fbpx

การมอดไหม้ที่พ้นผ่านไปนานแล้ว… เหลือไว้เพียงความชำรุดและบอบช้ำ

“ประเทศนี้ไม่เคยจดจำสิ่งที่เกิดขึ้น พวกเขาจะทำเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีอยู่ ในขณะที่ท่านผู้นำแต่งกลอนมอบเป็นของขวัญให้แก่ประชาชน กลายเป็นว่ากลอนของคุณจะเลือนลับดับสูญ เทียนที่คุณจุดขึ้นจะมอดดับไป สิ่งที่ผู้คนเห็นต่างพอจะทำได้ คืออดทนใช้ชีวิตอยู่ไป ในประเทศที่คนไม่เท่ากัน” (หน้า 120)

ข้อความดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในเรื่องสั้นเรื่องสุดท้ายคือเรื่อง ‘เลือนลับดับสูญ’ ในรวมเรื่องสั้น ‘การมอดไหม้ที่พ้นผ่านไปนานแล้ว’ ของ ทานเกวียน ชูสง่า เป็นย่อหน้าสุดท้าย ในเรื่องสุดท้ายและตระหง่านอยู่ในหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ซึ่งไม่ใช่ความบังเอิญของการจัดหน้าอย่างแน่นอนเพราะมันชวนให้เข้าใจได้ว่านี่คือสารที่เรื่องสั้นเรื่องนี้พยายามจะนำเสนอนั่นเอง ในเรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องของคนที่ถูกจับเพราะ ‘โพสต์’ บทกวีลงในสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่องบทกวีของตัวละครดังกล่าว “ถูกรัฐกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง” (หน้า 110) ตัวเรื่องพยายามชี้ให้เห็นว่ารัฐพยายามไล่จับกุมคนเห็นต่างภายใต้ความั่นคง ความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติ รวมถึงพยายามแสดงให้เห็นในเรื่องว่ารัฐที่กดขี่บีฑาต่อคนเห็นต่างเช่นนี้ได้รับการยอมรับจากผู้คนจำนวนไม่น้อย ดังนั้นมันไม่ใช่เพียงแค่เรื่องระหว่างรัฐกับผู้เห็นต่างจากรัฐเท่านั้น แต่มันคือเรื่องของการแตกสลายของสังคมที่แบ่งผู้คนออกเป็นกลุ่มผู้ถูกกดขี่จากรัฐและกลุ่มผู้สนับสนุนการกดขี่จาก/โดยรัฐ

สำหรับผมแล้ว ถ้าหากเราดึงเรื่องสั้น ‘เลือนลับดับสูญ’ ของทานเกวียน ออกมาอ่านโดดๆ เพียงเรื่องเดียว มันอาจทำให้ผู้อ่านสูญเสียกระบวนการของการนำเสนอประเด็นทางสังคมในรวมเรื่องสั้น ‘การมอดไหม้ที่ผ่านไปนานแล้ว’ ซึ่งมีการร้อยเรียงเรื่องราวเพื่อนำไปสู่ประเด็นทางสังคมได้อย่างน่าสนใจ เรื่องสั้นแต่ละเรื่องช่วยถักทอความหมายและแก่นของรวมเรื่องสั้นทั้งเล่ม โดยหากเราดึงเรื่องสั้นแต่ละเรื่องออกมาอ่าน เราอาจจะได้ความหมายอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่เกาะเกี่ยวกับความหมายที่ตัวแก่นของรวมเรื่องสั้นทั้งหมดต้องการนำเสนอ นั่นคือปมขัดแย้งระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมการเมือง เรื่องสั้นแต่ละเรื่องจึงเปรียบเสมือนชิ้นส่วนของความขัดแย้งของคนต่างรุ่น และเมื่อนำมาประกอบเข้าด้วยกัน เราจึงจะเห็นภาพรวมทั้งหมดว่าความขัดแย้งระหว่างรุ่นในสังคมไทยคืออะไร ความขัดแย้งในตัวตน ความบอบช้ำของปัจเจกบุคคลที่ถูกเพาะบ่มจากความไม่ลงรอยกันของคนสองรุ่น (เก่าและใหม่) นำไปสู่ความขัดแย้งในภาพกว้างได้อย่างไร

