fbpx
จักรยานคนจน The Bicycle Thief

จักรยานคนจน The Bicycle Thief

‘นรา’ เรื่อง

The Bicycle Thief (ชื่อที่ใช้เมื่อฉายในอเมริกา ขณะที่บางแห่งใช้ชื่อ Bicycle Thieves) เป็นหนังอิตาเลียน สร้างและออกฉายเมื่อปี 1948 โดยฝีมือการกำกับของวิททอริโอ เดอ สิกา

ล่วงเลยถึงปัจจุบัน ผลงานชิ้นนี้ได้ผ่านบททดสอบของกาลเวลา กลายเป็นหนังคลาสสิกที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมทุกยุคสมัยอย่างไม่มีวันเสื่อมคลายมนตร์ขลัง ได้รับการคัดเลือกให้ติดกลุ่มหนังดีที่สุดตลอดกาลของโลก (โดยการลงคะแนนโหวตของผู้กำกับและนักวิจารณ์ทั่วโลก จัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ 10 ปี โดยนิตยสาร Sight &Sound) รวมทั้งเป็น 1 ในตัวแทนอันโดดเด่นของสไตล์หนังที่เรียกกันว่า neorealism หรือ italian neorealism

หนังในแบบ neorealism ถือกำเนิดขึ้นที่อิตาลี เมื่อกลางทศวรรษ 1940 และกลายเป็นปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก แม้ว่าในเวลาต่อมาไม่นาน neorealism จะคลายความนิยมและมีการสร้างน้อยลง แต่รูปแบบวิธีการที่หนังกลุ่มนี้บุกเบิกสร้างขึ้น ก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจและส่งอิทธิพลต่อหนังรุ่นหลังๆ มาจนถึงทุกวันนี้

พูดง่ายๆ คือ neorealism นั้น เกิดขึ้นและดับลงในชั่วระยะเวลาไม่นานนัก (ประมาณปี 1944-1952) แต่การเกิดขึ้นและมีอยู่ของมัน มีบทบาทสำคัญต่อการพลิกโฉมวิธีทำหนังไปทั่วโลกอย่างมากมายมหาศาล

neorelaism เกิดขึ้นเพราะสภาพสังคม มากกว่าเจตนาในการบุกเบิกคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ของตัวศิลปิน กล่าวคือ ผลจากการตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้อิตาลีบอบช้ำเสียหายในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่การพังทลายของอาคารบ้านเรือน สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ สิ่งอุปโภคบริโภคขัดสนขาดแคลน เต็มไปด้วยคนตกงาน ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนขยายกว้างห่างไกลกันสุดกู่ ปัญหาอาชญากรรมชุกชุมไปทั่วทุกหัวระแหง

สภาพเช่นนี้ส่งผลให้บรรดาคนทำหนังต้องสร้างงานในลักษณะปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และคอยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปทีละเปลาะ ท่ามกลางข้อจำกัดและอุปสรรคต่างๆ มากมาย ทว่าผลลัพธ์ที่ออกมา กลับกลายเป็นหนังที่เปี่ยมด้วยพลังความสมจริงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

รูปแบบหรือกฎเกณฑ์ในการพิจารณาว่าหนังเรื่องไหนเข้าข่ายเป็น neorealism เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทีหลังนะครับ แรกเริ่มคนทำหนังก็แค่เพียงสร้างงานของตนเองไปตามปกติเท่าที่เงื่อนไขห้อมล้อมจะเอื้ออำนวย แล้วต่อมาเมื่อมีจำนวนเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากขึ้น จึงเริ่มมีการพิจารณาค้นหาจุดร่วมจุดเด่นที่หนังเหล่านี้มีตรงกัน สรุปออกมาเป็นองค์ประกอบต่างๆ

ลักษณะสำคัญของหนัง neorealism ก็คือ เป็นหนังทุนต่ำ (บางตำราระบุมากกว่านั้นว่าต้องใช้ฟิล์มขาวดำ) ถ่ายทำในสถานที่จริง ไม่มีการสร้างฉากในโรงถ่าย ใช้นักแสดงสมัครเล่นหรือชาวบ้านทั่วๆ ไป ปราศจากดารามืออาชีพ (บ่อยครั้งก็ใช้การตั้งกล้องแอบถ่าย ปล่อยให้นักแสดงปะปนไปกับฝูงชน) ไม่ปรุงแต่งประดิดประดอยเพื่อให้หนังออกมาดูสวยงาม และที่สำคัญคือ มีเนื้อหาเรื่องราวสะท้อนภาพชีวิตและปัญหาของคนยากคนจน รวมทั้งมีการจบเรื่องแบบทิ้งให้ผู้ชมนำไปคิดหรือจินตนาการต่อด้วยตนเอง ว่าชะตากรรมของตัวละคร (หลังจากหนังจบ) จะเป็นเช่นไร?

