fbpx

โมงยาม ความรัก ความตาย ของตัวละครเควียร์ ในนวนิยาย The Hours (ห้วงเวลาแห่งชีวิต)

แม้นวนิยาย The Hours (1998) ของ ไมเคิล คันนิงแฮม (Michael Cunningham) นั้นได้รับการตีพิมพ์มาหลายสิบปีแล้ว แต่ในช่วงเวลาที่นวนิยายเล่มนี้ตีพิมพ์คือจุดสิ้นสุดของคริสต์ศตวรรษที่ 20 และโลกกำลังก้าวเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ประชาคมโลกให้ความสนใจกับการเปลี่ยนผ่านของเวลาในช่วงร้อยปีที่ผ่านมาด้วยการทบทวนเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์กันมากมาย ในนวนิยาย The Hours ได้บันทึกช่วงเวลาที่ผ่านมาของศตวรรษที่แล้วเอาไว้เช่นกัน ทว่า เรื่องราวที่คันนิงแฮมบันทึกไม่ใช่เหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก หากเป็นเพียงเหตุการณ์ในหนึ่งวันของผู้หญิงสามคนที่ดำเนินไปพร้อมกันในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน คันนิงแฮมใช้เหตุการณ์ที่แสนจะธรรมดาในชีวิตประจำวันของผู้หญิงเพื่อนำเสนอการเปลี่ยนแปลงสำนึกต่อสิทธิของเพศหญิงและเพศทางเลือก เช่น เกย์ เลสเบี้ยน และไบเซ็กช่วล

นวนิยายใช้ตัวละครหลักเป็นผู้หญิงสามคน ในบริบทแวดล้อมของประวัติศาสตร์แต่ละช่วงเวลาให้ดำเนินพร้อมกันภายในหนึ่งวัน ประกอบไปด้วยเหตุการณ์ชีวิตของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf) นักเขียนหญิงชาวอังกฤษในปี 1923 ที่กำลังครุ่นคิดถึงการเขียนนวนิยายเล่มใหม่ชื่อ Mrs. Dalloway เหตุการณ์ที่สองคือเรื่องเล่าของ มิสซิสบราวน์ (Laura Brown) แม่บ้านชาวอเมริกันในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองใน ค.ศ. 1949 เธอแสร้งมีความสุขกับชีวิตแต่งงานและทำตามแบบภรรยาและแม่ในอุดมคติของสังคมอเมริกัน (American Dream) และเหตุการณ์ที่สามเกิดขึ้นในเวลาปัจจุบันที่นวนิยายเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นคือ ค.ศ. 1999 เล่าเรื่องของ คลาริสสา (Clarissa Vaughan) ที่กำลังเตรียมจัดงานเลี้ยงให้กับคนรักเก่าที่เป็นเกย์และติดเชื้อ HIV เนื่องในโอกาสที่บทกวีของเขาได้รับรางวัล

คันนิงแฮมนำโครงสร้างการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในหนึ่งวันนี้มาจากชื่อเดิมที่เวอร์จิเนีย วูล์ฟตั้งใจจะใช้ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Mrs. Dalloway โดยแบ่งบทตามชื่อของตัวละครทั้งสามสลับกัน คือ มิสซิสวูล์ฟ มิสซิสบราวน์ ส่วนคลาริสสา คันนิงแฮมให้ชื่อบทว่ามิสซิสดัลโลเวย์ เนื่องจากคันนิงแฮมต้องการให้คลาริสสาเป็นเสมือนมิสซิสดัลโลเวย์ในยุคสมัยใหม่ซึ่งมีสิทธิ์ใช้ชีวิตโดยไม่แต่งงานและเลือกเพศของตนได้ด้วยการอยู่กับคู่รักที่เป็นเลสเบี้ยน ต่างจากมิสซิสดัลเวย์ในยุคเก่าของเวอร์จิเนีย วูลฟ์ที่ไม่อาจออกจากกรอบของสังคมในเรื่องการแต่งงานและชีวิตครอบครัวในแบบเก่าได้

นวนิยาย The Hours โดดเด่นในด้านการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยเวลาทั้งสามยุคสามสมัยเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นเวลาที่สัมพันธ์กับมิติทางเพศด้วย กล่าวคือ แม้ว่านวนิยายจะกำหนดให้เรื่องดำเนินไปในหนึ่งวันตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำของผู้หญิงแต่ละคน แต่ในระหว่างวันเหตุการณ์ในชีวิตของแต่ละคนจะถูกปะปนกับเหตุการณ์ในอดีต บางครั้งคันนิงแฮมก็นำเหตุการณ์ในนวนิยาย Mrs. Dalloway เข้ามาใส่ระหว่างบรรทัดในการเล่าเรื่อง เวลาในมิติของผู้หญิงทั้งสามคนนี้รวมทั้งของตัวละครประกอบอื่นจึงเป็นเวลาที่เหลื่อมซ้อนและทับถมกันอยู่ในห้วงกระแสของความคิด ในแง่นนี้ ทำให้เวลาที่ดำเนินในเรื่องไม่ใช่เวลาที่เริ่มจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคตตามเส้นเวลาในแบบประวัติศาสตร์ (Historical Time) หากมองเวลาที่สัมพันธ์กับมิติทางเพศ จะทำให้เห็นว่าเวลาที่ดำเนินไปตามลำดับเป็นเส้นตรงนั้นผูกโยงกับเวลาแบบรักต่างเพศ (Heterosexual time) ขณะที่การดำเนินเรื่องใน The Hours การลำดับเวลาจะถูกสลับสับเปลี่ยนและมีลักษณะย้อนทวนไปข้างหลัง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเวลาแบบเควียร์[1] (Queer time)  (Halberstam, 2005, p.2)

มิติของเวลาจึงเกี่ยวเนื่องกับมิติทางเพศ เนื่องจากเวลาส่งผลต่อการให้ความหมายของการมีชีวิตและความตายของตัวละครเควียร์ ซึ่งมีทัศนคติต่อชีวิตและความตายในลักษณะอยู่กับปัจจุบันหรือหยุดอยู่กับที่โดยไม่ได้คิดว่าการเกิดคือจุดเริ่มต้นและความตายคือจุดสิ้นสุด ตัวละครเควียร์ในเรื่องมองว่าชีวิตและความตายมีความหมายเท่ากันหรือบางครั้งอาจคิดว่าความตายคือจุดเริ่มต้นเสียด้วย เนื่องจากความตายอาจหมายถึงการได้รับอิสรภาพมากกว่าถูกพันธนาการอยู่ในห้วงเวลาแห่งความทุกข์ในชีวิตปัจจุบัน ดังเช่นชีวิตของ ริชาร์ด คนรักเก่าของคลาริสสา เขาเป็นเกย์และทนทุกข์อยู่กับโรคเอดส์ อีกทั้งยังจมกับอยู่อดีตอันเจ็บปวดที่ถูกแม่ทอดทิ้งในวัยเด็กจนครอบครัวแตกสลาย ตลอดจนถูกตอกย้ำบาดแผลจากการสูญเสียความรักในวัยหนุ่ม ไม่ว่าจะเป็นความรักกับคลาริสสาหรือความรักกับชายคนอื่น ริชาร์ดจึงเลือกฆ่าตัวตาย ซึ่งเขาก็เป็นตัวละครที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จ เฉกเช่นเดียวกับมิสซิสวูล์ฟที่ทนทุกข์อยู่กับอาการทางประสาท (bipolar) แม้ว่า ลีโอนาร์ด สามีของเธอจะดูแลเธออย่างดี แต่ลีโอนาร์ดก็ยังเป็นผู้ชายที่ไม่อาจเข้าใจความเป็นผู้หญิงที่ลึกซึ้งและซับซ้อนเช่นเธอได้ มิสซิสวูล์ฟจึงเลือกที่จะฆ่าตัวตายเช่นกัน ประเด็นเรื่องความตายจึงมีความสำคัญและถูกตั้งคำถามทั้งในแง่ของสิทธิที่จะตายในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง มนุษย์ซึ่งเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองโดยไม่ติดอยู่ในกรอบสังคมที่มองว่าความตายเป็นจุดสิ้นสุดของเวลา ตัวละครเควียร์พยายามต่อสู้และคัดง้างกับระบบของเวลาที่เดินไปข้างหน้าตามขนบ ด้วยการนำเสนอเรื่องความตาย เนื่องจากความตายตามขนบของระบบทุนนิยม คือการไม่ก่อให้เกิดผลผลิต หากมองจากกรอบคิดทางศาสนาอาจเห็นว่า ความตายคือความผิดบาปอย่างร้ายแรง ดังนั้น ความตาย (หรือเลือกที่จะตาย) ของเควียร์จึงกลายเป็นเครื่องมือในการใช้รับมือกรอบคิดทางสังคมตามขนบดังกล่าว นอกจากนั้นยังนำไปสู่การเผยให้เห็นมิติของความเป็นธรรมในสิทธิที่จะตายอีกเช่นกัน

โมงยามของชีวิต: ชีวิตประจำวันของผู้หญิงกับบริบททางประวัติศาสตร์

บทแรกของนวนิยายคือการเริ่มต้นที่จุดจบของมิสซิสวูล์ฟ ซึ่งกำลังเดินออกจากบ้านมุ่งตรงไปยังแม่น้ำเพื่อฆ่าตัวตาย ระหว่างทางจากบ้านไปสู่แม่น้ำ ผู้ประพันธ์ได้ใช้กลวิธีการประพันธ์แบบกระแสสำนึก (stream of consciousness) เพื่อนำเสนอให้เห็นห้วงคิดของวูล์ฟในขณะที่ครุ่นคิดถึงความตาย โดยนำเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในปี 1941 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่สองกำลังเริ่มต้น เข้ามาปะปนอยู่ในห้วงกระแส ดังที่บรรยายว่า

