fbpx
ปล่อยไปกับสายลม

ปล่อยไปกับสายลม

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เสียงเพลงดังแว่วมาจากในห้องน้ำ พ่อเข้าใจว่ามันเป็นเสียงริฟฟ์กีตาร์อินโทรมันๆ ของเพลงแนวเฮฟวี่ เมทัลสักเพลง แต่จำไม่ได้ว่าเพลงอะไร 

ตอนนั้นมันเป็นเช้าในปลายปี 2017 อากาศยามเช้าฝั่งเวียงจันทร์ชวนให้หายใจชื่นปอด

มารู้ทีหลังว่าเพลงชื่อนาฬิกา ของวง The Exile ที่เคยได้ยินเมื่อนานมาแล้ว แต่มาได้ยินรอบนี้จากน้าเอก-เอกวิทย์ เตระดิษฐ์ บรรณาธิการ Zombie Attack Fanzine เพื่อนชาวหูเหล็กที่รักสัตว์ป่าเท่ากับรักมนุษย์ ที่พ่อคบหามาตั้งแต่วัยเรียน น้าแกเปิดผ่านไอโฟนระหว่างอาบน้ำ

เสียงร้องจากเพลงที่เปล่งออกมาอย่างแหลมสูงสุดพลัง ตามด้วยลูกโซ่โล่กีตาร์ที่เร็วและผ่อนหนักผ่อนเบาเป็นช่วงๆ ชวนให้รู้สึกคล้ายอยู่บนเรือที่กำลังโต้คลื่นลม เป็นเพลงที่ติดหูอย่างยิ่ง และชวนให้แหกปากร้องตามอย่างยิ่ง

ปลายปี 2018 ได้ข่าวบนโลกออนไลน์จากอ้ายโจ้-ท้าวสุขคำทัด สุดทิวงหน่อราต พี่ใหญ่แห่งครอบครัวชาวเมทัลลาวว่า สมเพชร นอรวง’ นักร้องนำของ The Exile เจ้าของเสียงนั้น จะขึ้นเล่นคอนเสิร์ตที่เวียงจันทร์ (Peth Noravong The Exile 40th year Home coming) เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่จากแผ่นดินแม่ไป

สมเพชร นอรวง ร้องนำวง The Exile
สมเพชร นอรวง ร้องนำวง The Exile ภาพ : สุขคำทัด สุดทิวงหน่อราต

ถึงตรงนี้ พ่อเริ่มสะท้อนใจขึ้นมา เพราะมันแปลกแปร่งชอบกล ถ้าเป็นคนฟังเพลงอย่างเดียวคงสงสัยว่าทำไมนักดนตรีลาวถึงต้องกลับมาเล่นคอนเสิร์ตที่ลาว ทั้งที่บ้านตัวเองก็อยู่ที่เดิม แล้วเขาหายไปไหนมา…

แต่ชื่อวงว่า The Exile ก็พอสะท้อนคำตอบอะไรอยู่บ้าง

นี่คือเรื่องที่พ่อรับรู้จากน้าเอกที่มีโอกาสได้ไปสัมผัสชายนักร้องนำวัย 59 ปีของ The Exile ตัวเป็นๆ มาแล้ว

สงครามอินโดจีนที่ลุกลามมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 40 กระทั่งเกิดการปฏิวัติในเวียดนาม ลาว กัมพูชา ช่วงทศวรรษที่ 70-80 ทำให้ประชาชนต้องพลัดบ้านพลัดถิ่น รวมถึงสมเพชรในวัย 19 ปีที่เพียงเป็นคนรักดนตรีร็อกคนหนึ่งจำต้องออกจากแผ่นดินแม่ไปในปี 1978 ด้วยความกลัวตาย

พอปี 1996 นักฟังเพลงชาวไทยได้ยินผลงานเพลงของวง The Exile ผ่านหูเป็นครั้งแรกเพราะค่ายเพลงแกรมมี่ได้บรรจงเนรมิตปั้นขึ้นมาเพื่อให้ตลาดเพลงร็อกอันหนักหน่วงได้คึกคัก มีที่ยืน มีตัวตนเหมือนศิลปินเพลงไทยอื่นๆ ที่กำลังได้รับการยอมรับในยุค 90 ซึ่งความจริง The Exile ได้ทำงานกันอย่างเข้มข้นมาก่อนหน้านั้นและมีอัลบั้มแรกในปี 1991 คืออัลบั้ม Our Homeland (บ้านเกิดเฮา) ซึ่งทุกเพลงร้องเป็นภาษาบ้านเกิด

