fbpx

สุข-โศก-โลกวัยเยาว์ The Hand of God

The Hand of God

สำหรับนักดูหนังทั่วโลก วาระใกล้สิ้นปีถือเป็นช่วงเริ่มฤดูกาลประกาศผลรางวัลทางภาพยนตร์ ทั้งการจัดอันดับหนังยอดเยี่ยมแห่งปีของสื่อสำนักต่างๆ, รางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์ตามเมืองใหญ่ๆ ในอเมริกา, รางวัลลูกโลกทองคำ และปิดฤดูกาลด้วยรางวัลที่มีชื่อเสียงมากสุดอย่างออสการ์

จนถึงขณะนี้ก็พอจะมองเห็นรำไรแล้วนะครับว่า West Side Story ของสตีเวน สปิลเบิร์กกับ The Power of the Dog ของเจน แคมเปียน เข้าข่ายตัวเก็งลำดับต้นๆ มีโอกาสสูงยิ่งที่จะติดโผเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาสำคัญๆ และน่าจะขับเคี่ยวกันสนุกในทุกๆ เวที

ส่วนสาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม ตัวแทนจากญี่ปุ่นเรื่อง Drive งานดัดแปลงจากเรื่องสั้นของฮารุกิ มุราคามิ กำกับโดยริวสุเกะ ฮามางุจิ กระแสบวกมาแรงสุด จนทำให้ The Hand of God ที่ผมเลือกนำมาเล่าสู่กันฟัง ตกไปอยู่ในแถวสอง มีลุ้นได้เข้าชิง แต่โอกาสชนะค่อนข้างยากอยู่สักหน่อย

The Power of the Dog และ The Hand of God สามารถดูได้ทาง Netflix นะครับ น่าเสียดายอยู่บ้างที่ทั้ง 2 เรื่องไม่ได้เข้าฉายในโรงบนจอใหญ่ทั้งที่งานด้านภาพนั้นน่าตื่นตาเป็นที่สุด

The Hand of God เป็นหนังอิตาลี กำกับโดยเปาโล ซอร์เรนติโน ผมไม่รู้จักและไม่เคยดูผลงานของเขามาก่อนเลย เพิ่งมาทราบว่าเขาเป็นคนทำหนังที่โด่งดังและได้รับการยกย่องในวงกว้าง เคยได้รางวัลออสการ์สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมมาแล้วเมื่อปี 2013 จากเรื่อง La grande bellezza (The Great Beauty)

หนังเรื่องนี้ได้รับการนิยามว่าเป็นจดหมายรักของซอร์เรนติโนที่มีต่อเมืองนาโปลี อันเป็นบ้านเกิด พร้อมกันนั้นก็มีหลายคนนับว่างานชิ้นนี้มีลักษณะเป็นกึ่งๆ อัตชีวประวัติของเขา

โดยเค้าโครงกว้างๆ ของเรื่องนี้เล่าถึงชีวิตของเด็กหนุ่มกำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่นชื่อฟาบิเอ็ตโต (เหตุการณ์ในหนังเกิดขึ้นที่เมืองนาโปลี ปี 1984) มีชีวิตสลับปนระหว่างความสุขกับความทุกข์ตามอัตภาพ พ้นจากสมาชิกครอบครัวและวงศาคณาญาติ (ซึ่งมีสมาชิกเยอะแยะมากมายจนยากจำแนกว่าใครเป็นใคร) ฟาบิเอ็ตโตแลดูโดดเดี่ยว ปราศจากเพื่อนสนิทและคนรัก ไม่รู้ชัดว่าตนเองมีความใฝ่ฝันอยากเป็นหรืออยากทำอะไรในอนาคต มีเพียงเป้าหมายลอยๆ ว่า อยากจะเรียนต่อสาขาวิชาปรัชญา (แต่เมื่อแม่ถามว่ามันคืออะไร? คำตอบของเด็กหนุ่มก็คือ “ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน”)

