fbpx

Man v(alue)s Machine ถึงเวลารู้ค่ากลไก พัฒนาทักษะเพื่องานในยุคดิจิทัล

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีบทบาทสำคัญในความสำเร็จของเศรษฐกิจ หากทักษะของคนงานไม่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำและความไม่สมดุลในตลาดแรงงานอาจทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถบรรลุศักยภาพได้ เป็นเหตุให้มนุษย์มีการพัฒนาและปรับตัวให้คุ้นชินกับการใช้ชีวิตในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หุ่นยนต์ เทคโนโลยี 3 มิติ และความเป็นจริงเสมือน (virtual reality) ล้วนแต่เป็นแรงผลักดันที่ส่งผลต่อทุกด้านของชีวิต อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างมุมมองใหม่ในการปฏิสัมพันธ์ของผู้คนกับโลกและสิ่งต่างๆ รอบตัว นอกจากนี้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เกิดขึ้น ยังส่งผลกระทบต่องานและทักษะในการทำงานของผู้คนนับล้าน จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้มีความสามารถด้านดิจิทัลที่ทันสมัย และปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีส่วนร่วมของมนุษย์ในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงถือเป็นประเด็นสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

101 จึงชวนมองประเด็นนี้ ผ่านงานเสวนาวิชาการนานาชาติในหัวข้อ ‘งานแห่งอนาคตและความท้าทายสำหรับ TVET: ข้อคิดจากโปรแกรมฝึกอบรมของ RECOTVET ในประเทศอาเซียน’ (Future of jobs and the challenge for TVET: Insights from RECOTVET training programs in ASEAN) ซึ่งจัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ชวนมองการเปลี่ยนแปลงของคุณสมบัติที่อุตสาหกรรมต้องการจากแรงงานที่มีทักษะ รวมถึงตอบคำถามว่าการฝึกวิชาชีพจะสามารถแก้ไขปัญหาในอนาคตของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ได้อย่างไร


อุตสาหกรรม 4.0 กับทักษะใหม่ของการศึกษาสายอาชีพ


ศ.ดร.จอร์จ สปอตเทิล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยี งานและอาชีวศึกษา (Center of Technology, Work and TVET) ประจำมหาวิทยาลัยเบรเมน ประเทศเยอรมนี เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ก่อให้เกิดความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นในสถานที่ทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยได้ยกตัวอย่างว่าเมื่อ 60 ปีที่แล้ว คู่มือซ่อมแซมรถยนต์มีจำนวนหน้าเพียงไม่ถึงพันหน้าเท่านั้น แต่ในปัจจุบันคู่มือซ่อมแซมรถยนต์ได้เพิ่มจำนวนหน้าเยอะมากถึง 13,866 หน้า เนื่องจากเริ่มมีการบูรณาการของสหวิชาพื้นฐานการวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมระบบและควบคุม อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือที่เรียกว่า เมคคาทรอนิกส์ (mechatronics) รวมถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีระบบดิจิทัลเป็นระบบพื้นฐานของชีวิต

“ผู้ที่ทำหน้าที่ช่างจะต้องฝึกอบรมให้รับมือกับความซับซ้อนของการทำงานของรถยนต์ ดังนั้นในปัจจุบันการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพขึ้นจากกระบวนการทำงานในสถานที่ทำงานจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง”

งานวิจัยล่าสุดในประเทศเยอรมนีเผยว่าในอนาคตจะมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นถึง 3 ล้านอาชีพ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าจะต้องมีการฝึกอบรมคนงานให้เข้ามาทำอาชีพใหม่ ที่เป็นผลมาจากการการเปลี่ยนแปลงของกระบวนทัศน์ที่กำลังเกิดขึ้น

