fbpx
The Great Sea รู้จักเมดิเตอร์เรเนียนผ่านประวัติศาสตร์มนุษย์

The Great Sea รู้จักเมดิเตอร์เรเนียนผ่านประวัติศาสตร์มนุษย์

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

ตอนที่ผมไปซิซิลี คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาก็คือ ผู้คนมาอยู่ที่นี่กันตั้งแต่เมื่อไหร่

ซิซิลีเป็นเกาะที่อยู่ทางใต้ของอิตาลี ตั้งอยู่ปลายรองเท้าบู้ตพอดี ที่นี่ทำให้ผมมหัศจรรย์ใจไม่รู้จักกี่ครั้ง โดยเฉพาะเรื่องของอาหารและวัฒนธรรม เพราะซิซิลีเต็มไปด้วยความหลากหลาย ผสมผสาน โดยเฉพาะรสชาติของอาหารที่มีทั้งความเป็นแอฟริกาเหนือ วัฒนธรรมมุสลิม สีสันจัดจ้านแบบสเปน อาการและรากฐานแบบกรีก รวมไปถึงความเป็นยุโรปใต้ ความเป็นฝรั่งเศส และความเป็นอิตาลีเองด้วย

ทุกอย่างน่าตื่นตะลึงไปหมด!

ถ้าคุณเคยดูหนังอย่าง The Godfather คุณคงรู้ว่า ซิซิลีนั้นเป็นที่ร่ำลือว่าเป็นถิ่นมาเฟีย จึงอาจฟังดูน่ากลัวสำหรับหลายคน แต่ถ้าเราดูที่ตั้งของซิซิลี เราจะพบเลยนะครับว่าซิซิลีนั้นเป็น ‘มาเฟียทางวัฒนธรรม’ ตัวจริง เนื่องจากซิซิลีแทบจะตั้งอยู่ใจกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเลยทีเดียว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ซิซิลีจะกลายเป็นเหมือน ‘หม้อต้มซุป’ ที่รวบรวมเอาวัฒนธรรมของอารยธรรมต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันในแบบที่ไม่มีที่ไหนเสมอเหมือน

แต่กระนั้น ผมก็ยังสงสัยอยู่ดี – ว่าผู้คนมาอยู่ซิซิลีตั้งแต่เมื่อไหร่กัน

พูดได้ว่า ซิซิลีก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากภูเขาไฟโดยแท้ ภูเขาไฟอย่างเอ็ตนา (Etna) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ รวมไปถึงหมู่เกาะภูเขาไฟทางเหนือ อย่างเช่นเกาะวัลเคโน (Vulcano) หรือสตรอมโบลี (Stromboli) ล้วนแล้วแต่เป็นภูเขาไฟสำคัญ และต่อเนื่องเรียงรายไปจนถึงวิซุเวียสและแคมปีฟลีกรี (Campi Phlegri) ทำให้ผู้คนกล่าวขานกันว่า ดินแดนแถบนี้เป็นเสมือนประตูสู่นรก

แต่ซิซิลีกลับเป็นสวรรค์แห่งการดำรงอยู่ และเป็นมาเนิ่นนานแล้วด้วย!

ด้วยความประทับใจกับซิซิลี และสงสัยถึงที่มาของผู้คนในแถบถิ่นนี้ พอกลับมาบ้าน จึงไปค้นหนังสือเก่าที่ตีพิมพ์มาแล้วเกือบสิบปีมาอ่านอีกรอบหนึ่ง

หนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนของ เดวิด อับดุลาเฟีย (David Abulafia) ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่สนใจเรื่องอิตาลี สเปน และเมดิเตอร์เรเนียน โดยเฉพาะในยุคกลางและยุคเรอเนสซองส์เป็นพิเศษ แต่ที่เล่มนี้ ‘ทะเยอทะยาน’ ไปกว่าเล่มอื่นๆ ก็เพราะมันคือหนังสือที่เล่าถึง ‘ประวัติชีวิต’ ของเมดิเตอร์เรเนียน ตั้งแต่ยุคหลายหมื่นปีก่อน เมื่อมนุษย์เริ่มเข้ามาอาศัยอยู่ในแถบนี้  ไล่เรื่อยมาจนถึงยุคพันปีก่อนคริสตกาลจนถึง ค.ศ.600 แล้วก็แบ่งเป็นภาคต่างๆ ถัดมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

หนังสือเล่มนี้ชื่อดึงดูดใจมากครับ ว่า The Great Sea: A Human History of the Mediterranean หรือ ‘ทะเลอันยิ่งใหญ่: ประวัติศาสตร์มนุษย์แห่งเมดิเตอร์เรเนียน’ คือไม่ได้พูดถึงประวัติของเมดิเตอร์เรเนียน แต่พูดถึงประวัติศาสตร์ของ ‘มนุษย์’ ดังนั้นจึงเหมาะสมอย่างยิ่ง ที่ผมจะค้นหาที่มาที่ไปของชาวซิซิลี

