fbpx

THE BELIEVERS ‘สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์’ : ประชาธิปไตยเลือดตกยางออก

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

ไม่จำเป็นต้องอธิบายมากก็ได้ว่า นิว – สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’ ที่มวลชนไปจนถึงฝ่ายความมั่นคงเรียกจนคุ้นเคยคือใคร

หลังรัฐประหาร 2557 เขาเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ออกมาเดินหน้าชน-เปิดหน้าสู้กับ คสช. อย่างไม่สะทกสะท้าน หลายเวทีมีเขาอภิปราย หลายถนนมีเขาร่วมเดินประกาศไม่เอาเผด็จการ

แต่ต่อให้สังคมไทยจะคุ้นหูกับชื่อนี้มากกว่า 5 ปีแล้วจากแสงไฟแสงแฟลชสื่อมวลชนที่ต่างจับจ้องให้เป็นเบอร์ต้นๆ ของตัวละครที่ยืนตรงข้ามกับฝ่ายถือครองอำนาจรัฐ ก็ยังไม่วายที่จะถูกทำร้ายจนเลือดตกยางออก

แทนที่เขาจะได้เตรียมเก็บกระเป๋าเสื้อผ้าและร่ำลาครอบครัว-มิตรสหาย เพราะได้ทุนจากรัฐบาลอินเดียให้ไปศึกษาต่อปริญญาโทเมืองปูเน่ ถ้าไม่ถูกคนร้ายอำพรางใบหน้าด้วยหมวกกันน็อค 4 ราย รุมทำร้ายจนปางตายเสียก่อน ป่านนี้เขาน่าจะใช้ชีวิตเรียนหนังสืออยู่ที่โน่นแล้ว

แน่นอน, อนาคตที่น่าจะยาวไกล วูบดับไปพร้อมกับเลือดที่ไหลชุ่มหน้าจนหมดสติ

สายของวันที่ 28 มิถุนาฯ นิวบอกว่ากำลังออกจากบ้านไปธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเอาเอกสารวุฒิการศึกษา แล้วจะไปจัดงานดนตรี ‘24 มิถุนาฯ’ ที่เขาจัดติดต่อกันมาแล้วถึง 3 ปี

“ตำรวจบอกผมอย่าพูดถึงหมุดคณะราษฎร ผมก็บอกไม่พูดก็ได้ เลยตั้งใจเน้นไปที่ร้องรำทำเพลงแทน เพราะช่วงที่ผ่านมาเรามีแต่เรื่องทุกข์ๆ ไม่มีสุขร่วมเสพ เรามีแต่ทุกข์ร่วมต้าน เพื่อไม่ให้มวลชนมีแต่เรื่องทุกข์ ผมเลยอยากให้ออกไปทางบันเทิงหน่อย” นิวเล่าไอเดียที่เขาอยากจัดงานขึ้นเพื่อรำลึกถึงคณะราษฎรในเดือนมิถุนายน

ประมาณ 11 โมง เขาแวะกินข้าวและนั่งมอเตอร์ไซค์มาถึงปากซอยบ้านย่านมีนบุรี ก่อนจะเดินไปกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มที่คุ้นเคย

“ก่อนหน้านั้นมีทหารคนหนึ่งโทรมาบอกว่า “ระวังตัวหน่อย” ผมก็บอกอะไรล่ะ เวลามีสัญญาณเตือนมันจะเป็นคำพูดที่ไม่เคลียร์ แต่พอจะทำให้รู้ว่าต้องมีเรื่อง มันก็หวั่นๆ เพราะไม่ใช่ครั้งแรก และจุดนั้นเป็นจุดที่ผมต้องขึ้นลงรถเมล์เป็นประจำมาตลอดเป็นสิบปี ซึ่งผมคิดว่ากลางวันแสกๆ คงไม่มีใครกล้าทำอะไร สุดท้ายพอเดินเลี้ยวไปนิดเดียวก็มีคนใส่หมวกกันน็อคหวดไม้เข้ามาที่หน้า