ความพึงพอใจของฟาบิเอ็ตโตคือ การฟังเพลงจากเครื่องเล่นซาวเบาท์และพกหูฟังติดตัวตลอดเวลา เหมือนตัดขาดจากโลกภายนอก แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงเขากับผู้คนอื่นๆ ก็คือความชื่นชอบต่อเกมฟุตบอล

ในปีนั้น มีข่าวลือหนาหูว่าทีมฟุตบอลนาโปลีกำลังจะเซ็นสัญญากับดีเอโก มาราโดนา ช่วงต้นของหนัง มีรายละเอียดหลายฉากหลายตอนเล่าถึงปฏิกิริยาของชาวเมืองต่อเหตุการณ์นี้ มีทั้งคนที่ตื่นเต้นปรารถนาให้ข่าวลือเป็นจริง และคนที่ไม่เชื่อ ถึงขั้นมองว่าความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริงนั้นเหลือเชื่อพอๆ กับเรื่องปาฏิหาริย์

ในเวลาต่อมา ดีเอโก มาราโดนาก็ย้ายจากทีมบาร์เซโลนา กลายมาเป็นผู้เล่นของนาโปลี และแสดงอิทธิฤทธิ์ช่วยให้ทีมประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อ จนตัวเขามีสถานะประดุจเทพเจ้าสำหรับเหล่ากองเชียร์ รวมทั้งเหตุการณ์คลาสสิกในฟุตบอลโลกปี 1986 เกมระหว่างอาร์เจนตินากับอังกฤษ ด้วยการทำ 2 ประตูซึ่งกลายเป็นที่กล่าวขวัญกันไปอีกเนิ่นนาน ประตูแรกใช้มือปัดลูกฟุตบอลเข้าไป (และเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมาว่า ‘หัตถ์พระเจ้า’ หรือ The Hand of God) ส่วนอีกประตูเป็นการเข้าทำอันยอดเยี่ยมขั้นเทพ (ตรงข้ามกับลูกแรกที่เข้าข่ายวิชามาร)

อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้มีเนื้อหาเหตุการณ์มุ่งเน้นไปที่ฟุตบอลและดีเอโก มาราโดนาเป็นด้านหลัก รายละเอียดเหล่านี้ถูกใช้ในหนังเพื่อแสดงความเกี่ยวพันของช่วงเวลายุคสมัย ทำหน้าที่เป็นฉากหลัง มีแง่มุมเชื่อมโยงเทียบเคียงไปยังความใฝ่ฝันในชีวิตของตัวละคร รวมทั้งแฝงนัยยะว่าด้วยปาฏิหาริย์ สิ่งมหัศจรรย์ และพระเจ้า (ซึ่งมีรายละเอียดอื่นให้เทียบเคียงกัน ตรงนี้ผมจะกล่าวถึงทีหลัง)

เรื่องราวหลักๆ ใน The Hand of God เข้าลักษณะเป็นหนัง coming of age เล่าถึงการเปลี่ยนผ่านของตัวละครจากช่วงวัยหนึ่งไปสู่อีกช่วงวัยหนึ่ง เพื่อนผม -คมสัน นันทจิต- นิยามเนื้อหาทำนองนี้ไว้ว่า ‘พบเผชิญเจริญเติบโต’

เหตุการณ์ใน The Hand of God สามารถแบ่งเป็น 2 ส่วน พูดด้วยภาษาฟุตบอลเพื่อให้เข้าบรรยากาศคือประกอบด้วยครึ่งแรกและครึ่งหลัง

