fbpx

เมื่อคนแต่งตัวเป็น เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ รับฮัลโลวีน: เส้นแบ่งบางๆ ระหว่างการเล่าถึงความอำมหิตกับการยกย่องอาชญากร

เทศกาลฮัลโลวีนที่เพิ่งผ่านไปนี้ มีปรากฏหนึ่งที่น่าจับตาเป็นพิเศษ เมื่อเว็บไซต์อีเบย์ -ตลาดออนไลน์ชั้นนำของโลก- ออกกฎห้ามขายเครื่องแต่งกายหรืออุปกรณ์ใดๆ ก็ตามที่คนจะเอาไปแต่งเป็น เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ ฆาตกรต่อเนื่องจากเมืองเมืองมิลวอกี รัฐวิสคอนซินในยุค 90s ที่เพิ่งหวนกลับสู่ความสนใจอีกครั้งจากซีรีส์ Dahmer – Monster: The Jeffrey Dahmer Story (2022) สร้างโดย ไรอัน เมอร์ฟีย์ และได้นักแสดงคู่บุญของเขาอย่าง อีวาน ปีเตอร์ส มารับบทเป็นดาห์เมอร์

กล่าวสำหรับดาห์เมอร์ ความอำมหิตของเขาเป็นที่เลื่องลือทั้งการฆาตกรรม การข่มขืน การชำแหละเนื้อบางส่วนของศพมากิน ฯลฯ เหยื่อของเขามักเป็นคนชายขอบของสังคม ทั้งคนดำ, คนเพศหลากหลายและคนพื้นเมือง หรือคือกลุ่มคนที่รัฐไม่ให้ความสนใจนักหากหายไปจากสังคม หนึ่งในกรณีที่อื้อฉาวมากที่สุดเรื่องหนึ่งคือเหยื่อของดาฟ์เมอร์เป็นผู้อพยพชาวลาววัย 14 ปีที่ถูกทรมานอย่างรุนแรง เขาหลบหนีมาได้ในสภาพมึนเมาจากยาที่ดาห์เมอร์ให้เขากิน และออกมายังถนนใหญ่จนมีคนช่วยเหลือพาไปแจ้งตำรวจ แต่สุดท้ายตำรวจตัดสินใจคืนเด็กชายให้ดาห์เมอร์ -ที่ออกมาตามหาเหยื่อของตน- ในที่สุด สามสิบนาทีหลังจากนั้นดาห์เมอร์สังหารเด็กชาย (หลังจากดาห์เมอร์ถูกจับกุม นายตำรวจคนดังกล่าวถูกเรียกมาไต่สวนว่าละเลยในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่)

ทั้งก่อนและหลังเขาเสียชีวิตในปี 1994 จากการถูกเพื่อนผู้ต้องขังฆาตกรรม ชีวิตของเขาถูกหยิบมาดัดแปลงเป็นหนังสือ, ซีรีส์, ภาพยนตร์ตลอดจนละครเวทีกว่ายี่สิบเวอร์ชั่น ทั้งนี้ หนังเรื่องแรกๆ ที่หยิบชีวิตเขามาเล่าคือ The Secret Life: Jeffrey Dahmer (1993) คาร์ล ครูว รับบทเป็นดาห์เมอร์ ความที่มันถ่ายทำในช่วงที่ดาห์เมอร์เพิ่งถูกจับและสังคมยังอ่อนไหวกับประเด็นนี้อยู่มาก หนังจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์เละทะถึงขั้นมีคนบุกไปประท้วง, Dahmer (2002) เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างดาห์เมอร์ (เจเรมี เรนเนอร์) กับพ่อ, Raising Jeffrey Dahmer (2006) ที่ยังคงหมกมุ่นกับการสำรวจชีวิตของดาห์เมอร์ (รัสตี ชเนียรีย์) กับพ่อที่เชื่อกันว่ามีส่วนผลักให้ดาห์เมอร์กลายเป็นฆาตกร และ My Friend Dahmer (2017) ดัดแปลงจากเรื่องเล่าของเพื่อนดาห์เมอร์ (รอสส์ ลินช์) สมัยมัธยม