แค่เปิดเกร็ดแรกในหนังสือมาก็อึ้งแล้วนะครับ เพราะเราคงรู้จักมนุษย์นีแอนเดอร์ธัล (Neanderthal) กันเป็นอันดี ว่าที่จริงก็เป็นมนุษย์ (คือ Homo) สปีชีส์หนึ่ง แต่ไม่ใช่ Homo sapiens sapiens อย่างที่เราเป็น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นมนุษย์ที่เก่าแก่มากนั่นแหละครับ

ที่มนุษย์นีแอนเดอร์ธัลได้ชื่อนี้ ก็เพราะมีการค้นพบซากของมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลในปี 1856 ที่แถบเยอรมนี ในหุบเขาที่ชื่อนีแอนเดอร์ (Neander Valley) มนุษย์นีแอนเดอร์ธัลเลยได้ชื่อนี้ แล้วเราก็คิดว่า มนุษย์นีแอนเดอร์ธัลน่าจะอยู่ในยุโรปเหนือๆ หน่อย แต่หนังสือเล่มนี้บอกว่า ที่จริงแล้วในปี 1848 (คือ 8 ปีก่อนหน้า) เคยมีการค้นพบซากของผู้หญิงคนหนึ่งในถ้ำที่ยิบรอลตาร์ (Gibraltar) มาก่อน คืออยู่ทางใต้ของสเปน ตรงช่องแคบที่อยู่ห่างจากแอฟริกาเหนือไม่เท่าไหร่

คุณอับดุลาเฟียถึงกับบอกว่า ที่จริงแล้ว เราไม่ควรจะเรียกมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลว่า Neanderthal Man เลย แต่ควรเรียกว่า Gibraltar Woman มากกว่า แต่น่าเสียดายที่ตอนค้นพบครั้งแรก ยังไม่ได้มีการระบุตรวจหาอายุอะไรต่อมิอะไรให้เป็นหลักเป็นฐานทางวิทยาศาสตร์ มนุษย์นีแอนเดอร์ธัลจากเยอรมนีเลยได้ชื่อนี้ไป

แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในยุคหลายหมื่นปีก่อน (คือราว 22,000 ปีก่อนคริสตกาล) มีการค้นพบว่า มนุษย์สปีชีส์ของเรา (คือ Homo sapiens sapiens) นั้น จะอาศัยอยู่ทางแถบโมร็อคโค คือแอฟริกาตอนเหนือ ตรงบริเวณที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหดแคบจนยุโรปกับแอฟริกาแทบจะเชื่อมถึงกัน (แต่ก็ไม่เชื่อมนะครับ เพราะบริเวณนั้นมีความลึก) แต่ไม่มีนีแอนเดอร์ธัลอยู่ทางโมร็อคโคเลย และในตอนนั้น มนุษย์สปีชีส์เราก็ไม่ได้ไปอยู่ในยุโรปด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ยุโรปเป็นบ้านของนีแอนเดอร์ธัล ส่วนพวกเราน่าจะเดินทางออกจากแอฟริกาขึ้นเหนือมาทีหลัง แต่ที่สุดด้วยเหตุผลอะไรบางอย่างที่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่รู้ มนุษย์สปีชีส์เราก็ได้เอาชนะนีแอนเดอร์ธัลและเบียดขับจนนีแอนเดอร์ธัลสูญพันธุ์ไป

การข้ามเมดิเตอร์เรเนียนในยุคนั้นน่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก อาจจะมี แต่ไม่น่าจะมีมากเท่าไหร่ แต่กระนั้นก็มีหลักฐานว่า ในถ้ำใต้น้ำที่ชื่อ Cosquer Grotto ใกล้ๆ กับเมือมาร์เซยส์ มีของแกะสลักฝีมือมนุษย์สปีชีส์เรา ที่เก่าแก่ถึง 27,000 ปีก่อนคริสตกาล รวมไปถึงภาพเขียนบนผนังถ้ำอายุ 19,000 ปีก่อนคริสตกาลด้วย

ถ้าได้อ่านหนังสือ คุณจะเห็นว่ามีแผนที่ประกอบ แล้วแผนที่การค้นพบร่องรอยดึกดำบรรพ์เหล่านี้ก็น่าสนใจมาก เพราะเราพบร่องรอยที่ยิบรอลตาร์กับที่มาร์เซยส์แล้ว แต่อีกที่หนึ่งที่แอฟริกา ‘ยื่น’ เข้ามาใกล้กับยุโรปไม่น้อย ก็คือทางตอนใต้ของซิซิลี

