fbpx

สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก…และความสูญเสีย – The God of Small Things (เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ)

นิยายเรื่อง The God of Small Things (ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อว่า ‘เทพเจ้าแห่งสิ่งเล็กๆ’) ของอรุณธตี รอย (ได้รับรางวัล Booker Prize เมื่อปี 1997) เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งซึ่งผมประทับใจมากและหยิบมาอ่านซ้ำอยู่เนืองๆ

The God of Small Things เป็นงานเขียนที่ครบครันและลงตัวมาก ทั้งรสบันเทิง เนื้อหาสาระ และความถึงพร้อมในทางศิลปะ

เนื้อเรื่องรวบรัด เล่าไม่ตรงตามนิยาย จับความได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการล่มสลายของครอบครัวชนชั้นกลางฐานะดี ทำธุรกิจผักดอง ผลไม้ดอง และแยม สมาชิกครอบครัวประกอบด้วยคนสามรุ่น

รุ่นปู่ย่าตายาย ประกอบไปด้วยคู่สามีภรรยา ปัปปาจีกับมัมมาจี และเบบี้ โกจัมมา (น้องสาวของปัปปาจี)

รุ่นพ่อแม่ คือ จักโก (ลูกชาย) และอัมมู (ลูกสาว)

รุ่นหลาน ได้แก่ คู่ฝาแฝดเอสธากับราเฮล (ลูกของอัมมู) และโซฟี โมล (ลูกของจักโกกับภรรยาชาวอังกฤษชื่อ มาร์กาเร็ต โกจัมมา ซึ่งได้หย่าร้างกัน)

ในนิยายเล่าถึงความเป็นมาในอดีตของตัวละครทั้งหมดนี้ว่าใครเคยทำอะไร เป็นอย่างไรกันมาบ้าง แต่เหตุการณ์ซึ่งเป็นเส้นเรื่องหลักคือการเดินทางจากอังกฤษมาเยือนอินเดียของ 2 แม่ลูก-มาร์กาเร็ตกับโซฟี, การตระเตรียมต้อนรับ, การเดินทางไปรับที่สนามบิน และชีวิตช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่บ้านอเยเมเน็มของผู้มาเยือน

เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ปะติดปะต่อเกี่ยวโยงกัน และเกิดขึ้นเคียงข้างกับเรื่องราวความรักต้องห้ามระหว่างอัมมูกับคนงานที่เป็นจัณฑาล กระทั่งกลายเป็นโศกนาฏกรรมเศร้าสลด ทิ้งบาดแผลทางใจให้แก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง (และยังคงมีชีวิตอยู่) ตลอด 23 ปีต่อมา

The God of Small Things เป็นเรื่องเล่าที่มีพล็อต เหตุการณ์ และสาระที่นักเขียนตั้งใจสื่อสารสู่ผู้อ่านดีมากๆ เป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว และยิ่งโดดเด่นเพิ่มทวีขึ้นไปอีกอักโข เมื่อถ่ายทอดออกมาด้วยวิธีการอันเยี่ยมยอด

ความโดดเด่นในท่วงทีลีลาการเขียนของอรุณธตี รอย จำแนกรวบรัดได้เป็น 2 หัวข้อใหญ่ๆ อย่างแรกเป็นความสามารถในการใช้ภาษา ทั้งการบรรยายพรรณนาให้ผู้อ่านเห็นภาพคล้อยตามได้อย่างแจ่มชัด เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา, การเปรียบเปรยอย่างคมคาย ช่างคิด ร่ำรวยจินตนาการ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร

ที่สำคัญคือเป็นลีลาทางวรรณศิลป์ที่น่าอ่าน ชวนติดตาม และมีเสน่ห์ดึงดูดอย่างล้นเหลือ

ถัดมาคือการลำดับวางโครงสร้างการเล่าเรื่อง ซึ่งร้อยเรียงเหตุการณ์สลับไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบันอย่างพิสดาร ดูเผินๆ เหมือนกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ แต่เมื่อติดตามอ่านไปได้สักพัก ผู้อ่านก็ตระหนักได้ทันทีว่าเป็นการลำดับเรื่องที่ผ่านการออกแบบอย่างประณีตบรรจง

