fbpx

นางฟ้าตกสวรรค์ The Dropout

The Dropout เป็นมินิซีรีส์ที่โดดเด่นอีกเรื่องในปี 2022 ได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวก รวมทั้งเข้าชิงรางวัลหลายเวทีประกวด โดยเฉพาะ 2 สาขาสำคัญ คือมินิซีรีส์ยอดเยี่ยม และนักแสดงนำหญิง

สาขาแรกนั้นขับเคี่ยวกับ The White Lotus แบบผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ (The White Lotus คว้ารางวัล Emmy ไปครอง ขณะที่ The Dropout ชนะรางวัลลูกโลกทองคำ) ส่วนสาขานักแสดงนำหญิง อแมนดา ไซเฟรด เป็นผู้ชนะทั้ง 2 เวที

The Dropout สร้างสรรค์โดยเอลิซาเบธ เมรีเวเทอร์ ดัดแปลงจากพอดแคสต์ชื่อเดียวกันของ ABC News เล่าถึงเส้นทางชีวิตพลิกเหวี่ยงไปมาอย่างเหลือเชื่อของเอลิซาเบธ โฮล์มส์ จากเด็กสาววัยรุ่นที่โตมาในครอบครัวฐานะปานกลาง พุ่งทะยานขึ้นเป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัทที่ได้รับการประเมินว่ามีมูลค่าสูงเกือบหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์ แล้วพลิกตลบอีกครั้งกลายเป็นผู้สร้างตำนานลวงโลกครั้งมโหฬาร เป็นคดีฉ้อโกงที่อื้อฉาวเกรียวกราวมากสุดในรอบทศวรรษ 2010

รายละเอียดนั้นมีอยู่ว่า เอลิซาเบธ โฮล์มส์ ลาออกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ขณะเรียนอยู่ปี 2 ภาควิชาวิศวกรรมเคมี เพื่อก่อตั้งบริษัทเธรานอส ด้วยวัยเพียง 19 ปี เธอเกิดไอเดียผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นเครื่องตรวจเลือดซึ่งมีขนาดกะทัดรัด (ประมาณเครื่องปิ้งขนมปัง) และมีคุณสมบัติมหัศจรรย์ สามารถเจาะเลือดเพียงไม่กี่หยดจากปลายนิ้ว แล้วใช้อุปกรณ์ดังกล่าวส่งต่อข้อมูลไปประเมินผลผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง

นอกจากจะสะดวก รวดเร็ว ต่างจากกรรมวิธีเดิมๆ ซึ่งเจาะจากเส้นเลือดบริเวณแขนปริมาณมาก ใช้เวลานานในการตรวจสอบผ่านแล็บกว่าจะได้ผลลัพธ์และคำวินิจฉัย สิ่งประดิษฐ์ของเธรานอสยังมีคุณสมบัติพิเศษตรงที่สามารถตรวจหาอาการของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ มากมายจากเลือดเพียงแค่หยดเดียว

อุปกรณ์นั้นมีชื่อเรียกเล่นๆ ขณะกำลังพัฒนาว่าเอดิสัน หากทำได้สำเร็จจริงตามเป้า จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทางการแพทย์ชนิดพลิกโลก การตรวจเลือดจะกลายเป็นเรื่องสะดวกง่ายดายที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ด้วยตนเอง เสมือนมีห้องแล็บย่อส่วนไว้ในบ้าน และความฉลาดล้ำของอุปกรณ์ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้คนตรวจเลือดได้ถี่ขึ้น จนล่วงรู้ถึงความผิดปกติในร่างกาย รู้อาการป่วยได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การบำบัดรักษาแบบทันท่วงที

เช่นเดียวกับธุรกิจแบบสตาร์ตอัปส่วนใหญ่ มันเริ่มต้นด้วยการขายฝันอันสวยหรู เพื่อระดมเงินทุน (จากนักธุรกิจที่มองเห็นช่องทางทำกำไร จนยินยอมเสี่ยงวางเดิมพันลงทุนด้วย เพราะกลัวตกขบวนโกยเงินมหาศาล หากโครงการเหล่านี้สำเร็จเป็นจริง) จากนั้นก็ใช้เงินดังกล่าวมาทำให้สิ่งประดิษฐ์ในฝันกลายเป็นจริง ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า fake it till you make it

