fbpx
อนาคต ความขาดแคลน เทคโนโลยี และทุนนิยมยุคดิจิทัล ในทัศนะของอรชุน อัปปาดูรัย

อนาคต ความขาดแคลน เทคโนโลยี และทุนนิยมยุคดิจิทัล ในทัศนะของอรชุน อัปปาดูรัย

มัธวรรณศ์ สุจริตธนารักษ์ เรื่อง

“จะไปไหนเหรอเดี๋ยวเรียก Grab Taxi ไปก็ได้”

“จะกินอะไรเดี๋ยวจะได้สั่งผ่าน Uber Eats”

“เดี๋ยววันนี้จะไปเจอสาวคนใหม่ที่แมชท์กันในทินเดอร์”

ฯลฯ

หลายคนคงคุ้นชินกับประโยคประเภทนี้และเคยใช้บริการแอพพลิเคชันเหล่านี้อยู่บ้าง ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา กิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเราได้เข้าไปข้องเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการเดินทาง ค้นหาที่พัก การทำธุรกรรมทางการเงิน รวมไปถึงการพบปะผู้คนใหม่ๆ

ขณะเดียวกัน ฝั่งธุรกิจได้เริ่มมีการใช้กลุ่มศัพท์และแนวคิดทุนนิยมที่มาพร้อมกับการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น นวัตกรรม (innovation) ผู้ประกอบการ (entrepreneur) หรือ การใช้นวัตกรรมสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาด (disruption) จนทำลายธุรกิจแบบเก่าลงและเปิดให้ธุรกิจ/ทุนใหม่เข้ามาสร้างผลประโยชน์ได้

รูปแบบเศรษฐกิจใหม่ที่ผลักดันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลดังที่กล่าวมานี้ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วทุกแห่ง พฤติกรรม คุณค่า ความใฝ่ฝัน และทุนนิยมแบบแคลิฟอร์เนียนต่างแพร่หลายไปทั่วโลกรวมถึงในเมืองไทย

คนรุ่นใหม่ต่างหวังที่จะก่อตั้งธุรกิจของตนเองผ่านแอพพลิเคชัน ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ แต่พวกเขาต่างเชื่อมั่นด้วยว่าตนเองจะสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ และอาจจะถึงขั้นนำมนุษยชาติไปสู่อนาคตที่ดีกว่าได้

ในขณะที่ทุกคนต่างกระโจนเข้าใส่กระแสนี้ด้วยมุมมองแง่บวกอย่างเต็มที่ เราได้ลองหยุดหันกลับมามองรอบตัว และตั้งคำถามกับตัวเองหรือไม่ว่า เรากำลังเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งใด ทุนนิยมในยุคดิจิทัลกำลังจะพาเราไปสู่อนาคตแบบไหน? จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ และนำมาซึ่งชีวิตที่ดีขึ้นอย่างที่ได้กล่าวอ้างไว้ได้จริงหรือ?

ตัวอย่างแง่ลบที่สะท้อนความซับซ้อนและยุ่งเหยิงของทุนนิยมรูปแบบใหม่ เริ่มมีผลออกมาให้เห็น เช่น กรณีของ Cambridge Analytica และ Facebook ที่ได้นำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการกว่า 87 ล้านคนไปใช้ผ่านแอพพลิเคชันโดยไม่ได้รับการยินยอม ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการบิดเบือนความเห็นสาธารณะของประชาชน และอาจจะเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักที่ทำให้ Donald Trump ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาเมื่อปี 2016 เรื่องนี้สะท้อนว่า การบังคับออกกฎและนโยบายต่างๆ จากภาครัฐมีความล่าช้า รัฐวิ่งไล่และปรับตัวตามทุนนิยมแบบใหม่นี้แทบจะไม่ทัน และยังไม่มีทิศทางแน่นอนว่าจะรับมือกับปรากฏการณ์นี้อย่างไร