ความตื่นเต้นเบื้องต้นของผม (ทุกครั้งที่อ่าน) ก็คือประสิทธิภาพในการสื่อสารเล่าเรื่อง ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเรื่องราวความเป็นไปต่างๆ ได้ตลอดโดยไม่เกิดความสับสนงุนงง

ผลพวงพิเศษต่อมาจากการเล่าเรื่องวางลำดับ ต้น กลาง ปลายเสียใหม่ ไม่ดำเนินไปตามเวลาเกิดเหตุของนิยายเรื่องนี้ก็คือ มันให้อารมณ์ที่แตกต่างไกลลิบลับจากการเล่าเรื่องตามลำดับปกติ

พูดง่ายๆ คือ หากเล่าไปตามลำดับ หนึ่ง สอง สาม ตามปกติ The God of Small Things จะกลายเป็นนิยายโศกนาฏกรรมสะเทือนใจ ซึ่งเริ่มต้นด้วยบรรยากาศสดใส และค่อยๆ มืดหม่นมากขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นก็ลงเอยด้วยความโหดร้ายรุนแรง พังพินาศ และสิ้นหวัง

แต่ด้วยวิธีการเล่าดังเช่นที่เป็นอยู่ อารมณ์ต่างๆ ข้างต้นจึงปรากฏแบบเหลื่อมซ้อนกันตลอดเวลา และมีความแตกต่างเด่นชัดในบทสุดท้าย ซึ่งทั้งสวยงาม เศร้าสะเทือนใจ แฝงด้วยความหวัง (และยิ่งชวนให้ใจสลายหนักขึ้นอีกเมื่อผู้อ่านรู้ว่าในเวลาต่อมาเกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร)

กล่าวโดยสรุปคือ อารมณ์อันวิเศษในช่วงท้ายๆ ของ The God of Small Things จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเล่าลำดับตามวิธีปกติ

ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับเนื้อความตอนหนึ่ง (หน้า 259) เขียนไว้ว่า

“ถึงการแสดงจะเริ่มไปแล้ว นั่นก็ไม่สำคัญ เพราะกถักฬิได้ค้นพบมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว ว่าความลับของเรื่องที่ยิ่งใหญ่นั้น คือการไม่มีความลับ เรื่องราวที่ยิ่งใหญ่คือเรื่องราวที่คุณเคยได้ยินได้ฟังมาแล้วแต่ยังอยากจะฟังอีก เป็นเรื่องที่คุณเข้าไปตอนไหนก็ได้และสบายใจที่จะอยู่กับมัน เรื่องเช่นนี้จะไม่หลอกคุณด้วยการหักมุมตอนจบเพื่อให้ตื่นเต้น ไม่นำสิ่งที่คุณไม่เคยเห็นมาทำให้คุณแปลกใจ ทุกสิ่งคุ้นเคยเหมือนบ้านที่คุณอยู่ หรือกลิ่นกายของคนที่คุณรัก คุณรู้ว่าเรื่องมันจะจบอย่างไร แต่คุณก็อยากฟังเหมือนคุณไม่รู้ ทำนองเดียวกันกับคุณรู้ว่าคุณจะตาย แต่เราก็มีชีวิตอยู่ต่อไปเหมือนเราไม่รู้ ในเรื่องที่ยิ่งใหญ่คุณรู้ว่าใครมีชีวิตอยู่ ใครตาย ใครพบรัก ใครไม่พบ แต่คุณก็ยังอยากรู้อยู่ดี”

The God of Small Things เปิดเผยความลับสำคัญทั้งหมด (อุบัติเหตุที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเสียชีวิต, ความรักต้องห้ามของหนุ่มสาวต่างวรรณะ, เรื่องอื้อฉาวที่จบลงอย่างโหดร้ายทารุณ, ความล่มสลายพังพินาศย่อยยับที่เกิดกับเหล่าสมาชิกในครอบครัว) เกริ่นนำย้ำเตือนให้ผู้อ่านทราบถึงบทลงเอยอันเป็นโศกนาฏกรรม บางขณะก็ขยายความให้รายละเอียดเกี่ยวกับบางความสูญเสียที่เกิดขึ้นตามรายทางของนิยาย

ลักษณะเช่นนี้ส่งผลสำคัญ 2 ประการ คือทำให้ตลอดการอ่าน ซึ่งเล่าเหตุการณ์ผสมปนสลับไปมาระหว่างด้านรื่นรมย์และด้านปวดร้าว อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นของผู้อ่านจะไม่โน้มเอียงไปสู่ด้านใดด้านหนึ่งโดยสนิทใจ

