fbpx
จุดจบวงการติวเตอร์? : เมื่อ “อูเบอร์สอนภาษา” บุกตลาด

จุดจบวงการติวเตอร์? : เมื่อ “อูเบอร์สอนภาษา” บุกตลาด

[et_pb_section admin_label=”section”] [et_pb_row admin_label=”row”] [et_pb_column type=”4_4″] [et_pb_text admin_label=”Text”]

อิสริยะ สัตกุลพิบูลย์ เรื่อง

“เด็กๆ ควรมีพื้นที่ให้พวกเขาได้เห็นโลกกว้างและจินตนาการถึงอนาคตในแบบที่ตัวเองใฝ่ฝัน”

Cindi Mi, ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัท VIPKID [1]

 

ใครที่ต้องการให้บุตรหลานเรียนภาษาอังกฤษจากครูคุณภาพเจ้าของภาษา แต่ไม่มีกำลังทรัพย์มากพอจะส่งเข้าโรงเรียนนานาชาติหรือเรียนต่อต่างประเทศ  วันนี้คุณสามารถให้พวกเขาเรียนรู้และฝึกฝนภาษาอังกฤษกับครูต่างชาติมากประสบการณ์ได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว

จะเรียนที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็ได้ เพียงมีคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือสำหรับต่ออินเทอร์เน็ต

แถมเสียค่าใช้จ่ายเพียงน้อยนิดเท่านั้น ไม่ต้องเสียเงินให้ร้านกาแฟและไม่ต้องเสียเวลากับจราจรแสนติดขัด

“อูเบอร์สอนภาษา” คือคำตอบ!

 

เมื่อ “อูเบอร์สอนภาษา” เริ่มฮิตในหมู่เด็กจีน

ผู้เขียนเคยเขียนเล่าเรื่องการเรียนการสอนผ่านคอร์สออนไลน์ขนาดใหญ่ (Massive Open Online Courses หรือ MOOC) ใน จุดจบของมหาวิทยาลัย? MOOC กับความท้าทายใหม่ในโลกการศึกษา เมื่อหลายเดือนก่อน มาวันนี้ธุรกิจการเรียนการสอนออนไลน์ได้ก้าวไปอีกขั้น ด้วยธุรกิจการเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์แบบตัวต่อตัว ซึ่งอาจทำให้ติวเตอร์รับสอนพิเศษตามบ้านหรือสถาบันติวเตอร์ยักษ์ใหญ่ต้องรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ในอีกไม่ช้า

ครูชาวจีนหัวใส Cindi Mi ผู้มีประสบการณ์สอนภาษาอังกฤษให้นักเรียนจีนมานานเกือบ 20 ปีได้ริเริ่มแนวคิดธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยก่อตั้งเว็บไซต์ VIPKID (วีไอพีคิด) เพื่อให้ครูสอนภาษาอังกฤษจากสหรัฐอเมริกาสามารถสอนนักเรียนประถมชาวจีนผ่านอินเทอร์เน็ตได้ง่ายๆ โดยในหน้าแรกของเว็บไซต์เขียนอธิบายไว้ว่า “We provide 1-on-1 online full immersion language and content classes based on the US Common Core State Standards.”

ในระบบ VIPKID ครูแต่ละคนจะได้รับค่าจ้างราว 10-22 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง (ราว 350-770 บาทต่อชั่วโมง) จะได้ค่าแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคะแนนความนิยมที่นักเรียน “ตัดเกรด” ครูหลังหมดชั่วโมง

นอกจากนั้น ครูไม่จำเป็นต้องเตรียมสื่อการสอนเอง เพราะทางเว็บไซต์จะเตรียมสไลด์คล้ายงานสัมมนาออนไลน์ให้ เนื้อหาการสอนก็ถูกออกแบบมาให้มีรูปแบบสวยงามและน่าสนใจ ตรงตามความต้องการของนักเรียนแต่ละช่วงชั้น และตรงตามหลักสูตรการเรียนการสอนภาคบังคับระดับอนุบาลและประถมศึกษาของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

