fbpx
The Future of Justice: เปิดโฉมหน้ากระบวนการยุติธรรมเวอร์ชันดิจิทัล

The Future of Justice: เปิดโฉมหน้ากระบวนการยุติธรรมเวอร์ชันดิจิทัล

หากพลิกย้อนดูหน้าประวัติศาสตร์ หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์คือ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรม’ หลายศตวรรษมาแล้วที่มนุษย์เริ่มนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้เพิ่มกำลังการผลิต นำพาโลกเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม 

จนกระทั่งเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 วลี ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4’ ก็อุบัติขึ้นมา บ่งบอกว่าเรากำลังเข้าสู่โลกที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกมิติของชีวิตมนุษย์ ทั้งเทคโนโลยีที่มีอยู่ก่อนแล้วและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยานพาหนะไร้คนขับ หรือ Internet of Things (IoT) และหากอิงตามคำพูดของเคลาส์ ชวาบ (Klaus Schwab) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) “การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จะไม่เหมือนการเปลี่ยนแปลงครั้งใดที่มนุษยชาติเคยพบเจอมาก่อน”

เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 บีบให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสธารที่เกิดขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ ‘กระบวนการยุติธรรม’ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์อย่างแนบแน่น เราเริ่มเห็นการนำ Big Data มาช่วยจัดทำข้อมูลเพื่อป้องกันอาชญากรรม เห็นศาลปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล พร้อมกับ AI ที่เริ่มเข้ามามีบทบาททั้งในการตัดสินคดีและการทำงานของตำรวจ ควบคู่ไปกันกับการเกิดขึ้นของสารพัดเทคโนโลยีที่เอื้อให้เจ้าหน้าที่สอดส่องดูแลผู้กระทำความผิดได้จากระยะไกล

ทว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็มาพร้อมกับคำถามคลาสสิก – เมื่อผู้ใช้เทคโนโลยีคือผู้ถืออำนาจรัฐ ถ้าอย่างนั้นเทคโนโลยีควรต้องถูกใช้แบบใด ใช้เท่าไหร่จึงจะพอดีและสมดุลระหว่าง ‘ความมั่นคง’ กับ ‘ความเป็นส่วนตัว’?

ทั้งหมดที่ว่ามานี้อาจฟังดูคล้ายกับภาพในนิยายไซไฟเมื่อหลายทศวรรษที่แล้ว แต่ในโลกปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้เริ่มเกิดขึ้น เริ่มพัฒนาไปเรื่อยๆ จนอาจเปลี่ยนโฉมหน้ากระบวนการยุติธรรมไปในแบบที่ทุกคนไม่เคยคิดฝันมาก่อน

เทรนด์เทคโนโลยีใหม่ในกระบวนการยุติธรรม (แบบที่ไม่ได้อยู่แค่ในนิยายไซไฟ) จะมีหน้าตาเป็นแบบไหน ชวนหาคำตอบกันได้ในบรรทัดถัดจากนี้

โฉมหน้าใหม่ ‘ตำรวจ’ ในยุคศตวรรษที่ 21

จากอาชญากรรมในโลกจริง สู่การใช้ข้อมูลในโลกเสมือน

เราอาจจะคุ้นชินภาพตำรวจที่ลงภาคสนาม ไล่ตามจับผู้ร้าย หรือคอยอำนวยความสะดวกให้ยานพาหนะบนท้องถนน แต่จริงๆ แล้ว ตำรวจเป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องพัวพันกับข้อมูลมากมาย ไม่ว่าจะนำข้อมูลไปใช้เพื่อตัดสินใจเรื่องใกล้ตัวพลเมืองอย่างการออกใบสั่งหรือค่าปรับ ไปจนถึงเรื่องการตรวจจับหรือป้องกันอาชญากรรม 

พูดให้ถึงที่สุดแล้ว หากตำรวจไม่ได้รับข้อมูลที่ ‘ถูกต้อง’ ในเวลาที่ ‘เหมาะสม’ นั่นอาจเป็นเส้นแบ่งระหว่าง ‘ความเป็น’ กับ ‘ความตาย’

ด้วยความที่ตำรวจต้องทำงานกับข้อมูลจำนวนมหาศาล ทำให้หลายหน่วยงานเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการ เช่น ในสหราชอาณาจักรปี 1974 มีการจัดทำคอมพิวเตอร์แห่งชาติของตำรวจ (Police National Computer: PNC) เป็นฐานเก็บข้อมูลพาหนะที่ถูกขโมย ซึ่งมีการอัปเดตแอปพลิเคชันรวมถึงข้อมูลใหม่ๆ ทุกปี

นอกจาก PNC แล้ว สหราชอาณาจักรยังมีฐานข้อมูลระดับชาติของตำรวจ (Police National Database: PND) ที่เริ่มใช้งานควบคู่กันไปตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเปรียบเทียบข้อมูลผู้กระทำความผิดรายบุคคล ผู้ต้องสงสัย และพยาน รวมถึงมีการนำเครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วย เช่น การลงซอฟต์แวร์เพื่อช่วยค้นหารูปใบหน้าบุคคลจากประวัติผู้ที่ถูกคุมขัง

