fbpx
The Blob : มวลน้ำอุ่นสังหารล้านชีวิต

The Blob : มวลน้ำอุ่นสังหารล้านชีวิต

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

เรื่องมันเริ่มขึ้นในปลายฤดูหนาวปี 2015 เมื่อจู่ๆ ก็มีผู้พบนกหลากชนิด ตั้งแต่นกพัฟฟิน นก Murre และนกทะเลเป็นล้านตัว ตายและถูกคลื่นซัดเข้าชายฝั่งอลาสก้า

ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Bird Die-Off หรือ ‘นกตายหมู่’

หลายคนช็อกกับเรื่องนี้ แต่ที่จะต้องช็อกต่อมาอีกก็คือ นั่นไม่ใช่ครั้งเดียว ทว่าเกิดเหตุการณ์นกตายหมู่เป็นล้านๆ ตัวเช่นนี้ต่อเนื่องทุกปี จนถึงปี 2019  ก็คือ 5 ปีติดต่อกันแล้ว

แล้วจะไม่ให้ เกรต้า ธันเบิร์ก ลุกขึ้นมาตัวสั่น ร้องตะโกนก้องถามว่า “How dare you?” ได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีมหาอำนาจหน้าไหนสำนึกเรื่องนี้กันเลย!

สำหรับปี 2019 นี้ เริ่มมีรายงานมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้ว ว่าพบนก Murre และนกพัฟฟิน ถูกคลื่นซัดซากมาอยู่บนชายหาดทางตอนเหนือของทะเลแบริงและทะเล Chukchi ปรากฏการณ์พวกนี้เกิดเป็นระลอกๆ จากพฤษภาคมมาถึงมิถุนายน ไล่เลยมาจนถึงสิงหาคม

การที่นกตายแล้วถูกคลื่นซัดเข้าฝั่งแบบนี้ ที่จริงไม่ใช่เรื่องแปลก ในอลาสก้าเกิดมาตลอดประวัติศาสตร์นั่นแหละ แต่การเกิดใน ‘จำนวน’ มากมายเป็นล้านๆ ตัวอย่างต่อเนื่อง และเกิดติดๆ กันทุกปีนี่ต่างหากที่แปลก และสมควรอย่างยิ่งที่มนุษย์จะต้องตื่นตัว ว่าตัวเองกำลังทำอะไรลงไปกับโลกใบนี้ และโลกกำลัง ‘เอาคืน’ กับเราอยู่หรือเปล่า

อาจไม่ใช่แค่นก ไม่ใช่แค่กบ ไม่ใช่แค่กิ้งก่าหายากที่ไหน แต่อาจรวมถึงลูกของคุณที่กำลังนอนอยู่ในเปลตอนนี้ก็ได้

จะลูกมนุษย์หรือลูกนก — ก็ล้วนเป็นสัตว์ และสัตว์ก็สามารถสูญพันธุ์ได้ทุกเมื่อในสถานการณ์ที่ระบบนิเวศเปราะบางมาก ณ เวลานี้

นกทะเลเหล่านี้ จะใช้วิธีหากินด้วยการพุ่งตัวดำดิ่งลงไปใต้น้ำ นกบางชนิดดำลงไปได้ลึกถึง 600 ฟุตเพื่อจับปลา ดังนั้น การที่พวกมันตายกันขนานใหญ่ จึงน่าจะมีอะไรไม่ชอบมาพากลแน่ๆ

หลายหน่วยงาน (เช่น U.S. Fish and Wildlife Service หรือ National Park Service) เริ่มร่วมมือกันค้นหาสาเหตุ ว่าอะไรทำให้นกทะเลเหล่านี้ล้มตายลงเป็นจำนวนมาก โดยมีการส่งซากของนกทะเลเหล่านี้ไปยังหน่วยงาน U.S.Geological Survey National Wildlife Health Center และพบว่า นกทั้งหมดล้วนตายเพราะความอดอยาก

ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่านกเหล่านี้ติดเชื้อ หรือได้รับสารพิษ แต่ก็มีผู้สงสัยว่า นกอาจจะตายเพราะพิษจากสาหร่ายบางชนิดที่เติบโตมากผิดปกติ

แต่สาเหตุที่แท้จริงคืออะไรกันเล่า?

