fbpx

หนึ่งร้อยวันของประธานาธิบดี โจ ไบเดน

ความได้เปรียบของการเมืองอเมริกันคือการที่ระบบมันทำงานตามปกติ และทำงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นศตวรรษ ความปกติและต่อเนื่องนี้ สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนผ่านผู้นำของรัฐและรัฐบาลอย่างสงบสันติ แม้จะมีมรสุมและคลื่นลมปะทะบ้างแต่ลงท้ายก็สันติและสงบ ไม่มีอำนาจนอกระบบใดๆ ไม่ว่าเพนตากอนหรือซีไอเอก็ไม่สามารถฝ่าด่านเข้ามาได้เลย

ประการต่อมาคืออำนาจสูงสุดทั้งหลายอยู่ในมือของประชาชน โดยใช้อำนาจนั้นผ่านบัตรเลือกตั้ง แปลว่าฝ่ายการเมืองมีอำนาจนำและเหนือฝ่ายอื่นๆ ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นศาลสูงสุดหรือสถาบันศาสนาใดๆ ไปถึงฝ่ายเอกชนผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมไว้ กล่าวได้ว่าทุกพรรค กลุ่ม องค์กร สถาบัน และหน่วยงาน ล้วนยอมรับและอยู่ภายใต้อำนาจการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนี้อย่างดุษณี

‘หนึ่งร้อยวัน’ ของการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของโจ ไบเดนแห่งพรรคเดโมแครต สะท้อนภาพของความได้เปรียบดังกล่าวของระบบการเมืองอเมริกันเป็นอย่างดี โดยรวม สิ่งที่ประธานาธิบดีไบเดนได้กระทำลงไป ตั้งแต่การประกาศนโยบายโควิดด้วยการระดมฉีดวัคซีนให้รวดเร็วที่สุด การกระตุ้นเศรษฐกิจ การยกเครื่องระบบโครงสร้างทางกายภาพของอเมริกาทั้งประเทศ ยังไม่รวมถึงนโยบายต่างประเทศและโลกร้อน นโยบายย่อยๆ ในประเทศมากมาย ทั้งเรื่องเด็ก ผู้หญิง คนสูงอายุ คนไร้บ้านคนชายขอบ ไปถึงระบบโรงเรียนการศึกษา การวิจัย ฯลฯ ทั้งหมดนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์กระทำไปในร้อยวันแรก ก็คือการกลับไปสู่การดำเนินการปกครองอย่างปกติธรรมดาของระบบอเมริกัน นั่นคือการที่คองเกรสต้องออกกฎหมาย หน้าที่สำคัญประการแรกของผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก (รัฐสภาคองเกรสหรือนิติบัญญัติ) และร่วมกับประธานาธิบดี (หัวหน้าฝ่ายบริหาร) คือการออกกฎหมายสำหรับใช้ในการบริหารปกครองและจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงการวางมาตรการรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงในอนาคตด้วย นี่เองที่เรียกว่าระบบปกครองโดยกฎหมายไม่ใช่โดยตัวบุคคล

ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์ไม่ทำและไม่พยายามกระทำเลยในสี่ปีที่เขาครองทำเนียบขาว สิ่งที่ทรัมป์ทำคือการออกคำสั่งฝ่ายบริหารอย่างเดียว ปกครองโดยตัวเขาเองที่ไม่ต้องพึ่งพาฝ่ายคองเกรส กฎหมายของทรัมป์ไม่ต้องผ่านการพิจารณาลงคะแนนเสียงในคองเกรสใดๆ ทั้งสิ้น คิดแล้วก็เข้าใจไม่ยากเพราะนั่นคือการบริหารเหมือนอย่างที่เขาบริหารบรรษัททรัมป์ทาวเวอร์และอื่นๆ ของเขา ที่สั่งลงมาจากห้องนอนอย่างเดียว ไม่ต้องฟังเสียงและความคิดเห็นของใครทั้งสิ้น ต้องขอบคุณโควิด-19 ที่ช่วยมางัดเอาทรัมป์ออกไปได้

