fbpx
ผู้ก่อการรัก The Crying Game

ผู้ก่อการรัก The Crying Game

เมื่อปี 1992 โรเจอร์ อีเบิร์ต นักวิจารณ์ชื่อดัง (เสียชีวิตแล้วในปี 2013) เขียนถึงหนังเรื่อง The Crying Game แสดงความชื่นชมไว้มากมายแบบระมัดระวัง พยายามไม่แตะต้องพูดถึงเนื้อเรื่อง ก่อนจะทิ้งท้ายเชิญชวนและกำชับผู้อ่านว่า See this film. Then shut up about it.

นั่นหมายความกว้างๆ ได้ว่า The Crying Game เป็นหนังควรค่าแก่การชมชนิดห้ามพลาด ขณะเดียวกันก็บรรจุความลับสำคัญบางอย่าง ซึ่งผู้ชมที่ดูแล้ว จำต้องช่วยกันปกปิดมิให้แพร่งพราย

พูดอีกแบบคือ The Crying Game เป็นหนังประเภทว่า ยิ่งผู้ชมรู้ข้อมูลล่วงหน้าน้อยนิดเท่าไร ยิ่งเป็นการดีมากเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม มีแง่มุมที่สามารถรู้ก่อน และไม่กระทบบั่นทอนต่ออรรถรสในการดู

The Crying Game เป็นหนังปี 1992 ผลงานกำกับและเขียนบทของ นีล จอร์แดน คนทำหนังชาวไอริช ซึ่งประสบความสำเร็จในบ้านเกิด โดยเฉพาะผลงานยอดเยี่ยมเรื่อง Mona Lisa ในปี 1986 จนกระทั่งมีโอกาสได้ไปทำหนังในฮอลลีวูด

แต่นั่นเป็นอีกครั้งที่ฮอลลีวูดทำ ‘เสียของ’ จำกัดศักยภาพคนทำหนังฝีมือดีให้สร้างงานในแนวทางที่ไม่ใกล้เคียงกับความเป็นตัวของตัวเองของศิลปิน เพื่อมุ่งหวังผลด้านการตลาดเพียงอย่างเดียว นีล จอร์แดนซึ่งถนัดสันทัดในหนังดรามาจริงจัง ได้รับมอบหมายให้ทำหนังตลกแฟนตาซีอย่าง High Spirits (1988) และงานรีเมคหนังตลกคลาสสิกปี 1955 เรื่อง We Are No Angels (1989)

ทั้งสองเรื่องล้วนล้มเหลวไม่เป็นท่า ส่งผลให้นีล จอร์แดนต้องซมซานกลับมาตายรังในสภาพบอบช้ำ และเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง ก่อนจะมาประสบความสำเร็จถล่มทลายกับ The Crying Game

เมื่อแรกเริ่มออกฉายที่อังกฤษ The Crying Game ล้มคว่ำไม่เป็นท่า พร้อมกับความเห็นในแง่ลบ โดยเฉพาะข้อกล่าวหาจากหลายๆ ปากเสียง ว่าหนังมีท่าทีโน้มเอียงไปทางเชิดชูผู้ก่อการร้าย IRA

แต่เมื่อออกฉายที่อเมริกา การณ์กลับกลายเป็นตรงกันข้าม หนังชนะใจบรรดานักวิจารณ์ ซึ่งพร้อมใจกันเชียร์ และช่วยปกปิดความลับของหนัง (ดังเช่นกรณีของโรเจอร์ อีเบิร์ต ส่งผลให้ประสบความสำเร็จกลายเป็นหนังทำเงิน และติดกลุ่ม 1 ใน 10 หนังยอดเยี่ยมประจำปีของหลายสถาบัน)

รวมทั้งกลับไปประสบความสำเร็จที่อังกฤษ จากการออกฉายอีกครั้ง

เส้นทางอาชีพหลังจากนั้นของนีล จอร์แดน ค่อนข้างลุ่มๆ ดอนๆ มีผลงานในเกณฑ์น่าพึงพอใจสลับกับชวนผิดหวังปนเปกัน ไม่ใช่ผู้กำกับที่โดดเด่นน่าจับตามองอีกต่อไป แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงมีผลงานออกมาเป็นระยะๆ

จนถึงปัจจุบัน The Crying Game กลายเป็นจุดสูงสุดและเป็นงานระดับมาสเตอร์พีซของนีล จอร์แดน

The Crying Game เล่าถึงชายหนุ่มชื่อเฟอร์กัส ซึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิก IRA (Irish Republican Army หรือกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นขบวนการชนกลุ่มน้อยชาวไอริชที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในไอร์แลนด์เหนือ เพื่อต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากสหราชอาณาจักรด้วยวิธีใช้ความรุนแรง)

เรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อเฟอร์กัสและพรรคพวกลงมือปฏิบัติการจับทหารอังกฤษชื่อโจดี้เป็นตัวประกัน เพื่อเจรจาแลกเปลี่ยนนักโทษกับฝ่ายรัฐบาลอังกฤษ

ระหว่างรอคอยผลลัพธ์จากการเจรจา เฟอร์กัสได้รับมอบหมายให้เฝ้านักโทษตามลำพัง เปิดช่องให้โจดี้ซึ่งฉลาดและช่างสังเกตมากพอจะจับอ่านนิสัยใจคอของอีกฝ่ายเริ่มต้นชวนพูดคุย จากบทสนทนาเบ็ดเตล็ดที่ปราศจากประเด็นเป็นแก่นสาร ทั้งคู่ค่อยๆ คุ้นเคยและคุยกันเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้นตามลำดับ จนหลายวันผ่านไป บทสนทนานั้นก็นำไปสู่การรู้จักมักคุ้นเรื่องราวในชีวิตของกันและกัน กลายเป็นมิตรภาพและความผูกพันบางๆ

เมื่อทราบผลแน่ชัดว่าการเจรจาต่อรองแลกเปลี่ยนนักโทษล้มเหลว เฟอร์กัสได้รับคำสั่งจากหัวหน้าทีมให้เป็นผู้ลงมือสังหารตัวประกัน ซึ่งชายหนุ่มตกปากรับคำเป็นมั่นเหมาะว่าเขาสามารถทำได้ แต่ครั้นต้องลงมือจริงๆ เฟอร์กัสก็เกิดอาการลังเลสับสน จนกระทั่งเหตุการณ์ลงเอยแบบเลยเถิดไปไกลเกินกว่าจะควบคุมได้

หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เฟอร์กัสตัดสินใจเดินทางหลีกลี้จากเบลฟาสต์ไปยังลอนดอนด้วยหลายๆ เหตุผล เบื้องต้นคือ ชายหนุ่มกังวลต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของตนเอง ด้วยไม่อาจทราบแน่ชัดว่าบรรดาสมาชิกขบวนการ IRA จะมองว่าเขาเป็นผู้ทรยศและเป็นต้นตอสาเหตุแห่งความล้มเหลวผิดพลาดหรือไม่

เหตุผลต่อมาเป็นการสานต่อในสิ่งที่โจดี้เคยขอร้องไว้ และเฟอร์กัสตกปากรับคำ นั่นคือ การไปส่งข่าวและทำบางสิ่งบางอย่างให้กับดิล (คนรักของโจดี้)

ที่ลอนดอน เฟอร์กัสเปลี่ยนแปลงตนเองตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอก เปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามมาเป็นจิมมี ลบล้างร่องรอยตัวตนเดิม กลายเป็นคนใหม่ที่ไม่เชื่อมต่อกับอดีต ทำงานเป็นช่างก่อสร้าง หาโอกาสไปพบปะและพยายามทำความรู้จักกับดิล (ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงยิ่งว่าเฟอร์กัสแอบตกหลุมรักดิลตั้งแต่แรกเห็นภาพถ่าย และได้ฟังเรื่องเล่าจากปากคำของโจดี้)

เรื่องราวที่เหลือถัดจากนั้นของหนังว่าด้วยความรักระหว่างเฟอร์กัสกับดิล ซึ่งก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การเผชิญกับอุปสรรคสำคัญ

อุปสรรคแรกนั้นไม่อาจบอกกล่าวในที่นี้ได้ ส่วนอุปสรรคต่อมาคือ อดีตที่เฟอร์กัสพยายามละทิ้งและลืมเลือนได้ติดตามมาหลอกหลอนอย่างสลัดไม่หลุด

บรรดาเพื่อนร่วมทีม IRA สืบเสาะร่องรอยของเฟอร์กัสจนพบ และยื่นข้อเสนอบางประการให้เขามีส่วนร่วมในแผนก่อการร้ายครั้งต่อไปเพื่อลบล้างความผิดในอดีต (หรืออีกนัยหนึ่งคือ เพื่อพิสูจน์ตนเองว่าไม่ใช่คนทรยศ และยังคงภักดีต่ออุดมการณ์ของขบวนการไม่แปรเปลี่ยน) โดยมีความปลอดภัยในชีวิตของดิลเป็นเครื่องต่อรอง