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสไปฟังสัมมนาของอรชุน อัปปาดูรัย (Arjun Appadurai) นักมานุษยวิทยาที่ศึกษาด้านโลกภิวัตน์ งานของเขากล่าวถึงโลกาภิวัตน์ผ่านแง่มุมทางเศรษฐกิจวัฒนธรรม ชีวิตทางสังคมของสินค้า ชาติ-รัฐ สื่อ และหันมาสนใจศึกษาประเด็นอนาคต และเทคโนโลยีกับสังคมในปัจจุบัน

อรชุน อัปปาดูรัย

ในงานสัมมนา “The Ghost of Schumpeter: Failure, Risk and Innovation in The Digital Era” ที่จัดขึ้นที่ Sciences Po Paris ประเทศฝรั่งเศส อัปปาดูรัยได้นำเสนอบทความเรื่อง ‘The Scarcity of Social Futures in the Digital Era’ (‘ความขาดแคลนของอนาคตทางสังคมในยุคดิจิทัล’) โดยนำแนวคิดของโจเซฟ ชุมเพเทอร์ (Josept Schumpeter) นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรียอเมริกันสมัยต้นศตวรรษที่ 20 มามองปรากฏการณ์ของทุนนิยมยุคดิจิทัลในสังคมโลก และวิเคราะห์ผลกระทบทางด้านสังคมของปรากฏการณ์นี้

กระแสความสนใจต่อประเด็น “อนาคต”

อัปปาดูรัยเสนอว่า ‘อนาคต’ เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากหลายสาขาในปัจจุบัน ทั้งด้านการออกแบบ นักวางผังเมือง นักประชากรศาสตร์ ซึ่งต่างคิดค้นวิธีการเพื่อคาดการณ์และวางแผนอนาคต ส่วนด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ก็สนใจศึกษาแง่มุมที่เกี่ยวกับอนาคตเช่นกัน อาทิ การจัดหัวข้อสัมมนาประเด็น Afro-futurism ในการประชุมเวทีมานุษยศาสตร์ในอเมริกาในปีนี้ ฯลฯ

เหตุใดจึงเกิดการตื่นตัวขึ้นในประเด็นนี้?

อัปปาดูรัยเสนอว่า พื้นที่ดิจิทัล (digital platform) เครื่องมือ (tools) และ การเข้าถึงเทคโนโลยี (affordance of technology) ได้ทำให้มนุษย์รับรู้ประสบการณ์ของความล้าสมัย-ทันสมัยอย่างรวดเร็วและเข้มข้นมากขึ้น องค์ประกอบเหล่านี้ได้สร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่าง ความเสี่ยง นวัตกรรม ความล้มเหลว และภาวะอนาคต นอกจากนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลยังเข้ามามีบทบาทต่อทั้งการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมในระดับปัจเจกไปจนถึงสร้างเงื่อนไขและผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในระดับกว้าง

ดูเหมือนว่า เทคโนโลยีใหม่จะสามารถ ‘ขยาย’ อนาคตให้เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ที่ไม่สิ้นสุด (ดูตัวอย่างจินตนาการการใช้เทคโนโลยีเก็บรักษาจิตสำนึกหลังความตายในซีรีส์เรื่อง Black Mirror ตอน San Junipero) แต่ในความเป็นจริงแล้วเทคโนโลยีและผละกระทบของมันกลับกำลังคุกคามอนาคตให้เกิดภาวะ ‘หดตัว’ ลงไปพร้อมกับการ  ‘ขยายตัว’ (จะ ‘หดตัว’ อย่างไรนั้นจะอธิบายให้ทราบต่อไป) อนาคตในข้อเสนอของอัปปาดูรัยจึงมีลักษณะที่ ‘ขาดแคลน’ และ ‘ล้นเหลือ’ ไปพร้อมๆ กัน

แล้วก่อนที่แอพพลิเคชันอย่างอูเบอร์ หรือทินเดอร์จะเดินทางมาสู่ชีวิตประจำวันและถึงขั้นมีส่วนในการกำหนดอนาคตของเรานั้น เทคโนโลยีดิจิทัลพวกนี้มาจากไหน? และใครเป็นผู้มีบทบาทในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่มือของเรา?

