fbpx
พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา : ความหวังของการกอบกู้ประวัติศาสตร์ที่สูญหาย

พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา : ความหวังของการกอบกู้ประวัติศาสตร์ที่สูญหาย

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

เราอาจพอรู้เรื่อง 6 ตุลา เราอาจไขว่คว้าความจริงที่กระจัดกระจายมารวบรวมได้เป็นส่วนๆ เราอาจเชื่อมร้อยเรื่องราวขาดวิ่นให้เป็นเนื้อหาเดียว แต่ผ่านไป 43 ปี นับตั้งแต่เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษา 6 ตุลา 2519 เกิดขึ้น สิ่งของและเรื่องราวเกี่ยวกับ 6 ตุลา กลับยังไม่เคยถูกจัดวางถาวรในพื้นที่จริง มีเพียงอยู่บนโลกออนไลน์เท่านั้น และคงไม่แปลกนักหากมันจะไม่ได้รับการจัดวางลงบนความทรงจำที่เรารู้สึกร่วมเหมือนเป็นเจ้าของ

ในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา กำลังจะเปิดตัว ส่งเสียงความพยายามที่จะสร้างแหล่งเรียนรู้ของปรากฏการณ์ความรุนแรงในอดีต เพื่อในอนาคตจะไม่ก้าวซ้ำรอยเดิม ในรูปแบบของ ‘พิพิธภัณฑ์’ — อาคาร สถานที่ อาจเป็นภาพของพิพิธภัณฑ์ที่เราเห็นร่วมกันก็จริง แต่การรวบรวมหลักฐาน ตามหาจัดเก็บสิ่งของในอดีต ไปจนถึงความเชื่อภายใต้การสร้างพิพิธภัณฑ์ คืออีกนิยามหรือความหมายของพิพิธภัณฑ์เช่นกัน

101 เก็บบรรยากาศและกลิ่นอายความรู้สึกทั้งของผู้คนในอดีต และผู้ดำเนินการเพื่ออนาคต ในวันที่โครงการได้ไปถอดเก็บ ‘ประตูแดง’ มาเก็บรักษาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และขยายไอเดียและความเชื่อเบื้องหลังพิพิธภัณฑ์ ผ่านน้ำเสียงของ อ้อ – ภัทรภร ภู่ทอง ผู้ประสานงานโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เพื่อให้เราเห็นการจัดการความทรงจำและความจริงครั้งนี้ชัดขึ้น และชัดกว่าครั้งไหนๆ

ประตูแดง อดีตที่ถูกถอดเก็บ สู่ประจักษ์พยานครั้งใหม่

รถบรรทุกคันใหญ่กำลังแล่นออกจากลานหญ้ารก โดยมีสายตาของชายผู้หนึ่งจับจ้องและเคลื่อนตาม ราวกับว่าในบริเวณนั้นไม่มีใครมองมันจนลับตาได้เท่ากับเขา หลังรถบรรทุกคันนั้น ‘ประตูแดง’ กำลังถูกย้ายไปเก็บรักษา เพื่อรอให้มันได้ทำหน้าที่ใหม่ในฐานะวัตถุทางประวัติศาสตร์ ย้ำเตือนว่าความรุนแรงอันเป็นชนวนของเหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ มีอยู่จริง และยังคงตั้งอยู่เหมือนความจริงที่ไม่อาจเลือนหาย

ในวันที่ 24 กันยายน 2519 ชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกษศรีพงศ์ษา ช่างไฟฟ้าสองคน ถูกพบในสภาพเสียชีวิต มีร่องรอยฟกช้ำตามตัวและใบหน้า ทั้งสองถูกแขวนคออยู่ที่ประตูบ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม หลังจากออกไปติดโปสเตอร์ต่อต้านการบวชกลับเข้าประเทศของจอมพล ถนอม กิตติขจร — ประตูเหล็กเก่าคร่ำคร่าที่มีสนิมสีแดงกระจายอยู่รอบ ประตูที่ความอยุติธรรมประจานตัวเองด้วยการแขวนร่างประชาชน ถูกขนานนามว่า ‘ประตูแดง’

ในภายหลัง นักศึกษาชมรมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงละครจำลองเหตุการณ์แขวนคอดังกล่าวที่ลานโพธิ์ เพื่อให้นักศึกษาและผู้คนตระหนักถึงความรุนแรงและความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้น ก่อนที่ภาพการแสดงละครนี้จะถูกเผยแพร่ไปทั่วอย่างผิดใจความแท้จริง สื่อรายงานข่าวว่าการแสดงแขวนคอบุคคลที่หน้าคล้ายคลึงกับองค์รัชทายาท เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปีกผีเสื้อขยับเพียงครั้ง เหตุการณ์เข่นฆ่านักศึกษาอย่างที่หลายคน ‘รู้’ และหลายคนที่ถูกทำให้ ‘ไม่รู้’ ก็เกิดขึ้น

ปี 2560 ทีมงานโครงการบันทึก 6 ตุลา ได้ลงพื้นที่เพื่อตามหาประตูแดงเพื่อถ่ายทำสารคดีเรื่อง สองพี่น้อง The Two Brothers  ภัทรภร ภู่ทอง จากโครงการบันทึก 6 ตุลา เล่าว่า ในแรกพยายามของการไปยังพื้นที่ที่คิดว่าประตูแดงอยู่ คนในละแวกไม่มีใครรู้ว่ามันอยู่ตรงไหน หนังสือพิมพ์ในยุคนั้นบันทึกว่าปากทางเข้าจะมีอู่รถ แต่เมื่อไปสอบถามถึงที่อู่ก็ไม่พบอีก สุดท้ายจึงตัดสินใจสอบถามผู้ใหญ่บ้านคนเก่าก่อนที่น่าจะอาศัยอยู่ในเวลาคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์