อย่างที่บอกว่า ซิซิลีนั้นอยู่ตรงกลางของเมดิเตอร์เรเนียนเลยใช่ไหมครับ แต่เมดิเตอร์เรเนียนแถวๆ ตูนิเซียนั้น จะยื่นขึ้นเหนือมาหน่อย จึงอยู่ห่างจากซิซิลีไม่มาก (ไม่มากในที่นี้ก็ร้อยกว่ากิโลเมตรนะครับ)

แต่ประเด็นก็คือ เมื่อหลายหมื่นปีที่แล้ว โลกยังอยู่ในยุคน้ำแข็ง นั่นทำให้น้ำส่วนใหญ่ของโลกจับแข็ง น้ำทะเลจึงมีระดับต่ำกว่าปัจจุบันมาก แผ่นดินจึงเชื่อมเกือบถึงกัน มีหลักฐานว่ามีการข้ามทะเลในบริเวณนี้ในยุคหินตอนปลาย คือราวๆ 11,000 ปีก่อนคริสตกาล

แล้วข้ามมาอยู่ที่ไหนรู้ไหมครับ

ใช่แล้ว – ซิซิลี!

ที่จริงก็มีการข้ามไปที่อื่นด้วยนั่นแหละ เช่น คิคลาเดส (Cyclades) ของกรีก แต่ที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงเอาไว้ค่อนข้างละเอียด ก็คือบนเกาะชื่อ ลีแวนโซ (Levanzo) ซึ่งเป็นเกาะบริวารของซิซิลีอีกทีหนึ่ง อยู่ทางตะวันตก พบว่ามีการตกแต่งถ้ำ วาดรูป ซึ่งรูปที่น่าทึ่งก็คือ เป็นรูปกวางและม้าด้วยนะครับ

การมีกวางและม้า บ่งชี้ว่าเมื่อก่อนซิซิลีน่าจะเชื่อมต่อกับอิตาลีเป็นแผ่นดินเดียวกัน ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่สามารถเพ่นพ่านเข้ามาได้ โดยมนุษย์พวกแรกๆ ที่มาอยู่ในแถบซิซิลีนั้น มีชีวิตเหมือนกับมนุษย์ที่ไปอยู่ที่อื่นๆ คือเป็นกลุ่มล่าหาอาหาร ตระเวนไป แต่สังคมน่าจะซับซ้อนพอสมควร

ที่สำคัญก็คือ พออยู่ๆ ไป ปรากฏว่าหมดยุคน้ำแข็งครับ ทำให้น้ำทะเลค่อยๆ เพิ่มระดับสูงขึ้น เขาบอกว่าน้ำทะเลน่าจะสูงขึ้นมาได้ถึงราว 120 เมตร (ซึ่งมากมายมหาศาล) ทำให้เกิดเกาะแก่งและเมดิเตอร์เรเนียนในรูปแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระดับน้ำทะเลนี่ค่อยเป็นค่อยไปนะครับ ไม่ได้พรวดพราดทีเดียว ทำให้คนค่อยๆ ปรับตัว แล้วผู้คนก็เลยตั้งรกรากกันอยู่ที่นี่ไปเลย

ที่สำคัญก็คือ ด้วยความที่เป็นภูเขาไฟ จึงมีหินแปลกๆ เยอะ เช่น หินฟลินท์หรือหินเหล็กไฟที่เอาไว้ตีให้เกิดประกายไฟได้ หรือหินอย่างอ็อบซิเดียน (Obsidian) ซึ่งมีอยู่มากบนเกาะลิพารี (Lipari) ที่อยู่ทางเหนือ ใกล้ๆ กับวัลแคนและสตรอมโบลี คนก็เลยไปเก็บอ็อบซิเดียนเอามาทำอาวุธกัน เพราะว่ามันสามารถลับให้คมกริบได้ดีกว่าหินอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้ The Great Sea จึงเป็นหนังสือที่ให้คำตอบกับผมว่า – ชาวซิซิลีมาจากไหน มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร ซึ่งก็แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ ทว่ายังดำเนินต่อเนื่องยาวนานและสลับซับซ้อนมาก เพราะเมดิเตอร์เรเนียนนั้นถือว่าเป็น ‘แอ่งอารยธรรม’ ใหญ่มากแหล่งหนึ่งของโลก

ถ้าใครอยากไปเที่ยวยุโรปใต้ แนะนำให้อ่านหนังสือเล่มยักษ์เล่มนี้นะครับ แม้จะยาวกว่า 700 หน้า แต่อ่านสนุกมาก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save