fbpx
‘กรรมวิธีและการลงทัณฑ์’ ความเป็นธรรมของการใช้โทษประหารใน ‘ประเทศยกเว้น’

‘กรรมวิธีและการลงทัณฑ์’ ความเป็นธรรมของการใช้โทษประหารใน ‘ประเทศยกเว้น’

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หลังสิ้นเสียงปืนที่ศาลจังหวัดยะลาในวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ชื่อของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ก็ถูกพูดถึงทั่วสังคมไทย พร้อมคำแถลงที่ให้เหตุผลที่บ่งชี้ถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงความกดดันของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีในพื้นที่ซึ่งมีการใช้กฎหมายพิเศษ

แม้จนถึงวันนี้ยังไม่มีความกระจ่างในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่คำแถลง 25 หน้า จุดชนวนให้เกิดการพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบยุติธรรมของประเทศไทย และสิ่งที่เราควรจะมุ่งหน้าไปเพื่อช่วยกันยกระดับความเป็นธรรมในสังคม

ช่วงเวลาระหว่างนี้ ยังคงอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เมื่อมีการกล่าวอ้างว่าเกิดการแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรม แต่น่าสนใจว่าในคำแถลงระบุว่ามีความเห็นแย้งระหว่างการยกฟ้อง เพราะพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักพอจะลงโทษจำเลย กับการให้ลงโทษสถานหนักคือประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นอีกครั้งที่กระตุ้นให้สังคมไทยทบทวนเรื่องการใช้โทษประหาร เช่นเดียวกับ​การพูดคุยเรื่องความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในระบบยุติธรรม

 

พื้นที่พิเศษ หลักฐานจาก ‘กรรมวิธี’ และความกดดันของผู้พิพากษา

 

“ไม่นานนี้ทราบว่าผู้พิพากษาทางใต้ของไทยยิงตัวเอง ไม่ทราบว่าท่านอยู่ใต้ความกดดันใดหรือไม่ แต่ท่านอยู่ในประเทศที่ผู้พิพากษาเป็นผู้ตัดสินลงโทษประหารชีวิต ทำให้ท่านต้องมีความตึงเครียดมาก การเป็นผู้พิพากษาที่ต้องตัดสินโทษประหารกับคนอื่นไม่ได้ต่างจากการทำหน้าที่ของเพชฌฆาต สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้ผู้พิพากษารู้สึกดีที่ตัดสินลงโทษประหารชีวิต ในต่างประเทศมีผู้พิพากษาหลายท่านที่เคยตัดสินโทษประหารชีวิตแล้วลาออกจากงานเพราะไม่ได้รู้สึกดี ใครที่เคยตัดสินประหารใครสักครั้งจะต้องตระหนักใคร่ครวญถึงงานนั้นว่าเราอยากตัดสินที่จะฆ่าใครหรือไม่”

ฮานน์ โซฟี เกรฟ กรรมาธิการคณะกรรมการสากลต่อต้านโทษประหารชีวิตและอดีตผู้พิพากษาศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ให้ความเห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมุมมองของผู้พิพากษา

อีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฏในคดีที่ผู้พิพากษาคณากรกล่าวถึงในคำแถลงคือ พยานหลักฐานทั้งหมดเกิดขึ้นในขณะที่จำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ซักถามเป็นเวลานานในฐานะผู้ต้องสงสัยตามกฎหมายพิเศษคือกฎอัยการศึกและพรก.ฉุกเฉิน

“ผมตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ต้องสงสัยนี้มีศักดิ์ของความเป็นผู้บริสุทธิ์เหนือกว่าผู้ต้องหา แต่กลับมีสิทธิทางกฎหมายด้อยกว่าผู้ต้องหา”

ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศไทยและสากลแสดงความกังวลหลายครั้ง ด้วยเล็งเห็น​ถึงความเสี่ยงของการใช้กฎหมายพิเศษที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน

สมชาย หอมลออ ทนายความสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นว่าจำเลยที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในหลายคดีเป็นกลุ่มคนเปราะบาง ชนกลุ่มน้อย ถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติด ถูกกล่าวหาว่าแบ่งแยกดินแดน และส่วนมากไม่มีเงินไปจ้างทนายสู้คดี จึงมีโอกาสต้องโทษประหารชีวิตมาก

“ปัจจุบันมีจำนวนผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดนต้องโทษประหารชีวิตมากขึ้น กรณีผู้พิพากษาคณากรก็มีระบุไว้ในคำแถลง เมื่อเจ้าหน้าที่ซึ่งนำโดยทหารใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกจับผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกดินแดน สามารถนำมาขังที่ค่ายทหารได้ 7 วันโดยไม่ต้องขออนุญาตศาล เมื่อก่อนเอาไปขังที่ค่ายไหนก็ไม่บอกญาติ แต่ปัจจุบัน ต้องมีการลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ ระหว่างขัง

“7 วันเขาแทบไม่ได้เจอญาติและทนาย จากนั้นส่งตัวไปศูนย์ซักถาม คุมตัวตามพรก.ฉุกเฉินครั้งละ 7 วัน จนครบ 30 วัน ระหว่างนั้นจะมีการซักถาม ซึ่งเจ้าหน้าที่เรียกว่า ‘กรรมวิธี’ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าหมายถึงอะไร แต่จากการสอบข้อเท็จจริงขององค์กรสิทธิมนุษยชนพบว่ากรรมวิธีคือการทรมานเพื่อให้ได้ข้อมูล เช่น คำรับสารภาพหรือคำซัดทอด มีการบันทึกให้ผู้ต้องสงสัยลงชื่อยืนยันว่าไม่มีการทรมาน

“ผู้พิพากษาคณากรเขียนไว้ว่า คนเหล่านี้เป็นเพียงผู้ต้องสงสัย ทำไมเขาจึงมีสิทธิในการแจ้งสิทธิ การติดต่อญาติ การติดต่อทนาย น้อยกว่าผู้ต้องหา แต่ศาลไทยรับฟังบันทึกของพยานโดยที่พยานให้ถ้อยคำผ่านกรรมวิธี ศาลอาจอธิบายว่าไม่ใช่พยานหลักฐานหลัก แต่ใช้ประกอบพยานหลักฐานอื่นๆ แต่ก็ถือว่าเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ถูกตั้งคำถามว่าได้มาโดยชอบหรือไม่ ไม่แปลกใจว่ากรรมวิธีและกระบวนการเหล่านี้ทำให้เรามีนักโทษประหารเพิ่มขึ้นทุกวัน” สมชายกล่าว

นับเป็นความสุ่มเสี่ยงที่จะมีการใช้กฎหมายที่มีการลงโทษรุนแรงถึงชีวิต โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งใช้กฎหมายพิเศษซึ่งมีการจำกัดสิทธิบางอย่างของผู้ต้องสงสัย ที่มีรายงานจากองค์กรสิทธิมนุษยชนว่ามีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยระหว่างการสอบสวนเพื่อให้ได้คำรับสารภาพ

 

อาชญากรรมไม่ลดลงเพราะโทษประหาร

 

ในเดือนมิถุนายน 2561 นิด้าโพล สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “โทษประหารชีวิต ควรหยุดหรือไปต่อ” หลังมีการประหารนักโทษคนล่าสุด พบว่า 80.50% เห็นว่าผู้กระทำผิดในคดีร้ายแรงควรได้รับโทษประหารชีวิต 85.29% คิดว่าการประหารชีวิตทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความศักดิ์สิทธิ์และน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น 79.05% คิดว่าโทษประหารจะทำให้คดีอาชญากรรมลดลง 92.49% เห็นว่าควรให้มีโทษประหารชีวิตต่อไป และผู้สนับสนุนโทษประหารชีวิต 54.45% เห็นว่าคดีฆ่าข่มขืนควรได้รับโทษประหารชีวิตมากที่สุด

น่าสนใจว่าเหตุผลหลักที่ผู้สนับสนุนการใช้โทษประหารในไทยคือ เชื่อว่าหากมีการลงโทษรุนแรงถึงชีวิตแล้วจะทำให้อาชญากรกลัวและไม่กล้ากระทำความผิด แต่มีการศึกษาเชิงอาชญาวิทยาหลายชิ้นที่พบว่าสองสิ่งนี้ไม่ได้สัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีโทษประหารก็ไม่ได้ทำให้อาชญากรรมในสังคมนั้นลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

อัตราการฆาตกรรมในสหรัฐอเมริกาปี 2016 โดยเปรียบเทียบระหว่างรัฐที่มีโทษประหารชีวิตและรัฐที่ไม่มีโทษประหารชีวิต (จำนวนคดีฆาตกรรมต่อประชากร 100,000 ราย) / ที่มา: deathpenaltyinfo.org

 

