fbpx

20 ปีต่อจากนี้จะเป็นเช่นไร? ว่าด้วยอนาคตของคนไร้บ้านในเมืองเทพสร้าง

ที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนความเป็นอยู่ของคนเมืองได้เป็นอย่างดี เมื่อคนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลเข้ามาเมืองใหญ่เพื่อไขว่คว้าโอกาสในชีวิต นั่นหมายถึงความหนาแน่นของเมืองที่มากขึ้นจนอาจจะไม่สามารถรองรับคนทุกกลุ่มได้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ในหลายเมืองใหญ่พุ่งสูงสวนทางกับค่าแรงขั้นต่ำ บางคนกัดฟันส่งตัวเองมาหางานทำในเมืองหลวง แต่ต้องประสบความผิดหวัง บางคนอายุมากขึ้นจนไม่สามารถเช่าที่อยู่อาศัยได้เหมือนเคย เหตุการณ์เหล่านี้หลายครั้งนำไปสู่ภาวะก้ำกึ่งต่อการไร้บ้าน (proto-homelessness) ซึ่งหมายถึงสภาวะที่กลุ่มคนเปราะบางหลุดออกจากที่พักพิงถาวรในชุมชนมาเป็นห้องเช่ารายเดือนราคาถูกไปจนถึงภาวะการไร้บ้าน เมื่อคนต้องใช้ริมท้องถนนและพื้นที่สาธารณะเป็นที่พักพิง

การไร้บ้านจึงเกี่ยวพันกับความเป็นเมืองอย่างหนีไม่พ้น ไม่เพียงแต่สะท้อนปัญหาบนยอดภูเขาน้ำแข็งอย่างโอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย แต่ยังบ่งบอกถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของเมือง ความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงโครงสร้างทางประชากรศาสตร์ และโครงสร้างทางการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศ ประสิทธิภาพและความครอบคลุมของนโยบายสวัสดิการ รวมไปถึงการเลือกปฏิบัติในมิติต่างๆ

การไร้บ้านจึงประเด็นสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางนโยบายทางสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภาวะเปราะบางของประชากรในป่าคอนกรีต

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน และอภิวัฒน์ รัตนวราหะ นักวิจัยโครงการคนเมือง 4.0: อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย ภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ได้สะท้อนภาพฉากทัศน์ความเป็นอยู่ของคนเมืองในอนาคต โดยศึกษาเฉพาะเจาะจงในประเด็นการไร้บ้านในเมืองในระยะเวลา 20 ปีถัดจากนี้ อันเป็นประเด็นซับซ้อนที่เกี่ยวพันกับชีวิตคนเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้ ผ่านวิธีการทางอนาคตศึกษา (foresight study) ในการสร้างภาพอนาคตของการไร้บ้านในกรุงเทพมหานคร โดยใช้ข้อมูลจากการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องในการชี้ให้เห็นแนวโน้มทางเศรษฐกิจสังคมในอนาคตที่จะส่งผลกระทบต่อประชากรกลุ่มเปราะบางที่กำลังจะประสบปัญหาที่อยู่อาศัย ข้อมูลจากการสัมภาษณ์และการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับการไร้บ้าน เพื่อสร้างภาพอนาคต ฉากทัศน์ของการไร้บ้านในอนาคต และภาพอนาคตที่พึงประสงค์ รวมไปถึงการกำหนดข้อเสนอยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการป้องกันการไร้บ้าน

มองมุ่งไปสู่อนาคตฐาน (baseline future) ของผู้ไร้บ้าน

เมื่อพวกเขาวิเคราะห์ข้อมูลผ่านวิธีการคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ด้วยกรอบ STEEPV อันได้แก่ สังคม (social) เทคโนโลยี (technology) เศรษฐกิจ (economic) สิ่งแวดล้อม (environment) นโยบาย (political) คุณค่า (values) พบว่าเทรนด์และปัจจัยขับเคลื่อนหลักต่อการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านและภาวะก้ำกึ่งต่อการไร้บ้านในอนาคตนั้น ส่วนใหญ่มาจากสาเหตุเชิงโครงสร้าง ทั้งในมิติทางสังคม เศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร และการเข้าถึงหลักประกันทางสังคม และถึงแม้จะมีผู้ไร้บ้านตัดสินใจด้วยเหตุผลส่วนบุคคลหรือโดยสมัครใจในการออกมาใช้ชีวิตเป็นผู้ไร้บ้าน แต่ก็เป็นการตัดสินใจที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของบริบทเชิงโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจทั้งสิ้น