ขั้นตอนตามครรลองดังกล่าวเป็นเรื่องปกติของบรรดาบริษัทเกิดใหม่มากมายในซิลิคอน แวลลีย์ รวมทั้งเธรานอสของเอลิซาเบธ โฮล์มส์

อย่างไรก็ตาม มีกฎ กติกา มารยาท หรือจรรยาบรรณบางอย่างในการทำธุรกิจด้วยวิธีข้างต้นอยู่ด้วยเช่นกัน เป็นเส้นบางๆ ที่ไม่ควรเดินข้าม และเอลิซาเบธ โฮล์มส์ก็ก้าวข้ามไป ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่ล่วงละเมิด ‘ล้ำเส้น’ นับครั้งไม่ถ้วน มิหนำซ้ำในแต่ละครั้งก็ยกระดับหนักข้อมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นความผิดร้ายแรงสาหัสสากรรจ์

กล่องตรวจเลือดเอดิสันมีปัญหาตลอดเวลาที่กำลังพัฒนา และความพยายามจะแก้ไขทำให้ปัญหาขยายบานปลายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  จนยิ่งนานวันก็ยิ่งห่างไกลจากเป้าหมายที่เคยฝันไว้ มองเห็นความเป็นไปไม่ได้เด่นชัดถนัดตาชนิดโต้งๆ โจ่งแจ้ง

ความเก่งและความโกงของเอลิซาเบธ โฮล์มส์ ซึ่งแสดงออกมาควบคู่กัน คือเธอไม่ยอมแพ้ต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในห้องแล็บ ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าต่อไปด้วยการระดมทุนเพิ่ม เมื่อเจ้าของเงินทักท้วง สงสัย หรือเรียกร้องต้องการเห็นตัวอย่างที่แสดงความคืบหน้า เธอก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อเอาตัวรอด ด้วยไหวพริบปฏิภาณในทางลบ ใช้วิธีเสี่ยงตาย กล้าแบบบ้าเลือด ผิดทั้งกฎหมาย ศีลธรรม และจริยธรรม อาทิ ปลอมผลการตรวจเลือด ขณะทำการทดสอบต่อหน้านักลงทุน

พูดง่ายๆ ว่าทางแก้ปัญหาของเอลิซาเบธ โฮล์มส์ เป็นแค่วิธีหยุดเลือดชั่วคราว ไม่ใช่การเยียวยารักษาแผล ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ปัญหาที่แก้ไว้ก็เป็นชนวนสาเหตุให้เกิดข้อยุ่งยากใหม่ๆ เพิ่มทวีแตกแขนงไปมากมาย เพื่อที่จะแก้ไขปัดเป่าด้วยวิธีเดิมๆ จนสะสมเป็นปริมาณมหาศาลซุกไว้ใต้พรม

เรื่องน่าทึ่งและเลวร้ายก็คือ ระหว่างที่เอลิซาเบธ โฮล์มส์ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบสร้างปัญหาเหมือนดินพอกหางหมู บริษัทเธรานอสกลับเติบโตพุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว นักธุรกิจ นักลงทุน นักการเมือง อดีตนายทหารระดับสูง แห่แหนมาร่วมลงขันในกิจการของเธออย่างคับคั่ง จนกระทั่งบนจุดที่รุ่งเรืองสุดขีด โฮล์มส์ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘สตีฟ จอบส์คนต่อไป’ เป็นนักธุรกิจสาวอายุน้อยที่สุดผู้ประสบความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นหนึ่งในสตรีผู้ทรงอิทธิพล เป็นขวัญใจมหาชน เป็นต้นแบบแรงบันดาลใจแก่ผู้คนมากมาย มีบทสัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ ในทางชื่นชมยกย่อง ขึ้นปกนิตยสารธุรกิจมากมายหลายฉบับ เป็นซูเปอร์สตาร์ดาวรุ่งที่จรัสแสงเจิดจ้าในโลกธุรกิจ

