fbpx

สำรวจโจทย์ใหม่โลกการทำงานคนเมือง เมื่ออนาคตของงานคืออนาคตของเมือง

ปัจจุบัน digital disruption เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะใน ‘การทำงานของคน’ หลายปีมานี้เห็นชัดเจนว่าทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงของการทำงาน เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต คนยุคใหม่ก็สามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา สภาพการจ้างงานก็ไม่เหมือนเดิม ในต่างประเทศที่มักพบเห็นบ่อยคือการจับคู่คนจ้างงานกับคนที่ต้องการงานผ่านแพลตฟอร์มที่มาจากกลไกดิจิทัล อย่างแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น Upwork เป็นต้น

ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทยเองก็พยายามปรับฐานเศรษฐกิจอีกครั้งให้เข้าสู่ยุคดิจิทัล เพื่อสร้างความทัดเทียมกับนานาชาติ

ฐานเศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตจากยุคเกษตรกรรมเรื่อยมาจนถึงยุคอุตสาหกรรม กรุงเทพฯ ขยายตัวด้วยจํานวนโรงงานขนาดเล็กและใหญ่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอุตสาหกรรมถูกแทนที่ด้วยพื้นที่อาคารสํานักงานและสถานที่นันทนาการต่างๆ ดังนั้นกิจกรรมหลักที่ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงมีเพียงการบริการที่ต้องใช้แรงงานคอยสนับสนุนให้วิถีชีวิต ธุรกิจ และกิจกรรมของคนเมืองเกิดขึ้นอย่างราบรื่นและสะดวกสบาย

การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่กล่าวมาส่งผลกระทบทางตรงต่องานภาคบริการของเมืองและวิถีชีวิตของคนทํางานบริการในเมือง

101 ชวนทำความเข้าใจสถานการณ์ คาดการณ์ และส่องข้อเสนอทางเลือกนโยบายที่สอดคล้องกับภาพอนาคตของการทํางานภาคบริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ผ่านบางส่วนของงานวิจัยคนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย (โครงการย่อยที่ 3 – การทํางานในเมือง) โดย ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ และอภิวัฒน์ รัตนวราหะ เพื่อตอบโจทย์ใหม่ถึงอนาคตการทำงานของคนเมือง

ในอนาคตอันใกล้ เธอ ฉัน เขาและเหล่าคนเมืองจะทำงานกันอย่างไร?

การทํางานมีหลายปัจจัยขับเคลื่อนสําคัญที่จะทําให้งานและการทํางานเปลี่ยนไป เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร นวัตกรรมด้านการสื่อสารที่เชื่อมต่อกันจนเกิดการลื่นไหลของแรงงานที่สามารถทํางานผ่านการเชื่อมต่อบนโลกออนไลน์ได้อย่างอิสระ ปราศจากข้อจํากัดเชิงพื้นที่ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ด้วยปัจจัยขับเคลื่อนสําคัญดังที่ได้กล่าวมา บริบทของการทํางานจึงเริ่มเปลี่ยนแปลงกลายเป็นแนวโน้มการทํางานในอนาคต

แนวโน้มหลักที่เห็นได้ชัดคือ ใน มิติเชิงปริมาณ: ตลาดแรงงาน แรงงาน และค่าแรง การทํางานจะใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น ส่งผลให้แรงงานบางส่วนจะถูกแทนที่ การทํางานจะใช้ระบบไร้สาย ส่งผลให้แรงงานกระจายตัวมากขึ้น เพราะไม่ต้องเข้าไปทำงานจำกัดในพื้นที่เฉพาะเจาะจง เช่น ออฟฟิศ วิถีชีวิตที่เกิดขึ้นจึงอิสระมากขึ้น การทํางานจะประกอบด้วยแรงงานที่หลากหลายมากขึ้นในด้านเชื้อชาติ อายุ ทักษะ และตลาดแรงงานมุ่งเข้าสู่สภาพกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด

ในมิติเชิงคุณภาพ: แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง วิถีชีวิต คุณภาพชีวิต และความเป็นธรรมของแรงงาน การทํางานจะต้องมาคู่กับการเรียนรู้ตลอดเวลามากขึ้น เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงทักษะของเนื้องาน ขณะที่การจ้างงานจะอยู่ในรูปแบบไม่มีมาตรฐาน เช่น การจ้างงานชั่วคราว การจ้างงานจากผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน ทั้งนี้การจ้างงานผ่านแพลตฟอร์มจะสูงขึ้นทั่วโลก

