เราไม่ได้ฟังเพลงเพื่อผ่อนคลายเท่านั้น แต่เรายังฟังเพลงเพื่อสื่อสารอีกด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ การฟังเพลงของมนุษย์เป็นการสื่อสารชนิดหนึ่ง ทั้งสื่อสารกับตัวเอง และสื่อสารกับผู้อื่น
เพลงที่เราฟังสามารถบอกได้ว่า เราเป็นคนอย่างไร ตัวอย่างเช่น หากเราฟังเพลงรักอยู่ คนอื่นก็อาจเข้าใจว่าเรากำลังอินเลิฟกับใครบางคน หรือโดนหักอกกับคนที่เราวาดหวัง
ด้วยเหตุนี้แหละ เพลงจึงกลายเป็นเครื่องมือที่มนุษย์เอาไว้ใช้สื่อสารสำหรับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต ราวกับว่าความเป็นไปของเพลงนั้นจะขึ้นอยู่กับความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์
อย่างไรก็ดี ในทางกลับกัน เพลงก็มีผลกับมนุษย์ด้วยเช่นกันนะครับ
พลังของเพลงมีอิทธิพลโดยตรงต่ออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ในหลากหลายด้าน
ตัวอย่างเช่น หากคุณฟังเพลงรัก คุณก็อาจมีอารมณ์อินเลิฟได้ง่ายขึ้น และหากคุณกำลังฟังเพลงเศร้า มันก็อาจชวนคุณให้เศร้าตามไปด้วย
หลายครั้งทีเดียว การฟังเพลงของพวกเราก็นำไปสู่พฤติกรรมที่น่าตกใจ อย่างเช่นการฆ่าตัวตาย
มีการค้นพบกันมานานแล้วว่า เพลงมีความสัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนแนวโน้มการฆ่าตัวตายของพวกเรา
แต่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดแจ้งว่า เพลงแบบไหนกันแน่ที่เป็นต้นตอที่เพิ่มแนวโน้มการฆ่าตัวตายของพวกเรา
หลายคนอาจจะนึกว่า เพลงที่มิอิทธิพลจนทำให้เราฆ่าตัวตายได้มากที่สุดคือ เพลงแนวร็อค หรือเพลงแนวเมทัล เนื่องมาจากเสียงดนตรีที่มีความแสบหูบาดใจ และเนื้อเพลงแนวอกหักซ้ำซ้อนที่ชวนทำให้เห็นภาพว่ามีใครกำลังเอามีดมาปักที่กลางอกเรา
ผิดครับ! เพราะจริงๆ แล้ว เพลงที่ชวนให้เราไปฆ่าตัวตายได้มากที่สุดคือ ‘เพลงแนวคันทรี’ ต่างหากเล่า
หลายคนอาจจะไม่เชื่อ เพราะมองว่าเพลงแนวคันทรีที่มีทางดนตรีแสนสนุกเพราะพริ้ง ประกอบกับเนื้อหาที่มีความหลากหลายชวนให้ความหวัง ดังนั้น การฟังเพลงแนวนี้จะไปทำให้คนฟังชวนคิดสั้นได้อย่างไร – เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด
ในบทความวิจัย The Effect of Country Music on Suicide (1992) Steven Stack และ Jim Gundlach ผู้วิจัยก็ได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ พวกเขาบอกว่า การฟังดนตรีแนวคันทรีโดยเฉพาะในเขตเมือง (Metropolitan) สัมพันธ์กับอัตราการฆ่าตัวตาย พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งมีจำนวนคนที่ฟังเพลงแนวคันทรีมากขึ้น ตัวเลขการฆ่าตัวตายก็มากขึ้นนั่นเองแหละครับ
แล้วเหตุใดมันถึงเป็นแบบนั้นได้ การฟังเพลงแนวคันทรีไปทำให้คนฆ่าตัวตายได้อย่างไร