พวกเขาอยู่ที่นี่ ในวันหนึ่งก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง…เด็กชายกับมารดาบนสะพาน กิ่งไม้ที่กำลังลอยอยู่เหนือผิวน้ำ และร่างของเวอร์จิเนียที่ท้องน้ำเบื้องล่าง ราวกับเธอกำลังฝันถึงผิวน้ำ กิ่งไม้ เด็กชายกับมารดา ท้องฟ้าและฝูงนกกา รถบรรทุกสีเขียวมะกอกหม่นๆ แล่นข้ามสะพาน บรรทุกทหารในเครื่องแบบ ซึ่งโบกมือให้เด็กชายที่เพิ่งโยนกิ่งไม้ เด็กน้อยโบกมือตอบ เขาร้องขอให้มารดาอุ้มเขาขึ้นเพื่อจะได้เห็นทหารได้ถนัด และทหารก็จะได้เห็นเขาชัดขึ้น ทั้งหมดนี้เข้าไปในสะพาน ดังกึกก้องผ่านเนื้อไม้และแผ่นหิน และเข้าไปในร่างของเวอร์จิเนีย ใบหน้าด้านข้างของเธอถูกกดทับกับตอม่อสะพาน ซึมซับมันทั้งหมด…รถบรรทุกกับเหล่าทหาร แม่กับลูก  (คันนิงแฮม, 2546, น.10)

จากย่อหน้าดังกล่าวจะเห็นว่า นอกจากคันนิงแฮมจะนำเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองมาเป็นตัวบ่งบอกถึงยุคสมัยของเรื่องแล้ว เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองยังเป็นเสมือนเส้นแบ่งทางเวลาระหว่างโลกสมัยเก่ากับโลกสมัยใหม่ผ่านสัญลักษณ์ของ ‘สะพาน’ ที่ข้ามผ่านเหนือร่างของวูล์ฟ เหตุการณ์ที่อยู่บนสะพานได้ ‘ซึมซับ’ เข้าไปในตัวของวูล์ฟทั้งหมด เสมือนว่าร่างของเธอเป็นส่วนหนึ่งของสะพาน ในความหมายว่า ความตายของวูล์ฟคือการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ยุคสมัยในที่นี้ยังสัมพันธ์กับบริบทของสังคมและภูมิหลังของวูล์ฟด้วย วูล์ฟเกิดและเติบโตในยุคสมัยวิกตอเรียนอันเป็นยุคที่สังคมเคร่งครัดเรื่องความถูกต้องทางศีลธรรมและเข้มงวดในเรื่องเพศ การแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกต่อความรักในเพศเดียวกันยังไม่สามารถกระทำได้โดยเปิดเผย ค่านิยมของชีวิตคู่หลังแต่งงานยังเป็นไปตามบทบาทของรักต่างเพศที่มีเพศชายเป็นผู้กำหนด ดังจะเห็นได้ว่า ลีโอนาร์ด สามีของวูล์ฟพยายามดูแลเธอในฐานะผู้นำ ครอบครัว และในฐานะสามีที่พึงกระทำต่อภรรยา เขาดูแลรักษาอาการของวูล์ฟอย่างใกล้ชิด ควบคุมเธอในเรื่องการกินและการนอน ลีโอนาร์ดพาวูล์ฟไปอยู่ที่ริชมอนด์ ซึ่งอยู่ชานเมืองของกรุงลอนดอน เนื่องจากเขาเชื่อว่าบรรยากาศของชนบทจะช่วยเยียวยาอาการทางประสาทของวูล์ฟได้ วูล์ฟเองก็ไม่อาจขัดขืนสามี เนื่องจากบทบาทของสามีมีอำนาจบางอย่างที่เธอไม่อาจต่อต้าน ดังที่ตัวบทบรรยายสีหน้าของลีโอนาร์ดผ่านมุมมองของวูล์ฟว่า “มันเป็นสีหน้าที่เธอทั้งไว้ใจและหวาดเกรง ดวงตาของเขาเป็นประกายวาววับและลึกลับอย่างไม่อาจเข้าใจได้ภายใต้ขนคิ้วดกหนา มุมปากโค้งลงบ่งบอกถึงการตัดสินใจที่จริงจัง แต่ไม่ใช่ใบหน้าที่แสดงความเจ้าแง่แสนงอนหรือไม่เป็นสาระ…เป็นใบหน้าถมึงถึงของพระผู้เป็นเจ้า” (คันนิงแฮม, 2546, น.33)

วูลฟ์เปรียบอำนาจของสามีเสมือนหนึ่งพระผู้เป็นเจ้าผู้ชี้วัดความถูกผิดทั้งในชีวิตและในงานเขียนของเธอ เนื่องจากลีโอนาร์ดตั้งสำนักพิมพ์โฮการ์ธ (Hogarth Press) ขึ้นมาในบ้านเพื่อพิมพ์งานของวูล์ฟโดยเฉพาะ และลีโอนาร์ดเป็นบรรณาธิการเอง วูล์ฟจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของสามีโดยแทบจะเบ็ดเสร็จ ทำให้วูล์ฟจำเป็นต้อง “เสแสร้ง ไม่ตรงไปตรงมา เพื่อผลประโยชน์ของสามีกับคนรับใช้” (คันนิงแฮม, 2546, น.86) อย่างไรก็ดี วูล์ฟหาทางออกจากอำนาจชายเป็นใหญ่นี้ด้วยการเขียน การเขียนกลายเป็นช่องทางในการแสดงความขัดขืนต่ออำนาจของผู้ชายโดยใช้พื้นที่บนหน้ากระดาษในการทดลองวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างออกไปจากยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะกระแสสัจนิยมอันเคร่งครัดต่อหลักเหตุผลและตรรกะแบบวิทยาศาสตร์กำลังเป็นที่แพร่หลาย วูล์ฟจึงผลิกผันด้วยการสร้างแนวการเขียนใหม่ที่เรียกว่า ‘กระแสสำนึก’ ขึ้นมา คันนิงแฮมจับประเด็นดังกล่าวนี้ได้จึงหยิบยืมแนวการเขียนกระแสสำนึกมาใช้ในการเล่าเรื่องในนวนิยาย The Hours เพื่อสะท้อนถึงโลกของเพศหญิง รวมทั้งเควียร์ ซึ่งไม่ตกอยู่ภายใต้ตรรกะทางภาษาของเพศชาย การเขียนแบบกระแสสำนึกได้ทำลายเส้นแบ่งของลำดับเวลาที่เป็นเส้นตรงให้กลายเป็นเวลาที่แทรกซ้อนกันอยู่ในห้วงของกระแสนึกคิดของตัวละคร การสรรหาวิธีการเขียนเพื่อรองรับเพศสภาพของตนเองนี้ สอดคล้องกับความคิดของ เอเลเน ซิซู (Hélène Cixous) นักสตรีนิยมสายจิตวิเคราะห์ซึ่งเรียกร้องให้ผู้หญิงเขียนอย่างผู้หญิง ด้วยภาษาของผู้หญิงว่า

การเขียนแบบหญิงที่เธอเสนอคือ มีลักษณะแบบจดบันทึก เขียนเป็นลักษณะร่างง่ายๆ ไม่ปะติดปะต่อ ไม่ติดในรูปแบบกฎเกณฑ์ ในขณะที่การเขียนในรูปแบบของผู้ชายคือ การเขียนที่เป็นการสะสมภูมิปัญญาของมนุษยชาติ ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกประทับตราการยอมรับอย่างเป็นทางการ จึงทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ส่วนการเขียนแบบหญิงไม่เพียงแต่จะเป็นรูปแบบการเขียนใหม่เท่านั้น แต่เป็นความเป็นไปได้อย่างมากของความเปลี่ยนแปลง เป็นพื้นที่ว่างที่สามารถใช้เป็นจุดเริ่มในการโค่นล้มความคิด [ที่ดำรงอยู่] เป็นการเคลื่อนไหวขั้นต้นของการแปรเปลี่ยนมาตรฐานของสังคมและวัฒนธรรม (อ้างใน วารุณี ภูริสินสิทธิ์, 2545, น.162)

ในแง่หนึ่งวูล์ฟจึงใช้การเขียนแบบกระแสสำนึกเพื่อต่อต้านกรอบความคิดทางการเขียนในแบบของผู้ชายที่ “แสดงความยินดีกับตัวเองที่เขียนหนังสือได้อย่างแท้จริงและเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของชาติบ้านเมือง พวกเขาอาจมองว่าสงครามกับการค้นหาพระเจ้าเป็นหัวข้อเดียวของวรรณคดีที่ยิ่งใหญ่” (คันนิงแฮม, 2546, น.86) ในนวนิยาย Mrs. Dalloway วูล์ฟจึงนำเสนอภาพชีวิตประจำวันอันแสนจะธรรมดาของผู้หญิงคนหนึ่งที่เริ่มต้นด้วยการออกไปซื้อดอกไม้ด้วยตัวเธอเองเพื่อกลับมาจัดงานเลี้ยงที่บ้าน และในตอนจบก็ฆ่าตัวตาย “เพราะอะไรบางอย่างที่ดูผิวเผินเหมือนเป็นเรื่องเล็กมาก ๆ […] เคล็ดลับอยู่ตรงที่จะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ของคลาริสสา แต่ต้องแสดงความร้ายแรงอย่างแท้จริง ต้องทำให้ผู้อ่านเชื่อเต็มร้อยว่า สำหรับเธอ ความปราชัยในบ้านเป็นความหายนะพอๆ กับการพ่ายแพ้ต่อแม่ทัพคนหนึ่งเลยทีเดียว” (คันนิงแฮม, 2546, น.87) ความปรารถนาของวูล์ฟดังกล่าวได้ย้อนกลับไปเชื่อมโยงถึงเหตุการณ์บนสะพาน ภาพทหารที่กำลังโบกมือให้กับเด็กเป็นเสมือนการส่งต่อเนื้อหาในทางวรรณกรรมจากเหตุการณ์ทางสงครามมาสู่การบอกเรื่องราวชีวิตประจำวันของผู้หญิงในฐานะภรรยาและแม่ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการออกไปรบของทหาร

อย่างไรก็ตาม แม้วูล์ฟจะสามารถแสดงบทบาทของผู้หญิงในการเขียนได้อย่างเต็มที่จนงานเขียนของเธอล้ำหน้าไปสู่ยุคสมัยใหม่แล้วก็ตาม แต่ในชีวิตจริงเธอก็ยังถูกขังอยู่ในขนบเก่าของวิกตอเรียนที่ไม่สามารถก้าวออกจากบ้านโดยไม่กังวลต่อความรู้สึกของสามีได้ หรือแม้กระทั่งแสดงความรู้สึกรักในเพศเดียวกันได้อย่างเปิดเผย[2] วูล์ฟจึงเสมือน ‘สะพาน’ ที่อยู่ระหว่างสองโลกในเวลาเดียวกัน คือโลกที่ติดอยู่ในกรอบกรงของปิตาธิปไตยและโลกของการเขียนของสตรีที่มีอิสรเสรี ดังที่วูล์ฟเปรียบตัวเองเมื่อไปยังสถานีรถไฟเพื่อจะหนีจากเมืองริชมอนด์ราวกับว่า “กำลังยืนคร่อมเส้นที่มองไม่เห็น เท้าข้างหนึ่งเหยียบด้านนี้และอีกข้างเหยียบด้านนั้น ด้านนี้คือลีโอนาร์ดที่เป็นกังวลและเครียดขรึม […] อีกด้านหนึ่งคือลอนดอน และลอนดอนหมายถึงอิสรภาพ” (คันนิงแฮม, 2546, น.176) อย่างไรก็ตาม คันนิงแฮมได้นำความปรารถนาอันไม่อาจเป็นจริงได้ของวูล์ฟที่ต้องการจะหนีออกจากบ้านภายใต้การปกครองของสามีเพื่อไปดำเนินชีวิตอย่างที่เธอต้องการ ด้วยการนำมาเล่าผ่านชีวิตของมิสซิสบราวน์ อีกทั้งเขียนให้เธอมีความปรารถนาที่จะรักผู้หญิงด้วยกันอย่างที่เธอเคยรู้สึกเมื่อครั้งเป็นสาว ด้วยการเล่าผ่านชีวิตของคลาริสสาหรือมิซสิซดัลโลเวย์ในยุคปัจจุบัน  

ตัวบทนำเสนอเรื่องราวของมิสซิสบราวน์ในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน เธออาศัยอยู่ในลอสแอนเจลิส ค.ศ. 1949 เป็นช่วงที่อเมริกากำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทในประชาคมโลกแทนประเทศในยุโรปอย่างอังกฤษ ชาวอเมริกันจึงใฝ่ฝันถึงการสร้างชาติและสร้างคนเพื่อหลอมรวมกันเข้าเป็นหนึ่งเดียว ทิศทางของสังคมจึงเป็นไปเพื่อการผลิต การบริโภค และการมองไปข้างหน้าสู่อนาคต อุดมการณ์เหล่านี้ได้ถูกปลูกฝังผ่านสถาบันครอบครัวด้วยภาพแห่งความอบอุ่นระหว่างพ่อ แม่ และลูก โดยแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ของสามีให้ออกนอกบ้านไปทำงานหาเงิน ฝ่ายภรรยาเป็นแม่บ้านและเลี้ยงลูก ดังที่บรรยายความรู้สึกของมิสซิสบราวน์ ซึ่งอัดอั้นต่อภาพอุดมคติเช่นนี้ โดยกล่าวด้วยนัยประชดประชันต่อหน้าที่ของภรรยาว่าเป็น “ผู้ซึ่งยอมปฏิบัติภารกิจง่ายๆ และงี่เง่าโดยพื้นฐาน ตรวจสอบมะเขือเทศ นั่งใต้เครื่องเป่าผม เพราะมันคือศิลปะและเป็นหน้าที่ของเธอ เนื่องจากสงครามยุติแล้ว โลกรอดตายแล้ว และพวกเราอยู่ที่นี่…เราทุกคน…สร้างครอบครัว มีลูก และเลี้ยงลูก” (คันนิงแฮม, 2546, น.44) มิสซิสบราวน์พยายามฝืนทนรับบทบาทหน้าที่ของภรรยาตามอุดมคติของสังคมซึ่งขัดแย้งกับความรู้สึกที่แท้จริงของเธอ เมื่อมิสซิสบราวน์อยู่กับลูกตามลำพังเธอแสดงความรู้สึกเสมือนว่าไร้ทิศทาง “เธอมักจะจำไม่ได้ว่าคนที่เป็นแม่ควรจะทำอย่างไร” (คันนิงแฮม, 2546, น.50) การที่มิสซิสบราวน์ยังคงพยายามเล่นบทบาทของภรรยาที่จัดโต๊ะอาหารและเป็นแม่คนเก่งที่อ่านนิทานให้ลูกฟังก็เพราะ “เธออยากเป็นที่รัก”  (คันนิงแฮม, 2546, น.103) มากกว่าจะเป็น “ผู้หญิงที่แปลกประหลาด โดดเดี่ยว ไม่พูดจา อดทน แต่ไม่เป็นที่รัก” (คันนิงแฮม, 2546, น.103) มิสซิสบราวน์จึงตกอยู่ในตำแหน่งที่คร่อมระหว่างสองเส้นที่มองไม่เห็นเหมือนเช่นมิสซิสวูล์ฟ เธอไม่รู้แน่ชัดว่าสิ่งที่เธอกำลังทำไปในชีวิตประจำวันนี้ทำไปเพื่ออะไรและมีความสุขมากน้อยแค่ไหน มิสซิสบราวน์เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เธอแต่งงานกับเขาทำไม เธอแต่งงานกับเขาด้วยความรัก เธอแต่งงานกับเขาด้วยความละอายแก่ใจ ด้วยความกลัวว่าจะต้องอยู่คนเดียว ด้วยความรักชาติ” (คันนิงแฮม, 2546, น.108) จากประโยคดังกล่าวจะเห็นว่าอุดมคติของสังคมอเมริกันกับความเป็นครอบครัวเข้ามาปะปนอยู่ในทัศนคติของมิสซิสบราวน์อย่างแนบสนิท  

อย่างไรก็ดี วันหนึ่งเธอเริ่มที่จะไม่อดทนต่อภาระหน้าที่ของความเป็นภรรยาและแม่ เมื่อวันที่เพื่อนบ้านชื่อคิตตี้มาหาเพื่อฝากให้มิสซิสบราวน์ดูแลหมาของเธอระหว่างเธอเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากค้นพบเนื้องอกในมดลูกและไม่อาจมีลูกได้ คิตตี้หวาดวิตกและทุกข์เศร้าอย่างรุนแรง ผู้หญิงที่เป็นเมียแต่ไม่สามารถเป็นแม่ได้เป็นความผิดบาปอย่างร้ายแรง หากมองในกรอบของสังคมอเมริกัน คิตตี้คือผู้หญิงที่ไม่สามารถสร้างผลผลิตได้และทำให้ภาพของครอบครัวไม่อาจครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ทว่า ความเจ็บป่วยของคิตตี้กลับทำให้มิสซิสบราวน์ได้ฉุกคิดถึงบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงขึ้นมา เธอมองภาพเห็นความเป็นผู้หญิงในอีกรูปแบบหนึ่งในตัวคิตตี้เมื่อได้โอบกอดกัน ดังที่บรรยายว่า

ในอ้อมกอดของเธอ ความหวาดกลัวและความกล้าหาญของคิตตี้ ความเจ็บป่วยของคิตตี้ นี่คือทรวงอกของคิตตี้ นี่คือหัวใจที่เข้มแข็งและคล่องแคล่วที่เต้นอยู่ภายใน นี่คือแสงสว่างเรืองรองของตัวตนของเธอ…แสงสีชมพูเข้ม แสงสีทองอมแดง เป็นประกายระยิบระยับ ไม่มั่นคง แสงที่รวมตัวกันแล้วกระจายออกไป นี่คือความล้ำลึกของคิตตี้ หัวใจที่อยู่ใต้หัวใจ แก่นกลางที่ไม่อาจสัมผัสได้ ซึ่งผู้ชาย (โดยเฉพาะเรย์!) ใฝ่ฝันถึง (คันนิงแฮม, 2546, น.112)

