fbpx
The Death of Editor : ความตายของบรรณาธิการ ในยุคอวสานสิ่งพิมพ์

The Death of Editor : ความตายของบรรณาธิการ ในยุคอวสานสิ่งพิมพ์

ในวันเวลาที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังเผชิญกับการปรับตัวครั้งใหญ่ ประเด็นที่น่าสนใจแต่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากนัก ก็คือบทบาทหน้าที่ของ ‘บรรณาธิการ’ ซึ่งเป็นเสมือนเสาหลักของสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย ว่าจะล้มหายตายจากไปด้วยหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

 

ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงงานบรรณาธิการเฉพาะในแวดวงสิ่งพิมพ์ เราอาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และหนังสือเล่ม

แม้รูปแบบและฟังก์ชั่นของสิ่งพิมพ์แต่ละประเภทจะแตกต่างกันไป แต่ขอบเขตหน้าที่ของบรรณาธิการที่ไม่ต่างกัน ก็คือการเป็นผู้กำหนดทิศทางของเนื้อหา คัดสรร คัดกรอง และปรับแก้ ก่อนเผยแพร่เนื้อหานั้นๆ สู่สาธารณะ

รายงานชิ้นนี้จะนำเสนอให้คุณเห็นภาพกว้างๆ ว่า ความท้าทายของบรรณาธิการในภาวะเปลี่ยนผ่านของวงการสิ่งพิมพ์คืออะไร บรรณาธิการในโลกสิ่งพิมพ์กับโลกออนไลน์ต่างกันตรงไหน และบรรณาธิการประเภทใดที่ดูเหมือนว่าจะหมดอายุขัย ในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ใกล้อวสาน

 

Editor vs Project Manager

เมื่อพื้นที่ออนไลน์กลายเป็นพื้นที่หลักในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และไม่จำเป็นต้องนำเสนอผ่านตัวหนังสือเสมอไป แต่สามารถใช้สื่ออื่นๆ มาผสมผสานได้ด้วย เช่น ภาพเคลื่อนไหว คลิปวีดีโอ อินโฟกราฟิก ฯลฯ ส่งผลโดยตรงต่องานของบรรณาธิการ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การทำงานกับเนื้อหาที่เป็นตัวหนังสืออีกต่อไป แต่ยังขยายไปสู่การดูแลรับผิดชอบงานส่วนใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามาบนช่องทางออนไลน์

ในอเมริกา สื่อเก่าแก่อย่าง The New Yorker หันมาจับมือกับ Amazon เพื่อพัฒนาช่องทางการสื่อสารใหม่ที่นอกเหนือไปจากสื่อสิ่งพิมพ์ เกิดเป็นโปรเจ็กต์ ‘The New Yorker Presents’ ประกอบไปด้วยสารคดี การ์ตูน บทกวี คลิปวิดีโอสั้น ซึ่งมีเนื้อหาเชื่อมโยงกันเสมือน ‘Issue’ หนึ่งของนิตยสาร

ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่ม ‘ทางเลือก’ ให้คนอ่านสามารถเข้าถึงเนื้อหาจากช่องทางที่หลากหลาย โดยที่แก่นของนิตยสารไม่ได้หายไป เช่นเดียวกับตัวนิตยสารที่ยังคงตีพิมพ์ออกมาจำหน่ายตามปกติ

โมเดลที่ว่านี้ เป็นโมเดลใหม่ที่สื่อสิ่งพิมพ์ทั่วโลกเริ่มนำมาปรับใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่นเดียวกับประเทศไทยที่เราเริ่มเห็นองค์กรสื่อต่างๆ นำวิธีการนี้มาปรับใช้กันมากขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อมองไปถึงบทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการ หรือ Editor ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายในองค์กรสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย ก็คือการเพิ่มตำแหน่งผู้บริหารโครงการ หรือ Project Manager ขึ้นมา เพื่อแบ่งเบาภาระของบรรณาธิการ มีหน้าที่ประสานและดูแลภาพรวมในการนำเสนอเนื้อหาผ่านช่องทางที่หลากหลาย

สุทธิชัย หยุ่น อดีตหัวเรือใหญ่แห่งสำนักข่าวเนชั่น ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านบล็อกส่วนตัวว่าการปรับตัวอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการสร้างเนื้อหาเป็นสารคดี หรือสื่ออื่นๆ ที่ต้องอาศัยการทำงานแบบโปรดักชั่น ย่อมต้องการการทำงานร่วมกันของหลายฝ่าย ตั้งแต่นักเขียน, บรรณาธิการ, ผู้กำกับ, ผู้สร้างหรือ Producer รวมไปถึงผู้เขียนบทที่มีความชำนาญ เพื่อแปรเนื้อหาจากตัวหนังสือให้เป็นภาพเคลื่อนไหวที่สามารถตรึงความสนใจของผู้คนในยุคดิจิทัลได้