สถิติการรับแจ้งและจับกุมกลุ่มคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญทั่วประเทศไทย ปี 2545-2559 เปรียบเทียบกับการลงโทษประหารชีวิต / ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

“เราไม่สามารถเห็นตัวอย่างหรือการเปลี่ยนแปลงด้านการก่ออาชญากรรมใดๆ เลยในประเทศที่มีการใช้โทษประหาร หรือประเทศที่มีการนำโทษประหารมาใช้ใหม่ก็ไม่ได้ทำให้อัตราการก่ออาชญากรรมลดลง เมื่อยกเลิกโทษประหารก็ไม่ได้ทำให้อัตราการก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น การใช้โทษประหารจึงไม่ได้มีผลในการป้องปรามอาชญากรรม” ฮานน์ โซฟี เกรฟ ให้มุมมองเรื่องโทษประหารไว้อย่างน่าสนใจ​

อย่างไรก็ดี ความเห็นในสังคมส่วนหนึ่งยังคงต้องการให้มีการฆ่าผู้กระทำความผิดเพื่อให้สังคมรู้สึก ‘ปลอดภัย’ แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการมีกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างถ้วนหน้าเท่าเทียมกัน

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี ชี้ให้เห็นว่าโทษประหารไม่ใช่มาตรฐานการลงโทษที่ทั่วโลกยอมรับ อีกทั้งฐานความผิดในการลงโทษประหารชีวิตในแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน

“เราเรียกร้องมาตรฐานเรื่องการจับกุมทั่วโลกเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ แต่เรื่องโทษประหารชีวิตกลับอยู่ในฐานความผิดที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ บางประเทศต้องการโทษประหารชีวิต บางประเทศบอกว่าไม่จำเป็น สังคมไทยเรียกร้องโทษประหารชีวิตเพราะคนไทยคิดว่าโทษเบาไป ต้องมีโทษหนักๆ ทั้งที่ประเทศไทยมีโทษประหารมากมายแต่อาชญากรรมกลับเพิ่มขึ้น

“ทำไมต้องรอฉันทามติของสังคม เราต้องมีผู้นำที่มีความเด็ดขาดในการยกเลิกโทษประหาร แต่เราต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่าโทษประหารชีวิตจำเป็นกับสังคมไทยจริงหรือ ไม่เช่นนั้นโทษประหารชีวิตอาจกลับมาอีกได้หลังยกเลิกไปแล้ว”

กฎหมายไทยระบุความผิด 55 ฐานที่ใช้โทษประหารชีวิต น้ำแท้เห็นว่าคดีบางประเภทที่ต้องลงโทษประหารชีวิตสถานเดียว ควรเปลี่ยนให้ผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจเป็นลงโทษจำคุกตลอดชีวิตได้โดยไม่ให้ลดโทษ

น้ำแท้ยังมองว่าการที่สังคมไทยยังมีอาชญากรรมมากทั้งที่มีการใช้โทษประหารชีวิต ไม่ใช่เพราะการลงโทษของเรายังไม่แรงพอ แต่วิธีบังคับใช้กฎหมายของเราต่างหากที่ไม่มีประสิทธิภาพ

“คนมีอำนาจสามารถให้เจ้าหน้าที่ชั้นต้นบิดเบือนพยานหลักฐานหรือทำลายพยานหลักฐานได้ เรียกกันว่า ‘สอบสวนแบบทำลายพยานหลักฐาน’ เพื่อช่วยคนรวย นักการเมืองที่มีอิทธิพล รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ประเทศไทยต้องการระบบการสอบสวนที่ทำลายพยานหลักฐานไม่ได้ แต่ไทยมีระบบการสอบสวนโดยหน่วยงานเดียว ลบกล้องวงจรปิดได้ กล้องเสียได้ เพราะกล้องนั้นอยู่ในมือคนเพียงคนเดียว เราต้องมีระบบการสอบสวนที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ทำเลวไม่ได้ ต้องเป็นระบบที่ทำให้หลักนิติธรรมเป็นจริง” น้ำแท้กล่าว และทิ้งท้ายด้วยโจทย์สำคัญว่า

“เราจะทำอย่างไรให้อาชญากรเชื่อว่าเขาไม่สามารถหลุดจากเงื้อมมือของกฎหมายได้ หัวใจไม่ได้อยู่ที่โทษประหารชีวิต แต่ต้องทำให้เขาเชื่อว่าจะมีการลงโทษจริง”

 