ซิลิคอนวัลเลย์ ศูนย์กลางทุนนิยมยุคดิจิทัล

หลายคนคงทราบดีว่า ซิลิคอนวัลเลย์เป็นต้นแบบของทุนนิยมยุคดิจิทัลและเป็นที่ตั้งของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการผ่านพื้นที่ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย แอพพลิเคชัน ระบบแลกเปลี่ยนวิดีโอ ฯลฯ อำนาจของทุนในยุคดิจิทัลตกอยู่ในกำมือของบริษัทเพียงเพียงไม่กี่บริษัท เช่น Google Facebook Microsoft บริษัทเหล่านี้เป็นผู้ผูกขาดด้านนวัตกรรม สินทรัพย์ และผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา นวัตกรรมที่สร้างขึ้นที่ซิลิคอนวัลเลย์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากที่เคยคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ในรูปของวัตถุ เช่น ชิพสำหรับคอมพิวเตอร์ แต่ในช่วงหลังบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ไม่ได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่อยู่ในรูปวัตถุมากนัก แต่หันมาสร้างบริการที่เชื่อมต่อผู้ใช้งานเข้าด้วยกันบนพื้นที่ดิจิทัลแทน

นายทุนยุคดิจิทัล

นอกจากบริษัทยักษ์ใหญ่แล้ว ซิลิคอนวัลเลย์ยังเป็นสถานที่ที่ผู้สนใจสร้างธุรกิจรายใหม่แข่งขันกันคิดค้นบริการผ่านพื้นที่ดิจิทัล แน่นอนว่าธุรกิจใหม่เหล่านี้ (หรือที่เรียกกันว่าสตาร์ทอัพนั่นแหละ) ต่างต้องพึ่งพาเงินทุนจากนายทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงการขยายขนาดของธุรกิจ นายทุนยุคดิจิทัลจึงสะสมทุนด้วยการลงทุนในธุรกิจใหม่ขั้นเริ่มต้นและค้ากำไรเมื่อธุรกิจนั้นเติบโตขึ้น นอกจากนี้นายทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ยังกว้านซื้อธุรกิจใหม่รายย่อยที่ทำท่าว่าจะเติบโตขึ้นมาเป็นคู่แข่ง กล่าวได้ว่าอำนาจผูกขาดของทุนนิยมยุคดิจิทัลกระจุกอยู่ในมือคนไม่กี่คนเท่านั้น

อัปปาดูรัยกล่าวว่า นายทุนนักลงทุนที่มีอำนาจการเงินและการตัดสินใจในระบอบทุนนิยมยุคดิจิทัลมีเพียงราวๆ 15 คนเท่านั้นในโลก! และพวกเขาอาจจะรายรอบไปด้วยกลุ่มลงทุนอีกจำนวนไม่กี่หยิบมือ ที่สำคัญ บุคคลเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงอำนาจทางการเงิน แต่พวกเขามาพร้อมกับอุดมการณ์ทางความคิดว่าจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของมนุษยชาติอีกด้วย (ดูตัวอย่างจากโพสของ Mark Zukerberg เรื่อง Building Global Community เมื่อปีที่แล้ว)

อัปปาดูรัยกล่าวว่า พื้นฐานอุดมการณ์ทางความคิดของคนเหล่านี้เชื่อมต่อกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์สองแนวคิด แนวคิดแรกคือ แนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบวิวัฒนาการ หรือ ‘Evolutionary Economics’  ซึ่งนำเสนอโดย Thorstein Veblen ในปี 1898 แนวคิดนี้ยังไม่ได้เป็นแนวคิดหลักทางเศรษฐศาสตร์ แต่ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในกลุ่มนายทุนยุคดิจิทัล