“ผมต้องพิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างหน้าที่ของ Editor กับ Project Manager ที่สื่อบางแห่งในอเมริกาต้องตั้งขึ้นใหม่เพื่อวางแนวทางการนำเสนอเนื้อหาจากสื่อดั้งเดิม ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้คนที่ปรับเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา เพราะ ‘บรรณาธิการ’ น้อยคนจะสามารถสวมบทเป็น ‘ผู้บริหารโครงการ’ ในกองบรรณาธิการได้… และบ่อยครั้ง แม้ชื่อตำแหน่ง Project Manager ในฝ่ายข่าว ก็ยังถูกต่อต้านด้วยซ้ำ จากความไม่เคยชินของคนข่าวรุ่นเก่า ที่จะไม่ยอมให้มีคำว่า ‘บริหาร’ หรือ ‘จัดการ’ มาป้วนเปี้ยนอยู่ใน ‘คอก’ ดั้งเดิมของคนข่าว”

อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วบทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการ ดูเหมือนจะคาบเกี่ยวกับการบริหารอยู่ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะองค์กรสื่อเล็กๆ ที่ บรรณาธิการ และ ผู้บริหาร มักจะเป็นคนเดียวกัน ซึ่งคงไม่มีคำตอบตายตัวว่าการจัดสรรองค์กรแบบใดคือส่วนผสมที่ดีที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับองค์กรนั้นๆ ว่าต้องการ ‘ฟังก์ชั่น’ แบบใด

ทว่าสิ่งที่คนเป็นบรรณาธิการในยุคเปลี่ยนผ่านควรจะต้องตระหนักมากกว่า ก็คือบทบาทบรรณาธิการแบบเก่าที่สามารถ ‘คุม’ ทุกอย่างได้อย่างเบ็ดเสร็จนั้น อาจใช้ไม่ได้แล้วในยุคนี้

 

บรรณาธิการยุคใหม่ กับ ‘อำนาจ’ ที่เปลี่ยนไป

101 มีโอกาสพูดคุยสั้นๆ กับ อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการนิตยสาร WAY และเว็บไซต์ Waymagazine.org ในฐานะของคนที่เคยผ่านงานบรรณาธิการทั้งในรูปแบบของสิ่งพิมพ์ และแบบออนไลน์

หลายคำ หลายประโยค ทำให้เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงจากสื่อสิ่งพิมพ์สู่สื่อออนไลน์ได้แจ่มชัดขึ้น

“เมื่อเป็นงานออนไลน์ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องแข่งกับความเร็ว พอแข่งกันที่ความเร็ว มันจึงท้าทายดุลยพินิจของบรรณาธิการอย่างน้อยสองอย่าง หนึ่งคือดุลยพินิจว่าเรา ‘แม่นยำ’ ในสิ่งที่ทำออกไปแค่ไหน สองคือดุลยพินิจว่าเราจะปล่อยข่าวไหน ไม่ปล่อยข่าวไหน รวมถึงจะควบคุมน้ำเสียง การพาดหัว และการเขียนโปรยต่างๆ อย่างไร”

นอกจากความฉับไวและดุลยพินิจที่แม่นยำ เขายังย้ำถึง ‘บทบาท’ ที่เปลี่ยนไปของบรรณาธิการด้วย “ถ้าเป็นโลกของสิ่งพิมพ์ ลักษณะการทำงานของบรรณาธิการมันคล้ายกับพระเจ้า คือมีอำนาจทางเดียว เป็นคนที่ถือตะแกรงร่อนข่าว แล้วบอกว่าเราจะเอา หรือไม่เอาอะไร แต่บทบาทนี้มันถูกทำลายลง เมื่อกลายเป็นการสื่อสารสองทางบนโลกออนไลน์”

“สมัยก่อน เราจะได้รับฟีดแบคกลับมาก็ต่อเมื่อหนังสือตีพิมพ์ออกไปแล้ว แล้วมีคนเขียนจดหมายมาบ้าง หรือโทรศัพท์บ้าง เพื่อโต้แย้งหรือแสดงความคิดเห็นบางอย่างต่อเนื้อหาที่เราเสนอออกไป แต่ในปัจจุบัน การสื่อสารแบบสองทาง มันทำให้เราตระหนักมากขึ้นว่า เราอาจไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้ที่สุดเสมอไป หรือเป็นผู้ที่กุมความถูกต้องหรือสัจธรรมของข้อมูลเสมอไป

“ดังนั้นเมื่อเรานำเสนอข้อมูลออกไปบนโลกออนไลน์ สังคมหรือผู้อ่านก็มีสิทธิ์เต็มที่ที่จะตรวจสอบ และก็มีสิทธิ์เต็มที่ที่จะไปหาข้อมูลใหม่ๆ มาคัดง้างกับข้อมูลที่เรานำเสนอไป และเมื่อเขาสามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อมูลเราผิด หรือมีข้อมูลที่ใหม่กว่า เราก็ต้องยอมรับและแก้ไขสิ่งที่เรานำเสนอออกไป ณ เวลานั้นเลย เพราะบนโลกออนไลน์มันปรับได้ แก้ได้ ตลอดเวลา และเมื่อมันเป็นการสื่อสารสองทาง ผู้อ่านก็สามารถช่วยเติมคอนเทนต์ให้เราได้ตลอดเวลา หน้าที่ของเราก็คือการเริ่มเขี่ยลูก เริ่มจุดประเด็น เลือกสรรข้อมูลออกมาให้คนเห็น ไม่งั้นคนอื่นก็เล่นต่อไม่ได้”