ที่สำคัญคือสถานะขณะนั้นของเอลิซาเบธ โฮล์มส์ แทบจะเป็นนางฟ้า นักบุญ จากความฝันความพยายามจะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น (และจากการนำเสนอของเธอต่อสาธารณชน บ่งชี้ว่าเธอทำได้แล้ว)

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม 2015 ฟ้าผ่าลงมากลางคัน เมื่อบทความชื่อ A Prized Startup’s Struggles เขียนโดยจอห์น แคร์รีรู ตีพิมพ์ใน The Wall Street Journal

บทความดังกล่าวเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลของเธรานอส กลายเป็นไม้ขีดไฟก้านแรกในการจุดชนวน จนทำให้ใครต่อใครจำนวนมากออกมาแฉความดำมืดและการทุจริตของเอลิซาเบธ โฮล์มส์อย่างต่อเนื่อง เกิดการสืบสาวราวเรื่องกันขนานใหญ่ ท่ามกลางการต่อสู้ของเธรานอส ซึ่งใช้อำนาจและอิทธิพลทำทุกวิถีทางเพื่อสยบข่าวติดลบ

3 ปีต่อมา อาณาจักรเธรานอสอันยิ่งใหญ่เกรียงไกรก็ล่มสลาย  มอดไหม้ จมทะเลเพลิง จากบุคคลผู้เคยได้รับการสรรเสริญสดุดี เอลิซาเบธ โฮล์มส์กลายเป็นนางมารร้ายที่ทุกคนสาปส่งชิงชัง

ข้างต้นที่ผมเล่ามายืดยาวเป็นการสรุปเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นนะครับ ไม่ใช่เรื่องย่อของ The Dropout ซึ่งเล่าเรื่องราวเดียวกัน แต่เล่าอีกแบบ (และมีการเติมเครื่องปรุงให้รสชาติจัดจ้านยิ่งขึ้น)

The Dropout มีทั้งหมด 8 ตอนจบ 5 ตอนแรกนั้น ว่าด้วยเส้นทาง ‘ขาขึ้น’ ของเอลิซาเบธ โฮล์มส์ ซึ่งเป็นตัวละครที่ทำหน้าที่เดินเรื่อง จับความตั้งแต่ปี 2001 ขณะที่เธออายุ 18 ปี เล่าพื้นฐานความเป็นมาคร่าวๆ ของครอบครัว (ซึ่งมีส่วนเป็นแรงผลักดันให้เธอลุยแหลกเมื่อทำธุรกิจ), ความเฉลียวฉลาดของโฮล์มส์ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่อาจารย์และทีมวิจัยได้ทันที ทั้งที่เธอเป็นเพียงแค่นักศึกษาปีหนึ่ง, การใช้ชีวิตคร่ำเคร่งเอาจริงเอาจังต่างจากคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกันอื่นๆ โฮล์มส์มีเป้าหมายในชีวิต มีความใฝ่ฝันแน่ชัด (รวมทั้งความทะเยอทะยานสูงลิบลิ่ว) และทุ่มเทเวลาทั้งหมดเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยไม่วอกแวกสนใจชีวิตเที่ยวเตร่เฮฮาใดๆ ทั้งสิ้น

เรื่องราวใน 5 ตอนแรก ช่วงก่อร่างสร้างตัวของเอลิซาเบธ โฮล์มส์ ดำเนินความตรงตามข้อมูลที่ปรากฏทั่วไป แต่ฝีมือการเขียนบทที่เก่งมาก ก็ทำให้เรื่องราวซึ่งรู้กันดีอยู่แล้ว (มิหนำซ้ำยังเผยให้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นในท้ายที่สุดกับบริษัทเธรานอสและเอลิซาเบธ โฮล์มส์ ตั้งแต่เปิดฉากเริ่มเรื่อง) สนุกเข้มข้นชวนติดตามเอามากๆ ทำให้คดีลวงโลกซึ่งเต็มไปด้วยเบื้องหลังอันสลับซับซ้อน เกี่ยวโยงกับผู้คนจำนวนมาก กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายขึ้น

