็นตลาดใหญ่ของโลกแถมยังเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย

เมื่อย้อนกลับมาดูบริบทของประเทศไทย เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าประเทศของเรานั้นไม่เข้าข่ายใดๆ เลยที่งานวิจัยเคยพบว่าเป็นปัจจัยที่จะส่งเสริม กล่าวคือเราไม่ได้ถูกปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีกลไกเชิงสถาบันที่สามารถควบคุมหรือคานอำนาจกับฝ่ายบริหารได้ หนำซ้ำการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ไม่ได้โปร่งใสเท่าที่ควรเสียด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะยังพบเห็นการแทรกแซงของรัฐกับการดำเนินกิจกรรมของผู้เห็นต่างอยู่ แม้ว่าประเทศไทยจะมีอัตราผู้ใช้สื่อโซเชียลเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียและของโลก

อีกประการหนึ่งเมื่อพูดถึงความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในมิตินานาชาตินั้น แม้ว่าประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของ The Universal Declaration of Human Rights (UDHR) ขององค์การสหประชาชาติในฐานะประเทศภาคีสมาชิกแล้ว แต่เรายังไม่ได้รับเป็นภาคีของ International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance (CED) ซึ่งเป็นพิธีสารเพิ่มเติมซึ่งต่อยอดมาจาก UDHR เกี่ยวกับประเด็นการห้ามไม่ให้รัฐทำให้บุคคลใดสูญหายไม่ว่ากรณีใดๆ (กัมพูชาเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่เซ็นรับและเป็นภาคีของพิธีสารนี้) นั่นแปลว่ารัฐไทยไม่ได้ถูกผูกมัดด้วยสนธิสัญญาระหว่างประเทศในส่วนนี้เลย

ดังนั้น หากจะประเมินความเสี่ยงในการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายที่เห็นต่างแล้วก็ยังคงมีสูงอยู่มากในบริบทของประเทศไทย ซึ่งไม่ว่านักเคลื่อนไหวทางการเมืองเองหรือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั่วไปก็ควรนำจุดนี้มาประกอบการตัดสินใจในการเลือกทำกิจกรรมหรือการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ด้วย


อ้างอิง

BAK, Daehee, Surachanee Sriyai, and Stephen A. Meserve. (2018). The internet and state repression: A cross-national analysis of the limits of digital constraint. Journal of Human Rights, 17(5), 642-659.

POWERS, Michael. (2016) A new era of human rights news? Contrasting two paradigms of human rights news-making. Journal of Human Rights, 15(3), 314-329.

RISTOVSKA, Sandra. (2016) The rise of eyewitness video and its implications for human rights: Conceptual and methodological approaches. Journal of Human Rights, 15(3), 347-360.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Thai Politics

20 Jan 2023

“ฉันนี่แหละรอยัลลิสต์ตัวจริง” ความหวังดีจาก ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงสถาบันกษัตริย์ไทย ในยุคสมัยการเมืองไร้เพดาน

101 คุยกับ ‘ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์’ ถึงภูมิทัศน์การเมืองไทย การเลือกตั้งหลังผ่านปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ และอนาคตของสถาบันกษัตริย์ไทยในสายตา ‘รอยัลลิสต์ตัวจริง’

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์

20 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save