fbpx
ผลพวงแห่งความคับแค้น The Grapes of Wrath

ผลพวงแห่งความคับแค้น The Grapes of Wrath

‘นรา’ เรื่อง

 

The Grapes of Wrath หรือ ‘ผลพวงแห่งความคับแค้น’ เป็นงานเขียนชิ้นสำคัญของจอห์น สไตน์เบ็ค ซึ่งส่งผลหนุนเนื่องให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในอีกไม่กี่ปีต่อมา

นิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1939 นอกจากจะประสบความสำเร็จขายดิบขายดีแล้ว ยังก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กว้างขวางไปทั่วทุกสารทิศ ทั้งในทางดีและทางร้าย

ในด้านบวก The Grapes of Wrath ได้รับคำชื่นชมว่า เป็นงานเขียนที่ทรงพลัง ถ่ายทอดประเด็นปัญหาใหญ่โตระดับชาติช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เมื่อทศวรรษ 1930 ตีแผ่ออกมาได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เป็นโศกนาฏกรรมที่ทำร้ายจิตใจผู้อ่านกันอย่างเหลือหลาย ด้วยฝีมือการเขียนชั้นครูที่เก่งฉกาจฉกรรจ์

ขณะเดียวกัน เสียงตอบรับในทางตรงข้ามก็แน่นหนาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ข้อกล่าวหาที่รุนแรงสุด โจมตีสไตน์เบ็คว่าจงใจเสนอภาพเกี่ยวกับบรรดาเจ้าของไร่ขนาดใหญ่ในแคลิฟอร์เนียให้ดูชั่วร้ายเลวทรามสุดกู่ เต็มไปด้วยการบิดเบือนแบบละเลงสีสันให้สรรพสิ่งเลวร้ายเกินจริง รวมถึงเป็นงานโฆษณาชวนเชื่อทัศนะทางการเมืองเอียงซ้ายของสไตน์เบ็ค

ความอื้อฉาวดังกล่าว ส่งผลให้ในบางแห่งบางที่ The Grapes of Wrath กลายเป็นหนังสือต้องห้าม และมีคนโกรธแค้นถึงขั้นเผาหนังสือ เช่นเดียวกับที่มีคนจำนวนมากยกย่องชื่นชม

แต่ไม่ว่าจะคิดเห็นรู้สึกผิดแผกกันเช่นไร? ท้ายที่สุด The Grapes of Wrath ก็กลายเป็นหนังสือที่ทุกคน ‘ต้องอ่าน’ และ ‘ได้อ่าน’

The Grapes of Wrath แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ‘ผลพวงแห่งความคับแค้น’ โดยณรงค์ จันทร์เพ็ญ ตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2527 ผมมีโอกาสได้อ่านในระยะนั้น ตอนที่ชั่วโมงบินในการอ่านยังเตาะแตะอ่อนหัด และยังคุ้นเคยเฉพาะกับงานเขียนเน้นความบันเทิงทั่วไป

ผลก็คือ เป็นความทรมานล้วนๆ ไร้ความบันเทิงเจือปน กว่าจะอ่านผ่านพ้นแต่ละหน้าเป็นไปอย่างเชื่องช้ายากลำบาก แต่ด้วยอรรถรสที่ต่างจากความเคยชิน และเหตุชะดีชะร้ายต่างๆ นานาสารพันอันเกิดขึ้นกับกลุ่มตัวละครหลัก ดลบันดาลให้กัดฟันกลั้นใจอ่านไปจนจบ ด้วยความเหน็ดเหนื่อยและทุลักทุเลสาหัส

ผ่านพ้นจากครั้งนั้นแล้ว ผมจำเรื่องราวทั้งหมดจากการอ่านครั้งแรกไม่ได้เลย แต่สิ่งหนึ่งซึ่งจำฝังใจไม่รู้ลืมไปตลอดชีวิตคือ ในช่วงต้นเรื่อง จอห์น สไตน์เบ็คเขียนบรรยายถึงเต่าตัวหนึ่ง ปีนขึ้นเนินจากข้างทางไปบนถนนอย่างเชื่องช้าและยากเย็นแสนเข็ญ กินความยาวหลายหน้ากระดาษ

