fbpx
นักออกแบบการเล่น

นักออกแบบการเล่น

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

ลองหลับตานึกย้อนไปถึงวันที่เราลากผ้าห่มมาสร้างเป็นถ้ำ ขึ้นไปนั่งบนหมอนข้างที่สมมติว่าเป็นยานอวกาศ แล่นออกไปในความมืด มีตะกร้าสวมหัวเป็นหมวกนักบิน กวัดแกว่งไฟฉาย สำรวจจักรวาลที่กำเนิดขึ้นจากบิ๊กแบงของจินตนาการ

การเล่นคือโลกทั้งใบของเด็ก คือโมงยามแห่งการสร้างสรรค์และความเป็นไปได้ไม่รู้จบ ไม่ใช่แค่มนุษย์ แต่สัตว์ก็เรียนรู้ที่จะเล่น แมวสองตัวของผมใช้บันไดบ้านเป็นหน้าผาประลองกำลัง และสมมติว่าลูกบอลคือสิ่งมีชีวิตในจินตนาการเพื่อไล่ล่า นอกจากเอาชีวิตรอดและสืบพันธุ์แล้วความสนุกดูเหมือนจะเป็นภารกิจหลักของทุกชีวิต

Cas Holman เป็นนักออกแบบของเล่น อันที่จริงแคสอยากให้เรียกเธอว่านักออกแบบการเล่นมากกว่า คำว่าของเล่นอาจฟังดูไร้สาระและไม่มีประโยชน์สำหรับหลายคน แต่สำหรับแคส การเล่นสำคัญ และของเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

Cas Holman  ‘นักออกแบบการเล่น’

แผนกขายของเล่นในความทรงจำของแคส คงไม่ต่างกับความทรงจำของเราทุกคนนัก แบ่งโซนออกเป็นชายหญิง ตกแต่งให้แตกต่างด้วยสีน้ำเงินและชมพู ราวกับต้องเลือกว่าจะเดินไปหาหุ่นยนต์ ปืนกล รถบังคับ หรือจะเลี้ยวไปหาเจ้าหญิง ไม้คฑาและบ้านตุ๊กตา แคสในวัยเด็กรู้ตัวว่าตัวเธอไม่ใช่ทั้งสองอย่างนั้นและไม่มีตรงไหนเลยในร้านขายของเล่นแห่งนี้เป็นพื้นที่ของเธอ

GEEMO เป็นผลงานของเล่นชิ้นแรกๆ ที่แคสออกแบบ เป็นยางยืดสามขาติดแม่เหล็กไว้ตรงปลาย แต่ละชิ้นนำมาต่อกันได้ไม่รู้จบ รูปทรงของมันได้แรงบันดาลใจมาจากเซลล์ไขกระดูก ถูกนำไปวางจำหน่ายในร้านค้าของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ MoMA แต่ทว่าก่อนหน้านั้น ในวันที่แบบร่างของ GEEMO เพิ่งเสร็จหมาดๆ มันเคยถูกปฏิเสธจากบริษัทของเล่น เหตุผลเพราะมันไม่มีสี’  ’ไม่มีหน้าและดูไม่รู้ว่าเป็นตัวอะไร

Open-ended play หรือการเล่นแบบปลายเปิดคือแนวคิดการออกแบบของ Cas Holman เธอมองว่าปัญหาของของเล่นในปัจจุบันไม่ต่างจากตอนที่เธอเป็นเด็ก ภาพยนตร์มีอิทธิพลกับของเล่น และของเล่นส่วนใหญ่ก็ถูกผลิตโดยบริษัทภาพยนตร์

เด็กส่วนใหญ่จึงได้เล่นของที่มีเรื่องเล่าสำเร็จรูปในตัวมันเอง ไม่ว่าจะหุ่นแอ็กชันฟิกเกอร์ที่แบ่งแยกฮีโรออกจากวายร้ายตามกำหนดของบทหนัง ดาบเลเซอร์หรือคฑาวิเศษที่กำหนดเพศและบทบาทให้ผู้เล่นทันทีที่หยิบถือ หรือของเล่นประเภทโลกย่อส่วน’ อย่างรถแข่งหรือชุดแต่งตัวตุ๊กตาบาร์บี้ ที่ฉุดให้เด็กก้าวผลุบไปในโลกของผู้ใหญ่โลกแห่งความถูกต้อง โลกแห่งบทบาทหน้าที่ โลกที่มีคำตอบตายตัวเร็วเกินไปจนพลาดโอกาสใช้เวลาในโลกของจินตนาการ

นี่คือการเล่นแบบปลายปิดในมุมมองของแคส

เธอจึงออกแบบการเล่นที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นก่อร่างสร้างเรื่องขึ้นมาด้วยตัวเอง

บล็อกไม้หลายรูปทรง เชือก ล้อ ข้อต่อ น๊อตและสกรูจำนวน 265 ชิ้นของ Rigamajig ไม่มีคู่มือ ไม่แบ่งเป็นเซ็ตชายหญิง ไม่แม้แต่เขียนระบุไว้ว่าแต่ละชิ้นใช้ทำอะไร ของเล่นที่ทำให้ชื่อ Cas Holman กลายเป็นอันดับต้นๆ ของวงการออกแบบของเล่นชุดนี้ ถูกออกแบบอย่างตั้งใจให้เด็กที่เล่นมันเป็นผู้นิยามด้วยตัวเอง แต่ละชิ้นคืออะไร อยากจะใช้สร้างสรรค์ขึ้นเป็นอะไร และจะนำไปสร้างเรื่องราวแบบไหน จะประกอบกันเป็นบ้านวิ่งได้ รถยนต์รุ่นใหม่ใช้ปีกบิน หรือสัตว์สายพันธุ์ประหลาดจากดาวอื่นทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับหนู

