จุดจบของมหาวิทยาลัย? MOOC กับความท้าทายใหม่ในโลกการศึกษา

จุดจบของมหาวิทยาลัย? MOOC กับความท้าทายใหม่ในโลกการศึกษา

อิสริยะ สัตกุลพิบูลย์ เรื่อง

“Our millennial generation is built differently. … The millennial generation is completely comfortable with online technology.

So why are we fighting it in the classroom? Let’s not fight it.

Let’s embrace it.”

Anant Agarwal, CEO and Founder of edX

 

MOOC หรือ Massive Open Online Course กำลังมาแรงแซงทุกโค้งในแวดวงการศึกษาโลก

เคยได้ยินชื่อ Coursera, edX หรือ Udemy กันไหมครับ?

ทุกวันนี้บริษัทเหล่านั้นจับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกไม่ว่าจะเป็นฮาร์วาร์ด เอ็มไอที หรือสแตนฟอร์ด รวมถึงบริษัทชั้นนำอย่างเฟซบุ๊กและกูเกิล นำเสนอ “หลักสูตรออนไลน์เรียนฟรีขนาดใหญ่” หรือที่เรียกกันย่นย่อว่า MOOC ให้นักเรียนรู้ทั่วโลกสามารถลงทะเบียนเรียนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

การรุกคืบของ MOOC ส่งผลต่อโลกการศึกษาและโลกธุรกิจอย่างมิต้องสงสัย ในแง่มุมด้านการศึกษา MOOC สร้างการเปลี่ยนแปลงในแวดวงการศึกษาอย่างไร มหาวิทยาลัยชั้นนำในโลกปรับตัวรับมือกับกระแส MOOC อย่างไร และในแง่มุมด้านธุรกิจ โมเดลทางธุรกิจของ MOOC ทำงานอย่างไร

มหาวิทยาลัยแบบเก่าดังที่เราคุ้นเคยกำลังจะตายจากไป เราจะมาสำรวจชีวิตใหม่ของมหาวิทยาลัยในยุค MOOC เฟื่องฟู

MOOC 

หัวขบวนเทรนด์ธุรกิจการศึกษาโลก

ในปัจจุบัน ธุรกิจ MOOC ประกอบด้วยผู้เล่นรายใหญ่หลายราย ได้แก่ Coursera, edX, XeutangX และ Udacity เป็นต้น แต่ละบริษัทจะเป็นผู้ออกแบบแพลตฟอร์มให้นักเรียนทั่วทุกมุมโลกเข้ามาลงทะเบียนและเรียนออนไลน์ได้

เนื้อหาที่ MOOC นำเสนอมักเป็นวิชาที่มีการเรียนการสอนจริงในรั้วมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก หรือใช้สำหรับการฝึกสอนพนักงานในบริษัทชั้นนำ ตั้งแต่วิชาวิทยาศาสตร์ การเขียนโปรแกรม สังคมศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ จนถึงปรัชญาและศาสนา

ปัจจุบัน MOOC มีบริการหลายแบบและสามารถตอบสนองนักเรียนได้หลากกลุ่มตามความต้องการ หากนักเรียนต้องการลงทะเบียนเรียนฟรีในวิชาที่สนใจก็สามารถลงเรียนแบบ Audit ได้เลย (ในไทยอาจจะเรียกว่า Sit In) นักเรียนจะได้ชมทั้งวิดีโอการสอน บทความหรือหนังสือเรียนบางส่วน บางวิชาอาจจะใจดีให้นักเรียนได้ทำข้อสอบและสนทนาโต้ตอบกับอาจารย์หรือเพื่อนนักเรียนด้วยกันผ่านกระดานสนทนา

แต่ถ้านักเรียนต้องการได้รับใบประกาศนียบัตรหรือได้รับหน่วยกิตจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลังจากที่เรียนจบในแต่ละวิชาก็สามารถทำได้ เพียงแต่นักเรียนจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม เช่นเดียวกับนักเรียนที่ต้องการทำแบบทดสอบ ทำข้อสอบกลางภาคหรือปลายภาค หรือต้องการให้อาจารย์หรือผู้ช่วยสอนตรวจข้อสอบด้วย ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มเช่นกัน

