fbpx
รู้ทันอนาคต The Industries of the Future กับ อเล็ก รอสส์

รู้ทันอนาคต The Industries of the Future กับ อเล็ก รอสส์

ท่ามกลางโลกที่ผันแปรและขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่อัปเกรดตลอดเวลา หลายคนอาจเกิดคำถามว่า มนุษย์ตาดำๆ อย่างเราควรปรับตัวอย่างไรให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง แล้วนวัตกรรมใหม่ๆ จะส่งผลต่อตัวเราและสังคมในแง่ไหนบ้าง กระทั่งว่า โลกอนาคตจะมีหน้าตาเป็นแบบไหน

 

อเล็ก รอสส์ (Alec Ross) คือบุคคลหนึ่งที่สามารถให้ความกระจ่างกับคำถามเหล่านี้ได้ เขาคือนักการเมืองอนาคตไกลวัยสี่สิบกลางๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เจ้าของหนังสือ ‘The Industries of the Future’ ที่ติดอันดับขายดีของ New York Times ในปี 2016 นอกจากนี้ยังเป็นมันสมองระดับที่ปรึกษาของบารัค โอบามา และฮิลลารี คลินตัน

นับเป็นโอกาสอันดีของชาวไทย ที่เขาให้เกียรติมาเป็นแขกรับเชิญในงาน Shift Happens: พลิกธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้  เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อพูดในหัวข้อ “พลิกทันอนาคต” (The Industries of the Future)

ต่อไปนี้คือเนื้อหาแบบคำต่อคำที่เขานำมาบอกเล่าในงานนี้

 

 

สวัสดีครับทุกคน ผมรู้สึกยินดีอย่างมากที่ได้มาเยือนประเทศไทย

วันนี้ผมจะมาพูดเกี่ยวกับ “อุตสาหกรรมและนวัตกรรมแห่งอนาคต”

สมัยเด็กๆ ผมโตขึ้นในชุมชนยากจนของอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการทำเหมืองถ่านหิน แน่นอนว่าตอนนั้นเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ได้ล้ำสมัยเท่าปัจจุบัน แต่เมื่อโตขึ้น ผมก็เหมือนคนทั่วไปในอเมริกาที่ตื่นเต้นกับการเข้ามาของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทกับชีวิตเรามากขึ้นเรื่อยๆ พอจบจากมหาวิทยาลัย ผมสมัครเป็นอาจารย์อยู่ระยะหนึ่ง และมีโอกาสได้สอนในแถบยากจนของคนผิวสี

สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ก็คือ ในเรื่องของเทคโนโลยีนั้น มันไม่สำคัญเลยว่าคุณจะรวยหรือจน หรือจะมีผิวสีอะไร ถ้าคุณยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว คุณก็เปรียบเหมือนปลาได้น้ำ ปลาเหล่านั้นไม่ต้องให้ใครมาสอนว่ายน้ำ เช่นเดียวกัน เมื่อผมเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยี ก็ไม่ได้มีใครสอนเหมือนกัน เหมือนกับที่ไม่ต้องมีใครมาสอนเด็กๆ พวกนี้ใช้เทคโนโลยี

ผมเริ่มทำธุรกิจตอนอายุประมาณ 20 กว่าปี หลายๆ คนในอเมริกาก็เริ่มทำธุรกิจเมื่อถึงวัยนี้ ธุรกิจของผมใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อที่จะขับเคลื่อนให้พลังทางเศรษฐกิจหรือการเมืองได้เข้าไปอยู่ในมือของประชาชนมากขึ้น ผมทำได้อยู่ประมาณ 8 ปี จากนั้นบารัค โอบามา เริ่มสนใจงานที่เราทำอยู่ ตอนนั้นเขายังไม่ได้เป็นประธานาธิบดีนะครับ แต่เขาค่อนข้างสนใจเรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว รวมถึงสนใจการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้ และทำให้ประชาชนมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น

ตอนที่บารัค โอบามา ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี ผมได้เข้ามาช่วยดูแลในส่วนของนโยบายเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสำหรับเคมเปญในการรณรงค์หาเสียงประธานาธิบดีสมัยแรก ไอเดียก็คือการพลิกโฉมการทำแคมเปญหาเสียงด้วยการใช้เทคโนโลยี แน่นอนว่าวิธีการนี้ ไม่ได้มีส่วนทั้งหมดที่ทำให้โอบามาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้มันมีผลอยู่ไม่น้อย

ต่อมาผมก็ได้มาทำงานกับฮิลลารี คลินตัน อยู่อีกราวๆ 4 ปี ก่อนหน้านั้นผมอยู่ฝ่ายที่เป็นคู่แข่ง เธอจึงเสนอให้ผมมาทำงานกับเธอเสียเลย งานของผมอยู่ในส่วนของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับนโยบายต่างประเทศ โจทย์คือเราจะแก้ปัญหาโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้อย่างไร และเราจะใช้สิ่งนี้เข้ามาช่วยในการสื่อสารได้อย่างไร

หลังจากที่ผมได้ทำงานกับฮิลลาลี คลินตัน เป็นเวลา 4 ปี และศึกษาเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีผมตั้งคำถามขึ้นมาข้อหนึ่งว่า ถ้าในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ความเฟื่องฟูของยุคดิจิทัล  อินเทอร์เน็ต โซเชียลเน็ตเวิร์ก และสมาร์ทโฟน คืออุตสาหกรรมสำคัญที่พลิกโฉมโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อะไรคืออุตสาหกรรมแห่งอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า