เหนือสิ่งอื่นใด ระหว่างดู 5 ตอนแรก มินิซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการทำให้ผู้ชมติดตามด้วยความรู้สึกเอาใจช่วยเอลิซาเบธ โฮล์มส์ แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าพฤติกรรมในเวลาต่อมาของเธอเป็นเรื่องเลวร้าย

The Dropout เสนอภาพของเอลิซาเบธ โฮล์มส์เป็นวัยรุ่นไฟแรง (และดูเป็นนางเอก) เริ่มต้นทำทุกสิ่งด้วยเจตนาดี แต่แล้วในระหว่างเส้นทางสู้ชีวิต เผชิญอุปสรรคต่างๆ นานา เธอก็แก้ปัญหา จากวิธีที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม จนกระทั่งเหลือกำลังจะรับมือ ก็เริ่มหันเหไปใช้วิธีสกปรกโสมมทีละนิด กลายเป็นการขี่หลังเสือ หันหลังกลับไม่ได้ ต้องควบตะบึงไปข้างหน้า กระทำเรื่องเลวร้ายยิ่งๆ ขึ้น

เพื่อไม่ให้ดูเป็นการเหมารวม ควรกล่าวว่าทั้งหมดนี้เป็นความรู้สึกของผมเพียงลำพังนะครับ ผมดูด้วยใจเชียร์ตัวละคร เมื่อเอลิซาเบธ โฮล์มส์ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ยังเอาใจช่วยให้เธอรอดพ้นผิด หรือสามารถแก้ไขปัญหายุ่งยากต่างๆ ให้ลุล่วง ลุ้นหนักให้เธอผ่านพ้นอุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงและประสบความสำเร็จ วิตกกังวลเป็นห่วงว่าเธอจะทำอย่างไร เมื่อสะสมแต้มบาปจนมองไม่เห็นกลบเกลื่อนปกปิดไปตลอดรอดฝั่ง พร้อมๆ กันนั้นก็เศร้าสะเทือนใจ เมื่อพบเห็นตัวละครนี้เข้าสู่ด้านมืดมากขึ้นตามลำดับ เคียงคู่ไปกับการสะท้อนให้เห็นว่า ท่ามกลางชีวิตสวยหรูและความสำเร็จที่ได้รับ เอลิซาเบธ โฮล์มส์ต้องจ่ายชดใช้ด้วยราคาแพงมาก กับการสูญเสียชีวิตด้านอื่นๆ ทั่วไปอย่างไรบ้าง

ความรู้สึกของผมระหว่างดู 5 ตอนแรกเป็นเช่นนี้ และจบลงด้วยการที่หลังจากตัวละครล้ำเส้นที่ไม่ควรข้ามหลายครั้งหลายครา เส้นต้องห้ามสุดท้ายในฉากจบของตอนที่ 5 ก็ทำให้ผมถอนตัวจากการเป็นกองเชียร์ เกิดความรู้สึกหมดใจกับตัวละคร (ผมเชื่อว่าเป็นเจตนาของคนทำที่ต้องการให้คนดูรู้สึกเช่นนี้)

3 ตอนสุดท้าย เปลี่ยนอารมณ์ไปทางตรงกันข้าม รวมทั้งมุมมองของผู้เดินเรื่อง ซึ่งเปลี่ยนฝั่งมาเล่าผ่านบรรดาผู้ตกเป็นเหยื่อจากการทำธุรกิจของเธรานอส กล่าวโดยรวมคือเป็นเรื่องของคนเล็กๆ ซึ่งลุกขึ้นมาต่อกรกับยักษ์ใหญ่ที่เหนือกว่าทุกด้าน จนนำไปสู่ ‘ขาลง’ และความย่อยยับของเอลิซาเบธ โฮมล์ส