แน่นอนว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องข้อมูลก่อให้เกิดประโยชน์กับวงการตำรวจมากมาย เช่น การทำความเข้าใจผู้เสียหายหรือรูปแบบอาชญากรรมได้ดีขึ้น หรือการช่วยลดความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น ดังเช่นโมเดลที่เกิดขึ้นใน ‘คาร์ดิฟฟ์’ เมืองหลวงของนครเวลส์ ซึ่งเริ่มจากแนวความคิดง่ายๆ ที่ว่า ถ้าตำรวจรู้ข้อมูลว่าอาชญากรรมรุนแรงจะเกิดขึ้นที่ไหน พวกเขาก็จะสามารถเคลื่อนย้ายกำลังพลไปป้องกันได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว บันทึกของตำรวจอาจไม่ได้ให้ข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมด เพราะคดีจำนวนมากเกิดขึ้นแต่ไม่ได้ถูกรายงาน หรือถูกรายงานแต่ข้อมูลไม่ตรงตามความเป็นจริง

คาร์ดิฟฟ์โมเดลจึงใช้ข้อมูลจากหน่วยรับโทรศัพท์ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ รวมถึงข้อมูลการส่งผู้บาดเจ็บจากรถพยาบาล เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและช่วยตำรวจในการจัดการกับความรุนแรง โมเดลที่ว่ายังรวมถึงการฝึกฝนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ให้ช่วยเก็บและแชร์ข้อมูลกับตำรวจได้ทันที เพื่อตำรวจจะได้สร้าง ‘แผนที่’ ระบุจุดที่ความรุนแรงเกิดขึ้นจริงๆ 


เมื่อ ‘ข้อมูล’ คือน้ำมันในยุคดิจิทัล: สำรวจความท้าทายของตำรวจในการใช้ Big Data

แม้เทคโนโลยีจะฟังดูมีประโยชน์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีความท้าทายหลายประการที่มาพร้อมกัน หนึ่งในประเด็นน่าสนใจคือ การที่ภาครัฐต้องการใช้ข้อมูลจากแพลตฟอร์มเอกชน เช่น ในสหรัฐฯ แผนกตำรวจท้องถิ่นมักจะขอหมายศาลในการสืบค้นข้อมูลแหล่งที่อยู่ (location) ที่ได้จากการใช้สมาร์ตโฟนผ่านกูเกิ้ล (Google) ซึ่งอาจช่วยคาดการณ์สถานที่และช่วงเวลาที่เกิดอาชญากรรม เพื่อจะนำไปสู่การหาตัวพยานได้ อีกทั้งตำรวจในสหรัฐฯ ยังสามารถซื้อข้อมูลส่วนบุคคลจากผู้ให้บริการเอกชนได้เช่นกัน

อีกประเด็นน่าสนใจคือเรื่องการเข้าถึงข้อมูล เพราะในปัจจุบัน ตำรวจยังไม่ค่อยแบ่งปันเซตข้อมูล และยังไม่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลภาคเอกชนเพื่อใช้งานในจุดประสงค์ที่ไม่ใช่เพื่อกิจการตำรวจ หรือโดยไม่ได้รับอนุญาตทางกฎหมาย อีกทั้งแนวปฏิบัติด้านการปกป้องข้อมูลยังจำกัดว่า ตำรวจหรือหน่วยงานภาครัฐจะสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้ เมื่อมีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยว 

ขณะที่ขีดความสามารถของตำรวจในการรับและย่อยข้อมูลจำนวนมหาศาลก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นปัญหา เพราะตำรวจต้องการข้อมูลที่ ‘ใช่’ ในการสืบสวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะหาเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างถูกต้อง และไม่จมไปกับข้อมูลจำนวนมหาศาลเสียก่อน

อีกประเด็นท้าทายและควรค่าแก่การหยิบยกมาพูดอย่างยิ่งคือ บางครั้งผู้ที่ต้องการข้อมูลส่วนตัวคือผู้ที่มีอำนาจจากภาครัฐ ซึ่งอาจนำไปสู่เรื่องความเป็นส่วนตัว (privacy) ของพลเมือง และสิทธิในการใช้ข้อมูลโดยได้รับความยินยอม (consent) จากเจ้าของข้อมูลเสียก่อน 

ถ้าเราย้อนกลับไปดูกุญแจสำคัญของ Big Data นั่นคือการที่ข้อมูลจำนวนมหาศาลจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ถูกรวบรวมหรือนำมาเชื่อมโยงกัน การใช้ Big Data ในกิจการตำรวจจึงทำให้เกิดคำถามว่า ตำรวจมีอำนาจแคไหนในการรวบรวมข้อมูล ทั้งในระดับผู้ที่มาติดต่อกับตำรวจ เช่น ผู้เสียหายหรือพยาน (ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลหลักในปัจจุบัน) และในระดับที่กว้างกว่านั้นด้วย

ความกังวลดังกล่าวถูกสะท้อนชัดในผลการสำรวจจากสหราชอาณาจักรที่ชี้ให้เห็นว่า บุคคลทั่วไป (44%) และผู้เสียหาย (50%) ต้องการให้ตำรวจขออนุญาตก่อนที่จะใช้ข้อมูลของพวกเขาในการสร้างแบบจำลองหรือป้องกันอาชญากรรม และแม้คนจำนวนมากจะนิยมโพสต์รูปหรือข้อมูลบางอย่างลงในบัญชีโซเชียลมีเดียของตัวเอง แต่นั่นคือ ‘คนละเรื่อง’ กับการใช้ข้อมูลจากภาครัฐ 

จึงเป็นไปได้ว่ายิ่งตำรวจพยายามเข้าหาข้อมูลของประชาชนมากเท่าไหร่ เจ้าของข้อมูลก็มีแนวโน้มจะปกป้องความเป็นส่วนตัวมากขึ้นเท่านั้น 


จะเป็นอย่างไรเมื่อตำรวจใช้ Big Data?

การทำงานของตำรวจจะเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อใช้ Big Data – หากตอบแบบกำปั้นทุบดิน เราคงคาดการณ์ได้ว่าการทำงานของตำรวจย่อมต้องเปลี่ยนไปอยู่แล้ว เพราะเมื่อตำรวจมีข้อมูลมหาศาลอยู่ในมือ พวกเขาก็มีแนวโน้มจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ถ้าลองถามประชาชนว่า พวกเขาคาดหวังอะไรจากตำรวจ คำตอบแรกๆ คือประชาชนหวังให้ตำรวจช่วยป้องกันการเกิดอาชญากรรมในสังคม และถ้าเรามองว่าตำรวจจะมีข้อมูลเพิ่มขึ้นแล้วล่ะก็ พวกเขาก็จะสามารถใช้ข้อมูลตรงนี้ป้องกันอันตราย หรืออาชญากรรมที่มีแนวโน้มจะเกิดได้เช่นกัน แต่นั่นอาจเป็นประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นในระยะสั้น เพราะถ้ามองในระยะยาวแล้ว กลับพบว่าตำรวจมีแนวโน้มจะทำงานได้มีประสิทธิภาพน้อยลง เพราะพวกเขาทำงานได้ ‘ง่าย’ ขึ้น

อีกประเด็นที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงคือ แทนที่ตำรวจจะเป็นผู้ใช้ข้อมูล กลับกลายเป็นว่าข้อมูลสามารถบงการและนำการทำงานของตำรวจได้ เช่น การเคลื่อนหรือจัดกำลังพล ลองนึกภาพดูว่าคุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าตำรวจเคลื่อนกำลังพลมาตั้งในละแวกบ้านของคุณ ทั้งที่ในละแวกนั้นอาจจะไม่เคยเกิดอาชญากรรมขึ้นด้วยซ้ำ แต่ตำรวจทำไปเพราะอัลกอริธึมแนะนำให้พวกเขาทำ

การขับเคลื่อนด้วยข้อมูลยังอาจทำให้ตำรวจกลายเป็นพวกชอบควบคุม (control creep) มากขึ้น หรือพูดให้ชัดคือ พวกเขามีแนวโน้มจะไล่ใช้กำลังตามจับคนจนเกินขอบเขตที่สังคมประชาธิปไตยยอมรับได้ เพราะการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมีแนวโน้มจะแนะนำให้ตำรวจสำรวจชุมชนหนึ่งมากขึ้น และไล่ตามอาชญากรรมที่สามารถจะจัดการได้ ‘ง่ายกว่า’ เพื่อเป็นการขยายขอบเขตการใช้อำนาจของตนเองออกไป

สุดท้าย แม้ข้อมูลที่อิงกับข้อเท็จจริงจะเป็นตัวนำ แต่อย่าลืมว่าผู้ใช้คือมนุษย์ที่อาจมาพร้อมกับอคติบางประการโดยไม่ได้ตั้งใจ ตัวอย่างเช่นคนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ (ethnic minority) ที่มักถูกเพ่งเล็งโดยตำรวจอยู่แล้ว และถ้าข้อมูลชี้ให้คอยตรวจตราคนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด ตำรวจที่มีทรัพยากรจำกัดก็อาจจะเลือกทำตามข้อมูลนั้นด้วยอคติที่มีอยู่แต่เดิมแล้วก็เป็นได้

นี่จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับตำรวจและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะหากใช้อย่างไม่ระมัดระวังพอ เทคโนโลยีก็อาจจะเข้ามาควบคุมบงการ และรุกล้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าที่เราคิด

‘ศาล’ กับการทำงานบนโลกเสมือน

จากการระงับข้อพิพาทออนไลน์ สู่แนวคิด ‘ศาลออนไลน์

ระยะเวลาที่ยาวนาน ขั้นตอนที่ซับซ้อนและเป็นทางการ ไปจนถึงคดีจำนวนมากที่ถูกเลื่อนหรือถูกทิ้งช่วงการพิจารณาคดีอย่างยาวนาน กลายเป็นภาพจำของใครหลายคนเมื่อพูดถึง ‘ศาล’ และถึงแม้การติดต่อกับศาลจะชวนให้รู้สึกหงุดหงิดจนถึงขั้นรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรมเท่าที่ควรมากแค่ไหน แต่ประชาชนหลายคนก็ยังจำเป็นต้องติดต่อกับศาล ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงคดีใหญ่โต

ปัญหามากมายนี้เองทำให้เกิดความพยายามในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วย ลองนึกภาพดูว่าแต่เดิมคุณต้องตื่นตั้งแต่เช้า ตาลีตาเหลือกวิ่งไปศาล นั่งและรออีกเป็นชั่วโมงเพื่อจะได้ทำธุระแค่ไม่กี่นาที แต่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป ปัญหาทุกอย่างอาจจะถูกสะสางได้ที่บ้านของคุณเอง นี่คือภาพในอนาคตที่หลายคนวาดฝัน ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาสนับสนุนการทำงานของศาลในโลกเสมือนจริงได้

เทคโนโลยีศาลออนไลน์มีต้นกำเนิดมาจากการระงับข้อพิพาททางออนไลน์ (Online Dispute Resolution: ODR) ซึ่งถูกใช้เป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีที่เป็นเอกชน และใช้ในทางกฎหมายการค้า ต่อมาในปี 2016 รายงานเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีศาลออนไลน์ในสหรัฐฯ แนะนำว่า การเจรจาไกล่เกลี่ยคดีอาญาก็สามารถเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ได้เช่นกัน ดังเช่นที่ศาลในรัฐมิชิแกนใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์นำร่องที่เรียกว่า Matterhorn ให้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแบบออนไลน์ เช่น เรื่องค่าปรับจราจร ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่พึงพอใจอย่างมาก