ผมคิดว่าทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ ‘การมอดไหม้ที่ผ่านพ้นไปนานแล้ว’ พยายามจะนำเสนอ…

ครอบครัวที่เผาไหม้จนมอดไหม้

รวมเรื่องสั้น ‘การมอดไหม้ที่ผ่านพ้นไปนานแล้ว’ มีเรื่องสั้นทั้งสิ้น 8 เรื่อง แต่ละเรื่องนำเสนอความบอบช้ำ ความสิ้นหวัง ความแหว่งวิ่นจากภายในของตัวละครในฐานะปัจเจกบุคคลและนำไปสู่ความขัดแย้งที่ก่อตัวขึ้นจากภายในกับปัจจัยภายนอกซึ่งคือสังคม เรื่องสั้นแต่ละเรื่องค่อยๆ นำเสนอปัญหาภายในของตัวละครแต่ละตัว แต่ละเรื่องที่แตกต่างกันแต่นำไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันในเรื่องสุดท้าย นั่นคือความพยายามในคลี่คลายคำตอบว่าเหตุใดความแตกแยกและแตกต่างในสังคมไทยจึงมีมากขึ้น และความขัดแย้งดังกล่าวนี้เป็นความขัดแย้งของคนสองรุ่น หรือมองในอีกแง่หนึ่งมันคือความขัดแย้งของคนสองรุ่นที่ยืนอยู่บนฝั่งฟากของตัวเองจนไม่สามารถเข้าใจและได้ยินได้ฟังอะไรกันอีกต่อไป อะไรคือสิ่งที่ทำให้สิ่งที่ควรจะเชื่อมโยงกันได้ระหว่างคนสองรุ่นต้องขาดผึงลงไป

ประเด็นที่น่าสนใจในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ก็คือการนำเสนอปัญหาของปัจเจกบุคคลที่เกิดขึ้นจากครอบครัว ในหลายปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าทั้งพื้นที่การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ตลอดจนสื่อสังคมออนไลน์ มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากเริ่มแสดงออกถึงความไม่พึงพอใจและความอึดอัดคับข้องใจที่พวกเขามีต่อสิ่งที่เรียกว่าครอบครัว เราเห็นคำว่า ‘ครอบครัวไม่ใช่ safe zone’ อยู่บ่อยครั้ง มีการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันครอบครัวอย่างหนักหน่วงซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่ใหม่มากๆ ในสังคมไทย เพราะก่อนหน้านี้ครอบครัวเป็นสิ่งที่ปราศจากการเมืองและถูกทำให้เชื่อว่าไม่ควรมีเรื่องการเมืองอยู่ในบ้าน ถึงต่อให้มี เด็กๆ ก็จะถูกกันไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายใต้ความคิดที่ว่า การเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก/เยาวชน เพราะเป็นเด็กเป็นเล็กควรจะเรียนหนังสือให้ดี มีความกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดา มีความเคารพอ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ (ถูกเข้าใจไปว่า) จะทำให้เด็กๆ เป็นคนน่ารัก น่าเอ็นดู น่าทะนุถนอมในฐานะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของไทยแลนด์แห่งนี้