แต่ใช่ว่า MOOC จะต้องการหาเงินจากผู้เรียนโดยตรงเท่านั้น แต่โมเดลธุรกิจคือการจับมือสร้างพันธมิตรกับหลายฝ่าย ตัวอย่างเช่น MOOC หลายแห่งได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำในการผลิตเนื้อหาหรือสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาฝีมือคนทำงานในองค์กร บางแห่งถึงกับขายรายชื่อนักเรียนที่มีความสามารถสูงให้แก่นายจ้างเพื่อลดต้นทุนของการค้นหาแรงงานระดับหัวกะทิ บางแห่งจับมือกับผู้เผยแพร่เนื้อหา เช่น Apple TV เพื่อให้การ “เข้าชั้นเรียน” สะดวกสบายมากขึ้น หรือบางแห่งถึงกับจับมือกับสายการบิน เพื่อให้ผู้โดยสารเครื่องบินระยะไกลสามารถเรียนหนังสือบนเครื่องบินได้อีกด้วย!

จากการรวบรวมข้อมูลสถิติของ MOOC ในปี 2016 พบว่านักเรียน 56 ล้านคนทั่วโลกเคยลงเรียนหลักสูตรออนไลน์ จากกว่า 700 มหาวิทยาลัยชั้นนำ และเกือบ 7,000 วิชาในเกือบทุกสาขา ทั้งนี้ ผู้เล่นหลักในธุรกิจนี้ ได้แก่ Coursera (นักเรียน 23 ล้านคน) edX (นักเรียน 10 ล้านคน) และน้องใหม่มาแรงจากปักกิ่งอย่าง XeutangX (นักเรียน 6 ล้านคน) แม้พูดภาษาจีนแต่ก็ยังติดหนึ่งในสามของ MOOC ที่มีจำนวนนักเรียนมากที่สุดในโลก ทั้งที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 นี่เอง

ธุรกิจ MOOC มีลักษณะดึงดูดน่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มหลัก 3 ประการ ได้แก่ ความไร้พรมแดนของเทคโนโลยี การเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการเข้าศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำ (ค่าเล่าเรียนแพงและปริมาณที่นั่งจำกัด) และความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและด้านรายได้ของประชาชนที่ถ่างกว้างขึ้น

ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศมองเห็นความสำคัญของ MOOC ในฐานะเครื่องมือสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ตัวอย่างเช่น รัฐบาลเม็กซิโกได้ร่วมมือกับ edX สร้าง MexicoX เพื่อนำแหล่งความรู้ระดับโลกมาแปลเป็นภาษาสเปน ด้วยหวังให้นักเรียนและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงความรู้ได้โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านภาษา

วิชาไหนดี? วิชาไหนโดน?

จากการรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของกลุ่มผู้ลงเรียนใน HarvardX และ MITx ตั้งแต่ปี 2012-2016 ราว 2 ล้านคนทั่วโลก พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีอายุ 20-30 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยมากไม่ใช่นักเรียนอเมริกัน แต่เข้าถึงจากอินเดียและประเทศแถบแอฟริกาเป็นส่วนใหญ่ และข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มอาจารย์หรือผู้มีประสบการณ์ในการสอนมีสัดส่วนสูงมากกว่าร้อยละ 30 ของนักเรียนทั้งหมด

ส่วนสาขาวิชายอดนิยม 4 อันดับแรก ได้แก่

  1. ธุรกิจและการจัดการ  คอร์สยอดนิยม ได้แก่
  2. วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์  คอร์สยอดนิยม ได้แก่
  3. วิทยาศาสตร์ทั่วไป  คอร์สยอดนิยม ได้แก่
  4. สังคมศาสตร์  คอร์สยอดนิยม ได้แก่

หลากมิติเรื่อง MOOC

นักวิจัยด้านการศึกษาได้ตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับ MOOC ออกมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา พบว่า MOOC สามารถช่วยลดช่องว่างด้านทักษะใหม่ (skill gap) ของพนักงานอาวุโสให้มีความรู้เท่าทันพนักงานจบใหม่ได้[1]

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า MOOC สามารถลดช่องว่างทางการศึกษาระหว่างคนจนและคนรวยในระดับมหภาคได้ ตัวอย่างเช่นในประเทศจีน คนทั่วไปยังไม่สามารถเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีในการหาความรู้ได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่า MOOC ภาษาจีนจะเติบโตและแพร่หลายก็ตาม[2]