“วินาทีนั้นผมรู้สึกว่า ถ้าอยู่บนฟุตบาทต้องเป็นจุดตายแน่ๆ เลยวิ่งไปบนถนนแล้วพยายามใช้กระเป๋าป้องกันตัว แต่ผมสู้ไม่ไหวจริงๆ คนเดียวจะสู้ 4 คนเป็นไปไม่ได้ ผมพยายามเอากระเป๋าถือตีไปโดนมันบ้าง แต่ก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะพวกมันใส่หมวกกันน็อคป้องกันมาอย่างดี ผมพยายามจะสู้ แต่มันเริ่มไม่ไหว เพราะมันตีแต่หัว ไม่ตีส่วนอื่นเลย ผมคิดในใจว่าตายแน่ๆ จนผมทนไม่ไหวก็ประคองตัวเองกลับมาที่ฟุตบาท ก่อนจะเอาโทรศัพท์ให้ผู้หญิงคนหนึ่งที่เดินมาพอดี ผมก็บอกให้ติดต่อแม่ผมให้หน่อย ถ้าถ่ายรูปได้ก็ถ่ายไปเลย นั่นคือช็อตสุดท้ายที่รู้สึกตัว”

 

 

นิวถูกนำส่งโรงพยาบาลในสภาพหมดสติ ตาปูดจนปิดด้วยแผลแตกฉกรรจ์ที่เปลือกตาขวา เสื้อเชิ้ตขาวถูกย้อมใหม่ด้วยสีเลือดข้นๆ

มีบางแวบที่ผมรู้สึกว่าน่าจะตายไปดีกว่า เพราะมันทรมานมาก มองไม่เห็นอะไร จะหลับตาก็ปวด จะลืมตาก็ปวด พอมันรู้สึกตัวช่วงหนึ่งที่มาถึงโรงพยาบาล จะหลับตาก็หลับไม่ได้เพราะหมอเขาต้องมาตรวจที่ตา เปิดตาทีแต่ละครั้งมันคือความทรมาน

“ช่วงแรกไม่ชินกับการมองเลย บางทีก็เดินชนไปเรื่อย เทนํ้ายังเทไม่ตรงกับแก้ว ตอนนี้มันก็เริ่มปรับโฟกัสได้ แต่ไม่เต็มร้อยเหมือนเมื่อก่อน วันก่อนมีคนทักผมทางฝั่งขวา เขาโบกมือให้แต่ผมไม่เห็น ต้องหันไปมองตรงๆ ถึงจะเห็น”

ผ่านสัปดาห์นรกไปแล้ว นิวออกจากโรงพยาบาล ถอนหายใจให้ชีวิตอันบัดซบในช่วงที่ผ่านมา เลิกอาลัยอาวรณ์กับทุนการศึกษาอินเดียที่จำใจสละสิทธิ์ไป และนอนพักฟื้นอยู่บ้านอีกหลายเดือน

จนกระทั่งวันดีคืนดีมีคนหนุ่มสาวจาก National Taiwan University Student Association ที่มองเห็นชีวิตและทัศนะของเขา เชิญชวนให้ไปร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองไทย

แน่นอน, เขาตอบตกลงบินไปไต้หวัน ก่อนจะกลับมาเล่าให้ 101 ฟังยาวๆ เกี่ยวกับชีวิตอันข้นคลั่กตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงรัฐธรรมนูญ

 

 

ไปไต้หวันมาเป็นยังไงบ้าง

ผมคิดว่าแบบอย่างของประเทศที่ไทยเราควรจะพัฒนาได้ใกล้เคียงก็คือไต้หวัน ทั้งอุปนิสัยใจคอ ระเบียบวินัยของคนไต้หวัน จริงๆ ก็ไม่ต่างจากคนไทยเท่าไหร่ในอดีต แต่เขาก็พัฒนา ทำให้คนเคารพกฎเกณฑ์ทางสังคม เคารพการอยู่ร่วมกันได้มากขึ้น และที่สำคัญคือเขาพยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเขาให้ประชาชนมีความสะดวกสบายมากที่สุด

