fbpx

ยุคทองของเดนมาร์ก (The Danish Golden Age)

ดูเหมือนจะค่อนข้างเป็นที่ตกผลึกกันแล้วในวงวิชาการศึกษาประวัติศาสตร์เดนมาร์กสมัยใหม่ ว่าในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นยุคที่สามารถจัดได้เฉพาะตัวว่าเป็นยุคทอง (Den danske guldalder)

การเคลื่อนไหวทั้งทางด้านภูมิปัญญา ด้านศิลปะ การปฏิรูปทางศาสนา และการเคลื่อนไหวทางการเมืองระเบิดตัวขึ้นในยุคทองนี้ ส่งผลให้เกิดบุคคลสำคัญที่เป็นที่รู้จักกันในระดับภูมิภาคและระดับโลก

มีศิลปินอย่าง คริสตอฟเฟอร์ วิลเฮล์ม เอคเคอร์สแบร์ก (Christoffer Wilhelm Eckersberg, 1783-1853) และลูกศิษย์ของเขา ส่วนในด้านงานสถาปัตยกรรม สกุลนีโอคลาสสิกก็เป็นที่รุ่งเรืองขึ้นมา

ด้านคีตกวี ก็มีคนสำคัญเช่น โยฮัน ฮาร์ตมันน์ (Johan Peter Emilius Hartmann, 1805-1900) ประพันธ์งานขึ้นมา ส่วนในทางวรรณกรรม นักเขียน ฮันส์ คริสเตียน อันเดอร์เซน (Hans Christian Andersen, 1805-1875) ก็เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก มิพักต้องนับนักปรัชญา ซอเร็น เคียเกอร์การ์ด  (Søren Kierkegaard, 1813-1855) ที่เป็นสมาชิกของยุคทองนี้ด้วยเช่นกัน

Woman in Front of a Mirror โดยคริสตอฟเฟอร์ วิลเฮล์ม เอคเคอร์สแบร์ก (1841) (ที่มาภาพ)

ในขณะเดียวกัน ยุคทองของเดนมาร์กนี้ จัดเป็นยุคของวิกฤตที่เข้มข้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นช่วงสุดท้ายของสงครามนโปเลียน ที่เดนมาร์กไปเข้าข้างเดียวกับฝรั่งเศส ส่งผลให้อังกฤษที่กำลังตัวตึง นำแสนยานุภาพทางเรือเข้าโจมตีโคเปนเฮเกนหลายครั้งตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษนั้น เป็นการโจมตีขนาดใหญ่ต่อเมืองหลวงของยุโรปครั้งแรกๆ ในศตวรรษ

ทั้งยังมีการล้มละลายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในปี 1814 ส่งผลเป็นวิกฤตการคลังขนานใหญ่ หรือการปฏิรูปโครงสร้างของชนชั้นชาวนา ซึ่งนำไปสู่การผลักดันเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ลงเอยที่การปฏิวัติในปี 1848 ไปสู่การตั้งระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในปีถัดมา

รวมถึงยังมีการลุกฮือเคลื่อนไหวทางศาสนา ซึ่งหนึ่งในนั้นมีผู้นำสำคัญคือ นิโกไล เฟรเดอริค เซเวอริน กรุนด์ตวิก (N. F. S. Grundtvig, 1783-1872) ซึ่งจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ศาสนาของเดนมาร์กตลอดไป รวมไปถึงสงครามกับปรัสเซียซึ่งนำไปสู่ความพ่ายแพ้และสูญเสียการปกครองชเลสวิก-โฮลสไตน์ (Schleswig–Holstein) ไปในปี  1864 อันสะเทือนจิตใจชนชั้นปกครองของเดนมาร์กอย่างมาก

ในท่ามกลางยุคอันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากการจุดประกายตั้งแต่ยุคแสงสว่างทางปัญญา (Enlightenment) เป็นต้นมา ปัญญาชนและศิลปินเดนมาร์กต่างแสดงให้เห็นถึงใจ (Geist) ของยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความแปลกแยกจากคุณค่าดั้งเดิมของยุคประเพณี การหลุดลอยไร้หลักแหล่งที่พึ่ง ไปจนกระทั่งถึงรูปแบบของสุญนิยม (nihilism) ในรูปแบบต่างๆ ดังที่กวีและนักปรัชญาสกุลเฮเกลนาม โยฮัน ลุดวิก ไฮแบร์ก (Johan Ludvig Heiberg, 1791-1860) เขียนในงาน On the Significance of Philosophy for the Present Age (1833)

หนึ่งในกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นหลักของยุคนี้ คือความเห็นที่มองว่าสังคมกำลังเสื่อมทราม สูญเสียศีลธรรมที่เคยกำกับสังคมเอาไว้ โดยเฉพาะข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อความเจริญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทำให้จิตใจคนนั้นเสื่อมลง ดังจะเห็นจากบทความ Thoughts on the Possibility of Proofs of Human Immortality (1837) ของกวีและนักปรัชญาสำคัญของยุคอีกคนหนึ่ง คือ พอล มาร์ติน เมิลเลอร์ (Poul Martin Møller, 1794-1838) ผู้เป็นอาจารย์ของเคียเกอร์การ์ดอีกที