ศ.ดร.จอร์จ สปอตเทิล กล่าวถึงผลกระทบของอุตสาหกรรม 4.0 ว่าเป็นสถานการณ์ใหม่สำหรับลูกจ้าง เนื่องจากลักษณะงานและเวลาทำงานจะมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น เวลาในการส่งมอบงานก็จะสั้นลง นอกจากนี้ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังส่งผลให้กลุ่มแรงงานที่มีทักษะมีการตัดสินใจร่วมกันที่ดีขึ้นได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม คนงานยังต้องรับมือกับการจัดการข้อมูลจำนวนมหาศาล รวมถึงการควบคุมกระบวนการต่างๆ ให้สมบูรณ์ ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับลูกจ้าง

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) วิเคราะห์ว่าแรงงานที่ทำงานด้านอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า เช่น โรงงานการผลิตในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนามกว่า 60% มีความเสี่ยงสูงจากการถูกแทนที่ด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติ (automation)

“งานที่ใช้ทักษะต่ำหรือไร้ทักษะจะได้รับผลกระทบ งานมีการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเป็นกิจวัตรเป็นหลักจะมีการใช้คอมพิวเตอร์มาทำงานแทน ผู้มีทักษะต่ำจะมีความเสี่ยงสูงสุดที่จะตกงาน แต่การใช้ระบบดิจิทัลก็อาจจะส่งผลในเชิงบวกสำหรับบริษัทที่มีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรม 4.0 ในเชิงลึก”

ผลสำรวจเกี่ยวกับแนวโน้มต่างๆ ในกลุ่มบริษัทสัญชาติเยอรมันที่ใช้เทคโนโลยีในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจชี้ให้เห็นว่า หากบริษัทมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในอุตสาหกรรม 4.0 จะมีการจ้างงานในกลุ่มแรงงานที่มีทักษะ เช่น ช่างฝีมือ เจ้าหน้าที่เทคนิค และงานกึ่งวิศวกร เพิ่มขึ้นสูงถึง 20-30% ดังนั้นแรงงานที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ วิชาชีพขั้นสูง หรือด้านวิศวกรรมที่ได้รับการเตรียมพร้อมสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ย่อมมีแนวโน้มที่จะได้งานที่ดีและมีโอกาสก้าวหน้าในสายงานสูงมาก

ศ.ดร.จอร์จ อธิบายว่าบทบาทของแรงงานที่ต้องใช้ทักษะจะเปลี่ยนแปลงไป คนงานจะต้องสามารถดำเนินงานร่วมกับทีมที่ประกอบไปด้วยระบบ เครื่องยนต์กลไก และวิศวกรการผลิตได้ ซึ่งปัญหาที่มักจะพบก็คือคนงานที่ไม่มีทักษะเพียงพออาจจะไม่เข้าใจภาษาทางวิชาการหรือศัพท์เทคนิคของวิศวกรที่เชี่ยวชาญได้ ดังนั้นจึงมีเงื่อนไขของทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม 4.0 คือคนงานต้องมีความสามารถในการทำความรู้จักกับโครงสร้างของเครือข่าย เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีอย่างเชี่ยวชาญ เรียนรู้วิธีการทำงานกับรูปแบบข้อมูลที่หลากหลาย รวมถึงทำความเข้าใจและพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของทางเลือกทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ อีกด้วย

การทำให้อุตสาหกรรม 4.0 มีความยั่งยืนต้องอาศัยมิติ 3 ประการ คือ เทคโนโลยีดิจิทัล งาน และนัยทางสังคม หากนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรล้าสมัยมาใช้ในโรงงาน หรือนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปรับกระบวนการต่างๆ ให้เป็นระบบควบคุมอัตโนมัติ ให้เทคโนโลยีเป็นตัวนำและควบคุมทุกอย่าง โดยมนุษย์มีหน้าที่ต้องทำตาม ไม่มีการพูดคุยกัน ความสามารถของแรงงานทักษะสูงอาจถูกจำกัดได้ แต่ถ้าหากนำระบบต่างๆ มาพัฒนาและปรับใช้ในฐานะเครื่องมือช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนแรงงานทักษะสูง โดยมีมนุษย์เป็นผู้ออกแบบกระบวนการทำงานและเป็นผู้ที่รับผิดชอบในภาพรวม ก็จะถือว่าอุตสาหกรรม 4.0 นั้นมีความยั่งยืนในทั้ง 3 มิติ