ในโลกซึ่งเต็มไปด้วยภาพยนตร์, ซีรีส์, งานเขียนและพอดแคสต์ฌ็อง true crime หรือเรื่องราวที่ว่าด้วยอาชญากรรม และส่วนใหญ่เล่าเรื่องฆาตกรต่อเนื่องในชีวิตจริงนั้น มีคนวิเคราะห์ว่าสาเหตุที่ทำให้เรื่องราวอันชวนสะเทือนขวัญนี้ได้รับความนิยมเป็นลำดับต้นๆ ของสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจคือเรื่องราวอันระทึกขวัญ, เต็มไปด้วยปริศนามากมายที่รอให้มีผู้ไขคดี, ความโหดร้ายที่ฟังแล้วอยู่ ‘ไกลตัว’ จนมันกลายเป็นสิ่งที่เสพได้ และเหตุผลที่ดาห์เมอร์เป็น ‘ซับเจ็กต์’ ที่ถูกฮอลลีวูดหยิบมาเล่ามากที่สุดคนหนึ่ง อาจเป็นเพราะชีวิตเขามี ‘ครบ’ ในสิ่งที่เรื่องเล่าเชิง true crime เรียกร้อง ไม่ว่าจะความอำมหิตที่เขากระทำต่อเหยื่อ, ความวิปริต (นอกจากข่มขืนเหยื่อที่ยังมีชีวิตแล้ว ดาห์เมอร์ยังข่มขืนศพ หรือตัดเศษเนื้อบางส่วนของศพมากินด้วย) ที่อยู่นอกเหนือจากสามัญสำนึกพื้นฐานของมนุษย์ รวมทั้งเรื่องที่ว่าเขาเป็นคนหน้าตาดี

รอสส์ ลินช์ จาก My Friend Dahmer

หากสังเกตรายชื่อหนังที่ดัดแปลงมาจากชีวิตของดาห์เมอร์ข้างต้น คงพบว่าเป็นนักแสดงหน้าตาดีและได้รับความนิยมชมชอบสูงอยู่แล้ว (ตัวอีวาน ปีเตอร์สเองก็เช่นกัน) กระทั่งนักแสดงหลายคนที่เติบโตมาจากบทชวนฝันหรือเข้าวงการตั้งแต่ยังเด็กจนมีภาพจำบางประการ ก็มองว่าการรับบทเป็นฆาตกรต่อเนื่องจะพาพวกเขาหลุดไปจากภาพจำเดิมๆ ดังที่ปรากฏในกรณีของรอสส์ ลินช์ผู้แจ้งเกิดจากซิตคอมน่ารักสดใสของช่องดิสนีย์ Austin & Ally (2011-2016) การกระชากภาพจำวัยหวานด้วยการมารับบทเป็นฆาตกรอำมหิตจึงสร้างหมุดหมายใหม่ให้แก่เขาในฮอลลีวูด (กรณีคล้ายๆ กันนี้ยังเกิดขึ้นกับ แซ็ค เอฟรอน ที่ก็แจ้งเกิดจากซีรีส์วัยรุ่นสดใสของดิสนีย์เช่นกัน เขามารับบท เท็ด บันดี -ฆาตกรโหดที่ชีวิตถูกนำมาดัดแปลงเป็นหนังไม่น้อยกว่าดาห์เมอร์- ใน Extremely Wicked, Shockingly Evil and Vile หนังปี 2019)

ภายหลัง Monster: The Jeffrey Dahmer Story ลงสตรีมมิ่งทางเน็ตฟลิกซ์ มันก็ถูกข้อครหามากมาย ประการแรกคืองานสร้างที่ไม่ได้ขออนุญาตครอบครัวของเหยื่อก่อนจนสมาชิกในครอบครัวออกมาบอกว่ารู้สึกราวกับกำลังถูกทำร้ายจิตใจซ้ำแล้วซ้ำจากการที่ญาติตัวเองถูกนำมาสังหารซ้ำๆ บนจอภาพยนตร์ และประการต่อมาคือตัวซีรีส์ -ตลอดจนเรื่องเล่าอื่นๆ ที่ดัดแปลงจากชีวิตจริงของฆาตกรต่อเนื่องหรืออาชญากร- กำลังทำหน้าที่เชิดชูผู้ร้ายโดยไม่รู้ตัวอยู่หรือไม่