“โชคดีที่เมื่อเราพบเขา ผู้ใหญ่บ้านคนเก่ารู้ว่าประตูอยู่ที่ไหน เขาบอกว่าตอนเกิดเหตุการณ์ เขาอายุประมาณ 16-17 ปี และยังวิ่งไปดูอยู่เลย ชาวบ้านเรียกประตูนี้ว่า ‘ประตูแดง’ ผู้ใหญบ้านคนเก่าขี่มอเตอร์ไซค์นำเราไปที่ประตูนั้น ทันทีที่รถเลี้ยวเข้าไปเจอและได้เห็นประตู ข้างประตูจะมีเสาเป็นรูปกระถางซึ่งไม่เหมือนประตูอื่น เมื่อเอารูปเปรียบเทียบ ทุกคนก็รู้ว่านี่แหละประตูแดง เราทั้งหมดตกใจและแปลกใจว่ามันยังอยู่ และยังเหมือนเดิมทุกอย่าง”

“หลังจากถ่ายทำสารคดีเสร็จ ช่วงก่อนวันงานเปิดตัวโครงการบันทึก 6 ตุลา คุณชุมพลและคุณศรีไพรเดินทางมาร่วมงานด้วย เราพาคุณชุมพล ทุมไมย พี่ชายของชุมพรไปที่ประตูนั้น เมื่อเขาได้เห็นประตู เขาก็ร้องไห้ออกมา เพราะเขาก็ไม่คิดเหมือนกันว่าประตูจะยังอยู่ตรงนั้น”

เกือบ 43 ปี หลังจากเหตุการณ์แขวนคอ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2562 โครงการบันทึก 6 ตุลา ได้ทำการขนย้ายประตูแดง เพื่อนำไปเก็บรักษา รอจัดแสดง และเป็นหนึ่งในวัตถุทางประวัติศาสตร์ของโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ในอนาคต ในวันขนย้ายผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์มีทั้งเจ้าหน้าที่จากโครงการบันทึก 6  ตุลา, สื่อมวลชน, อดีตนักศึกษาในยุค 6 ตุลา และชายผู้มองประตูแดงจนลับตา ชุมพล ทุมไมย (พี่ชายของ ชุมพร ทุมไมย) ที่มาพร้อมภรรยา ศรีไพร ทุมไมย

ชุมพล ทุมไมย พี่ชายของ ชุมพร ทุมไมย
ชุมพล ทุมไมย พี่ชายของ ชุมพร ทุมไมย

ขณะยืนดูเจ้าหน้าที่เลาะเหล็กกล้าบานใหญ่ออกจากรั้ว ชุมพล ทุมไมย เปรยว่าท่ามกลางความจริงที่ไม่เคยชัดเจนเกี่ยวกับเหตุการณ์แขวนคอ เขาเชื่อมั่นมาตลอดว่าตำรวจเป็นผู้ลงมือกับน้องชายของเขา ไม่ต่างจากคำบอกเล่าของภัทรภรเมื่อครั้งชุมพลได้เห็นประตูแดงครั้งแรก ในวันนี้ชุมพลก็ยังพูดคุยด้วยเสียงสั่นเครือ

“ผมคิดว่าตำรวจเป็นคนทำแน่นอนครับ แต่มันสายเกินไปแล้ว พนักงานสอบสวน พยาน คนที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ตายไปหมด พี่น้อง ครอบครัวหลายคนของเรา ก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากไป แต่ผมยังเสียใจอยู่ คนนอกอาจจะไม่คิดอะไรมาก แต่ผมคือคนอยู่ในเหตุการณ์ ก็ยังคงคิด เป็นวิสัยของมนุษย์ ที่ยังมีความรักความคิดถึงกันอยู่”

ศรีไพร ทุมไมย ภรรยาของชุมพล ทุมไมย
ศรีไพร ทุมไมย ภรรยาของชุมพล ทุมไมย

ศรีไพร ทุมไมย ภรรยาของชุมพล ทุมไมย มองสามีที่ยืนใกล้ประตูแดง และคอยเอามือจับลูบประตูอยู่ตลอด พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า ตัวป้าเคยมาเห็นประตูแดงกับโครงการแค่สองครั้ง ส่วนลุงชุมพลมาที่ประตูแดงสามครั้งแล้ว ตอนที่มีข่าวชุมพรเสียใหม่ๆ ลุงชุมพลก็มาที่ประตูกับพ่อเขา และไปหาชุมพรที่บ้านพัก

“เขาเจอผ้าที่น้องแช่ไว้ กับข้าวก็วางไว้ ยังไม่ได้กิน เหมือนจะออกไปติดโปสเตอร์ก่อนแล้วจะกลับไปกิน ครอบครัว พ่อแม่เขาก็เสียใจ ร้องไห้แล้วร้องไห้อีก เพราะลูกคนนี้เป็นคนดี คนเก่ง พี่น้องได้อาศัยเขาหมด ผ่านมานานพอโครงการโทรไปบอกว่าจะถอดประตูไปเก็บ แกก็ตกใจ แต่ก็ดีใจมาก”

หลังการเสียชีวิตของน้องชาย สองสามีภรรยาคอยตัดหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ภาพละครนักศึกษา และทุกอย่างที่พอจะเกี่ยวข้องกับน้องชายเอาไว้หมด หลังจากทราบว่าประตูแดงจะถูกเก็บรักษาเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ทั้งคู่ตัดสินใจยกหนังสือพิมพ์และข่าวที่ตนเองตัดไว้ให้โครงการทั้งหมด