นักวิจัยทั้งสองได้วิจัยโดยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเวลาออกอากาศเพลงคันทรีผ่านวิทยุใน 49 เมืองทั่วสหรัฐอเมริกา กับอัตราการฆ่าตัวตาย ผลปรากฎว่า ยิ่งระยะเวลาออกอากาศเปิดเพลงคันทรีมากขึ้นเท่าไหร่ อัตราการฆ่าตัวตายก็จะมีมากขึ้น โดยกลุ่มประชากรส่วนมากที่ฆ่าตัวตายคือ ‘คนขาว’
ทั้งนี้ พวกเขาได้ให้เหตุผลว่าที่พอคนขาวฟังเพลงคันทรีมากก็จะฆ่าตัวตายมากตามไปนั้น เหตุผลหลักก็คือ เนื้อเพลงครับ ไม่ได้เกี่ยวกับดนตรีเลย
เพลงคันทรีมักมีเนื้อหาที่เน้นย้ำถึงปัญหาสังคม เช่น ความจน ความแตกแยกของสังคม ความแปลกแยกของคนในสังคมทุนนิยม หรือการหย่าร้าง โดยตัวละครหลักที่เพลงคันทรีมักหยิบยกขึ้นมาเป็นผู้เดินเรื่องคือ ‘คนขับรถบรรทุกทางไกล’ เพราะอาชีพดังกล่าวเป็นตัวแทนได้อย่างดีของการถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคมทุนนิยม ประกอบกับเมื่อพอใช้ตัวแทนเป็นคนขับรถบรรทุกก็มักเข้าถึงคนได้ง่าย
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเพลงบรรเลงไป ผู้ร้องก็มักพรรณนาถึงเนื้อความที่เกี่ยวข้องกับความไม่ลงลอยในการดำรงชีวิตในแง่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเซ็กซ์ การแต่งงาน หรือปัญหาทางเศรษฐกิจ ยิ่งฟังก็ยิ่งเห็นว่าชีวิตนี้ไร้ทางออกสิ้นดี สุดท้ายก็ไปจบที่ ‘เหล้า’
การวิเคราะห์พบว่า เนื้อเพลงแนวคันทรีส่วนมาก จะมีฉากตัวละครนั่งอยู่ในบาร์ และกินเหล้ากรุ้มกริ่มแบบมึนๆ อยู่คนเดียว กลายเป็นการชี้นำให้เห็นว่า ตัวละครที่อยู่ในเพลงแนวคันทรีมักจะจัดการปัญหาชีวิตของตนด้วยการกินเหล้า โดยในหลายๆ เพลงก็มีท่อนบรรยายถึงขั้นที่ว่าตัวละครกินเหล้า และร้องไห้ฟูมฟาย จนดิ่งไปกับความรู้สึกนึกคิดของตัวเองจนกู่ไม่กลับ
ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยทั้งสองจึงได้สรุปว่า เพราะเนื้อหาของเพลงที่ทำให้เห็นแต่ปัญหาร้อยแปด และชวนกินเหล้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี่แหละ จึงทำให้คนขาวกินเหล้ามากขึ้น ดาวน์กันง่าย และมัวอุดอู้อยู่กับปัญหาอันแสนตีบตันของตัวเอง สุดท้ายจึงลงเอยด้วยการคิดสั้น
การฟังเพลงคันทรีจึงเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายด้วยประการฉะนี้นี่เอง
อย่างไรก็ดี ผลการศึกษานี้ก็เป็นเฉพาะกับในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และมีมานานกว่า 20 ปีแล้ว
ไม่น่าเชื่อเลยว่า การฟังเพลงจะผลกับความนึกคิดของมนุษย์ได้มากถึงขนาดนี้
เอกสารอ้างอิง
บทความวิจัย The Effect of Country Music on Suicide (1992) โดย Steven Stack และ Jim Gundlach จาก Oxford Journals