Rigamajig Cas Holman

สนามเด็กเล่นทั่วไปเรียงรายไปด้วยเครื่องเล่นที่ถูกกำหนดฟังก์ชันมาแล้วว่าแต่ละชิ้นใช้ทำอะไร ทำไมไม่มีสนามเด็กเล่นที่ให้เด็กสร้างสรรค์เครื่องเล่นขึ้นเองตามใจอยากบ้าง งานออกแบบสนามเด็กเล่นของแคสจึงเป็นบล็อกหลากรูปทรงที่สามารถต่อขึ้นมาเป็นเครื่องเล่นได้หลายรูปแบบ ต่อเรื่องราวได้ตามจินตนาการ สร้างโลกที่ต้องการออกมาเป็นแบบไหนก็ได้ ของเล่นชุดนี้ชื่อว่า Imagination Playground

 

Imagination Playground Cas Holman

จะเห็นว่า ทั้ง GEEMO, Rigamajig และ Imagination Playground ไม่ใช่ของเล่นแบบสำเร็จรูปอย่างที่เราคุ้นเคยกันเลย ไม่ใช่ของเล่นแบบรถเป็นรถ เรือเป็นเรือ หุ่นยนต์เป็นหุ่นยนต์ แต่ทั้งหมดถูกออกแบบให้เป็นชิ้นส่วนแห่งจินตนาการที่เอื้ออำนวยให้เกิดความสนุกสนานและการสร้างสรรค์ที่แตกต่างกัน ตามแบบฉบับเด็กแต่ละคน

นอกจากเป็นนักออกแบบและเจ้าของบริษัทของเล่นชื่อ Heroes Will Rise มา 18 ปี แคสยังเป็นอาจารย์วิชาพื้นฐานการออกแบบให้นักศึกษาปีหนึ่ง ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม ในมหาวิทยาลัย Rhode Island School of Design สหรัฐอเมริกา

การเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาวิชาออกแบบช่วยให้แคสพรูฟสมมติฐานที่ว่าเด็กที่เล่นแบบปลายปิด มีแนวโน้มจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดจินตนาการเพราะเด็กอายุ 17 หลายคนในชั้นเรียนของเธอมีปัญหาเมื่อต้องใช้จินตนาการหรือสร้างสรรค์อะไรบางอย่างโดยเริ่มต้นจากตัวเอง ทุกคนต้องการต้นแบบ เราเองก็อาจไม่ต่างกับเด็กเหล่านั้นในชั้นเรียนของแคส อาจเพราะเราเติบโตมาจากการเล่นที่มีแบบตายตัว เป็นการเล่นที่พึ่งพาวิธีการมากกว่าจินตนาการ

แคสจึงประยุกต์เอาวิธีคิดออกแบบการเล่นแบบปลายเปิด มาใช้ออกแบบการสอนแบบปลายเปิดที่นี่ด้วย โจทย์ในชั้นเรียนของเธอจะไม่ใช่จงออกแบบรถยนต์แต่เป็นจงออกแบบวิธีการเดินทางมาโรงเรียนที่สะดวกที่สุดจะเดินมา บินมา หรือวาร์ปมา ก็ขอให้ลองสเก็ตช์ขึ้นมาก่อน เพราะทุกไอเดียคือความเป็นไปได้

เมื่อต้องออกแบบการเล่นให้เด็กตัวเล็กและถ่ายทอดความรู้ให้เด็กตัวโตไปพร้อมกันแคสจึงพบว่าการออกแบบการเล่นให้เด็กเท่ากับการออกแบบพื้นฐานความคิดให้ผู้ใหญ่ในอนาคต วันนี้เด็กเล่นแบบไหนวันข้างหน้าเขาก็จะเป็นผู้ใหญ่แบบนั้น

สิ่งที่แคสหยอดลงไปในการออกแบบการเล่นเสมอคือความร่วมมือหรือ ‘collaboration’ ของเล่นทุกชิ้นถูกคิดมาให้เด็กที่เล่นมันจำเป็นต้องมีมือคู่อื่นเข้ามาช่วย เพื่อให้การสร้างสรรค์สำเร็จ เช่น Rigamajig ออกแบบให้ไม้แต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่ นอกจากทำให้เด็กรู้สึกว่าพวกเขาได้เนรมิตจินตนาการขึ้นมาบนโลกด้วยสเกลจริง แคสยังตั้งใจให้เด็กๆ จำเป็นต้องมีเพื่อนอีกคนช่วยถือปลายไม้อีกฝั่งเพื่อให้เราประกอบมันได้ง่ายขึ้น ต้องมีเพื่อนที่แรงเยอะกว่าช่วยขันน็อต หรืออาจต้องเสียสละไม้บางชิ้น เพื่อให้เราทุกคนสนุกไปพร้อมกันได้

นอกจากความร่วมมือจะเป็นพื้นฐานทางสังคมที่เด็กทุกคนควรมีติดตัว ทักษะนี้ยังจำเป็นกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในอนาคต เด็กคนหนึ่งอาจพบว่าบ้านที่ตัวเองสร้างช่างมีข้อต่อที่เข้ากันพอดีกับยานอวกาศที่เพื่อนอีกคนกำลังเล่น หากเด็กสองคนนี้โตไปเป็นสถาปนิกและนักบินอวกาศ และจับมือกันสร้างอาณานิคมใหม่ในกาแล็กซี

ถึงตอนนั้นของเล่นคงกลายเป็นของจริงได้ไม่ยาก

Rigamajig

อ้างอิง

“We don’t give children the freedom to play” says designer Cas Holman

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save