ถัดมาคือ การเผยความลับทั้งหมดตั้งแต่ต้นและย้ำเตือนอยู่เป็นระยะๆ ส่งผลให้ความเข้มข้นสูงสุดในการติดตามอ่าน (หรือจะเรียกง่ายๆ ว่า การเล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของผู้อ่าน) กลายเป็นคำถามสำคัญว่า เหตุการณ์ต่างๆ นำพาตัวละครคืบหน้าไปสู่ชะตากรรมปลายทางอันเป็นโศกนาฏกรรมได้อย่างไร

แง่มุมนี้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้อ่านนิยายเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้ไม่รู้เบื่อ และจับใจร้าวลึกทุกครั้ง

The God of Small Things ก็เหมือนเรื่องโศกนาฏกรรมอมตะส่วนใหญ่ ตัวละครสามารถคาดคะเนได้ว่าสิ่งที่เขาหรือเธอกระทำจะนำพาไปพบกับเภทภัยความเสียหายเช่นไร แต่ท้ายที่สุดก็ยังคงยืนกรานกระทำตามนั้น กระทั่งพบกับโศกนาฏกรรมในท้ายที่สุดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

พูดแบบเปรียบเทียบเคียง บั้นปลายใน The God of Small Things เหมือนสิ่งที่ถูกกำหนดเอาไว้แน่ชัดอยู่ก่อนแล้วว่าจะต้องลงเอยเช่นนี้ มันเป็นชะตากรรมที่ไม่อาจฝืนต้านเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น

อย่างไรก็ตาม ‘ชะตากรรม’ ใน The God of Small Things ไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากการดลบันดาลของเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นผลมาจากทัศนคติ ความเชื่อ และหลายๆ ปัญหา ซึ่งฝังรากลึกสั่งสมมาเนิ่นนานในสังคมอินเดีย อาทิ ความเหลื่อมล้ำไม่เสมอภาคทางเพศ, การแบ่งชั้นวรรณะ, ผลพวงจากการตกเป็นอาณานิคมภายใต้การปกครองของอังกฤษ, ความหลากหลายทางศาสนาซึ่งไม่ลงรอยกัน รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมือง ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ผสมรวมเป็นสิ่งละอันพันละน้อย ที่ผลักดันบีบต้อนให้ตัวละครหลักหลายๆ รายคืบเคลื่อนเข้าสู่ความสูญเสีย ย่อยยับ และแหลกสลายในท้ายที่สุด

แง่มุมข้างต้นมีทั้งที่เล่าอย่างตรงไปตรงมา เช่น ปัญหาจากการเมือง, ค่านิยมที่ยกย่องเชิดชูผู้ชายเป็นใหญ่, การถือชั้นวรรณะ แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือการเล่าโดยวิธีทางอ้อมผ่านรายละเอียดปลีกย่อย (นิยายเรื่องนี้ เต็มไปด้วยการพรรณนาถึง ‘สิ่งเล็กๆ’ จำนวนมาก ตั้งแต่เหตุการณ์ สิ่งของ ธรรมชาติ ฯลฯ) รวมถึงการกระทำ ซึ่งโดยตัวมันเองตามลำพังไม่ได้มีพลังมากพอจะก่อแรงกระเพื่อมใหญ่โต แต่เมื่อผนวกบวกรวมทั้งหมดเข้าด้วยกัน รายละเอียดยิบย่อยเหล่านี้ก็กลายเป็นสิ่งเล็กๆ สิ่งหนึ่ง นำไปสู่ผลลัพธ์เล็กๆ อีกอย่างหนึ่ง สุดท้ายรวมเข้ากันเป็นแรงเหวี่ยงมหาศาล ก่อให้เกิดความเสียหายเกินควบคุม

หน้า 37 ในนิยาย กล่าวไว้ว่า “เหตุการณ์เล็กๆ สิ่งธรรมดาๆ ที่ถูกกระหน่ำทำลาย แล้วนำมาประกอบกันขึ้นใหม่ แต่งเติมความหมายใหม่ๆ จนกลายเป็นโครงกระดูกขาว เป็นแกนของเรื่องราวทั้งหมด”