ทว่าก็เป็นที่น่าสังเกตว่าเทคโนโลยีและการใช้ศาลออนไลน์ในปัจจุบันจะเน้นที่คดีอาชญากรรมที่ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ รวมไปถึงเรื่องทั่วไปอย่างการละเมิดกฎจราจร หรือในอังกฤษและเวลส์ เทคโนโลยีในด้านการศาลจะใช้เฉพาะในกลุ่มผู้กระทำความผิดที่อายุมากกว่า 18 ปี และต้องรับสารภาพผิดทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

แต่ถึงจะเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่ต้องการการพิจารณาในชั้นศาล เทคโนโลยีก็ยังมีประโยชน์อยู่ดี เช่น การใช้วิดีโอเพื่ออำนวยความสะดวกให้จำเลยสามารถให้การได้โดยที่ไม่ต้องออกมาจากเรือนจำ ซึ่งเป็นวิธีที่อังกฤษและเวลส์เริ่มใช้มาตั้งแต่ช่วงปี 1992 และขยายไปใช้ในการเชื่อมสถานีตำรวจกับศาลในปี 2009 


เมื่อศาลอยู่บนโลกออนไลน์ สาธารณชนคิดอย่างไร

แม้เทคโนโลยีจะมีประโยชน์มากมาย ทั้งช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ช่วยให้การติดต่อกับศาลสะดวกสบายและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกับผู้กระทำความผิด ผู้เสียหาย หรือพยาน แต่คำถามสำคัญคือ เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นตอบรับกับภาพฝันและความคาดหวังของสาธารณชนต่อระบบยุติธรรมหรือไม่ คนส่วนใหญ่คิดยังไงกับภาพศาลปรากฏผ่านทางหน้าจอวิดีโอแทนที่จะขึ้นนั่งตัดสินคดีบนบัลลังก์?

อาจจะไม่เกินความคาดหมาย เมื่อผลสำรวจบอกเราว่า คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างจ่ายค่าปรับบนโลกออนไลน์ ทว่าเมื่อพูดถึงเรื่องการใช้วิดีโอในศาล คนส่วนใหญ่กลับรู้สึกไม่สะดวกสบายใจ เพราะพวกเขามองว่า เราควรจะต้องขึ้นศาลในโลกจริง ไม่ใช่โลกเสมือนจริง เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นเอกภาพและความชอบธรรมของระบบกฎหมาย และคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดจะได้รู้สึกถึงอำนาจของรัฐในการพิพากษาความผิดด้วย 

ทั้งนี้ คดีที่คนส่วนใหญ่ ‘ไม่เห็นด้วย’ ที่จะใช้วิดีโอในการพิจารณาคดีคือ คดีฆาตกรรม ข่มขืน จี้ปล้น และคดีเกี่ยวกับการดื่มแล้วขับ (drink driving)  

อีกประเด็นสำคัญคือความยุติธรรมและความเท่าเทียมในการพิจารณาคดีออนไลน์ นักกฎหมายจำนวนมากในอังกฤษและเวลส์มองว่า ศาลเสมือนจริง (virtual courts) ส่งผลลบต่อผู้ถูกกล่าวหา เพราะเขาไม่สามารถเห็นหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่มาร่วมรับฟังการพิจารณาคดีได้ ทำให้รู้สึกอ่อนแอและโดดเดี่ยว ยังไม่นับคนที่มีภาวะสุขภาพจิตหรือประสบปัญหาในการเรียนรู้ ซึ่งอาจเจอความยากลำบากมากขึ้นไปอีก จึงพอสันนิษฐานได้ว่าจำเลยส่วนใหญ่เลือกที่จะปรากฏตัวในศาลมากกว่าจะใช้วิดีโอ ไม่ว่าความผิดที่พวกเขากระทำจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหนก็ตาม

ดังนั้น ไม่ว่าในอนาคต เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการพิจารณาคดีมากขนาดไหน สิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรลืมคือ ดิจิทัลควรจะเป็นเพียง ‘ทางเลือก’ เท่านั้น ประชาชนทุกคนยังต้องได้รับสิทธิในการปรากฏตัวในศาล และส่งเสียงของพวกเขาออกมาให้ทุกคนได้รับฟังเช่นกัน

AI กับการช่วยตัดสินใจที่ดีขึ้น (จริงหรือ?)

AI ในระบบยุติธรรม: เมื่อเครื่องจักร (อาจ) ตัดสินใจได้ดีกว่ามนุษย์

ถ้าให้คิดถึงอะไรสักอย่างที่เป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญา หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น ‘การตัดสินใจ’ ไล่เรียงตั้งแต่การตัดสินใจของตำรวจในการจับกุมและตั้งข้อหาใครสักคน ไปจนถึงการตัดสินใจของผู้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ และควรจะได้รับโทษอะไร ทั้งหมดทั้งมวลทำให้ระบบการยุติธรรมกลายเป็นเรื่องการตัดสินที่เกี่ยวพันและมีผลกับชีวิตของพวกเราทุกคน จึงไม่น่าแปลกใจที่สาธารณชนจะคาดหวังให้การตัดสินใจในกระบวนการยุติธรรมเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม โปร่งใส และสมควรแก่เหตุ ทั้งเพื่อประโยชน์ของจำเลย ผู้เสียหาย และคนรอบตัว รวมถึงประโยชน์แก่สาธารณะ