“ไม่อยากเก็บไว้ให้มันเปื่อยไปเฉยๆ วันนึงเราก็แก่ อีกหน่อยก็ตายไป ให้โครงการเอาไปใช้ประโยชน์ ให้คนได้ศึกษาดีกว่า” ศรีไพรกล่าว

สิตา การย์เกรียงไกร อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับศูนย์นิสิตนักศึกษามาตลอด ยืนบันทึกภาพการถอดย้ายประตูแดงอยู่ไม่ห่าง ในอดีตเขาทำหน้าที่ประสานงานกับนักศึกษาคนอื่นๆ ในภาคอีสาน เขาเล่าว่าเมื่อภาพข่าวเหตุการณ์แขวนคอแพร่กระจายออก ถือเป็นความสูญเสียและเศร้าใจสำหรับหมู่นักศึกษาขณะนั้น และยังเป็นสัญญานที่บอกว่า “เขาเอากับเราจริงๆ เขาคงจะทำอะไรกับเราแน่”

“อย่างที่เขาว่าผู้ชนะคือผู้บันทึกประวัติศาสตร์ ที่ผ่านเราไม่สามารถที่จะบันทึกประวัติศาสตร์ 6 ตุลา อย่างถูกต้อง แต่บางทีประวัติศาสตร์ก็ใช้เวลาในการบันทึก ปัจจุบันก็มีความเปลี่ยนแปลง คนเปิดรับขึ้นเรื่อยๆ วันนี้ผมก็ดีใจที่ได้เห็นการเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์เอาไว้ ไม่จำเป็นต้องคิดว่าสายไป ช้าไป เพราะมันจะเป็นบทเรียนที่เราได้ตระหนักรู้และพูดถึงมัน เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงซ้ำในอนาคต” สิตา กล่าวถึงความรู้สึกของเขา ในวันที่ประตูแดงจะถูกรักษาเป็นหลักฐาน

สิตา การย์เกรียงไกร อดีตนักศึกษายุค 6 ตุลา
สิตา การย์เกรียงไกร อดีตนักศึกษายุค 6 ตุลา

การถอดเก็บประตูแดงครั้งนี้ไม่ใช่การกระทำเพื่ออดีตเพียงอย่างเดียว ใจความสำคัญคือการมองไปข้างหน้าโดยทบทวนอดีตเป็นบทเรียน เปรียบเทียบกับภาพที่เกิดขึ้นในสังคมเรื่อยมาหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการบันทึก 6 ตุลา อธิบายถึงความหมายของการเก็บรักษาประตูไว้ว่า ความหวังหนึ่งของการเก็บรักษาก็เพื่อทำให้คนในสังคม และคนในอนาคตของสังคมไทยเห็นว่ามีความรุนแรงที่ถูกกดทับมาเป็นเวลานาน มีเหยื่อที่ไม่ได้รับความยุติธรรม และย้ำเตือนว่าการปล่อยให้คนกระทำผิดลอยนวล จะทำให้ภาพเหตุการณ์เช่นนี้กลับมาอีก

พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการบันทึก 6 ตุลา
พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการบันทึก 6 ตุลา

“หากไม่เก็บรักษา มันคงกลายเป็นเพียงเศษเหล็ก เราจึงจะนำประตูแดงไปจัดนิทรรศการเคลื่อนที่ ย้ายไปตามจังหวัดใหญ่ๆ เพื่อให้ประชาชน นิสิตนักศึกษาในพื้นที่อื่นได้มาเห็นวัตถุทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้คนตระหนักถึงความสำคัญของชีวิตมากยิ่งขึ้น

“ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาหลังรัฐประหาร 2549 เรารู้กันว่าสังคมไทยแบ่งเป็นฝักฝ่ายชนิดที่คุยกันไม่ได้ เราเห็นการเมืองของความเกลียดชังอย่างชัดเจนในโลกโซเชียลมีเดีย คนที่เขามีอำนาจก็ไม่กลัวว่าจะต้องรับผิดชอบเมื่อใช้ความรุนแรงกับประชาชน และนี่คือสิ่งที่อาจกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดซ้ำในสังคมไทย  ดิฉันคิดว่าถ้าคนรุ่นหลังได้เห็นและเรียนรู้เกี่ยวกับ 6 ตุลามากยิ่งขึ้น เหมือนในสองปีให้หลังที่คนรุ่นใหม่เริ่มรู้เกี่ยวกับ 6 ตุลา เมื่อได้ดูมิวสิควีดีโอประเทศกูมี มันจะทำให้เขาเรียนรู้ว่า ถ้าเราปล่อยให้การเมืองไทยเต็มไปด้วยการบิดเบือน เกลียดชัง และป้ายสีกัน ในที่สุดก็จะนำไปสู่ความรุนแรงที่ประชาชนทำกับประชาชนด้วยกัน หรือประชาชนเชียร์ให้รัฐกระทำกับประชาชนฝ่ายตรงข้ามด้วยกันเอง นี่คือสิ่งที่เราอยากให้สังคมตระหนัก คุณต้องไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเกลียดชัง และเรียกร้องให้มีการทำร้ายซึ่งกันและกัน”

อาจเป็นเรื่องน่าผิดหวังที่ไม่น่าแปลกใจนัก เมื่อพวงทองเล่าให้ฟังว่า การดำเนินการเก็บรักษาประตูแดง และการทำงานเพื่อบันทึกเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ผ่านมาเป็นการลงทุนลงแรงของคนตัวเล็กๆ ไม่กี่กลุ่ม ไร้การสนับสนุนของรัฐ ผู้ที่ทั้งเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในอดีตอันไกลและใกล้ ผู้ที่ควรจะให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์และการเรียนรู้เพื่ออนาคต

