fbpx
The End of Sex?

The End of Sex?

อาร์ม  ตั้งนิรันดร เรื่อง

ในอนาคตราว 20-40 ปีข้างหน้า คู่ครองที่ต้องการมีลูกจะเดินทางไปคลินิกใกล้บ้าน ให้แพทย์ปาดเอาเซลล์ผิวหนังชิ้นเล็กๆ ของทั้งคู่ เพื่อนำไปแปลงเป็นเซลล์ไข่และอสุจิ จากนั้นจึงทำการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนจำนวนมากในหลอดแก้ว แล้วนำมาตรวจสอบทางพันธุกรรมเพื่อคัดเลือกตัวอ่อนที่มีลักษณะทางพันธุกรรมดีที่สุด ไม่มียีนโรคร้าย แถมยังสามารถเลือกเพศ รูปลักษณ์ บุคลิก และความถนัดของลูกได้อีกด้วย

เมื่อถึงวันนั้น คงถึงกาลอวสานของการมีเพศสัมพันธ์เพื่อสืบพันธุ์ แน่นอนครับว่า คนเราอาจจะยังมีเพศสัมพันธ์เพื่อความบันเทิงหรือเหตุผลอื่น แต่คนส่วนใหญ่ในอนาคตจะเลือกทำลูกที่คลินิก แทนที่จะใช้วิธีธรรมชาติ

นี่คือคำทำนายของ ศ.แฮงค์ กรีลีย์ ศาสตราจารย์กฎหมาย มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในหนังสือเล่มใหม่ “The End of Sex and the Future of Human Reproduction” ซึ่งเขาได้อธิบายเทคโนโลยีใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่เอื้อให้ภาพอนาคตนี้เป็นจริง และปัญหาทางจริยธรรมที่จะเกิดขึ้น

 

เลือก “ตัวอ่อน” ที่พ่อแม่พอใจ

ที่จริงแล้ว เทคโนโลยีในวันนี้ถึงขั้นที่สามารถตรวจสอบได้ว่าตัวอ่อนที่เกิดจากการทำปฏิสนธิในหลอดแก้วมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายบางชนิดมากน้อยเพียงใด แต่ปัจจุบันมีพ่อแม่น้อยรายมากๆ ที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เพราะการทำเด็กหลอดแก้วยังค่อนข้างลำบาก อีกทั้งการตรวจสอบพันธุกรรมของตัวอ่อนใช้เวลาค่อนข้างมากและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

แต่ในอนาคต การทำเด็กหลอดแก้ว และการตรวจสอบพันธุกรรมของตัวอ่อน (Preimplantation Genetic Diagnosis: PGD) จะทำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว จนกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับทุกคน ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี 2 ประการ คือ เทคโนโลยีใหม่ IVG กับเทคโนโลยี Genome Sequencing

เทคโนโลยีใหม่ที่ชื่อ IVG (in vitro gametogenesis) เป็นการแปลงเซลล์อวัยวะหนึ่งให้เป็นเซลล์อีกอวัยวะหนึ่ง  ในอนาคตอันใกล้ นักวิทยาศาสตร์จะสามารถแปลงเซลล์ผิวหนังเป็นเซลล์ไข่และเซลล์อสุจิได้ ดังนั้น การทำเด็กหลอดแก้วในอนาคตจึงง่ายมาก

จากเดิมที่ในปัจจุบัน การทำเด็กหลอดแก้วค่อนข้างทรมานฝ่ายหญิง เพราะแพทย์ต้องใช้เข็มดูดเพื่อเก็บไข่ผ่านทางช่องคลอด และต้องฉีดฮอร์โมนให้ฝ่ายหญิงอย่างต่อเนื่อง (ในปัจจุบัน เฉพาะพ่อแม่ที่มีลูกยากเท่านั้นที่จะเลือกทำเด็กหลอดแก้ว)

แต่ในอนาคต เพียงแค่แพทย์ปาดเซลล์ผิวหนังของพ่อแม่ไป ก็สามารถนำไปแปลงเป็นเซลล์ไข่และเซลล์อสุจิเพื่อทำเด็กหลอดแก้วได้แล้ว ทั้งยังสามารถทำการปฏิสนธิตัวอ่อนจำนวนมาก แล้วจึงค่อยทำการตรวจสอบพันธุกรรมเพื่อเลือกตัวอ่อนที่ดีที่สุดสำหรับใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก

ปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวได้ทดลองสำเร็จแล้วในหนู นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอ (5-25 ปี) น่าจะประสบความสำเร็จในมนุษย์เช่นกัน

ส่วนเทคโนโลยี Genome Sequencing ก็ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ในอนาคตอันใกล้ แพทย์น่าจะสามารถถอดรหัสยีนทั้งหมดของตัวอ่อนได้ภายในเวลาหนึ่งวัน ด้วยราคาไม่กี่ร้อยดอลล่าร์สหรัฐฯ

ในปัจจุบัน การเอาตัวอ่อนจากหลอดแก้วมาทำการตรวจสอบพันธุกรรม เพื่อดูว่ามียีนโรคร้ายบางโรคหรือไม่ ยังใช้เวลานานและมีราคาแพง ดังนั้น พ่อแม่จึงมักเลือกตรวจสอบเพียงแค่ 2-3 โรคที่สำคัญเท่านั้น โดยแพทย์มักแนะนำเฉพาะพ่อแม่ที่อาจมียีนแฝงโรคทางกรรมพันธุ์บางโรค เช่น โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย เป็นต้น

แต่ด้วยเทคโนโลยี Genome Sequencing ในอนาคต การตรวจสอบพันธุกรรมของตัวอ่อนจะทำได้ง่ายและราคาถูก นอกจากนั้น ยังจะได้ข้อมูลพันธุกรรมมากขึ้นด้วย

ตัวอย่างเช่น พ่อแม่จะทราบว่า ตัวอ่อนหมายเลข 1 มียีนที่มีลักษณะต่อไปนี้: เป็นเพศชาย ผมดำ มีความเป็นไปได้สูงที่จะหัวล้าน ไม่มีโรคร้ายแรงทางพันธุกรรม มีความเสี่ยงต่ำที่จะเป็นโรคจิตเภท มีความเสี่ยงสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีความเป็นไปได้ 55% ที่จะมี IQ ในระดับบน มีความเป็นไปได้ต่ำที่จะเก่งกีฬา

เนื่องจากเทคโนโลยีแปลงเซลล์ผิวหนังเป็นเซลล์ไข่และอสุจิ จะทำให้สามารถทำการปฏิสนธิตัวอ่อนได้จำนวนมาก และด้วยเทคโนโลยี Genome Sequencing ทำให้สามารถตรวจสอบพันธุกรรมของตัวอ่อนเหล่านี้และได้ข้อมูลมากมายในเวลารวดเร็ว ทำให้พ่อแม่มีโอกาสเลือกได้ว่าชอบลักษณะของตัวอ่อนหมายเลข 1 หรือชอบตัวอ่อนหมายเลขอื่นมากกว่า

ลักษณะทางพันธุกรรมของตัวอ่อนยังคงถูกจำกัดด้วยพันธุกรรมของพ่อแม่ (ไม่ใช่ว่าพ่อแม่สามารถใส่ลักษณะทางพันธุกรรมอะไรให้แก่ตัวอ่อนตามใจชอบได้) เพียงแต่ตัวอ่อนแต่ละตัวมีลักษณะทางพันธุกรรมแตกต่างกัน พ่อแม่สามารถเลือกได้ว่า ในบรรดาตัวอ่อนที่ทำการปฏิสนธิออกมาได้ จะเลือกเอาตัวอ่อนใดสำหรับใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก

 

ปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ

นอกจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแล้ว ยังมีปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่เอื้ออำนวยให้ภาพอนาคตนี้เกิดขึ้นจริง ดังนี้

หนึ่ง จะมี “ดีมานด์” สูงในตลาด การทำลูกได้อย่างง่ายๆ เพียงแค่ปาดเซลล์ผิวหนัง และการตรวจสอบเลือกตัวอ่อนที่มีลักษณะทางพันธุกรรมที่ต้องการ มีข้อดีที่โดดเด่นคือ สามารถป้องกันโรคร้ายทางพันธุกรรมให้แก่ลูกที่จะเกิดมาได้