โดยแนวทางแล้ว The Crying Game ได้รับการจัดประเภทกว้างๆ ให้เป็นหนังอาชญากรรม ตื่นเต้นระทึกขวัญ ดรามา และเป็นหนังรักโรแมนติก ซึ่งก็เป็นไปตามนั้นครบถ้วนทุกอรรถรสและทำออกมาได้ถึงพร้อมดีงาม แต่น้ำหนักที่โดดเด่นสุดคือ เป็นหนังรักที่โรแมนติกมากๆ อีกเรื่องหนึ่ง

ความโรแมนติกและเป็นหนังรักของ The Crying Game นั้น สามารถนิยามง่ายๆ ด้วยการโปรยว่า อยู่ในระดับ ‘ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ’ ได้สบายๆ เลยนะครับ แตกต่างเพียงว่าเป็น ‘ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ’ ฉบับเข้มข้นจริงจัง และมีเนื้อหาฉากหลังพัวพันข้องเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและการก่อการร้ายอย่างแนบแน่น

ความโดดเด่นอันดับแรกของ The Crying Game ก็คือ เป็นงานเขียนบทภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมมากๆ เล่าเรื่องความรัก ซึ่งพิจารณากันตามลำดับเค้าโครง ต้น กลาง ปลายแล้ว ไม่ต่างจากเรื่องรักทั่วๆ ไป (คู่รักพบเจอรู้จักกัน สานต่อพัฒนาความสัมพันธ์ เกิดข้อขัดแย้งไม่ลงรอย จากนั้นก็มีการสะสางคลี่คลาย และนำไปสู่การเสียสละ ‘ทำเพื่อความรัก’ ที่ซาบซึ้งตรึงใจ) ให้ออกมาผิดแผกแตกต่าง เกิดเป็นรสล้ำเลิศเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร

ความแปลกใหม่ของ The Crying Game ซึ่งยังปรากฎชัด แม้จะดูกันในปัจจุบันที่ผ่านมาแล้วถึง 29 ปี ก็คือ บรรยากาศเฉพาะตัว (ตรงนี้ยากจะอธิบายและพรรณนาได้ ต้องไปดูกันเองนะครับ), การผสมสองส่วนที่ขัดแย้งตรงข้าม (เหตุก่อการร้ายและความรัก) ซึ่งไม่น่าจะเข้ากันได้ออกมาอย่างกลมกลืนแนบเนียน, การเล่าเรื่องในลักษณะ ‘เล่นท่ายาก’ เต็มไปด้วยโจทย์มหาหิน ท้าทายฝีมือของคนทำหนัง และประสบผลสำเร็จเต็มร้อย, อารมณ์อันหลากหลายของหนังที่ดึงความรู้สึกร่วมของผู้ชมไปได้ถึงขีดสุดทุกด้าน และเหนือสิ่งอื่นใดคือ การทำให้หนังมีทั้งความหนักแน่นและความลึก

ผมคิดว่าช่วงเริ่มเรื่องราวๆ 20-30 นาทีแรก เป็นแบบอย่างของการ set up ที่ยอดเยี่ยมมาก มันเปิดฉากเป็นหนังเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองเต็มตัว ดำเนินเรื่องเนิบช้า อุดมไปด้วยบทสนทนายืดยาวและมากมาย น้ำเสียงท่าทีในการบอกเล่า จริงจังเคร่งขรึม ชวนให้รู้สึกตึงเครียด จนผมตีตนไปก่อนไข้ คาดคะเนว่าน่าจะเป็นหนังหนักอึ้งดูยาก และไม่บันเทิง

ร้ายกาจกว่านั้นคือ เป็นการปูเรื่องราวโดยบอกเล่าแค่สถานการณ์กว้างๆ แนะนำบรรดาตัวละครหลัก แต่ไม่ลงสู่รายละเอียดพื้นเพความเป็นมาของตัวละคร ผู้ชมไม่ทราบเลยว่า เฟอร์กัสเป็นใคร? มาจากไหน? มีประวัติชีวิตเช่นไร?