บทความของ Miranda Weiss ใน The Atlantic บอกว่า ในฤดูร้อนที่ผ่านมา อุณหภูมิของอลาสก้าในบางพื้นที่นั้นสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยปกติมากถึง 41 องศาฟาเรนไฮต์ (ถ้าไปดูข้อมูล จะพบว่าสูงกว่าปกติตั้งแต่ราว 12 ถึง 41 องศาฟาเรนไฮต์) ซึ่งความร้อนพวกนี้ส่งผลต่อสัตว์ป่าทั่วทั้งรัฐ ไฟป่าเกิดเพิ่มขึ้นมาก ที่สำคัญก็คือ อุณหภูมิทั้งในแม่น้ำและมหาสมุทรก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ในมหาสมุทรแปซิฟิกนั้น เกิดปรากฏการณ์มหึมาที่เรียกว่า The Blob (หรือ The Warm Blob) คือเป็นมวลน้ำขนาดใหญ่ที่มีอุณหภูมิสูงผิดปกติ สูงมากกว่าบริเวณอื่นๆ โดยเฉพาะแถบชายฝั่งของอเมริกาเหนือ ไล่ขึ้นไปจนถึงแคนาดา และอลาสก้าด้วย

มีการตรวจพบปรากฏการณ์นี้กันมาตั้งแต่ปี 2013 แล้ว และพบว่า The Blob ยังคงเกิดต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนถึงปี 2014 และ 2015 ด้วย

และนั่นเอง คือปีแรกที่นกทะเลเร่ิมล้มตายเกลื่อนหาด

มีรายงานว่า The Blob มีขนาดกว้างใหญ่มาก ในตอนแรก มันมีขนาดแค่ราว 800 กิโลเมตร และกินพื้นที่ลึกลงไปใต้มหาสมุทรราว 91 เมตร แต่ตอนหลังก็ขยายตัว จนแต่ละหย่อมของ The Blob กว้างยาวได้ถึงกว่า 1,600 กิโลเมตร แต่ความลึกยังคงเดิม มัน ‘โอบ’ ชายฝั่งของทวีปอเมริกาเหนือ ตั้งแต่เม็กซิโกตอนเหนือไปจนถึงอลาสก้า ซึ่งมีความยาว 3,200 กิโลเมตร แต่เกิดเป็นหย่อมๆ เป็นก้อนๆ รวมแล้ว 3 ก้อนด้วยกัน

อุณหภูมิของ The Blob เฉลี่ยแล้วจะสูงกว่าอุณหภูมิน้ำทะเลปกติราว 2.5 องศาเซลเซียส ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศมหาศาล

ถ้าถามว่า The Blob เกิดจากอะไร เอาเข้าจริงนักวิทยาศาสตร์ยังตอบไม่ได้ชัดเจนนัก แต่อธิบายได้ว่า ความร้อนจากพื้นผิวสมุทรสูญเสียออกไปสู่ชั้นบรรยากาศได้ต่ำกว่าปกติ พูดง่ายๆ ก็คือ มหาสมุทรเก็บกักความร้อนเอาไว้มากกว่าปกตินั่นเอง ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า ชั้นบรรยากาศมีความกดอากาศสูงกว่าปกติ หรือรูปแบบการพัดของกระแสลมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น

แต่คำถามถัดมาก็คือ แล้วทำไมมันถึงยังเกิดแบบนี้ต่อเนื่องขึ้นมาอีก เพราะถ้าเกี่ยวกับกระแสลมและอากาศจริงๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องชั่วคราว เรื่องนี้ยังไม่แน่ชัดนัก ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Pacific Decadal Oscillation หรือ PDO ที่เชื่อมโยงกับเอลนีโญที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้้ แต่ก็ยังอธิบายไม่ได้แน่นอน แต่ปัญหาก็คือ ถ้า PDO เกิดขึ้นเป็นวงกว้างแล้ว ก็จะส่งผลไปจนถึงพื้นดินด้วย หลายคนสงสัยด้วยซ้ำว่า ไฟป่าที่เกิดถี่ๆ ในแคลิฟอร์เนีย อาจเกี่ยวพันกับอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรหรือเปล่า

