fbpx
กระแสควีน | กระแส The Crown

กระแสควีน | กระแส The Crown

ซีรีส์ที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงอยากมากในช่วงปีที่ผ่านมา คือซีรีส์เรื่อง The Crown อันเป็นละครชีวประวัติ (Biographical Drama) ของบุคคลสำคัญที่สุดในโลกคนหนึ่ง

ใช่แล้วครับ – คนคนนั้นก็คือ ‘ควีนเอลิซาเบธที่สอง’ ของชาวสหราชอาณาจักรนั่นเอง

 

The Crown จบซีซันแรกไปแล้ว และกำลังจะกลับมาอีกครั้งในซีซันที่สอง ในวันที่ 8 ธันวาคมที่จะถึงนี้

นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ ที่งานภาพยนตร์ชุดแนว Pop Culture อย่างซีรีส์เรื่องนี้ จะกลับไปฟื้นความนิยมในตัวสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษกลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวว่า ควีนทรงทอดพระเนตรซีรีส์เรื่องนี้ด้วยพระองค์เอง และคนในราชวงศ์ทั้งหลายก็มีความรู้สึกทั้ง Nervous และ Excited คือทั้งเป็นกังวลและตื่นเต้นไปพร้อมๆ กันด้วยเมื่อซีรีส์เรื่องนี้ออกฉาย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาใกล้ๆ กันกับที่ The Crown ออกฉาย ยังมีสารคดีอีกชุดหนึ่งออกฉายทาง Channel Four ของอังกฤษด้วย สารคดีชุดนั้นมีชื่อง่ายๆ ว่า The Royal House of Windsor (หาดูได้ทาง Netflix เช่นเดียวกับ The Crown)

ถ้า The Crown ให้ภาพชีวิตที่ ‘สมจริง’ และโอ่อ่าผ่านการแสดงของตัวละครที่เนี้ยบเนียนละเอียด The Royal House of Windsor ก็เป็นสารคดีที่นำเสนอข้อมูล ‘ความจริง’ ที่หลายเรื่องไม่เคยเปิดเผยมาก่อนทางโทรทัศน์ เช่นจดหมายที่กษัตริย์ทรงมีไปถึงพระโอรส (หรือกลับกัน) รวมไปถึงข้อมูลลึกๆ บางอย่างที่เพิ่งเปิดเผยสู่สาธารณชนเมื่อเวลาผ่านไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ

ถ้าใครดู The Crown แล้วงงๆ กับที่มาที่ไปของควีน รวมถึงตัวละครต่างๆ ในเรื่อง The Royal House of Windsor จะช่วยปูพื้นให้คุณเข้าใจรายละเอียดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะข้อมูลหลายเรื่องที่ ‘ช็อกโลก’ ไม่น้อย

ตัวอย่างของข้อมูลช็อกโลกที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าจอร์จที่ห้า (ผู้เปลี่ยนชื่อราชวงศ์มาเป็นราชวงศ์วินด์เซอร์ ด้วยเหตุผลทางการเมืองล้วนๆ) กับโอรสองค์โตที่ต่อมาคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปด (ผู้แต่งงานไปกับวอลลิส ซิมพ์สัน สาวอเมริกันที่เคยหย่าร้างมาแล้ว เลยต้องสละราชสมบัติ)

แม้เอ็ดเวิร์ดจะเป็นเจ้าชายและเป็นมกุฏราชกุมารที่ประชาชนนิยมมากๆ แต่กลับเคยเขียนจดหมายหาเพื่อน บอกว่าเบื่อหน่ายการเป็นเจ้ามากๆ และเห็นว่าราชวงศ์นั้นเป็นสิ่งที่ล้าสมัย สมควรจะ ‘ยกเลิก’ ได้แล้ว แต่พร้อมกันนั้นก็เขียนออกตัวขำๆ ด้วยว่า – พระองค์ไม่ได้เป็นพวกบอลเชวิก (กลุ่มล้มล้างราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซีย) หรอกนะ

ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นช่วงที่หลายราชวงศ์ในยุโรปต้องล้มหายตายจากไป ไม่ว่าจะเป็นราชวงศ์ในเยอรมนี ออสเตรีย หรือกระทั่งรัสเซียเอง แต่ราชวงศ์อังกฤษกลับยังอยู่ได้ นั่นทำให้ตอนแรกของซีรีส์ The Royal House of Windsor ตั้งชื่อเอาไว้ ‘โหดสัสรัสเซีย’ มากว่า Adapt or Die คือถ้าไม่ปรับตัวก็ต้องตาย เนื่องจากราชวงศ์อังกฤษมีการปรับตัวขนานใหญ่ถึงระดับที่ต้องเปลี่ยนชื่อราชวงศ์กันเลยทีเดียว

เมื่อดูแล้ว หลายคนอาจเกิดคำถามขึ้นว่า – แล้วในปัจจุบันล่ะ ราชวงศ์อังกฤษยังสามารถปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดีเหมือนสมัยก่อนหรือเปล่า

คำตอบไม่ได้อยู่ที่ความนิยมในซีรีส์ The Crown เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังอยู่ในผลโพลจากหลายสำนักโพลด้วย

โพลหนึ่งที่เป็นเหมือนการโหวตกันสดๆ ทางออนไลน์ คือ isidewith ล่าสุดขณะเขียนต้นฉบับนี้สนับสนุนการมีราชวงศ์มากถึง 83% ส่วนที่อยากให้ยกเลิกมีเพียง 17% เท่านั้น แต่กลุ่มที่สนับสนุนให้อังกฤษมีราชวงศ์ บางส่วนก็เป็นกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น 8% บอกว่าราชวงศ์ควรต้องดูแลค่าใช้จ่ายเอง (Self Funded) และควรต้องจ่ายภาษีด้วย อีก 3% บอกว่าควรยังคงอยู่ แต่ให้ลดค่าใช้จ่ายลง แต่ที่เห็นว่าราชวงศ์มีคุณค่าต่ออังกฤษในด้านการท่องเที่ยว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และด้านการกุศล ก็มีมากถึง 6%

ที่จริงต้องบอกคุณว่า อังกฤษนั้นมีการทำสำรวจตลอดมา ว่าควรมีการยกเลิกการมีราชวงศ์หรือเปล่า เช่นผลสำรวจของ IPSOS-MORI ซึ่งเป็นบริษัททำสำรวจด้านการตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสองในสหราชอาณาจักร ได้ทำสำรวจเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 1993 จนกระทั่งถึงครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าทุกครั้งที่สำรวจ ราชวงศ์จะมีความนิยมสูงมาก คือคนอังกฤษราว 75-80% อยู่ฝั่งต้องการให้มีราชวงศ์ ไม่ต้องการให้ล้มเลิก

IPSOS-MORI บอกว่า ความนิยมในราชวงศ์ของคนอังกฤษนั้นไม่เคยเสื่อมคลายเลย ถ้าดู ‘เทรนด์’ ของความนิยม จะเห็นว่าค่อนข้างคงที่มาตลอด ยิ่งถ้าดูในรายละเอียด ก็จะยิ่งเห็นว่ามีบางเรื่องที่น่าสนใจ

ตัวอย่างเช่น ถ้าโพลถามว่า ‘คุณอยากจะให้อังกฤษเป็นสาธารณรัฐหรือยังคงมีราชวงศ์ต่อไป’ คนที่ตอบว่าอยากให้มีราชวงศ์จะอยู่ที่ราว 76% แต่ถ้าเปลี่ยนไปถามว่า ‘คุณคิดว่าอังกฤษควรจะมีประมุขของประเทศเป็นกษัตริย์หรือราชินีต่อไป หรือควรจะมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง ปรากฏว่าคำตอบของฝั่งที่อยากให้มีกษัตริย์จะพุ่งสูงขึ้นเป็น 86%

นักวิเคราะห์บางรายบอกว่า นั่นแสดงให้เห็นว่าตัวราชวงศ์อังกฤษในฐานะ ‘สถาบัน’ ได้รับการค้ำจุนจาก ‘ตัวบุคคล’ อย่างควีนเอลิซาเบธไม่น้อยเลย

จึงไม่น่าประหลาดใจ ที่เมื่อมีการถามว่า ควีนทรงมีพระชนมายุมากแล้ว พระองค์ควรจะเกษียณจากการทำงานได้แล้วหรือยัง มีเพียง 21% เท่านั้นที่ตอบว่าพระองค์ควรพักผ่อนได้แล้ว แต่มากถึง 70% เห็นว่าพระองค์ควรดำรงตำแหน่งควีนต่อไป