“ในทุกพื้นที่ทั่วโลกและทุกภาคส่วนของสังคม เราจำเป็นต้องเริ่มดำเนินโครงการสำหรับการสร้างพันธมิตรด้านการศึกษา การฝึกอบรม และการเรียนรู้ พันธมิตรเหล่านี้ควรมีเจตนาที่จะสร้างความมั่นใจว่า การพึ่งพาอาศัยกันทั้งหมดในชีวิตของเรานั้นจะเน้นไปที่การมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางเป็นสำคัญ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมด้านเทคนิคและการอาชีวศึกษา (technical and vocational education and training – TVET) ให้เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มาเป็นตัวชี้นำการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4”

โครงการ RECOTVET ได้ดำเนินการฝึกอบรมผู้ขยายผลโดยใช้การพัฒนาการเรียนรู้ผ่านงานที่ได้รับมอบหมาย (learn and work assignments) โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนที่เป็นนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรม 4.0 และมีการวางแผนบทเรียนและการใช้แนวทางการสอนแบบมัลติฟังก์ชัน เพื่อเพิ่มความเข้าใจที่มีต่ออุตสาหกรรมที่เน้นระบบดิจิทัลเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมพัฒนาอาชีพสำหรับครูสอน TVET เกี่ยวกับอุตสาหกรรม 4.0 อีกด้วย

ในช่วงท้าย ศ.ดร.จอร์จ ได้กล่าวถึงกล่องเครื่องมือ (toolbox) ที่ใช้ในการช่วยเหลือให้ผู้สอนในศูนย์ TVET ดำเนินการสอนอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิผลมากขึ้น โดยเน้นที่ 6 หัวข้อดังต่อไปนี้

1. ส่งเสริมวัฒนธรรมคุณภาพและการทำงานเป็นทีมที่สถาบันอาชีวศึกษา

2. ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการเรียนรู้และการสอนของสถาบัน TVET

3. สร้างตัวชี้วัดที่มุ่งเน้นถึงคุณภาพ และสร้างมาตรฐานสำหรับการพัฒนาคุณภาพ

4. วิธีการสอนในห้องเรียนให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

5. ประเมินผลลัพธ์ด้านการเรียนรู้ ใช้เครื่องมือในการประเมินในห้องเรียน

6. ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษา


พัฒนากำลังคน สู่การสร้าง ‘แรงงานระดับโลก


รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ รองอธิการบดีด้านวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อธิบายถึงปัญหาในการขับเคลื่อนประเทศว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางมานานถึง 43 ปี โดยได้อ้างอิงรายงานจากธนาคารโลกที่ให้ข้อมูลว่า ประชากรไทยในปี 1976 มีรายได้ประมาณ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับมาเลเซีย แต่มากกว่าจีนที่มีรายได้ต่อหัวประมาณ 500 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประชากรไทยในปี 2020 มีรายได้ประมาณ 7,260 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนมาเลเซียและจีนมีรายได้ต่อหัวประมาณ 10,410-11,200 ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (World Competitiveness Center) โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (The International Institute for Management Development – IMD) ประจำปี 2021 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 28 จากทั้งหมด 64 ประเทศ ซึ่งนับว่ายังต่ำกว่าประเทศในอาเซียนด้วยกัน เช่น มาเลเซียที่อยู่ในอันดับที่ 25 และสิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับที่ 5

จะเห็นได้ว่าประเทศไทยกำลังขาดแคลนความสามารถในการแข่งขัน หากประเทศไทยต้องการก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศอุตสาหกรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาทักษะที่สำคัญเพื่อสร้างแรงงานระดับโลกให้ได้ โดยทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการในระดับโลกนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ความฉลาดทางอารมณ์ และความยืดหยุ่นทางปัญญากลายมาเป็นทักษะสำคัญในปัจจุบัน

รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ชี้ให้เห็นว่าแรงงานกว่า 50% ในโลกต้องได้รับการพัฒนาทักษะใหม่ภายในปี 2025 และในอีก 5 ปีข้างหน้า 40% ของทักษะหลักที่เป็นที่ต้องการก็จะมีความเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน เนื่องจากการจ้างงานในอนาคตจะขึ้นอยู่กับทักษะทางเทคโนโลยี การคิดเชิงวิเคราะห์ การเรียนรู้เชิงรุก ความเป็นผู้นำ และความอดทนต่อความเครียด

“จะต้องมีการเพิ่มทักษะและเสริมทักษะใหม่เหล่านี้ให้กับนักศึกษาหรือบัณฑิตในอนาคตอย่างเร่งด่วน เพื่อตอบโจทย์และเกื้อหนุนให้พวกเขามีทักษะที่มีคุณภาพในอนาคตให้ได้”

ในปี 2020 อัตราการใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติอยู่ที่ 33% แต่ภายในปี 2025 จะเพิ่มเป็น 47% เนื่องจากจะมีงานใหม่ๆ เกิดขึ้น และงานอื่นๆ จะถูกแทนที่โดยมีการแบ่งงานระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร ซึ่งส่งผลต่อความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นในด้านงานวิเคราะห์ข้อมูล ความเชี่ยวชาญด้าน AI และความเชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล เพราะเป็นทักษะที่เครื่องจักรไม่สามารถทำเองได้

ในรายงานทักษะการทำงานโลกประจำปี 2564 (Global Skills Reports 2021) ของบริษัท Coursera ซึ่งแสดงข้อมูลสถานะทักษะการทำงานในด้านต่างๆ ได้แก่ ธุรกิจ เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ข้อมูล จาก 108 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 76 โดยมีการเริ่มเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล 46% และเทคโนโลยี 39% ส่วนทักษะด้านธุรกิจยังคงล้าหลังอยู่ที่ 19% แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจะต้องเริ่มมีการขยับตัวและพัฒนาบุคลากรอย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศให้ได้

ถ้าหากประเทศไทยผลักดันแค่อุตสาหกรรมเดิมๆ ประเทศก็จะไม่สามารถเติมโตได้ ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมที่ผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมพัฒนาคนและการศึกษา โดยจะต้องมีแนวคิดในการพัฒนากำลังคนเพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างคนให้เป็นแรงงานฝีมือ แรงงานที่มีทักษะสูง นักประดิษฐ์ และผู้ประกอบการ ตามลำดับ

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ด้านหลัก คือ

1. เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม – เพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร การท่องเที่ยว และฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ยกระดับการแพทย์ โครงข่ายคมนาคม และส่งเสริมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย

2. สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค – เสริมสร้างศักยภาพ SMEs วิสาหกิจ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ และลดความยากจนข้ามรุ่น

3. วิถีชีวิตยั่งยืน – พัฒนาพลังงานหมุนเวียน และลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ

4. ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ – ภาครัฐทันสมัย ระบบการศึกษาและพัฒนาฝีมือแรงงานมีคุณภาพ

“หมุดหมายทั้งหมดที่เราจะต้องพัฒนาแรงงานคนให้ได้นั้น เป็นหน้าที่หลักของสถาบันการศึกษาในการผลิตกำลังคนให้มีศักยภาพสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอนาคต ระบบการศึกษาจำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วนเพื่อจะสนับสนุนคนทุกช่วงวัย”

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมี ‘แผนพัฒนากำลังคนแห่งชาติ’ ซึ่งประกอบด้วยแผนงาน 4 ด้านหลัก คือ

1. university-industry link curriculum – สร้างหลักสูตรพัฒนากำลังคนเพื่ออุตสาหกรรม

2. brain circulation – นำคนที่มีความรู้ความสามารถทั้งในและนอกประเทศ เข้ามาหมุนเวียนเพื่อช่วยในการผลักดันและยกระดับความสามารถของบุคลากรของประเทศให้เร็วยิ่งขึ้น

