อาชญากรรมของอาชญากรรม

อาชญากรรมของอาชญากรรม

ปกป้อง ศรีสนิท เรื่อง

 

มนุษย์มักจะจัดลำดับหรือจัดชั้นของสรรพสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแชมป์เหนือแชมป์ สุดยอดคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ สุดยอดเหตุการณ์ต่างๆ อาชญากรรมก็ถูกมนุษย์นำมาจัดลำดับชั้นเช่นเดียวกันว่าอะไรคือสุดยอดของอาชญากรรม ซึ่งคงเป็นเรื่องสุดยอดในทางที่เลวร้ายมากกว่าสุดยอดในทางที่ดี

สุดยอดในทางเลวร้ายของอาชญากรรมไม่ใช่ความผิดฐานฆาตกรรม ความผิดต่อความมั่นคง หรือความผิดที่มีโทษประหารชีวิต สุดยอดอาชญากรรมกลับถูกลงโทษสูงสุดเพียงแค่จำคุกตลอดชีวิต เพราะหลักคิดของการลงโทษคนโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมากกว่าการแก้แค้นหรือข่มขู่

ศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกิจที่ระวันดา ในคดี Kambanda  ค.ศ. 1998[1] ได้กล่าวว่า การล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ (genocide) เป็น ‘อาชญากรรมของอาชญากรรม’ (the crime of crimes) หมายถึงเป็นสุดยอดอาชญากรรมทั้งปวงในโลก ดังนั้นการลงโทษจึงต้องคำนึงถึงความร้ายแรงสูงสุดของอาชญากรรมดังกล่าว และในคดีนั้นศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกิจที่ระวันดาได้พิพากษาลงโทษจำเลยสูงสุด คือ จำคุกตลอดชีวิต

 

การกระทำเกิดขึ้นก่อนคำนิยาม

 

การสังหารชาวยิวกว่า 6 ล้านคนโดยนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองโดยมีมูลเหตุแห่งความเกลียดชังและการทำลายเผ่าพันธุ์ยิวเป็นตัวอย่างของเหตุการณ์ล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์[2] หลังสงครามยุติ ศาลทหารระหว่างประเทศที่นูเรมเบิร์ก (The International Military Tribunal Sitting at Nuremberg) ได้ถูกตั้งขึ้นเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ศาลทหารฯ ได้พิพากษาว่าพรรคพวกนาซีได้กระทำความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อสันติภาพ โดยไม่ได้ลงโทษในความผิดล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ เพราะในขณะนั้นการกระทำดังกล่าวยังไม่มีคำนิยาม จึงยังไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร

คำว่า ‘genocide’ หรือการล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ถูกใช้ครั้งแรกโดย Raphael Lemkin ในปี 1944 ในหนังสือเรื่อง ‘อาชญากรรมนาซีในยุโรปที่ถูกยึดครอง’ (Nazi crimes in occupied Europe)[3] Lemkin เป็นชาวโปแลนด์เชื้อสายยิวที่ครอบครัวของเขาเกือบทั้งหมดถูกสังหารโดยนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ความหมายของ genocide ในเวอร์ชันของ Lemkin มีอิทธิพลถึงอนุสัญญาป้องกันและลงโทษการล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ ค.ศ. 1948 ต่อมาถูกบัญญัติซ้ำอีกครั้งในธรรมนูญกรุงโรมที่จัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ ข้อ 6[4] ซึ่งให้คำนิยามว่า “การล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ หมายถึง การกระทำต่างๆ ดังต่อไปนี้ ที่มุ่งทำลายทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของคนชาติ (national group) กลุ่มชาติพันธุ์ (ethnical group) กลุ่มเผ่าพันธุ์ (racial group) หรือกลุ่มศาสนา (religious  group)…”

 

‘การล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์’ ความหมายที่กว้างกว่า ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’

 

พจนานุกรมมักแปลว่าคำ genocide คือ ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ แต่แท้จริงแล้ว genocide ควรถูกแปลว่า ‘การล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์’[5] มากกว่า เพราะ genocide อาจหมายถึงการฆ่า หรือการกระทำอื่นๆ อีกหลายอย่างที่มีมูลเหตุจูงใจที่ต้องการทำลายล้างกลุ่มคนที่ได้รับความคุ้มครอง