ครึ่งแรกนั้นสะท้อนช่วงชีวิตที่เป็น ‘ปรกติสุข’ ของฟาบิเอ็ตโต เส้นเรื่องไม่ชัดเจนนัก คลับคล้ายว่าเล่าไปเรื่อยๆ แสดงภาพชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของครอบครัว, ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเอกกับพ่อ แม่ พี่ชาย และพี่สาว, งานเลี้ยงรวมญาติฉลองการหมั้น (ซึ่งในด้านหนึ่งก็ทำให้ผู้ชมสับสนงุนงงมาก จากตัวละครเป็นหมู่คณะร่วมๆ 20 ชีวิต โดยไม่รู้ว่าแต่ละคนเกี่ยวโยงสัมพันธ์กันอย่างไร แต่ในอีกด้าน ก็เป็นฉากงานชุมนุมที่เล่าออกมาได้อย่างอบอุ่นและรื่นรมย์หรรษาเหลือเกิน), บรรดาเหล่าเพื่อนบ้านร่วมอพาร์ตเมนต์ ซึ่งบางครั้งขัดแย้งบางครั้งญาติดีต่อกัน, มาร์กิโน (พี่ชายของฟาบิเอ็ตโต) ไปคัดเลือกทดสอบบทเป็นนักแสดงประกอบในหนังของผู้กำกับระดับตำนานอย่างเฟเดอริโก เฟลลินี, การมาถึงนาโปลีของดีเอโก มาราโดนา ฯลฯ

อารมณ์และโทนของหนังในช่วงครึ่งแรก น่ารัก อบอุ่น รื่นรมย์ ผ่อนคลาย มีอารมณ์ขันแทรกอยู่ตลอด มีฉากดรามาจริงจังอยู่เพียงเหตุการณ์เดียว คือความบาดหมางร้าวฉานระหว่างพ่อกับแม่ (พ่อไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น) แต่ความขัดแย้งดังกล่าวก็มีบทสรุปคลี่คลายที่ทำให้ปัญหาไม่ได้หนักหนาสาหัสจนเกินไป ตัวละครสามารถจัดการรับมือ และใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข (ปนทุกข์)

จนกระทั่งหนังเคลื่อนผ่านเข้าสู่ ‘จุดเปลี่ยน’ ทำให้เนื้อหาเรื่องราวในครึ่งหลัง กลายเป็นความทุกข์เศร้าเจ็บปวดของฟาบิเอ็ตโต การสูญเสียวิถีชีวิตแบบเดิมที่เคยมีเคยเป็นไปโดยสิ้นเชิง

เรื่องราวที่เหลือถัดจากนั้นไปจนจบ เป็นไปตามครรลองของงานในแบบ coming of age ตัวละครจมดิ่งอยู่กับความโศกเศร้า ผ่านประสบการณ์หลายๆ อย่าง จากหลายๆ ผู้คน สู้รบปรบมือกับความรู้สึกขัดแย้งในใจสารพัดสารพัน ค่อยๆ เกิดการเรียนรู้เติบโต ควบคู่ไปกับความเข้าใจชีวิตที่เพิ่มพูน รู้จักตนเองดีขึ้น จนกระทั่งเล็งเห็น ‘ทางออก’

แต่สิ่งที่ไม่เป็นไปตามขนบคือ วิธีการบอกเล่านำเสนอของเปาโล ซอร์เรนติโน ซึ่งมีลีลาและเอกลักษณ์เฉพาะตัวเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นจังหวะจะโคนเนิบช้าค่อยเป็นค่อยไป, การเร้าอารมณ์แต่น้อยไม่โจ่งแจ้ง แต่มุ่งเน้นไปที่การสร้างอารมณ์ร่วม ให้ผู้ชมรู้สึกผูกพันใกล้ชิดกับตัวละครในแบบค่อยๆ ซึมซับไปทีละน้อย, ความละเอียดถี่ถ้วนในการถ่ายทอดตีแผ่สภาพจิตใจอันบอบช้ำของฟาบิเอ็ตโตได้อย่างหนักแน่นสมจริง, การทำให้หลายๆ ฉากที่ผู้ชมคุ้นเคย ปลอดพ้นจากความ cliché ด้วยชั้นเชิงที่ดีและแยบยล