โดยปกติแล้วเรามักจะเชื่อกันว่า ครอบครัวคือสถาบันทางสังคมที่เป็นพื้นฐานที่สุด เป็นรากฐานอันมั่นคงให้กับผู้คนและสังคม หากครอบครัวเข้มแข็งก็จะทำให้สังคมเข้มแข็งตามไปด้วย เช่นเดียวกันหากครอบครัวแตกแยก ไม่แข็งแรง สังคมก็จะอ่อนแอตามไปด้วยเช่นกัน ดังนี้เองเราจึงเห็นครอบครัวในสองมิติคือครอบครัวที่แข็งแรงกับครอบครัวที่ไม่แข็งแรง โดยที่เราไม่เคยตั้งคำถามหรือพิจารณาว่าอะไรคือครอบครัวและอะไรคือครอบครัวที่แข็งแรงและอ่อนแอ และซ้ำร้ายไปกว่านั้นเรามักจะเห็นครอบครัวตัวอย่างที่อบอุ่นจากสื่อต่างๆ อยู่ตลอดเวลาอีกด้วย ครอบครัวตัวอย่างจึงกลายเป็นภาพประทับให้กับสังคมว่าควรดำเนินวิถีชีวิตของครอบครัวอย่างไรเพื่อให้เกิดความสงบสุขและร่มเย็นตามแบบ ‘ไทยๆ’  

ในเรื่อง ‘ไม่อาจหวนคืนย้อนกลับ’ เล่าเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่พ่อและแม่ต่างเลี้ยงลูกกันไปคนละทิศทาง พ่อเป็นคนที่ตามใจลูกเสมอในขณะที่แม่นั้นมีคติว่า “มันจำเป็นที่คนเป็นพ่อแม่จะลงโทษลูกบ้าง แม้จะรู้สึกเจ็บปวดเพียงใดก็ตาม” (หน้า 26) ตัวละครแม่ในเรื่องสั้นนี้ดูเหมือนจะเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งในครอบครัวเพราะความเข้มงวดที่เธอมีต่อลูกชาย เธอคาดหวังว่าลูกชายจะทำสิ่งต่างๆ ให้ตามแบบแผนที่ลูกชายแบบไทยๆ จะทำกัน เช่น การบวช การรับปริญญา แต่เขากลับไม่ทำให้ มันทำให้แม่รู้สึกว่า “มันเรื่องอะไรกัน เขาไม่ภูมิใจในสิ่งที่ตนเองเป็นหรือ เขามองไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นมีความหมายมากแค่ไหน เหตุใดเขาจึงไม่ยอมทำเพื่อคนเป็นแม่บ้าง เธอสงสัยว่าเขาเคยคิดถึงหัวอกแม่บ้างหรือเปล่า” (หน้า 28)

‘ไม่อาจเยียวยารักษา’ เป็นอีกเรื่องที่บอกเล่าความขัดแย้งระหว่างลูกชายและแม่ แม่พยายามสร้างภาพครอบครัวที่มีความสุขและเพียบพร้อมต่อหน้าคนอื่นๆ เช่น

“ในงานบวชของลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่ง คุณทำหน้าที่เป็นช่างภาพ คุณพยายามเก็บภาพของขบวนนาค บรรยากาศ ผู้คน แต่เป็นเธอที่มักจะเรียกคุณเข้าไปร่วมขบวน เพื่อแนะนำคุณกับบรรดาเพื่อนสนิท เกี่ยวเกาะควงแขนคุณไว้สร้างภาพความผูกพันระหว่างแม่กับลูก อวดโอ่ความเป็นคุณด้วยเรื่องราวที่คุณไม่รู้สึกภาคภูมิใจ เกียรติบัตรที่คุณได้จากการเขียนเรียงความเมื่อตอนชั้นประถม รางวัลทุนการศึกษาที่ตกเป็นของคุณเนื่องจากว่าอาจารย์ประจำชั้นของคุณเป็นเพื่อนสนิทกับผู้เป็นแม่… เธอทำเช่นเดียวกันในงานแต่งของญาติ เรียกคุณเข้าไปหาและแนะนำกับผู้หลักผู้ใหญ่คนแล้วคนเล่า โต๊ะแล้วโต๊ะเล่าที่คุณไม่รู้จัก ไม่คิดอยากจะรู้จัก คุณเริ่มชิงชังรังเกียจภาวะเหล่านี้ และไม่เข้าใจว่าทำไมตนเองต้องเสแสร้งแกล้งทำเพื่อแม่ของคุณ” (หน้า 100-101)