ฮันส์ คริสเตียน อันเดอร์เซน (ที่มาภาพ)

นักปรัชญามองยุคแห่งวิกฤต

ท่ามกลางความเคลื่อนไหวทางปัญญาเข้มข้นของยุคนี้ นักปรัชญาที่โดดเด่นสองคนเห็นร่วมว่า ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง วิกฤตครั้งนี้เป็นวิกฤตทางคริสต์ศาสนา นั่นคือไฮแบร์กและเคียเกอร์การ์ด

เริ่มต้นที่ไฮแบร์ก ใน On the Significance of Philosophy for the Present Age (1833) เขาประกาศว่าในยุคสมัยปัจจุบัน (ของเขา) ท่ามกลางคนรุ่นใหม่ที่ร่ำรวยไปด้วยประสบการณ์จากพัฒนาสาขาต่างๆ อันเป็นผลพวงจากการสั่งสมมาหลายร้อยปี แต่คนรุ่นใหม่เริ่มจะหันเหออกจากเส้นทางที่จะไปข้างหน้า กลับมุ่งไปสู่เส้นทางที่ไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางคืออะไร “คนรุ่นนี้ยินยอมพร้อมใจที่จะอุทิศตนให้แก่อุดมคติใดๆ ที่ตนเองก็ไม่ตระหนักรู้ ราวดังกับว่าพวกเขาเป็นทหารกล้า ผู้ต่อสู้ยอมตายถวายชีวิต แม้ว่าตนจะไม่เคยรู้ว่าแผนการของแม่ทัพคืออะไร”

ไฮแบร์กตั้งข้อสังเกตว่า นี่มิใช่ภาวะของยุคสมัย แต่เป็นเพียงการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ จากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่งที่ยังไม่มาถึงเท่านั้น เป็นการเปลี่ยนผ่านที่สิ่งเก่าได้จบลงไปแล้ว และสิ่งใหม่กำลังเริ่มต้นจะกลายเป็นสภาวะทั่วไป ทั้งหมดนี้จึงทำให้เรียกยุคสมัยได้ว่าเป็นวิกฤต

ไฮแบร์กเรียกวิกฤตนี้ว่าเป็นวิกฤตอัตนิยม (subjectivism) หรือการกระจัดกระจาย (fragmentaion) ของคริสต์ศาสนา ซึ่งไม่ใช่หมายถึงความเสื่อมลง มีผู้นับถือน้อยลง ฯลฯ แต่เป็นวิกฤตที่การเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมต่างๆ ต่างกระจัดกระจายแยกออกจากกัน โดยไม่มีอะไรยึดโยงเนื้อในของความกระจัดกระจายนี้เอาไว้ เส้นที่ยึดโยงถูกตัดเฉือนทิ้ง ผู้สมาทานตนในวงการต่างๆ ในเวลานี้มองไม่เห็นเอกภาพ (unity) ระหว่างตนและผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับตน

คริสตอฟเฟอร์ วิลเฮล์ม เอคเคอร์สแบร์ก (ที่มาภาพ)

เขายกตัวอย่างในคริสต์ศาสนา ว่าเอกภาพระหว่างเหตุผลและศรัทธาถูกสะบั้นลง และถูกนำเสนอว่าเป็นคนละกลุ่มกัน ระหว่างนักเหตุผลด้านหนึ่ง และระหว่างผู้ยึดความเชื่อดั้งเดิมอีกด้านหนึ่ง เป็นต้น

ไฮแบร์กเห็นว่า วิธีการจะแก้ไขวิกฤตนี้คือการต้องกู้คืนวิภาษวิธี (dialectics) ซึ่งจะมาเป็นตัวกลางหรือตัวเชื่อม (mediation) เพื่อสมานความกระจัดกระจายให้เกิดเอกภาพ เขาประกาศว่าปรัชญาจะเป็นสิ่งช่วยกู้วิกฤตของยุคสมัยได้

อย่างเช่น วิภาษวิธีจะเป็นตัวกลางช่วยวิกฤตทางศาสนาได้ ทั้งนักเหตุผล และระหว่างผู้ยึดความเชื่อดั้งเดิม ต่างก็จะสามารถอ้างความจริงได้ แม้ว่าจะเป็นความจริงอันเป็นปฏิปักษ์กันก็ตาม แต่ก็จะยึดโยงกันอยู่ภายใต้เอกภาพ

ตัวกลาง

แม้ว่าซอเร็น เคียเกอร์การ์ด จะเห็นร่วมกับไฮแบร์กว่า ยุคสมัยที่พวกเขาอยู่นั้นเรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งวิกฤต ทั้งยังเห็นว่าวิภาษวิธีเป็นองค์ประกอบสำคัญของการช่วยกู้วิกฤตของยุคสมัย ดังจะเห็นใน Concluding Unscientific Postscript (1992) 