สิ่งที่ผมเห็นเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือการทำให้คนที่ใช้ระบบขนส่งมวลชนรู้สึกสะดวกสบาย เขาทำให้การเดินทางของคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องใช้รถ ทำให้คนที่ใช้ขนส่งมวลชนไม่รู้สึกเสียเปรียบคนที่ใช้รถส่วนตัว ศักดิ์ศรีคนบนถนนเท่ากัน แต่ในฐานะที่เราไม่ได้มีเงินมีทอง การอยู่ในประเทศไทยมันคือความยากลำบาก ความทุลักทุเล

เศรษฐกิจไต้หวันตอนนี้ถือว่าดาวน์ลงไป แต่ถ้าเทียบขนาดจีดีพีก็ยังสูงกว่าไทย เพราะยุคที่เขามีเงิน เขาเอาเงินไปสร้างสาธารณูปโภคและวางโครงสร้างพื้นฐานไว้ดีแล้ว ซึ่งขัดกับประเทศไทยในยุคที่กำลังเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เรากลับไม่ลงทุนอะไรพวกนี้ แล้วพอเศรษฐกิจยุคนี้แย่ ยิ่งกลายเป็นเอาความยากลำบากมาให้ประชาชนอีก

ตอนนี้หลายคนอาจจะมองว่าบทบาทของไต้หวันในสายตาโลกดูไม่มีอะไร แต่การจัดการภายในประเทศเขาอย่างแรกคือเขาสามารถพัฒนาไปสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตยได้ เมื่อก่อนเคยมีคำพูดหนึ่งของลีกวนยูว่า สังคมเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะคนจีน ไม่มีวันเป็นประชาธิปไตยได้ เพราะมันอยู่ใต้อำนาจนิยม แต่ความมหัศจรรย์ของไต้หวันคือเขาสามารถเป็นสังคมประชาธิปไตยได้

ในยุคหนึ่ง เขาเป็นยุคที่การเมืองผูกขาดอยู่กับพรรคการเมืองกลุ่มเดียว แต่วันนี้เขาก็กลายเป็นประเทศที่สามารถแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมและแฟร์กับทุกฝ่าย ในประเด็นที่เขาอ่อนไหวกันก็ยังถกเถียงกันได้ เช่น มีคนส่วนหนึ่งคิดว่าควรแยกเป็นประเทศไต้หวันเต็มตัวสักทีได้หรือยัง แต่คนส่วนหนึ่งต้องการคงความเป็นจีนเอาไว้ เป็นจีนที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เรื่องพวกนี้กลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงได้เสรีได้มาก ทั้งๆ ที่สมัยก่อนการพูดเรื่องนี้อาจนำมาสู่ความตายได้ทันที

 

กลุ่มที่เชิญคุณไปคุย เขาสนใจอะไร ได้คุยอะไรกันบ้าง

ต้องยอมรับว่าภาคประชาสังคมเขาค่อนข้างจะเหนียวแน่นมาก อย่างกลุ่มนักศึกษาที่เชิญผมไปแลกเปลี่ยน เขาเป็นสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน และเขาก็สนใจการเมืองกันอยู่แล้ว เขาเห็นปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยว่ามันมีส่วนคล้ายคลึงกับเขามากในยุคที่เขาเคยอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกนานถึง 38 ปี ช่วงทศวรรษที่ 50-90 เป็นยุคที่พรรคก๊กมินตั๋งครอบงำทุกองคาพยพของไต้หวัน เขาเลยอยากให้ผมเล่าประสบการณ์ให้ฟัง เราต่างเห็นว่าสถานการณ์มีความคล้ายกัน ในแง่ที่ว่ามีการสร้างความกลัวจากผู้มีอำนาจทางการเมือง