https://www.youtube.com/watch?v=rMbkccXLwKE&t=22s

“The Exile การรวมกลุ่มพลังร็อกสายพันธุ์เอเชีย ผู้ซึ่งจากถิ่นฐานไปอยู่แดนไกลตั้งแต่เยาว์วัย กว่า 10 ปี แห่งการรวมตัว กับจุดยืนทางดนตรีที่หนักแน่นและชัดเจน วันนี้ พวกเขาได้ส่งความเข้มข้นทางดนตรีข้ามแผ่นฟ้ามาให้คุณได้สัมผัส”

เสียงบรรยายในคลิปพีอาร์จากแกรมมี่ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าThe Exileถูกเนรเทศเพราะอะไร เข้าใจว่าไม่ใช่เหตุผลหลักของแกรมมี่ที่จะโปรโมทวงร็อกวงนี้ในน้ำเสียงทางการเมือง

เพลงร็อกสายเลือดไทยในยุค 80-90 เราจดจำ ดิ โอฬาร โปรเจ็คท์, หิน เหล็ก ไฟ, ไมโคร, ไฮร็อก, แบล็คเฮด, ซิลลี่ ฟูลส์ ฯลฯ ได้อย่างดี แต่ดูเหมือนว่า The Exile จะค่อนข้างลางเลือนไปในสายตานักฟังเพลงไทยส่วนใหญ่ อาจเพราะไม่ใช่วงไทย แต่นั่นก็มีเหตุผลที่ถูกทำให้เลือนหายไปมากกว่าแค่พวกเขาเป็นวงจากลาว

“5 นักดนตรีหนุ่มที่ไม่ถูกระบุชื่อจริงในบทสัมภาษณ์หรือบนปกซีดี ทิ้งปริศนาใหญ่ให้คนฟังตามหาคำตอบ ว่าพวกเขาเป็นใคร มาจากไหน” น้าเอกบอก

เราทราบเพียงว่า พีท ร้องนำ, วินนี่ กลอง, โอเล่ เบส,ซิดนี่ย์ กีตาร์ และ ชาร์กี้ กีต้าร์โซโล่ แต่รายละเอียดเพียงเท่านี้ก็ไม่สามารถทำให้เรายุติการละเลียดรสร็อกในเพลงของพวกเขาได้

อย่างน้อยลายแทงในปกซีดีก็ทิ้งร่องรอยมีค่าไว้ให้เราระลึกถึงเสมอว่าผลงานอัลบั้ม The Exile ปี 1996 นี้ไม่ได้เป็นงานสเกลทั่วไป แต่เป็นงานสเกลชนิดข้ามทวีปกันเลยทีเดียว

น้าเอกบอกว่า 5 นักดนตรีหนุ่มทำหน้าที่แต่งทำนองและเรียบเรียงดนตรีในอัลบั้มชุดนี้ด้วยตัวเองเกือบทั้งหมด มี ‘อ๊อด อมตะ’ หรือสันติ กลางสาทร นักแต่งเพลงผู้ล่วงลับไปเมื่อปี 2559 เป็นโปรดิวเซอร์คอยดูแลความเรียบร้อย เรียบเรียงตัวบทเพลงให้เข้าที่เข้าทาง เป็นทั้งกำลังหลักและกำลังเสริมให้กับวง

อีกอย่าง พวกเขาบันทึกเสียงอัลบั้มชุดนี้กันอย่างสดๆ ด้วยการเล่นพร้อมกันทีเดียวทั้งหมด สมกับเพลงอหังการ์ (แต่งโดย อาทิตย์ สาระจูฑะ) หนึ่งในเพลงอัลบั้มของนี้ที่สะท้อนหัวจิตหัวใจของพวกเขาได้ชัดที่สุด

“ขั้นตอนการบันทึกเสียงและทำมาสเตอร์ ผลิตกันที่ เมทัลเวิร์ค สตูดิโอ’ (Metal Works Studio) ห้องบันทึกเสียงชั้นนำในรัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา ที่ๆ วงอย่าง Guns N’ Rosesใช้บันทึกเสียงอัลบั้มUse Your Illusion II ด้วย โดยมี กิล มัวร์ มือกลองของวง Triumphวงร็อกในตำนานเป็นเจ้าของ เลยไม่แปลกใจที่คุณภาพเสียงในอัลบั้มนี้จึงเฉียบคมและบาดหูถูกใจคอร็อกกันถ้วนหน้า”