ก้าวแรก ยกเลิกประหารคดียาเสพติด

 

เมื่อนึกถึงการลงโทษด้วยการประหารชีวิต คนส่วนใหญ่ในสังคมมักคิดว่านักโทษที่ต้องถูกประหารคืออาชญากรที่ก่อเหตุฆาตกรรมหรือฆ่าข่มขืน แต่นักโทษประหารส่วนใหญ่คือนักโทษคดียาเสพติด

เมื่อปี 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นกลไกภายใต้ (ICCPR) ได้แสดงความกังวลที่ประเทศไทยใช้โทษประหารชีวิตต่อความผิดเกี่ยวกับการคอร์รัปชันและยาเสพติด ซึ่ง​ไม่เข้านิยาม ‘คดีอุกฉกรรจ์ที่สุด’

ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์เมื่อเดือนเมษายน 2561 มีนักโทษประหารชีวิตทั้งสิ้น 517 คน เป็นชาย 415 คน หญิง 102 คน คดียาเสพติดให้โทษ 296 คน คดีความผิดทั่วไป 218 คน คดีความมั่นคง 3 คน โดยคดีถึงที่สุด 200 คน อยู่ระหว่างพิจารณาอุทธรณ์และฎีกา 317 คน

ล่าสุดตัวเลขนักโทษประหารเดือนตุลาคม 2562 คือ 608 ราย

แม้ว่าสังคมต้องพยายามต่อสู้กับปัญหายาเสพติด แต่คดียาเสพติดไม่ใช่คดีอาชญากรรมร้ายแรงที่สุดที่อาจอนุญาตให้มีการใช้โทษประหารได้ในฐานะเป็น ‘มาตรการที่เป็นข้อยกเว้น’ ในกรณีที่ ‘มีเจตจำนงที่จะสังหารและทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต’ ตามข้อสรุปของกลไกสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ

องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ จึงเรียกร้องให้ประเทศที่ยังมีการใช้โทษประหาร เริ่มต้นด้วยการยกเลิกโทษนี้กับคดียาเสพติดเสียก่อน

นักโทษคดียาเสพติดยังเป็นส่วนสำคัญให้เรือนจำไทยเกิดปัญหานักโทษล้นคุก โดยคิดเป็น 79.37% ของนักโทษทั้งหมด (ข้อมูลวันที่ 1 ต.ค. 2562) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญให้สภาพในเรือนจำมีความแออัด แม้จะมีความพยายามแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดแต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ

 

ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ณ เดือนตุลาคม 2562

 

เกศริน เตียวสกุล อดีตนักวิชาการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ทำการศึกษานักโทษรอประหารชีวิตในเรือนจำ เธอเล่าว่าจากการสัมภาษณ์นักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิต ทุกคนจะรับรู้อยู่แล้วว่าหากรับสารภาพจะได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต แต่น่าแปลกที่พวกเขายืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดหรือไม่ยอมรับสารภาพ

“เราพบว่าส่วนหนึ่งทำผิดจริงแต่เป็นผู้ร้ายปากแข็ง เพราะมีความเชื่อหรือได้รับการแนะนำว่าสามารถวิ่งคดีได้ คนเหล่านี้มีทุนทรัพย์ เสียเงินหลายล้าน แต่ในที่สุดถูกตัดสินประหารชีวิต คนอีกกลุ่มรู้ว่ารับสารภาพแล้วโทษจะลดลง คู่คดีก็รับสารภาพไปแล้ว แต่เขาเชื่อว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดแล้วจะสารภาพทำไม จึงสู้คดีแล้วถูกตัดสินประหารชีวิต”

เกศรินเล่าว่ามีผู้หญิงส่วนหนึ่งถูกซัดทอดจากญาติพี่น้องหรือสามีที่ค้ายาเสพติด และตกอยู่ในสถานการณ์ที่ศาลไม่สามารถตัดสินเป็นอื่นได้ แม้ว่าไม่ได้ค้ายาเสพติด เพราะหากปริมาณยาเสพติดมีมากตามเกณฑ์ จะต้องตัดสินประหารชีวิตสถานเดียว ไม่สามารถตัดสินเป็นอื่นได้