ผู้คนจำนวนไม่น้อย มักจะเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า neorealism เป็นหนังที่มุ่งหวังผลเรื่องความสมจริงชนิดสุดโต่ง มีงานสร้างดิบหยาบ จนกระทั่งละเลยความเป็นศิลปะและหลีกเลี่ยงการสร้างอารมณ์สะเทือนใจ

สภาพการทำหนังแบบ ‘ตามมีตามเกิด’ เต็มไปด้วยเงื่อนไขข้อจำกัด รวมถึงวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้กำกับ มีส่วนทำให้หนังออกมามีบรรยากาศสมจริงใกล้เคียงกับหนังข่าวหรือสารคดีไปโดยปริยาย แต่พ้นจากนี้แล้ว คนทำหนังก็ยังคงพยายามทำให้หนังมีความเป็นศิลปะและการเร้าอารมณ์ ผ่านงานในขั้นตอนอื่นๆ ที่สามารถควบคุมได้ เช่น งานเขียนบท การจัดองค์ประกอบภาพ การใช้ดนตรีประกอบ

จักรยานคนจน The Bicycle Thief

The Bicycle Thief คือตัวอย่างที่เด่นชัดของหนัง neorealism ที่โดดเด่นทั้งการสร้างความสมจริงน่าเชื่อถือ ควบคู่ไปกับการแสดงให้เห็นถึงฝีมือและชั้นเชิงทางศิลปะ

พล็อตของหนังนั้นผูกเรื่องไว้ง่ายมาก เหตุการณ์เกิดขึ้นและจบลงในระยะเวลาแค่สามวัน เริ่มจากตัวเอกชื่ออันโตนิโอ ริชชี ซึ่งตกงานมานาน และไปสมัครงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ แบบรอคอยความหวังอย่างรางเลือนริบหรี่ ได้งานเป็นคนติดโปสเตอร์ ซึ่งมีข้อแม้ว่า ตำแหน่งงานนี้จะต้องมีจักรยานเป็นของตนเอง

เรื่องราวในวันแรก จึงว่าด้วยการที่ริชชีและภรรยา ต้องดิ้นรนหาเงินมาไถ่จักรยานที่จำนำไว้

วันถัดมา ขณะที่ริชชีเพิ่งเริ่มต้นทำงานได้ไม่ทันไร จักรยานของเขาก็ถูกขโมยไปต่อหน้าต่อตา แม้จะพยายามไล่ตาม แต่คนร้ายก็หลบหนีไปได้

ชายหนุ่มจึงไปแจ้งความกับตำรวจ แต่ก็ดูเหมือนจะไร้ความหมาย เจ้าหน้าที่ทำเพียงแค่ลงบันทึกไว้ ไม่ได้ออกติดตามสืบหาคนร้ายและของกลาง โดยให้เหตุผลว่า ในแต่ละวันมีคดีลักขโมยเช่นนี้เกิดขึ้นในโรมมากมายนับไม่ถ้วน

เมื่อไม่อาจพึ่งพาผู้รักษากฎหมาย ริชชีจึงไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนที่มีอาชีพเป็นคนเก็บขยะ ซึ่งมีพวกพ้องเยอะ และนัดแนะกันออกตามหาจักรยานที่โดนขโมยในวันรุ่งขึ้น

เรื่องราวในวันที่ 3 คือ หัวใจสำคัญของหนัง ริชชีกับลูกชายชื่อบรูโน พร้อมด้วยสมัครพรรคพวก ออกติดตามค้นหาจักรยาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก คนอื่นๆ ก็แยกตัวกลับไปทำงานของตนเอง เหลือสองพ่อลูกอยู่กันตามลำพัง

ระหว่างการติดตามจักรยานนี้เอง หนังค่อยๆ แสดงให้เห็นว่า จักรยานคันหนึ่งซึ่งไม่ได้มีราคาค่างวดอะไรมากมายนักในสายตาคนทั่วไป สำคัญและมีความหมายต่อครอบครัวของริชชีมากมายเพียงไร เป็นเหตุให้นำไปสู่เรื่องราวการต่อสู้ชนิดกัดไม่ปล่อยของคนจนตรอก และนำไปสู่บทลงเอยที่ทำร้ายจิตใจบาดลึกที่สุดครั้งหนึ่งในโลกภาพยนตร์