เมื่อการตัดสินใจที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับชีวิตของคนอย่างมหาศาล เราจึงเห็นความพยายามในระบบยุติธรรมที่จะหาเครื่องมือหรือวิธีการที่ช่วยให้คนในระบบตัดสินใจได้ดีขึ้น ซึ่งความพยายามที่ว่าสืบย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ที่ประเทศพัฒนาแล้ว (developed country) ทั่วโลกพยายามพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงที่มีความแม่นยำ โดยอาศัยการทำวิจัยที่อิงจากข้อมูลต่างๆ ของปัจเจก ทั้งอายุ เพศสภาพ และประวัติอาชญากรรม จัดทำเป็นชุดข้อมูลเพื่อเป็นแนวนำทางว่า คนๆ นี้มีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรมมากแค่ไหน จากนั้นจึงพัฒนากลายเป็นชุดเครื่องมือประเมินนโยบายที่ช่วยในการตัดสินใจ

จนกระทั่งเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นบนโลกและส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน ระบบยุติธรรมเองก็เริ่มนำเอาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้มาปรับใช้ โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ที่อาศัยประสิทธิภาพของระบบอัลกอริธึมมาช่วยในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อประกอบการตัดสินใจ

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ปี 2017 งานวิจัยชิ้นหนึ่งในสหรัฐฯ สำรวจการตัดสินใจของผู้พิพากษาในนครนิวยอร์กระหว่างปี 2008-2013 เกี่ยวกับการให้ประกันตัว โดยผู้วิจัยศึกษาชุดข้อมูลของผู้ถูกกล่าวหา 758,027 คน ประกอบไปด้วยลักษณะท่าทาง การตัดสินใจจากผู้พิพากษาว่าพวกเขาได้รับการประกันตัวหรือไม่ และถูกตัดสินว่าทำความผิดจริงไหม จากนั้นจึงนำอัลกอริธึมมาใช้ประมวลผลชุดข้อมูลเดียวกัน

ผลลัพธ์ที่ได้คือ การใช้ machine learning (ส่วนการเรียนรู้ของเครื่องที่ถูกใช้งานเสมือนเป็นสมองของ AI) สามารถนำไปสู่การตัดสินใจที่ ‘ดีกว่า’ การตัดสินใจของผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์จริงๆ ถ้าพูดให้ชัดขึ้น อัลกอริธึมสามารถประมวลผลให้จำคุกได้ ‘ถูกคน’ มากกว่า และทำให้อัตราการเกิดอาชญากรรมลดลงถึง 24.8% 

นอกจากนี้ อัลกอริธึมยังสามารถลดจำนวนผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดี (on remand) ได้ถึง 42% ด้วยการปล่อยตัวบุคคลที่อัลกอริธึมคำนวณว่า มีแนวโน้ม ‘น้อย’ ที่จะก่ออาชญากรรม และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ การปล่อยตัวคนกลุ่มนี้ช่วยลดจำนวนผู้ต้องขังที่เป็นแอฟริกัน-อเมริกันและ Hispanic ในเรือนจำด้วย

อีกประเด็นน่าสนใจที่งานวิจัยชี้ให้เราเห็นคือพฤติกรรมของผู้พิพากษา กล่าวคือ มีผู้พิพากษาบางคนที่มักตัดสินให้จำเลยถูกคุมขังแทนที่จะได้รับการประกันตัว ‘มากกว่า’ เพื่อนผู้พิพากษาคนอื่นๆ แต่แม้จะตัดสินให้จำเลยถูกคุมขังมากกว่า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่มีความเสี่ยงสูงจะถูกขังมากกว่า หรือทำให้ความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรมลดลง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ผู้พิพากษาบางคนตัดสินให้ทั้งคนที่มีความเสี่ยงสูงและต่ำถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีเหมือนกันหมดนั่นเอง

ข้อมูลข้างต้นค่อนข้างสอดคล้องกับคำถามที่ว่า หากเทคโนโลยีทำให้การตัดสินใจของเรา ‘ดีขึ้น’ คำถามต่อมาคือ แล้วเทคโนโลยีช่วยให้การตัดสินใจนั้น ‘เที่ยงธรรม’ ขึ้นหรือไม่? เพราะถ้ามองในแง่ของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและจิตวิทยา ปัจจัยภายนอกสามารถ ‘เปลี่ยน’ การตัดสินใจบางอย่างของมนุษย์ได้ และแน่นอนว่าบางครั้ง ปัจจัยภายนอกที่อาจดูเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างสุนัขป่วย ทะเลาะกับที่บ้าน หรือแม้กระทั่งหิวข้าว ก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่เที่ยงธรรมสักเท่าไหร่นัก

ดังเช่นที่งานวิจัยปี 2011 ได้ทำการสำรวจกลุ่มผู้พิพากษาในอิสราเอลที่ได้รับมอบหมายให้ตัดสินพิจารณาทัณฑ์บนในคดีอาชญากรรม ผลลัพธ์พบว่า ผู้พิพากษาจะให้ผลลัพธ์ที่ดู ‘มีเมตตา’ มากกว่าในช่วงเริ่มต้นของวัน และอีกครั้งคือในช่วงหลังพักเบรก หรือช่วงหลังอาหารกลางวัน 

ทั้งหมดนี้ชี้ชัดว่า ปัจจัยภายนอกกระทบกับการตัดสินใจของมนุษย์อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ถ้าเป็น AI แล้ว เราเชื่อได้ว่าพวกมันจะไม่ถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกใดๆ และนั่นอาจจะนำไปสู่การให้ผลลัพธ์ที่เที่ยงธรรมและขึ้นกับเหตุผล มากกว่าจะถูกกระทบจากความเปราะบางของมนุษย์


โปรดยืนตรงเคารพศาล (AI)

คุณคิดอย่างไร ถ้ารู้ว่าผู้พิพากษาที่ตัดสินให้ประกันตัวในคดีนี้เป็น ‘AI’ ไม่ใช่มนุษย์จริงๆ?

