fbpx
“สื่อในสมรภูมิข่าว: บทเรียนจากเนชั่น ถึงอนาคตสื่อไทย” – อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ

“สื่อในสมรภูมิข่าว: บทเรียนจากเนชั่น ถึงอนาคตสื่อไทย” – อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ

 

 

2020 เป็นปีที่สมรภูมิข่าวดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่ง ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 และขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยสมบูรณ์และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “เนชั่น” เป็นสื่อที่ได้รับการกล่าวขวัญและวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้นตลอดปีที่ผ่านมา

จากบทบาทสื่อการเมืองที่เต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม สู่กระแส “แบนเนชั่น” จนถึงการยกเครื่องใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 พร้อมกับการกลับบ้านของ “อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” อดีตซีอีโอเนชั่นทีวียุค “สุทธิชัย หยุ่น” ในฐานะผู้อำนวยการใหญ่เนชั่นทีวี ผู้ประกาศ #ภารกิจนำพาเนชั่นกลับสู่พื้นผิวโลก บน #เส้นทางสู่สถาบันสื่อมืออาชีพ

101 ชวน “อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ” ตอบคำถามกันสดๆ ทุกคำถาม ไขทุกข้อข้องใจ — เขามองเห็นปัญหาอะไรในเนชั่นช่วงสามปีครึ่งที่เดินจากไป, เขาคิดอะไรถึงกลับมารับภารกิจยากลำบากในวัย 60 ปี, เขามีแผนการลงมือเปลี่ยนเนชั่นให้เป็นสื่อที่สังคมไว้วางใจได้อย่างไร, เราเรียนรู้บทเรียนอะไรจากกรณีเนชั่น และตัวเขามองอนาคตวงการสื่อไทยในยุค technology disruption และ political disruption อย่างไร

 

:: Come Back to Nation ::

 


ผมตัดสินใจกลับไปเนชั่น เพราะคุณฉาย บุญนาค ให้ผู้บริหารคนเก่าของเนชั่นที่ผมรู้จักชักชวนผม บอกว่าอยากให้กลับมาช่วยฟื้นฟู คุณฉายเองมีเจตนาปรับให้เนชั่นเป็นสื่อที่ได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรุ่นใหม่ เพราะเนชั่นถูกปฏิเสธจากคนรุ่นใหม่เยอะ

เริ่มต้นผมตั้งเงื่อนไขข้อหนึ่งกับคุณฉายว่า ผมอยากให้คุณฉายคุยกับผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ว่าเจตนาของคุณฉายซึ่งเป็นผู้บริหารชุดปัจจุบันต้องการปรับให้เนชั่นทีวีกลับมาทำหน้าที่สถาบันสื่อมืออาชีพ เพื่อที่ผมจะได้มาโดยเสียงของผู้ถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่เฉพาะผู้บริหารชุดปัจจุบัน และผมอยากให้คุณฉายแสดงเจตนากับสาธารณะว่าต้องการให้ช่องเนชั่นกลับมาทำหน้าที่เป็นสื่อมืออาชีพ เป็นสื่อปกติ ไม่ใช่สื่อทางการเมือง

คุณฉายก็ไปคุยกับผู้ถือหุ้นหลายคน และแสดงเจตนาต่อสาธารณะว่าอยากให้เนชั่นกลับคืนมา และเห็นว่าผมน่าจะมีส่วนสำคัญ เพราะผมเป็นคนที่เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยก่อน ผมรู้ดีเอ็นเอของเนชั่นทุกอย่าง

อย่างน้อยที่สุด ถ้าผมทำให้เนชั่นกลับมาทำหน้าที่สื่อปกติจากเดิมที่ไม่ปกติได้ แค่นี้ผมก็พอใจแล้ว คอนเทนต์หรือข่าวสารที่ออกจากช่องเนชั่นต้องไม่บิดเบี้ยว และทำหน้าที่เสนอความจริง

 

:: แบนเนชั่น ::

 

 

จริงๆ เรื่องแบนโฆษณาเป็นกระแสของโลกนะ เช่น พวกบริษัทใหญ่ๆ แบนโฆษณาเฟซบุ๊ก เพราะเฟซบุ๊กไม่เอาจริงเอาจังเรื่อง hate speech หรือ fake news ดังนั้นกับเนชั่นก็ไม่ต่างกัน ผมทราบว่าเนชั่นถูกแบนจากเอเจนซี่รายใหญ่ที่บริษัทแม่อยู่ต่างประเทศ หลังจากผมเข้ามาเนชั่น ผมก็ไปเดินสายอธิบายสิ่งที่ผมจะทำในเนชั่นกับสปอนเซอร์หลายราย