แต่หลังสงครามเย็น ไต้หวันก็เข้าสู่กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างเข้มข้น จนเขามีระบบการแข่งขันทางการเมืองที่แฟร์มากขึ้น แต่ของไทยกลายเป็นว่าเรายังไม่สามารถพ้นวังวนเดิมๆ ได้ ชนชั้นนำไทยยังเป็นชนชั้นนำที่เป็นมรดกมาจากยุคสงครามเย็น สืบทอดอำนาจทั้งระบบราชการ แม้ความเป็นจริงทางสังคมคือยุคโซเชียลมีเดีย แต่ว่าพวกเขายังใช้วิธีการแบบสงครามเย็นมาควบคุมสังคม

 

คนหนุ่มสาวไต้หวันมองการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยของฝ่ายประชาธิปไตยยังไงบ้าง

เขาสะท้อนว่าในยุคหนึ่ง คนรุ่นปู่ รุ่นพ่อ รุ่นแม่ของพวกเขา เคยเจอแบบไทยเวลานี้มาแล้ว เขารู้สึกโชคดีที่ในรุ่นเขาไม่ต้องมาเจอการเมืองกับความกลัวแบบที่เราเจอกันอีกแล้ว แต่ทำไมไทยยังไม่หลุดพ้นจากตรงนี้กันไป นี่คือข้อสงสัยของเขา

เขาบอกว่าประเทศไทยเคยถูกมองว่าเป็นประเทศที่เป็นผู้นำประชาธิปไตยในเอเชียด้วยซํ้า ทำไมงวดนี้ไทยถึงไม่หลุดจากกับดักอะไรพวกนี้ เป็นเรื่องที่เขาสนใจศึกษา แล้วเขาก็พอจะทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของคนรุ่นพ่อเขาในช่วงประกาศกฎอัยการศึกได้จากการมองปรากฏการณ์ไทยในปัจจุบัน

 

ย้อนไปช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ถูกรุมทำร้าย ตอนนั้นความตั้งใจหลังเรียนจบของคุณคือเรื่องอะไร

ตอนแรกผมก็ไม่คิดว่าคณะรัฐประหารชุดนี้ หรือ คสช. จะอยู่มาถึง 5 ปี คิดว่ามันน่าจะเหมือนรัฐประหารปี 2549 ที่แค่ปีเดียวมันก็คงจะไป แต่ความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น ตอนนั้นผมคิดว่าในเมื่อคนในสังคมยังไม่พร้อมหรือไม่กล้าออกมาต่อสู้ และเราพอที่จะทำได้ ก็ควรจะทำเพื่อสะท้อนเสียงของคนในสังคมว่าคณะรัฐประหารกำลังพาประเทศเราเดินไปในทางที่ไม่ถูก

จนผ่านมา 5 ปี พอมีการเลือกตั้ง แม้ว่าไม่ใช่การเลือกตั้งที่สมบูรณ์แบบ เพราะเป็นแค่พิธีกรรมหลอกชาวบ้าน หลอกประชาคมโลกเท่านั้น แต่มันก็เปิดมิติใหม่บางอย่าง ผมเองถึงยังปฏิเสธการไปมีบทบาททางการเมืองกับพรรคการเมือง แต่ผมไม่ปฏิเสธว่าชีวิตนี้จะไม่ไปทางการเมือง ผมยังไม่รู้ ผมรู้แค่ว่าผมต้องการที่จะพัฒนาตัวเองให้มากกว่านี้ เลยต้องหาที่ศึกษาต่อ อย่างน้อยผมก็ต้องไปพัฒนาศักยภาพตัวเอง เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ เพื่อในระยะยาวจะได้พัฒนาการเคลื่อนไหวต่อไป