นักวิเคราะห์หลายคนมักคิดว่าการเรียนกับ MOOC ไม่น่าจะมีภาษีดีเทียบเท่าการเรียนในมหาวิทยาลัย เพราะคนส่วนใหญ่ที่ลงเรียนกับ MOOC มักเรียนไม่จบ ซึ่งก็เป็นความจริง จากข้อมูลพบว่าอัตราการเรียนจบและได้รับประกาศนียบัตรในแต่ละวิชาจะอยู่ที่ราวร้อยละ 6 เท่านั้น[3] ในขณะที่อัตราสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา โดยเฉลี่ยแต่ละรัฐ อยู่ที่ร้อยละ 40-60 [4]

ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นปัญหาหรือไม่? หากมองในเชิงธุรกิจอาจไม่นับเป็นปัญหา เพราะแม้ว่านักเรียนจะเรียนไม่จบแต่ธุรกิจก็ยังหาหนทางสร้างกำไรได้ เช่น นักเรียนต้องจ่ายเงินก่อนลงเรียนเพื่อได้รับประกาศนียบัตร หรือต้องจ่ายเงินก่อนที่อาจารย์จะตรวจการบ้าน

แต่หากมองในแง่คุณภาพของผู้เรียนหรือคุณภาพของการศึกษาโดยรวมอาจจะต้องมีการพิจารณาทบทวน กระนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเรียนให้จบตามหลักสูตรที่กำหนดไว้เสมอไป เพราะในโลกของ MOOC เป็นโลกแห่งทางเลือก ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกช็อปปิ้งความรู้ตามความต้องการของตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องทนเรียนตามแผนการสอน โดยเฉพาะเมื่อทดลองเรียนแล้วพบว่าไม่ตอบโจทย์ของตนเอง ปัญหาการเรียน MOOC ไม่จบจึงอาจเป็นเพราะตัวผู้สอนหรือผู้ออกแบบเนื้อหาทำได้ไม่ดึงดูดพอ

นอกจากนี้ แรงจูงใจของนักเรียน MOOC และแรงจูงใจของนักเรียนมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างกัน การเปรียบเทียบอัตราเรียนจบของทั้งสองระบบโดยตรงอาจไม่เหมาะสม สำหรับผู้เรียนในระบบ MOOC ที่มีวินัยและใฝ่รู้อาจเรียนจบได้โดยไม่มีปัญหา แต่สำหรับคนทั่วไปอาจจะต้องมีระบบกำกับดูแลจากอาจารย์ผู้สอนอย่างใกล้ชิด หรือมีแรงจูงใจจากบริษัทเพื่อให้เรียนจบเร็วขึ้นและนำความรู้ไปใช้ได้จริง

มหาวิทยาลัยต่างประเทศกับการปรับตัวรับ MOOC

คำถามที่น่าสนใจคือ MOOC สามารถทดแทนการเรียนในมหาวิทยาลัยได้หรือไม่

หากพิจารณากลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำที่เป็นผู้ผลิตเนื้อหาให้ MOOC แล้ว การเกิดขึ้นของ MOOC เป็นสิ่งดี เพราะสามารถดึงดูดคนหลายล้านคนทั่วโลกให้เข้าถึงเนื้อหาของตนได้ง่ายขึ้น MOOC ช่วยสร้างแบรนด์ของมหาวิทยาลัยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยจะช่วยทำเงินให้มหาวิทยาลัยในที่สุด หลายมหาวิทยาลัยชั้นนำจึงเข้าร่วมในธุรกิจ MOOC แม้ว่าเงินที่ได้รับจากการขายเนื้อหาให้ MOOC จะไม่มากเท่ากับการเปิดคอร์สรายได้ดีเช่นเอ็มบีเอก็ตาม แถมมหาวิทยาลัยบางแห่งเปิดให้ MOOC ใช้เนื้อหาของตนได้ฟรีเลยด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการผลิตเนื้อหาให้ MOOC หรือสร้าง MOOC เองก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีการฟ้องร้องมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเอ็มไอทีโดยกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งฟ้องร้องว่าในสื่อการเรียนรู้ของทั้งสองมหาวิทยาลัยไม่ได้มีซับไตเติลให้ผู้พิการทางการได้ยินสามารถอ่านได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