เป็น 3 ตอนที่ลุ้นระทึกเร้าใจสุดๆ ในทิศทางเดียวกับหนังอย่าง All the President’s Men (ต่างกันตรงที่ The Dropout ดูง่ายและเร้าอารมณ์มากกว่า ขณะที่เข้มข้นหนักแน่นจริงจังน้อยกว่า) ที่เก่งมากคือ ผู้ชมเดาได้สบายๆ ว่าเหตุการณ์จะลงเอยยังไง แต่ตลอดการติดตามนั้น นึกไม่ออกคาดเดาไม่ได้เลยว่าบรรดากลุ่มตัวละครที่เป็นคนเล็กๆ เหล่านั้น จะสู้รบปรบมือเอาชนะยักษ์ใหญ่อย่างเธรานอสได้ด้วยวิธีใด

ก่อนดู The Dropout ผมหวังไว้สูงว่าคุณภาพของมินิซีรีส์เรื่องนี้ควรจะดี ดูจบแล้วก็ได้รับตามที่มาดหมายประมาณไว้ แต่ที่เกินคาดไปเยอะเลย คือความสนุกบันเทิงชนิดนึกไม่ถึงว่าไปได้ไกลถึงเบอร์นี้

นอกจากความเก่งของคนทำแล้ว ผมคิดว่าเหตุการณ์คดีความเกี่ยวกับเอลิซาเบธ โฮล์มส์ เป็นเรื่องจริงที่เปี่ยมด้วยสีสันดึงดูดเหลือเกิน ตอนอ่านข่าวนั้นทราบแต่เพียงลำดับความคร่าวๆ เท่านั้น เมื่อพบเจอรายละเอียดสารพัดสารพันที่เล่าไว้ในซีรีส์ก็ให้นึกอัศจรรย์ใจว่า นี่เป็นเรื่องจริงที่ฉูดฉาดหวือหวายิ่งกว่านิยายมากมายนัก

ความรู้สึกข้างต้น ทำให้ผมเกิดอาการอินกับเรื่องนี้มาก จนต้อง ‘ไปต่อ’ ด้วยการอ่านหนังสือเรื่อง Bad Blood: Secrets and Lies in a Silicon Valley Startup (ฉบับแปลภาษาไทย ใช้ชื่อว่า ‘เลือดชั่ว: เรื่องลับและคำลวงเบื้องหลังบริษัทดาวรุ่งแห่งซิลิคอนแวลลีย์) ผลงานการเขียนของจอห์น แคร์รีรู (ซึ่งเป็นตัวละครที่มีบทบาทสำคัญใน 3 ตอนสุดท้ายของ The Dropout)

หนังสือ Bad Blood ให้รายละเอียดขยายความเพิ่มเติมจาก The Dropout อยู่เยอะทีเดียว โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับการตรวจเลือดโดยปกติทั่วไป และคุณสมบัติเลอเลิศของกล่องตรวจเลือดเอดิสันที่เอลิซาเบธ โฮล์มส์อวดอ้างอย่างเกินจริง รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องพัวพันกับกรณีนี้ (ซึ่งใน The Dropout ตัดทอนละเว้นไม่กล่าวถึงเป็นจำนวนมาก)

สิ่งที่โดดเด่นในหนังสือเล่มนี้ก็คือ จอห์น แคร์รีรู พูดคุยกับแหล่งข่าวมากมาย ส่วนใหญ่เป็นอดีตพนักงานของเธรานอส จนได้ข้อมูลและรายละเอียดมหาศาล แต่วิธีเรียบเรียงนำเสนอของเขา ถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นระบบระเบียบมาก กระชับรัดกุม แจ่มแจ้ง กระจ่างชัด เข้าใจง่าย ที่สำคัญคือสนุกชวนติดตามไม่แพ้มินิซีรีส์

ทั้งๆ ที่บอกเล่าโดยไม่ปรุงแต่งเร้าอารมณ์ใดๆ เลย

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ช่วงต้นของ Bad Blood เล่าเรื่องเดียวกันกับ The Dropout แต่ต่างกันที่มุมมอง คนที่ดูมินิซีรีส์จึงเหมือนได้ฟังความอีกข้าง ซึ่งให้อรรถรสและความรู้สึกที่แตกต่างกันอยู่มาก (ส่วนช่วงท้ายๆ นั้นเล่าตรงกัน)