ประเด็นที่บอกว่าเป็นงานสเกลข้ามทวีปเพราะแกรมมี่ผู้เป็นต้นสังกัดอยู่ไทย แต่วง The Exile และห้องบันทึกเสียงอยู่แคนาดา ยุคสมัยที่ยังไม่มีคลาวด์ให้บันทึกข้อมูลในอากาศ ทำให้พวกเขาต้องใช้เวลาในการส่งมาสเตอร์เทปข้ามไปข้ามมาระหว่างประเทศ โดยอ๊อด อมตะ รับหน้าที่บินไปควบคุมการมิกส์และบันทึกเสียงถึงที่โน่น

“อีกเรื่องของ The Exile ที่น่าสนใจคือนักร้องนำร้องภาษาไทยได้เอง ทำให้แกรมมี่แก้ปัญหาด้วยการเขียนคำร้องในแบบภาษาคาราโอเกะ และทำเดโมเป็นไกด์ไลน์ที่มี มิคกี้ หรือปิยะวัฒน์ เปี่ยมเบี้ย นักร้อง นักแต่งเพลง เป็นคนร้องไกด์ให้” น้าเอกเล่า

ระยะทางและระยะเวลาอันยืดยาวในการทำงานไม่ได้ทำให้อัลบั้ม The Exile หยุดเดินได้ พวกเขาเดินหน้าไปเหมือนดั่งในเพลงนาฬิกา (ที่มีกฤชยศ เลิศประไพ แห่งวง The Must เป็นคนแต่ง)

นาฬิกายังเดินไม่หยุดยั้ง
ด้วยความแม่นยำทุกวัน
คอยเตือนและย้ำเวลาให้เรา
ถ้าหากชีวิตยังอยู่
ก็คงต้องสู้กันไป
อย่ามัวแต่คิดรออะไร

คำถามมีอยู่ว่าพวกเขาทำงานกันจริงจังขนาดนี้ ทำไมสำหรับคนฟังเพลงทั่วไปถึงได้ยินชื่อชั้นพวกเขาอย่างบางเบาเหลือเกิน

น้าเอกบอกว่าเบื้องหลังสำคัญที่ทำให้ The Exile เป็นที่รู้จักสำหรับผู้ฟังชาวไทย คือ เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ หนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของวงการเพลงไทย ได้ทำหน้าที่ Executive Producer ให้ด้วย นั่นแปลว่าระดับผู้บริหารแกรมมี่ตั้งใจเจียระไนให้ The Exile ได้รับการประดับในวงการเพลงไทยจริงๆ

แต่ก็อีกนั่นแหละ เมื่อจุดเริ่มต้นของ The Exile ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบมาแต่แรก รายทางที่ผ่านมาทั้งกระสุน ข้ามน้ำข้ามทะเล หนีตายมาจนคล้ายจะหายเหน็ดเหนื่อย เมื่อได้อยู่ในดินแดนศิวิไลซ์กว่า มาสเตอร์อัลบั้มที่เพิ่งทำเสร็จและอยู่ระหว่างกระบวนการโปรโมท Executive Producer ก็ต้องมาลาลับไปด้วยโรคมะเร็งสมอง

จากนั้นทิศทางของแกรมมี่ก็หันออกห่างจาก The Exile ไปจนไม่มีใครจดจำได้ นอกจากผู้ฟังที่ปวารณาตนให้สายร็อกแล้ว

“แผนทัวร์คอนเสิร์ตเพื่อโปรโมทอัลบั้มนี้ในไทยถูกยกเลิกอย่างน่าเสียดาย” น้าเอกว่า

น่าเสียดายแทนที่เราไม่มีโอกาสได้ดูพวกเขาแสดงสดในวันเวลาที่พวกเขายังสดใสมีพลังเต็มเปี่ยม พ่อแอบจินตนาการตอนพวกเขาเล่นสดว่าเสียงร้องและเสียงโซโล่กีตาร์คงจะสะกดชาวหูเหล็กอย่างอยู่หมัด

แต่ถ้าถามว่าอะไรคือสิ่งที่เสียดายที่สุดในปี 2018 พ่อตอบทันทีเลยว่าการไม่ได้ไปอยู่ร่วมดื่มด่ำกับน้าเอกและมิตรชาวลาว-ชาวร็อก ในค่ำวันที่ 10 พ.ย. คือความเสียดายที่สุดที่พ่อรู้ว่าไม่มีทางย้อนเวลาได้