สิ่งที่ผู้สอนจะต้องเตรียมพร้อมนอกเหนือจากการสอนในแต่ละครั้งคือ การดึงดูดความสนใจและสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำหรือให้กำลังใจนักเรียน การสร้างความรู้สึกสนุกสนานในการเรียนภาษาอังกฤษ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ที่นักเรียนและผู้ปกครองพึงพอใจ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่การเรียนกับคลิปวิดีโอไม่สามารถส่งมอบให้ได้

 

Cindi Mi ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง VIPKID | ที่มา: เว็บไซต์ CKGSB

 

ทางฝั่งของนักเรียนและผู้ปกครองนั้น เพียงแค่เข้าไปสมัครสมาชิกในเว็บไซต์ VIPKID ก็สามารถเลือกครูที่ชอบและเวลาเรียนที่ต้องการได้ตามความพอใจ หากเป็นครูที่ได้ระดับคะแนนความนิยมสูงก็จะยิ่งมีราคาแพง  การเรียนแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 25 นาที ตามด้วยการให้คะแนนครูสอนดีโดยนักเรียน

ในปัจจุบัน เว็บไซต์ยังมีแค่ภาษาจีนกลาง และจำกัดเฉพาะผู้ที่ใช้หมายเลขโทรศัพท์ในประเทศจีนเท่านั้น

 

คลิปตัวอย่างการเรียนการสอนของ VIPKID

YouTube video

 

จากประสบการณ์ของนักเรียนหลายคนพบว่า การเรียนภาษาอังกฤษวันละ 25 นาที เพียงสามครั้งต่อสัปดาห์ ติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งปี สามารถช่วยทำให้เด็กที่ไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติเลยในวันแรกที่เรียน กลายเป็นเด็กที่มีความมั่นใจและพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วในที่สุด อีกทั้งยังสามารถใช้โครงสร้างประโยคที่ซับซ้อน จนผู้ใหญ่หลายคนต้องยกนิ้วให้

 

คลิปตัวอย่างพัฒนาการด้านภาษาของนักเรียน

https://www.youtube.com/watch?v=mri-pHFRDe0

 

แม้ว่าธุรกิจการสอนภาษาอังกฤษแบบตัวต่อตัวและการเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์จะมีมานานแล้ว เช่น Wall Street English หรือ Rosetta Stone แต่ธุรกิจ EduTech Startup (ธุรกิจเพื่อการศึกษาที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต) รูปแบบใหม่นี้สามารถลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้เรียนและผู้สอนได้มากมาย อีกทั้งยังมีระบบการให้ผลตอบแทนครูตามระดับคะแนนความนิยม ซึ่งช่วยการันตีคุณภาพการสอนของครูได้อีกด้วย

VIPKID ยังเป็นช่องทางสร้างรายได้เสริมให้กับครูอเมริกันที่เผชิญงานหนักแต่ผลตอบแทนต่ำ ครูสอนภาษาอังกฤษบางคนได้รับรายได้จาก VIPKID ไม่ต่ำกว่า 1-2 แสนบาทต่อเดือนเลยทีเดียว[2] ข้อดีอีกประการหนึ่งคือบรรดาคุณครูผู้พิการหรือเจ็บป่วยที่อาจไม่สะดวกสอนตามโรงเรียนปกติก็สามารถสอนผ่านเว็บไซต์นี้ได้ไม่ยาก

 

เมื่อ Startup ก็ต้องทำประกันคุณภาพครู

 

การประกันคุณภาพครูเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในธุรกิจนี้  Cindi Mi เคยกล่าวว่า

“สิ่งที่ทำให้ดิฉันกังวลมากที่สุดไม่ใช่จำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นหรือรายได้ที่เติบโตเหมือนธุรกิจ Startup ทั่วไป หากเป็นเรื่องคุณภาพการสอนและผลสัมฤทธิ์ต่างหาก เพราะเมื่อผู้ปกครองจ่ายเงินให้เราแล้ว เขาควรจะมั่นใจได้ว่าลูกหลานของเขาต้องเก่งภาษาอังกฤษ”[3]

นอกจากระบบการให้ผลตอบแทนครูตามคะแนนความนิยมแล้ว กระบวนการคัดเลือกครูก็มีความเข้มงวดมากเป็นพิเศษ ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็เข้ามาเป็นหนึ่งในทีมผู้สอนของ VIPKID ได้ง่ายๆ