รวมความแล้ว ช่วงครึ่งหลังของหนัง สรุปได้สั้นๆ ว่ารันทดและงดงาม

พ้นจากใจความหลัก การก้าวย่างเปลี่ยนผ่านช่วงวัยของฟาบิเอ็ตโต จากเหตุการณ์ความสูญเสียอันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญแล้ว มีอีก 2 แง่มุมที่หนุนเสริมความเป็น coming of age นั่นคือการค้นพบความใฝ่ฝันหรือเป้าหมายในชีวิตและเซ็กซ์

คงไม่ใช่การเผยความลับหรอกนะครับ ถ้าผมจะเล่าว่า ท้ายที่สุดแล้ว ความใฝ่ฝันที่ฟาบิเอ็ตโตปรารถนา ก็คืออยากเป็นผู้กำกับหนัง (นี่เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้มีการมองกันว่า The Hand of God เปรียบเสมือนอัตชีวประวัติของเปาโล ซอร์เรนติโน นอกเหนือจากความพ้องพานใกล้เคียงกันของผู้กำกับและตัวละคร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ‘จุดเปลี่ยน’)

นักวิจารณ์ต่างประเทศบางท่านกล่าวว่า ใน The Great Beauty เปาโล ซอร์เรนติโนได้แสดงความคารวะและบูชาครูต่อหนัง 3 เรื่องของเฟเดอริโก เฟลลินี คือ La Dolce Vita, 8 1/2 และ Roma (หนังปี 1972 เป็นคนละเรื่องกับ Roma หนังปี 2018 ของอัลฟองโซ กัวรอน) ส่วนใน The Hand of God ก็ทำในแบบเดียวกันต่อหนังเรื่อง Amacord

Amacord เป็นเรื่องเล่าถึงความทรงจำและความประทับใจในวัยเด็กของเฟเดอริโก เฟลลินี ส่วนที่ละม้ายใกล้เคียงกับ The Hand of God ก็คือลำดับเหตุการณ์ที่ไม่ปะติดปะต่อเชื่อมโยงกัน เต็มไปด้วยส่วนเสี้ยวของความหลังมาร้อยเรียงกันไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ข้างต้นนั้นเป็นเพียงภาพรวมกว้างๆ เท่านั้น การแสดงความคารวะต่อเฟลลินีที่เด่นชัดยิ่งกว่า ปรากฏผ่านฉากที่ฟาบิเอ็ตโตไปให้กำลังใจพี่ชายทดสอบบทคัดเลือกเป็นตัวประกอบ (ผมแอบลุ้นอยู่เหมือนกันว่าจะได้เห็นเฟลลินีหรือไม่)

การบูชาครูมาเต็มๆ ในฉากนี้ บรรดาผู้ทดสอบแต่ละรายแต่งตัวฉูดฉาดหวือหวา มีบุคลิกพิลึกพิลั่นเช่นเดียวกับที่เคยเห็นจนชินตาในหนังของบรมครู

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คือหนังให้ตัวละครอ้างอิงถึงคำพูดของเฟเดอริโก เฟลลินี (ผู้ชมไม่ได้เห็นตอนเฟลลินีพูดโดยตรง แต่ทราบผ่านปากคำของผู้อยู่ในเหตุการณ์อีกทอดหนึ่ง เล่าว่าเกิดขึ้นขณะเฟลลินีคุยโทรศัพท์กับนักข่าว) เนื้อความว่า “การทำหนังคือการเบี่ยงเบนจากความเป็นจริง เพราะความเป็นจริงในชีวิตมันห่วยแตกสิ้นดี”

บทพูดดังกล่าว กลายเป็นคาถาสำคัญที่ฟาบิเอ็ตโตยึดมั่นในเวลาต่อมา เบื้องต้นเมื่อเทียบเคียงกับเรื่องร้ายๆ ที่เด็กหนุ่มเจอะเจอในชีวิต ทำให้ฟาบิเอ็ตโตเห็นพ้องคล้อยตามว่า ‘ชีวิตมันห่วย’ ถัดมา มันจุดประกายให้เขาคิดฝันอยากเป็นคนทำหนัง (ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นนักดูหนัง ปราศจากความรู้ความสนใจในการทำหนังมาก่อน) ตรงนี้เป็นความเข้าใจของผมนะครับ ผมเข้าใจว่าฟาบิเอ็ตโตอยากเป็นคนทำหนัง เพราะเชื่อในถ้อยคำดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งใจความ ‘การเบี่ยงเบนจากความเป็นจริง’