ตัวอย่างของฝ่ายการเมืองที่มีสัมพันธภาพหรือยึดโยงกับประชาชนหรือราษฎรทั่วไปนั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในความพยายามผลักดันให้ผ่านกฎหมายตำรวจ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการระเบิดอย่างแรงของมวลชนคนผิวดำเป็นหลัก ที่ต่อมามีคนหลากสีผิวพันธุ์ออกมาร่วมการประท้วงด้วยจนเป็นระดับชาติ และไม่เท่านั้นยังกระจายไปทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรปที่กำลังมีปัญหาเรื่องการเหยียดผิวและเชื้อชาติอยู่ค่อนข้างรุนแรง ขบวนการ ‘ชีวิตคนดำก็มีความหมาย’ (Black Lives Matter) ปะทุขึ้นมาเมื่อหนึ่งปีที่แล้ว (พฤษภาคม 2563) จากกรณีที่ตำรวจรัฐมินนีอาโพลิสจับกุมและกดที่คอชายผิวดำด้วยเข่าจนหมดลมหายใจ ข้อเรียกร้องใหญ่ของขบวนการประท้วงคือการยกเครื่องหรือปฏิรูประบบตำรวจทั้งหมด (police reform) ต่อประเด็นนี้มีการพูดถึงขั้นให้ตัดงบประมาณตำรวจลง

เรื่องนี้ระหว่างที่โจ ไบเดนหาเสียงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เขาตอบว่าไม่เห็นด้วย เพราะมันเกินไป คนอเมริกันส่วนมากยังต้องการตำรวจ แต่ทำอย่างไรให้ตำรวจรับผิดชอบและไม่ใช้ความรุนแรงอย่างมีอคติทางเชื้อชาติและศาสนา คราวนี้เมื่อได้ตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว โจ ไบเดนก็ยังเร่งไปทางคองเกรสที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมาในสภาผู้แทนราษฎรและเท่ากันในวุฒิสภา โดยที่ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานาธิบดีของเดโมแครต (กมลา แฮริส) มีโอกาสผ่านกฎหมายได้หากใช้เสียงข้างมากปกติ ให้รีบผ่านกฎหมายปฏิรูปตำรวจให้ทันก่อนครบรอบหนึ่งปีการตายของจอร์จ ฟลอยด์

ในที่สุดสภาผู้แทนฯก็ผ่านกฎหมายที่เรียกว่า George Floyd Justice in Policing Act of 2020 โดยไม่มี ส.ส.รีพับลิกันลงคะแนนผ่านให้เลย กระบวนการชั้นต่อไปคือการส่งไปให้วุฒิสภาพิจารณา แน่นอนว่ารีพับลิกันไม่เห็นด้วยกับรายละเอียดในกฎหมายปฏิรูปนี้หลายเรื่อง จึงให้ ส.ว.ทิม สก็อตต์ (เซาท์แคโรไลนา) ซึ่งเป็นคนผิวดำเป็นแกนนำไปเจรจากับเดโมแครต สก็อตต์ในนามของรีพับลิกันเสนอร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจที่ต่างไปจากของเดโมแครต ไม่ต้องการให้รัฐบาลกลางใช้อำนาจในการจัดการปัญหาตำรวจมากเกินไป ในเรื่องการคุ้มครองการปฏิบัติงานของตำรวจที่ไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้ (qualified immunity) และการใช้งบประมาณของรัฐบาลกลางในการช่วยการทำงานของตำรวจในมลรัฐและท้องถิ่น ซึ่งทั้งหมดนี้ฝ่ายเดโมแครตไม่เห็นด้วย ทำให้การผลักดันขับเคลื่อนให้กฎหมายนี้ผ่านวุฒิสภาไปซึ่งต้องการคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด คือ 60 จาก 100 หมายความว่าเดโมแครตต้องการเสียงจากรีพับลิกันถึง 10 เสียง ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในสภาพความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกันอยู่ระหว่างสองพรรคจากการต่อสู้ในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์และการถอดถอนสองครั้ง

กรณีของเสียงที่คานกันอย่างไม่มีใครชนะอีกฝ่ายเด็ดขาดในวุฒิสภา ทำให้รัฐบาล (เดโมแครต) บริหารนโยบายและผลักดันการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในบริเวณที่มีผลกระทบกว้างและยาวไกลได้ยากขึ้น เพราะถ้าจะให้ได้คะแนนเสียงจากอีกฝ่าย ก็ต้องยอมลดระดับและจุดหมายในร่างกฎหมายของตนลง เช่น กฎหมายจอร์จ ฟลอยด์ความยุติธรรมของตำรวจ ถ้าเดโมแครตยอมตามที่รีพับลิกันเสนอ ก็แทบไม่ได้เสนอกฎหมายที่เป็นความเรียกร้องต้องการของประชาชนโดยเฉพาะคนผิวสีที่เป็นผู้สนับสนุนและฐานคะแนนเสียงสำคัญของพรรคเดโมแครต เท่ากับปล่อยให้รีพับลิกันกลับได้รับคะแนนเสียงจากคนผิวขาวอนุรักษนิยมที่ไม่ต้องการลดอำนาจตำรวจลงเสียอีก เป็นการเสียของไปโดยเปล่าประโยชน์