ตลอดเวลาร่วมๆ 30 กว่าปีต่อมา ผมคิดจะอ่านทบทวน The Grapes of Wrath อีกครั้งอยู่เนืองๆ แต่ครั้นนึกถึงฉากพรรณนาสาธยายการเดินทางของเต่าตัวนั้นขึ้นมาทีไร ก็เกิดความเข็ดขยาดยำเกรง จนให้มีอันต้องถอดใจไปเสียทุกคราว

ผมเพิ่งมาพบวิธี ‘แก้ชง’ ทางการอ่านเมื่อไม่นานนี้ โดยหันเหไปหาวรรณกรรมสายแข็งอ่านยากของนักเขียนอื่นๆ จำนวนมาก จนกระทั่งมั่นใจว่าพอจะรับมือไหว จึงหยิบ The Grapes of Wrath มาอ่านใหม่

แล้วก็พบว่า ทุกสิ่งเปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง The Grapes of Wrath กลายเป็นหนังสืออ่านไม่ยาก เปี่ยมรสบันเทิง เต็มไปด้วยลีลาแบบที่เรียกกันว่า old school ซึ่งแลดูเก่าไปเรียบร้อยแล้วเมื่อเทียบกับกลุ่มงานร่วมสมัยในยุคถัดจากนั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ความเป็น old school หรือลีลาแบบแผนเยี่ยงงานรุ่นเก่าของ The Grapes of Wrath นั้น เป็นกลิ่นอายความเก่าที่ยังคงดีงามยอดเยี่ยมอยู่นะครับ เทียบเคียงแล้วเหมือนดูหนังคลาสสิกของจอห์น ฟอร์ด, จอห์น ฮุสตัน, เดวิด ลีน, บิลลี ไวด์เลอร์ หรือแฟรงค์ คาปรา ซึ่งล้วนแล้วแต่มีจุดเด่น บรรยากาศ และเสน่ห์เฉพาะตัวตามยุคสมัยที่ชิ้นงานนั้นสร้างขึ้น เพียงแค่ไม่เท่ ไม่ทันสมัย ไม่สด ไม่แปลกใหม่อีกต่อไปเมื่อเทียบกับผลงานโดยรวมในยุคปัจจุบัน

เช่นเดียวกับ East of Eden มาสเตอร์พีซอีกเรื่องของจอห์น สไตน์เบ็ค The Grapes of Wrath เป็นงานเขียนที่เปี่ยมด้วยความทะเยอทะยานและ ‘คิดการใหญ่’ แสดงจุดจำนงแน่วแน่ชัดเจนว่า มุ่งหมายให้เป็นมหากาพย์ และผลลัพธ์ก็คือ ‘ทำถึง’

รสบันเทิงใน The Grapes of Wrath ไม่ได้อยู่ที่พล็อตหรอกนะครับ แต่อยู่ที่วิธีการบอกเล่า และพลังในการบรรยายอย่างแจ่มแจ้งเห็นจริง รวมทั้งอื่นๆ อีกมากที่ผมจะกล่าวถึงต่อไป

เนื้อเรื่องนั้น ซื่อ ง่าย ตรงไปตรงมา ว่าด้วยช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ บวกรวมกับเภทภัยธรรมชาติที่เรียกกันต่อมาว่า The Dust Bowl

The Dust Bowl เป็นชื่อเรียกขานพายุฝุ่นรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งตลอดช่วงทศวรรษ 1930 ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลในภูมิภาคตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เท็กซัสไปจนถึงเนบราสกา ส่งผลให้เกิดภัยแล้ง ผู้คน ปศุสัตว์ และพืชไร่ เสียหายย่อยยับ จนบรรดาคนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมนับหมื่นนับแสนต้องสูญเสียที่ดินทำกิน สิ้นเนื้อประดาตัว และนำไปสู่การหลั่งไหลอพยพถิ่นฐานแบบซมซานกระเซอะกระเซิง หนีตายไปยังดินแดนตะวันตกเพื่อเสี่ยงโชค และวาดหวังว่าชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น