3. entrepreneurial university – ผลักดันมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาและบัณฑิตคิดที่จะเป็นผู้ประกอบการ

4. live long learning – ผลักดันการเรียนรู้ตลอดชีวิต

รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ มองว่าสถานการณ์ที่สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาต้องเผชิญนั้นนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งปัญหาเรื่องอัตราการเกิดลดลงที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันการศึกษาเนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมาย และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตโควิดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจศึกษาต่อของนักศึกษา รวมถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีถูกจำกัดด้วยความสามารถทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ก็เป็นปัญหาที่ทำให้สถาบันการศึกษาไม่ปรับตัวและผลิตบัณฑิตที่ไม่ตรงตามความต้องการของตลาดออกมา

“สิ่งที่เราต้องการจะสร้างก็คือแรงงานระดับโลก (global worker) ให้นักศึกษาในประเทศสามารถทำงานได้ทั่วโลก ไม่จำเป็นจะต้องทำงานเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อตอบสนองอาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เราต้องคัดสรรนักศึกษาที่มีคุณภาพ และผลิตการศึกษาที่มีคุณภาพไปพร้อมกัน”

จากตอนต้นที่ได้กล่าวถึงปัญหาว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังติดกับดักรายได้ปานกลางมานานถึง 43 ปีนั้น รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ ได้เสนอแนวทางแก้ไขว่าจะต้องมุ่งไปช่วยรากหญ้าและชุมชนให้มากขึ้น ทั้งนี้ยังต้องปรับปรุงระบบการบริหาร กลไกการเงินและงบประมาณ พัฒนาระบบการผลิตบัณฑิตคุณภาพสูง พัฒนาคุณภาพนักศึกษาและทักษะทางอาชีพ รวมถึงพัฒนาระบบการวางแผนด้านกำลังคน ปฏิวัติระบบการศึกษาไทยเพื่อให้ประเทศมีความเข้มแข็งและพร้อมจะก้าวไปสู่โลกาภิวัตน์ หรือการมีแรงงานระดับโลกได้

“ระบบการศึกษาทุกวันนี้แค่เรียนหนังสือ (studying) ไม่ได้แล้ว แต่ต้องเรียนรู้ (learning) ด้วย อาจารย์เองก็ต้องเป็นผู้สร้างระบบการฝึกสอน (coaching) ไม่ใช่เป็นแค่วิทยากร (lecturer) เพื่อช่วยกันปฏิวัติระบบการศึกษา และสร้างกลไกให้ก้าวไปสู่ระดับนานาชาติ”

รศ.ดร.กฤษณ์ชนม์ทิ้งท้ายด้วยการอธิบายถึงโครงการหนุนเสริม สนับสนุนวิชาการ ติดตาม และประเมินผลการทำงาน ให้แก่สถานศึกษาสายอาชีพชั้นสูง ซึ่งเป็นโครงการของ กสศ. โดยมุ่งเน้นให้ความดูแลใน 3 ด้าน ได้แก่

1. การดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของผู้รับทุนให้สามารถเรียนจบตามกำหนดเวลา

2. การพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนให้มีคุณภาพสูง

3. การส่งเสริมการมีงานทำของผู้ที่จะจบการศึกษา

ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีได้เป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกให้ทุนสำหรับนักเรียนในสายวิชาชีพ โดยมีหน้าที่คือตรวจสอบความพร้อมของสถาบันการศึกษาที่ให้ทุนลงไป โดยมีมาตรฐานว่าจะต้องเป็นสถาบันที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต เพราะถ้าให้ทุนกับสถาบันที่ไม่พร้อม อาจจะไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่มุ่งหวังไว้ นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังมีการประเมินสมรรถนะวิชาชีพอย่างชัดเจน เพื่อให้บัณฑิตสามารถทำงานได้อย่างมืออาชีพ รวมถึงให้ทุนกับคนที่มีความรู้ความสามารถแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดศักยภาพของการทำงานและผลิตกำลังคน และเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save