ทุกวันนี้ผมเห็นว่าการเมืองไทยก็ยังไม่ใช่การเมืองที่เปิดเต็มร้อยสักทีเดียว แต่ว่าประชาชนก็เริ่มจะออกมาส่งเสียงในสิทธิของเขามากขึ้นแล้ว และกลไกของสภาผู้แทนราษฎรก็กำลังเดินไปข้างหน้า แม้ว่าฝ่ายประชาธิปไตยไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ตาม แต่ผมก็เห็นคนที่เคยเคลื่อนไหวกันมาหลายคนเข้าไปมีบทบาทในการเมืองระดับชาติมากขึ้น ผมก็หวังว่าพวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น ส่วนผมอยากไปพัฒนาตัวเองก่อน

 

ตอนนั้นทำไมถึงเลือกจะไปเรียนต่อที่อินเดีย 

ผมคิดว่าสังคมอินเดียเป็นสังคมที่เราเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายได้เยอะมาก สังคมอินเดียในความเข้าใจทั่วไปคือสังคมที่วุ่นวายและเละเทะค่อนข้างมาก แต่เขายังสามารถรักษาความเป็นสังคมประชาธิปไตยไว้ได้มาตลอดรอดฝั่ง อันนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆ อุปสรรคทางวัฒนธรรมของเขาสูงมาก แต่เขาสามารถทำให้รัฐธรรมนูญของเขาประกันสิทธิของคนให้ได้มากที่สุด

ระบอบการปกครองอินเดียคือคอนเซ็ปต์ของตะวันตก แต่เขาทำยังไงให้มันอยู่ในรากวัฒนธรรมตะวันออก แม้จะมีกำแพงทางศาสนาค่อนข้างสูงอยู่ แต่หลักการพื้นฐานเรื่องประชาธิปไตยของเขาค่อนข้างดี

ที่น่าสนใจคือผมคิดว่าเงื่อนไขที่สังคมไทยเจอมันน้อยกว่าอินเดียมาก ถ้าใครเทียบกับสังคมไทยจะรู้สึกว่าไทยดูดีกว่าอินเดียมาก แต่วันนี้กลายเป็นว่าวิถีทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เราถอยหลังกว่าเขา

อีกอย่างคือด้วยความที่ผมเรียนรัฐศาสตร์มา ผมก็อยากจะมุ่งเน้นความสนใจไปทางการเมืองมากขึ้น และอินเดียมีระบบการศึกษาที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ผมก็อยากจะเข้าไปเรียน เพราะการเรียนรู้ด้วยภาษาอังกฤษมันทำให้เข้าถึงองค์ความรู้ได้มากกว่าภาษาไทย

 

 

ถ้างั้นทำไมคุณเลือกเรียนรัฐศาสตร์มาตั้งแต่จบมัธยม

จริงๆ ผมอยากเรียนนิติศาสตร์ เพราะเห็นคนถูกเอารัดเอาเปรียบมาเยอะ โดยเฉพาะครอบครัวผมเอง มีช่วงหนึ่งที่ฝ่ายตรงข้ามเอาผมไปโจมตีว่าเป็นหนี้นอกระบบ คำถามคือมันคือความไม่เป็นธรรมใช่ไหม แล้วเราไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ เราก็เลยถูกเอารัดเอาเปรียบ

เราไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ก็ต้องเข้าสู่หนี้นอกระบบ มันเป็นระบบที่เอาเปรียบ ต้องจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น คิดดอกเบี้ยเกินที่กฎหมายบัญญัติไม่พอ แถมยังคอยข่มขู่เรา

ผมเห็นปรากฏการณ์แบบนี้ที่บ้านมาตลอดตั้งแต่จำความได้ แม้ไม่เห็นที่บ้าน ก็เห็นบ้านคนอื่นเจอปัญหาเดียวกัน ด้วยความที่เจอสภาพสังคมที่เหลื่อมลํ้าแบบนี้ มันก็ยิ่งกดคนไม่ให้พัฒนาศักยภาพได้ไกลเท่าไหร่ นี่เป็นความอยุติธรรมที่มันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