สไตน์เบ็คเขียน The Grapes of Wrath ด้วยกลวิธีดำเนินเรื่องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน และเล่าสลับไปมาระหว่างบทต่อบท (แต่ไม่เคร่งครัดตามนี้เสมอไปนะครับ บางจังหวะก็มีการทิ้งช่วงเว้นระยะห่างระหว่างแต่ละส่วน) ส่วนที่เป็นเส้นเรื่องนั้นกล่าวถึงสมาชิกครอบครัวโจดสิบกว่าชีวิต (ครอบคลุมทั้งเด็ก สตรี คนชรา และสตรีมีครรภ์) ซึ่งเผชิญกับชะตากรรมทุกข์เข็ญดังกล่าว จนตัดสินใจละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดใกล้ๆ เมืองแซลลิซอว์ รัฐโอกลาโฮมา เดินทางรอนแรมยาวไกลระยะทางร่วมๆ 2 พันไมล์ ตามใบปลิวโฆษณาเชิญชวนว่า มีงานดีรายได้งามจำนวนมากรอคอยอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย

เนื้อเรื่องนั้นเล่าแจ้งแถลงความโดยละเอียด ตั้งแต่ที่มาสาเหตุเบื้องต้น ครอบครัวโจดประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติเช่นไร สูญเสียที่ดินเพราะเหตุใด เตรียมตัวก่อนเดินทางอย่างไร เจ็บช้ำน้ำใจมากเพียงไรกับการละทิ้งบ้านเกิดที่ผูกพันมาทั้งชีวิต เผชิญเรื่องราวเหตุการณ์ดีร้ายอันใดบ้างระหว่างเดินทาง และพบพานสิ่งใด ณ ที่หมายปลายทาง รวมทั้งการแจกแจงรายละเอียดชีวิตของสมาชิกแต่ละคน ซึ่งมีปมปัญหาในใจ ความใฝ่ฝัน ผิดแผกไม่เหมือนกัน แต่มีสภาพชีวิตและชะตากรรมเดียวกัน

อีกส่วนหนึ่งใน The Grapes of Wrath ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินเรื่องโดยตรง เป็นการเล่าถึง ‘ภาพรวม’ ของแง่มุมต่างๆ ที่เกิดขึ้น เริ่มจากการบรรยายถึงเหตุธรรมชาติของพายุฝุ่น ความพินาศเสียหายที่ติดตามมา การกู้หนี้ยืมสินจากธนาคาร เพื่อหวังกอบกู้ไร่นาพืชผล แต่แล้วกลับกลายเป็นพอกหนี้เพิ่มพูน จนกระทั่งโดนยึดที่ดินบ้านเรือน และโดนไล่ที่ ความอดอยากยากแค้น ความเฟื่องฟูของกิจการขายรถยนต์มือสองให้แก่ผองเหล่าผู้อพยพ ขบวนผู้รอนแรมข้ามประเทศบนท้องถนนทางหลวงสายหลัก การตั้งค่ายพักริมทาง การเล่าถึงผลผลิตที่ล้นเกินความต้องการของตลาด จนราคาตกต่ำ และต้องกำจัดทิ้งเพื่อพยุงราคา กลวิธีของนายทุนที่ระดมเชิญชวนผู้คนมาทำงานเก็บผลไม้ ให้หลั่งไหลเข้ามาเกินจำนวนที่ต้องการหลายเท่าตัว เพื่อกดราคาค่าแรงให้ต่ำสุด ฯลฯ