ความขัดแย้งระหว่าง ‘แม่’ และ ‘คุณ’ ใน ‘ไม่อาจเยียวยารักษา’ เป็นความไม่ลงรอยกันหรือเป็นปัญหาที่เกิดจากวัยและความรับรู้เข้าใจโลกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของคนสองรุ่น การที่ ‘แม่’ พยายามนำเสนอภาพของครอบครัวตัวอย่างและอบอุ่นต่อหน้าคนอื่นๆ เสมอแต่เมื่อลับหลังผู้คนหรืออยู่ในบ้าน ‘แม่’ กลับกลายเป็นแม่คนละคนเมื่ออยู่นอกบ้าน เธอจิกด่าลูกที่ไม่ทำตามใจเสียๆ หายๆ “ไอ้คนไม่สำนึกบุญคุณ…ไอ้เด็กนรกที่ไม่น่าเกิดมา…ไอ้ลูกเลว…ไอ้ลูกชั่ว” (หน้า 99) ปมขัดแย้งถูกเพาะบ่มอย่างนานและต่อเนื่อง จนกลายเป็นบาดแผลที่รักษาไม่หายและรักษาไม่ได้ เพราะสำหรับ ‘คุณ’ ในฐานะลูก “บาดแผลบางชนิดเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันไม่เคยหายไปไหน” (หน้า 100)

ผมคิดว่านี่อาจเป็นสภาวะที่คนรุ่นใหม่ต้องประสบมันส่งผลต่อตัวตนและความรู้สึกนึกคิดที่พวกเขามีต่อโลกด้วย การที่พวกเขามีบุคลิกบางอย่างไม่ต้องตาต้องใจคนอีกรุ่นหนึ่ง มีความคิดความอ่านที่ตัดขาดจากโลกของคนรุ่นหนึ่ง มีภาษา อารมณ์ในอีกรูปแบบหนึ่งนั้น มันไม่ใช่เพราะสารเคมีในสมองหรือเป็นเพราะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัยมากกว่าคนอีกรุ่นหนึ่งมากมายนัก แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นอย่างพื้นฐานที่สุดจากพื้นที่ที่พื้นฐานที่สุดและเชื่อกันว่าปลอดภัยที่สุดอย่างที่เราเรียกกันว่า ‘ครอบครัว’ นั่นเอง

‘การมอดไหม้ที่พ้นผ่านไปนานแล้ว’ เป็นเรื่องสั้นอีกเรื่องที่แสดงให้เห็นปมขัดแย้งในครอบครัวและยังมีแม่เป็นศูนย์กลางของเรื่องอีกด้วย ตัวเรื่องเล่าถึงโลกหลังความตาย โลกที่ทุกคนกลับมาเจอกันอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นโลกที่ใครจดจำอะไรไม่ได้ทุกความสัมพันธ์ต้องรื้อฟื้นและทบทวนใหม่ ความทรงจำในชีวิตของแต่ละคนเมื่อครั้งยังมีชีวิตจึงถูกเล่าโดยคนอื่นอย่างไม่ปะติดปะต่อ ในโลกหลังความตาย ‘คุณ’[1] เจอกับพ่อซึ่งถามเขาทุกวันว่าโลกเปลี่ยนไปอย่างไร ‘แม่’ สบายดีไหม กินอยู่อย่างไร ที่บ้านเป็นอย่างไรบ้าง แต่ ‘คุณ’ กลับบ่ายเบี่ยงที่จะเล่าอาจเป็นเพราะแม้จะอยู่ในโลกของความตายที่ความทรงจำต่างๆ ต้องเริ่มต้นใหม่หรือถูกลืมไปบ้างแล้ว แต่ไม่สามารถลบเอาความทรงจำและความรู้สึกที่ ‘คุณ’[2] มีต่อแม่ได้