สำหรับมหาวิทยาลัยทั่วไปนั้นมีการปรับตัวค่อนข้างมากเพื่อรับมือ MOOC  ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยรัฐบาลระดับกลางหลายแห่งได้มีการลงทุนพัฒนาทักษะและวิธีการสอนเพื่อให้อาจารย์สอนหนังสือได้น่าดึงดูดใจมากขึ้น มีการสร้างศูนย์พัฒนาการสอนระหว่างมหาวิทยาลัยในเครือ หรือข้ามมหาวิทยาลัยในกรณีที่ทรัพยากรภายในมหาวิทยาลัยมีไม่เพียงพอ นอกจากนั้นยังมีการปรับหลักสูตรให้หลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เวลาสั้นลงตลอดหลักสูตร ใช้การเรียนออนไลน์มาทดแทนหรือเสริมการสอนในชั้นเรียนมากขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อดึงดูดให้นักเรียนยังคงเลือกเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย แทนที่จะไปเรียนออนไลน์กันหมด

หากมองมหาวิทยาลัยในแง่ของ “ธุรกิจคู่แข่ง” ที่จะต้องสร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า (นักเรียน) นับว่ามหาวิทยาลัยยังมีความสำคัญอยู่มากในรูปแบบที่ MOOC ยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้ เช่น การเป็นศูนย์รวมของบุคลากรและทรัพยากรเพื่อการวิจัยและพัฒนา การเป็นพื้นที่ทางกายภาพในการพบปะและแลกเปลี่ยนความรู้ของผู้มีความสนใจคล้ายกันหรือแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ และการเป็นสถาบันที่เผยแพร่ความรู้ใหม่ๆ แก่สังคม สำหรับปัจจัยสุดท้ายนี้น่าเป็นห่วงเพราะดูเหมือนว่า MOOC จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า กล่าวคือ มีต้นทุนต่ำกว่า เข้าถึงนักเรียนได้นับล้านคนในเวลาเดียวกัน และมีความยืดหยุ่น นักเรียนสามารถเลือกเรียนอะไรก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้

หากมองในระยะยาว นายจ้างจะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับความสำคัญของ MOOC โดยเฉพาะในสาขาวิชาที่ทำเงินให้พวกเขา แม้ขณะนี้ เรายังไม่เห็นนายจ้างรายไหนออกมาประกาศว่าจะรับคนจบจาก edX หรือ Coursera เป็นการเฉพาะ แต่อีกไม่นาน แนวโน้มนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ เพราะตอนนี้บริษัทชั้นนำหลายบริษัทก็ไม่ได้จำกัดคุณวุฒิทางการศึกษาอีกต่อไปแล้ว

ปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อการเติบโตของ MOOC คือการปรับเปลี่ยนของค่านิยมและรสนิยมของผู้เรียน MOOC เอง รวมถึงการปรับตัวของ MOOC เองด้วย  หาก MOOC สามารถดึงดูดให้นักเรียนอยู่กับเนื้อหาที่เรียนได้นานขึ้น และสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้ได้ดีเทียบเท่ากับการเรียนในมหาวิทยาลัย การเรียนในห้องเรียนแบบเดิมก็คงจะเป็นเพียงอดีต มหาวิทยาลัยแบบเดิมอาจถึงจุดจบในไม่ช้า หากไม่รีบปรับตัวเสียแต่เนิ่นๆ

มองดูการเปลี่ยนแปลงของแวดวงการศึกษาในระดับโลกแล้ว หันมามองประเทศไทย คงได้แต่ทำตาปริบๆ และปริ่มๆ (น้ำตา) มหาวิทยาลัยไทยอาจไม่จำเป็นต้องปรับตัว เพราะมันตายไปนานแล้วนั่นเอง!

 

อ่านเพิ่มเติม

[1] Robertson, Robert W., and Carlos Tasso E. Aquino. “Online Education to Improve Workforce Skills: The Experience in the United States.” i-Manager’s Journal of Educational Technology 13, no. 2 (2016): 1.

[2] Tang, Hengtao, and Alison Carr-Chellman. “Massive Open Online Courses and Educational Equality in China: A Qualitative Inquiry.” Journal of Educational Technology Development & Exchange 9, no. 1 (2016).

[3] Chuang, Isaac, and Andrew Dean Ho. “HarvardX and MITx: Four Years of Open Online Courses–Fall 2012-Summer 2016.” (2016). และจากการประมาณการโดยง่าย

[4] ข้อมูล College Completion จาก The Chronicle of Higher Education

 

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save