พูดอีกนัยหนึ่ง สไตน์เบ็คเล่าเรื่องความเป็นไปของครอบครัวโจดในลักษณะของภาพใกล้เพื่อแสดงรายละเอียดเชิงลึก ขณะที่อีกส่วนหลักซึ่งไม่เกี่ยวกับการดำเนินเรื่องโดยตรง เน้นไปยังภาพกว้างโดยรวมแบบพาโนรามาของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระดับประเทศช่วงขณะนั้น ทั้งสองส่วนทำหน้าที่ขยายความแก่กันและกัน บางครั้งก็เล่าเรื่องทดแทนกัน บางครั้งก็เล่าซ้ำแง่มุมเดียวกัน เพื่อตอกย้ำแก่นสารสำคัญ รวมทั้งใช้การคั่นสลับนี้ เป็นตัวช่วยสำหรับเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านของเวลาและสถานที่ (ในการขับเคลื่อนเส้นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวโจด)

มีหลายบทที่การเล่าภาพรวมกว้างๆ เขียนขึ้นเหมือนการตัดต่อลำดับภาพอย่างรวดเร็วฉับไว ผ่านหลาย ๆ บทสนทนาที่ไม่ได้ระบุว่าใครเป็นคนพูด รวมทั้งใช้เทคนิคการเขียนต่างๆ สารพัดสารพัน

ตอนสมัยอ่านครั้งแรกนั้น ช่วงเรื่องเล่าที่ไม่เกี่ยวกับครอบครัวโจด เป็นยาขมที่ทำให้ผมรู้สึกว่าน่าเบื่อ และไม่สนุก แต่กับการอ่านครั้งล่าสุด กลายเป็นช่วงน่าตื่นเต้นน่าประทับใจมาก (ขณะที่เรื่องราวส่วนของครอบครัวโจดนั้นมีความเข้มข้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว)

สไตน์เบ็คเขียน The Grapes of Wrath ด้วยการเล่าผ่านมุมมองที่ไม่ระบุตัวตน มีลักษณะเป็นผู้รอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง และหลายครั้งก็ปรากฏชัดว่า สไตน์เบ็คแสดงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ที่เป็นมุมมองความคิดของเขาออกมาตรงๆ

การใช้วิธีเล่าเรื่องสลับไปมาระหว่าง 2 ส่วนนี้ ยังส่งผลให้ The Grapes of Wrath มีคุณสมบัติเป็นมหากาพย์และเป็นนิยายโศกนาฏกรรมที่ยิ่งใหญ่อย่างเต็มเปี่ยม

ความโดดเด่นต่อมาคือ ฝีมือการบรรยายอันยอดเยี่ยม ทั้งการเล่าถึงฉากหลังและบรรยากาศที่ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพคล้อยตามแจ่มชัด (ฉากฝนตกหนักน้ำท่วมตอนท้าย เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ), การลงลึกในรายละเอียดต่างๆ ทั้งการปรุงอาหาร, ซ่อมแซมรถยนต์, รูปร่างลักษณะของตัวละคร, การเก็บเกี่ยวพืชไร่ ฯลฯ ซึ่งยังผลให้งานเขียนชิ้นนี้เต็มไปด้วยความหนักแน่นสมจริง และที่เหนือชั้นมากคือ จังหวะฝีมือในการใช้โวหารวรรณศิลป์ อรรถาธิบายด้วยสำเนียงลีลาราวกับบทกวี เพื่อสร้างอารมณ์หม่นหมองสะเทือนใจได้อย่างมีชั้นเชิงและลึกซึ้งกินใจ

อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญสุดและเป็นสิ่งที่นิยายเรื่องนี้แผลงฤทธิ์ได้มีประสิทธิภาพสุด ก็คือ เนื้อหาสาระ