จักรยานคนจน The Bicycle Thief

ความยอดเยี่ยมเบื้องต้นของ The Bicycle Thief คือ ความหนักแน่นสมจริงตามแบบฉบับของหนัง neorealism แต่ที่ผมชอบมากเป็นพิเศษ ได้แก่ การเล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงซื่อๆ ตรงไปตรงมา กระชับฉับไว เรื่องราวมีความคืบหน้าอยู่ตลอดเวลา และเป็นหนังที่ผู้ชมดูแล้วสามารถสัมผัสได้ไม่ยากเลยว่า หนังมีความจริงใจต่อสิ่งที่กำลังบอกเล่ามากๆ

มีเกร็ดเบื้องหลังเล็กน้อยเล่าสู่กันฟัง แลมเบอร์โต แมกจีโอรานี ผู้รับบทเป็น อันโตนิโอ ริชชี ตัวเอกใน The Bicycle Thief นั้น ชีวิตจริงมีอาชีพเป็นกรรมกร พื้นเพต่างๆ ค่อนข้างใกล้เคียงกับตัวละครในหนัง

นอกจากนี้แล้ว วิททอริโอ เดอ สิกา ผู้กำกับ ยังเคยกล่าวยืนยันความเชื่อของเขาเกี่ยวกับเรื่องการแสดง ซึ่งเขาเชื่อว่าคนทุกคนในโลก จะมีเพียงบทบาทหนึ่งเดียวที่สามารถแสดงได้อย่างสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ นั่นคือ การเล่นเป็นตัวเอง

ความเชื่อนี้ไม่ใช่กฎเหล็กตายตัว ขึ้นอยู่กับประเภทของหนัง และแต่ละผู้กำกับซึ่งมีเทคนิควิธีการไม่เหมือนกัน ทว่าแลมเบอร์โตในบทอันโตนิโอ ริชชี นั้น เล่นดีน่าประทับใจมากจนเหมือนไม่ใช่การแสดง แต่เป็นการแอบดูชีวิตจริง ความสำเร็จจากเรื่องนี้ ส่งผลให้เขากลายเป็นดารา และมีหนังเล่นติดตามมาอีกราวๆ สิบกว่าเรื่อง แต่ไม่มีบทบาทไหนจะเทียบเคียงหรือดีเท่าบทชายหนุ่มผู้ออกตามหาจักรยานที่ถูกขโมยได้เลย

จุดเด่นถัดมาคือ มันเป็นหนังคลาสสิกที่ดูง่าย เข้าใจง่าย สนุก ชวนติดตาม หลากอารมณ์ความรู้สึก มีทั้งอารมณ์ขัน ความอบอุ่น ซาบซึ้ง นุ่มนวล ความตื่นเต้นลุ้นระทึก ความรู้สึกเสียดแทงใจ หม่นเศร้า เย้ยหยัน ขมขื่น มีการหยอกล้อระหว่างการให้ความหวังกับกับการทำลายความหวังสลับไปมาอยู่ตลอดเวลา และเมื่อหนังจบลง มันชวนให้รู้สึกรวดร้าวใจสลายชนิดที่ยากจะลืมเลือน

ความเป็นศิลปะอีกประการของ The Bicycle Thief ก็คือ หนังไม่มีทุนรอนจะทำให้ออกมาประณีต ไม่มีฉากหรืองานสร้างที่น่าตื่นตา แต่ตลอดทั้งเรื่องกลับเต็มไปด้วย ‘ภาพติดตา’ หรือ ‘ภาพจำ’

แต่ที่โดดเด่นเหนือสิ่งอื่นใด The Bicycle Thief ใช้การออกติดตามค้นหาจักรยานที่หายไปของตัวละครพ่อลูก นำพาผู้ชมไปพบเห็นสภาพสังคมอิตาลีช่วงหลังสงครามในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่ชีวิตความเป็นอยู่แร้นแค้นขัดสน เศรษฐกิจตกต่ำ ริ้วรอยบาดแผลจากสงครามที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน คนตกงาน ช่องว่างระหว่างชนชั้น ความเคว้งคว้างสิ้นหวังไร้ที่พึ่งพาของผู้ยากไร้

ทั้งหมดนี้เล่าสะท้อนผ่านรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ภาพผู้คนเบียดเสียดเข้าคิวรอขึ้นรถราง กลุ่มคนว่างงานรอคอยการเรียกตัวที่สำนักงานจัดหางานของรัฐกันเนืองแน่น ผู้คนต่อแถวยาวเหยียดในโรงจำนำ (และเห็นข้าวของที่นำมาจำนำกองใหญ่โตมหึมา) บรรยากาศที่ตลาดขายอะไหล่รถจักรยาน (ซึ่งมีการนำจักรยานที่โดนขโมย มาถอดแยกชิ้นส่วนขาย) ผู้คนมาร่วมประกอบพิธีทางศาสนาในโบสถ์กันอย่างคับคั่ง เพราะมีโรงทานแจกอาหารฟรีหลังจากเสร็จพิธี การฝากผีฝากไข้ในเรื่องทุกข์สุขต่างๆ กับแม่หมอที่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์