เศรษฐศาสตร์วิวัฒนาการมองว่า การเปลี่ยนแปลง การทำลายล้างสิ่งเก่าด้วยสิ่งใหม่ และวิวัฒนาการเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในระบบเศรษฐกิจ Veblen พัฒนาแนวคิดนี้มาจากแนวคิดของ ชาลส์ ดาร์วิน เรื่องการปรับตัว การคัดสรร และการเอาตัวรอดในธรรมชาติ ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาตร์ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต่อเนื่องมาถึงศตวรรษที่ 20 นายทุนยุคดิจิทัลมองว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมทุนนิยมอยู่รอดได้ ‘ผู้แพ้’ ซึ่งหมายรวมถึง เทคโนโลยี ระบบสังคม ผู้ประกอบการ และผู้คนที่ไม่สามารถปรับตัวตามนวัตกรรมได้ก็จะสูญสิ้นไป ผู้อยู่รอดที่ปรับตัวได้จะขึ้นมาครอบงำจนว่าเขาเหล่านั้นจะแพ้และต้องสูญสิ้นไปเช่นกัน ในมุมมองนี้ นวัตกรรมคือการปรับตัว และการขึ้นมาครอบงำตลาดเป็นหนทางเดียวที่จะอยู่รอด อย่างน้อยก็ในระยะหนึ่ง

อัปปาดูรัยนำเสนออีกว่า อีกหนึ่งแนวคิดที่นายทุนยุคดิจิทัลนำมาปรับใช้คือแนวคิด ‘การทำลายล้างผ่านการสร้างสรรค์’ (creative destruction) ของโจเซฟ ชุมเพเทอร์ (Jospeh Schumpeter) นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรียอเมริกันและเป็นหนึ่งในนักคิดคนสำคัญในศตวรรษที่ 20 เขานำเสนอแนวคิดนี้ในหนังสือ Capitalism, Socialism and Democracy (1942)

ความหมายหลักของ ‘การทำลายล้างผ่านการสร้างสรรค์’ คือการที่สิ่งเก่าและวิถีแบบเก่าถูกทำลายลงผ่านการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่และวิถีใหม่ที่เข้ามาแทนที่ ‘ทุน’ ในรูปของบริษัทต่างแข่งขันกันสะสมทุนและขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด เป้าหมายของทุนเหล่านี้คือการสร้างผลกระทบอย่างรุนแรง (disruption) ผ่านการคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่สามารถทำลายระบบตลาดแบบเก่าและทุนคู่แข่งลงอย่างสิ้นเชิง

หากทุนประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรม นวัตกรรมนั้นจะถูกนำไปใช้สร้างกำไร ทำให้ทุนที่มีนวัตกรรมสามารถเข้ามาเป็นผู้ผูกขาดในตลาดได้ในระยะหนึ่งจนกว่าทุนอื่นจะลอกหรือเลียนแบบนวัตกรรมดังกล่าวได้ กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการละทิ้งวิธีการใช้แรงงาน การผลิต การกระจายสินค้าแบบเดิมๆ เท่านั้น แต่ยังสั่นคลอนเทคโนโลยี โครงสร้างทางสังคม และการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมแบบเดิมด้วย

ความย้อนแย้งของการนำแนวคิดของชุมเพเทอร์มาใช้ในหมู่นายทุนยุคดิจิทัลอยู่ที่ว่า พื้นฐานความคิดของชุมเพเทอร์นั้นจริงๆ แล้วมาจากมาร์กซ์! ชุมเพเทอร์มองว่า ‘การทำลายล้างผ่านการสร้างสรรค์’ สุดท้ายจะนำไปสู่การล่มสลายของระบอบทุนนิยม (เช่นเดียวกับมาร์กซ์) ในปลายศตวรรษที่ 20 และจะนำสังคมเข้าสู่ระบอบสังคมนิยม มีการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลางและจัดการเศรษฐกิจแบบร่วมมือ แต่ข้อเสนอของเขาแตกต่างจากมาร์กซ์ตรงที่ว่าเขามองว่าทุนนิยมจะบ่อนทำลายตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่มาร์กซ์มองว่าการล่มสลายของทุนนิยมจะมีลักษณะรุนแรงและฉับพลันผ่านการปฎิวัติ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าระบอบทุนนิยมก็ยังอยู่ยงอย่างแข็งแรงมาจนถึงปัจจุบัน และแนวคิดของชุมเพเทอร์กลับแพร่หลายในหมู่แนวคิดเศรษฐกิจเสรีแบบใหม่และกลับถูกทุนนิยมยุคใหม่นำมาปรับใช้แทน