การสัมผัสกันทางกายเป็นช่องทางหรือพื้นที่ซึ่งทำให้ผู้หญิงใกล้ชิดกันอย่างลึกซึ้ง ตัวบทจึงถูกนำเสนอด้วยภาษาที่เป็นนามธรรม สร้างภาพลักษณ์เป็นแสงและสีที่กระจายตัวออกมารอบตัวของคิตตี้แทนการบรรยายด้วยเหตุผลที่เป็นรูปธรรม เพราะความรู้สึกของมิสซิสบราวน์และคิตตี้เป็นสิ่งที่เข้าใจกันระหว่างผู้หญิงสองคน พวกเธอมีความสุขและความทุกข์ในรูปแบบที่ผู้ชายไม่อาจเข้าใจ (หรือไม่ก็ไม่อยากให้ผู้ชายเข้าใจ) เนื่องจากเป็น “ความลับร่วมกัน ดิ้นรนต่อสู้อยู่ทุกขณะ พวกเธอต่างแสดงเป็นใครบางคน พวกเธอเหนื่อยล้าและเต็มไปด้วยความลำบาก พวกเธอรับงานที่ยิ่งใหญ่ (คันนิงแฮม, 2546, น.112) บทบาทหน้าที่ของภรรยาและแม่ที่ดีของลูกตามอุดมคติสังคมอเมริกันเป็นภาระงานอันหนักที่ผู้หญิงทั้งสองคนนี้ต้องแบกรับเอาไว้ มิสซิสบราวน์แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อคิตตี้ด้วยการ “สัมผัสริมผีปากซึ่งกันและกัน” (คันนิงแฮม, 2546, น.113) การจุมพิตไม่ต่างกับการกอด เนื่องจากเป็นการใช้เรือนร่างของผู้หญิงให้อิงอาศัยกัน นอกจากนั้น อนุภาคของการจูบยังแสดงให้เห็นในความสัมพันธ์ของตัวละครอื่นอีก เช่น การจูบระหว่างมิสซิสวูล์ฟกับวาเนสสาพี่สาวของเธอ การจูบของคลาริสสากับชายคนรักที่เป็นเกย์ การจูบของตัวละครเหล่านี้แสดงถึงความเชื่อมร้อยถึงกัน เป็นความรู้สึกอันบริสุทธิ์ที่พึงมีให้แก่กัน ดังที่ตัวบทบรรยายความรู้สึกของมิสซิสวูล์ฟถึงการจูบว่า “มันเต็มไปด้วยความรักที่ซับซ้อนและหิวกระหาย เก่าแก่ ไม่ใช่แบบนี้และแบบนั้น มันจะเป็นเหมือนการเปิดเผยของบ่ายนี้เกี่ยวกับความลับของตัวมันเองให้เห็นอย่างแจ่มชัด แสงสว่างที่ยากจะอธิบายที่ฉายมาจากขอบของความฝัน” (คันนิงแฮม, 2546, น.214)

นับจากวันที่มิสซิสบราวน์ได้จูบคิตตี้ทัศนคติต่อความรักและความเป็นผู้หญิงในฐานะของภรรยาและแม่ก็ได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มิสซิสบราวน์สับสนต่อความรู้สึกราวกับถูกปลุกเร้าความรู้สึกพึงพาเพศเดียวกันขึ้นมา ทว่าขณะเดียวกันความรู้สึกเช่นนี้กลับ “หลอกหลอนเธอด้วยความโหดร้ายและความอับอาย” (คันนิงแฮม, 2546, น.146) ทำให้มิสซิสบราวน์มีความคิดที่จะหนีออกไปจากความรู้สึกเช่นนี้ เธอครุ่นคิดถึงความตายผ่านนวนิยาย Mrs. Dalloway ซึ่งมองว่ามันเป็นความตายที่ง่ายดาย “มันอาจให้ความรู้สึกสบายใจอย่างลึกซึ้งก็ได้ เธอคิด มันอาจให้ความรู้สึกเป็นอิสระจริงๆ ที่จะจากไป” ทว่า เธอก็ยับยั้งความคิดนั้นไว้เพราะเธอรักชีวิต “รักมันอย่างหมดทางแก้ไข” (คันนิงแฮม, 2546, น.155) มิสซิสบราวน์มองเห็นว่าชีวิตยังมีทางเลือก หากพิจารณาทางเลือกนั้นด้วยการเผชิญหน้า โดยไม่ฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ดี การเลือกที่จะมีชีวิตต่อไปกลับทำให้ความบกพร่องในการเป็นภรรยาและแม่และความรู้สึกรักเพศเดียวกันยังคอยหลอกหลอนมิสซิสบราวน์ราวกับผี ดังที่ “เมื่อเธอมองกระจกที่ตู้ยา เธอนึกภาพขึ้นมาแวบหนึ่งว่า มีใครบางคนกำลังยืนอยู่ข้างหลังเธอ แน่นอนว่าไม่มีเลย มันเป็นเพราะแสงเท่านั้นเอง วูบหนึ่ง…ไม่มากไปกว่านั้น…เธอนึกถึงผี…ร่างที่สองของเธอ…จู่ ๆ ก็มายืนอยู่ข้างหลังเธอและจับตามอง” (คันนิงแฮม, 2546, น.216-217) ร่างที่สองของมิสซิสบราวน์ซึ่งก็คือตัวตนที่เป็นเลสเบี้ยนของเธอเอง ซึ่งถูกทำให้กลายเป็นผี สะท้อนว่าเธอเองก็ไม่อาจก้าวพ้นกรอบของสังคมสมัยใหม่ที่สร้างภาพลักษณ์ในกับพวกรักร่วมเพศว่าเป็นสิ่งไม่สามารถสร้างผลผลิตแก่สังคมและไม่อาจควบคุมให้อยู่กรอบเกณฑ์ของระบบปิตาธิปไตยได้

เป็นดังที่ เทอร์รี แคสเซิล (Terry Castle) อธิบายว่าการที่เลสเบี้ยนถูกนิยามเข้ากับลักษณะของผีที่ไร้ตัวตน ก็เพราะความเป็นหญิงรักหญิงสร้างความหวาดกลัวให้กับสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นสังคมที่เลสเบี้ยนเป็นสังคมที่ไม่มีผู้ชายอยู่ในข่ายของความสัมพันธ์ ในแง่นี้การให้ภาพของเลสเบี้ยนเป็นผีจึงสะท้อนให้เห็นความปรารถนาของผู้ชายที่จะกำจัดเลสเบี้ยนออกไปจากสังคม มิสซิสบราวน์จึงนิยามตัวตนที่ไม่อาจเข้าใจและไม่อาจยอมรับได้กับอุปลักษณ์ของผี ร่างที่ไม่มีตัวตนหรือร่างที่ล่องหนเสมือนเป็นผีเช่นนี้คือร่างที่อยู่ในสภาวะก้ำกึ่งและข้ามเส้นเขตแดนระหว่างเพศ ซึ่งมิสซิสบราวน์ไม่เข้าใจความซับซ้อนเช่นนี้ เธอจึงตัดสินใจเลือกหนีออกจากบ้านไปเป็นบรรณารักษ์ที่แคนาดาและทิ้งลูกชายกับสามีไว้ข้างหลัง การตัดสินใจหนีออกจากบ้านได้สำเร็จเป็นการทำให้ความปรารถนาของวูล์ฟที่ต้องหลีกการหนีออกจากชีวิตคู่เป็นจริงขึ้นมาได้ผ่านชีวิตของมิสซิสบราวน์  ส่วนความปรารถนาของมิสซิสบราวน์ที่ต้องการผสานความรักเพศเดียวกันโดยไม่ต้องทนทุกข์กับความอับอายที่จะเปิดเผยความรักนั้นกลับยังไม่บรรลุผลตามปรารถนา ดังจะเห็นว่าความไม่สมหวังดังกล่าวถูกนำเสนอผ่านการทำเค้ก

เธออยาก (เธอยอมรับกับตัวเอง) ฝันถึงขนมเค้กที่ปรากฏให้เห็นเป็นขนมเค้กจริง ๆ ขนมเค้กที่เต็มไปด้วยความรู้สึกอบอุ่นใจ ความเอื้ออาทรที่มาจากส่วนลึกและไม่อาจปฏิเสธได้ เธออยากอบขนมเค้กที่ขับไล่ความเศร้าใจ แม้จะเป็นเพียงชั่วครู่ชั่วยามก็ตาม เธออยากทำบางอย่างที่วิเศษ บางอย่างที่จะวิเศษแม้กับคนที่ไม่ได้รักเธอ (คันนิงแฮม, 2546, น.147)

ตัวบทนำเสนอให้ความปรารถนาของมิสซิสบราวน์เป็นจริงได้ในชีวิตของคลาริสสาหรือมิสซิสดัลโลเวย์ในยุคปัจจุบัน คลาริสสาเป็นบรรณาธิการอาศัยอยู่ในเมืองนิวยอร์กปลายศตวรรษที่ยี่สิบ ยุคสมัยที่กระแสความคิดเรื่องเพศไม่ติดอยู่ในกรอบของรักต่างเพศอีกต่อไปแล้ว เป็นสังคมสมัยใหม่ที่เปิดรับความหลากหลายทางเพศด้วยการให้สิทธิการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน คลาริสสาอยู่กับคู่รักเลสเบี้ยนและมีลูกบุญธรรมผู้หญิงวัยรุ่นคนหนึ่งที่เป็นเลสเบี้ยนเช่นเดียวกัน ในวัยสาวคลาริสสาเคยมีคนรักเป็นผู้ชายชื่อ   ริชาร์ด ต่อมาเธอก็รู้ว่าเขาเป็นเกย์และเป็นโรคเอดส์ แต่คลาริสสาก็ไม่ได้ทอดทิ้งริชาร์ด เธอยังดูแลเขาอยู่สม่ำเสมอ เหตุการณ์ในเรื่องเริ่มขึ้นในวันที่คลาริสสาออกไปซื้อดอกไม้เพื่อมาตกแต่งงานเลี้ยง ซึ่งเธอจัดขึ้นเพื่อริชาร์ดเนื่องในโอกาสที่บทกวีของเขาได้รับรางวัล คันนิงแฮมเล่าเรื่องในเช้าวันที่คลาริสสาออกไปซื้อดอกไม้นี้ด้วยวิธีการเขียนแบบกระแสสำนึกเช่นเดียวกับที่เวอร์จิเนีย วูล์ฟใช้ในนวนิยาย Mrs. Dalloway เขาต้องการนำเสนอชีวิตของคลาริสสาที่เปรียบเหมือนชีวิตของมิสซิสดัลโลเวย์ในนวนิยายของวูล์ฟ คลาริสสาเป็นมิสซิสดัลโลเวย์ในยุคสมัยใหม่ที่ชีวิตคู่ไม่ได้ติดอยู่ในกรอบเกณฑ์ทางเพศ ไม่จำเป็นต้องแต่งงานผู้ชาย และผู้หญิงไม่จำเป็นต้องหลีกหนีภาระหน้าที่ภายในบ้านของตัวเองไปอยู่ในโลกของการเขียนอย่างมิสซิสวูล์ฟ หรือหลีกหนีไปอยู่ในโลกของนวนิยายอย่างมิสซิสบราวน์ คลาริสสาใช้ชีวิตอย่างเปิดเผยทั้งภายนอกและภายในบ้าน การอยู่ในบ้านและเป็นแม่บ้านของคลาริสสาไม่ใช่งานที่น่าเบื่อหน่าย เธอรู้สึกเป็นอิสระและอบอุ่นปลอดภัยกับการอยู่บ้าน การทำงานบ้านและงานครัวของเธอทำให้เธอมีอำนาจไม่ต่างอะไรจากการออกไปรบของผู้ชาย ดังที่หลุยส์คู่รักเก่าของริชาร์ดได้มาเยี่ยมคลาริสสา และพบว่า