การกระทำที่ต้องการทำลายล้างกลุ่มคนบางกลุ่มโดยการฆาตกรรมเป็น genocide อย่างแน่นอน แต่ genocide ยังหมายรวมถึง การทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เหยื่อได้รับอันตรายสาหัส หรือการกระทำต่อปัจจัยดำรงชีพของกลุ่มคน เช่น หากไม่ชอบกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง จึงปิดล้อมทำลายแหล่งน้ำแหล่งอาหารเขา แม้เขายังไม่ตายทันที แต่เขาไม่มีปัจจัยดำรงชีพ ก็เป็นการกระทำ genocide ได้

genocide อาจหมายถึงการบังคับทำหมันกลุ่มคนก็ได้ เช่น ไม่ฆ่าเขา แต่บังคับพวกเขาให้ทำหมันจะได้ไม่ต้องมีลูกหลานเผ่าพันธุ์นั้นสืบเผ่าพันธุ์อีกต่อไป

นอกจากนี้ genocide อาจหมายถึงการบังคับเด็กย้ายถิ่นก็ได้ เช่น บังคับย้ายเด็กออกมาจากเผ่าพันธุ์เดิมเพื่อให้เขาลืมวัฒนธรรมเดิม

 

เล็กๆ ไม่  ใหญ่ๆ ใช่

 

ด้วยความเป็นสุดยอดอาชญากรรม เรื่องเล็กๆ จึงไม่ใช่ genocide เรื่องใหญ่ๆ เท่านั้นที่จะถือว่าเป็น genocide

หากมีฆาตกรคนหนึ่งจิตใจชั่วร้ายต้องการทำลายล้างเผ่าพันธุ์หนึ่งให้หมดไปจากโลก ตัวเขาคนเดียวจึงตามฆ่าคนเผ่าพันธุ์นั้นทีละคนสองคนเมื่อมีโอกาส ครบปีฆาตกรดังกล่าวแอบฆ่าเหยื่อได้สี่ห้าคน ทั้งๆ ที่เผ่าพันธุ์นั้นยังมีอีกหลายคนบนโลก เช่นนี้เราเรียกว่า อาชญากรรมที่มีมูลเหตุจากความเกลียดชัง (hate crimes) หรือ ฆาตกรต่อเนื่อง (serial killer) ไม่ใช่การล้างเผ่ามนุษย์ เพราะการกระทำนั้นขาดองค์ประกอบเชิงบริบท (contextual elements) องค์ประกอบเชิงบริบทในที่นี้ ก็คือ ความเป็นไปได้ของการกระทำล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์นั่นเอง

ดังนั้น เรื่องใหญ่ๆ ที่จะเป็นการล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ ต้องเป็นการกระทำที่มีแผนการณ์และร่วมกันกระทำเป็นขบวนการ หรือ หากทำคนเดียว ตัวผู้กระทำต้องมีความสามารถในการทำให้เผ่าพันธุ์นั้นหมดไป เช่น เป็นคนที่สามารถกดระเบิดปรมาณูทำลายล้างได้ เป็นต้น[6]

 

กลุ่มของเหยื่อที่ได้รับความคุ้มครอง

 

กลุ่มของเหยื่อที่ได้รับความคุ้มครองในความหมายของการล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์มีเพียง 4 ลักษณะ คือ กลุ่มคนชาติ (national group) กลุ่มชาติพันธุ์ (ethnical group) กลุ่มเผ่าพันธุ์ (racial group) หรือกลุ่มศาสนา (religious group)[7]

กลุ่มคนที่เห็นต่างทางการเมืองจึงไม่ใช่กลุ่มของเหยื่อที่ได้รับความคุ้มครอง การกวาดล้างและตามฆ่ากลุ่มคนที่เห็นต่างทางการเมืองจึงไม่ใช่การล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่อาจเป็นความผิดอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ (crime against humanity)

ในช่วงปี ค.ศ. 2010 ถึง ค.ศ. 2011 หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในไอโวรีโคสต์ เกิดการฆ่าและข่มขืนผู้ประท้วงสนับสนุนผู้สมัครประธานาธิบดีฝั่งตรงข้าม ผู้เกี่ยวข้องในการสั่งให้มีการใช้ความรุนแรงดังกล่าวถูกดำเนินคดีข้อหาอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ โดยไม่ได้ถูกฟ้องข้อหาล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์[8] อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์หรืออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติก็ล้วนอยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ

 