จะเห็นได้ว่าแนวคิดของนายทุนยุคดิจิทัลมีความรุนแรงและสุดโต่งอยู่ไม่น้อย ต่างจากพื้นฐานแนวคิดของเศรษฐกิจเสรีแบบใหม่ที่มองหาสภาวะสมดุล (equilibrum) ในตลาด วิธีการคิดของเหล่านายทุนยุคใหม่ยังชวนให้มองต่อไปอีกว่าเมื่ออุดมการณ์แบบนี้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านบริการทางพื้นที่ดิจิทัลเช่นแอพพลิเคชัน ผลกระทบต่อสังคมจะจะออกมาในรูปแบบใด?

เศรษฐกิจแอพพลิเคชัน: จากเศรษฐศาสตร์สู่สังคมศาสตร์

แอพพลิเคชันบนมือถือเป็นหนึ่งในผลผลิตที่สร้างรายได้อย่างมหาศาล ผู้ใช้บริการสามารถซื้อสินค้าและบริการผ่านมือถือได้สะดวก รวดเร็ว และแม่นยำ ลักษณะสำคัญของเศรษฐกิจประเภทนี้อยู่ที่ ‘การทดลองใช้แอพพลิเคชันผ่านผู้ใช้งาน’ (testing) และหวังสร้าง ผลกระทบจากเครือข่าย (network effects) เพื่อทำกำไร กล่าวคือ วิธีสร้างมูลค่าให้สินค้าของสินค้าไม่ได้อยู่ที่ตัวสินค้าเอง แต่ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ ยังมีการนำวิธีการออกแบบที่เรียกว่า User Experience (UX) หรือ ‘การออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน’ มาใช้ หนึ่งในองค์ประกอบของการออกแบบประเภทนี้คือการกำหนดบทบาทให้ผู้ใช้บริการกลายมาเป็นฟันเฟืองในการปรับปรุงและแนะนำข้อเสนอแนะ (feedback) ให้กับแอพพลิเคชันเพื่อแอพฯนั้นๆ ‘ใช้ง่าย’ ‘น่าใช้’ และ ‘ใหม่’ อยู่ตลอดเวลา

ผู้ใช้งานจึงเปลี่ยนสถานะจากเป็นผู้บริโภคและผู้ใช้บริการมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกระบวนการการออกแบบและพัฒนาแอพพลิเคชันเวอร์ชั่นใหม่อย่างไม่มีสิ้นสุด

ถึงจุดนี้หลายคนอาจมองว่า กระบวนการออกแบบในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะผู้ใช้งานอย่างเราๆ จะได้ใช้แอพพลิเคชันแบบที่อยากใช้จริงๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ‘ประสบการณ์ผู้ใช้งาน’ นั้นไม่ได้มุ่งสร้างประโยชน์ให้ผู้ใช้งานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นวิธีการที่บริษัทต่างๆ ยัดเยียดให้ผู้บริโภคกลายเป็นแหล่งข้อมูล ผู้ถูกทดลอง และทำงานเป็นผู้วิเคราะห์ข้อมูลให้กับแอพพลิเคชันนั้นฟรีๆ ด้วยจุดประสงค์ที่ว่า แอพพลิเคชันนั้นจะ ‘เข้าใจ’ ผู้ใช้มากขึ้นและหาวิธีการสร้างผลประโยชน์กำไรให้ตัวเองอย่างแยบยลขึ้นโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น ค้ากำไรจากข้อมูลผู้ใช้งานผ่านการบริการโฆษณาแบบเจาะเป้าหมายให้บริษัทต่างๆ (อ่านต่อ) ฯลฯ

หากเรานำแนวคิดการทำลายล้างผ่านการสร้างสรรค์ ของชุมเพเทอร์กลับมามองสังคม เราอาจตั้งคำถามว่าเศรษฐกิจแอพพลิเคชันกำลังทำลายล้างสิ่งใดในสังคมปัจจุบัน?