นอกจากเพลงนาฬิกา, อหังการ์, พ่อยังชอบเพลงยอมจำนน ที่นอกจากภาคดนตรีชวนติดหูแล้ว เนื้อเพลงยังโคตรเท่ มันให้ความรู้สึกใจถึงกว่าแค่ใจนักเลงทั่วไปอีกด้วยซ้ำ (ผู้แต่งคือ กฤชยศ เลิศประไพ)

มันเป็นความผิดหวังของหัวใจ
มันเป็นความอ่อนไหว เพราะว่ารัก
มันเป็นเกม ที่ฉันได้รู้จัก
ที่มีคนมากมาย ฝากรอยเอาไว้
ใครเป็นคนต่อไป ให้เดินเข้ามา
เข้ามาฝากแผล ทีใจฉันที
ถ้ายังไม่พอ ต้องการย่ำยี
ก็เชิญเหยีบซ้ำ ย้ำหัวใจให้พอ
ใครเป็นต่อไป ไม่ต้องแย่งกัน
ยังมีที่เหลือ รับรองว่ารอ
เติมความเจ็บใจ เข้าไปให้พอ
ต้องการเจ็บช้ำ ให้มันซินซะที
ช่วยกันสักนิด ช่วยกัน
มาฝากรอยแผลทีได้ไหม

อีกเพลง คือ ปล่อยไปกับสายลม (ผู้แต่งคือ มณฑวรรณ ศรีวิเชียร) เพลงแนวบัลลาดร็อกที่สวยเศร้า เนื้อเสียงของสมเพชรพาเราดิ่งลึกลงไปที่ก้นบึ้งของอารมณ์ และถูกโบยตีซ้ำด้วยภาคดนตรีที่เริ่มมาตั้งแต่เสียงเปียโน ก่อนจะกระแทกกระทั้นด้วยกลองและเสียงเอฟเฟกต์กีตาร์ที่ขึ้นมาพร้อมกัน

ยืนอยู่กลางสายลม ให้มันพัดผ่านใจเหงา
ให้มันพัดความว่างเปล่า ลอยลับไป
พัดเอาความอ่อนไหวลอยไปจากใจดวงนี้
อยากจะขอให้ลมพัดพาไป
พัดเอาใจที่มันแหลกลาญ เป็นผงธุลี
กวาดอารมณ์ที่มันไม่รักดี
พัดไปทีให้ไกลสุดไกล พาให้พ้นไป
ปล่อยไปกับสายลม

ทั้งหมดทั้งปวงไม่ใช่อะไรเลย ถ้าเราฟัง The Exile ในบ้านเมืองที่เปี่ยมไปด้วยเสรีภาพ เราคงต่างซึมซับบทเพลงไปตามอารมณ์ของใครของมัน

ทว่าการฟังThe Exile ในวันเวลาที่มิตรสหายชาวไทยแตกกระสานซ่านเซ็น พลัดบ้านพลัดถิ่นเหมือนที่สมาชิกวงประสบเมื่อ 40 ปีก่อน ทำให้พ่อค่อนข้างสับสนว่าปัจจุบันเราอยู่ในยุคสมัยไหนกันแน่

กรณี The Exile สะท้อนใจว่าการเมืองที่ใช้ปืนปกครอง ไม่ได้ผลักใสแค่นักกิจกรรมทางการเมืองให้ออกไปเพียงอย่างเดียว แม้แต่คนหนุ่มสาวที่รักดนตรี อยากเล่นดนตรี มีความคิดความเชื่อที่ต่างออกไป ก็กลับถูกผลักใสด้วย

พ่อเอนหลังมองลูกขณะหลับกลางวันอย่างน่าเอ็นดู ก่อนจะหยิบหูฟังใส่หู เปิดเพลงปล่อยไปกับสายลมฟังอีกรอบ

แน่นอน หลายอย่างที่เราไม่ได้เป็นฝ่ายเลือก กระทั่งควบคุมไม่ได้ มันอาจจะลอยไปกับสายลมในวันใดวันหนึ่ง และบางอย่างที่ขุ่นมัวฉาบทาอยู่บนหลังคาบ้านและในใจ เราต่างก็หวังให้มันพัดผ่านไปด้วยเช่นกัน.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save