พ่อแม่บางคนอาจให้ความสนใจลักษณะทางพันธุกรรมอื่นๆ ด้วย เช่น ความเป็นไปได้ที่ลูกจะเรียนเก่งหรือการมีบุคลิกต่างๆ แต่เหตุผลหลักที่พ่อแม่สนใจน่าจะเป็นการป้องกันโรคร้าย ถ้าการทำลูกด้วยวิธีนี้สามารถรับประกันได้ 100% ว่าลูกจะไม่เป็นโรคร้ายบางโรคแน่ๆ ย่อมจะมีคนจำนวนมากที่เลือกทำลูกด้วยวิธีใหม่ แทนที่จะใช้วิธีธรรมชาติ ซึ่งแม้อาจสนุกกว่า แต่ต้องเสี่ยงโชคเอาเองว่าจะได้ลูกที่มีลักษณะทางพันธุกรรมอย่างไร

สอง เทคโนโลยีใหม่น่าจะได้รับเสียงสนับสนุนมาก เพราะพ่อแม่ที่อยากมีลูก แต่มีไข่หรืออสุจิไม่สมบูรณ์ หรือผู้หญิงที่อายุมาก หรือแม้แต่คู่สมรสเพศเดียวกัน ต่อไปนี้ก็จะมีลูกได้ง่ายๆ

ตามกฎหมายสหรัฐฯ เมื่อองค์การอาหารและยา (FDA) อนุมัติให้ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์สำหรับเหตุอย่างหนึ่ง แพทย์สามารถนำไปใช้สำหรับเหตุอย่างอื่นได้ นั่นคือ คนที่แม้จะไม่มีปัญหาเรื่องความสามารถในการมีลูก ก็สามารถเลือกทำลูกแบบนี้ได้

สาม เทคโนโลยีนี้มีโอกาสทำกำไรได้มาก น่าจะมีแรงจูงใจที่จะขยายตลาดให้ใหญ่ ราคาน่าจะถูกลงเรื่อยๆ (เหมือนราคาคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน) ท้ายที่สุด คลินิกทั่วประเทศก็จะมีบริการดังกล่าว

สี่ ในสหรัฐฯ ไม่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อคัดค้านเด็กหลอดแก้ว แม้ในหลายประเทศอาจจะมีเสียงคัดค้านด้วยเหตุผลทางศาสนา แต่ในสหรัฐฯ มักเชื่อในเรื่องสิทธิของพ่อแม่ และมีกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลการทำเด็กหลอดแก้วค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับบางประเทศในยุโรป

ห้า ในอนาคต การทำลูกอาจฟรีเสียด้วยซ้ำสำหรับผู้ทำประกันสุขภาพ เพราะบริษัทประกันภัยอาจต้องการให้คนทำลูกด้วยวิธีนี้มากกว่า เนื่องจากสามารถป้องกันโรคร้ายทางพันธุกรรมบางโรคได้อย่างแน่นอน ซึ่งทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายการรักษาโรคร้ายในอนาคต

 

น่าคิด และน่ากลัว?

ได้อ่านและเห็นภาพอนาคตกันแล้ว รู้สึกน่าตื่นเต้น หรือน่าเป็นห่วงครับ?

ศ.แฮงค์ กรีลีย์ เจ้าของหนังสือ ได้สรุปประเด็นชวนคิด (และชวนกลัว) ไว้ดังนี้

ความปลอดภัย ต้องมีการออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลเพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัย และต้องป้องกันไม่ให้มีการใช้เทคโนโลยีก่อนที่จะมั่นใจว่าปลอดภัย 100%

ความเท่าเทียม แม้มีความเป็นไปได้ที่ราคาจะต่ำหรืออาจถึงขั้นฟรี แต่ถ้าในช่วงแรกราคายังสูง และมีแต่คนรวยที่ทำลูกด้วยวิธีนี้ได้ จะทำให้ความแตกต่างระหว่างคนรวยและจนยิ่งถ่างขึ้นไหม เช่น ลูกคนรวยสุขภาพดีกว่าคนจน