ความน่าทึ่งอันดับแรกคือ จากจุดแรกเริ่มที่คุยกันเคร่งเครียด และต่อมายังคงดำเนินเรื่องด้วยฉากสนทนาแบบเหตุการณ์หยุดนิ่งไม่คืบหน้า เป็นตอนไหนก็ไม่ทราบนะครับ ที่จู่ๆ ผู้ชมก็เปลี่ยนความรู้สึกไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว พบว่าหนังสนุกชวนติดตามขึ้นมาซะงั้น (และถัดจากนั้นไปจนจบก็สนุกครบรสตลอดทั้งเรื่อง)

แต่ที่ยอดเยี่ยมสุดคือ ช่วง set up ที่พูดคุยกันยืดยาว และใช้วิธีเลือก ‘ไม่เล่าที่มาที่ไป’ ของตัวละคร หนังกลับพาผู้ชมไปทำความรู้จักและเข้าใจพื้นนิสัยของตัวละครอย่างละเอียดถี่ถ้วน

พูดง่ายๆ คือ ผู้ชมไม่รู้ว่าตัวละครเป็นใครมาจากไหน แต่ทราบกระจ่างถ่องแท้ว่า เขาเป็นคนอย่างไร ซึ่งจะมีผลสำคัญต่อการติดตามเรื่องราวและทำความเข้าใจเหตุการณ์ในหนังช่วงต่อมาทั้งหมด

ในแง่ของการติดตามเหตุการณ์เนื้อเรื่อง The Crying Game เป็นหนังดูง่าย ดูสนุก ไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ว่ากันในทางเนื้อหาสาระว่า หนังสะท้อนถึงประเด็นแก่นสารอันใด ผมคิดว่าเป็นสิ่งตรงกันข้าม มีความสลับซับซ้อนและแง่มุมอันหลากหลายอยู่มาก สุดแท้แต่การอ่านจับความหมายของผู้ชมแต่ละท่าน

ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ขออนุญาตสรุปรวบรัดถึงจุดเด่นอื่นๆ ของหนังให้ครบถ้วนกระบวนความนะครับ พ้นจากบทภาพยนตร์ที่ถึงพร้อม และเป็นวิธีการเขียนบทแบบยึดตามหลักเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป เล่าเรื่องตรงไปตรงมาด้วยวิธีการดั้งเดิมตามขนบตามตำรา ไม่ได้โลดโผนพลิกแพลงอะไรเป็นพิเศษ ความโดดเด่นอีก 2 ประการ ซึ่งหนุนเสริมให้บทซึ่งเขียนดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพิ่มทวีความดีงามขึ้นอีกอักโข ก็คือ ฝีมือการกำกับและสร้างอารมณ์ร่วมได้อย่างมีจังหวะจะโคนแม่นยำ และการแสดงแบบเล่นดีน่าประทับใจมากในทุกบทบาทตัวละครสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สตีเฟน เร ในบทเฟอร์กัส, ฟอเรสต์ วิทเทเกอร์ ในบทโจดี้, เจย์ เดวิดสัน ในบทดิล และ มิแรนดา ริชาร์ดสัน ในบทจูด (ตัวละครนี้ผมไม่ได้กล่าวถึงในเรื่องย่อ แต่เป็นอีกบทสำคัญ)

ผมคะเนว่า อีกหลายปีในอนาคตข้างหน้า ถึงตอนนั้นถ้าความจำยังพอจะใช้การได้อยู่ เมื่อผมย้อนนึกถึงหนังเรื่อง The Crying Game สองสิ่งแรกที่ผมน่าจะและควรจะรำลึกได้ก่อนอื่นใดก็คือ มันเป็นหนังรักที่มีความโรแมนติกมากสุดอีกเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยดูมา และเป็นหนังที่ท้าทายและน่าสนใจในการจับประเด็นอ่านความหมาย

น้ำหนักที่เด่นชัดสุดเท่าที่ผมมองเห็น คือการสะท้อนถึงความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ระหว่างปัญหาทางการเมืองอันสลับซับซ้อนกับความเป็นมนุษย์ของปัจเจกชน (ซึ่งน่าจะสลับซับซ้อนยิ่งกว่า)

ตัวละครเฟอร์กัสในหนังมีความคิดความเชื่อ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเป้าหมายและวิธีการของ IRA นะครับ แต่เงื่อนไขปัจจัยที่เขาเองอาจไม่ตระหนักนึกถึงหรือไม่รู้ตัวมาก่อน ก็คือพื้นนิสัยถาวร (ในคำบรรยายไทยของหนังใช้คำว่า ‘สันดาน’) แง่มุมนี้หนังอธิบายผ่านนิทานเปรียบเปรยเรื่องแมงป่องกับกบ (ทั้งในช่วงต้นและสรุปปิดท้ายเรื่อง)

พูดอีกแบบคือ The Crying Game ใช้พล็อตเรื่องรักบนความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเครื่องมือสำรวจถึงธรรมชาติมนุษย์