ในท่ามกลางสิ่งเล็กๆ จำนวนมากมาย ผมคิดว่า ‘ความรัก’ เป็นประสบการณ์ที่ตัวละครหลักๆ ทั้งหมดมีร่วมกัน

กล่าวคือ บรรดาตัวละครใน The God of Small Things โดนขับเคลื่อนให้คิดอ่านกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรักอันหลากหลาย ซึ่งมีทั้งความรักระหว่างหนุ่มสาว พ่อแม่กับลูก ความรักที่สมปรารถนาและความรักที่ไม่สมหวัง

ตัวอย่างเช่น มัมมาจีมีชีวิตแต่งงานที่โดนสามีกดขี่ข่มเหงมาตลอด เธอจึงทุ่มเทความรักไปยังจักโกผู้เป็นลูกชาย จนกลายเป็นความรักผิดๆ แบบไม่ลืมหูลืมตา ให้ท้ายบุตรชาย สร้างความเสียหายผิดพลาดนับครั้งไม่ถ้วน

จักโกรักมาร์กาเร็ต เมื่อทราบข่าวโจ (สามีใหม่ของมาร์กาเร็ต) ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต เขาตัดสินใจชวนอดีตภรรยากับลูกสาวให้เดินทางมาเยี่ยมเยียนที่อินเดีย โดยหยิบยกข้ออ้างว่าระยะทางอันห่างไกลและแปลกถิ่นอาจช่วยทำให้คลายเศร้าไปได้บ้าง แต่เจตนาแท้จริงคือหวังว่าจะมีโอกาสหวนกลับมาคืนดีกันได้อีก

มาร์กาเร็ตยินยอมพาลูกสาวมาเยือนอินเดีย เพราะหวังจะลืมความเศร้าเสียใจเรื่องโจ

ทั้งคำเชิญชวนและการตอบรับดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของบทสรุป ซึ่งนิยายได้ตอกย้ำไว้ตลอดว่าทุกสิ่งเปลี่ยนไปได้ในหนึ่งวัน

ความรักต้องห้ามของอัมมูดูจะตรงไปตรงมาชัดเจนสุด พร้อมๆ กับที่เป็นเรื่อง ‘ยอมรับไม่ได้’ – ‘เข้าใจไม่ได้’ มากสุดในสายตาผู้คนรอบข้าง แต่ในช่วงปูพื้นแจกแจงความเป็นมา จะเห็นว่าการกดขี่และใช้ความรุนแรงที่พ่อกระทำต่อแม่ ชีวิตลูกผู้หญิงซึ่งเหมือนถูกจองจำปราศจากอิสระ คือสิ่งที่ทำให้เธอหาเหตุออกจากบ้านไปไกล พบผู้ชายคนหนึ่ง และแต่งงานกันในเวลากระชั้นสั้นเพราะเข้าใจว่านั่นคือความรัก แต่แล้วก็พบความจริงที่เป็นนรกขุมใหม่ ต้องลงเอยด้วยการหย่าร้างและซมซานกลับบ้านในสภาพ ‘หมาหัวเน่า’ โดนรังเกียจเหยียดหยาม จนได้มาพบกับชายหนุ่มผู้ต่ำต้อย (ทั้งคู่รู้จักกันมาตั้งแต่วัยเด็ก) และเป็นคนเดียวที่ดีกับเธอเสมอมา จึงนำไปสู่การก้าวข้ามเส้นไปสู่อิสรภาพราคาแพง

เอสธากับราเฮลมีความรัก 3 แบบ อย่างแรกเป็นความผูกพันถึงขั้นรู้ความคิดจิตใจอย่างปรุโปร่งจนเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างคู่แฝด ความรักต่อมาเป็นมิตรภาพกับเพื่อนต่างวัย (ซึ่งกลายมาเป็นชู้รักของแม่) สุดท้ายคือความรักและปรารถนาจะได้รับรักจากอัมมู

ความรักแบบที่สามส่งผลทำร้ายความรักแบบที่สองจนเสียหาย และแยกพรากความรักแบบที่หนึ่งขาดจากกัน