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่สุด เกิดขึ้นกับนกทะเลที่ถูกคลื่นกวาดมาตายก่ายกองชายฝั่งอลาสก้านั่นเอง นักวิทยาศาสตร์พบว่า เมื่ออุณหภูมิของพื้นผิวทะเลเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ ก็ทำให้สาหร่ายและแพลงตอนบางชนิดขยายตัว อย่างที่เรียกกันว่ากระแสน้ำสีแดง (Red Tides) ขึ้นมา

ปรากฏการณ์นี้ บางครั้งก็เรียกว่า Harmful Algal Bloom หรือ HAB เพราะพบว่าสาหร่ายบางชนิดไม่ได้ทำแค่เพิ่มจำนวนเท่านั้น แต่ยังสร้างสารพิษบางอย่างปล่อยออกมาด้วย เมื่อมันมีจำนวนมาก ก็ทำให้สารพิษมีมากตามไปด้วย โดย HAB อาจคงอยู่ได้นานหลายสัปดาห์ จึงทำให้ปลาทะเล นกทะเล เต่า และกระทั่งวาฬหรือพะยูนเสียชีวิตจำนวนมาก โดยสาหร่ายชนิดหนึ่งที่ปล่อยสารพิษออกมาคือ Alexandrium ซึ่งเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เคยพบได้ไม่กี่แห่งในโลกเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเราพบสารพิษที่เกิดจากสาหร่ายชนิดนี้ได้มากขึ้นกว่าเดิมมาก และเรายังไม่รู้เลยว่า หากอุณหภูมิสูงขึ้นหรือสูงในระดับนี้ต่อเนื่องยาวนานไปอีก จะก่อให้เกิดอะไรขึ้นมาได้บ้าง

ดังนั้น การตายของนกจำนวนมากจึงเป็นเพียง ‘ยอดภูเขาน้ำแข็ง’ ของความร้ายกาจรุนแรงที่ซ่อนอยู่ใต้ปรากฏการณ์นี้เท่านั้นเอง

ศูนย์ Northwest Fisheries Science Center ทำนายว่า การจับแซลมอนในธรรมชาติจะลดน้อยลงมาก เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์นี้ ซึ่งก็พบว่า แซลมอนในปี 2015 ลดปริมาณลงมากจริงๆ นอกจากนี้ มีการทำนายว่า สิงโตทะเลตามธรรมชาติในแคลิฟอร์เนียจะขาดแคลนอาหาร ซึ่งก็เป็นอย่างนั้น ทั้งยังเกิดปรากฏการณ์แปลกๆ อย่างเช่นปลาบางชนิดที่เป็นปลาในเขตร้อน เริ่มบุกขึ้นไปถึงแม่น้ำในอลาสก้า หรือนกบางชนิดที่มีถิ่นกำเนิดในฮาวาย ก็พบว่าบินไกลไปจนถึงอลาสก้าด้วยเหมือนกัน

มนุษย์หลายคนอาจไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับความตายของสัตว์เหล่านี้ แต่หาก PDO และเอลนีโญผนึกกำลังกันสร้างมหาสมุทรที่ ‘ร้อน’ ขึ้นมาจริงๆ ก็เป็นไปได้ที่ฤดูหนาวจะไม่มาเยือนเราอีก ไม่ต้องพูดถึงการละลายของน้ำแข็ง ความปั่นป่วนของพายุ ที่จะโหมกระหน่ำซัดกระแทกชะตากรรมของมนุษยชาติจนอาจต้องตายตกตามนกทะเลและสัตว์อื่นๆ ที่ล่วงหน้าไปก่อนเราแล้วมากมาย

ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นเพราะน้ำมือของเราเอง

เรา — สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save