fbpx
ความหมายใหม่ของ ‘อนาถา’ กับโรงพยาบาลแห่งอนาคต

ความหมายใหม่ของ ‘อนาถา’ กับโรงพยาบาลแห่งอนาคต

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

มีเหตุให้ต้องมาโรงพยาบาลของรัฐ และพบว่าบุคลากรของโรงพยาบาลเน้นย้ำตลอดเวลาว่า ถ้าผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาล จะต้องมี ‘ญาติ’ มาอยู่ด้วย

คำพูดนี้ของบุคลากรทางการแพทย์ทำให้คิดถึงคำว่า ‘อนาถา’ ขึ้นมาอย่างช่วยไม่ได้

สมัยก่อนโน้น มีคำเรียกผู้ป่วยประเภทหนึ่งว่า ‘คนไข้อนาถา’ ซึ่งมีความหมายโดยรวมๆ ว่า เป็นคนที่ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีญาติมิตร ยากจน ไม่มีทรัพย์สินเงินทองจะจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล ดังนั้น การรักษาคนไข้อนาถา จึงเป็นการรักษากึ่งๆ ทำบุญที่โรงพยาบาลหรือแพทย์จะทำเองก็ได้ หรือบ่อยครั้งก็อาจเชิญชวนคนในสังคมให้มาร่วม ‘ทำบุญ’ เพื่อหาเงินมาเป็นกองทุนสงเคราะห์คนไข้เหล่านี้ที่ไร้ญาติขาดมิตร ไร้ทรัพย์สินก็ได้เหมือนกัน

คำพูดของบุคลากรทางการแพทย์ที่บอกว่าต้องมีญาติมาด้วยนั้นจึงน่าสนใจมาก เพราะย่อมแปลความได้ว่า ถ้าคนไข้มี ‘ญาติ’ มาด้วย (อย่างน้อยที่สุดก็คือหนึ่งคน) แปลว่าคนไข้ที่มารักษานั้นไม่ได้อยู่ในสภาพ ‘อนาถา’ แน่ๆ เพราะอย่างน้อยก็ไม่ได้มาคนเดียว

การมาโรงพยาบาลโดยมี ‘ญาติ’ มาด้วยนั้นมีประโยชน์หลายอย่าง อย่างเช่นตอนนั่งรออยู่ ได้ยินเจ้าหน้าที่ประกาศเรียกญาติคนไข้คนหนึ่ง บอกว่าคนไข้ที่กำลังรอหมอเพื่อเข้าห้องผ่าตัด (ที่คิวยาวมาก เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลรัฐที่มีผู้มาใช้บริการมากมาย) เกิดหิวขึ้นมา บังเอิญเป็นการผ่าตัดเล็กที่ไม่ต้องงดอาหาร เจ้าหน้าที่เลยประกาศเรียกเพื่อให้ญาติไปหาของกินเล็กๆ น้อยๆ มาให้คนไข้ นี่อาจเป็น ‘หน้าที่’ เล็กๆ น้อยๆ ของญาติคนไข้

แต่หน้าที่ที่สำคัญที่สุดอาจคือการมาเป็น ‘หลักฐานที่มีชีวิต’ บอกว่าคนไข้คนนั้นไม่ได้ ‘อนาถา’ ก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ในโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะสังคมเมือง คนเราไม่ได้อยู่กันเป็นเครือญาติหรือครอบครัวขยายอีกต่อไปแล้ว คนจำนวนมากอาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียวในห้องพัก ห้องเช่า คอนโดมิเนียม ฯลฯ ด้วยซ้ำไป ดังนั้น เวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน คนจำนวนมากจึงมาโรงพยาบาลโดยไม่มีญาติหรือเพื่อน เพราะเราก็รู้กันอยู่ว่า วิถีชีวิตในสังคมปัจจุบันนั้นเร่งรีบ รัดตัว และการจราจรก็สาหัสมากเพียงใด การจะวานให้ญาติหรือเพื่อนสักคนมาคอยเป็นธุระพามาโรงพยาบาลนั้น อาจเป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะออกปากได้ ปัจจุบันจึงมีบริการพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ซึ่งสามารถเรียกได้ตามเว็บไซต์หรือหน้าโซเชียลมีเดียต่างๆ ตอกย้ำสภาวะเช่นนี้เข้าไปอีกขั้น