อัปปาดูรัยเสนอว่า สิ่งที่เศรษฐกิจแอพพลิเคชันเข้ามาเปลี่ยนแปลงโดยตรงคือรูปแบบการปฏิสัมพันธ์กันของคนในสังคม (sociality) ผ่านสามประเด็นด้วยกัน คือ ความสะดวก อัตลักษณ์ และ ภาวะการเชื่อมต่อ

ความสะดวก

เศรษฐกิจแอพพลิเคชัน นำความสะดวกเข้ามาแทนที่ประโยชน์ใช้สอย ราคา และความเป็นธรรมในสังคม เช่น แม้เราจะรู้ว่าอูเบอร์มีปัญหาเรื่องการเลี่ยงภาษีและสวัสดิการแรงงาน แต่เราก็ยังใช้แอพพลิเคชันอยู่ดี เนื่องจากเราเคยชินกับความสะดวกของบริการ

แม้ความสะดวกจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทุนนิยมอุตสาหกรรมนำเสนอต่อผู้บริโภคมาโดยตลอด แต่ความสะดวกสบายในปัจจุบันที่เชื่อมโยงกับความรวดเร็วในระบบดิจิทัลเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ความสะดวกประเภทนี้เข้ามาเปลี่ยนแปลงทุกกิจกรรมมนุษย์ตั้งแต่การขนส่ง ซื้อสินค้า ไปจนถึงการดูแลสุขภาพส่วนตัว ความสะดวกกลายมาเป็นเป้าหมายหลักเหนือสิ่งอื่นใดในทุกๆ กิจกรรมที่เราทำในชีวิตประจำวันและในการบริโภคทุกรูปแบบ อย่างในกรณีของทินเดอร์ การออกแบบตัวเลือก swipe ที่ให้ผู้ใช้ “ปัด”เลือกผู้คนที่อยาก/ไม่อยากเจอไปทางขวาทีซ้ายทีก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าผู้ให้บริการนำเสนอความง่าย รวดเร็ว และสะดวก ขึ้นมาเป็นจุดแข็งของบริการ ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องอ่านข้อมูล คิดใคร่ครวญ หรือตัดสินใจนานๆ ในการเจอผู้คนใหม่ๆ เพียงแค่ขยับปลายนิ้วภายในไม่กี่วินาทีผู้ใช้งานก็สามารถ “ตัดสิน” บุคคลในหน้าจอว่าควรค่าที่จะออกไปพบปะหรือไม่ และด้วยฟังก์ชั่นความสะดวกเพียงอย่างเดียวแอพพลิเคชันก็บรรลุจุดประสงค์ในตัวเองแล้ว (สร้างฐานผู้ใช้งาน, ขายโฆษณา)

แต่ความสะดวกสบายประเภทนี้สุดท้ายแล้วส่งผลประโยชน์ให้ใครกันแน่? แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ผู้ใช้งานที่ได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ นายทุนยุคดิจิทัลสามารถเก็บข้อมูลทุกการกระทำของผู้ใช้งานได้อย่าง ‘สะดวก’ เช่นเดียวกัน อาทิ การเก็บข้อมูลผ่านการระบุตำแหน่งที่อยู่ของผู้ใช้งาน หรือการเก็บข้อมูลพฤติกรรมที่ผู้ใช้งานป้อนสู่ระบบแอพพลิเคชัน ทั้งนี้ไม่ว่า ผู้ใช้งานรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