ครู VIPKID แต่ละคนต้องผ่านกระบวนการสมัครและสัมภาษณ์งานเหมือนบริษัททั่วไป ผู้สมัครจะต้องพูดภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันได้ ต้องจบปริญญาตรีแล้วเป็นอย่างน้อย หากมีปริญญาที่เกี่ยวข้องกับการสอนและพัฒนาการของเด็กโดยตรงจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

นอกจากนั้น ครู VIPKID ต้องผ่านประสบการณ์สอนเด็กอายุ 5-12 ปีมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี ทั้งยังต้องส่งวิดีโอแนะนำตัวและตัวอย่างการสอนให้กับคณะกรรมการพิจารณา

จากนั้น ผู้สมัครต้องผ่านการคัดเลือกรอบแรกต้องเข้าสัมภาษณ์และสอนสดต่อหน้าคณะกรรมการคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้ายจึงจะได้รับเข้าทำงาน ซึ่งอัตราการเข้ารับทำงานในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 6-10 ของผู้สมัครทั้งหมด[4] นับว่าเป็นสนามที่มีการแข่งขันสูงและการันตีคุณภาพของผู้สอนได้อย่างดี

 

ครูผู้สอนแชร์ประสบการณ์สัมภาษณ์สุดโหดของ VIPKID

YouTube video

 

ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนชาวต่างชาติที่เป็นหนึ่งในทีมผู้สอนของ VIPKID  เขาเล่าว่าการทำงานให้ที่นี่เหมาะกับการใช้ชีวิตอิสระของเขา เพราะสามารถเดินทางท่องเที่ยวไป สอนไปได้โดยใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์

นอกจากนั้น VIPKID ยังได้สร้างกลุ่มชุมชนออนไลน์ระหว่างกลุ่มครูด้วยกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพครูและแบ่งปันประสบการณ์การสอนระหว่างกันผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้ระยะทางอันห่างไกลไม่ใช่อุปสรรคในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูด้วยกัน โดย VIPKID ได้จับมือกับบริษัท Coursera ผู้ให้บริการ MOOC รายใหญ่ ในการอบรมครูผู้สอนผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย[5]

 

เมื่อธุรกิจทำกำไร คู่แข่งก็เริ่มไหลมา

VIPKID ประสบความสำเร็จอย่างเกินความคาดหมาย ทั้งที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2013 นี้เอง

ในรอบปี 2016 บริษัทมีครูในสังกัดมากกว่าหนึ่งหมื่นคนทั่วโลก มีจำนวนนักเรียนที่เคยผ่าน VIPKID มาแล้วร่วมแสนคน[6] เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในสถาบันการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ว่าได้

บริษัทได้ประกาศระดมทุนเมื่อปี 2015 มูลค่าราว 125 ล้านดอลล่าร์สหรัฐและได้ผู้ถือหุ้นใหญ่ของจีน คือ Sinovation Ventures นำโดย Kaifu Lee อดีตประธานบริษัทกูเกิลประเทศจีน, Yunfeng Capital ของแจ๊ค หม่า มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของจีน, Northern Light, Sequoia Capital China รวมถึง โคบี้ ไบรอัน นักบาสเก็ตบอลชาวอเมริกัน ก็ยังเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทด้วย[7]

ในอนาคต VIPKID ยังวางแผนที่จะขยายการให้บริการครอบคลุมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิชาอื่นๆ เป็นภาษาอังกฤษตามหลักสูตรของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

เมื่อแนวโน้มธุรกิจของ VIPKID ในจีนกำลังมาแรงแบบฉุดไม่อยู่ ในปัจจุบันจึงมีธุรกิจ EduTech Startup หน้าใหม่เริ่มเข้ามาให้บริการสอนภาษาออนไลน์แบบตัวต่อตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล่านั้นยังมีขนาดเล็กกว่ามาก ทั้งในแง่จำนวนครูและนักเรียน