แม้การศึกษาที่ผ่านมาจะชี้ชัดแล้วว่า อัลกอริธึมมีแนวโน้มจะประมวลข้อมูลและให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง แม่นยำ และ (ในบางครั้ง) เที่ยงธรรมกว่า แต่ผลการสำรวจความเห็นของประชาชนทั่วไปกลับตรงข้าม เพราะพวกเขาไม่ค่อยสนับสนุนการนำเครื่องจักรมาใช้ตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิตคนอย่างแนบแน่นเช่นนี้สักเท่าไหร่ หรือบางคนก็ถึงขั้นคัดค้านอย่างแรงกล้า ทว่าถ้าเป็นเรื่องของการนำ AI มาใช้ ‘สนับสนุน’ การตัดสินใจของมนุษย์แล้วล่ะก็ คนส่วนใหญ่ค่อนข้างเห็นด้วย

แต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ – คนส่วนใหญ่ที่ยอมรับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการช่วยตัดสินใจจะเป็นคนที่ค่อนข้างคุ้นชินและสะดวกใจกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว นี่อาจทำให้เราพอคาดการณ์ว่าได้ว่า ในอนาคต เมื่อคนเริ่มยอมรับเทคโนโลยีเข้ามาในชีวิตของพวกเขามากขึ้น ก็มีแนวโน้มว่าเทคโนโลยีจะถูกนำมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ AI กับการตัดสินใจเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิตของมนุษย์อย่างแนบแน่น ความคิดที่เราอาจจะมี ‘ผู้พิพากษาโรบอต’ ในอนาคตจึงนำมาซึ่งการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น:

ประเด็นแรกคือ เครื่องจักรจะมาทดแทนการตัดสินใจของมนุษย์ได้จริงหรือ ในเมื่อการตัดสินใจที่ว่าเป็นการตัดสินใจที่ซับซ้อน ต้องพิจารณาหลายปัจจัย ทั้งกฎหมายและสภาพแวดล้อมรอบด้านเพื่อที่จะตัดสินโทษให้เหมาะสมและสมควรแก่เหตุที่สุด ลองนึกภาพว่าคุณ (ที่อาจจะอยู่ในฐานะทนายหรือผู้ถูกตัดสินคดีเสียเอง) ต้องพยายามอธิบายปัจจัยและสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดี ซึ่งผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์จริงๆ ย่อมรับฟังคุณ แต่ถ้าเป็นเครื่องจักรที่ประมวลผลมาแล้วเสร็จสรรพ เสียงของคุณคงไม่ถูกรับฟังอย่างแน่นอน

ประเด็นที่สองและเป็นประเด็นที่ไปไกลกว่านั้นคือ เรื่องความรับผิดรับชอบ (accountability) ของเครื่องจักร ต่อให้เราบอกว่า เรานำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของมนุษย์ นั่นเป็นเรื่องที่สมควรทำหรือเปล่า อัลกอริธึมจะ ‘รับผิดชอบ’ ได้ไหม ถ้าพวกมันส่งคนบริสุทธิ์เข้าคุกหรือแนะนำให้ผู้พิพากษาทำเช่นนั้น ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความผิดพลาดเช่นนี้ ผู้พิพากษา ผู้ออกแบบเครื่องจักร ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่จัดหาเครื่องจักรนั้นมา?

ปัญหาที่ว่าจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นในกรณีที่เครื่องจักรนั้นมีการเรียนรู้แบบ deep learning (วิธีการเรียนรู้แบบอัตโนมัติด้วยการเลียนแบบการทำงานของโครงข่ายประสาทของมนุษย์) จนพัฒนาอัลกอริธึมของตัวเองขึ้นมาได้ ถ้าเป็นแบบนี้แล้ว มนุษย์แทบจะไม่สามารถเข้าใจการตัดสินใจของ AI ได้เสียด้วยซ้ำ (ลืมเรื่องความรับผิดรับชอบไปได้เลย!) 

ประเด็นสุดท้าย หาก AI ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อตัดสินคดี แต่ถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการทำงานของตำรวจ ก็น่าคิดต่อว่าข้อมูลที่ถูกประมวลผลโดยเครื่องจักรเป็นข้อมูลที่ ‘ใช่’ จริงๆ หรือไม่ อย่าลืมว่าข้อมูลในระบบยุติธรรมทางอาญาไม่ใช่ข้อมูลธรรมดา แต่ต้องประกอบด้วยข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมในระบบ โดยเฉพาะเรื่องการจับกุมและการกล่าวหา ซึ่งอาจไม่ได้แม่นยำและเที่ยงธรรมเสมอไป แต่ถูกเจือปนด้วยอคติบางอย่าง เช่น เชื้อชาติ และระดับการศึกษา ดังที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ที่คนเชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกันมักจะถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการกระทำผิดซ้ำอยู่เสมอ

นี่จึงนำมาสู่คำถามว่า ต่อให้เครื่องจักรประมวลผลข้อมูลอย่างถูกต้อง แม่นยำ และปราศจากอคติจริง แต่จะมีประโยชน์อะไร หากข้อมูลเหล่านั้นถูกเจือปนด้วยอคติตั้งแต่ต้น