อัตลักษณ์

นิยามของอัตลักษณ์ในบริบททุนนิยมยุคดิจิทัลไม่ใช่บุคลิกลักษณะเฉพาะตัวหรืออุปลักษณะนิสัยใจคออีกต่อไป แต่เป็นอัตลักษณ์ในรูปแบบของข้อมูลและพฤติกรรมที่เราเป็นผู้ป้อนให้กับแอพพลิเคชัน เช่น หมายเลขบัตรเครดิต รหัสไปรษณีย์ ประวัติการกู้ยืมเงิน และรายการสินค้าที่เคยซื้อ อัปปาดูรัยนิยามสิ่งนี้ว่าเป็นอัตลักษณ์ที่สามารถ “ค้นหาได้ออนไลน์” อัตลักษณ์ประเภทนี้กำลังกลายมามีความสำคัญมากกว่าอัตลักษณ์ที่อยู่นอกระบบดิจิทัลแบบดั้งเดิม ตัวตนความเป็นมนุษย์ถูกลดทอนลงเหลือเป็นเพียงรหัสและหมายเลขบัตรที่สร้างมูลค่าให้กับทุนนิยมในยุคดิจิทัล

ภาวะการเชื่อมต่อ

เทคโนโลยีได้กัดกร่อนและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเชื่อมต่อและการปฏิสัมพันธ์แบบเก่าของมนุษย์ จากที่เคยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ ความทรงจำ บุคลิกลักษณะส่วนตัว ฯลฯ มาเป็นการเชื่อมต่อผ่านระบบดิจิทัลและหน้าจอ และนายทุนยุคดิจิทัลได้เปลี่ยนการปฏิสัมพันธ์ในสังคมผ่านหน้าจอให้กลายมาเป็นวัตถุดิบในการ การสร้างมูลค่า และค้ากำไรให้แก่ตัวเอง

การนำแนวคิดของชุมเพเทอร์มามองนวัตกรรมทางเทคโนโลยีทำให้เห็นว่า ‘การทำลายล้างผ่านการสร้างสรรค์’ ในเชิงสังคมนั้น หมายถึงการที่ทุนนิยมยุคดิจิทัลทำลายพื้นฐานของการปฏิสัมพันธ์ในสังคม (sociality) แบบเก่าลงผ่านการสร้างรูปแบบการปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ บนพื้นที่ดิจิทัล

ทุนนิยมยุคดิจิทัลสามารถเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการผลิตสินค้า และการกระจายสินค้าอย่างในยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมอีกต่อไป แต่ได้ทำให้การปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมกลายมาเป็นเป็นสินค้าเสียเอง

กล่าวอีกอย่างคือ ตรรกกะของทุนนิยมในยุคก่อนนั้นอยู่ที่การผลิตสินค้า และแข่งกันทำให้สินค้านั้น ‘ตกยุค’ ลงอย่างรวดเร็วเพื่อผลิตสินค้าขึ้นมาใหม่ แต่ทุนนิยมในยุคดิจิทัลเน้นการสร้างรูปแบบการปฏิสัมพันธ์ในสังคมแบบใหม่ขึ้นมาและแข่งกันทำให้การปฏิสัมพันธ์นั้นๆ ‘ตกยุค’ ให้เร็วที่สุด ผ่านการสร้างรูปแบบการปฏิสัมพันธ์แบบใหม่มาแทนที่

อัปปาดูรัยกล่าวว่าแนวคิดของชุมเพเทอร์ช่วยอธิบายปรากฏการณ์ การทำให้ความสัมพันธ์มนุษย์กลายเป็นสินค้า (commoditization of human sociality) ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

สู่อนาคตที่ขาดแคลน

เราอยู่ในสังคมที่โลกอนาคตดูเหมือนว่าจะขยายไปได้อย่างไม่สิ้นสุด มีเครื่องมือใหม่ๆ ออกมาใช้ในการคาดการณ์ทำนาย มีอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ คอยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตมนุษย์ในอนาคตมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ความเป็นไปได้ที่ดูเหมือนว่าจะล้นเหลือนั้นกลับซ่อนเร้นสภาพอนาคตที่ ‘ขาดแคลน’ อยู่ด้วย

แล้วสภาพอนาคตที่ขาดแคลนเป็นอย่างไร?