ใน มิติเชิงพื้นที่: บทบาทของเมือง และพื้นที่ทำงาน วัฒนธรรมการทํางานจะไร้พรมแดนและมีการทํางานร่วมกันมากขึ้น เกิดการใช้ co-working space ในการทํางาน

สำหรับแรงงานในกรุงเทพฯ จากข้อมูลของสํานักงานสถิติแห่งชาติ แรงงานจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วใน ระหว่าง พ.ศ. 2556-2557 ทําให้กรุงเทพฯและปริมณฑลกลายเป็นพื้นที่ที่มีแรงงานอยู่ประมาณร้อยละ 25 ของแรงงานทั้งประเทศ

ทั้งนี้การที่กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของงาน การศึกษา และโอกาสต่างๆ ประชากรแฝงที่เข้ามาส่วนมากจึงเป็นคนวัยเรียนและวัยทํางาน

อย่างไรก็ตามเมื่อผสานการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี กรุงเทพฯ จะมีอาณาบริเวณกว้างขวางตามขอบเขตที่การเดินทางระบบรางไปถึง ส่วนเนื้อเมืองระหว่างวันจะมีประชากรมาใช้งานเมืองมากยิ่งขึ้น และการเดินทางจะถี่ ที่ดินโดยรอบจะมีราคาสูงทําให้อุตสาหกรรมต่างๆ ย้ายออกสู่จังหวัดอื่นแทน

เมื่อกรุงเทพฯ ไม่มีภาคอุตสาหกรรมอีกต่อไป งานด้านอุตสาหกรรมจะลดลงและอนาคตอันใกล้แรงงานหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่การทำงานงานมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อมีบางงานขาดหายไป งานใหม่ที่จะรองรับการพัฒนาดังกล่าวจะอยู่ในภาคงานบริการด้านต่างๆ ที่จะมีการขยายตัวสูงขึ้นมาก โดยความซับซ้อนและหลากหลายของงานบริการจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สําคัญ

นอกจากนี้แรงงานที่เข้ามาทํางานบริการในรูปแบบต่างๆ จะมีช่วงอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยชรา โดยการใช้จ่ายและการรับค่าตอบแทนจะอยู่ในระบบการเงินดิจิทัลเป็นส่วนมาก

เปิดอนาคตการทำงานคนเมืองที่พึงประสงค์

งานวิจัยพบว่ามีภาพอนาคตฐาน (baseline future) ที่สำคัญ 11 ประเด็น คือ 1. เทคโนโลยีจะเชื่อมโลกให้ใกล้กันมากขึ้น 2. ประสิทธิภาพการเชื่อมต่อจะขยายตลาดและจะเพิ่มการแข่งขันทางธุรกิจ 3. เศรษฐกิจแพลตฟอร์มพลิกโฉมงานนอกระบบ 4. สังคมจะไร้เงินสดมากขึ้น 5. แรงงานชาวไทยจะหลากหลายในเชิงอายุ 6. งานบางส่วนจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ 7. คนทำงานกิ๊ก (gig worker) ชีวิตจะพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง 8. ที่ทางของเมืองยังไม่ตอบรับคนเมืองที่ทำงานไร้ที่ทาง 9. ขนส่งสาธารณะระบบรางจะตอบรับการเดินทางที่ซับซ้อนของคนเมือง 10. แรงงานจะออกจากบ้านไปทำงานในพื้นที่สาธารณะเมือง 11. มหานครกรุงเทพจะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและมลพิษทางสิ่งแวดล้อมบ่อยครั้งขึ้น

ขณะเดียวกันก็มี 2 ปัจจัยการขับเคลื่อนสำคัญที่สร้างผลกระทบกับระบบการทำงานในเมืองซึ่งใช้เป็นแกนการคำนึงภาพอนาคตทางเลือก คือ 1.การเปิดรับแรงงานนานาชาติ ด้านหนึ่งคือ ‘ความหลากหลายทั่วโลก’ เมื่อคนไทยยอมรับแรงงานต่างชาติ อีกด้านคือ ‘เอกภาพในท้องที่’ เมื่อคนไทยยังเน้นการสนับสนุนแรงงานไทย 2.วัฒนธรรมการทำงานและการว่าจ้าง ด้านหนึ่งคือ ‘ติดที่ ติดใจ’ คือการทำงานที่ติดกับพื้นที่ เน้นการบอกต่อผ่านความไว้เนื้อเชื่อใจ อีกด้านหนึ่งคือ ‘ติดไป ติดจอ’ คือการทำงานที่ไม่ยึดติดกับพื้นที่ แต่ยึดอยู่กับจอคอมพิวเตอร์และทำงานจากที่ไหนก็ได้

ภาพจากงานวิจัยคนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย (โครงการย่อยที่ 3 – การทํางานในเมือง)

ผลจากการประชุมเชิงปฏิบัติการในการวิจัยพบว่าภาพอนาคตที่พึงประสงค์ที่สุดคือ ฉากทัศน์ ‘ไหลเข้าด้วยความผูกพัน’ เป็นภาพที่แรงงานบริการขั้นพื้นฐานยังมีโอกาสในการหางานอยู่ คนยังให้คุณค่ากับการปฏิสัมพันธ์ โอกาสการหางานผ่านเครือข่ายยังคงมีอยู่ และการบริการยังเน้นคุณภาพที่ประทับใจ

เหตุผลของการเลือกฉาก ‘ไหลเข้าด้วยความผูกพัน’ เป็นอนาคตที่พึงประสงค์สำหรับการทำงานในเมืองของกรุงเทพฯ มี 6 ด้าน

ความสมดุลของตลาดแรงงาน ด้วยสังคมไทยกําลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว ปัญหาแรงงานขาดตลาดจะกลายเป็นปัจจัยสําคัญในการชะลอการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจและการพัฒนาเมือง ดังนั้นการเปิดรับแรงงานหลากหลายทั่วโลกจะเป็นส่วนสําคัญที่จะช่วยคงศักยภาพทางเศรษฐกิจของเมืองต่อไป

ลักษณะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง การเข้ามาของแรงงานนานาชาติยังตอบโจทย์เชิงวิถีชีวิตและคุณค่า เมื่อแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานที่คนไทยไม่ทำ การเข้ามาของแรงงานต่างชาติจะเป็นการเพิ่มปริมาณ ไม่เพิ่มการแข่งขัน ช่วยเติมเต็มช่องว่างของแรงงานไทย

โอกาสการหางาน ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสการหางาน คือ ปริมาณแรงงาน การใช้เทคโนโลยีในการทํางาน และลักษณะแรงงาน แรงงานกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นคือกลุ่มชายขอบที่มีความเปราะบางในงานและรายได้ มีโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางดิจิทัลอยู่ไม่มากนัก ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เชื่อมโยงมาจากความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลจะส่งผลให้คนกลุ่มชายขอบไม่สามารถฟื้นตัวหารายได้ได้ ฉะนั้นวัฒนธรรมการทำงานแบบ ‘ติดที่ ติดใจ’ จะเป็นอนาคตที่คนกลุ่มนี้เห็นช่องทางการหางานมากขึ้น

ความท้าทายในการบริหารงาน การจ้างงานในเศรษฐกิจกิ๊กผ่านแพลตฟอร์มที่มีมากขึ้น ทำให้รูปแบบการว่าจ้างต้องแบ่งงานและบริหารงานให้ชัดเจนกว่าเดิม โดยเฉพาะในกรณีการว่าจ้างผ่านแพลตฟอร์มที่ไม่รู้จักตัวตนผู้รับจ้าง ไม่มีการสั่งแก้งานภายหลังรับงาน

ความท้าทายในการประกอบธุรกิจ หากคนยังให้คุณค่ากับการทำงานอย่าง ‘ติดที่ ติดใจ’ การขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างๆ จะเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม

ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิต การกระจุกตัวเชิงพื้นที่ของงานและคนจะทำให้เกิดการแบ่งปันพื้นที่ที่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและทรัพยากรทางธรรมชาติได้โดยอัตโนมัติ

ภาพอนาคตที่พึงประสงค์ของงานในเมืองในฉากทัศน์นี้จะเป็นอนาคตที่คนยังคงให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์อยู่ โดยกรุงเทพฯ จะเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างด้านแรงงานจากหลากหลายเชื้อชาติ อายุ และเพศ เติมเต็มปัญหาแรงงานในสังคมสูงวัยด้วยแรงงานจากต่างชาติ มีพื้นที่ปรับตัวเข้าสู้งานรูปแบบใหม่ของกลุ่มชายขอบ การบริหารงานที่สมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความอิสระของแรงงาน

‘สร้างรัฐสวัสดิการสำหรับทุกคน’ คำตอบเพื่อรองรับอนาคตการทำงานของคนเมือง

ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างงานกับคนในฐานะแรงงานกับแหล่งงานไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด ทําให้อนาคตของงานคืออนาคตของเมือง ดังนั้นเพื่อตอบโจทย์ภาพอนาคตที่ใฝ่ฝัน การสร้างรัฐสวัสดิการสําหรับคนทุกรูปแบบเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองน่าอยู่น่าทํางานจึงอาจเป็นยุทธศาสตร์สู่การเปลี่ยนแปลง

งานวิจัยมีข้อเสนอเพื่อรับมือ ‘อนาคตฐาน’ ได้แก่ ด้านแรงงานต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงการทํางานในอนาคตและวิถีชีวิตแรงงาน ผ่านการปรับฐานแรงงาน ระบบสวัสดิการ และการสร้างหลักประกันแรงงาน เช่น นโยบายพัฒนาระบบสวัสดิการอย่างบูรณาการให้รู้จักรู้ใจแรงงาน ด้วยความที่แรงงานแต่ละกลุ่มยังมีความต้องการสวัสดิการรัฐที่หลากหลาย การรู้จักรู้ใจแรงงาน เพื่อเสนอสวัสดิการที่ตรงกับความต้องการของแรงงานจะเป็นนโยบายสําคัญที่ทําให้ประชาชนเห็นถึงประสิทธิภาพของรัฐ ซึ่งความต้องการของแรงงานแต่ละกลุ่มคนที่หลากหลาย อาจครอบคลุมถึงการบริการสาธารณสุข การคุ้มครองแรงงาน หรือเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ ด้านการพัฒนาเมือง ต้องพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในเชิงการใช้พื้นที่สาธารณะและบทบาทของเมืองที่เปลี่ยนไป เช่น นโยบายสร้างพื้นที่ให้ชีวิตเพื่อผลิตภาพของคนเมือง กรุงเทพฯ จะต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเมือง ตั้งแต่คุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำประปาและน้ำในธรรมชาติ คุณภาพทางเดิน พื้นที่สีเขียว และพื้นที่สําหรับเด็ก เป็นต้น ด้านดิจิทัลและหุ่นยนต์แรงงาน ต้องเริ่มศึกษาบทบาทและความท้าทายต่างๆ ของหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาสร้างความพลิกผันให้กับการทํางานและแรงงาน อย่างการให้มีนโยบายพัฒนามาตรการจริยธรรมสมองกลที่เมื่อปี 2019 ทางสหภาพยุโรปมีข้อกําหนดให้ 7 ข้อสําหรับการพัฒนาสมองกล เช่น ระบบที่ใช้ควบคุมหุ่นยนต์จะต้องมีมาตรการการปกครอง และป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลอย่างดีพร้อม ระบบจะต้องสามารถตรวจสอบได้โดยคนทั่วไป ตลอดจนหุ่นยนต์จะต้องรองรับความหลากหลายของผู้คน

ส่วนข้อเสนอเพื่อสร้าง ‘อนาคตพึงประสงค์’ ได้แก่ ด้านแรงงาน ต้องเพิ่มแรงงานในประเทศด้วยแรงงานนานาชาติ โดยมีนโยบายสร้างแรงจูงใจและลดกำแพงการจ้างแรงงานนานาชาติ เช่น ปรับปรุงหรือยกเลิกอาชีพสงวนที่ไม่เอื้อต่อตลาดแรงงาน ปรับปรุงกระบวนการขอวีซ่าที่ยุ่งยาก และพัฒนาระบบสวัสดิการแรงงานโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ด้านการพัฒนาเมือง ต้องพัฒนาสู่เมืองระดับโลก ด้วยนโยบายพัฒนาเมืองเพื่อชีวิตที่สะดวกสบายแต่มีกลิ่นอายที่พิเศษ คือการเป็นเมืองที่สะดวกต่อการลงทุน สบายต่อการใช้ชีวิต และคงไว้ซึ่งความพิเศษของเมืองที่น่าค้นหา

ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนแนวทางยุทธศาสตร์ ‘การสร้างรัฐสวัสดิการสําหรับคนทุกรูปแบบเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองน่าอยู่น่าทำงานระดับโลก’ จะเป็นการเตรียมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงการทํางานและรูปแบบการว่าจ้างงานในอนาคต ทั้งยังเป็นการดําเนินการเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ใฝ่ฝันอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และยั่งยืน


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save