โดยพล็อตเรื่องและท่วงทีลีลาการเขียน ดูเผินๆ แล้ว The Grapes of Wrath เหมือนงานจำพวก ‘เพื่อชีวิต’ ตามสูตรสำเร็จที่คุ้นเคย มันพูดถึงความทุกข์ยากของคนจนที่โดนนายทุนกดขี่เอารัดเอาเปรียบแบบตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม แต่ยักษ์ใหญ่แห่งวงการวรรณกรรมอย่างจอห์น สไตน์เบ็ค มีความเหนือชั้นที่นำพาให้นิยายเรื่องนี้กินความ ‘ลงลึก’ ไปได้หลายระดับชั้น กระทั่งเป็นได้มากและไปไกลกว่างานเขียนแบบชูธงท้ารบ

บนพื้นผิวภายนอก The Grapes of Wrath เป็นงานสะท้อนปัญหาสังคมที่เข้มข้น หนักแน่น สมจริง แจกแจงแง่มุมต่างๆ ของปัญหาอย่างถี่ถ้วนรัดกุมและรอบด้าน แสดงทั้งแง่มุมปลีกย่อยที่เป็นปลายทางของปัญหา และภาพรวมที่ทำให้เห็นถึงต้นตออันบิดเบี้ยวเฉไฉของระบบ ซึ่งโยงใยไปยังการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ กลไกทางเศรษฐกิจและกระแสทุนนิยม

ในระดับต่อมา นิยายเรื่องนี้เน้นย้ำให้เห็นถึงธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความโลภโมโทสัน ความเห็นแก่ตัว การแก่งแย่ง การกระเสือกกระสนดิ้นรนเอาตัวรอด จนสามารถทำในสิ่งที่ชั่วร้ายเหลือเชื่อต่อมนุษย์ด้วยกัน

มี 2 ประเด็นใหญ่ที่ผมจับอกจับใจมากเป็นพิเศษในงานเขียนชิ้นนี้ อย่างแรกคือ เรื่องความโหดร้ายไร้มนุษยธรรม และความดีงามเบื้องลึกในตัวมนุษย์ ซึ่งเล่าสะท้อนเทียบเคียงกันอยู่ตลอดเวลาแบบวางน้ำหนักได้สมดุลมาก ในแง่นี้ The Grapes of Wrath เป็นนิยายที่เฆี่ยนโบยทำร้ายจิตใจผู้อ่านอย่างถึงที่สุด ด้วยการแสดงด้านร้ายกาจจนชวนให้สิ้นหวังในความเป็นมนุษย์ แต่ขณะเดียวกัน มันก็ฉายภาพด้านบวกของคนได้งดงาม ชวนให้เลื่อมใสศรัทธาต่อความเป็นมนุษย์มากไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

แง่มุมถัดมาคือ ตลอดเส้นทางระหกระเหินรอนแรมข้ามประเทศ นิยายเรื่องนี้เล่าถึงความเป็นครอบครัวที่เกาะกลุ่มกันเหนียวแน่นในเบื้องต้น และต้องกระจัดพลัดพรายไปคนละทิศละทางในบั้นปลาย แต่ก็ยังผูกพันกันด้วยสายใย ความทรงจำ และความห่วงหาอาทรต่อกัน

ประเด็นข้างต้นนี้ยังเกี่ยวโยงไปสู่อีกหนึ่งสาระสำคัญ คือการเล่าถึงวิบากกรรมนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งย่ำยีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ กัดกร่อนทำลายความเป็นมนุษย์ และการยืนกรานต่อต้านเพื่อธำรงรักษาความเป็นมนุษย์นี้ให้คงอยู่จนถึงที่สุด

ตลอดทั่วทั้งนิยายความหนาร่วมๆ พันหน้า The Grapes of Wrath ทำให้ผู้อ่านเกิดความหวัง จากนั้นก็ดับทำลายความหวังที่มีอยู่จนมืดหม่น แล้วก็สร้างความหวังขึ้นมาใหม่ ทำลายมันอีก นับครั้งไม่ถ้วน

แล้วดำเนินเรื่องพาผู้อ่านไปสู่จุดที่มืดมิดมากสุด สิ้นไร้ความหวังมากสุด ก่อนจะจบลงอย่างเด็ดขาดทรงพลัง สั่นสะเทือนหัวจิตหัวใจอย่างรุนแรง