หนังสือเรื่อง Bad Blood กำลังจะได้รับการนำไปดัดแปลงเป็นหนัง กำกับโดยอดัม แม็คเคย์ (งานล่าสุดของเขาคือ Don’t Look Up) และมีเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ มารับบทเป็นเอลิซาเบธ โฮล์มส์ ยังไม่มีกำหนดเวลาว่าจะสร้างเสร็จและออกฉายเมื่อไร

เช่นเดียวกับตอนดูมินิซีรีส์ด้วยอาการติดหนึบ หนังสือเล่มนี้ก็ชวนติดตามจนทำให้ผมอ่านรวดเดียวจบ และทำให้เกิดอาการอินมากขึ้นกว่าเดิม

ผมจึงไปดูสารคดีเรื่อง The Inventor: Out for Blood in Silicon Valley ทาง HBO GO (ลืมบอกไปครับว่า The Dropout ดูได้ใน disney+) เพื่อให้เป็นที่แล้วใจ

The Inventor: Out for Blood in Silicon Valley เป็นสารคดีปี 2019 ความยาว 1 ชั่วโมง 59 นาที กำกับโดยอเล็กซ์ กิบนีย์

ทั้ง The Dropout, Bad Blood และ The Inventor เล่าเรื่องช่วงต้นไม่เหมือนกัน ฉบับสารคดีซึ่งมีแต้มต่อและข้อจำกัด ต้องพึ่งพาอาศัยการเล่าผ่านฟุตเทจต่างๆ ที่มีอยู่ ส่งผลให้ช่วงต้นเรื่อง (ซึ่งไม่น่าจะมีการบันทึกภาพใดๆ) เลือกใช้วิธีตั้งประเด็นหัวข้อขึ้นมา แล้วใช้เสียงผู้บรรยายบอกเล่าอธิบาย ประกอบกับภาพจากแหล่งอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ จนเมื่อเข้าสู่ช่วงที่เอลิซาเบธ โฮล์มส์โด่งดังแล้ว จึงค่อยมีภาพที่ตรงกับเรื่องเล่า

ด้วยความยาวที่ไม่มากนัก The Inventor จึงคล้ายสรุปย่อรวบรัด เล่าอย่างรวดเร็ว จนคนที่ไม่ทราบอะไรมาก่อน อาจดูไม่สนุกและตามไม่ค่อยทันในช่วงต้น แต่สารคดีชิ้นนี้ก็ทดแทนด้วยภาพเหตุการณ์จริงและคำให้สัมภาษณ์ของผู้คน (ที่เราได้เห็นจากในมินิซีรีส์และคุ้นชื่อจากการอ่านหนังสือ) ซึ่งน่าตื่นเต้นมาก (สำหรับคนที่อินกับเรื่องนี้)

และที่โดดเด่นมากของสารคดีเรื่องนี้ก็คือ เมื่อเข้าสู่ช่วงที่ทั้ง 3 เวอร์ชันบอกเล่าตรงกัน การได้เห็นภาพเหตุการณ์และบุคคลต่างๆ แบบตัวจริงเสียงจริงนั้น ยังให้เกิดความรู้สึกประหลาดอย่างหนึ่งขึ้นมา นั่นคือการตอกย้ำให้รู้สึกว่าเรื่องของเอลิซาเบธ โฮล์มส์นั้น ไม่ใช่หนังหรือนิยาย แต่มีพยานหลักฐานหนาแน่นว่ามันเกิดขึ้นแล้วจริง ๆ

ตามลำดับที่ควรจะเป็นและได้อรรถรส เริ่มที่ The Dropout ต่อด้วย Bad Blood และปิดท้ายที่ The Inventor นั้นเหมาะเจาะลงตัวเป็นที่สุด

ขอแนะนำเป็นแพ็คเกจเลยนะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save