จักรยานคนจน The Bicycle Thief

แต่ที่คมคายยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ การสะท้อนภาพสังคมในแง่มุมต่างๆ ข้างต้น ผ่านความเปลี่ยนแปลงของตัวละครอันโตนิโอ ริชชี ซึ่งในช่วงแรกดูเป็นคนซื่อๆ ที่คำนึงถึงเฉพาะเพียงแค่ปัญหาปากท้องและความอยู่รอดของครอบครัว มองอนาคตข้างหน้าอย่างเปี่ยมไปด้วยความหวัง ปฏิเสธความเชื่องมงายเหลวไหล จนกระทั่งเมื่อจักรยานโดนขโมย ระหว่างออกติดตามค้นหา ความคิดความเชื่อหลายๆ อย่างของเขาก็ค่อยๆ ถูกสั่นคลอน และก้าวข้ามไปมาระหว่างการกระทำที่ถูกต้องดีงามกับการดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ โดยมีสายตาบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของบรูโนผู้เป็นลูกชาย เฝ้ามองความเป็นไปต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับพ่อ

อาจกล่าวได้ว่า ควบคู่ไปกับการผจญภัยภายนอก คือ การออกค้นหา ต่อสู้เพื่อทวงถามจักรยานกลับคืนมา หนังก็เล่าถึงการผจญภัยทางจิตวิญญาณของตัวละครริชชีด้วยเช่นกัน และที่น่าเจ็บปวดคือ ท้ายที่สุดแล้ว ริชชีกระทำในหลายๆ สิ่งที่ตนเองเคยต่อต้าน เคยปฎิเสธ หรือแม้กระทั่งขัดต่อความเชื่อความศรัทธาดั้งเดิมของตนเอง

โดยวิธีการเช่นนี้ หนังพาคนดูไปสู่ต้นตอของปัญหาสังคม เริ่มจากผลลัพธ์ไปสู่สาเหตุแรกเริ่มได้อย่างหลักแหลมคมคาย

เมื่อครั้งแรกที่หนังเริ่มออกฉาย โจเอล คานอฟฟ์ นักวิจารณ์ที่มีทัศนะทางการเมืองฝ่ายซ้าย ตำหนิติเตียนฉากจบของหนังเรื่องนี้ว่า เป็นฉากจบเศร้าเคล้าน้ำตาแบบหนังของชาร์ลี แชปลิน แต่ขาดการลงลึกในเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคม

ข้อกล่าวหานี้ หากมองโดยถือเคร่งว่าหนังมีบทบาทหน้าที่ต้องสะท้อนสังคมแบบตีแผ่ขุดคุ้ยและวิพากษ์วิจารณ์ปัญหากันอย่างถี่ถ้วน ก็น่าจะเป็นความเห็นที่ถูกต้องไร้ข้อโต้แย้ง

แต่หนังในฐานะที่เป็นงานศิลปะ ไม่ใช่งานวิจัยในเชิงวิชาการ จึงมีอิสระในการนำเสนอเปิดกว้างมากกว่านั้น ความเห็นเชิงลบนี้จึงยิ่งกลายเป็นการชี้ให้เห็นถึงคุณงามความดีของ The Bicycle Thief เด่นชัดยิ่งขึ้นไปอีก

ข้อหาที่ว่าเป็นงานบีบคั้นน้ำตา ถ้าจะพูดแบบแก้ต่าง มันยืนยันถึงการที่หนังประสบความสำเร็จในการสร้างอารมณ์ร่วมไปได้ถึงขั้น ‘กินใจ’ ผู้ชม และการไม่ลงลึกในเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคม พูดในแบบกองเชียร์ The Bicycle Thief เป็นงานที่สะท้อนภาพสังคมและปัญหาต่างๆ ในอิตาลี โดยปราศจากการชี้นำ

เป็นเรื่องที่ว่า สุดแท้แต่จะใช้มุมมองบรรทัดฐานไหนมาเป็นเครื่องมือในการชี้วัดตัดสินนะครับ ไม่มีใครถูกหรือผิด

แต่ระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า The Bicycle Thief เป็นฝ่ายชนะใจนักดูหนังทั่วโลก

นี่ยังไม่นับรวมว่า The Bicycle Thief เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้แก่หนังยอดเยี่ยมของโลกอีกเรื่องอย่าง Pather Panchali (1955) ของสัตยาจิต เรย์ รวมทั้งหนังอิหร่านเด่นๆ หลายเรื่องในช่วงทศวรรษ 1990

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save