ตัวละครสุดท้ายที่ประสบปัญหาจากพิษรักคือ เบบี้ โกจัมมา ความรักไม่สมหวังเมื่อครั้งวัยสาว บวกรวมกับการกล้ำกลืนยอมรับสภาพเพื่อดำรงสถานะลูกที่ดีอยู่ในโอวาท หญิงสาวที่ดีมีความรักนวลสงวนตัว เหล่านี้ได้ช่วยกันเลี้ยงงูพิษในใจของเธอจนเติบใหญ่ เมื่อสบโอกาสเหมาะ เบบี้ โกจัมมาก็เปลี่ยนความผิดหวัง ความริษยาตาร้อน ความเก็บกดทั้งปวง มาเป็นการกระทำที่ก่อหายนะทำลายล้างทุกคนในครอบครัว (รวมทั้งตัวเธอเอง) อย่างทั่วถึง

ความสนุกในการอ่าน The God of Small Things รอบหลังๆ ของผม นอกเหนือจากการดื่มด่ำกับรสคำรสความ การใช้ภาษา วิธีตัดสลับเหตุการณ์อันโลดโผนโจนทะยาน และการสร้างอารมณ์สะเทือนใจอันแสนวิเศษแล้ว น่าจะอยู่ที่การไล่ลำดับปะติดปะต่อเหตุการณ์ ว่ามันไล่เรียงพาตัวละครไปสู่เหตุการณ์ ‘ประวัติศาสตร์’ ได้อย่างไร

และในทางกลับกัน คือการสาวเส้นใยเชื่อมโยงจากบทสรุป ย้อนถอยกลับสู่สาเหตุอันเป็นต้นตอแรกเริ่ม

ความรักไม่ใช่จุดเริ่มต้นของความสูญเสียนะครับ มันเป็นแค่ตัวแปรใหญ่ที่ทุกตัวละครมีร่วมกัน และยังสามารถมองย้อนถอยหลังไปได้อีกสู่เหตุปัจจัยต่างๆ นานา (ผมคิดว่าใจความหลักอันเป็นแก่นแกนสำคัญสุดคือความเหลื่อมล้ำและการกดขี่ทางเพศกับประเด็นเรื่องชนชั้นวรรณะ)

พ้นจากนี้แล้ว The God of Small Things ยังมีอีกหลายประเด็นรองลงมา เช่น ความทรงจำและการเปลี่ยนแปลง (นำเสนอผ่านการเล่าเรื่องรำลึกความหลังของหลายๆ ตัวละคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งราเฮลกับเอสธาในวัยผู้ใหญ่, กิจการถนอมอาหารของครอบครัว, การเปลี่ยนกิจวัตรของเบบี้ โกจัมมา จากการทำสวนมาเป็นติดรายการโทรทัศน์งอมแงม, บ้านร้างอีกฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุสะเทือนขวัญ กับปัจจุบันที่กลายเป็นโรงแรมหรูสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ), ความรักและการทรยศหักหลัง, การเลือกปฏิบัติทางสังคมอย่างไม่เป็นธรรม ฯลฯ

ไม่เพียงแต่จะอัดแน่นไปด้วยเนื้อหาสาระเท่านั้น ตัวนิยายยังตอกย้ำผ่านการพรรณา การเปรียบเปรย การอุปมาอุปไมย รายละเอียดหลายอย่าง จนเข้าลักษณะเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งน่าจะมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ที่สะดุดตาเด่นชัดมากสุด คือแมลงชีปะขาวและโรงงานผักดอง ผลไม้ดอง

รวมทั้งเนื้อความหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญในการทำความเข้าใจนิยายเรื่องนี้ อรุณธตี รอยเขียนไว้ว่า “…ในโลกที่กฎแห่งความรักถูกกำหนดไว้แล้ว ว่าควรจะรักใคร รักอย่างไร และรักได้มากแค่ไหน” คัดข้อความตัดตอนมาเช่นนี้ อ่านแล้วอาจจับประเด็นอะไรไม่ค่อยได้เป็นชิ้นเป็นอันนะครับ แต่เมื่อปรากฏอยู่ในนิยาย ท่ามกลางรายละเอียดห้อมล้อมทั้งหมด มันคมคาย จับใจ ชวนคิด และเศร้ามากนะครับ

The God of Small Things ฉบับภาษาไทย พิมพ์ออกมาสิบกว่าปีแล้ว ปัจจุบันน่าจะหายากสักหน่อย แต่ก็เป็นงานเขียนที่ควรค่าแก่การเสาะหามาอ่านมากที่สุดอีกเล่มหนึ่ง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save