จำนวนของเหยื่อที่ถึงขั้นเป็นล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์

 

อีกครั้งที่สะท้อนความเป็นสุดยอดอาชญากรรม หากเหยื่อไม่มาก ก็ไม่ถือว่าเป็นล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ คำถามคือ ต้องมีเหยื่อถูกกระทำมากขนาดไหนจึงจะเป็นล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ เรื่องนี้ยังไม่มีเกณฑ์ที่แน่นอน

ภายหลังประเทศยูโกสลาเวียล่มสลาย General Radislav Krstic เป็นผู้มีส่วนในการสังหารชาวมุสลิมบอสเนีย โดยมีเหยื่อถูกสังหารมากกว่า 7,000 คน ศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกิจที่อดีตยูโกสลาเวีย (ICTY) พิพากษาลงโทษ Krstic ด้วยข้อหาล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ Krstic ยื่นอุทธรณ์โดยให้เหตุผลว่าจำนวนเหยื่อน้อยเกินไปที่จะถือเป็นการล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์[9] ท้ายสุดศาลอุทธรณ์ปฏิเสธข้ออ้างของ Krstic จำนวนเหยื่อมากกว่า 7,000 คนในคดีดังกล่าวน่าจะพอถือเป็นเกณฑ์ (threshold) ในการกำหนดความผิดล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้

ผู้กระทำความผิดล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ในประวัติศาสตร์โลกล้วนแต่เป็นผู้มีอำนาจรัฐ คนธรรมดาคงยากที่จะมีสรรพกำลังพอที่จะกระทำการถึงขั้นล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ การล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์มักเริ่มจากการสร้างความรังเกียจ ปลุกระดมว่ากลุ่มคนบางกลุ่มไม่ใช่คน เป็นสัตว์ร้ายบ้าง เป็นปิศาจบ้าง จนนำไปสู่การสังหารโดยอ้างว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องเพื่อกำจัดกลุ่มคนเหล่านั้น เหตุการณ์ล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์แม้จะไม่เกิดขึ้นบ่อย แต่ก็เป็นเครื่องเตือนใจว่ามนุษย์คือมนุษย์ แม้จะมีเชื้อชาติเผ่าพันธุ์หรือพัฒนาการทางความคิดแบบใดก็ยังคงเป็น ‘มนุษย์’

 

 


[1] Kambanda  ICTR, Trial Chamber, 4/9/1998, para 16, JUDGEMENT and SENTENCE (irmct.org)

[2] แม้ก่อนหน้าเหตุการณ์ดังกล่าวจะมีการพูดถึงการล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่อาเมเนียบ้างแต่ก็เป็นที่รู้จักน้อยกว่า

[3] William A. Schabas, An Introduction to the International Criminal Court, (Cambridge : Cambridge University Press, 2007), p. 91.

[4] ธรรมนุญกรุงโรม Article 6 Genocide “For the purpose of this Statute, ‘genocide’ means any of the following acts committed with intent to destroy, in whole or in part, a national, ethnical, racial or religious group, as such:

(a) Killing members of the group;

(b) Causing serious bodily or mental harm to members of the group;

(c) Deliberately inflicting on the group conditions of life calculated to bring about its physical destruction in whole or in part;

(d) Imposing measures intended to prevent births within the group;

(e) Forcibly transferring children of the group to another group.”

[5] ประสิทธิ์ เอกบุตร และคณะ, รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง โลกาภิวัตน์กับกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ, สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2551, หน้า 25.

[6] ปกป้อง ศรีสนิท, คำอธิบายกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ, (กรุงเทพฯ: เดือนตุลา, 2556), หมายเลข 74-80.

[7] Robert Cryer et al., An Introduction to International Criminal Law and Procedure, 2nd edition, (Cambride:Cambridge University Press, 2010), p. 208.

[8] Situation in Côte d’Ivoire (icc-cpi.int)

[9] How do you define genocide? – BBC News

MOST READ

Law

20 Aug 2023

“ยิ่งจริง ยิ่งไม่หมิ่นประมาท”: ความผิดฐานหมิ่นประมาทกฎหมายเยอรมัน

ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกฎหมายหมิ่นประมาทไทย และยกตัวอย่างกฎหมายหมิ่นประมาทเยอรมันเป็นแนวทางหนึ่งในการปรับปรุงกฎหมายต่อไป

ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ

20 Aug 2023

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save