วันนี้เราจะมาตอบคำถามเหล่านี้กัน

 

 

Creation – Destruction

 

ปาโบล ปีกัสโซ (Pablo Picasso) จิตรกรชื่อดังเคยกล่าวไว้ว่า “ทุกการสร้างสรรค์ เริ่มต้นขึ้นจากการทำลายเสมอ” แน่นอนเขาพูดถึงโลกศิลปะ แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่เขาพูดก็สามารถนำไปใช้ได้กับเรื่องนวัตกรรมได้เช่นกัน ทุกๆ ครั้งที่คุณสร้างสิ่งใหม่ เท่ากับว่าคุณกำลังเปลี่ยนแปลงบางสิ่งที่เคยมีอยู่ในอดีต ทุกการสร้างสรรค์ย่อมมีเศษซากของการทำลายเป็นองค์ประกอบ ดังนั้นเมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลง ผู้คนจึงมีความคิดแตกออกเป็นสองฝั่ง คือคนที่มองในเชิงบวกแบบสุดๆ (Utopian) กับคนที่มองทุกอย่างเป็นแง่ลบไปเสียหมด (Dystopian)

คนที่มองแง่บวก อาจบอกว่าในอนาคตเราจะมีอายุอยู่ถึง 120 ปี อย่างสุขภาพดีและมีความสุข เพราะนวัตกรรมต่างๆ จะช่วยให้เราไม่ขาดตกบกพร่องสิ่งใดๆ ราวกับอยู่ในหนังเรื่อง “Star Trek” แต่อีกฝ่ายอาจมองแบบตรงข้าม พวกเขามองว่าถ้าโลกในอนาคตมาถึงจริง ทุกอย่างคงพังพินาศเป็นแน่ เพราะเทคโนโลยีจะเข้ามาทำลายทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่ความสัมพันธ์ต่างๆ ของมนุษย์ ระบบการเมืองการปกครอง รวมไปถึงก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนาอีกด้วย โลกของเรากำลังจะกลายเป็นเหมือนภาพยนตร์เรื่อง “Mad Max” เป็นแน่

ตอนที่ผมศึกษาเรื่องนี้และเขียนหนังสือชื่อว่า “The Industries of the Future” ผมไม่ใช่ทั้งคนที่มองด้านบวกสุดโต่ง หรือลบสุดโต่ง แต่ผมมองว่ามันจะอยู่ตรงกลาง เป็นการผสมกันของสิ่งที่ดีและสิ่งที่เลวอย่างละเล็กละน้อย เพราะทุกการสร้างสรรค์ย่อมมีส่วนผสมของการทำลายล้างอยู่คู่กันเสมอ

 

 

เมื่อข้อมูลสำคัญกว่าที่ดิน ในยุคข้อมูลข่าวสาร

 

ผมจะอธิบายให้ภาพเห็นชัดขึ้นนะครับ ทรัพยากรสำคัญในยุคเกษตรกรรม คือที่ดิน ทรัพยากรสำคัญในยุคอุตสาหกรรม คือเหล็ก สำหรับในปัจจุบันที่เป็นยุคแห่งข้อมูลและข่าวสาร ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือ ‘ข้อมูล’ (Data)

ผู้ที่ครอบครองทรัพยากรสำคัญในแต่ละยุค ผู้นั้นคือผู้มีอำนาจ สำหรับในยุคปัจจุบันและอนาคตที่กำลังมาถึง ใครก็ตามที่ครอบครอง ควบคุมข้อมูล และใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ จะมีอำนาจและอิทธิพลมากกว่าคนอื่นๆ เนื่องจากข้อมูลคือทรัพยากรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของวันนี้และอนาคต

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ 90 เปอร์เซ็นต์ของข้อมูลทั้งหมดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติของเรา เพิ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง เปรียบเทียบง่ายๆ ว่า ในทุกๆ 2 วัน เราสามารถสร้างข้อมูลใหม่ได้มากเท่ากับข้อมูลที่รวบรวมมาตั้งแต่ยุคที่มีการวาดภาพบนฝาผนังจนถึงปี 2003 เลยทีเดียว

ในปัจจุบันหากนับเวลาถึงเดือนกันยายน ปี 2017 เรามีอุปกรณ์เครือข่าย (network device) ทั้งสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์เซ็นเซอร์ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมกันกว่า 20,000 ล้านชิ้นที่คอยรับส่งข้อมูลต่างๆ ขณะที่บนโลกของเรามีประชากรอยู่เพียง 7,500 ล้านคน และในอีก 3 ปีข้างหน้า คาดว่าเราจะมีอุปกรณ์เครือข่ายเพิ่มขึ้นเป็น 45,000 ล้านชิ้น

ลองคิดภาพนะครับว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของข้อมูลได้ถูกสร้างขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลเท่าใดในอีก 3 ปีข้างหน้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือมหาสมุทรแปซิฟิกที่เต็มไปด้วยข้อมูล และความสามารถในการเก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของเรา

ถึงตรงนี้ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดจากเข้าสู่ยุคดิจิทัลนี้คือ การติดต่อสื่อสาร

