fbpx
อีก 11 ปี โลกจะลุกเป็นไฟ

อีก 11 ปี โลกจะลุกเป็นไฟ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

Carl Sagan นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกคนหนึ่ง เคยกล่าวเปรียบเทียบให้เห็นว่า ชั้นบรรยากาศของโลกเบาบางเพียงใด

“หากคุณเอาน้ำยาขัดเงามาทารอบลูกโลกจำลองในชั้นเรียน ความหนาของชั้นน้ำยาขัดเงาก็เปรียบได้กับชั้นบรรยากาศ เมื่อเทียบกับขนาดของโลกจริง”

 

ในปี ค.ศ.1890 Svante Arrhenius นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน ได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศกับอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลก และพบว่าหากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของโลกลดลงครึ่งหนึ่ง จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกลดลงถึง 5 องศาเซลเซียส

ในช่วงเวลานั้น อุตสาหกรรมจำนวนมากเริ่มปล่อยก๊าซต่างๆ สู่อากาศมากขึ้น Svante ทำนายว่าในอนาคตโลกจะร้อนขึ้น จากการเผาไหม้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของโลก โดยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ภาวะเรือนกระจก

ภาวะเรือนกระจก ก็คล้ายกับการที่เราสร้างเรือนกระจกกลางแจ้ง แสงแดดสามารถผ่านเข้ามาในเรือนกระจก แต่ความร้อนที่เกิดขึ้น ไม่สามารถระบายออกข้างนอกได้ ทำให้อุณหภูมิภายในเรือนกระจกสูงขึ้นเรื่อยๆ

ในอดีต ภาวะเรือนกระจกเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพียงแต่ว่าธรรมชาติได้ปรับตัวไปตามสภาพ ให้โลกอยู่ในภาวะสมดุลมาโดยตลอด

โดยปรกติชั้นบรรยากาศของโลกประกอบด้วยก๊าซชนิดต่างๆ และไอน้ำ เมื่อรังสีคลื่นสั้นจากดวงอาทิตย์ผ่านชั้นบรรยากาศเข้ามายังพื้นผิวโลก มันจะถูกดูดกลืนไว้ด้วยผืนน้ำ พื้นดิน พืชและสัตว์ หลังจากนั้นจะคายออกมาเป็นพลังงานในรูปของรังสีคลื่นยาวอินฟาเรดซึ่งเป็นคลื่นความร้อน กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และบางส่วนก็ถูกกักเก็บไว้โดยก๊าซในชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลก

ดังนั้นที่ผ่านมา โลกของเราจึงสามารถรักษาอุณหภูมิได้อย่างเหมาะสม ไม่ร้อนจัดเหมือนดาวศุกร์ หนาวจัดเหมือนดาวอังคาร

แต่ปัจจุบัน ชั้นบรรยากาศของโลกอันแสนบอบบางนี้ไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป

ทุกวันนี้ ชั้นบรรยากาศของโลกถูกปกคลุมด้วยก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป ก๊าซเรือนกระจกประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก รวมถึงก๊าซมีเทน ก๊าซโอโซน ฯลฯ อันมีคุณสมบัติที่ดีในการดูดกลืนและเก็บกักรังสีอินฟาเรด ดังนั้นรังสีอินฟาเรดที่ควรสะท้อนออกนอกโลก ก็จะถูกเก็บกักสะสมไว้ในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้พื้นผิวโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สาเหตุหลักของก๊าซเรือนกระจก คือธาตุคาร์บอนที่เคยสะสมในรูปของน้ำมันและถ่านหิน ถูกปลดปล่อยออกมาเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการที่มนุษย์ขุดเอาสิ่งเหล่านั้นจากชั้นใต้ดินมาใช้เป็นพลังงาน

ตามปกติ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศจะค่อยๆ ถูกธรรมชาติดูดซับ อาทิ ต้นไม้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสะสมเป็นเนื้อไม้ หรือละลายกับน้ำ และสะสมอยู่ในรูปของภูเขาหินปูนและปะการัง

แต่ตอนนี้มนุษย์ขุดคาร์บอนจากน้ำมันขึ้นมาเผาวันละ 80 ล้านบาร์เรล และยังเผาป่า ทำลายต้นไม้หลายร้อยล้านต้นที่เป็นตัวดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำคัญ เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม  ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศจึงมีมากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะจัดการได้ มันจึงสะสมในชั้นบรรยากาศมากขึ้นจนกลายเป็นภาวะเรือนกระจก

เมื่อประมาณ 100 ปีก่อน ในช่วงที่มนุษย์เริ่มขุดน้ำมันขึ้นมาใช้ ชั้นบรรยากาศของโลกมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 280 โมเลกุลในทุกๆ 1 ล้านโมเลกุลของมวลอากาศ หรือ 280 ppm (parts per million)