How to ใช้ AI ไม่ใช่ให้ AI ครอบงำ

หากนี่เป็นนิยายไซไฟล้ำยุคสักเรื่อง จริยธรรมและความโปร่งใสของ AI คงเป็นวัตถุดิบชั้นดีของนักเขียนทั้งหลายในการรังสรรค์โลกเหนือจินตนาการที่หุ่นยนต์ครอบงำการตัดสินใจของมนุษย์ แต่นี่ไม่ใช่นิยายไซไฟ และถ้าหุ่นยนต์ครอบงำการตัดสินใจของมนุษย์ในระบบยุติธรรมได้แล้วจริงๆ นั่นย่อมหมายถึงผลกระทบต่อชีวิตคนจำนวนมหาศาล

นี่จึงนำมาสู่ประเด็นที่สาธารณชนต้องช่วยกันขบคิดว่า เครื่องจักรจะเข้ามามีบทบาทในระบบยุติธรรมอย่างไร ต้องมากแค่ไหนจึงจะพอดี เป็นไปได้ไหมที่การตัดสินใจตั้งข้อกล่าวหายังเป็นหน้าที่ของอัยการ เช่นเดียวกับที่ศาลรับบทบาทในการตัดสินทัณฑ์บนหรือตัดสินโทษ ขณะที่ผลการประเมินความเสี่ยงต่างๆ จากเครื่องจักรจะกลายเป็นเพียง ‘ตัวช่วย’ มนุษย์ ไม่ใช่แทนที่มนุษย์ไปเสียทั้งหมด

ที่สำคัญคือ แม้เทคโนโลยีจะเป็นเพียงตัวช่วย แต่ผู้ใช้ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ปล่อยให้อคติเจือปนการตัดสินใจของเครื่องจักร เพื่อที่ AI จะมอบผลลัพธ์ที่ยุติธรรมและมีประโยชน์ได้จริงๆ

เทคโนโลยีช่วยพากลับคืนสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ

ระวัง! ‘เทคโนโลยี’ กำลังจับตาดูคุณอยู่

การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตรวจตราผู้กระทำความผิดที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเริ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1980-1990 โดยการใช้ป้ายคลื่นความถี่วิทยุ (radio frequency tagging) ติดไว้กับกำไลข้อเท้าของผู้สวมใส่ และผู้สวมจะต้องยินยอมอยู่ในสถานที่เฉพาะ ภายในเวลาที่ถูกจำกัดโดยศาล ซึ่งในอังกฤษและเวลส์ บริษัทเอกชนที่ได้รับมอบหมายจากส่วนกลางจะเป็นทั้งผู้จัดหาเทคโนโลยีและคอยตรวจสอบระบบดังกล่าว

ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เทคโนโลยีใหม่ปรากฏขึ้นในท้องตลาดอีกครั้ง พร้อมความสามารถในการติดตามที่อยู่ปัจจุบันของผู้กระทำความผิดแบบ (เกือบจะ) เรียลไทม์ผ่านระบบ GPS และไม่นานมานี้เองที่โลกคิดค้นเทคโนโลยีตรวจจับการใช้สารเสพติดผ่านผิวหนังขึ้นมาได้ โดยอาศัยการตรวจจับจากอุปกรณ์ที่ติดกับผิวหนัง ซึ่งมีการใช้บ้างแล้วในสหราชอาณาจักร

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งมีความพยายามจะนำ GPS มาใช้เพื่อปกป้องผู้ที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) เพราะคดีความรุนแรงในครอบครัวเป็นคดีที่ผู้กระทำอาจจะพยายามก่อความรุนแรงซ้ำๆ เพื่อกันไม่ให้ผู้ถูกกระทำนำเรื่องขึ้นสู่ศาล อีกทั้งผู้กระทำในคดีเหล่านี้ยังสามารถที่จะตามราวีผู้ถูกกระทำได้มากกว่าคดีความรุนแรงแบบอื่น เพราะพวกเขารู้กิจวัตรประจำวัน ที่อยู่บ้าน สถานที่ที่ชอบไป รวมถึงรู้ช่องทางติดต่อครอบครัวหรือเพื่อนของผู้ถูกกระทำด้วย

เทคโนโลยี GPS จึงเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ กล่าวคือผู้กระทำความผิดจะต้องเข้าโปรแกรม GPS ตั้งแต่การขึ้นศาลครั้งแรก และใช้โปรแกรมไปจนกว่าคดีจะสิ้นสุดลง ซึ่งจะเป็นการจำกัดเสรีภาพและให้ทำตามกฎระเบียบบางอย่าง กระบวนการดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกระทำได้เข้ามามีบทบาทร่วมเสนอแนะด้วยว่า กฎแบบไหนที่พวกเขา/เธอต้องการ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไม่ต้องเจอกับผู้ก่อความรุนแรงเหล่านั้น

นอกจากเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว ปัจจุบันยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยตรวจตราผู้กระทำความผิด เช่น อุปกรณ์ที่สามารถตรวจสอบสารและยาผิดกฎหมายจากที่บ้านได้ โดยการตรวจสอบทางชีวภาพและลายนิ้วมือ ผ่านทางอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นตลับ สามารถเคลื่อนย้ายได้ และให้ผลลัพธ์ภายใน 10 นาที ผู้กระทำความผิดจึงไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ศูนย์ทดสอบ อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและให้ผลลัพธ์ที่รวดเร็ว


เทคโนโลยีใหม่ คำถามเก่า

แม้เทคโนโลยีจะเกิดขึ้นและถูกพัฒนาไปพร้อมกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคโลกาภิวัตน์ ทว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการกลับคืนสู่สังคมกลับมาซึ่งคำถามเก่าที่ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงและหาคำตอบที่แน่นอนไม่ได้