ผมจะยกตัวอย่างง่ายๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวผมเอง ย้อนกลับไปเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ตอนที่ผมยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ผมมีแฟนคนหนึ่ง ความสัมพันธ์เราไปได้ดี แต่แล้วผมก็ต้องไปเรียนต่อที่อิตาลีเป็นเวลา 1 ปี ทีนี้ปัญหาก็คือว่า แล้วเราจะติดต่อกันอย่างไร

แน่นอนว่าพวกเราต้องติดต่อกันด้วยจดหมายที่ใช้เวลารับ-ส่งถึง 1 สัปดาห์กว่าจะข้ามน้ำข้ามมหาสมุทรมาได้ และในทุกๆ สัปดาห์ ผมจะหาวันว่างสักหนึ่งวันในการโทรหาเธอผ่านตู้โทรศัพท์สาธารณะ

ซึ่งในสมัยนั้น มันต้องใช้เงินจำนวนมากเลยทีเดียว

แต่สมัยนี้ แม้ว่าแฟนของคุณจะอยู่ต่างประเทศ คุณก็สามารถติดต่อกันได้ตลอดเวลาด้วยโทรศัพท์มือถือ เฟซบุ๊ก หรือไลน์ อย่างในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาที่ผมอยู่ประเทศไทย ผมได้คุยกับภรรยาไป 3 ครั้งแล้ว แถมยังได้ดูไลฟ์การแข่งฟุตบอลสดของลูกชายผมด้วย นี่คือการเปลี่ยนแปลงด้านการสื่อสารและการส่งผ่านข้อมูลที่ยังคงไม่หยุดอยู่กับที่ และจะเปลี่ยนแปลงต่อไปอีกเรื่อยๆ

 

 

การใช้ ‘ภาษา’ ในการสื่อสารคืออีกสิ่งหนึ่งที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

มีการคาดการณ์ว่า เทคโนโลยีในอีก 5 ปีข้างหน้า จะช่วยให้เราทุกคนสามารถเข้าใจภาษามากกว่า 10 ภาษาเลยทีเดียว ลองมองย้อนกลับไปเมื่อหลายปีที่แล้วที่เราต้องพกพจนานุกรม สมมติว่าผมไปเที่ยวฝรั่งเศสแล้วอยากจะซื้อขนมปังล่ะก็ คงใช้เวลาประมาณ 5 นาทีกว่าจะหาคำศัพท์ได้ทั้งหมด นี่ยังไม่ได้พูดถึงการเรียบเรียงประโยคเลย หรือในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเช่น คุณไปอิตาลีแล้วเกิดปวดท้อง เลยต้องถามทางไปห้องน้ำ สมมติว่าคุณสามารถหาคำศัพท์ทั้งหมดมาถามได้ คุณก็คงคาดหวังว่าคนที่คุณถามทางจะชี้ทางไปห้องน้ำให้คุณได้ทันที หรือตอบกลับมาด้วยประโยคหรือคำสั้นๆ เท่านั้น เพราะถ้าเขาตอบกลับด้วยประโยคที่ยาวและซับซ้อน คุณคงไม่มีทางที่จะเปิดพจนานุกรมในมือทันแน่นอน

ในปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีอย่าง google translate แค่เพียงคุณก็อปปี้คำหรือประโยคใส่โทรศัพท์ google translate ก็จะแปลให้คุณเสร็จสรรพ แต่สมมติชายชาวอิตาลีมาคุยกับคุณ แต่คุณไม่สามารถพิมพ์บทสนทนานั้นได้ถูกเพราะมันยาวหรือยากเกินไป คุณจะทำอย่างไร? คุณเชื่อไหมว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ปัญหาแบบนี้จะหมดไป

Google translate ทำงานอยู่บนฐานของ Big Data ทุกครั้งที่คุณใส่ข้อมูลลงไประบบ อัลกอริทึมของมันเรียนรู้จากข้อมูล ทำให้มันฉลาดขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีคนกว่า 200 ล้านคนใช้ google translate ในการแปลกว่า 1 พันล้านครั้งในหนึ่งวัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะเห็นได้ว่า google translate ทำงานได้ดีขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อมีคนใช้เยอะขึ้น

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นดังต่อไปนี้ สมมติว่าคุณอยู่ในประเทศที่มีภาษาพูดกว่า 700-800 ภาษา อย่างปาปัวนิวกินีหรืออินโดนีเซีย สิ่งที่คุณต้องทำก็เพียงแค่หยิบสมาร์ทโฟนออกมา เปิดแอปพลิเคชัน และใส่หูฟัง คุณจะได้ยินภาษาท้องถิ่นจากคนพื้นเมืองที่คุณคุยด้วยเป็นภาษาไทย และเสียงที่คุณได้ยินในหูฟังจะไม่ใช้เสียงของ A.I. อย่าง ‘Siri’ แต่จะเป็นเสียงของเจ้าของบทสนทนาที่คุณกำลังคุยอยู่ด้วยเองเลย ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่สามารถแยกแยะคุณสมบัติของเสียงได้อย่างละเอียด ในอนาคตคุณจึงอาจไม่ต้องพูดภาษาเดียวกับคนที่คุณกำลังเดทด้วยก็ได้ (หัวเราะ)

นี่เป็นตัวอย่างของการสื่อสารที่กำลังจะเปลี่ยนไปในอนาคต สมัยที่ผมยังทำงานให้โอบามา พวกเราทำสิ่งที่คนอื่นในขณะนั้นมองว่าไร้สาระ นั่นคือการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อหาเสียงทางการเมือง แต่สุดท้ายวิธีการนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เราชนะการเลือกตั้งได้ ที่ผ่านมาผู้คนคุ้นชินกับการรับข้อมูลข่าวสารผ่านหนังสือพิมพ์ หรือวิทยุโทรทัศน์ แต่ในปัจจุบัน วิธีการรับข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนไปอย่างมาก ผู้คนต่างรับรู้ข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊กกลายเป็นช่องทางสำคัญในการรับข้อมูลข่าวสารของทุกคน