 สภาพการณ์ดังกล่าว ดูไปอาจเห็นว่าระบบสองพรรคดังกล่าวน่าจะเป็นอุปสรรคต่อการผ่านกฎหมายและการบริหารประเทศเสียมากกว่ากระมัง แต่ถ้ามองอีกด้านให้ยาวไกล สภาพการณ์ดังกล่าวก็อาจเป็นการให้การศึกษาและหล่อหลอมนักการเมืองและผู้สนับสนุนพรรคการเมืองให้ต้องมีความอดทนและฝึกการเจรจาต่อรองทั้งในรัฐสภาและในมลรัฐท้องถิ่นของพวกตนด้วย  ทั้งหมดทำให้ทุกคนตระหนักว่า การใช้อำนาจการเมืองในอเมริกานั้น ไม่อาจทำได้โดยเพียงให้ใครคนใดคนหนึ่งขึ้นมามีตำแหน่งแล้วเอาแต่ออกคำสั่งใช้อำนาจตามกฎหมายแต่อย่างเดียว หากแต่การใช้อำนาจนั้น ก่อนอื่นต้องผ่านความเห็นชอบและสนับสนุนโดยสมาชิกพรรคคนอื่นๆ ด้วยทั้งพรรคเดียวกันและต่างพรรคกัน ในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดนเราจะเห็นการต่อรองและเจรจา ด้วยยุทธศาสตร์และยุทธวิธีต่างๆ เพื่อบรรลุจุดหมายสุดท้ายทางการเมืองอย่างเป็นกิจลักษณะและเป็นล่ำเป็นสันต่อไป

หากรัฐบาลโจ ไบเดนดำเนินวิธีการบริหารประเทศด้วยการเจรจาต่อรองและมีแผนการขั้นตอนต่างๆ มากมาย เขาจะดำเนินนโยบายระหว่างประเทศด้วยวิธีการอย่างไร คำตอบที่คิดว่าพอเดาจากการเริ่มเดินหมากที่ผ่านมาคิดว่าคงเป็นไปในแนวทางและวิธีการเดียวกับที่เขาและทีมบริหารใช้ในการผลักดันนโยบายภายในประเทศ นั่นคือกำหนดจุดหมายของอเมริกาและโลก แล้ววางแผนระยะใกล้และยาว กำหนดยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีในการไปบรรลุจุดหมายเหล่านั้น เครื่องมือที่ใช้คือการเจรจา ติดต่อ ต่อรองและสร้างแนวร่วม การใช้กำลังทหารจะเป็นหนทางสุดท้ายเพราะต้นทุนมันสูงมากและจะกระทบต่อการลงทุนสร้างโครงสร้างใหม่ในประเทศ

จุดหมายในนโยบายระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ก็มาจากอุดมการณ์หลักของอเมริกานั่นคือการสร้างและรักษาประชาธิปไตยในโลกไว้ ความจริงอุดมการณ์นี้ไม่ได้เกิดมาในสมัยปฏิวัติอเมริกาที่มีอุดมการณ์เสรีภาพของปัจเจกบุคคลและทรัพย์สินส่วนตัว กระทั่งอเมริกาเริ่มเติบใหญ่ในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษที่ 19 พอถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ตัดสินใจนำสหรัฐฯ เข้าร่วมสงคราม ด้วยเหตุผลว่าเพื่อ ‘รักษาประชาธิปไตยให้แก่โลก’ นับแต่นั้นมาอเมริกาก็วางตำแหน่งของตนในการเมืองโลกพร้อมจุดหมายดังกล่าวไว้ให้สอดคล้องกัน ตำแหน่งและฐานะของความเป็นมหาอำนาจโลกค่อยลดลงหลังสงครามอินโดจีน โดยเฉพาะภายหลังการยุติสงครามเย็นในปี 1989 เงื่อนไขที่รองรับการมีกำลังทหารในจุดต่างๆ ทั่วโลกก็ลดน้อยลงด้วย