ช่วงสิบกว่าปีก่อนที่ผู้คนทั่วโลกเริ่มตื่นตัวในปัญหาภาวะเรือนกระจก ชั้นบรรยากาศมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 380 ppm มีการประชุมนานาชาติบ่อยครั้ง เพื่อจะหามาตรการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่มักจะถูกคัดค้านโดยประเทศมหาอำนาจ ที่มีส่วนได้เสียในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นักวิทยาศาสตร์หวั่นเกรงว่า หากปริมาณก๊าซชนิดนี้เกิน 400 ppm หายนะของโลกมาเยือนแล้ว

แต่ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ ตรวจพบระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มสูงสุดในประวัติศาสตร์นับแต่เริ่มมีการบันทึก

โดยพบว่าก๊าซเรือนกระจกนี้สูงมากกว่า 415 ppm นับเป็นสัญญาณเตือนในขณะที่มนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซชนิดนี้อย่างไม่ลดละ

หอสังเกตการณ์มัวนาโลอา (Mauna Loa Observatory) ในรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งติดตามก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมาตั้งแต่ปลายปีทศวรรษ 1950 ได้ออกมาประกาศว่า ระดับล่าสุดที่ตรวจวัดคือ 415.26 ppm เพิ่มสูงเป็นประวัติการณ์ ในรอบ 3 ล้านปี

เมื่อประมาณกว่า 3 ล้านปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาที่ระดับน้ำทะเลโลกสูงเฉลี่ยกว่าปัจจุบันหลายเมตร และบางส่วนของทวีปแอนตาร์กติกาในช่วงเวลานั้นปกคลุมไปด้วยป่า

นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า ที่ผ่านมาปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่หากยังไม่มีมาตรการแก้ไขอย่างจริงจัง อีกไม่ถึง 100 ปี ปริมาณความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ อาจจะสูงขึ้นถึง 1,000 ppm

จากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) บ่งชี้ว่า หากทั่วโลกยังคงปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับเดียวกับปัจจุบัน จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยพุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 อุณหภูมิเฉลี่ยโลกอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 3.2 องศาเซลเซียส

เรามีเวลาเพียง 11 ปี ที่จะยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งเกิน 1.5 องศา

ถามว่า ถ้าโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอีก 1.5 องศา จะเกิดอะไรขึ้น

ทุกวันนี้ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเกิดขึ้นตลอดเวลา ความเสี่ยงเรื่องหายนะจากธรรมชาติ เช่น ภาวะแล้งจากไฟป่า น้ำท่วมใหญ่ น้ำแข็งละลาย การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ปะการังฟอกขาว รวมทั้งการขาดแคลนอาหารสำหรับผู้คนนับล้านๆ คนทั่วโลก ซึ่งหากอุณหภูมิสูงขึ้น 1.5 องศา หายนะต่างๆ จะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมชายฝั่ง

ปัญหาการขาดแคลนน้ำจากภาวะแล้งจัดในเมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ หรือคลื่นความร้อนจัดในทวีปยุโรป และฝนตกหนักจากพายุเฮอริเคนในสหรัฐอเมริกา อาจเป็นแค่หนังตัวอย่าง

มีการคาดกันว่า ปะการังของโลก 70-90 เปอร์เซ็นต์อาจตายหมด นั่นหมายถึงการสูญพันธุ์ของปลาทะเล อาหารหลักของคนทั้งโลก

ในปี พ.ศ.2558 ผู้นำ 197 ประเทศได้มาร่วมประชุมปัญหา Climate Change ที่กรุงปารีส ตกลงที่จะร่วมมือกันควบคุมอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม ยกเว้นรัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศถอนตัวจากข้อตกลง โดยอ้างว่าไม่เป็นธรรมสำหรับสหรัฐฯ

แต่เอาเข้าจริง นักวิทยาศาสตร์พบว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกทั้งสิ้นคือ 37.1 ล้านตัน ยังเพิ่มสูงขึ้น 2.7 เปอร์เซ็นต์

ปัญหาใหญ่มาจากการปล่อยก๊าซจากพลังงานถ่านหิน ในประเทศจีนและอินเดีย ที่กำลังพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด การผลิตไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก 3 อันดับแรกคือ จีน 27 เปอร์เซ็นต์  สหรัฐอเมริกา 15 เปอร์เซ็นต์ และอินเดีย 6 เปอร์เซ็นต์

แค่สามประเทศก็ปล่อยก๊าซขึ้นไปเกือบครึ่งหนึ่งแล้ว

 

นักวิทยาศาสตร์เตือนเราแล้วว่า อีกเพียง 11 ปี โลกจะลุกเป็นไฟ จากปัญหาโลกร้อน

ความร่วมมืออย่างจริงจังจากทั่วโลก เป็นหนทางเดียวที่จะหยุดยั้งมหันตภัยครั้งนี้ได้

เรามีเวลาแค่นั้นจริงๆ

หลายประเทศเริ่มตื่นตัวอย่างจริงจัง รัฐสภาอังกฤษ ไอร์แลนด์ ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

The Guardian สื่อทรงอิทธิพลของอังกฤษ ได้เปลี่ยนคำว่า Climate Change เป็น Climate Crisis เพื่อสะท้อนหายนะของโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น

แต่ในสังคมไทย ดูเหมือนจะมีแต่ความเงียบ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save