จากการศึกษากลั่นออกมาเป็นภาพอนาคตฐาน (baseline future) ที่ฉายชัดว่าภาพของเมืองในอนาคตจะมีผู้ไร้บ้านและกลุ่มคนเปราะบางที่เสี่ยงต่อการไร้บ้านเพิ่มขึ้น อันมาจากปัจจัยที่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพมหานครในอนาคต ไม่ว่าจะจากแนวโน้มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมในเขตเมืองที่เพิ่มมากขึ้น ค่าครองชีพและที่อยู่อาศัยในเมืองที่พุ่งสูง การเพิ่มจำนวนของครัวเรือนตัวคนเดียว (one-person household) การเข้าสู่สังคมสูงวัยและผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียว ความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในการผลิตที่ใช้แรงงานคนลดน้อยลง ความไม่แน่นอนทางรายได้และการทำงานที่หันมาใช้รูปแบบการจ้างงานชั่วคราวมากขึ้น และพื้นที่พึ่งพิงทางสังคมที่ลดน้อยลง รวมไปถึงความรุนแรงและความถี่ที่เพิ่มมากขึ้นของภัยธรรมชาติ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเปราะบางของประชากรในเมืองและตาข่ายปลอดภัยทางสังคม (social safety net) ที่ลดน้อยลงจนส่งผลต่อการไร้บ้าน

สวนผักคนเมือง: ฉากทัศน์อันเป็นอนาคตทางเลือกที่มุ่งหวัง

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน และอภิวัฒน์ รัตนวราหะได้ทำงานต่อเนื่องจากปัจจัยดังกล่าว ในการสร้างภาพอนาคตทางเลือกที่จะเกิดขึ้นผ่านการใช้สวนผักเป็นภาพแทนเนื่องจากมีนัยยะทั้งเชิงอรรถประโยชน์ (utilities) และเชิงการใช้พื้นที่ (space usage) 

พวกเขาหยิบเอาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการไร้บ้านที่มีความไม่แน่นอนสูง สามารถเปลี่ยนแปลงในอนาคตมาจัดทำเป็นแกนสำหรับการสร้างภาพอนาคตทางเลือก ใน 4 ฉากทัศน์ โดยมีแกนตั้งบ่งบอกถึงการใช้พื้นที่เมือง แกนบนเป็นแนวโน้มการเปิดพื้นที่เอกชนให้มีสัดส่วนของพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน เพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะ (commonization of private space) และแกนล่าง แนวโน้มการทำพื้นที่สาธารณะให้เป็นของเอกชน เช่น การให้สัมปทานพื้นที่รัฐให้เอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลให้คนกลุ่มเปราะบางไม่สามารถเข้าใช้งานพื้นที่ได้ (privatization of public space)  

ส่วนแกนนอนบ่งบอกถึงตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม ในแกนทางด้านซ้ายเป็นแนวโน้มของความเป็นปัจเจกเพิ่มมากขึ้น จากแนวโน้มของครัวเรือนคนเดียว ซึ่งส่งผลต่อตาข่ายปลอดภัยทางสังคมลดน้อยลง (social safety net) ในขณะที่แกนอีกด้านแสดงแนวโน้มของความเอื้ออาทรทางสังคมและการมีเครือข่ายทางสังคม (social cohesion) ที่แนบแน่นก่อให้เกิดตาข่ายปลอดภัยทางสังคม เพื่อช่วยเหลือป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน แต่อาจมีการเปลี่ยนรูปแบบสู่รูปแบบเครือข่ายโลกเสมือน ในออนไลน์หรือในฐานะเครือข่ายทางสังคมรูปแบบใหม่ อาทิ เครือข่ายทางวิชาชีพ ชมรม เป็นต้น

ภาพจากงานวิจัยคนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย โครงการย่อยที่ 2-2 การไร้บ้านในเมือง

อนาคตทางเลือกที่ได้จึงประกอบไปด้วย 4 ฉากทัศน์ ได้แก่ 1) สวนผักคนเมือง (street garden): พื้นที่สาธารณะของรัฐหรือเอกชนในเมืองยังเป็นที่พึ่งและความเอื้ออาทรยังคงอยู่ 2) สวนผักริมรั้ว (wall garden): พื้นที่สาธารณะในเมืองลดน้อยลงและพึ่งพิงได้น้อยลง แต่เมืองยังคงมีความเอื้ออาทร 3) สวนผักคอนโด (balcony garden): ความเป็นปัจเจกชนที่สูงพร้อมกับระดับกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลที่สูง พื้นที่สาธารณะน้อยลงหรือไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงได้ และ 4) สวนผักลอยฟ้า (rooftop garden): พื้นที่สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น แต่คนเมืองมีความเป็นปัจเจกสูงและต่างคนต่างอยู่

จากฉากทัศน์ของอนาคตทางเลือกของการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านและภาวะก้ำกึ่งต่อการไร้บ้านดังกล่าวเมื่อพิจารณาภายใต้กรอบของความเสมอภาค ความยั่งยืน และประสิทธิภาพ พบว่า อนาคตที่พึงประสงค์ (preferable future) ของการไร้บ้านในเมืองที่ควรจะเป็นคือฉากทัศน์ ‘สวนผักคนเมือง’ กลุ่มคนเปราะบางต่อภาวะไร้บ้านหรือภาวะก้ำกึ่งต่อการไร้บ้านจะมีจำนวนและความเสี่ยงไม่มากนักภายใต้ฉากทัศน์นี้ เนื่องจากมีพื้นที่สาธารณะของเมืองทั้งของรัฐและเอกชนที่เปิดให้คนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เมืองมีความเอื้ออาทรทางสังคมจากเครือข่ายทางสังคมที่แนบแน่น อันเป็นตาข่ายปลอดภัยทางสังคมที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ รองรับกลุ่มคนเปราะบางไม่ให้ร่วงหล่น คนเมืองสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่อยู่อาศัย  บริการสาธารณะ และและระบบคุ้มครองทางสังคมได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม

ออกแบบระบบที่อยู่อาศัย-เพิ่มตาข่ายปลอดภัย-ขยายความเป็นส่วนรวม ข้อเสนอวิธีปลูกสวนผักที่เหมาะสมต่อคนไร้บ้าน

เมื่อเมืองมีความพลิกผันใหม่อยู่ตลอดเวลา ข้อเสนอแนะงานวิจัยที่จะเป็นแนวทางให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือกับการไร้บ้านในอนาคต 20 ปีข้างหน้า เพาะปลูกสวนผักคนเมืองที่วาดหวัง นอกจากภาครัฐจำเป็นต้องปรับบทบาทและจัดความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคมเสียใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการทำงานที่มีความยืดหยุ่น ยังมีข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ระบบที่อยู่อาศัยครบวงจรเพื่อลดความเสี่ยงในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน

เน้นการออกแบบระบบที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับผู้มีโอกาสเป็นผู้ไร้บ้านรายใหม่ ภายใต้แนวโน้มของราคาที่อยู่อาศัยและค่าครองชีพในเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีแนวนโยบายที่สำคัญได้แก่

1) แปลงพื้นที่สาธารณะให้เป็นศูนย์พักฉุกเฉิน (emergency shelter) รองรับประชากรในภาวะก้ำกึ่งต่อการไร้บ้าน คนไร้บ้านหน้าใหม่ และคนไรบ้านชั่วคราวให้สามารถเข้าถึงการมีที่พักชั่วคราวพร้อมระบบการสนับสนุนช่วยเหลือทางด้านที่พัก อาหาร อาชีพ และสุขภาพ เพื่อให้พวกเขากลับสู่สภาวะปกติได้