ผมคิดว่า การที่เนชั่นถูกแบนแล้วมีผลกระทบชัดเจน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ถือหุ้นมองเห็นปัญหาที่จะต้องแก้ เพราะหลายบริษัทบอกว่าเขาขายสินค้าให้ทุกคน ไม่ได้ขายสินค้าให้ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับความคิดทางการเมือง พอช่องเนชั่นถูกแคมเปญแอนตี้โฆษณา เขาก็ไม่สบายใจ

ผมก็เลยเดินสาย แล้วก็ฟังเสียงด้วย บางรายที่ยังอยู่ ไม่ได้ถอนอะไร เขาก็ให้ความเห็นว่าอยากให้สื่อทำหน้าที่ตรงไปตรงมา อย่าไปมีเรื่อง hate speech ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหญ่

 

 :: สร้างความเชื่อมั่นบนหน้าจอ ::

 

 

‘ความจริง’ ที่เนชั่นนำเสนอก่อนหน้านี้ เป็น ‘ความจริง’ ที่มีวาระบางอย่าง เลยทำให้บิดเบี้ยวไป ผมมักพูดว่า สื่อเลือกข้างได้นะ แต่ไม่ได้เลือกข้างบนความเกลียดชังคนอื่น สื่อไม่สมควรเป็นเครื่องมือในการโจมตีหรือบิดเบือนความจริง

ผมเข้ามาไม่ถึงเดือน สิ่งที่ต้องทำคือสร้างความเชื่อมั่นบนหน้าจอก่อน ผมพบว่าระบบของช่องเนชั่นในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้ใช้ระบบกองบรรณาธิการ แต่ไปใช้บุคลิกความสามารถของผู้ดำเนินรายการมากกว่าการกำหนดข่าวและประเด็นที่จะนำเสนอ เพราะฉะนั้นข่าวจึงถูกละเลย

ผมมักจะบอกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของสถานีข่าวคือโต๊ะข่าว นี่คือกระดูกสันหลังของสถานีข่าว ถ้าโต๊ะข่าวไม่เข้มแข็ง สถานีข่าวเดินไม่ได้ ช่องเนชั่นมีเวลาของข่าวมาก แทบจะทั้งวัน เพราะฉะนั้นระบบโต๊ะข่าวจึงสำคัญ สิ่งแรกที่ผมทำคือกลับมาใช้ระบบโต๊ะข่าวเป็นหลัก แล้วสร้างกลไกการกลั่นกรองข่าวที่จะออกหน้าจอ เพราะเดิมดูเหมือนว่าระบบโต๊ะข่าวถูกเอาไปจัดระบบรวมกับการมองธุรกิจแบบเชิงปริมาณ เช่น การนับยอดวิว มากกว่าเชิงคุณภาพ

ตอนนี้เรากำลังกลับไปสู่ตัวตนของสถานีข่าวที่แท้จริง ถึงแม้ผู้ประกาศชุดใหม่จะไม่ใช่คนที่เป็นเนชั่นแท้ๆ เพราะเนชั่นที่ผ่านมาไม่เคยรับผู้ประกาศที่มีประสบการณ์จากช่องอื่น เราปั้นเองตลอด 17 ปีที่ผมอยู่ แต่รอบนี้เป็นครั้งแรก เพราะเป็นความจำเป็น เราก็เชื่อว่าจะเอาคนเหล่านี้มาหลอมรวมกับคนเนชั่นเดิม ให้เป็นจิตวิญญาณแบบเนชั่นได้ อย่างน้อยที่สุดผมก็ได้คุยกับทุกคนอย่างจริงจัง

 

:: รับผิดชอบกับ fake news และ hate speech ::

 

 

ช่วงที่ผ่านมา พอคนทำงานอยูภายใต้ระบบที่ไม่ได้ยึดมั่นในแนวทางของสื่อที่ดี เขาก็คุ้นเคยเหมือนกันนะ เช่น การนำความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กมานำเสนอเป็นข่าว ผมบอกว่าอันนี้ไม่ใช่ ความคิดเห็นคือความคิดเห็น ไม่ใช่ข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดเห็นของคนที่ไม่เกี่ยวกับข่าวนั้นเลย แต่เป็นข้าราชการเกษียณที่มีเวลาเขียนเฟซบุ๊กทั้งวัน อันนี้ผมห้ามเลย

ที่ผ่านมาปัญหาของเนชั่นคือไปหยิบความเห็นที่ตรงกับสิ่งที่ตัวเองอยากพูดมาเพื่อให้เขาพูดแทน เลยกลายเป็นข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ และสร้างความเกลียดชังเพิ่มเติม เราต้องกลับมาในเรื่องหลักของสื่อ เอาง่ายๆ เบสิกอย่างหลักเรื่อง gate keeper คุณต้องกลั่นกรองในสิ่งที่คุณนำเสนอ