 

ความตายของบรรณาธิการ (ยุคเก่า)

ในบรรดาสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย ‘หนังสือเล่ม’ คล้ายจะเป็นสื่อได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่อธิคมมองว่างานของบรรณาธิการในส่วนนี้ ก็ยังต้องปรับตัวอยู่ดี

“ช่วงที่เราทำพ็อคเก็ตบุ๊คเมื่อสักสิบกว่าปีที่แล้ว เรารู้สึกว่างานเราจบตอนที่หนังสือเข้าโรงพิมพ์ เข้าสายส่ง นั่นคือบทบาทของสำนักพิมพ์และบรรณาธิการได้จบลงแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องของกลไกอื่นๆ ที่จะต้องทำงานต่อ เช่น สายส่งเอาไปวางหน้าร้าน หน้าร้านเอาไปขายให้ได้ แต่ทุกวันนี้ ถ้าใครยังขืนคิดแบบนี้อยู่ก็เรียบร้อยครับ

“ทุกวันนี้หน้าที่ของบรรณาธิการมันยังไม่จบหลังจากส่งหนังสือเข้าโรงพิมพ์ เพราะเมื่อหนังสือออกมาแล้ว เราก็ยังต้องทำหน้าที่บอกกล่าวให้คนอ่านรู้ ต้องคิดวิธีการว่าจะขายช่องทางไหน หนังสือบางเล่มเหมาะที่จะส่งเข้าระบบจัดจำหน่ายแบบเดิม แต่บางเล่มก็ไม่เหมาะ ทำแล้วมีสิทธิ์ขาดทุน ก็ต้องคิดหาวิธีอื่นที่จะขาย นี่คือการบ้านที่เกิดขึ้นภายใต้สภาพความเปลี่ยนแปลง”

ย้อนกลับมาที่วงการนิตยสาร อธิคมวิเคราะห์ว่าไม่เพียงแต่บรรณาธิการเท่านั้นที่ต้องปรับตัว หรือประสบปัญหาในภาวะเปลี่ยนผ่าน แต่ยังกระทบไปถึงเหล่านักเขียน กองบรรณาธิการ ที่ต้องปรับวิธีการทำงานด้วย

“การล่มของนิตยสาร มาจากสองปัจจัยหลักๆ หนึ่งคือพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนไป คนไม่จำเป็นต้องรอเป็นเดือนเพื่ออ่านอะไรบางอย่างอีกต่อไป แต่เขาสามารถหาสิ่งที่ตัวเองอยากอ่านได้แบบรายวัน บนอินเทอร์เน็ต ทีนี้เมื่อพฤติกรรมคนอ่านเปลี่ยนไป จึงนำไปสู่ปัจจัยที่สอง ก็คือกลุุ่มผู้สนับสนุน หรือผู้ให้โฆษณา ที่จะพากันเคลื่อนย้ายไปสู่สื่อใหม่ คำถามก็คือว่าถ้าเรายังอยากทำสื่อ และยังจำเป็นต้องพึ่งโฆษณา เราได้หาพื้นที่สื่อใหม่ไว้รองรับหรือยัง”

“จุดที่ทำให้บรรณาธิการหรือคนทำงานในสื่อสิ่งพิมพ์หลายคน ไม่สามารถไปต่อได้ในโลกของสื่อออนไลน์ ก็คือวิธีคิดของการทำงานที่ไม่ยอมเปลี่ยน ยกตัวอย่างเช่น การเขียนงานเพื่อตีพิมพ์ในนิตยสาร กับการเขียนงานเพื่อเผยแพร่ในสื่อออนไลน์  ความคิดที่ว่าถ้าเรามีคอนเทนต์ และจะยกเอาคอนเทนต์ที่เคยทำอยู่ในสิ่งพิมพ์ มาเผยแพร่แบบออนไลน์ยังไงก็ได้ ไม่เห็นยากเลย เป็นความคิดที่ถูกแค่ครึ่งเดียว เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ช่องทางการเผยแพร่ที่ต่างกัน มันก็เรียกร้องทักษะและวิธีการนำเสนอที่ต่างกันด้วย นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บรรณาธิการหรือคนทำหนังสือในโลกยุคเก่าหลายคน ไม่สามารถปรับตัวได้กับการทำงานในโลกยุคออนไลน์ มันคือเรื่องของวิธีคิดล้วนๆ เลย

 

“แต่ในบางกรณี ก็เข้าใจได้ว่า บรรณาธิการบางคน เขาก็อาจไม่ถนัด หรือไม่มีจริตที่จะมาอยู่ในโลกออนไลน์แบบนี้ หรืออาจยังไม่สามารถปรับวิธีคิดได้ว่า บทบาทบรรณาธิการที่เป็นเหมือนพระเจ้า มันไม่มีอีกแล้ว กรณีแบบนี้ก็ต้องยอมรับว่าสื่อนั้นๆ ได้หมดอายุใช้งานแล้ว”

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save