เธอ [คลาริสสา] ยังคงมีเสน่ห์แรง มีลักษณะท่าทางของผู้ชาย และมีความเย้ายวนใจตามแบบอย่างของผู้ดี เธอยังคงรูปร่างเพรียว เธอยังมีกลิ่นอายโรมานซ์อยู่ในตัว และมองดูเธอตอนนี้สิ ห้าสิบปีผ่านไปแล้ว ภายในห้องหรูหราและมืดสลัวห้องนี้ หลุยส์คิดถึงภาพของนายทหารหนุ่มรูปร่างแข็งแกร่งดูขึงขังในเครื่องแบบทหาร […] วินาทีนี้คลาริสสาทำให้หลุยส์นึกถึงทหารคนหนึ่ง (คันนิงแฮม, 2546, น.130)

บทบาทแม่บ้านของคลาริสสามีความหมายเทียบเท่ากับทหารคนหนึ่งเป็นความกล้าหาญในแบบใหม่ของผู้หญิงอย่างที่มิสซิสวูล์ฟอยากจะเป็น เพราะในชีวิตจริงวูลฟ์ไม่สามารถจัดการเรื่องงานบ้านและงานครัวได้ และคิดว่าแม่และพี่สาวของเธอจัดการได้ง่ายกว่า การเป็นแม่บ้านและการเข้าครัวควรจะเป็นเรื่องง่าย เธอจึงตั้งใจไว้ว่า “จะเขียนให้คลาริสสา [ดัลโลเวย์] มีทักษะอันยิ่งยวดกับคนรับใช้ มีกิริยาท่าทางที่มีเมตตาอย่างละเอียดอ่อนและมีอำนาจ” (คันนิงแฮม, 2546, น.90) ความต้องการจะเป็นแม่บ้านและจัดการงานครัวยังเป็นความใฝ่ฝันของมิสซิสบราวน์ที่เคยพยายามฝืนรับบทบาทความเป็นภรรยาและแม่ในอุดมคติมาแล้วแต่ก็ไม่สำเร็จ นอกจากนี้ความปรารถนาของวูล์ฟในนวนิยายคือการให้ “คลาริสสา ดัลโลเวย์จะต้องรักผู้หญิง…ใช่ ผู้หญิงอีกคน…ตอนที่เธอยังสาว เธอกับผู้หญิงคนนั้นจะต้องจูบกัน แค่จูบเดียว เหมือนจุมพิตที่มีมนตร์สะกดในเทพนิยาย และคลาริสสาจะจำจุมพิตนั้น ความหวังอันสูงส่งของมันไปตลอดชีวิต เธอจะไม่มีวันพบความรักแบบนั้น ความรักที่เกิดจากการจุมพิตเดียว” (คันนิงแฮม, 2546, น.214)

ทว่า เรื่องเล่าใน The Hours ได้พัฒนาความหวังอันสูงนั้นไปไกลกว่าความต้องการของวูล์ฟที่จะให้คลาริสสาจูบกับผู้หญิงด้วยกัน นั่นคือการให้คลาริสสาจูบกับริชาร์ดซึ่งเป็นผู้ชายและเป็นเกย์ เพื่อต้องการนำเสนอว่า ในวัยหนุ่มสาวพวกเขายังไม่ได้คิดถึงเรื่องเพศสถานะที่แท้จริงของกันและกัน “มันเป็นความอ่อนโยนมากกว่าความใคร่ สิ่งยังสว่างไสวในใจของคลาริสสามากว่าสามทศวรรษคือจุมพิตตอนพลบค่ำบนกอหญ้าแห้ง […] ยังคงมีความสมบูรณ์แบบหนึ่งเดียวนั้น มันสมบูรณ์แบบในส่วนหนึ่ง” (คันนิงแฮม, 2546, น.100) การจุมพิตระหว่างคลาริสสากับริชาร์ดเป็นหนึ่งเดียวและบริสุทธิ์กว่าการจุมพิตของตัวละครอื่น เพราะเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทที่ไม่มีสายตาของใครคอยสอดส่องหรือควบคุม และเกิดขึ้นในขณะที่ทั้งสองไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยในกันและกัน อย่างเช่นในการจูบของวูล์ฟกับพี่สาวที่มีหญิงคนใช้คอยจดจ้องมอง หรือการจูบของมิสซิสบราวน์กับคิตตี้ที่เกิดขึ้นโดยมีสายตาของลูกชายเธอมองอย่างหวาดหวั่นสงสัย

ดูเหมือนว่าชีวิตของคลาริสสาจะเป็นชีวิตที่ทดแทนความปรารถนาของมิสซิสวูล์ฟและมิสซิสบราวน์ได้ทั้งเรื่องความรักและชีวิตประจำวัน คลาริสสาไม่ต้องเผชิญหน้ากับกรอบเกณฑ์ของสังคมเรื่องความเป็นครอบครัวในแบบอุดมคติและไม่จำเป็นต้องหลบซ่อนอารมณ์ความรู้สึกรักเพศอื่นหรือเพศเดียวกัน

ทว่า ปัญหาที่คลาริสสาถูกนำเสนอเพื่อสะท้อนปัญหาในสังคมในยุคปลายศตวรรษที่ 20 ต้องเผชิญ ก็คือปัญหาต่อความตาย ความหวาดกลัวการสูญสิ้น และความวิตกกังวลต่อการดับมอดของโลกในศตวรรษใหม่ เนื่องจากเวลาของโลกดำเนินไปข้างหน้าด้วยวิธีการนับเวลาเป็นเส้นตรง การเดินทางถึงปลายศตวรรษจึงทำให้โลกเผชิญหน้ากับรอยต่อของยุคสมัย หากเทียบเวลาในหนึ่งวันของคลาริสสาตั้งแต่เริ่มต้นของวันใหม่ไปจนพลบค่ำ จะเห็นถึงห้วงกระแสในความคิดของเธอที่ตั้งคำถามต่อความหมายของชีวิตและความตายปะปนกันอยู่ตลอด ดังที่คลาริสสาพยายามยื้อยุดกับความตายของริชาร์ดด้วยการจัดงานเลี้ยง ทำอาหาร และตกแต่งห้องด้วยดอกไม้ให้เขา “เธอพยายามแสดงบทบาทของผู้ที่รักชีวิตและมีความสุขกับชีวิต” (คันนิงแฮม, 2546, น.55) โดยไม่คิดถึงพันธะทางเพศสภาพของคนรักและของตัวเอง เสมือนว่าคลาริสสากำลังทำเค้กเพื่อขับไล่ความเศร้าใจออกไป แม้จะเป็นเพียงชั่วครู่ชั่วยาม นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่คลาริสสาไปร้านดอกไม้และพบว่าข้างนอกร้านมีการถ่ายทำภาพยนตร์จนทำให้เธอสนใจนักแสดงหญิงนั้น ตัวบทได้บรรยายทัศนคติของคลาริสสาต่อดาราภาพยนตร์ว่า “เหนือกว่าความมีชื่อเสียง คือความเป็นอมตะที่แท้จริง” (คันนิงแฮม, 2546, น.55)

เหตุการณ์นี้นอกจากจะแสดงให้เห็นว่าคลาริสสามีความสนใจต่อชีวิตและการดำรงอยู่แล้ว ยังแสดงให้ว่าการจะมีชีวิตอยู่ได้ต้อง ‘แสดง’ ไปตามบทบาทที่เป็น ดังที่คลาริสสาเชื่อมั่นความเป็นผู้หญิงและกำลังจัดงานเลี้ยงให้กับคนรักที่กำลังจะตาย แม้คนอื่นจะไม่ได้ให้ความสำคัญเลยก็ตาม แต่เธอก็อยากทำให้กับคนที่แม้ไม่ได้รักเธอ หรืออย่างน้อยคลาริสสาก็ไม่มั่นใจว่าริชาร์ดจะยังรักเธออยู่หรือเปล่า ทว่าคลาริสสาก็ทำทุกอย่างเพื่อเขาในช่วงเวลาที่เขาเข้าใกล้ความตายไปทุกนาที คลาริสสาคือผู้หญิงที่ไม่หมกมุ่นครุ่นคิดกับปัญหาเรื่องเพศสภาพ คันนิงแฮมสร้างให้คลาริสสาไปไกลกว่ามิสซิสดัลโลเวย์ในนวนิยายของวูล์ฟ โดยให้เธอคิดถึง ‘ชีวิต’ มากกว่าอื่นใด คลาริสสาในนวนิยายของคันนิงแฮมจึงเริ่มต้นวันด้วยการจัดงานเลี้ยง คิดถึงความรักในวัยสาว และยังมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยไม่หลบลี้หนีหน้ากับปัญหาในชีวิตประจำวันและไม่ฆ่าตัวตาย ความสามารถในการผสานภาวะของการดำรงอยู่และความตายเช่นนี้เป็นลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในผู้หญิงอย่างคลาริสสา ซึ่งถูกนำเสนอผ่านมิติของเวลาที่สัมพันธ์กับเพศไว้อย่างเด่นชัด