ยิ่งหลังการแพร่กระจายของโลกาภิวัตน์ ระบบทุนนิยมโลกก็ปรับตัวเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการผลิตและจำหน่ายให้สอดคล้องกับการบริโภคยุคดิจิทัล ทั้งหมดมีส่วนในการทำให้ฐานะนำของทุนสหรัฐฯ ในโลกพบการแข่งขันและท้าทายจากทุนชาติอื่นๆ มากขึ้น ล่าสุดคือจากทุนจีนที่มีฐานสนับสนุนจากรัฐและพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยรวมแล้วสหรัฐฯ ไม่ได้ครองอำนาจนำแต่ผู้เดียวเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไปแล้ว ยิ่งสมัยที่โดนัลด์ ทรัมป์เป็นใหญ่ เขายิ่งดำเนินนโยบายที่โดดเดี่ยวอเมริกาออกจากบทบาทและฐานะเก่าโดยสิ้นเชิง ทั้งหมดนี้คือภารกิจที่โจ ไบเดนจะต้องรื้อฟื้นและสถาปนาบทบาทและฐานะของอเมริกาที่ประเทศทั่วโลกต้องกลับมาให้ความสำคัญ ถึงไม่เท่าเดิม ก็ต้องไม่น้อยไปกว่านั้นเกินไปนัก

จุดเริ่มต้นที่ง่ายและไม่ยุ่งยากนัก ได้แก่ การกลับไปเป็นสมาชิกองค์กรระดับโลกดังเดิมอีก เช่น ข้อตกลงปารีสเรื่องโลกร้อน (Paris climate accord) สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) จากนั้นเปิดการเจรจากับรัสเซียในสนธิสัญญาควบคุมอาวุธใหม่ START ฟื้นพันธมิตรสำคัญในยุโรปและเอเชียกลับมาใหม่ ในยุโรปได้แก่นาโต ในเอเชียได้แก่กลุ่มจตุรมิตร (Quad) ที่มีญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดียและสหรัฐฯ การประชุมระหว่างผู้นำรัฐบาลของสี่ประเทศริเริ่มครั้งนี้โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งอเมริกา เป็นการประชุมออนไลน์ผ่านซูม แต่ก็มีความหมายยิ่งเพราะก่อนนี้มีแต่ผู้แทนรัฐบาลระดับรองลงมาที่เข้าประชุม โจ ไบเดนกล่าวในที่ประชุมอย่างชัดเจนถึงจุดหมายที่อเมริกาต้องการเห็นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกนี้ คือการที่ทุกประเทศในภาคนี้ปกครองโดยกฎหมายสากลระหว่างประเทศ (international law) และสหรัฐฯ จะยึดมั่นในหลักการของคุณค่าสากลทั้งหลาย (universal values) ซึ่งแม้ไม่ได้ลงรายละเอียด แต่ก็ไม่พ้นไปจากหลักการของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ ความเสมอภาคนั่นเอง

ถึงไม่บอก แต่ก็เดาได้ว่ากลุ่มจตุรมิตรนี้คือการรวมกันของประเทศประชาธิปไตยใหญ่ๆ ของเอเชียและอเมริกา ทั้งหมดมีกองทัพเรือที่ทรงพลัง ดังนั้นในทางยุทธศาสตร์จึงหนีไม่พ้นว่านี่เป็นการจัดตั้งพันธมิตรของสหรัฐฯ ที่จะมาคานและถ่วงดุลกับพลานุภาพทางทหารของจีนในแถบนี้ ความจริงไบเดนยังอุตส่าห์ระบุเพิ่มว่าจตุรมิตรนี้จะร่วมกันผลิตวัคซีนโควิดและแจกจ่ายให้แก่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ตั้งเป้าจะผลิตให้ได้หนึ่งพันล้านโดสภายในสิ้นปีหน้า (เราอาจไม่ต้องพึ่งแต่ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และแอสตราเซเนกาเพียงเท่านั้นอีกต่อไป) จตุรมิตรจะเป็นมิตรที่น่าไว้ใจและพึ่งพาแก่กลุ่มอาเซียนได้ดีกว่าจีนหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

อีกจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในตะวันออกกลางคืออิหร่าน ทราบกันดีแล้วว่า ทรัมป์ได้ยกเลิกสัญญาที่ตกลงกับอิหร่านสมัยประธานาธิบดีโอบามา ที่ทำให้อิหร่านยุติการคิดสร้างอาวุธนิวเคลียร์และสหรัฐฯ ระงับการบอยคอตเศรษฐกิจอิหร่าน แต่ทรัมป์โยนทิ้งหมด อ้างว่าเพราะอิหร่านไม่ทำตามสัญญา จนกลายเป็นความตึงเครียดขึ้นมาอีก ตั้งแต่โจ ไบเดนหาเสียงเลือกตั้งก็วิจารณ์ว่าทรัมป์ทำความผิดอย่างมหันต์ในเรื่องนี้ เพราะจะเป็นการจุดชนวนให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้น หลังจากไบเดนรับตำแหน่ง เขาลังเลว่าจะดำเนินนโยบายกับอิหร่านอย่างไร เพราะคนที่ค้านไม่เห็นด้วยกับการอ่อนข้อให้อิหร่านมีไม่น้อยในประเทศโดยเฉพาะพรรครีพับลิกัน ทำให้อิหร่านเริ่มการทดลองยูเรเนียมต่อไปอีก สถานการณ์ของการเจรจาทำท่าแย่ลง ไบเดนไปไม่ถูก ประเทศสหภาพยุโรปพากันช่วยหาทางเจรจาให้ทั้งสองฝ่ายกลับมาเจอกันอีก ในที่สุดสหรัฐฯ ตั้งหลักได้ บอกว่าจะเริ่มเจรจาพร้อมยกเลิกการบอยคอตอิหร่าน การเริ่มต้นเจรจาจึงเกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง แม้ยังไม่ลงในรายละเอียดและทางออกที่สองฝ่ายรับได้ อิหร่านจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในเดือนมิถุนายน หลังจากนั้นคงนั่งต่อรองกันได้มากขึ้น ส่วนสหรัฐฯ ก็คาดว่าวุฒิสภาจะอนุมัติการรับรองเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในรัฐบาลไบเดนได้จนหมด ทำให้เขาสามารถดำเนินนโยบายต่างประเทศได้เต็มที่ต่อไป

จุดยุทธศาสตร์สุดท้ายที่สำคัญที่สุดและคงยากและนานที่สุด ได้แก่ จีนและรัสเซีย นับตั้งแต่เปิดความสัมพันธ์ทางการกับจีนมาสี่สิบปีที่แล้ว ไม่มีเวลาไหนที่ความสัมพันธ์ของสองประเทศสั่นคลอนและขัดแย้งกันมากเท่ากับในระยะนี้ แม้ไม่เห็นด้วยกับวิธีการตอบโต้จีนแบบที่ทรัมป์ได้กระทำลงไป แต่ไบเดนก็ยังไม่ยกเลิกมาตรการภาษีที่ทรัมป์ทำไว้กับจีน เพื่อรอเวลาสำหรับการเดินนโยบายใหม่ของไบเดน ซึ่งที่วาดไว้คงไม่หนีไปจากการแข่งขันในทางยุทธศาสตร์ทั้งหลาย เรื่องแรกคือไต้หวัน จุดยืนของจีนในเรื่องนี้มีอันเดียวคือ ‘มีเพียงจีนเดียว’ และ ‘ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน’ และในที่สุดการรวมประเทศจะต้องเกิดขึ้น ที่ผ่านมามีการออกแถลงการณ์ร่วม ข้อตกลงต่างๆ ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งอเมริกายอมรับแต่ไม่ยอมลงนาม

กระทั่งในปี 1979 อเมริกาสัญญาว่าจะเลิกการมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับไต้หวัน แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สำเร็จเรียบร้อยโรงเรียนจีนเสียที การพบปะระหว่างเจ้าหน้าที่อเมริกันกับไต้หวันไม่ว่าระดับใดๆ ก็ตาม เป็นสิ่งที่ทางการจีนรับไม่ได้และประท้วงทุกครั้ง  กระทั่งสมัยทรัมป์กับรัฐมนตรีต่างประเทศไมค์ ปอมเปโอเริ่มมีการติดต่อพบปะกันอีกกับไต้หวัน ประธานาธิบดีไต้หวันเป็นคนแรกๆ ที่โทรศัพท์ไปแสดงความยินดีต่อการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ (ถ้าไม่มีการติดต่อกันก่อน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะต่อสายตรงถึงหัวหน้าทำเนียบขาวได้)