ศ.แฮงค์ กรีลีย์ ยังเล่าว่า เขาเคยบรรยายเรื่องเทคโนโลยีใหม่นี้ในห้องเรียน มีนักศึกษาพิการด้วยโรคทางพันธุกรรมยกมือถามเขาว่า “อาจารย์กำลังบอกว่าผมไม่ควรจะเกิดขึ้นมาอย่างนั้นหรือ?” ถ้าพ่อแม่เขาเลือกตัวอ่อนที่ไม่มีโรคร้าย แต่นั่นก็จะไม่ใช่ตัวเขา เขาเองมองว่าความพิการคือส่วนหนึ่งของความเป็นตัวตนของเขา

ในอนาคต เด็กที่ป่วยด้วยโรคร้ายทางพันธุกรรมจะรู้สึกอย่างไรที่พ่อแม่เขาไม่ได้เลือกที่จะทำลูก (ซึ่งจะสามารถป้องกันโรคร้ายได้ตั้งแต่ต้น)? จะเกิดอะไรขึ้นกับการวิจัยโรคร้ายทางพันธุกรรม ถ้าจำนวนคนที่เป็นโรคเหล่านี้ลดน้อยลง และสามารถป้องกันได้แต่แรก? จะยังมีคนเลือกเป็นหมอเฉพาะทางสำหรับโรคเหล่านี้อีกหรือไม่?

ความสมัครใจ จะมีประเทศเผด็จการบางประเทศที่บังคับให้ทุกคนทำลูกด้วยวิธีใหม่หรือไม่? (ด้วยเหตุผลว่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายสาธารณสุขในระยะยาวของรัฐ เพราะป้องกันโรคร้ายทางพันธุกรรมได้ตั้งแต่ต้น) หรือบริษัทประกันจะบังคับให้คนที่มีประกันทำลูกด้วยวิธีนี้หรือไม่? หรือแม้แต่ถ้าถูกแม่ยายบังคับให้ทำล่ะ?    

ความสัมพันธ์ในครอบครัว ลักษณะของครอบครัวจะเปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงที่อายุ 80 และอยากมีลูกก็ยังสามารถมีลูกได้ เด็กอายุ 8 ขวบก็สามารถมีลูกได้

คู่รักร่วมเพศก็สามารถมีลูกของตัวเองได้ เพราะนักวิทยาศาสตร์สามารถแปลงเซลล์ผิวหนังของคนๆ หนึ่งเป็นได้ทั้งเซลล์ไข่และเซลล์อสุจิ

คนที่หลงตัวเองเหลือเกิน (มีคนอย่างนี้อยู่ในโลกจริงๆ นะครับ) อาจต้องการมีลูกที่มาจากยีนตัวเองทั้งหมด โดยปาดเซลล์ผิวหนังของตนไปแปลงเป็นทั้งเซลล์ไข่และเซลล์อสุจิ และมีลูกจากยีนตัวเองคนเดียว

พี่น้องก็มีลูกร่วมกันได้ โดยสามารถป้องกันโรคร้ายทางพันธุกรรมที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย

ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวจะเป็นอย่างไร ถ้าพ่อแม่เลือกตัวอ่อนที่มียีนที่มีความเป็นไปได้สูงที่เด็กจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่เด็กโตมาอยากเป็นศิลปิน (พันธุกรรมไม่ได้กำหนดทุกอย่างนะครับ อาจบอกความเป็นไปได้ แต่สภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโตมาก็มีผลไม่น้อย) ส่วนตัวเด็กเองจะรู้สึกอย่างไร ถ้าพ่อแม่เลือกตั้งแต่ต้นที่สุดเพื่อให้เขาออกมาเป็นบางอย่าง

ทั้งหมดนี้ เราแต่ละคนต้องลองคิดครับว่า รู้สึกอย่างไรกับวิธีทำลูกแบบใหม่ที่กำลังจะเป็นจริงใน 20-40 ปี และสังคมควรมองเรื่องนี้อย่างไร?

บางคนอาจคิดว่า ตัวฉันคิดอย่างไร สังคมก็ควรคิดอย่างฉัน ซึ่งไม่จำเป็นครับ แต่อย่างน้อย น่าจะดีที่จะได้เริ่มคิด เริ่มแลกเปลี่ยน เริ่มถกเถียงกันในเรื่องเหล่านี้บ้าง เพราะอนาคตอาจมาเร็วนัก

หรือใครจะฝันไกลคิดวางแผนครอบครัวให้ลูกหลานล่วงหน้า ก็ไม่ว่ากันครับ

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save