ตอนนี้ในสหรัฐอเมริกาเกิดข้อถกเถียงใหญ่ขึ้น ว่ารัสเซียเข้ามาแทรกแซงความคิดทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊กหรือไม่ ซึ่งสิ่งนี้อาจเปลี่ยนธรรมชาติพื้นฐานของการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

 

สิ่งที่น่าจับตามองสำหรับประเทศไทยก็คือ หากอุปกรณ์เครือข่าย (Network Devices)  20,000 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นเป็น 45,000 ล้านชิ้นได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า นั่นหมายความว่าเรากำลังสร้างอุตสาหกรรมเครือข่ายอินเทอร์เน็ตขึ้นมา การเปลี่ยนแปลงในอนาคตจึงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในการสื่อสารเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เราไม่เคยคิดว่ามันเกี่ยวข้องกับโลกดิจิทัล เช่น การเกษตร การขนส่ง อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ทั้งหมดนี้จะถูกพลิกโฉมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

ตัวอย่างเช่น ‘รถยนต์ไร้คนขับ’ google คือบริษัทแรกๆ ที่หันมาสนใจเรื่องนี้ ผมขอสารภาพว่าครั้งแรกที่ผมได้ยินเรื่องรถยนต์ไร้คนขับ ผมคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระและแทบเป็นไปไม่ได้เลย รถยนต์ที่ไม่มีคนขับจะมีอยู่ได้อย่างไรกัน เมื่อได้เจอกับคนของกูเกิลเขาจึงท้าผมให้ลองไปดูสิ่งที่บริษัทได้พัฒนาขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของกูเกิลในแคลิฟอร์เนีย

พวกเขาให้ผมลองนั่งรถไร้คนขับ สิ่งที่ผมสังเกตเห็นเป็นอันดับแรกคือ ไม่มีพวงมาลัยในรถ! ผมเข้าไปนั่งในนั้น จากนั้นรถก็เริ่มขับไปรอบๆ ที่จอดรถอยู่ 3 รอบ ผมรู้สึกเหมือนกำลังนั่งรถเด็กเล่นที่ลูกๆ ผมเคยนั่ง แต่แล้วรถก็ขับออกไปสู่ถนนใหญ่ และขับเร็วขึ้นเรื่อยๆ ไม่กี่นาทีก็ขับตรงขึ้นทางด่วน ตอนนั้นผมคิดจริงๆ ว่าผมจะตายไหม มันเป็นช่วงเวลาที่ผมแทบจะเสียสติไปเลย แต่อีกใจหนึ่งผมก็คิดว่า “มันขับได้เองจริงๆ ด้วย!”

รถยนต์ไร้คนขับทำงานได้เพราะมันถูกทำให้เป็นดิจิทัล และมีระบบ GPS และเซ็นเซอร์ รู้ไหมว่าทุกวันนี้การขนส่งเบียร์ไปโคโลราโด สามารถทำได้โดยใช้รถบรรทุกที่ไม่ต้องมีคนขับแล้ว

ย้อนกลับไปที่ ‘การสร้างสรรค์และการทำลาย’ การสร้างสรรค์จากการทำให้เป็นดิจิทัลนี้ทำให้เรามีเวลามากขึ้น รถยนต์ไร้คนขับทำให้เราประหยัดเวลามหาศาลที่ต้องเสียไปกับการนั่งหลังพวงมาลัยในขณะที่รถติด ลองนึกภาพดู คุณเองก็คงรู้ว่าการจราจรของกรุงเทพฯ แย่แค่ไหน ถ้าทุกอย่างกลายเป็นระบบอัตโนมัติ คุณก็จะสามารถนั่งเฉยๆ สบายๆ ได้เหมือนนั่งรถลีมูซีน

แต่ในอีกด้านหนึ่งการสร้างสรรค์นี้คือการทำลาย อาชีพที่จะได้รับผลกระทบอย่างยิ่งคือคนขับรถ ซึ่งเป็นอาชีพอันดับหนึ่งของผู้ชายทั่วโลก และเป็นหนึ่งในอาชีพที่สร้างรายได้ที่ดีโดยไม่ต้องใช้ใบปริญญา

 

 

เมื่อรหัสพันธุกรรมคือฐานของอุตสาหกรรมระดับพันล้านในอนาคต

 

อีกสิ่งหนึ่งที่พลิกโฉมโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คือการใช้พันธุศาสตร์ในเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรมระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ล่าสุดถูกสร้างขึ้นบนฐานของโค้ดคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมระดับพันล้านดอลลาร์ ในวันข้างหน้าจะถูกสร้างขึ้นจากฐานรหัสพันธุกรรม