‘แม่’ ใน ‘การมอดไหม้ที่พ้นผ่านไปนานแล้ว’ กับ ‘แม่’ ใน ‘ไม่อาจหวนคืนย้อนกลับ’ มีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของคนในครอบครัว มีวิธีการเลี้ยงลูกที่เข้มงวด เคร่งครัด และดุร้ายต่างจากพ่อที่มักจะตามใจอยู่เสมอ ทั้งพ่อและแม่มีปากเสียงกันอยู่ตลอดเวลา ‘คุณ’ ในฐานะลูกถูกใช้เป็นเบี้ยในการต่อรองของสงครามระหว่างพ่อแม่เท่านั้น  “คุณมีชีวิตวัยเด็กอันสมบูรณ์เพียบพร้อม…คุณครอบครองได้ทุกอย่าง ยกเว้นสิ่งเดียวที่คุณไม่มีคือบ้านอันเงียบสงบ” (หน้า 76)  

สิ่งที่ทำให้เรื่องสั้น ‘การมอดไหม้ที่พ้นผ่านไปนานแล้ว’ มีอารมณ์ความรู้สึกที่ดำดิ่งและบอบช้ำจากครอบครัวมากกว่าเรื่องสั้นๆ อื่นๆ ก็คือ เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ความรู้สึกที่ว่าตนเองไม่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและบ้านนั้นรุนแรงจนทำให้ ‘คุณ’ ต้องออกจากบ้าน ความแตกต่างจากคนอื่นๆ ของ ‘คุณ’ ทำให้ ‘คุณ’ กลายเป็นตัวประหลาดของครอบครัว เมื่อครั้งที่ตายไปแล้วก็ตาม ความรู้สึกที่ว่าตนเองเป็นส่วนเกิน/ไม่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวยังคงมีอยู่แม้ว่าคุณจะไม่หลงเหลือร่างกายหรือชีวิตแล้วก็ตาม “การมอดไหม้ของคุณพ้นผ่านไปนานแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือคุณยังคงทุกข์ทรมาน อุบัติเหตุของคุณน่าสยดสยอง ความตายของคุณอาจโหดร้าย แต่มันไม่มากมายเท่าการที่คุณต้องมีชีวิตอยู่ในดินแดนแห่งนี้ ดินแดนที่คุณไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมัน” (หน้า 81)

สำหรับ ‘คุณ’ จากเรื่องสั้นเกือบทุกเรื่องใน ‘การมอดไหม้ที่พ้นผ่านไปนานแล้ว’ ปัญหาของตัวละครเกือบทั้งหมดเริ่มต้นจากครอบครัวที่เผาไหม้จนมอดไหม้ ครอบครัวกลายเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคย แปลกประหลาด เป็นสิ่งที่ขับไสไล่ส่ง เป็นจุดเริ่มต้นของระยะห่างของคนสองรุ่น ครอบครัวกลายเป็นสถานที่เพาะบ่มความแปลกแยกของตัวละครที่นำไปสู้วิกฤตของตัวตนและยังส่งผลต่อวิธีการมองโลก เข้าใจโลกอีกด้วย โลกของตัวละครในเรื่องสั้นชุดนี้จึงมีแต่ความบอบช้ำ สิ่งที่ควรจะเป็นรากฐานที่มั่นคงในชีวิตของพวกเขากับกลายเป็นสิ่งที่เผาไหม้พวกเขาจนแหลกสลาย เหลือไว้ก็เพียงความทุกข์ตรมที่ยังมีลมหายใจอย่างเสียไม่ได้

ความตามท้าย: ว่าด้วยการเล่าเรื่อง

กว่าที่ผมจะได้อ่านรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ก็ล่วงไปแล้วห้าปี หลังจากการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2560 ในขณะนั้น ทานเกวียน ชูสง่าบอกเล่าเอาไว้ในคำนำว่าเขามีอายุ 26 ปี ก่อนหน้านี้ในปี 2559 เขามีผลงาน ‘เราต่างสร้างบาดแผลให้แก่กันอยู่เสมอ’ เป็นผลงานความเรียงที่ว่าด้วยความคับข้องใจของคนหนุ่มสาว คล้ายกับ ‘การมอดไหม้ที่พ้นผ่านไปนานแล้ว’ เล่มนี้เอง ผมคิดว่า การเขียนถึงความบอบช้ำทางจิตใจและความคับข้องใจที่มีต่อโลกอาจเป็นลายเซ็นและเป็นจุดเด่นในงานของทานเกวียน