อัปปาดูรัยอธิบายว่า แอพพลิเคชันกำลังสร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมในอนาคตในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน เขายกตัวอย่างหลายประเด็นเช่น การเข้าถึงความรู้ และนิยามของความสำเร็จ ที่เคยแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม

แต่ด้วยความสะดวก ความรวดเร็ว และบริการราคาถูกที่เทคโนโลยีดิจิทัลหยิบยื่นให้ สังคมได้ลดทอนจินตนาการถึงความเป็นไปได้และอนาคตที่เคยหลากหลายให้เหลืออยู่เพียงไม่กี่รูปแบบ พูดอีกแบบคือ การปฏิวัติทางดิจิทัล รวมไปถึงความทันสมัย นวัตกรรม และความสะดวกสบายกำลังทำให้การมองโลกอนาคตในแต่ละสังคมมีความหลากหลายลดลง

การหดตัวลงของอนาคตไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในระดับวัฒนธรรม แต่รวมไปถึงความสามารถในการจินตนาการทางสังคม การเมือง และการนิยามความหมายของชีวิตในแต่ละสังคมด้วย เมื่อความสามารถในการจินตนาการความเป็นไปได้ในอนาคตถูกลดทอนลง ความสามารถในการนิยามว่าอะไรยุติธรรม ศีลธรรมแบบไหนที่ยอมรับได้และไม่ได้ย่อมพลอยลดลงไปด้วย

อัปปาดูรัยยอมรับว่า แม้เทคโนโลยีจะนำประโยชน์มาสู่โลกและสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างมากมายทั้งทางสังคมและการเมือง เช่น Arab Spring, Occupy Wall Street ฯลฯ แต่เขามองว่าการหดตัวในอนาคตเนื่องจากการขยายตัวของแอพพลิเคชันและอุดมการณ์ที่มาพร้อมกับแอพพลิเคชันทั้งหลาย เช่น ความล้มเหลว ความสะดวก ความล้าสมัย มีผลกระทบที่ลึกและน่ากังวลมากกว่า เขาไม่ได้นำเสนอทางออก แต่บอกว่าอย่างน้อยเราควรถกกันว่าเหตุใดอนาคตจึงขยายตัวและหดตัวลงพร้อมๆ กันในยุคสมัยปัจจุบัน

บทสรุป

การบรรยายของอัปปาดูรัยชวนให้เรากลับมาตั้งคำถามและรู้เท่าทันผลกระทบจากแอพพลิเคชันและทุนนิยมยุคดิจิทัลมากขึ้น เขาช่วยเน้นให้เห็นชัดว่าแอพพลิเคชันอย่าง Facebook Uber Eats ฯลฯ มีผลกระทบด้านลบอย่างไร เเละเราในฐานะผู้ใช้งานที่กำลังดื่มด่ำความสะดวกจากบริการรูปแบบใหม่กำลังถูกทุนนิยมยุคดิจิทัล “ขูดรีด” อย่างไร ไม่ว่าจะผ่านการนำข้อมูลส่วนตัวของเราไปค้ากำไรกับการโฆษณาหรือวิธีการทางการตลาดอื่นๆ ที่เราไม่รู้ตัว หรือการที่ทุนนิยมดิจิทัลเปลี่ยนเราในฐานะผู้ใช้งานให้กลายเป็นฟันเฟืองส่วนหนึ่งของแอพพลิเคชัน ผ่านระบบ feedback ที่อ้างว่าทำเพื่อการออกแบบที่ ‘เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน’

บางทีเราในฐานะผู้ใช้รวมไปถึงนักออกแบบแอพพลิเคชันควรหันมาสนใจหา ‘แรงเสียดทาน’ (friction) ในการออกแบบและใช้บริการแอพพลิเคชันต่างๆ และตั้งคำถามให้มากกับบริการที่ทุกอย่าง สะดวก ง่าย และลื่นไหลไร้รอยต่อ (seamlessness) เพราะสิ่งเหล่านี้อาจมีราคาทางสังคมที่เราต้องจ่ายแพงกว่าความสะดวกสบายเล็กๆ น้อยๆ ที่เราได้รับในชีวิตประจำวัน

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save