ปัจจุบันเราสามารถถอดข้อมูลจากยีนกว่า 20,000-25,000 ยีนในร่างกายของเราออกมาได้แล้ว ซึ่งสิ่งนี้กำลังจะพลิกอนาคตวงการการแพทย์และชีวิตของเราในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ตอนนี้ผมประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่การศึกษาวิจัยทางการแพทย์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ผมได้คุยกับศาสตราจารย์ท่านหนึ่งที่นั่น เขาถามผมว่า ‘เวลาที่คุณไปหาหมอแล้วหมอเจาะเลือดไป เขาเอาไปทำอะไร’ ผมตอบว่า ‘หมอก็เอาเลือดไปตรวจวัดคอเลสเตอรอล และตรวจค่าต่างๆ’ ศาสตราจารย์ท่านนั้นจึงบอกผมว่า ‘อเล็ก ถ้าคุณส่งเลือดนั้นมาให้ผมพร้อมกับเงิน 4,000 ดอลลาร์ ผมสามารถดึงยีนออกมากจากเลือดนั้นและตรวจหามะเร็งในขนาดที่เล็กมาก เล็กขนาดเพียงแค่ 1% ของขนาดมะเร็งที่ MRI ตรวจจับได้’

ลองคิดดูว่าที่ผ่านมามีผู้คนมากมายแค่ไหนที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ส่วนมากเป็นเพราะพวกเขาตรวจพบช้าเกินไป เมื่อมะเร็งอยู่ในขั้นที่ 3 หรือ 4 แล้ว แต่หากเราสามารถตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่แรกในช่วงที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มะเร็งจะเปลี่ยนจากฆาตกรที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายมาเป็นศัตรูที่ง่ายต่อการเอาชนะได้ ซึ่งสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นแล้วในตอนนี้

หัวใจของเรื่องนี้อยู่ที่ราคา 4,000 ดอลลาร์ ซึ่งศาสตราจารย์ท่านนี้บอกผมในขณะนั้นเมื่อ 3 ปีก่อน ถ้าเราย้อนกลับเมื่อนวัตกรรมนี้ได้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกมันมีราคาสูงถึง 2.7 พันล้านดอลลาร์ 10 ปีถัดมาราคาลดเหลือ 100,000 ดอลลาร์ เมื่อ 5 ปีก่อนเหลือ 10,000 ดอลลาร์ เมื่อ 3 ปีก่อนคือ 4,000 ดอลลาร์ และในปัจจุบันเหลือเพียง 1,400 ดอลลาร์เท่านั้น

เมื่อเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุศาสตร์มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างมากจากการที่เรามีข้อมูลทางพันธุกรรมมหาศาล ค่าใช้จ่ายในการใช้เทคโนโลยีในการทดสอบพันธุกรรมจึงลดลงอย่างมาก ก่อนหน้านี้การทดสอบดังกล่าวอาจทำได้เฉพาะในกลุ่มมหาเศรษฐีเท่านั้น เพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้นชนชั้นกลางก็สามารถเข้าถึงการทดสอบแบบนี้ได้ และในอนาคตมันอาจกลายเป็นเรื่องทั่วไปสำหรับทุกคน

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้พันธุกรรมในเชิงพาณิชย์ คือ Xenotransplantation หรือการปลูกการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะต่างสปีชีส์ ปัจจุบันได้มีการทดลองแล้วที่สหรัฐอเมริกา เราได้ค้นพบวิธีการปรับแต่งยีนของหมู ให้หมูเติบโตมาพร้อมกับอวัยวะบางอย่างที่สามารถนำมาปลูกถ่ายให้กับมนุษย์ในภายหลังได้ เช่น ปอด ตับ และไต นวัตกรรมนี้มีความสำคัญมาก เพราะการหาอวัยวะเหล่านี้มาใช้ในการปลูกถ่ายในปัจจุบันนั้นยากมาก เรื่องนี้อาจฟังดูเหลือเชื่อ แต่เป็นเรื่องที่ทำได้จริง

ตอนนี้ผมอายุ 45 ปี ตอนที่ผมเกิดอายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์อยู่ที่ราวๆ 58 ปี แต่ปัจจุบันนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 72 ปี และคงไม่น่าแปลกใจอะไร ถ้าอายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์จะเพิ่มขึ้นใกล้ 90 ปีได้ในอนาคต เรามีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างที่ผมได้กล่าวไว้ตอนต้น เมื่อมีการสร้างสรรค์ก็ย่อมมีการทำลาย มีการเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งด้านบวกก็มีด้านลบตามมาด้วย

การที่เราอายุยืนขึ้นไม่ได้หมายความว่าเราจะมีบั้นปลายชีวิตที่ดีเสมอไป ยายของผมเพิ่งเสียไปเมื่อปีที่แล้วด้วยอายุ 99 ปี ผมรักยายผมมาก แต่ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าในช่วง 5 ปีสุดท้ายของท่านที่เทคโนโลยีสามารถยื้อร่างกายของท่านไว้ได้แต่ไม่อาจยื้อความคิดจิตใจให้อยู่ยาวนานไปด้วย

 

 

เมื่อหุ่นยนต์สามารถ ‘คิด’ ได้

 

อีกสิ่งหนึ่งที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญในอนาคตอันใกล้นี้ คือ A.I. หรือปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ที่พวกเราเคยเห็นในภาพยนตร์ยุค 70’s กำลังกลายเป็นจริงได้ในปี 2020