ประเด็นที่ผมสนใจก็คือ งานเขียนของนักเขียนในยุคแรกๆ นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุ 20 กลางๆ เท่าที่ผมสังเกตจะเป็นเรื่องของการสนทนากับตัวเองของนักเขียน การตั้งคำถามขุดค้นสภาวะที่อยู่ภายในจิตใจ ดึงอารมณ์ความรู้สึกในเบื้องลึกออกมาบรรยายอย่างละเอียดลออ ในด้านวิธีการเล่าเรื่องก็มักจะเป็นการอธิบาย บรรยาย อารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ขุดค้นความคิดของตัวละครออกมาพรรณนา บรรยาย ทุกซอกทุกมุม ใช้ประโยคและถ้อยคำที่แปลก (บางครั้งก็ทำงานได้ดี หลายครั้งก็ไม่เข้าใจอะไรมากนักนอกจากเป็นการแสดงความเก๋ไก๋จนไปถึงก๋ากั่นทางภาษาของนักเขียน) วิธีการเหล่านี้สำหรับนักเขียนใหม่อาจเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดและทำได้ดีที่สุดเท่าที่ประสบการณ์จะมี

ทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ผมพยายามจะเข้าใจและอยากเข้าใจว่าเหตุใดนักเขียนโดยเฉพาะนักเขียนแนววรรณกรรมสร้างสรรค์นั้นจึงมีทิศทางและแนวโน้มในการเล่าเรื่องออกไปในแบบเดียวกันเป็นส่วนใหญ่

สำหรับเรื่อง ‘การมอดไหม้ที่พ้นผ่านไปนานแล้ว’ ของทานเกวียน ชูสง่า เล่มนี้ ผมคิดว่ารูปแบบการเล่าเรื่องนั้นมีแบบเดียวตลอดทุกเรื่อง การดำเนินเรื่องกระชับ อารมณ์ของตัวเรื่องสั้นแต่ละเรื่องคล้ายคลึงกันเพราะออกมาจากรูปแบบวิธีการเล่าอย่างเดียวกัน (ยังดีที่ทั้งเล่มมี 8 เรื่อง ไม่มากเกินไป) ระหว่างการอ่าน ผมเข้าใจอยู่เสมอว่า ผู้เขียนต้องการนำเสนออารมณ์ความรู้สึกของคนที่บอบช้ำทางจิตใจ ตัวตนแหลกสลาย ความแหว่งวิ่นทางจิตใจ ความเหงาอันเกิดจากความรู้สึกไร้ตัวตน ความรู้สึกที่ว่าตัวตนของตนเองนั้นไม่สามารถเข้ากับหรืออยู่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้ ความรู้สึกที่ตนเองเป็นส่วนเกินอยู่ตลอดเวลา แต่ในด้านของวิธีการเล่าเรื่องนั้นผมออกจะมีคำถามว่านักเขียนแนววรรณกรรมสร้างสรรค์นั้น[3] สามารถหาวิธีการเล่าเรื่องราวเหล่านี้โดยที่ไม่ต้องทำเหมือนไปนั่งร้องไห้หลบมุมเล่าเรื่องจะได้หรือไม่ ทำนองว่า การนำเสนอความร้าวรานของปัจเจกบุคคลนั้นอาจมีวิธีการในการเล่าเรื่องที่หลากหลายกว่าการบรรยาย พรรณนาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครได้หรือไม่[4]