แง่มุมเรื่องการเมืองในหนัง นำเสนอเป็นภาพกว้างให้ผู้ชมได้เห็นถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดถึงเหตุผลของแต่ละฝ่ายโดยถี่ถ้วน หรือทิ้งประเด็นชวนถกเถียงอื่นใด อย่างไรก็ตาม หนังได้ทิ้งรายละเอียดเชิงสัญลักษณ์ไว้บ้างเหมือนกัน นั่นคือ การพูดคุยถึงกีฬาคริกเก็ต และการเน้นย้ำให้เห็นตัวละคร (ทั้งโจดี้ในภาพที่เฟอร์กัสนึกถึง และดิลสวมเสื้อสำหรับใส่เล่นคริกเก็ต) ซึ่งแฝงนัยยะไปถึงความเป็นเจ้าอาณานิคมของอังกฤษ แต่ความหมายในระดับลึกและชัดเจนกว่านั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง ผมยังนึกไม่ออกและไม่ได้ไตร่ตรองอย่างจริงจังนะครับ       

ตรงส่วนที่แหลมคมสุดและซับซ้อนมากสุดของหนัง คือการที่คนอย่างเฟอร์กัสต้องเผชิญกับข้อขัดแย้งในใจอันใหญ่หลวงกับอีกอุปสรรคความรัก (ที่ผมละเว้นไม่ได้เล่าถึง) จนกระทั่งตกอยู่ในสภาพอิหลักอิเหลื่อกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

แง่มุมนี้หนังเล่าอย่างชาญฉลาดมาก ว่าเมื่อเฟอร์กัสต้องเจอโจทย์ยุ่งยากในชีวิต เขาตัดสินใจทำอย่างไรต่อไป ด้วยการเล่าถึงการคลี่คลายในเวลาถัดมา เฉพาะเพียงแค่สิ่งต่างๆ ที่เขากระทำและแสดงออก แต่ปราศจากการให้เหตุผลหรือคำอธิบายใดๆ (ตรงนี้เป็นความยอดเยี่ยมอีกอย่างหนึ่งของการเขียนบทและช่วง set up ที่ดีเหลือเกิน ถึงขั้นที่ผู้ชมสามารถยอมรับและคล้อยตามทุกการกระทำของตัวละคร โดยไม่รู้สึกนึกแย้งหรือต่อต้าน) จนกลายเป็นการนำผู้ชมไปสู่การตีความค้นหาเหตุผลว่า เป็นการกระทำเพราะต้องการลบล้างปมรู้สึกผิดเบื้องลึกในใจ เป็นการกระทำเพราะความรัก หรือเป็นการกระทำด้วยความหมกมุ่นลุ่มหลงและแรงปรารถนาอันลึกเร้น

ตามความเข้าใจของผม มันประกอบไปด้วยทุกเหตุผลรวมกัน (แต่ไม่ทราบหรอกนะครับว่า อัตราส่วนอย่างไหนจะมากน้อยกว่ากัน) และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผมรู้สึกว่า หนังเรื่องนี้โรแมนติกมาก

มีการตั้งคำถามในตอนจบว่า ทำไมเฟอร์กัสจึงทำดังเช่นที่ปรากฎ คำตอบอ้อมๆ จากตัวละครก็คือ การเล่านิทานเรื่องแมงป่องกับกบ (ซึ่งผู้ชมต้องนำไปใคร่ครวญไตร่ตรองอีกทีว่า แท้จริงแล้วมันหมายความว่าอย่างไร?)

หนังยังมีแง่มุมอื่นๆ อีกนะครับ แต่สามารถพูดได้เพียงแค่อ้อมแอ้มหลบเลี่ยง นั่นคือ อคติและความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ, ผิวสี รวมทั้งเพศ

อันที่จริง The Crying Game ไม่ได้รับคำวิจารณ์เป็นเอกฉันท์ไปเสียทั้งหมดหรอกนะครับ ความเห็นในทางลบก็มีอยู่เยอะทีเดียว ทว่าข้อตำหนิโจมตีส่วนใหญ่ ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับคุณภาพของตัวหนัง แต่พูดถึงมุมมองที่นีล จอร์แดนมีต่อ IRA (มีทั้งเสียงโจมตีว่า หนังเข้าข้าง IRA เกินไป และอคติต่อ IRA มากเกินไป)

แต่สิ่งสำคัญก็คือ The Crying Game ไม่ใช่หนังที่มุ่งเสนอเรื่องราวของ IRA แต่ใช้เรื่องราวของ IRA มาเป็นตุ๊กตาสำหรับขับเคลื่อนไปสู่การสะท้อนถึงธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ และนำเสนอออกมาได้อย่างเปี่ยมด้วยความเป็นศิลปะ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save