“อุดมคติจริงๆ เลย ดิฉันอยากเห็นเรามีหอจดหมายเหตุ ควบคู่ไปกับพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางในการเก็บเอกสาร หลักฐาน ข้อมูล คำให้การของคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ซึ่งหลักฐานไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับ 6 ตุลาอย่างเดียว ประเทศเรามีความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชนมาหลายกรณีในประวัติศาสตร์ไทย เช่น 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา 35, พฤษภา 53 แม้กระทั้งเหตุการณ์ภายใน 5 ปีที่ผ่านมาภายใต้การยึดอำนาจของ คสช. หรือการอุ้มหายซ้อมทรมานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ดิฉันอยากจะเห็นสถาบันที่จะเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ของประชาชน แต่มันจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ต้องมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากทั้งรัฐและเอกชน เพราะเราคงไม่ได้หวังทำเพียงแค่สิบปีแล้วเลิกกันไป ทันทีที่คุณเก็บหลักฐาน คุณต้องคิดว่าคนอีกร้อยปีข้างหน้าสามารถมาใช้ได้ แต่เรายังไม่เห็นเจตจำนงอันนี้ของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอำนาจ หรือแม้กระทั่งเศรษฐี ในต่างประเทศเศรษฐีจะให้การสนับสนุนสถาบันทางวิชาการ แต่สังคมไทยไม่มีแบบนี้ เราไม่ให้ความสำคัญกับความรู้ โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐในทางที่ผิด ละเมิดสิทธิของประชาชน เขายิ่งไม่อยากจะให้ความสนใจ การดำเนินการวันนี้มันก็เริ่มจากคนกลุ่มเล็กๆ ไม่รู้ว่าจะจบยังไง มันอาจจะไปได้ไม่กี่ปีแล้วจบก็ได้ เพราะเราเองก็ทำงานในลักษณะอาสาสมัคร ไม่ได้รับเงินเดือน ใครที่มีเงินก็ช่วยสมทบทุนทำกัน” พวงทอง กล่าว

รถบรรทุกเคลื่อนจากไป ด้วยหวังว่าประตูแดงจะเผยโฉมอีกครั้งต่อสาธารณะ ประวัติศาสตร์จะถูกบอกต่อ

แว่วเสียงหนึ่งของลุงชุมพลเหมือนการปลดปล่อยอดีต

“วันนี้คงเป็นวันสุดท้าย จะไม่มีอดีตตรงที่แห่งนี้อีกแล้ว ขอให้วิญญาณของน้องและวิชัยไปดีมีสุขในทุกที่ มันคงจะจบแล้ว ไม่มีอะไรให้ต้องคิดอีก”

เสาเข็มของพิพิธภัณฑ์คือความเชื่อ

ไม่นานหลังจากการถอดเก็บประตูแดง โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา (The Initiative of October 6 Museum)  ก็เกิดขึ้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา 6 ตุลา อาจไม่อยู่ในความทรงจำร่วมคนผู้คนอย่างเด่นชัด ตามสภาพความจริงที่ถูกหวงห้ามให้แตะต้องมาตลอด ไอเดียและหมุดหมายของการสร้างพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้ จึงถือเป็นความหวังของการสื่อสารกับสังคมครั้งใหม่ เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านการจัดแสดง เผยแพร่องค์ความรู้ เหตุการณ์แวดล้อม และความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา และเป็นพื้นที่ของสาธารณะ ที่จะมีอิทธิพลในการสร้างความทรงจำและคุณค่าร่วมกับคนในสังคมอย่างแท้จริง

โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เริ่มดำเนินงานโดยบุคคล 4 คนคือ  ธนาพล อิ๋วสกุล ผู้จัดการโครงการ บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, เบญจมาส  วินิจจะกูล สถาปนิก, ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับภาพยนตร์ และหนึ่งในสี่ที่ 101 มีโอกาสได้สนทนาถึงความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้คือ อ้อ – ภัทรภร ภู่ทอง ผู้ประสานงานโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา และโครงการบันทึก 6 ตุลา

อ้อ - ภัทรภร ภู่ทอง ผู้ประสานงานโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา และโครงการบันทึก 6 ตุลา
อ้อ – ภัทรภร ภู่ทอง ผู้ประสานงานโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา และโครงการบันทึก 6 ตุลา

ก่อนจะมาทำงานเกี่ยวกับ 6 ตุลา อ้อเป็นบุคคลที่โตมาโดยคุ้นเคยกับการบอกเล่าเรื่อง 6 ตุลาอย่างไม่ชัดเจน เจอคนที่บอกว่าธรรมศาสตร์มีอุโมงค์ลับ มีคนตายเยอะ มีการเอาศพไปให้จระเข้กิน โดยไม่มีหลักฐานอ้างอิง เมื่อสอบติดที่ธรรมศาสตร์ รุ่นพี่ก็เอาภาพถ่ายและวิดีโอเกี่ยวกับ 6 ตุลา หรือ 14 ตุลา มาให้เธอดูในงานรับเพื่อนใหม่ ในแรกเริ่มอ้อยังรู้สึกว่า 6 ตุลา ไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตตัวเอง ทุกๆ ปีที่ธรรมศาสตร์จัดงานระลึก ก็ไม่ได้สนใจที่จะไปร่วม กระทั่งเมื่ออ้อมีโอกาสไปเรียนต่อปริญญาโทที่เกาหลีและฝึกงานที่มูลนิธิ The May 18 Memorial Foundation มูลนิธิที่ก่อตั้งขึ้นจากการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนที่กวางจูปี 1982