คนที่ดูช่องเนชั่น ช่วงตั้งแต่ 16 พฤศจิกายน ถึงปัจจุบัน ก็น่าจะรู้สึกว่ามันเปลี่ยนนะ หลายคนบอกว่าเปลี่ยนเยอะ คนที่เป็นแฟนของผู้ประกาศชุดเก่าอาจจะบอกว่าเปลี่ยนจุดยืนไปเชียร์นักศึกษา อันนั้นเป็นความคิดเขา แต่ถ้าถามคนที่เป็นแฟนเนชั่นเก่าจริงๆ ที่เคยทิ้งเนชั่นไป ตอนนี้เขารู้สึกว่าเปิดดูเนชั่นได้มากขึ้น หลายคนบอกว่าเขาสามารถเปิดดูได้อย่างสบายใจ อย่างน้อยที่สุด ผมทำให้ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ช่องเนชั่นลดข่าว ข้อความ หรือความเห็นที่สร้างความเกลียดชังลงได้ค่อนข้างเยอะ

มาถึงตอนนี้ ถ้าเนชั่นเคยไปทำให้ใครเสียหาย มีลง fake news ที่กระทบคนอื่น ผมคิดว่ากองบรรณาธิการในยุคปัจจุบันก็ยินดีที่จะรับฟังหรือแก้ไข เพราะเราก็เปิดกว้าง ฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ตอนนี้หลายคนบอกว่าพร้อมจะกลับไปเป็นแขกรับเชิญของเนชั่นแล้ว จากเดิมที่ไม่ยอมรับ

 

 :: มองไปข้างหน้า ::

 

 

ผมถามคุณฉายเรื่องธุรกิจว่าตัวเลขผลประกอบการของช่องเนชั่นเป็นบวกหรือลบ คำตอบคือปริ่มๆ ซึ่งผมก็พอใจนะ เพราะหลายช่องติดลบเยอะ ความหมายของปริ่มๆ คือรายได้จากโฆษณาโดยตรงมีแค่ 55% จากสมัยก่อน ธุรกิจโทรทัศน์จะมีรายได้จากโฆษณา 80-90% แต่ตอนนี้มีแค่ 55% แล้วมีรายได้จากทางอื่น เช่น ส่วนแบ่งการขายสินค้า เป็นลักษณะทีวีชอปปิง อันนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความเสี่ยงเรื่องความผันผวนจากรายได้โฆษณาที่หนีจากทีวีไปลงในสื่ออื่นลดลง

พอลดแรงกดดันเรื่องรายได้จากโฆษณาลง คนทำคอนเทนต์จะสบายใจ เพราะเราเชื่อว่า การทำคอนเทนต์ที่ดี การทำสถานีข่าวที่ดี จะนำมาซึ่งธุรกิจที่ดี business model นี้ กองบรรณาธิการไม่ต้องรับแรงกดดันในเรื่องการทำเรตติ้ง แต่ในระยะยาวจะยั่งยืนแค่ไหนก็ไม่รู้ เพราะภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนตลอด

แต่ที่สำคัญที่สุดเราพูดถึงธุรกิจคอนเทนต์ เราพูดถึงความเป็นมากกว่าสถานีข่าว เราทำคอนเทนต์ในเชิงข่าวสารและสาระ ซึ่งยังมีอีกหลายรูปแบบที่เราสามารถนำเสนอได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้แพลตฟอร์มของทีวีอย่างเดียว เช่น พวกกิจกรรม on ground ที่ใช้แบรนด์ของเนชั่น เราต้องทำให้แบรนด์ของเนชั่นได้รับความน่าเชื่อถือ ถ้าได้รับความน่าเชื่อถือ ก็จะนำไปสู่การทำอย่างอื่น เช่น สารคดีชั้นดี แม้กระทั่ง OTT ตลาดของเน็ตฟลิกซ์ เราก็มองว่าสามารถไปได้ ถ้าเราสามารถทำให้แบรนด์ของเนชั่นไปได้หมด เราก็จะมีได้ทั้ง Nation Documentary, Nation Sitcom ฯลฯ ทำให้มีรายได้และกิจกรรมอื่นๆ เข้ามา

ผมเปรียบเทียบการทำสถานีข่าวเหมือนการปั่นจักรยานทางไกล หรือวิ่งมาราธอน มีช่วงที่ต้องสปีดและออมแรง ต้องรักษาสุขภาพร่างกายให้ดี ต้องแข็งแรงตลอด แล้วจะเดินทางไกลได้ คนที่ปั่นจักรยานทางไกล ส่วนมากก็เริ่มจากทางใกล้ แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะทาง พอกำลังอยู่ตัว ก็จะไปได้ไกลขึ้น

การทำสถานีข่าวหรือทำคอนเทนต์เชิงคุณภาพ เราต้องสะสมกำลัง ความน่าเชื่อถือกำลังสะสมตัวขึ้นมา

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save