สมมติว่าในขณะที่ผมกำลังยืนพูดบนเวทีอยู่นี้ จู่ๆ หุ่นยนต์ C-3PO จากเรื่อง Star Wars ก็โผล่มาและขัดจังหวะผม ก่อนจะพูดว่า “ขอโทษครับ” แล้วเดินลงบันไดไปนั่งในหมู่ผู้ฟัง ถ้าคุณเป็นคนหมกมุ่นกับเทคโนโลยีเหมือนเช่นผม คุณคงสงสัยว่า อะไรที่จะทำอย่างไรให้หุ่นยนต์มีความสามารถในการคิดจนสามารถที่จะขัดจังหวะการบรรยายของผม พูดแทนตนเอง ขอโทษ และหาที่นั่งว่างเดินลงไปนั่งได้

เราจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้จริง คำตอบก็คงเป็นการใช้เงินหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ฉลาดเทียบเท่ากับเจ้าหุ่น C-3PO แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครลงทุนขนาดนั้นเพื่อสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมา

คำตอบจริงๆ อยู่ที่ ‘คลาวด์ (Cloud)’ คลาวด์คือคลังจัดเก็บข้อมูลและระบบประมวลผลขนาดใหญ่ ที่คุณสามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายโดยใช้โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของคุณ

ยังจำที่ผมพูดได้ไหมครับ ว่าในอีกสามปีข้างหน้า เราจะมีอุปกรณ์เครือข่ายที่เชื่อมต่อกันกว่า 45,000 ล้านชิ้น หนึ่งในอุปกรณ์เครือข่ายนั้นคือหุ่นยนต์ ดังนั้น หุ่นยนต์ในอนาคตอาจไม่ได้เป็นเหมือน C-3PO ในภาพยนตร์ที่มีฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ทรงพลังในตัวเอง แต่ความสามารถของมันจะมาจากการเป็นอุปกรณ์เครือข่ายที่เชื่อมต่อกับคลาวด์ ราคาของหุ่นยนต์ในอนาคตจึงอาจไม่ได้สูงอย่างที่หลายๆ คนคาดเอาไว้

ดังนั้น ในอนาคตหุ่นยนต์จะมีความนึกคิดและทำสิ่งต่างๆ ได้แบบ C-3PO ที่ผมเล่าได้ด้วยการส่งข้อมูลไปยังคลาวด์และได้รับข้อมูลประมวลผลกลับมาเป็นคำสั่งในเวลาเพียงเสี้ยววินาที สิ่งนี้หมายความว่าในอนาคตหุ่นยนต์จะกลายเป็นแรงงานที่สามารถ ‘คิด’ เอง และทำงานที่มีความซับซ้อน ไม่ใช่แค่งานที่ซ้ำๆ เหมือนเครื่องจักรในโรงงานได้

ดังนั้น ในบริบทของอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคตที่ A.I. มีศักยภาพมากขึ้นเรื่อยๆ คำถามที่เกิดขึ้นคือ เราต้องปรับตัวและเรียนรู้อะไรบ้างรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้?

ประการแรก คุณต้องเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต ถ้าคุณคิดว่าคุณสามารถหยุดเรียนรู้ได้หลังจากจบมหาวิทยาลัย เพราะว่าคุณรู้หลายอย่างเพียงพอแล้วสำหรับการที่จะใช้ชีวิตในอีก 30 หรือ 40 ปีข้างหน้าแล้วล่ะก็ คุณคิดผิดแล้ว โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น ไม่ได้แปลว่าคุณต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไปตลอดชีวิต แต่มันหมายความว่าคุณไม่สามารถหยุดเรียนรู้ได้

ประการที่สองคือ โค้ดคอมพิวเตอร์จะกลายเป็นภาษาแห่งโลกอนาคต ดังนั้นถ้าคุณมีลูก ผมแนะนำให้คุณเตรียมสอนให้ลูกเรียนรู้การใช้โค้ดคอมพิวเตอร์เอาไว้เลย เพราะมันกำลังมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางของระบบเศรษฐกิจและแรงงานในอนาคต อีกทั้งยังช่วยให้เราเข้าใจตรรกะของระบบอุปกรณ์เครือข่าย 45,000 ล้านชิ้นที่กำลังจะมีบทบาทสำคัญและเปลี่ยนโลกของเราในอนาคต

ประการที่สามคือ คุณจะต้องเป็นนักเรียนรู้แบบสหวิทยาการ ในโลกที่เทคโนโลยีมีศักยภาพมากขึ้นเรื่อยๆ มนุษย์จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะคอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์ไม่มีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ และไม่มีความสามารถในการสื่อสารที่ดีเลิศแบบมนุษย์

ด้วยปัจจัยที่ว่ามา ผมเชื่อผู้ที่จะเป็นผู้นำที่แท้จริงในอนาคตได้ จะต้องเข้าใจเทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถผสมผสานมันเข้ากับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์ เศรษฐกิจ การสื่อสาร ความฉลาดทางสังคม (Social Intelligence) ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) พฤติกรรมมนุษย์ และจิตวิทยาได้

ผู้ที่จะเป็นผู้นำและผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในอนาคตคือผู้ที่สามารถคิดวิธีการใช้เครื่องมือเหล่านี้อย่างสร้างสรรค์ได้ นอกจากนี้พวกเขาจะต้องเข้าใจการเมืองควบคู่กันด้วย เพื่อพิจารณาเรื่องความสำคัญของธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน การผสมผสานความรู้ความเข้าใจอันหลากหลาย คือกุญแจที่จะทำให้เราสร้างสรรค์นวัตกรรมในอนาคตได้

สุดท้ายนี้ สิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้ก็คือ ในโลกที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ที่จะอยู่รอด ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแกร่งหรือฉลาดที่สุด แต่คือคนที่สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด ขอบคุณครับ