น่าสังเกตว่าไบเดนไม่ได้ยุติการติดต่อกับไต้หวันเช่นกัน เขายังคงดำเนินแนวทางเดียวกับที่ทรัมป์ทำเหมือนกันและดูเหมือนทำมากกว่าเสียอีก ถึงขนาดส่งผู้แทนทางการของไบเดน อดีตวุฒิสมาชิกและเพื่อนสนิทของไบเดน คือ คริส ด็อดด์ กับอดีตรองรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ อีก 2 คนไปเจรจากับไต้หวันประเด็นความมั่นคง ทำให้จีนเปิดฉากซ้อมรบหกวันด้วยกระสุนจริงในน่านน้ำไต้หวัน เรือรบอเมริกาและจีนวิ่งไล่หลังกันไปทั่วช่องแคบไต้หวัน ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณว่าสันติภาพในเขตไต้หวันกำลังมีปัญหามากขึ้นเรื่อย แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศอเมริกา เตือนจีนว่า “มันจะเป็นความผิดพลาดอันมหันต์ ในการพยายามจะเปลี่ยนสถานะที่ดำรงอยู่ขณะนี้ (status quo) ด้วยการใช้กำลัง” ในสายตาของจีน มองว่าสหรัฐฯ กำลังทำเหมือนกันโดยใช้ทางการทูต ซึ่งจีนมองว่าก็อันตรายพอๆ กัน

ประเด็นสุดท้ายที่ผมสังเกตว่าไบเดนตรงข้ามกับทรัมป์อย่างสิ้นเชิง ขณะที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เขาไม่เคยพูดหรือให้ความเห็นเชิงบวกอะไรในเรื่องประชาธิปไตย ไม่เคยพูดถึงความคิดมโนทัศน์เรื่องเสรีภาพ สิทธิ ความเสมอภาคอะไรทั้งหลายที่เป็นยี่ห้อแบรนด์เนมของประชาธิปไตย ตรงกันข้าม โจ ไบเดนตั้งแต่ระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี เขาพูดอยู่บ่อยๆ ถึงคุณค่า ความหมายและความสำคัญของประชาธิปไตย

ในวันรำลึกทหารผ่านศึก (จันทร์แรกของเดือนพฤษภาคม) เขากล่าวตอนหนึ่งถึง ‘วิญญาณของอเมริกา’ ว่ามีทั้งสองด้านคือดีกับเลว ต่อสู้กันตลอด แล้วโยงไปถึงประเทศว่ามีการต่อสู้กันระหว่างสองระบบคือประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม ไบเดนกล่าวต่อไปอีกว่า “ประชาธิปไตยเองกำลังตกอยู่ในอันตราย ขณะนี้ทั้งในประเทศและรอบโลก สิ่งที่เรากระทำขณะนี้ เราให้เกียรติและเคารพในความทรงจำของผู้เสียสละ ซึ่งจะตัดสินว่าประชาธิปไตยจะยืนยงต่อไปอีกนาน”

เขาสัญญาในการหาเสียงว่าจะเปิดการประชุมระดับโลกว่าด้วย ‘ประชุมสุดยอดสำหรับประชาธิปไตย’ (summit for democracy) ภายในปีนี้ และถึงเวลานั้นเขาคงมีเวลาแก้ไขปัญหาประชาธิปไตยบกพร่องที่ได้เกิดในอเมริกาด้วยน้ำมือของทรัมป์และพรรคพวก เพื่อเชิญชวนให้ประเทศทั่วโลกเกิดแรงบันดาลใจที่จะมาถกเถียงอภิปรายในปัญหาที่อเมริกาจะทำตัวเป็นต้นผีที่แท้จริงให้กับคนอื่นทั้งโลกได้  ผมอยากรู้เหมือนกันว่าสหรัฐฯ จะเชิญประเทศอะไรบ้างมาร่วมในประชุมสุดยอดประชาธิปไตยนี้

ลองคิดเล่นๆ ว่า จะเชิญจีน รัสเซีย เบลารุส เวเนซุเอลา ฯลฯ ไหม แล้วประเทศมิตรเก่าอย่างไทย ฟิลิปปินส์จะเชิญไหม เพราะรัฐบาลก็เอียงไปทางอำนาจนิยมอย่างไม่ซับซ้อน แนวทางที่ไบเดนให้ไว้กว้างๆ คือ “พันธมิตรของประชาธิปไตยเพื่อมาอภิปรายถึงอนาคต” เอาเข้าจริงๆ แล้ว ปัจจุบันมีประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าในโลกนี้ที่การแก้ไขปัญหาความมั่นคงและเสถียรภาพไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยหากไม่เปิดการเจรจากับประเทศเหล่านี้ด้วย