ทั้งหมดนี้จึงย้อนกลับไปยังปรากฏการณ์ที่อีเบย์ตั้งกฎแบนเครื่องแบบนักโทษสีส้มหรือแว่นตากรอบเหลี่ยมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของดาห์เมอร์, This is It บาร์ของกลุ่ม LGBTQ+ ที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองมิลวอกีก็ออกประกาศไม่ให้คนที่แต่งกายเป็นดาห์เมอร์เข้าใช้บริการว่า “เราขอประกาศตรงนี้ว่าผู้ที่แต่งกายอย่างน่ารังเกียจเช่นนั้น ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่ของเรา” หรือช่องยูทูบของ ไบลีย์ ซาเรียน เจ้าแม่เมคอัพที่มักแต่งหน้าโดยใช้แรงบันดาลใจจากคดีเขย่าขวัญต่างๆ (เอ่อ…) เมื่อสองปีก่อนเธองอกคลิป ‘เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ สำรวจจิตใจอันปั่นป่วนของเขา และเรื่องที่ว่าเขาเกือบเอาตัวรอดไปได้’ ซึ่งหลังจากที่ซีรีส์ลงสตรีมมิ่ง ยอดวิวคลิปที่ว่าก็กระฉูดไปอยู่ที่ 25 ล้านวิว (เทียบจากคลิปอื่นๆ แค่หลักล้านต้นๆ -ซึ่งก็เป็นไปได้ว่ามีคนที่ดูซีรีส์จบแล้วเข้ามาเสิร์ชหาข้อมูลเพิ่มเติมจนบังเอิญมาเจอคลิปเธอเข้า) ตลอดจนร้านพิซซ่าแห่งหนึ่งในรัฐเท็กซัสจัดโปรโมชั่นพิซซ่าหน้า ‘เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ สเปเชียล’ กล่าวคือโรยหน้าพิซซ่าด้วยเส้นราเมงแล้วราดด้วยซอสมะเขือเทศให้ชุ่มจนดูเหมือนเลือด

สิ่งที่น่าจับตาเป็นพิเศษในกรณีนี้คือภาวะที่ฆาตกรต่อเนื่องกลับมาได้รับความนิยมอีกหน ทั้งซีรีส์, ภาพยนตร์และพอดแคสต์เองก็เป็นสื่อบันเทิงชนิดหนึ่ง และมีลักษณะเป็นสื่อกระแสหลักโดยตัวมันเองอยู่แล้ว มากหรือน้อยท่าทีในการเล่าเรื่องของมันย่อมมีบทบาทต่อภาพลักษณ์ซับเจ็กต์ที่เล่า การจะเล่าเรื่องอย่างซื่อตรงและเปี่ยมไปด้วยศิลปะของการทำหนังโดยไม่ขยับไปสู่เส้นแบ่งของการยกย่องฆาตกรโดยเผลอเรอนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยังไม่พูดว่าตัวดาห์เมอร์เองเป็นฆาตกรที่เลือกฆ่าเฉพาะคนชายขอบของสังคม จนมีคนตั้งคำถามว่า หากว่าเหยื่อของดาห์เมอร์เป็นคนขาว คงไม่มีทางกลายเป็น ‘ต้นแบบ’ ให้คนอเมริกันแต่งตัวตามในวันฮัลโลวีนออกไปเดินถนนแน่นอน แม้ซีรีส์ของเมอร์ฟีย์จะถูกมองว่ามุ่งสำรวจตัวละครที่เป็นเหยื่อซึ่งไม่มีปากเสียง (อย่างน้อยก็ในสมัยนั้น) มากกว่าตัวดาห์เมอร์เองก็ตาม