เป็นการจบเรื่องลง แบบทิ้งประเด็นสำคัญๆ เอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตถัดจากนั้นของทอม โจดผู้เป็นตัวเอกของเรื่อง ซึ่งจำเป็นต้องแยกพรากจากครอบครัว และผู้อ่านไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร, เหตุการณ์พายุฝนตกกระหน่ำหนักไม่ลืมหูลืมตาเนิ่นนาน จนเปลี่ยนความหวาดกลัว ความขัดสนสิ้นหวังของผู้คนมากมาย กลายเป็นความโกรธแค้น และลุกลามบานปลายเป็นการก่อเหตุวุ่นวาย

ถึงตรงนี้ จอห์น สไตน์เบ็คก็ใช้ประโยชน์จากการเล่าสลับระหว่างภาพรวมเหตุการณ์ทางสังคมกับการเล่าเจาะไปที่ครอบครัวโจด

ก่อนบทสุดท้าย นิยายได้สรุปประมวลเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วม และความเสียหายร้ายแรง ตั้งแต่แรกเริ่มจนกระทั่งยุติ

แต่ในบทจบปิดเรื่อง เหตุการณ์และช่วงเวลาเพิ่งอยู่ในช่วงตั้งต้นได้ไม่นานนัก ความสูญเสียหลายระลอกที่เกิดขึ้นกับครอบครัวโจด ไม่เพียงแต่จะทำให้เศร้าสะเทือนใจหนักหน่วงเท่านั้น ทว่าบทเกริ่นก่อนหน้า ซึ่งบอกให้ผู้อ่านรู้กระจ่างถึงเหตุการณ์ทั่วไปล่วงหน้า ยิ่งทำให้ความหวังที่ริบหรี่อยู่ก่อนแล้ว มืดมิดดับสนิทกลายเป็นทุกข์เทวษหนักอึ้งในใจ เกิดความกังวลและมองไม่เห็นหนทางใดๆ ที่สมาชิกครอบครัวโจดจะรอดพ้นจากวิกฤตขั้นหายนะนี้ไปได้

นี่ยังไม่นับรวมถึงฉากเข้มขมก่อนหน้า คือเหตุการณ์ที่เกิดกับตัวละครชื่อโรสแห่งชารอน (ซึ่งมีนักวิจารณ์ในต่างประเทศ วิเคราะห์ว่า สภาพตั้งแต่เริ่มต้นและบทลงเอยของตัวละครนี้ เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญที่มีอยู่มากมายในนิยาย)

สิ่งที่เกิดขึ้นกับโรสแห่งชารอน เป็นความใจร้าย เหี้ยมเกรียม และเลือดเย็นของจอห์น สไตน์เบ็ค จนอาจทำให้นิยายเรื่องนี้มืดหม่นชวนให้จิตตกแบบกู้คืนฟื้นกลับไม่ได้เลย

แต่จอห์น สไตน์เบ็คสามารถทำได้ และทำได้วิเศษมาก ด้วยฉากจบสั้นๆ ง่ายๆ เพียงแค่ไม่กี่หน้า ก็ทำให้ความเลวร้ายมืดมิดทั้งหลายทั้งปวง กลับมาสว่างสดใส ทำให้ข้อกังวลสงสัยเกี่ยวกับความเป็นไปต่างๆ นานาในวันข้างหน้าของตัวละครที่นิยายละเว้นไม่เล่าถึง กลายเป็นความคลุมเครือที่ไม่สลักสำคัญอีกต่อไป

เป็นฉากจบที่ดีงามที่สุดอีกเรื่องหนึ่งเท่าที่ผมเคยอ่านเจอในนิยาย และทำให้รู้สึกว่า แม้โลกและชีวิตจะเลวร้ายบัดซบมากมายเพียงไร โลกและชีวิตก็ยังมีแง่งาม คุ้มค่าแก่การดิ้นรนต่อสู้หรือทนทุกข์อยู่กับมัน

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save