2) เปลี่ยนห้องว่างให้เป็นที่พักระยะผ่าน (transitional shelter) กรุงเทพมหานครเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาระบบสารสนเทศ ฐานข้อมูลที่อยู่อาศัยในประเภทและระดับราคาต่างๆ เพื่อช่วยให้ข้อมูลในการเปลี่ยนที่อยู่อาศัยว่างในย่านต่างๆ ของกรุงเทพมหานครมาเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว (6-12 เดือน) สำหรับประชากรที่อยู่ในภาวะก้ำกึ่งต่อการไร้บ้านผ่านรูปแบบของการเช่าระยะยาว

3) บัตรกำนัลที่อยู่อาศัย (housing voucher) สำหรับกลุ่มเปราะบางทางที่อยู่อาศัย เพื่อนำไปใช้ในการจ่ายค่าเช่าหรือลดค่าเช่าที่อยู่อาศัยของโครงการที่อยู่อาศัยของรัฐและเอกชนในย่านต่างๆ ของเมืองตามมูลค่าของบัตรกำนัล โดยมูลค่าของบัตรกำนัลนี้จะมีระดับที่แตกต่างกันตามสถานะทางเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือนหรือประชากรเป้าหมาย

4) การกำหนดสัดส่วนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (FAR Bonus) ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ของเอกชน

5) การสร้างแรงจูงใจและผลตอบแทนกับภาคเอกชนในการพัฒนาศูนย์พักฉุกเฉิน (emergency shelter) สำหรับดูแลกลุ่มเปราะบางในเมือง ผ่านเครื่องมือของรัฐ อย่างสิทธิประโยชน์ทางภาษี และการพัฒนากลไกของการร่วมลงทุนทางสังคม (social impact partnership) หรือพันธบัตรเพื่อสังคม (social impact bond) เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ตาข่ายปลอดภัยป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน

ข้อเสนอนี้ให้ความสำคัญในการลดภาวะเปราะบางของประชากรในเมืองในยุคสมัยที่รูปแบบการทำงานเปลี่ยนแปลงไปผ่านการพัฒนาเครือข่ายทางสังคมให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ได้แก่

1) ฐานข้อมูลและกลไกการสำหรับการสนับสนุนช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงรายบุคคล

2) พื้นที่ช่วยเหลือทางสังคมในการพัฒนาที่อยู่อาศัย กรุงเทพมหานครจะมีบทบาทในการกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการพัฒนาพื้นที่หรือหน่วยสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่อภาวะไร้บ้านและภาวะก้ำกึ่งต่อการไร้บ้านในโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของเอกชน รัฐ และการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน

3) ระบบช่วยเหลือบนฐานของชุมชนและชุมชนเสมือน ภาครัฐฟื้นฟูความเป็นชุมชนเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือกัน

4) สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจในการสร้างการลงทุนทางสังคม (social investment) ของภาคเอกชน อาทิ สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีและสิทธิประโยชน์ทางด้านการลงทุนในกิจกรรมทางสังคม

ยุทธศาสตร์ที่ 3: ขยายความเป็นส่วนรวม (sense of common) ในพื้นที่ของเมือง

ยุทธศาสตร์นี้มีเป้าหมายในการเพิ่มความเป็นส่วนรวมให้กับพื้นที่สาธารณะของเมืองให้เป็นที่พึ่งพิงตอบโจทย์การใช้ชีวิตของทุกกลุ่มประชากรในเมืองและการเพิ่มพื้นที่สาธารณะของทุกคนผ่านการบริหารจัดการพื้นที่ของเมือง การกำหนดและกำกับดูแลของภาครัฐ ได้แก่

1) การกำหนดขอบเขตพื้นที่สาธารณะเพื่อเป็นแหล่งพึ่งพิงและรายได้ให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้มีรายได้น้อย

2) การกำหนดสัดส่วนพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในโครงการพัฒนาพื้นที่ของเอกชน เพิ่มพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพมหานครผ่านการปรับพื้นที่เอกชนมาเป็นพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ส่วนรวม (commonization of private space)

3) การกำกับดูแลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะที่เป็นธรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save