ที่น่าสังเกตก็คือ ปีที่คะแนนนิยมในราชวงศ์ตกต่ำที่สุด (คนสนับสนุนราชวงศ์เพียง 65%) คือปี 2005 เป็นปีที่เจ้าชายชาลส์อภิเษกสมรสกับคามิลลา ปาร์คเกอร์ โบลวส์ ปรากฏว่าปีถัดมา (คือปี 2006) ก็มีหนังเรื่อง The Queen ออกฉาย นำเสนอเรื่องของควีนเอลิซาเบธและราชวงศ์ในช่วงที่เจ้าหญิงไดอาน่าสิ้นพระชนม์ ฉากที่เป็นที่จดจำของผู้คนก็คือฉากที่ควีนทรงตอบสนองต่อปฏิกิริยาของประชาชนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากหนังออกฉาย ความนิยมในราชวงศ์ก็พุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง และไม่ใช่แค่ราชวงศ์โดยรวมเท่านั้น แต่ ‘ตัวบุคคล’ อย่างควีนเอลิซาเบธ ก็กลับมาเป็นที่ชื่นชมของคนรุ่นใหม่ๆ ไป ด้วย

The Economist เคยนำเสนอบทความเกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษ บอกว่าการที่ราชวงศ์ได้รับความนิยมต่อเนื่องมาตลอด 20 ปี (ตามโพลของ IPSOS-MORI) มีด้วยกันหลายเหตุผล แต่เหตุผลหลักๆ ก็คือความต่อเนื่องและขนบประเพณีนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า (เขาใช้คำว่า Value of Continuity and Tradition) คุณค่าที่ว่าไม่ใช่แค่คุณค่าทางเศรษฐกิจหรือตัวเงิน อย่างที่มีคนวิจารณ์ว่าราชวงศ์อังกฤษทำให้เกิดมูลค่าทางการท่องเที่ยวเพราะคนมาดูพระราชวังต่างๆ หรือมาชื่นชมในพระราชพิธีต่างๆ เท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าเชิงสังคมด้วย โดยเฉพาะในยามที่สถาบันอื่นๆ ตกต่ำ เช่นสถาบันทางการเมือง การมีบางสถาบันที่ยังคงเป็นหลักให้คนทั่วไปอยู่ถือเป็นคุณค่าทางจิตวิทยาที่สำคัญต่อสังคม

อย่างไรก็ตาม The Economist ก็แนะนำด้วยว่า ราชวงศ์ต้องมีการ ‘ปรับตัว’ ให้รับกับยุคสมัยอยู่เสมอ โดยยกตัวอย่างการปรับตัวของราชวงศ์ที่น่าสนใจ – คือราชวงศ์เบลเยี่ยม ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง

รัฐธรรมนูญเบลเยี่ยมตราไว้ว่า อธิปไตย (Sovereignty) ของเบลเยี่ยมอยู่ที่ประชาชน โดยกษัตริย์หรือราชินีแห่งเบลเยี่ยมถือเป็นประชาชนคนหนึ่ง (a people) ด้วยเหมือนกัน พระองค์หาใช่เป็น ‘ตัวประเทศ’ เบลเยี่ยมเองไม่ ดังนั้น การเป็นราชวงศ์เบลเยี่ยมจึงไม่ใช่สิทธิโดยกำเนิด ทว่าเป็นการมอบสัตย์สาบานกับประชาชนอื่นๆ ในประเทศ ว่าจะรักษารัฐธรรมนูญของประชาชนชาวเบลเยี่ยมเอาไว้

The Economist บอกว่า อังกฤษเคยช่วยเบลเยี่ยมร่างรัฐธรรมนูญมาก่อนเมื่อปี 1830 ตอนนี้อาจถึงเวลาที่เบลเยี่ยมจะตอบแทนกลับบ้างด้วยคำแนะนำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้

 

ระหว่างที่รอดู The Crown ก็ชื่นชมความนิยมในราชวงศ์อังกฤษของชาวอังกฤษกันไปพลางๆ ก่อนนะครับ เพราะเป็นความนิยมนี้เอง ที่น่าจะทำให้ซีรีส์ The Crown ซีซันที่สอง เป็นที่ฮือฮาน่าดูเหมือนที่เคยเป็นมาในซีซันหนึ่ง

ชวนรอชมกันครับ!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save