เมื่อได้เห็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าความรุนแรงทางการเมืองให้ผู้คนได้ศึกษา จึงเกิดภาพสะท้อนต่อประเทศไทย ที่ไร้การบอกต่อเรื่อง 6 ตุลา

“ตอนนั้นเราเขียนรายงานเปรียบเทียบการหาความจริงและกระบวนการยุติธรรมของกรณีกวางจู กับกรณี 6 ตุลา ของธรรมศาสตร์ กวางจูทำให้เราเห็นว่ามันมีองค์กรที่ทำข้อมูลเรื่องความรุนแรงอย่างเป็นระบบ พออ่านเอกสารเยอะๆ ก็รู้สึกว่า 6 ตุลา มีอะไรที่ไม่ชอบมาพากล มีความผิดปกติด้านกระบวนการยุติธรรมเยอะ เราเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมมีหลายเรื่องที่เราไม่รู้ และไม่ถูกพูดถึง ทำไมคนต้องมีทีท่าอิหลักอิเหลื่อเมื่อพูดถึง 6 ตุลา ทำไมไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบในไทยบ้าง และคิดว่าถ้ากลับมาประเทศไทย ก็อยากจะทำโปรเจ็กต์อะไรที่เกี่ยวกับ 6 ตุลา”

จุดเริ่มต้นเล็กๆ นั้นได้เดินทางมาจนวันที่ได้ร่วมงานกับโครงการบันทึก 6 ตุลาและโครงการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เริ่มต้นขึ้นจริง อ้อเล่าให้ฟังว่า ทีมงานทั้ง 4 เป็นผู้ที่เห็นคุณค่าของพิพิธภัณฑ์ และเชื่อในปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งของ เช่น อ้อเองเคยทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์สันติภาพที่ญี่ปุ่นกับฟิลิปปินส์ เคยเริ่มโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเพื่อสันติภาพกับเพื่อน (เอกราช ซาบูร์) ธนาพลก็เริ่มเก็บเอกสาร เก็บวัตถุ พยานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ มาตั้งแต่สมัยที่เรียนหนังสือ ดังนั้นแนวคิดในเรื่องของพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุสำหรับพวกเขาจึงไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เมื่อแต่ละคนมีความสนใจที่มาเจอกัน โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์จึงเริ่มต้น

หน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ตามความเชื่อของทั้งสี่ คือเมื่อคนได้เดินเข้าไปในที่ที่จัดแสดง ได้เห็นของจริง ได้มีการแลกเปลี่ยน ได้มีการตั้งคำถามใหม่ๆ ได้สะท้อนสิ่งที่ดำรงอยู่และเปลี่ยนแปลง และได้สนทนากับคนทำงานพิพิธภัณฑ์ การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้ไม่ใช่แค่การสื่อสารกับผู้ที่มีความสนใจเพียงอย่างเดียว แต่ยังตั้งใจทำงานขยายพื้นที่ความเข้าใจไปยังคนทั่วไป คนที่ไม่เห็นด้วย และไม่สนใจเรื่อง 6 ตุลาด้วย

อ้อ - ภัทรภร ภู่ทอง ผู้ประสานงานโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา และโครงการบันทึก 6 ตุลา

ทุกครั้งเมื่อเป็นเรื่อง 6 ตุลา หลายคนตั้งคำถามกับผู้ทำงานว่า “รื้อฟื้นขึ้นมาทำไม ทำไมจะต้องพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำไมไม่ก้าวไปข้างหน้าแล้วลืมเรื่องในอดีตไว้ข้างหลัง” คำตอบของคำถามทั้งหมดนี้สำหรับอ้อคือพิพิธภัณฑ์ ที่จะทำให้ความจริงจับต้องได้

“เมื่อถอยระยะห่างออกมา เรามองว่า 6 ตุลาเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ความรุนแรงของรัฐที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนที่กระทำผิด และคนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่างๆ ยังไม่ได้รับการลงโทษ ไม่มีการชดเชยเยียวยา อย่าพูดถึงการขอโทษเลย แค่การดำเนินคดีจนถึงที่สุด หรือกระบวนการยุติธรรมก็ยังไม่เกิด เช่นเดียวกับเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ เราคิดว่า ถึงขนาดนี้แล้วเราจะไม่พูดถึงปัญหาความยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเลยหรือ ไม่ต้องการที่จะพูดถึงเรื่องวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทยเลยหรือ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงจะต้องพูดถึงเรื่องเหตุการณ์ 6 ตุลา เช่นเดียวกับการที่จะต้องพูดถึงเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ

“เราอยากจะสื่อสารกับคนที่อยู่นอกแวดวงอาชีพ นอกแวดวงการทำงานของเรา คนอย่างพ่อแม่เราซึ่งไม่ได้เป็นนักศึกษาในยุคนั้น คนที่อยู่ต่างจังหวัด และคนที่ยังไม่เห็นความสำคัญของความรุนแรงทางการเมือง เราคิดว่าพิพิธภัณฑ์คือการจัดการกับความทรงจำ และเป็นการสื่อสารกับคนในสังคมว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมมันถึงเกิด เรามีปัญหาโครงสร้างปัญหาวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง สิ่งที่เหลืออยู่เป็นยังไง แล้วการที่จะก้าวไปข้างหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำจะต้องทำอะไรบ้าง”

ระยะแรกของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ หรือภายในช่วงเวลา 3 ปีนี้ จะยังเป็นการทำงานกับไอเดียและข้อมูล จัดประชุมเพื่อหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ดำเนินโครงการวิจัยเบื้องต้น เพื่อจัดทำหมวดหมู่ข้อมูลพื้นฐานด้านความรุนแรงทางการเมืองในประเทศไทย รวบรวมเอกสาร สื่อ วัตถุต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ จัดนิทรรศการนำร่อง และหาพื้นที่สำหรับพิพิธภัณฑ์ เพื่อเริ่มดำเนินการออกแบบ ไปจนถึงคำนวณงบประมาณการก่อสร้างและตกแต่ง

กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เป็นเรื่องใหญ่ที่กินเวลายาวนาน และใช้ทุนทรัพย์จำนวนมาก อ้อและทีมงานตระหนักในข้อจำกัดดังกล่าว หากมองจากวันเวลานี้อาจยังไม่มีใครมองเห็นภาพแจ่มชัดที่ปลายทาง แต่สำหรับพวกเขา การเดินทางไปสู่ปลายทางมีรายละเอียดที่สำคัญไปกว่าตัวพิพิธภัณฑ์

“จริงๆ แล้วกระบวนการของการที่จะมีพิพิธภัณฑ์สำคัญเท่ากับการมีพิพิธภัณฑ์จริงๆ หลังจากที่ทำงานและศึกษาพิพิธภัณฑ์ไประยะนึง เราเห็นความสำคัญของกระบวนการก่อนมีพิพิธภัณฑ์ เช่น พิพิธภัณฑ์ของเอกชนชื่อ พีซ โอจิ (Peace Aichi) ที่นาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ใช้เวลา 10 ปีในการเริ่มต้นคุยไอเดีย หาแนวร่วม จัดกิจกรรมต่างๆ เช่นนิทรรศการเคลื่อนที่ ทำความเข้าใจกับผู้คนทั้งภาครัฐ เอกชนและคนทั่วไป ก่อนที่จะมีพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา พิพิธภัณฑ์ทะเลสาบบิวะ (Lake Biwa Museum) ที่เมืองชิกะ ประเทศญี่ปุ่น ใช้เวลาเกือบ 20 ปี หรือ พิพิธภัณฑ์ฟรี เดอร์รี (Museum of Free Derry) ที่ เบลฟารส์ (Belfast) เมืองหลวงของไอร์แลนด์เหนือ ก็ใช้เวลานับ 10 ปีเหมือนกัน กว่าจะถึงการมีพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ

“กระบวนการระหว่างทางคือ การคุยเรื่องความเป็นไปได้ การหาความร่วมมือและการสนับสนุน ทั้งจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ผู้เสียหาย ครอบครัวของผู้เสียชีวิตหรือผู้ที่บาดเจ็บ รวมทั้งผู้ที่สนใจ ผู้ที่อยากเห็นการบันทึกและสื่อสารถึงความรุนแรงทางการเมือง ผู้ที่ต่อต้านวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด สำหรับเราคนที่กำลังจะสร้างพิพิธภัณฑ์เพียงแค่กลุ่มเล็กๆ ไม่สามารถทำให้พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นหรือยั่งยืนในระยะยาวได้ ถ้าเราไม่ได้เป็นเศรษฐีที่มีสตางค์เยอะๆ แต่หากเราสามารถหาแนวร่วมเหล่านี้ได้ หากเราสามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้ เราก็เห็นความเป็นไปได้

“เรายังอยากทำงานกับเด็กเยาวชน หรือภาคส่วนต่างๆ ของสังคมว่า การมีพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เพื่อการจัดแสดงเท่านั้น แต่เรากำลังพูดถึงความรุนแรงจากภาครัฐ เรากำลังพูดถึงความไม่ยุติธรรมที่เรากำลังเผชิญ และเพื่อต่อต้านวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด นี่คือคอนเซ็ปต์ของพิพิธภัณฑ์ที่เราอยากทำและคิดว่าต้องมี ในที่สุดแล้ว การสนับสนุนอาจไม่ได้มาเป็นตัวเงิน แต่อาจมาในรูปแบบของการเรียกร้องของสังคมต่อรัฐ ว่ามันมีความจำเป็นที่จะต้องมีกิจกรรม หรือโครงการลักษณะนี้”

สิ่งที่เราจะได้เห็นหากมีพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา คือสิ่งของมากมายเกี่ยวกับ 6 ตุลา ที่เคยกระจัดกระจาย เช่นเดียวกับความทรงจำของผู้คนต่อเหตุการณ์ ปัจจุบันของสองชิ้นที่ถูกเก็บรักษาไว้แล้วคือ ประตูแดง และ ลำโพงที่มีรอยกระสุนจำนวนมากประดับอยู่ วันที่สนทนากัน อ้อสะพายถุงขนาดใหญ่บรรจุลำโพงตัวดังกล่าวมาด้วย ออกจะน่าแปลกตาแปลกใจที่ลำโพงในประวัติศาสตร์ความรุนแรงถูกหิ้วไปมา ณ เมืองใหญ่ ในเวลาปัจจุบัน โดยที่ไม่มีใครสังเกตเนื้อกายและความทรงจำของมัน ขณะที่ผู้แบกหิ้วตามหาและตระหนักถึงความหมายของมันเป็นอย่างดี อ้อเล่าถึงลำโพงและสิ่งของชิ้นอื่นๆ ที่พอจะรวบรวมได้ไว้ว่า