คำถามก็คือ ถ้าใครคนหนึ่งต้องเซซังมาโรงพยาบาลแต่เพียงลำพัง มันแปลว่าคนคนนั้นตกอยู่ในสภาวะ ‘คนไข้อนาถา’ ในความหมายเดียวกับ ‘คนไข้อนาถา’ สมัยก่อนหรือเปล่า

อย่างที่เรารู้กันอยู่ว่าในโลกปัจจุบันคนเป็นโสดมากขึ้น มีลูกน้อยลงมากกว่าสมัยก่อน วิถีชีวิตของเราจึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้คนจำนวนมากไปเที่ยวคนเดียว ดูหนังคนเดียว กินข้าวคนเดียว หรือแม้แต่สำเร็จความใคร่อยู่คนเดียวโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นให้วุ่นวาย ธุรกิจหลายอย่างจึงปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้สอดรับกับสภาวะ ‘คนเดียว’ (ที่ไม่ได้แปลว่าเหงาหรือไม่มีใครคบ) กันมากขึ้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ธุรกิจท่องเที่ยว

ถ้าเรานึกถึงนักแบกเป้เดียวดายสมัยก่อน เราจะนึกถึงนักท่องเที่ยวจนๆ ไม่มีเงิน กินอยู่อย่างซอมซ่อ แตกต่างจากคนไปเที่ยวกับทัวร์หรูๆ ที่มักไปกันเป็นกลุ่ม พักโรงแรมแพงๆ นั่งรถทัวร์กันไป มีไกด์นำทาง แต่นักแบกเป้สมัยนี้ไม่ได้เป็นนักท่องเที่ยวจนๆ อีกต่อไปแล้ว จำนวนมากคือ คนทำงานในวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ วิศวกร ฯลฯ คือเป็นคนที่มีรายได้สูง พวกเขาเพียงแต่อยากเที่ยวคนเดียว หรืออย่างน้อยก็เที่ยวเป็นกลุ่มเล็กๆ แบบแยกทางกันเมื่อไหร่ก็ได้ มาพบกันอีกเมื่อไหร่ก็ได้ มีอิสระเสรีที่จะทำอะไรต่อมิอะไรได้โดยไม่ต้องผูกตัวเองไว้กับภาระใดๆ

ถามว่านักแบกเป้ยุคใหม่นี้ คือนักแบกเป้ที่ ‘อนาถา’ เหมือนที่ธุรกิจท่องเที่ยวมักมองนักแบกเป้แบบสมัยก่อนหรือเปล่า

คำตอบก็คือไม่ใช่

นั่นทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องปรับตัวเองขนานใหญ่ (ก่อนหน้าโควิด-19 จะมาเยือน) เพื่อรองรับการท่องเที่ยวแบบ ‘แลดูอนาถา’ แต่ที่จริงมีเงินจับจ่ายใช้สอย ซึ่งอาจจะมากกว่าคนที่ไปเที่ยวกับทัวร์หรูๆ แบบเดิมๆ เสียด้วยซ้ำ

คนที่อยากไปโรงพยาบาล ‘คนเดียว’ โดยไม่พึ่งพิงญาติมิตรใดๆ ในปัจจุบันก็เป็นแบบเดียวกัน หลายคนไม่ได้อยากให้ญาติต้องลาหยุดงานมาช่วยเหลือดูแล หลายคนอาจไม่มีคนสนิทมากพอที่จะทำอย่างนั้น คนจำนวนมากไม่มีคู่ชีวิต ไม่ได้แต่งงาน ไม่ได้มีลูก และมองว่าการมาโรงพยาบาลคนเดียว ก็เหมือนการไปดูหนังคนเดียว ไปเที่ยวคนเดียว ฯลฯ นั่นเอง

แนวโน้มน่าจะเป็นอย่างนี้ต่อไปในอนาคตมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อคนที่มีลักษณะ ‘ปัจเจก’ ทำนองนี้เริ่มแก่ตัว สังคมก้าวเข้าสู่ยุค Ageing society (ที่เราพยายามโปรโมตและพูดถึงกันนักหนา โดยเฉพาะในแวดวงสาธารณสุข) มากขึ้น การเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ในวัยชราก็จะยิ่งเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะยิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนชราแห่งอนาคตอยากไปโรงพยาบาลโดยไม่มีญาติ