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ได้หมายความว่า ‘เราอย่ามาทำหนังว่าด้วยฆาตกรต่อเนื่องหรืออาชญากรรมกันอีกเลย!’ เพราะเช่นเดียวกับทุกเรื่องในโลก มันล้วนถูกหยิบจับมาเล่าได้ และหลายต่อหลายครั้งอาชญากรก็ถูก ‘ทำลาย’ ชื่อเสียงและพลังลงด้วยอำนาจของภาพยนตร์เช่นกัน ลองนึกถึง Downfall (2004) หนังโดย โอลิเวอร์ ไฮร์ชบีเกล ที่ว่าด้วยวาระสุดท้ายของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีในสภาพน่าสังเวช ทั้งในเวลาต่อมายังถูกหยิบมาทำเป็นมีมซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือแม้แต่ Once Upon a Time in Hollywood (2019) ที่ทำให้ฆาตกรอำมหิตผู้สังหารดาราสาว ชารอน เทต กลายเป็นตัวตลกโดนหมากัดไข่จมเขี้ยว

Once Upon a Time in Hollywood (2019)

ภาพใหญ่ของมันคือกระแส true crime ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในรอบทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คดีเหล่านี้เป็นคดีสาธารณะที่ผู้สร้าง -ไม่ว่าจะซีรีส์หรือภาพยนตร์หรือสื่อใดๆ- หยิบมาสร้างได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากครอบครัวของเหยื่อ นั่นก็ใช่ หากแต่มันจะเลือดเย็นไปหรือไม่หากว่าหยิบเอาเรื่องของผู้เสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยมโดยไม่แจ้งครอบครัวพวกเขาแต่แรก นี่เป็นประเด็นเรื่องมารยาทเบื้องต้นที่หลายคนถกเถียงกันอยู่บนโซเชียลมีเดีย และประเด็นต่อมาคือท่าทีของสื่อเหล่านี้ต่อตัวอาชญากร แน่แท้ว่ามันผ่านการตีความและดัดแปลงได้อีกหลากแง่มุม นั่นถือเป็นเรื่องของคนทำหนัง แต่คำถามสำคัญคือแล้วเส้นแบ่งของการเล่าโดยไม่ให้กระโจนไปสู่พื้นที่แห่งการยกย่องเชิดชู -ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม- ได้อย่างไรบ้าง กระทั่งซีรีส์เวอร์ชั่นของเมอร์ฟีย์เองที่เน้นเล่าเรื่องคนตัวเล็กตัวน้อยซึ่งตกเป็นเหยื่อของดาห์เมอร์มากกว่าตัวดาห์เมอร์เอง สถานการณ์ยังพลิกกลับมาว่าคนหันมาแต่งตัวเลียนแบบฆาตกรต่อเนื่อง นัยหนึ่งก็อาจหมายถึงการพยายามตามกระแสซีรีส์ (เป็นปกติอยู่เองของเทศกาลฮัลโลวีนที่คนมักแต่งตัวรับกระแสในเวลานั้นๆ อย่างปีที่ผ่านมาคนแห่แต่งตังตาม Squid Game, 2021 ซีรีส์สัญชาติเกาหลีกันเป็นจำนวนมาก) และอีกนัย มันก็อาจหมายถึงการขาดความละเอียดอ่อน จนชวนนึกถึงข้อสังเกตที่ว่า หากเหยื่อของดาห์เมอร์ไม่ได้เป็นคนดำ คนผิวสีหรือคนชายขอบ ความนิยมในการจะแต่งตัวเลียนแบบเขาคงไม่พุ่งสูงขนาดนี้ อันสะท้อนถึงความรู้สึกว่าอันตรายจากคนอย่างดาห์เมอร์นั้น ‘ไกลตัว’ มากพอจะรู้สึกปลอดภัยหากแต่งกายแบบเขา

เราอยู่ใน ‘โลกแห่งคอนเทนต์’ ไม่ว่าจะการแต่งตัวในวันฮัลโลวีนหรือเปิดขายพิซซ่าหน้าดาห์เมอร์ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของการทำคอนเทนต์ที่หวังให้มันไปไกลเป็นไวรัลในพื้นที่ใดสักพื้นที่หนึ่ง เนื้อหาหลากหลายและเป้าประสงค์ของการทำหลายหากจึงปลิวว่อนอยู่ในอากาศ รอให้คนเข้าไปเสพ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็อาจนับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เราต้องเผชิญและตอบคำถามตัวเองให้ดีเช่นกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save