 

 

 

ช่วงถาม-ตอบ

 

1. ภายใต้ระบบ ‘การเมืองแบบเลือกตั้ง (Electoral Politics)’ ซึ่งนักการเมืองต้องรับผิดชอบทั้งต่อประชาชนและผู้บริจาคให้การสนับสนุนทางการเงิน ในหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย ระบบนี้ทำให้นโยบายถูกบิดเบือนไปเพื่อตอบแทนให้ผู้บริจาคสนับสนุนเป็นหลัก แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเอง ฮิลลารี คลินตัน ได้เขียนยอมรับในหนังสือเรื่อง Hard Choices ของเธอว่า เธอรู้สึกหนักใจอย่างมากเมื่อประธานาธิบดีบารัค โอบามา ทาบทามให้เธอดำรงตำแหน่งรัฐมาตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เพราะมี ‘หนี้’ จำนวนมากจากการทำเคมเปญหาเสียงเลือกตั้งที่เธอต้องรับผิดชอบ

คำถามก็คือ ในอนาคตเราต้องทำอย่างไรเพื่อให้นักการเมืองสามารถทำเพื่อสาธารณะได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถเป็นตัวของตัวเอง หาเลี้ยงครอบครัว และหาเงินมาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ โดยไม่ต้องใช้เงินภาษีหรือทำการคอร์รัปชัน?

ในอดีตนักการเมืองต้องการการสนับสนุนจากมหาเศรษฐีที่สามารถจ่ายเงินสนับสนุนครั้งละมากๆ เพื่อทำแคมเปญเลือกตั้ง แต่สิ่งที่เราทำในแคมเปญการเลือกตั้งของบารัค โอบามา และ เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) ก็คือเราไม่ได้หาเงินสนับสนุนจากผู้สนับสนุนรายใหญ่ระดับเศรษฐีร้อยล้านพันล้านเท่านั้น แต่เราหาเงินสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปด้วย ถึงแม้พวกเขาจะไม่สามารถเขียนเช็คมูลค่าเป็นพันดอลลาร์ให้เราได้ แต่ถ้าแต่ละเขียนสนับสนุนคนละ 10 ดอลลาร์ รวมกัน 100 คน เราก็จะได้เงินเท่ากับที่ได้รับจากเศรษฐีได้

ดังนั้น ทางออกหนึ่งของปัญหานี้ คือการเพิ่มอำนาจทางการเมืองของพลังมวลชน (Crowds) ให้ทัดเทียมกับพลังของผู้มั่งมี มันอาจฟังดูเป็นเรื่องอุดมคติ แต่ผมหวังว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นจริงได้ อีกทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้ คือการแก้กฎหมาย แต่ติดปัญหาที่ผู้มีอำนาจในการแก้ปัญหาคือผู้ที่มาจากระบบที่มีการคอร์รัปชันแบบนี้เสียเอง นี่คือปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐ

สิ่งเดียวที่พอจะเป็นความหวังได้ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ก็คือ ประชาธิปไตยดิจิทัล (Digital Democracy) ที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจในการควบคุมเครือข่ายและมวลชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งนี้เราต้องตระหนักว่าไม่ว่าใครก็สามารถใช้เครื่องมือนี้เพื่อประโยชน์ของตนเองได้ ตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2008 และ 2012 ที่บารัค โอบามา ชนะการเลือกตั้ง และต่อมาโดนัล ทรัมป์ ก็สามารถชนะการเลือกตั้งในปี 2016 ได้ด้วยเครื่องมือนี้เช่นกัน

 

2. คุณเห็นด้วยหรือไม่กับ ‘เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด’? ในฐานะที่คุณเติบโตมาในรัฐที่มีอุตสาหกรรมถ่านหินเป็นหลัก และในขณะเดียวกันคุณก็ทำงานทางการเมืองเพื่อขจัดการใช้ถ่านหินด้วย

ผมคิดว่าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดนั้นไม่มีอยู่จริง มันเป็นเพียงนวัตกรรมทางการตลาดมากกว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่สะอาดต่อสิ่งแวดล้อมจริง คุณดูโลกเราตอนนี้สิ มีทั้งเฮอริเคน ไต้ฝุ่น อีกทั้งต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการใช้ถ่านหิน ดังนั้นผมไม่คิดว่า ‘เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด’ ที่ว่านี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงให้โลกเราดีขึ้นได้

 

3. เทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่อาจส่งผลกระทบต่อระบบแรงงานได้ เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างทันท่วงทีได้ตลอดเวลา และไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถปรับตัวเป็นผู้ประกอบการได้ คำถามก็คือ เมื่อเครื่องจักรเข้ามาทำงานแทนมนุษย์มากขึ้นผู้คนเหล่านี้จะอยู่รอดได้อย่างไร และคุณคิดอย่างไรกับการประกันรายได้ขั้นพื้นฐาน?

สิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่นี้เป็นพลวัตที่เกิดขึ้นอย่างเฉพาะตัวในแง่ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ เรากำลังสร้างความมั่งคั่งอันมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันมันกลับกระจุกตัวอยู่ในมือคนกลุ่มเล็กๆ เพียงบางกลุ่ม แม้จะมีแพล็ตฟอร์มใหม่ๆ ในปัจจุบัน ที่สร้างความสะดวกสบายและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบหลายๆ อย่างให้ดีขึ้น อย่างเช่น Uber หรือแพล็ตฟอร์มอื่นๆ ผลที่เกิดขึ้นคือการซ้ำเติม การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในมือบริษัทขนาดใหญ่ แทนที่จะกระจายตัวไปยังบริษัทเล็กๆ เหมือนแต่ก่อน

ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นตอนนี้ ไม่ว่ามันจะมีข้อดีหรือข้อเสีย ก็คือ การกระจุกตัวของอำนาจทางเศรษฐกิจ

อย่างที่ผมบอกไป ไม่ใช่คนแข็งแกร่งที่สุดหรือฉลาดที่สุดที่อยู่รอด แต่คนที่ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงต่างหากที่เป็นผู้อยู่รอดที่แท้จริง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ปรับตัวได้ มนุษย์เราไม่ได้อัปเกรดกันง่ายๆ เหมือนซอฟต์แวร์ ไม่ใช่แค่เสียบปลั๊กแล้วต่อไวไฟก็อัปเดทปรับตัวได้

สิ่งที่สำคัญและจำเป็นในอนาคต คือการจัดสรรและกระจายการสะสมทรัพยากรอย่างเท่าเทียม การประกันรายได้ขั้นพื้นฐานอาจเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการเปลี่ยน ‘สัญญาประชาคม’ เสียใหม่ ปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ องค์กรธุรกิจ และแรงงาน ให้เข้ากับบริบทโลกที่เปลี่ยนไป และผมคิดว่าตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะปรับสัญญาประชาคมใหม่อีกครั้งหนึ่ง

 

4. คุณคิดว่าอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จะไปด้วยกันกับโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนได้หรือไม่?

แน่นอนครับ เรากำลังสร้างอุตสาหกรรมเครือข่ายอินเทอร์เน็ตขึ้นมา ภาคอุตสาหกรรมต่อไปที่จะถูกพลิกโฉมคืออุตสาหกรรมอย่างเช่น คมนาคม เกษตร และเหมืองแร่ ยกตัวอย่าง การทำเกษตรแม่นยำ (precision agriculture) ซึ่งเป็นการนำการวิเคราะห์ข้อมูลมาผนวกเข้ากับการทำการเกษตร ทำให้สามารถลดการสร้างผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมหาศาล

ตัวอย่างเช่น การใช้ ‘Pasture Meter’ ในฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ของนิวซีแลนด์ ที่เลี้ยงวัวเป็นพันตัว เมื่อก่อนพวกเข้าใช้วิธีฉีดน้ำและยาฆ่าแมลงไปบนหญ้าที่ใช้เลี้ยงวัวไปทั่วบริเวณ แต่เมื่อมีเทคโนโลยี Pasture Meter ซึ่งใช้เลเซอร์และ GPS วัดพื้นที่ได้อย่างละเอียด แทนที่พวกเขาจะฉีดน้ำและปุ๋ยไปทั่วเช่นแต่ก่อน เกษตรกรสามารถรู้ได้ว่าต้องให้น้ำและใส่ปุ๋ยแต่ละพื้นที่เท่าไหร่ ใช้สูตรบำรุงอะไรในแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะ ทำให้พวกเขาสามารถลดการใช้น้ำและปุ๋ยไปได้ถึงร้อยละ 70 แต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น หรืออย่างเช่น ตึกที่เราอยู่อาศัยซึ่งมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศกว่าร้อยละ 20 ถ้าเราสามารถใช้ข้อมูลเพื่อปรับอุณหภูมิลงได้ในบางช่วงเวลา ลดการใช้ฮีทเตอร์หรือเครื่องปรับอากาศลงแบบเฉพาะเจาะจงในแต่ละห้อง เราก็จะสามารถลดการใช้พลังงานลดได้อย่างมหาศาล

 

5. ในสังคม ‘ปิด’ ผู้คนจะสามารถประสบความสำเร็จได้หรือไม่?

ไม่มีทางครับ แนวคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบคู่ตรงข้ามของศตวรรษที่ 20 คือการแบ่งเป็น ‘ซ้าย’ และ ‘ขวา’ ในอนาคตผมคิดว่ามันจะถูกแทนที่ด้วยขั้ว ‘เปิด’ และ ‘ปิด’

‘เปิด’ หมายถึงการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ให้โอกาสแก่ทุกคนไม่เฉพาะชนชั้นสูงหรือชนชั้นผู้นำ และหมายถึงการเปิดกว้างทางวัฒนธรรมและศาสนา ที่ไม่ได้ถูกตีกรอบโดยผู้มีอำนาจ แต่มีความเป็นพหุนิยม เคารพความแตกต่างทางศาสนา ความแตกต่างทางเพศ และเคารพผู้หญิง

ผมเดินทางไปทั่วโลกและพบว่า นวัตกรรมจะเกิดมากขึ้นในสังคมที่ ‘เปิด’ แต่ถ้าสังคมยิ่งปิด เช่น สังคมที่ถูกควบคุมโดยรัฐส่วนกลางทั้งในด้านพฤติกรรม เศรษฐกิจ และการแสดงความคิดเห็น มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีนวัตกรรมเกิดขึ้นจากสังคมเหล่านี้

ยิ่งสังคม ‘เปิด’ มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่สังคมจะมีความคิดสร้างสรรค์ ผู้คนมีความเป็นผู้ประกอบการสูง และเกิดจินตนาการและนวัตกรรมที่จะสร้างอนาคตด้วยตัวเองได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020