ตัวอย่างของบริษัทหน้าใหม่ เช่น ITALKI ที่ให้บริการสอนภาษาแบบตัวต่อตัว โดยไม่จำกัดเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น คนไทยก็สามารถสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติได้เช่นกัน กลุ่มเป้าหมายของ ITALKI ครอบคลุมบุคคลทั่วไปด้วย ไม่ได้จำกัดเฉพาะเด็กอายุ 5-12 ปีเหมือน VIPKID แต่เรื่องอัตราการให้บริการ ระบบการเรียนการสอน และการคัดเลือกครูมีความคล้ายคลึงกัน

อีกบริษัทที่น่าสนใจ คือ 51 Talk ของฟิลิปปินส์ ซึ่งให้บริการการเรียนการสอนภาษาอังกฤษออนไลน์แบบตัวต่อตัว หากผู้ใช้บริการต้องการเรียนกับครูอเมริกันก็จะต้องจ่ายค่าเรียนมากกว่าการเรียนกับครูฟิลิปปินส์

ธุรกิจ EduTech Startup เจ้าอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันได้แก่ NiceTalkSkimatalk และ Cambly  ทั้งหมดนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และอาจเป็นรูปแบบใหม่ของการเรียนภาษาอังกฤษหรือการเรียนพิเศษที่จะเข้ามาแทนที่การเรียนแบบเดิมๆ

 

การเติบโตของ EduTech Startup สะท้อนความหมดศรัทธาของการศึกษาในระบบ?

ข่าวคราวเกี่ยวกับความสามารถอันต่ำต้อยด้านภาษาอังกฤษของคนไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่นับวัน ปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษของคนไทยยิ่งรุนแรง เหลื่อมล้ำ และไร้อนาคต

จากการจัดอันดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยโดย สถาบัน Education First ในปี 2016 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 56 จาก 72 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในอันดับที่ 15 จาก 19 ประเทศในเอเชีย นำหน้าเพียงประเทศศรีลังกา มองโกเลีย กัมพูชา และลาว

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเพศหญิงกับชาย พบว่า ชายไทยมีความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและเอเชียอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่หญิงไทยนั้นมีคะแนนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยมากกว่า (สถิตินี้เป็นจริงในกลุ่มผู้สอบ TOEIC ด้วยเช่นกัน โปรดดู 2015 Report on Test Takers Worldwide: The TOEIC Listening and Reading Test หน้า 12) แม้แต่ในประเทศไทยเอง ระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษยังมีความเหลื่อมล้ำ ดังเห็นได้จากระดับคะแนนเฉลี่ย O-NET ภาษาอังกฤษที่ต่ำกว่าในกลุ่มคนและจังหวัดที่มีรายได้น้อยกว่า อีกทั้งมีระดับคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ราว 31% หรือระดับ “ดีกว่ากามั่ว” เท่านั้น[8]

ในบรรดากลุ่มคนไทยผู้เข้าทดสอบระดับความรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการทำงานหรือศึกษาต่อต่างประเทศอย่าง TOEIC (ไทยอยู่ลำดับที่ 39 จาก 45 ประเทศ)[9] TOEFL (ไทยอยู่ลำดับที่ 21 จาก 35 ประเทศในเอเชีย)[10] และ IELTS (ไทยอยู่ลำดับที่ 24 จาก 40 ประเทศทั่วโลกในกลุ่มผู้สอบเพื่อเรียนต่อต่างประเทศ)[11] ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะแซงหน้าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ได้ในอนาคตอันใกล้ แม้ว่าคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีรายได้และโอกาสทางสังคมที่ดีและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วก็ตาม

ท้ายที่สุด ผู้เขียนขอฝากคำพูดตอนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ของ Cindi Mi แห่ง VIPKID ที่ว่า

“ความสำเร็จของ VIPKID … แสดงให้เห็นถึงความคิดของพ่อแม่ชาวจีนรุ่นใหม่ที่เริ่มหมดศรัทธากับระบบการศึกษาจากภาครัฐที่เน้นการสอบแข่งขันเพื่อเอาคะแนน มาสนับสนุนการเสริมสร้างความปรารถนาที่จะเรียนรู้และสำรวจโลกกว้างของเด็ก”[12]

ขออนุญาตกระซิบเบาๆ หวังว่ารัฐบาลไทยและผู้ประกอบการเพื่อการศึกษาหน้าใหม่จะได้ยิน.

 
[/et_pb_text] [/et_pb_column] [/et_pb_row] [/et_pb_section]

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save