ผมคิดว่าการมีวิธีการเล่าที่หลากหลายอาจช่วยทำให้เรื่องที่กำลังเล่าหรือประเด็นที่ต้องการนำเสนอโดยเฉพาะประเด็นเรื่องวิกฤตของตัวตน/วิกฤตอัตลักษณ์มีความแปลกใหม่และแตกต่างไปจากวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่เคยเขียนเคยอ่านกันมาก่อนหน้านี้ แม้ว่าผมจะเข้าใจว่าทำไมนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ที่มีผลงานชิ้นแรกๆ จะมีวิธีการเล่าเรื่องที่คล้ายๆ กันหมดก็ตาม แต่ผมเพียงอยากถามว่ามีวิธีแบบอื่นๆ ไหม[5]

อนึ่ง ผมเข้าใจว่า ทานเวียน ชูสง่ามีผลงานล่าสุดที่เพิ่งออกมาในปีนี้คือเรื่อง ‘ทัณฑสถานชื่อชีวิต’ บางทีผมอาจจะได้เห็นว่าทานเกวียนมีวิธีการเล่าเรื่องน่าสนใจมากขึ้น เพียงแต่ว่าตอนนี้ผมยังไม่ได้อ่านเท่านั้นเอง ขออนุญาตไปปาดน้ำตาก่อนครับ…


[1] ‘คุณ’ ถูกใช้เป็นตัวละครอีกแล้ว สรรพนามบุรุษที่ 2 ที่กลายมาเป็นตัวละครนั้นมีลักษณะเป็นอนันต์ที่ไม่รู้ว่าเริ่มต้นเมื่อไร (อันที่จริงอาจพอรู้ได้) และสิ้นสุดตรงไหน นักเขียนวรรณกรรมสร้างสรรค์ชอบใช้กันมาก ‘คุณ’ เป็นตัวละครที่มีมากเหมือน ‘ป้าย’ ตามสี่แยกที่เห็นทุกครั้งและหันไปเจอเมื่อไรก็น้ำตารื้น…

[2] คุณเห็นไหมว่า ในโลกนี้ตัวตนของเราล้วนแตกสลาย กระสานซ่านเซ็นจนหาทิศทางไม่ได้ ตัวตนยับเยิน เว้าแหว่ง จนไม่เหลือแม้สรรพนามให้เราเอ่ยอ้าง มีแต่คุณเท่านั้นแหละ คุณ คุณ คุณ และคุณ คุณเต็มไปหมดเลย ไม่มีผม เพราะผมร่วง หรือไม่สบายอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่มีผม ไม่มีฉัน ไม่มีข้าพเจ้า ไม่มีเขา ไม่มีหล่อน ไม่มีมัน  มีแต่คุณ และคุณเท่านั้น…

[3] อนึ่งผมตระหนักดีว่านักเขียนหรือนักอ่านหรือใครๆ ก็ตามอาจอึดอัดกับการถูกจัดประเภทว่าเป็นนักเขียนแนววรรณกรรมสร้างสรรค์/วรรณกรรมเพื่อชีวิต/วรรณกรรมสะท้อนสังคม ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเขียนนักอ่านที่รู้สึกว่าตนเองไม่ belong กับอะไรเลยนั้น เรื่องการจัดประเภทและถูกจัดประเภทนั้นน่าอึดอัดมาก ผมต้องขออภัยเอาไว้ ณ ที่นี้ด้วย แต่คงจะไม่แก้ไขอะไรครับ

[4] อันนี้ผมต้องขอบันทึกไว้ว่า เป็นคำถามไม่ใช่คำสั่ง ไม่ใช่แม้กระทั่งคำถามที่คุณครูวิชาภาษาและวรรณคดีไทยถามและต้องการคำตอบอย่างทันทีทันใด

[5] หลายคนอาจจะวิจารณ์จนถึงก่นด่าผมก็ได้ว่า ใช้วิธีการเล่าเรื่องแปลกๆ เยอะๆ ผมก็กระแนะกระแหนว่าเป็นพวกโชว์แสนยานุภาพทางวรรณกรรม อันนั้นก็อาจจะด่าผมได้ถูกแล้วครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save