หนึ่งร้อยวันของประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวโดยสรุปต้องถือว่าเขาประสบความสำเร็จและนำเสนอนโยบายรวมทั้งการปฏิบัติที่บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่เรื่องการฉีดวัคซีนโควิดเพื่อระงับการแพร่ขยายของไวรัส แล้วเร่งเปิดเศรษฐกิจทั้งหลาย ไปถึงการเสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และลงเอยที่การรื้อสร้างโครงสร้างประเทศที่ไม่แต่เฉพาะทางวัตถุ เช่น ถนน รถไฟ ฯลฯ หากยังรวมถึงทรัพยากรบุคคล เน้นไปที่คนชายขอบของสังคมและระบบ ระบบการศึกษา การค้นคว้าเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ

ไบเดนทำให้ผู้สังเกตการณ์การเมืองแปลกใจอย่างยิ่งที่เขาไม่ทำตัวเหมือนกับตอนที่เขาเป็นวุฒิสมาชิกและรองประธานาธิบดีที่ไม่โดดเด่นและมีสีสันอะไรนัก ออกจะจืดชืดด้วยซ้ำตอนหาเสียงเลือกตั้ง เขาไม่ซ้ายไม่ขวาจนคนคิดว่ารัฐบาลสมัยของไบเดนคงเงียบเหงา ยิ่งมารับมรดกแห่งความวุ่นวายและแตกแยกขนาดใหญ่ในประเทศจากทรัมป์ด้วย ไบเดนคงไปต่อยากลำบากยิ่ง แต่ร้อยวันภายใต้การนำของไบเดนให้ภาพที่ตรงกันข้ามอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เขาตัดสินใจดำเนินนโยบายหลักและใหญ่อย่างรวดเร็ว แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาทำเนียบขาว ฝ่ายความมั่นคงและกระทรวงต่างๆ จากคนที่มีฝีมือความชำนาญในเรื่องนั้นๆ จริงๆ และที่สำคัญให้น้ำหนักกับความหลากหลายทางเพศสภาพ เชื้อชาติ ศาสนาสีผิว เรียกว่าเป็นคณะรัฐมนตรีที่หลากหลายที่สุดในประวัติศาสตร์ ไม่มีโควตาของพรรค หรือของแกนนำที่เป็นขาใหญ่ของพรรค ดูแล้วเป็นคนที่ไบเดนเลือกเองจริงๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งรัฐมนตรีกลาโหมที่เป็นคนแอฟริกันอเมริกันคนแรก นายพลลอยด์ ออสติน วงในบอกว่าเขาเป็นเพื่อนสนิทของโจ ไบเดนนานมาแล้ว ใกล้ชิดกันมากกับครอบครัว จนไบเดนมีความไว้วางใจมากที่สุด

ปิดท้ายด้วยข้อคิดที่เกริ่นไว้แต่ต้นว่ารัฐบาลไบเดนอาศัยใบบุญของระบบการเมืองอเมริกันทื่สืบทอดต่อเนื่องจารีตประเพณีการปฏิบัติมายาวนาน ทำให้การเลือกและแต่งตั้งคณะที่ปรึกษา ผู้ร่วมงานในคณะรัฐมนตรี ไปถึงสำนักงานและหน่วยงานต่างๆกระทำไปได้อย่างโปร่งใสและตรวจสอบประวัติความเป็นมาได้หมด เห็นได้ว่าระบบประชาธิปไตยเสรีทีเปิดกว้าง ทำให้เส้นทางเข้าสู่อำนาจการเมืองไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเพื่อผลประโยชน์เฉพาะเพียงอย่างเดียว แต่ที่สำคัญคือการแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์และความสามารถในการปฏิบัติจริงๆ ที่ผ่านมา ทั้งหมดแสดงถึงจุดยืนทางการเมืองของทุกคนด้วย

แค่การจัดการปัญหาเรื่องโควิดเรื่องเดียวก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลแบบไหนสามารถบรรลุจุดหมายได้ดีกว่ากัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save