ห้วงคิดถึงความตาย: มิติของเวลาที่สัมพันธ์กับเพศอันมีผลต่อการมองชีวิตและความตาย

นวนิยายเรื่อง The Hours ให้ความสำคัญกับมิติของเวลาตั้งแต่ชื่อเรื่องไปจนถึงเนื้อหา เวลาในนวนิยายเล่มนี้บ่งชี้ความหมายถึงห้วงกระแสของเหตุการณ์ที่ตัวละครทั้งสามคือ มิสซิสวูล์ฟ มิสซิสบราวน์ และคลาริสสาดำเนินไปในหนึ่งวันพร้อมกันแต่คนละยุคสมัย คันนิงแฮมตั้งใจจะเชื่อมร้อยผู้หญิงสามคนในแต่ละมิติของเวลาให้เสมือนเป็นคนเดียวกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบทต่อบทจึงส่งสะท้อนถึงกันไปจนกระทั่งจบเรื่อง กล่าวคือ ในบทของมิสซิสวูล์ฟเป็นเหตุการณ์ที่เธออยู่ในช่วงที่กำลังเขียนนวนิยาย Mrs. Dalloway ส่วนในบทของมิสซิสบราวน์เป็นเหตุการณ์ที่เธออ่านนวนิยายของวูล์ฟซึ่งในบทนี้มีการสอดแทรกประโยคของนวนิยายของวูล์ฟเอาไว้ในห้วงคิดของมิสซิสบราวน์โดยตลอด และในบทมิสซิสดัลโลเวย์เป็นเหตุการณ์ในชีวิตของคลาริสสาที่ดำเนินไปในหนึ่งวันคล้ายกับเหตุการณ์ในชีวิตของมิสซิสดัลโลวย์ในนวนิยาย Mrs. Dalloway นอกจากนี้ในแต่ละบทยังนำเสนอให้เวลาในชีวิตของแต่ละคนกลายเป็นเวลาที่ไม่เป็นเส้นตรง เขาใช้กลวิธีแบบกระแสสำนึกเข้ามาสร้างมิติเวลาในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตให้มาอยู่บนระนาบเดียวกัน (Mythological Time) ดังจะเห็นได้จากการบรรยายในตอนท้ายของเรื่องเมื่อริชาร์ดฆ่าตัวตายไปแล้ว งานเลี้ยงที่เตรียมจัดสำหรับเขาจึงถูกยกเลิก คลาริสสา แซลลี และจูเลียบุตรสาวบุญธรรมได้ช่วยกันเทอาหารที่จัดเตรียมไว้ทิ้ง

ทั้งสามยืนหน้าจานที่กองพูนไปด้วยอาหารครู่หนึ่ง อาหารให้ความรู้สึกว่าเป็นของเก่าแก่ที่ไม่อาจแตะต้องได้ มันเหมือนการแสดงตัววัตถุโบราณ วูบหนึ่งที่คลาริสสามี่ความรู้สึกว่าอาหาร…ซึ่งเป็นสิ่งที่เน่าเปื่อยได้ง่ายที่สุด…จะยังคงอยู่ที่นี่หลังจากที่เธอกับคนอื่นๆ หายไปแล้ว หลังจากที่พวกเขาทุกคน…แม้กระทั่งจูเลีย…เสียชีวิตไปแล้ว คลาริสสานึกภาพว่าอาหารยังอยู่ที่นี่ ยังสด และยังไม่ถูกแตะต้อง ขณะที่เธอกับคนอื่นๆ เดินออกจากห้องนี้ที่ละคนๆ ชั่วนิรันดร์ (คันนิงแฮม, 2546, น.226)

ความรู้สึกของคลาริสสาต่ออาหารซึ่งทั้ง ‘เน่าเปื่อย’ เป็น ‘วัตถุโบราณ’ แต่ขณะเดียวกันมันก็ยัง ‘สด’ และดำรงอยู่ ‘ชั่วนิรันดร์’ บทบรรยายดังกล่าวแสดงให้เห็นเวลาที่ทั้งเดินไปข้างหน้าและเวลาที่ถดถอยหลังในชั่วขณะเดียวกัน ตัวบทนำเสนอการควบรวมเวลาในลักษณะนี้ไว้ในหลายครั้งเพื่อต้องการสร้างเวลาของผู้หญิงและกลุ่มเควียร์ขึ้นมา อีกทั้งยังทำให้เห็นว่าเวลาของพวกเขาต่างจากเวลาของกลุ่มรักต่างเพศที่อยู่ในกรอบเวลาแบบประวัติศาสตร์และเวลาในแบบวิทยาศาสตร์ซึ่งให้ความสำคัญกับเวลาที่มีวิวัฒนาการ เนื่องจากกลุ่มรักร่วมเพศและเควียร์ตระหนักถึงเวลาในชีวิตของพวกเขาที่ไม่ได้เดินไปข้างหน้าตามกรอบเวลาของรักต่างเพศที่คิดถึงชีวิตที่เติบโต แต่งงาน มีลูก และสร้างครอบครัว เวลาในชีวิตของพวกเขาจึงไม่ใช่เวลาที่จะคิดถึงอนาคตในวันข้างหน้าหรือทิ้งอดีตเอาไว้ข้างหลัง แต่เป็นเวลาที่อดีตและอนาคตเกิดขึ้นไปพร้อมกันในปัจจุบัน (Halberstam, 2005, p.2) 

ริชาร์ดเป็นอีกตัวละครหนึ่งที่ตระหนักถึงเวลาในปัจจุบัน เนื่องจากเขาเป็นโรคเอดส์และตกอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่ต่อความตาย ซึ่งทำให้ฉุกคิดถึงการมีอยู่ของตน (urgency of being) ดังนั้นเวลาในอนาคตสำหรับผู้ป่วยจึงหมายถึงได้กลายเป็นเวลาแห่งความตายที่ใกล้ตัวอย่างมาก ริชาร์ดจึงหวนคิดถึงแต่อดีต จนมันเข้ามาปะปนในเวลาปัจจุบันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ ดังเช่นเมื่อเขาสนทนากับคลาริสสาว่าเธอเคยจูบเขาที่สระน้ำ คลาริสสาตอบว่ามันเป็นเหตุการณ์ในอดีตไปแล้ว แต่เขายืนยันว่ามันยังเกิดขึ้นอยู่ คลาริสสาจึงบอกว่ามันยังเกิดอยู่ในความรู้สึก แต่ริชาร์ดยืนยันว่า “ในความเป็นจริงต่างหากล่ะ มันกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน” (คันนิงแฮม, 2546, น.70) อาจกล่าวได้ว่าเวลาในอดีตของริชาร์ดไม่ใช่เวลาที่ผ่านเลยไปหรือจบลงไปแล้วหากมันยังดำเนินอยู่ต่อไปอย่างไม่รู้จบในทุกขณะของเวลา ราวกับภาพซ้ำที่วนกลับมาใหม่ในปัจจุบันแม้จะมองไม่เห็น ในแง่หนึ่งอดีตจึงไม่ใช่สิ่งที่สิ้นสุดหรือจบลง หากแต่มันยังคงกลับมาปรากฏในปัจจุบันเสมอ (Butler, 2003, p. 468)

นอกจากตัวบทจะนำการดำรงอยู่ของอดีตที่กลับมาผิดยุคผิดสมัยมานำเสนอผ่านตัวละครริชาร์ดแล้วยังปรากฏในตัวของคลาริสสาด้วย ดังจะเห็นได้ว่าเธอเป็นผู้หญิงในโลกยุคสมัยปัจจุบันแต่ในขณะเดียวกันเธอก็มีความเป็นแม่บ้านในแบบสมัยเก่า “ถ้าเป็นศตวรรษที่ 19 เธอคงเป็นภรรยาชาวชนบท…ผู้สุภาพอ่อนโยน ไม่มีความโดดเด่น และไม่พอใจในชีวิต…ที่กำลังยืนอยู่ในสวน” (คันนิงแฮม, 2546, น.28) ท่วงท่าการเดินของเธอขณะเลือกดูดอกไม้ในร้านใจกลางเมืองนิวยอร์กเหมือนกับ “ผู้หญิงเมื่อร้อยปีก่อน” (คันนิงแฮม, 2546, น.28) คลาริสสาจึงเป็นผู้หญิงที่เต็มไปด้วยการควบอัดของเวลาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน รวมไปถึงอนาคตที่กลับกลายเป็นการคำนึงถึงต่อความตายของริชาร์ด คนนิ่งแฮมได้บรรยายสภาวะของคลาริสสาที่ยืนอยู่ระหว่างเวลาที่ไม่อาจระบุได้นี้ว่าเป็น “ความง่วงงุน ฝุ่นลอยฟุ้ง วันเวลาที่ไม่รู้จบ” (คันนิงแฮม, 2546, น.93)

ตัวบทแสดงสภาวะที่ไม่อาจอธิบายตรรกะของเวลาเช่นนี้ให้เห็นในการบรรยายถึงความตายไปพร้อมกับชีวิตที่กำเนิดใหม่ในหลายระดับ ในระดับโครงเรื่อง นำเสนอเหตุการณ์การฆ่าตัวตายของวูล์ฟมาไว้ในบทแรก ความตายจึงเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เมื่อเรื่องเล่าไปจนถึงบทสุดท้ายจบด้วยการกลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ของคลาริสสา ซึ่งไม่ใช่มิสซิสดัลโลเวย์อีกต่อไป ขณะที่หากพิจารณาในระดับเนื้อเรื่อง ตัวบทได้ผสานเส้นแบ่งระหว่างชีวิตและความตาย ซึ่งโลกสมัยใหม่ได้แยกออกเป็นสองขั้วให้กลับเข้ามาปะปนกัน ดังเช่นที่บรรยายสภาพของเมืองแมนฮัตตันผ่านสายตาของคลาริสสาว่า  