แต่เขาเห็นว่ามีลักษณะของความเป็นมนุษย์ที่ทำให้วิภาษวิธีเป็นไปได้ยากยิ่ง กระทั่งถึงขนาดต่อต้านวิภาษวิธีด้วยซ้ำไป

ที่สำคัญคือเคียเกอร์การ์ดมิได้เห็นวิภาษวิธีในฐานะตัวกลางในการสร้างความเป็นเอกภาพท่ามกลางความกระจัดกระจายเช่นเดียวกับที่ไฮแบร์กเห็น เขายังเห็นว่าแต่ละพื้นที่ทางวัฒนธรรมต้องแยกกัน แต่การแยกนี้จะต้องกระทำอย่างตระหนักรู้ในฐานะการธำรงอันแยกกันระหว่าง การดำรงอยู่ทางสุนทรียะ (aesthetic) การดำรงอยู่ทางศีลธรรม (ethical) และการดำรงอยู่ทางศาสนา (religious)

เคียเกอร์การ์ดเรียกวิธีการเช่นนี้ว่า วิภาษวิธีเชิงคุณภาพ (qualitative dialectics) เพื่อมุ่งสร้างเส้นแบ่ง สร้างความแตกต่าง มิใช่เพื่อสร้างเอกภาพ แต่เป็นความแตกต่างอันตระหนักรู้ในฐานะคริสตศาสนิก ดังนั้นความแตกต่างจึงต้องชัดเจน

ซอเร็น เคียเกอร์การ์ด (ที่มาภาพ)

ในการตีความเช่นนี้ เคียเกอร์การ์ดจึงปฏิเสธวิภาษวิธีที่ถูกใช้ในฐานะตัวกลาง เพราะการมีตัวเชื่อม/ตัวกลางนั้นทำให้ชีวิตมนุษย์ง่ายขึ้น: มนุษย์ไม่ต้อง เลือก เพราะมีตัวกลางเชื่อมระหว่างสองสิ่งไปเรียบร้อยแล้ว

เช่น มนุษย์ไม่ต้องเลือกระหว่างชีวิตทางสุนทรียะและชีวิตทางศีลธรรม เพราะวิภาษวิธี (แบบที่ไฮแบร์กใช้) ทำหน้าที่สร้างเอกภาพให้เรียบร้อยแล้ว มีหนทางที่ชีวิตจะเป็นไปได้ทั้งสองทางแล้ว มีทางออกที่ง่ายเสียแล้ว เป็นต้น

เคียเกอร์การ์ดปฏิเสธสภาวะเช่นนี้ เพราะมนุษย์ต้องเลือก การเลือกจึงเป็นพันธกิจที่ยากเย็นสำหรับมนุษย์ เพราะการเลือกนั้นหมายถึงการสูญเสียสิ่งที่ไม่ได้เลือก

ตัวกลางทำให้ชีวิตทางศีลธรรม-ศาสนาง่ายขึ้น เพราะมนุษย์ไม่ต้องเลือก “อะไรเล่าคือตัวกลาง เมื่อตัวกลางเหล่านั้นต้องการเพียงเสือกตัวเองเข้ามาในชีวิตทางศีลธรรมและชีวิตทางศาสนา? ตัวกลางนี้เป็นสิ่งสร้างอันน่าอดสูของคนผู้ไม่ซื่อสัตย์กับตนเองและพ่ายแพ้ ตัวกลางเป็นของปลอมที่สร้างโดยคนคร้าน”

เมื่อมีตัวกลาง มนุษย์ก็ไม่ต้องเผชิญความอันตรายอันสมบูรณ์ (absolute danger) และสิ่งท้าทายความบากบั่นอันสมบูรณ์ (absolute strenuousness) มนุษย์จึงไม่สามารถเชื่อมโยงกับอนันต์ (infinite) ผ่านตัวกลาง และชีวิตมนุษย์ก็จะเหลือเพียงความเชื่อมโยงกับชีวิตอันมีจุดสิ้นสุดในเวลาของแต่ละวันเท่านั้น

ยุคทอง

ยุคต้นศตวรรษที่ 19 ของเดนมาร์กผลิตความคิดและการถกเถียงสำคัญ รวมทั้งวัฒนธรรมและวิทยาการในแขนงต่างๆ ซึ่งหลายครั้งส่งอิทธิพลไปในที่อื่น (ยกตัวอย่างเช่นการรับงานของเคียเกอร์การ์ดเข้าไปในเยอรมนีช่วง 1900-1945 เป็นต้น) ยุคที่เรียกว่าเป็นยุควิกฤตนี้ อันที่จริงก็ดูเหมือนว่าจะเป็นยุคทองในเวลาเดียวกัน และควรจะเป็นเช่นนั้นด้วย


อ้างอิง

Jon Stewart and Nathaniel Kramer (eds.), The Crisis of the Danish Golden Age and Its Modern Resonance (2020)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save