นักโทษประหารหญิงรายหนึ่งปฏิเสธว่าเธอรับสารภาพผิดไม่ได้ เพราะเธอไม่ได้ค้ายา แต่วันที่ถูกจับกุมแม่ของเธอให้มาช่วยขับรถโดยที่เธอไม่รู้ว่าแม่เคยส่งยามาแล้วหนึ่งครั้ง สุดท้ายเมื่อถูกจับ แม่รับสารภาพ ถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ส่วนเธอที่ยืนยันว่าตัวเองไม่ได้ทำจึงไม่รับสารภาพ และถูกตัดสินประหารชีวิต

การยกเลิกโทษประหารชีวิตกับคดียาเสพติดจึงน่าจะเป็นก้าวแรกที่สำคัญ และช่วยบรรเทาปัญหานักโทษล้นคุกได้

 

อย่าอนุญาตให้มีคนตายเพราะความผิดพลาด

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการยุติธรรมสามารถเกิดข้อบกพร่องได้ ในความเป็นมนุษย์ย่อมมีความผิดพลาด ผู้พิพากษาเองก็เช่นกัน แม้กระบวนการยุติธรรมในแต่ละประเทศจะพยายามออกแบบระบบให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด แต่ไม่มีระบบใดที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติจนไม่สามารถเกิดความผิดพลาดได้เลย

เราไม่อาจส่งใครไปตายด้วยระบบที่อาจเกิดความผิดพลาดได้ หากคนถูกลงโทษประหารชีวิตไปแล้ว ชีวิตนั้นไม่สามารถเรียกคืนได้ แม้เราจะพบในภายหลังว่าเขาไม่ใช่ผู้กระทำผิดและมีการลงโทษผิดคนก็ตาม

เหตุผลหลักของผู้สนับสนุนโทษประหารคืออาชญากรต้องถูกลงโทษอย่างสาสม โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยแวดล้อม เช่น ข้อบกพร่องในระบบยุติธรรมที่อาจทำให้ ‘ใครก็ได้’ ถูกส่งไปตายในฐานะแพะ และ ‘ใครก็ได้’ นี้รวมถึงคนที่สนับสนุนโทษประหารเองด้วย แม้เขาเหล่านั้นจะมั่นใจว่าโทษที่เขาสนับสนุนนี้จะไม่ถูกนำมาใช้กับตัวเขาเองอย่างแน่นอน

ความรู้สึกที่รุนแรงของผู้สนับสนุนโทษประหาร หลายครั้งเกิดจากการเห็นคนผิดไม่ถูกลงโทษ การอยู่ในสังคมที่ยากจะหาความยุติธรรม และคิดว่าการประหารชีวิตนักโทษจะสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ทั้งที่ปัญหาเหล่านี้ต้องถูกแก้ไขด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้มีความเข้มแข็งและเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน ต้องมีระบบราชทัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีใครอยากเห็นนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ที่ก่อเหตุสะเทือนขวัญถูกจำคุกเพียงไม่กี่ปี แล้วได้ลดหย่อนโทษจนถูกปล่อยตัวในเวลาไม่นานโดยไม่มีการประเมินความพร้อมในการกลับสู่สังคม อันจะสร้างความกังวลของคนในสังคมว่าจะมีการก่อเหตุซ้ำ

ประชาชนเหน็ดเหนื่อยกับปัญหาเหล่านี้และไม่ไว้ใจระบบที่มีอยู่ จึงคิดว่าการฆ่าคนที่กระทำความผิดจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด

อาจพูดได้ว่าสังคมเราสิ้นหวังจนต้องเลือกใช้ ‘การฆ่า’ เป็นทางออกจากปัญหานานาที่เราแก้ไม่ได้ แม้ว่าพวกเราล้วนประณามการฆ่าชีวิตมนุษย์ แต่เราเลือกลงโทษคนกระทำผิดด้วยการฆ่าพวกเขาในนามของความยุติธรรม

ในฐานะผู้ที่อนุญาตให้รัฐใช้การลงโทษวิธีนี้ พวกเรายินยอมให้รัฐเป็นตัวแทนทำหน้าที่ฆ่าคนที่ถูกตัดสินว่าเป็นคนผิดในระบบยุติธรรมที่พวกเรายอมรับกันว่าอาจเกิดข้อบกพร่องได้

สิ่งนี้จำเป็นต้องมีการทบทวนร่วมกันถึงความเข้าใจในการใช้โทษประหาร และจำเป็นต้องมีผู้นำในสังคมที่กล้าประกาศว่าจะไม่สนับสนุนการฆ่า เพื่อนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่พวกเราต้องการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย

 


ความเห็นบางส่วนจากงานเสวนาเพื่อยุติโทษประหารในประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2562 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save