ถ้าคุณขุดลงไปข้างใต้ คุณจะพบซากเมืองอีกเมืองหนึ่งที่เก่าแก่กว่า…อีกเมืองหนึ่งและก็อีกเมืองหนึ่ง ภายใต้พื้นซีเมนต์และผืนหญ้าของสวนสาธารณะ (เวลานี้เธอข้ามเข้ามาในสวนสาธารณะที่หญิงชราผู้นั้นแหงนหน้าร้องเพลง) มีโครงกระดูกของสิ่งเหล่านั้นถูกฝังไว้ในที่ดินของช่างปั้นหม้อซึ่งถูกไถกลบเมื่อร้อยปีก่อนเพื่อสร้างจัตุรัสวอชิงตัน คลาริสสาเดินข้ามซากศพของคนตาย […] บริเวณนี้คือแหล่งเสื่อมโทรมที่ถาวรของสวนสาธารณะ ซึ่งเห็นได้ชัดแม้จะอยู่ภายใต้พงหญ้าและมวลบุปผาชาติ (คันนิงแฮม, 2546, น.16)

ตัวบทนำเสนอเวลาของปัจจุบันผ่านการเดินของคลาริสสา ซึ่งทับซ้อนหรือขนาดอยู่บนเวลาของอดีตผ่านสภาพของพื้นที่เมืองแมนฮัตตันที่ทับถมกันอยู่บนเมืองที่เก่าแก่เบื้องล่าง ทั้งนี้ การนำเสนอภาพภูมิทัศน์ในฉากดังกล่าวผ่านสายตาของคลาริสสายังมีนัยเพื่อสื่อให้เห็นความหมายของเวลาในโลกทัศน์ของความเป็นเควียร์ซึ่งไม่ได้มองเวลาออกเป็นส่วนที่แยกขาดจากกัน หากแต่ซ้อนทับหรือทับถมอยู่ในจุดหรือพื้นที่เดียวกัน  นอกจากนั้น ตัวบทยังเน้นย้ำนัยสำคัญนี้อีกครั้ง โดยการให้วูล์ฟวิพากษ์โลกทัศน์การมองเวลาในแบบของผู้ชายไปพร้อมๆ กับแสดงทรรศนะต่อผู้หญิงในฐานะของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดและการตายไว้ว่า “พวกผู้ชายยังถือความตายไว้ในมือที่มีความสามารถของพวกเขา และหัวเราะผู้หญิงอย่างรู้สึกรักใคร่…ผู้ตระเตรียมหลุมศพและผู้ที่พูดถึงการฟูมฟักเลี้ยงดูชีวิตที่เพิ่งเริ่มต้นใหม่ซึ่งถูกทอดทิ้งไว้ในโลกนี้” (คันนิงแฮม, 2546, น.121)

ประเด็นเรื่องเวลาที่สัมพันธ์กับมิติทางเพศดังกล่าวส่งผลถึงการมองชีวิตและความตายของเพศหญิงและเควียร์ที่ให้ความหมายว่าความตายว่าไม่ใช่จุดสิ้นสุด หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของชีวิต เสมือนโมงยามที่เป็นห้วงกระแสซึ่งส่งทอดการเกิดและการตายให้ไหลเวียนอย่างไม่รู้จบ ในเหตุการณ์หนึ่ง คลาริสสาแสดงความเห็นต่อความตายกับหลุยส์คู่รักเก่าของริชาร์ดถึงวันที่เธอยังสาวและตกหลุมรักริชาร์ดตรงเนินทรายกองใหญ่ที่เวลล์ฟลีตว่า เป็นช่วงเวลาที่คลาริสสามีความสุขมากที่สุดในชีวิต เธอบอกว่า “ฉันกำลังคิดถึงความตาย ฉันอาจจะอยากให้เถ้ากระดูกของฉันโปรยปรายอยู่ที่นั่น” (คันนิงแฮม, 2546, น.134) การแสดงทัศนะต่อความตายอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้ทำให้หลุยส์ถึงกับบอกว่า “เป็นความคิดที่น่ากลัวเหลือเกิน” (คันนิงแฮม, 2546, น.134) คลาริสสากลับบอกว่า “แต่คุณต้องคิดเรื่องพวกนี้ คุณจะไม่คิดได้ยังไง” (คันนิงแฮม, 2546, 134) เรื่องพวกนี้ของคลาริสสาคือการคิดถึงความตายในความหมายการเริ่มต้นใหม่อันไม่รู้จบและการดำรงอยู่ ณ ห้วงเวลานั้นโดยไม่มีกาลเวลามาทำลายไปได้

อย่างไรก็ดี ตัวละครที่ทนทุกข์กับการมีชีวิตอยู่อย่างเวอร์จิเนีย วูล์ฟก็เลือกที่จะตาย เนื่องจากการมีชีวิตอยู่ทำให้เธอทรมานกับอาการทางประสาท (bipolar) ที่มักได้ยินเสียงแว่วอยู่ในหูและเกิดภาพหลอน อีกทั้งเธอยังถูกบังคับให้ย้ายจากลอนดอนไปอยู่ชนบทเมืองริชมอนด์แทนยิ่งทำให้เธอคับข้องใจอย่างที่สุดไม่ต่างจากนักโทษที่ถูกคุมขัง ความตายจึงเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เธอได้รับอิสระ เธอคิดใคร่ครวญถึงความตายของนกทรัชที่หลานสาวของเธอพบบริเวณสวนซึ่งวูล์ฟและหลานสาวร่วมกันฝังศพและไว้อาลัยให้กับมัน ช่วงเวลาแห่งการไว้อาลัยนี้ทำให้วูล์ฟคิดถึงความตายว่าเป็นเรื่องที่เล็กน้อย ไม่ได้ยิ่งใหญ่และไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

ความตายที่อยู่ในกำมือเล็กๆ อันว่างเปล่านี้ เวอร์จิเนียยืนเหนือมัน เวลานี้มันกลายเป็นขยะแล้ว มันได้สลัดความงดงามของยามบ่ายออกไปเช่นเดียวกับที่เวอร์จิเนียสลัดโต๊ะน้ำชาของเธอ และเช่นเดียวกับที่วันนี้กำลังสลัดความอบอุ่นของมัน ตอนเช้าลีโอนาร์ดจะโกยนกตัวนั้น หญ้า และดอกกุหลาบขึ้นด้วยพลั่ว แล้วโยนพวกมันทั้งหมดทิ้งไป เธออยากรู้ว่ามีที่ว่างในชีวิตให้สิ่งมีชีวิตหนึ่งๆ ได้ครอบครองในตอนที่มีชีวิตอยู่มากกว่าตอนที่ตายไปแล้วสักแค่ไหน มีภาพลวงตาของขนาดอยู่ในอากัปกิริยา ความเคลื่อนไหว และในลมหายใจมากแค่ไหน เมื่อเราตายเราจะถูกเปิดเผยในมิติที่แท้จริงของเรา ซึ่งมีขนาดพอประมาณอย่างน่าประหลาด (คันนิงแฮม, 2546, น.170)

วูล์ฟตระหนักว่าความตายเป็นสิ่งที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่และไม่น่าหวาดหวั่น ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม เพราะความตายเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นความจริงแท้มากกว่าการมีชีวิตอยู่ในภาพลวง ทัศนคติต่อความตายดังกล่าวตรงกันข้ามกับความตายในความหมายที่เคยยึดถือว่าเป็นความน่าหวาดหวั่นและเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิต ความหมายของความตายที่ห่างไกลจากความมีชีวิตเป็นสิ่งที่สังคมของโลกรักต่างเพศผลิตซ้ำเพื่อรองรับการผลิตและการสืบทอดดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ไว้เพื่อไม่ให้สังคมล่มสลายไป  ทว่า The Hours กลับนำเสนอช่วงเวลาแห่งความทุกข์โศกของตัวละครหญิงและเควียร์เพื่อให้พวกเขาได้ทบทวนความหมายของความตายในแบบใหม่ และแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถแสดงความอาลัยต่อกันและกันได้อย่างมีคุณค่า

สิทธิที่จะตายและความหมายของการดำรงอยู่: บทสรุป

ตัวละครเควียร์ในนวนิยายเรื่อง The Hours ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในห้วงแห่งความโศกเศร้าในการมีชีวิตอยู่ แต่ตัวละครที่ทนทุกข์อย่างสาหัสมากที่สุดคือริชาร์ดและมิสซิสวูล์ฟที่ต่างก็ทรมานกับอาการป่วยไข้ของตน  ริชาร์ดติดเชื้อ HIV ซึ่งไม่มีทางรักษาให้หายขาด ชีวิตในแต่ละวันของเขาดำเนินไปอย่างเศร้าหมอง สภาวะหมดหวังต่อชีวิต วูล์ฟเรียกการมีชีวิตอยู่ว่าความล้มเหลว ไม่ต่างกับริชาร์ดที่ใช้คำนี้ก่อนที่เขาจะตัดสินใจทิ้งตัวลงไปจากหน้าต่าง ตัวละครทั้งสองตัวนี้อยู่ในช่วงเวลาที่เข้าใกล้ความตาย พวกเขาจึงมองเห็นว่าชีวิตที่ดำรงอยู่เป็นชีวิตที่พันธนาการด้วยความทุกข์เศร้าและไร้ค่า วูล์ฟและริชาร์ดจึงคิดว่าความตายเป็นหนทางที่จะปลดปล่อยพวกเขาให้เป็นอิสระ พวกเขาจึงมีสิทธิที่จะตายในฐานะปัจเจกที่เป็นเจ้าของชีวิต วูล์ฟเขียนจดหมายลาตายตั้งแต่ต้นเรื่องว่าการฆ่าตัวตายจะเป็น ‘สิ่งที่ดีที่สุด’ (คันนิงแฮม, 2546, น.8) เธอเคยครุ่นคิดถึงการฆ่าตัวตายมาแล้วในนวนิยาย Mrs. Dalloway เธอจะให้มิสซิสดัลโลเวย์ฆ่าตัวตายในวัยกลางคนด้วยเรื่องไม่เป็นสาระ เวอร์จิเนีย วูล์ฟตั้งคำถามว่า การตายของมิสซิสดัลโลเวย์ “ทำให้น่าเชื่อถือและเศร้าโศก แทนที่จะน่าขันได้อย่างไร” (คันนิงแฮม, 2546, น.85) ท้ายที่สุดแล้วเธอก็หาทางออกนั้นด้วยการให้ใครบางคนต้องเป็นฝ่ายตายไปแทนนั่นคือ “ใครบางคนที่มีความเป็นอัจฉริยะ เป็นกวี แต่ถูกบดขยี้โดยวงล้อของโลก โดยสงครามกับรัฐบาล โดยหมอ ใครบางคนที่สติไม่ดีเพราะว่าคนคนนั้นจะเห็นความหมายไปทั่วทุกคนแห่ง” (คันนิงแฮม, 2546, น.215)