“ลำโพงตัวนี้ถูกใช้ในวันนั้น ไม่ทราบแน่ชัดว่าตั้งอยู่จุดไหนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ รอยกระสุนที่ปรากฏบนลำโพงมาจากกระสุนปืนลูกซองยาวประมาณ 3-4 นัด โดยผู้ยิงน่าจะอยู่ตำแหน่งข้างล่างของลำโพง ยิงจากซ้ายไปขวา และยิงเข้าไปในตัวกระสวยลำโพงเพื่อทำลายตัวกระจายเสียง

“เรากำลังติดต่อกับครอบครัวของนักศึกษาที่เสียชีวิตท่านหนึ่งคือ ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งใส่กางเกงยีนส์ในวันที่มาชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดนัยศักดิ์เสียชีวิตด้วยบาดแผลที่ถูกกระสุนปืนตัดเส้นเลือดใหญ่ที่ต้นขา หลังจากดนัยศักดิ์เสียชีวิต ครอบครัวเก็บกางเกงยีนส์ตัวนี้ไว้ที่บ้านที่จังหวัดนครศรีธรรมราชจนถึงทุกวันนี้

“นอกจากนั้นก็จะมีภาพถ่ายทั้งฟิล์มสไลด์ ภาพที่ได้รับบริจาค และรวบรวมมาจากที่ต่างๆ มีหนังสือพิมพ์ นิตยสารในขณะนั้น มีสมุดบันทึก สมุดพกนักเรียนของผู้เสียชีวิตบางท่านที่ครอบครัวบริจาคให้ และยังมีลิสต์รายการข้าวของเอกสารอีกหลายอย่าง เพื่อดูว่าของชิ้นไหนอยู่ที่ใคร เมื่อมีการจัดนิทรรศการ เราอาจจะทำการหยิบยืมของบางชิ้นมาจากครอบครัว แล้วขอนำมาจัดแสดง”

การได้มาซึ่งวัตถุหลักฐาน จำเป็นจะต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับเจ้าของว่าทำไมวัตถุชิ้นนี้ถึงมีความหมาย หรือมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อ้อยกตัวอย่างกระบวนการถอดเก็บประตูแดงว่า ใช้เวลาถึง 2 ปีในการดำเนินการ

“การขอประตูแดง ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เอาประตูใหม่ไปแลกแล้วจบ เพราะเจ้าของเขาก็โอเคกับการที่มีประตูเก่าอยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร เราจึงต้องพยายามทำความรู้จัก ทำความเข้าใจให้เขาเห็นว่า เราทำงานอะไรภายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แล้วเราจะทำงานอะไรต่อ จะใช้ประตูที่เป็นสถานที่เกิดเหตุยังไงให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

“หลักฐานบางชิ้นก็เป็นสิ่งที่เหลืออยู่ เป็นตัวแทนของชีวิต ของคนรักที่จากไป ซึ่งมีคุณค่ากับครอบครัวมาก เราก็เห็นด้วยว่า ครอบครัวน่าจะต้องการเป็นคนเก็บรักษาไว้เอง จนกว่าที่เขาคิดว่าน่าจะมอบให้พิพิธภัณฑ์เก็บรักษาหรือจัดแสดง ในบางกรณีจึงต้องทำเรื่องขอความอนุเคราะห์ให้นำมาจัดแสดงชั่วคราว ในฐานะที่เป็นประจักษ์พยาน”

โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา จะมีกิจกรรมขอรับบริจาควัตถุพยานต่างๆ ในเร็ววัน วัตถุพยานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา จะถูกนำมาจัดเก็บรักษาให้อยู่ในสภาพดี และนำมาจัดแสดงในวันที่มีพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้น หรือในขณะที่ยังไม่มีพิพิธภัณฑ์ที่เป็นตัวอาคาร ก็สามารถจัดนิทรรศการหมุนเวียนไปในที่ต่างๆ ได้ด้วย

สำหรับโครงการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา อุปสรรคสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้คือเรื่องของเงิน น้ำเสียงที่มุ่งมั่นและขบขันของอ้อ เอ่ยถึงกระบวนการมากมายที่ต้องการต้นทุนว่า

“งานพิพิธภัณฑ์เป็นงานระยะยาว การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ใช้เงินเยอะมาก ถ้าเราไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ก็ไม่ได้มีกำไรแบบนั้นแน่นอน แม้เพียงในระยะเริ่มต้นของโครงการ การรวบรวมวัตถุประจักษ์พยาน การจัดแสดง กิจกรรมเสวนาหรือฝึกอบรม หรือแม้แต่การหาสถานที่หรือออกแบบ มีต้นทุนทั้งสิ้น ดังนั้นเราเองก็อยากจะบอกว่ายินดีรับบริจาคและการสนับสนุนทางการเงินนะคะ (หัวเราะ)”

อีกเรื่องที่เป็นส่วนประกอบอยู่เสมอในการทำงาน แต่อ้อกลับไม่นิยามมันว่าเป็นอุปสรรค คือการที่บางผู้คนไม่ต้องการให้เรื่อง 6 ตุลา ถูกเล่าขานอีก แม้จะผ่านมาหลายสิบปีแล้ว อ้อก็ยังได้พบกับคำทักท้วงอยู่เสมอ

“เรายังได้คุยกับครอบครัวที่ไม่ต้องการให้สัมภาษณ์ ครอบครัวบอกว่าขอไม่พูดเรื่องนี้ ไม่ต้องการรื้อฟื้นเรื่องความเจ็บปวดของครอบครัว เราเคยได้รับคำเตือนด้วยความหวังดีจากบุคคลท่านหนึ่งว่า อย่าพูด ถ้าจะพูด ให้พูดด้วยความระมัดระวัง