คนเหล่านี้อาจแลดู ‘อนาถา’ ในแง่ที่ไม่มีคนไปด้วย แต่ไม่ได้แปลว่าพวกเขา ‘อนาถา’ ในแบบไม่มี ‘ที่พึ่ง’ หรือไม่มีเงิน กลับกัน คนเหล่านี้อาจจะมีต้นทุนความมั่งคั่งสูงกว่าคนที่มีลูกเสียอีก เพราะไม่ต้องใช้เงินไปกับคนอื่น จึงมีเงินสะสมมากกว่า แต่คำขอร้องแกมบังคับของบุคลากรในโรงพยาบาลที่บอกว่าต้องมี ‘ญาติ’ มาด้วยอาจสร้างความลำบากให้คนเหล่านี้ เพราะมันคล้ายเป็นคำขอร้องที่ ‘ตกค้าง’ มาจากอดีต ในยุคสมัยที่สังคม (อาจไม่เฉพาะไทย) คุ้นเคยกับครอบครัวขยายและการมีญาติมิตรห้อมล้อม ซึ่งเป็นวิถีแบบ collectivism ดั้งเดิม

คำถามก็คือ เป็นไปได้ไหมที่โรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐ จะต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับวิถีที่เปลี่ยนไปนี้ แทนที่จะพยายามบังคับให้คนทำสิ่งที่เป็นไปได้น้อยลงเรื่อยๆ ด้วยการบอกให้คนไข้ต้องพาญาติมาด้วย

นี่คือแนวคิดใหญ่ที่จะนำการปรับตัวใหม่ๆ มาสู่โรงพยาบาลแห่งอนาคตอีกหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น การ ‘วางผัง’ ของโรงพยาบาลรัฐ ที่ต้องไม่ซับซ้อนเวียนหัวจนคนไข้แต่ละคนต้องพึ่งพา ‘ญาติ’ ในการนำทางตัวเองไปตามตึกต่างๆ แต่ควรมีการออกแบบที่มีลักษณะ human design หรือออกแบบให้ ‘มนุษย์’ เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น

เราจะเห็นว่า ผังของโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ หลายแห่ง เป็นผังที่วุ่นวายเวียนหัวมาก เพราะมีการสร้างทับถมซับซ้อนกันมานานจนอาจเรียกได้ว่าตกอยู่ในภาวะ nonsense of directions ถ้าผู้ป่วยมาคนเดียว ก็ถือว่าสร้างความทุกข์ซ้อนเข้าไปบนความทุกข์จากอาการเจ็บป่วยอีกต่อหนึ่ง ลองนึกถึงคนที่เป็นไข้ มึนงง มาคนเดียว แล้วเจ้าหน้าที่บอกให้ไปตึกนั้นตึกโน้นด้วยเส้นทางอันสลับซับซ้อน พวกเขาจะไปถึงได้อย่างไร

จะเห็นว่าแม้กระทั่งวิธีออกแบบ (หรือจริงๆ คือไม่ได้ออกแบบ) โรงพยาบาลของเรา วางอยู่บนวิธีคิดที่พึ่งพิงวิถีชุมชนแบบเดิมๆ หรือเป็น collectivism สูงมาก ยิ่งสำหรับคนชราก็ต้องพึ่งลูกหลานให้คอยมาส่ง ถ้าไม่มีเลย ก็อาจถึงแก่กาลกิริยาได้ในกรณีที่ป่วยหนักๆ

ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลยุคใหม่จึงต้องการศาสตร์สาย social medicine หรือสังคมวิทยาการแพทย์มากขึ้น เพื่อเข้ามา ‘ช่วย’ แพทย์ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ เพื่อให้โรงพยาบาลเข้าใจ ‘เทรนด์’ ที่เปลี่ยนแปลงไปของโครงสร้างประชากร

บุคลากรที่จำเป็นมากๆ อีกส่วนหนึ่งจึงคือ นักมานุษยวิทยาการแพทย์ (medical anthropologist) ที่ต้องคอยรับมือกับการเมืองเรื่องการแพทย์ (biopolitics) และสังคมวิทยาการแพทย์ (biosociality) รวมถึงการสื่อสารด้านการแพทย์ (biocommunicability) แทนคนที่เป็นแพทย์จริงๆ ซึ่งควรเอาเวลาไปทุ่มเทกับเรื่องเชิงการแพทย์ลึกๆ แทนที่จะต้องเสียเวลามาบริหารในเรื่องเหล่านี้ โดยที่อาจไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าสังคมกำลังต้องการอะไร

ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่ความเข้าใจทั้งในเรื่อง biopolitics และ biosociality คือฐานสำคัญที่ ‘รัฐ’ ควรใช้ในการจัดการ ดูแล เทคแคร์ และใส่ใจใน ‘ตัวตน’ ของประชาชนที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่ใช้วิธีสั่งการจากบนลงล่าง เพราะคุ้นชินกับระบอบอำนาจนิยมเดิมๆ ซึ่งก็จะจำลองถ่ายทอดกันลงมาเรื่อยๆ จนถึงตัวบุคลากรต่างๆ ด้วย

งานวิจัยทางมานุษยวิทยาการแพทย์หลายชิ้นในช่วงหลังๆ เสนอว่า biopolitics กับ ‘ความเป็นพลเมือง’ (citizenship) นั้น สัมพันธ์กันในแบบที่แยกขาดจากกันได้ยาก แล้วก็มีแนวคิดเรื่อง biopolitics เยอะมากที่น่าสนใจ เช่น Rudolf Kjellén เสนอว่า ‘รัฐ’ คือ ‘สิ่งมีชีวิต’ (เขาใช้คำว่ารัฐเป็น super-individual creature) ซึ่งก็คือการที่ individual จำนวนมากมารวมตัวกันเป็นรัฐ การรับมือและจัดการกับประชาชนหรือพลเมือง จึงต้องจัดการหรือรับมือแบบที่เข้าใจความเป็นปัจเจกด้วย

ในภาวะปกติทั่วไป คนมักมองว่าการแพทย์กับการเมือง (หรือเรื่อง ‘อำนาจ’) ไม่ค่อยจะเกี่ยวกันเท่าไหร่ แต่จริงๆ มันเกี่ยวข้องกันตลอดเวลา ยิ่งในยามคับขัน และโลกต้องการองค์ความรู้ทางการแพทย์ให้มาเป็น ‘อำนาจนำ’ ของสังคม (เช่นเวลาเกิดโรคระบาด) ด้วยแล้ว ผู้ใช้อำนาจนั้นก็ต้องศึกษา biopolitics ให้มากขึ้นด้วย ดังนั้นจึงควรมี medical anthropologist มาช่วย

จะเห็นได้ว่า การบอกผู้ป่วยว่าให้พา ‘ญาติ’ มาด้วยนั้น จึงเป็น biopolitics หรือการใช้ ‘อำนาจ’ ในทางการแพทย์อย่างหนึ่ง ที่จะไปกำกับดูแลและ ‘จัดการ’ ผู้ป่วย ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรถึงจะอยู่ในสภาวะคนไข้ที่พึงปรารถนาขึ้นมา ซึ่งก็คล้ายกับที่รัฐใช้ biopolitics เพื่อกำกับดูแลและ ‘จัดการ’ ให้พลเมืองของตัวเองเกิด sanitary citizenship หรือสภาวะความเป็นพลเมือง ‘สะอาด’ ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ปลอดเชื้อโรคเท่านั้น แต่ยังอยู่ในสภาวะที่ ‘ไม่อนาถา’ (ซึ่งก็โยงใยไปถึงการเป็นพลเมืองที่สร้างผลิตภาพให้กับสังคมด้วย เพราะคนที่อยู่ในสภาวะ ‘อนาถา’ โดยนัยที่ซ่อนอยู่ตามความหมายดั้งเดิมแต่โบราณ ย่อมหมายถึงคนที่ ‘ไม่มีใครเอา’ ซึ่งแปลว่าเป็นคนที่ไม่มีประโยชน์ต่อสังคมเท่าไหร่นัก)

ดังนั้น โรงพยาบาลรัฐแห่งอนาคตจึงอาจต้องลองปรับเปลี่ยนวิธีคิดต่างๆ เพื่อสลัดทิ้งร่องรอยที่มองไม่เห็นแต่ยังดำรงอยู่ของแนวคิดเก่าๆ อย่างเช่นเรื่อง  ‘อนาถา’ ออกไป เพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save