ประเด็นแรกคือประสิทธิภาพของเทคโนโลยีในการลดการกระทำความผิดซ้ำ โดยมีผลสำรวจชี้ว่า แม้จะเทคโนโลยีถูกใช้มามากกว่า 40 ปี แต่ลำพังตัวมันเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้การกระทำผิดซ้ำลดลง การจะลดการกระทำผิดซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงต้องอาศัยการใช้เทคโนโลยีควบคู่ไปกับคนจริงๆ ที่ทำหน้าที่ร่วมด้วย 

ประเด็นที่สอง และเป็นประเด็นที่มาคู่กับการใช้เทคโนโลยีเสมอคือ เรื่องพื้นที่ส่วนตัวของผู้กระทำความผิด ถ้าผู้กระทำความผิดไม่มีพื้นที่ให้เรียนรู้และลองผิดลองถูกเลย การกลับคืนสู่สังคม (rehabilitation) ของพวกเขาก็อาจจะไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี รายงานชี้ว่า อาจยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำงานอย่างไร หรือจะถูกประยุกต์ใช้อย่างไรในอนาคต 

และประเด็นสุดท้ายคือ เทคโนโลยีจะเข้ามาลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanised) ในระบบยุติธรรมหรือไม่ ถ้าเราใช้ระบบติดตามดาวเทียมแทนที่จะเป็นเจ้าหน้าที่ที่เป็นมนุษย์ และสิ่งนี้จะขัดกับภาพที่สาธารณชนคาดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมหรือไม่? 

ถ้าพูดให้ชัดขึ้น การใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจตราพฤติกรรมของมนุษย์อาจทำให้สาธารณชนคาดหวังกับตำรวจและระบบคุมประพฤติในการป้องกันอาชญากรรมไว้สูงเกินไป เพราะแม้เทคโนโลยีจะแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ได้ล่วงหน้า แต่ผู้ใช้ที่เป็นคนจริงๆ อาจจะไม่สามารถแทรกแซงได้เร็วพอจะป้องกันการกระทำผิดซ้ำได้จริง และเมื่อเจ้าหน้าที่ในระบบยุติธรรมไม่สามารถทำตามความคาดหวัง (ที่อาจจะสูงเกินไป) ของสาธารณชนได้แล้ว ก็อาจนำมาซึ่งความไม่เชื่อใจทั้งในระบบและเทคโนโลยีเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีข้อเสนอออกมาว่า หากเราต้องการใช้เทคโนโลยีให้สมดุล พอดี และมีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ใช้และผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน รวมไปถึงการย้อนกลับไปตั้งแต่จุดแรกเริ่มว่า เราต้องการอะไรจากระบบยุติธรรม และเราต้องการให้ภาครัฐลงทุนเรื่องอะไรกันแน่

ต้องไม่ใช่แค่เทคโนโลยีเพื่อความยุติธรรม แต่เป็นเทคโนโลยีที่ยุติธรรมในตัวเอง

เราเห็นโลกหมุนไป เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อเสริมกับวิถีปกติ รวมถึงกลายมาเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบ แต่เพียงเพราะมีเทคโนโลยีเพื่อความยุติธรรม ไม่ได้หมายความว่าเราจะรับเอาเทคโนโลยีทั้งหมดเข้ามาโดยไม่ตั้งคำถามใดๆ อย่าลืมว่าระบบยุติธรรมเป็นระบบที่เรียกร้องความรับผิดรับชอบ จริยธรรม ภาครัฐที่เข้มแข็ง รวมถึงสังคมสมัยใหม่ที่กระตือรือร้นและมีพลังที่จะช่วยกันตรวจตราว่า เทคโนโลยีแบบไหนจึงจะ ‘เหมาะสม’ และ ‘พอดี’ 

ถ้าพูดให้ชัดขึ้น เราต้องช่วยกันดูว่าระบบข้อมูลแบบไหนที่จะช่วยให้ตำรวจสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เทคโนโลยีแบบไหนที่จะช่วยสนับสนุนชุมชนในการสอดส่องผู้ที่ได้รับการปล่อยตัว โดยที่ไม่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าโดนละเมิดสิทธิเสรีภาพจนเกินควร หรือระบบศาลดิจิทัลต้องเป็นแบบไหนจึงจะทำให้ทุกคนรู้สึกว่าได้รับความเสมอภาค แม้ไม่ได้อยู่ต่อหน้าผู้พิพากษาบนบัลลังก์

ทั้งหมดเป็นคำถามที่อาจยังไม่มีคำตอบที่แน่นอน เป็นคำถามที่จะต้องอาศัยเวลา การเรียนรู้ และการทำงานร่วมกันต่อไป แต่แม้เรายังตอบไม่ได้ว่า เทคโนโลยีเกี่ยวกับความยุติธรรมเวอร์ชันศตวรรษที่ 21 จะเป็นอย่างไร มีรูปร่างหน้าตาแบบไหน แต่สิ่งหนึ่งที่เราคงมั่นใจได้คือ เทคโนโลยีที่ว่าจะต้องไม่ใช่แค่เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความยุติธรรม แต่เป็นเทคโนโลยีที่มีความยุติธรรมในตัวเอง เพื่อจะช่วยสร้างประสิทธิภาพให้กับระบบยุติธรรมที่เที่ยงตรง มีความเป็นมนุษย์ และมอบผลลัพธ์ที่ยุติธรรมให้กับผู้ที่ร้องขอได้

เพราะต่อให้โลกจะล้ำหน้าไปแค่ไหน ระบบยุติธรรมยังต้องเป็นที่พึ่งและที่ยึดเหนี่ยวของประชาชนเสมอ 


เอกสารประกอบการเขียน:

รายงาน Just technology: emergent technologies and the justice system… and what the public thinks about it จัดทำโดย Centre for Justice Innovation

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save