“เราคิดว่าตราบใดที่การเมืองยังไม่เปลี่ยน เราคงยังไม่มีโอกาสพูดความสงสัยหรือความคลุมเครืออย่างเปิดเผย หรือพูดโดยไม่ต้องไต่เส้น แต่ในข้อจำกัดที่มีอยู่ เราต้องรู้ว่าต้องหาวิธีในการพูดให้ได้ และด้วยเงื่อนไขการเมืองในปัจจุบัน มันก็ยังพอมีพื้นที่ให้สามารถพูดได้อยู่บ้าง อย่างตัวโครงการบันทึก 6 ตุลาเอง ก็เริ่มทำงานมา 3 ปีแล้ว และเป็นแหล่งรวบรวมเอกสารหลักฐานที่ไม่ว่าใครก็ตามสามารถเข้าถึงได้ เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริง” อ้อ กล่าว

ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ท้ายที่สุดแล้วโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา จะดำเนินไปแล้วสุดที่ไหน ไม่มีใครอาจทราบ ในคำถามที่ว่า หากความจริงไม่อาจถูกตั้งวางในพิพิธภัณฑ์ หากไม่มีผลสำเร็จรูปเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร อ้อตอบว่า

“เราคิดว่าอาจเป็นไปได้ที่มันจะไม่เกิดขึ้นจริง อย่างที่บอกว่า เราไม่ได้มีสตางค์เป็นร้อยล้านพันล้านที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นทันทีและดำเนินการไปโดยไม่มีอุปสรรคทางการเงินใดๆ ตายแล้วเกิดอีกสามสี่ชาติก็ไม่สามารถที่จะมีเงินหลายร้อยล้านได้ แต่ในที่สุดแล้ว ไม่เป็นไร

“ก่อนจะมีพิพิธภัณฑ์จริงๆ อย่างน้อยเราก็ได้เตรียมความพร้อมเรื่องข้อมูล องค์ความรู้ สร้างศักยภาพ และหาแนวร่วมคนที่คิดเหมือนเรา เห็นเป้าหมายเดียวกับเรา สร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมกับหลายๆ คน หลายๆ ภาคส่วน เท่านี้เราก็เห็นความเป็นไปได้แล้ว

“ในที่สุดแล้วผ่านไป 10 ปี 20 ปี เราอาจจะมานั่งตีความพิพิธภัณฑ์ใหม่ก็ได้ว่า พิพิธภัณฑ์ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นอาคารสถานที่ อาจจะเป็นแค่ออฟฟิศเล็กๆ อาจเป็นนิทรรศการหมุนเวียน กิจกรรมเวิร์กช็อปสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่ที่อยากเรียนรู้ หรือทำกิจกรรมเกี่ยวกับ 6 ตุลาของตัวเอง มีกิจกรรมที่สร้างวัฒนธรรมการทำงานเชิงจดหมายของคนที่ทำงานด้านการละเมิดสิทธิ มีโกดังเก็บวัตถุพยานพร้อมให้ผู้ที่สนใจหรือผู้ที่ต้องการศึกษาค้นคว้าเข้าไปใช้ หรือพิพิธภัณฑ์อาจเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของรัฐ ซึ่งเราก็คงจะแฮปปี้แล้ว อาจพูดได้ว่านี่เป็นพิพิธภัณฑ์ในความหมายที่อยากให้เป็น”

การเดินทางของพิพิธภัณฑ์ 6  ตุลา ทั้งการเก็บหลักฐาน หรือความเชื่อภายใต้พิพิธภัณฑ์ สะท้อนพื้นที่ที่บรรจบกันระหว่างอดีตและปัจจุบัน การรวบรวมความจริงมาจัดวาง ไม่เพียงแต่เป็นการให้เกียรติบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เพียงการรื้อฟื้นอดีตเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจุบันที่เราจับต้องได้ และต้องจับ แม้ไม่อาจเป็นเจ้าของความทรงจำในอดีต แต่เราจะเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตร่วมกันอย่างแน่นอน

ปลายทางที่เรามองหา อาจไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่ตั้งตระหง่านสู่สายตา แต่เป็นชีวิต เรื่องราว ความจริง ที่เรียกว่าประวัติศาสตร์และบทเรียนที่เราจ้องได้เต็มตา ไม่หวาดกลัวที่จะเอื้อมคว้าอีกต่อไป

[box]

โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา เป็นความพยายามที่จะสร้างแหล่งเรียนรู้และแหล่งข้อมูลปรากฏการณ์ความรุนแรงในสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงทางการเมืองซึ่งมีรากเหง้ามาจากความรุนแรงทางโครงสร้างและวัฒนธรรม และเป็นความพยายามที่จะสร้างพื้นที่ในการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านวิธีการจัดการ จัดแสดง และอภิปรายองค์ความรู้ ที่มา เหตุการณ์แวดล้อม ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองอื่นๆ ในประเทศไทย

โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ขอรับบริจาคและรับซื้อเอกสาร ไฟล์เสียง ภาพเคลื่อนไหว สิ่งพิมพ์ ภาพถ่ายและวัตถุพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองอื่นๆ ในประเทศไทย เพื่อให้เป็นสาธารณะสมบัติและเป็นสื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมือง โดยจัดแสดงผ่านนิทรรศการชั่วคราว จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ และจัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆ

ท่านสามารถติดต่อได้ที่ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา 81 ซอยรัตนาธิเบศร์ 28 ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 Email: [email protected]

สำหรับผู้สนใจสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา สามารถสนับสนุนได้ที่ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา หมายเลขบัญชี 172-0-31365-2 ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์

[/box]

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save