ทัศนคติดังกล่าวของวูล์ฟแสดงให้เห็นการให้ค่าชีวิตและความตายของคนคนหนึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการกำหนดมาจากสังคม ซึ่งเป็นการตั้งคำถามเช่นเดียวกับที่ จูดิธ บัตเลอร์ (Judith Butler) เคยกล่าวว่าการให้ค่าของคนในสังคมดูได้จากว่าคุณค่าของความเป็นคนวัดได้จากว่าความตายของคนนั้นมีค่าเพียงพอต่อการไว้อาลัยหรือไม่ ในนวนิยาย The Hours ความตายของริชาร์ดซึ่งเป็นเกย์และความตายของวูล์ฟนักเขียนหญิงที่เป็นเควียร์ ถูกนำเสนออย่างแสนธรรมดาและเรียบง่าย ดังที่คลาริสสากล่าวว่า “ณ วินาทีนั้นมันดูเหมือนว่าริชาร์ดเริ่มจากโลกนี้ไปแล้ว สำหรับคลาริสสามันเกือบจะเหมือนเป็นความรู้สึกทางกาย เป็นการถอนออกไปอย่างอ่อนโยนแต่ไม่อาจเรียกกลับคืนได้ เปรียบเสมือนใบหญ้าที่ถูกถอนออกจากดิน” (คันนิงแฮม, 2546, 227) ความตายที่เรียบง่ายและไม่มีพิธีรีตอง ไม่ได้เพียงสะท้อนให้เห็นว่า ความตายของเควียร์ไม่มีคุณค่าต่อการอาลัย หากแต่นัยสำคัญคือการนำเสนอความตายที่เรียบง่ายและธรรมดาเพื่อโต้กลับความตายอันยิ่งใหญ่และเต็มไปด้วยพิธีรีตองของคนในสังคม ความตายของตัวละครเควียร์จึงเป็นการทวงคืนความหมายของการดำรงอยู่ให้กับกลุ่มเควียร์ด้วยความตายของพวกเขาเอง

โดยสรุปแล้วนวนิยาย The Hours นำเสนอชีวิตของผู้หญิงและกลุ่มเควียร์ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยที่แตกต่างกัน ด้วยกลวิธีการประพันธ์แบบกระแสสำนึกในการเล่าเรื่องเพื่อทำลายตรรกะทางเวลาแบบประวัติศาสตร์และนำเสนอตรรกะเวลาแบบปกรณัมแทนด้วยการทำให้เห็นห้วงกระแสชีวิตของผู้หญิงและเควียร์ที่ดำรงอยู่ในเวลาของอดีตที่ปะปนอยู่ในเวลาปัจจุบัน การทับซ้อนของเวลาในแบบเควียร์มีผลต่อโลกทัศน์ในการมองชีวิตและความตายในแบบที่แตกต่างไปจากสังคมรักต่างเพศ เควียร์มองว่าชีวิตและความตายมีความหมายที่ไม่แตกต่างกัน ความตายของเขาหมายถึงการเริ่มต้นใหม่ ส่วนการดำรงอยู่หมายถึงการทนทุกข์ทรมาน อย่างไรก็ตามไม่ว่ากลุ่มเควียร์จะมองชีวิตและความตายด้วยความหมายแบบใด คุณค่าของชีวิตพวกเขาก็มีความหมายเทียบเท่าคุณค่าของชีวิตมนุษย์เพศอื่น ดังเช่นที่สรุปไว้ในบทของมิสซิสดัลโลเวย์อย่างครบถ้วนแล้วว่า “แม้ว่าเราจะมีพรสวรรค์ มีความพยายามอันเหนียวแน่น และมีความหวังอันล้นเหลือ เราใช้ชีวิตของเรา ทำทุกอย่างที่เราทำแล้วก็นอนหลับ…มันเรียบง่ายและธรรมดาแบบนี้แหละ” (คันนิงแฮม, 2546, น.228) ทุกคนล้วนมีโมงยามแห่งชีวิตที่เรียบง่ายและควรจะคิดถึงความตายว่าเป็นสิ่งที่แสนจะธรรมดา โดยนัยหนึ่งคือการวิพากษ์รูปแบบชีวิตและความหมายของความตายที่มักเต็มไปด้วยพิธีรีตองตามกรอบคิดเรื่องการผลิตและการบริโภคในโลกสมัยใหม่


รายการอ้างอิง

Judith Butler. (2003). Afterword ‘After Loss, What Then? . in David L. Eng and David Kazanjian (eds.), Loss: The Politics of Mourning. London: University of California.

Judith Butler. (2004). Precarious Life: The Powers of Mourning and Violence. New York: Verso.

Judith Halberstam. (2005). In a Queer Time and Place: Transgender Bodies, Subcultureal Lives (Sexual Cultures). New York: New York University.

Michael Cunningham. (2000). The Hours. New York: Picador.

Terry Castle. (1995). The Apparitional Lesbian: Female Homosexuality and Modern Culture. New York: Columbia University.

ชุติมา ประกาศวุฒิสาร. (2553). นาครเขษม กับภาวะสูงวัยในมุมมองเควียร์. ใน นัทธนัย ประสานนาม (บรรณาธิการ), แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทักชั้นชน: วรรณกรรมกับสิทธิมนษยชนศึกษา. กรุงเทพฯ: ภาควิชาวรรณคดี และคณะกรรมการฝ่ายวิจัย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร.

นัทธนัย ประสานนาม. (2553). ผิดด้วยหรือที่จะปรารถนา: ชนกลุ่มน้อยทางเพศ์ในนวนิยายไตรภาคของวีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์. ใน นัทธนัย ประสานนาม (บรรณาธิการ), แด่ศักดิ์ศรีเสมอกันทักชั้นชน: วรรณกรรมกับสิทธิมนษยชนศึกษา. กรุงเทพฯ: ภาควิชาวรรณคดี และคณะกรรมการฝ่ายวิจัย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร.

ไมเคิล คันนิงแฮม. (2546). The Hours (ห้วงเวลาแห่งชีวิต), วรรธนา วงษ์ฉัตร (แปล). กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์.

วารุณี ภูริสินสิทธิ์. (2545). สตรีนิยม: ขบวนการและแนวคิดทางสังคมแห่งศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์. (2546). อาหาร อารมณ์ และอำนาจสตรี. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่งานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


[1] เควียร์มีความหมายที่หลากหลาย ดังที่ ชุติมา ประกาศวุฒิสาร ได้ให้ความหมายว่า “เควียร์เป็นคำที่สังคมใช้เรียกกลุ่มที่อยู่นอกกฎเกณฑ์บรรทัดฐานที่สังคมวางไว้ กลุ่มเควียร์จึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะเกย์และเลสเบี้ยนเท่านั้น หากหมายรวมถึงกลุ่มอื่น เช่น ผู้พิการ ผู้มีเชื่อเอดส์หรือเอชไอวี ผู้สูงอายุ ที่มีรูปแบบชีวิตต่างไปจากขนบของสังคม” (ชุติมา, 2553: 22) ขณะที่ นัทธนัย ประสานนาม กล่าวว่า “เป็นคำที่ใช้อ้างถึงเลสเบี้ยน เกย์ คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ และกลุ่มคนที่มีเพศวิถีที่แตกต่าง และเป็นคำที่ซับซ้อนของพฤติกรรมทางเพศและอารมณ์ปรารถนา” (นัทธนัย, 2553: 46) ในบทความนี้ใช้ความหมายของเควียร์ในทั้งสองลักษณะ เนื่องจากตัวละครมีความหลากหลายและซับซ้อนทั้งความรู้สึกทางเพศที่หลากหลายและบางตัวละครก็มีอาการป่วยไข้ จนทำให้มีรูปแบบชีวิตและการมองเวลาแตกต่างไปจากขนบของสังคม

[2] ความรักในเพศเดียวกันของวูล์ฟ ไม่ได้หมายถึงความรักในเชิงชู้สาวอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นความรักในลักษณะความสัมพันธ์ของสตรี (feminine bond) ระหว่างเธอกับวาเนสสาพี่สาวของเธอ (sisterhood) ดังเช่นที่ มิแชลล์ รอซัลโด (Michelle Rosaldo) ได้ให้ความเห็นต่อความสัมพันธ์ของสตรีว่า “ความคิดทางสังคมและความคิดที่เป็นสัญลักษณ์ซึ่งดูเหมือนจะแยกเหล่าผู้หญิงออกไป (จากผู้ชาย) และจำกัดวงกิจกรรมของผู้หญิง อาจจะถูกนำมาใช้โดย (นักเขียน) สตรีอันเป็นรากฐานของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่สตรีและมีคุณค่าของสตรี” (อ้างใน สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์, 2550. น.313)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save