ผมตีความ ‘การเบี่ยงเบนจากความเป็นจริง’ นี้ว่า หมายความในท่วงทำนองเดียวกันกับการหลุดพ้นจากการถูกความเป็นจริงกัดกินทำร้ายจิตใจนะครับ

หนังไม่ได้ให้บทสรุปในบั้นปลายว่าการทำหนังช่วยเยียวยาได้มากน้อยเพียงไร แต่จบลงตรงที่ตัวละครยึดฉวยมันเป็นหนทางหนึ่ง เพื่อให้ตนเองสามารถเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไป

แง่มุมต่อมาคือเรื่องเซ็กซ์ ตลอดทั่วทั้งเรื่อง หนังมีรายละเอียดปลีกย่อยหลายๆ ฉาก แสดงถึงความสนใจต่อเพศตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นหญิงสาวชุดแดงที่มาคัดเลือกทดสอบบท, สาวสวยเซ็กซี่ที่เดินมากับเศรษฐีในค่ำคืนหนึ่งที่คาปรี, การแวะเวียนไปดูละครเวที เพราะสนใจหญิงสาวที่เป็นนักแสดงนำ และพยายามหาโอกาสพูดคุยกับเธอหลังจบการแสดง แต่ไม่เป็นผล เนื่องจากไม่กล้า (บวกรวมกับเธอมีแฟนแล้ว)

แต่ตัวละครสำคัญที่เชื่อมโยงกับแง่มุมนี้มากสุดคือ ปาตริเซียผู้มีศักดิ์เป็นน้าสาว

ปาตริเซียเป็นสาวสวยเซ็กซี่ แต่มีปัญหาทางจิต มีอาการซึมเศร้า ลงท้ายเธอต้องวานสามีส่งตัวไปบำบัดรักษาในโรงพยาบาลโรคจิต เพราะไม่เช่นนั้นเธอมีแนวโน้มสูงว่าจะตัดสินใจฆ่าตัวตาย

หนังเล่าเป็นนัยๆ ว่า ปาตริเซียเป็น ‘นางในฝัน’ ที่ฟาบิเอ็ตโตหมายปอง อยากมีเพศสัมพันธ์ด้วย ในทางตรงข้าม เด็กหนุ่มก็เป็นหลานชายคนโปรดที่บางครั้งถูกน้าสาวหว่านเสน่ห์ยั่วยวน

กระนั้นความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ไม่ได้เลยเถิดข้ามเส้นไปสู่เรื่องชู้สาว ตรงข้ามกลับเป็นความเข้าใจต่อกันในปัญหาบาดลึกของแต่ละฝ่าย ฟาบิเอ็ตโตเชื่อในคำพูดของปาตริเซีย ซึ่งทุกคนมองว่าเหลวไหลไร้สาระ ขณะเดียวกัน ชะตากรรมชวนรันทดของน้าสาวก็มีส่วนฉุดรั้งให้หลานชายรอดพ้นจากการแตกสลายด้านจิตใจ

หนังมีฉากเลิฟซีนที่วิเศษมาก ไม่ใช่ฉากรักที่เย้ายวนหรือให้ความรู้สึกอีโรติก มันแปลกและมีความเฉพาะตัวกว่าที่เคยดูมาในหนังเรื่องไหนๆ ทั้งหมด ดีงามด้วยการสร้างความรู้สึกหลากอารมณ์ ละเอียดอ่อน และสะท้อนถึงการเติบโตของตัวละคร การมองไปยังอนาคต การตอบสนองเติมเต็ม ‘จินตนาการทางเพศในวัยเยาว์’

ฉากดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับตัวละครปาตริเซีย แต่ในลักษณะใด อย่างไร ต้องไปดูกันเอาเองนะครับ

ความสำคัญของปาตริเซียยังเกี่ยวโยงกับฉากเปิดเรื่อง ปิดเรื่อง ซึ่งค่อนข้างไปทางเหนือจริง มีความชวนฉงนเป็นปริศนาธรรมอยู่สักหน่อย

ในฉากเปิดเรื่อง ขณะที่ปาตริเซียกำลังยืนรอรถเมล์เพื่อเดินทางกลับบ้าน ชายคนหนึ่งในรถยนต์เอ่ยชวนอาสาพาไปส่ง และอ้างว่าเขาคือนักบุญซาน เจนาโร พร้อมทั้งบอกว่าจะช่วยปาตริเซียแก้ปัญหาเรื่องไม่มีลูก

ชายที่อ้างว่าเป็นนักบุญซาน เจนาโร ไม่ได้พาหญิงสาวไปส่งบ้าน แต่ชวนไปยังอีกที่หนึ่ง แลดูเป็นสถานที่หรูหราในอดีต (อาจจะเป็นโบสถ์) แต่อยู่ในสภาพรกร้าง ที่นั่นหญิงสาวได้พบกับนักบวชน้อย และได้รับความช่วยเหลือ

ซาน เจนาโรนั้นเป็นนักบุญประจำเมืองนาโปลี ส่วนนักบวชน้อยนั้นเป็นตำนานเรื่องเล่าพื้นถิ่นของเมืองนาโปลี ว่ากันว่าเป็นวิญญาณฝ่ายดีที่ปรากฏตัวเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่กำลังประสบทุกข์

การปรากฏตัวของนักบุญซาน เจนาโร และนักบวชน้อยในฉากเปิดเรื่อง ทำหน้าที่เบื้องต้นคือนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างปาตริเซียกับสามีขี้หึง ซึ่งเชื่อว่าเหตุที่เธอกลับบ้านช้า มีเงินในกระเป๋าสะพาย (ซึ่งนักบวชน้อยมอบให้) มาจากการขายตัว จึงตบตีลงไม้ลงมือ จนต้องโทรศัพท์ให้ฟาบิเอ็ตโตกับพ่อแม่มาช่วยเหลือห้ามปราม

มองเผินๆ ก็เป็นวิธีเปิดฉากเริ่มเรื่องแบบแปลกๆ เรื่องนักบุญซาน เจนาโรกับนักบวชน้อยก็อาจเป็นการสะท้อนถึงสภาพจิตไม่ปกติของปาตริเซีย

แต่หนังก็ตอกย้ำอีกครั้งในฉากจบ ขณะฟาบิเอ็ตโตเดินทางบนรถไฟใกล้จะถึงโรม ขบวนรถจอดที่สถานีหนึ่งกลางทาง เขาแลเห็นนักบวชน้อยยืนอยู่ตามลำพัง และโบกไม้โบกมือให้

โดยลักษณะการปรากฏในหนัง ผมคิดว่านักบวชน้อยน่าจะเป็นสัญลักษณ์ ส่วนจะมีความหมายเช่นไร ผมยังไม่มีเวลาไตร่ตรองโดยละเอียด และยังมีความรู้เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ไม่มากพอ แต่พอมองเห็นความเชื่อมโยงลางๆ ระหว่างชื่อหนัง สถานะความเป็นเทพเจ้าของดีเอโก มาราโดนา และน่าจะข้องแวะไปสู่ประเด็นว่าด้วยความเชื่อ ความศรัทธานะครับ

ถ้าจะให้ผมอธิบายอย่างเป็นระบบ มีรายละเอียด มีเหตุผลประกอบถี่ถ้วนรัดกุม ยังทำไม่ได้ จนด้วยเกล้านะครับ จึงต้องหนักไปทางเดาส่ง (ท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่) ด้วยประการฉะนี้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save