จนผมคิดว่าในเมื่อถ้าผมมีโอกาสได้เรียน ก็อยากจะทำอะไรบางอย่าง อย่างน้อยก็แก้ปัญหาความยุติธรรมเป็นกรณีๆ ไป เลยอยากเลือกเรียนกฎหมาย เพียงแต่ว่าช่วงเข้าสู่มัธยมปลาย ผมเรียนรู้ว่าบริบททางการเมืองที่เราถูกสื่อปลูกฝังวาทกรรมเรื่อง “นักการเมืองเลว” มา แล้วทำให้เราตัดขาดตัวเองออกจากการเมือง ความจริงมันตัดขาดไม่ได้ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ ทำให้ช่วงหนึ่งผมสนใจประวัติศาสตร์การเมืองขึ้นมา และพอมาคิดได้ว่าสุดท้ายต้องมาศึกษาปัญหาทางการเมือง เราจะศึกษาแค่ตัวบทกฎหมายคงไม่พอ เลยเบนเข็มมาเรียนรัฐศาสตร์แทน

 

จริงๆ มีคนไม่น้อยเลยที่ครอบครัวไม่ได้มีฐานะ เขาเลือกทำมาหากินไป แต่ทำไมคุณเลือกเข้าสู่โลกแห่งการศึกษา

ต้องยอมรับว่าปัญหาของคนบางส่วนที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ก็เป็นผลจากความไม่รู้ ผมคิดว่าถ้าเราไม่รู้ เราต้องแสวงหามัน ค้นหามัน ต้องทำให้รู้

โชคดีที่ว่าพ่อกับแม่ผมเองพยายามจะสอนว่าอะไรที่ไม่รู้ต้องค้นหา อย่าปล่อยให้เป็นความไม่รู้ ควรค้นหาเท่าที่เราจะค้นหาได้ และเราเองก็ไม่ได้อยู่ในยุคที่ถูกกดจนไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ อาจไม่ได้เข้าถึงความรู้ขั้นสูง แต่ว่าพื้นฐานเราต้องมีมันเป็นอาวุธบ้าง อย่างน้อยก็เพื่อเอาตัวเองให้รอดในเบื้องต้นก่อน

ผมเห็นหลายกรณีแล้ว คนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมส่วนใหญ่มาจากความไม่รู้ด้วยส่วนหนึ่ง เพราะกลไกทางสังคมมันปิดกั้น ดังนั้นเราก็พยายามไม่ให้ตัวเองถูกปิดกั้น ผมเห็นตัวอย่างคนที่มีความรู้ว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรี ยืนได้อย่างเต็มตัว ผมไม่ได้อยากเป็นคนที่ต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ หรือสุดท้ายต้องกลายเป็นพวกที่เราเคยเกลียด พวกที่ชอบเอาเปรียบ สิ่งที่เราไม่ชอบในวัยเด็ก เราก็คงไม่อยากกลายไปเป็นแบบนั้นเหมือนกัน ดังนั้นเราต้องหาหนทางใหม่ที่ดีกว่า มนุษย์ต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น

 

แต่คุณภาพชีวิตที่ดีก็มีหลายทาง ทำไมเลือกเดินทางเคลื่อนไหวทางการเมือง

เป็นความสนใจของผมเอง มีช่วงหนึ่งที่คิดจะไปตั้งหลักทำมาค้าขาย แต่ว่าเจอปัญหาเยอะมาก ด้วยความที่ผมไม่ได้มีทุนหนา ผมลองเริ่มจากการรับซื้อของมาขาย แต่คุมต้นทุนไม่ได้ ยากมาก เพราะเราไม่ใช่รายใหญ่ ยิ่งเราอยู่ชานเมือง การเดินทางยิ่งลำบาก มันก็คุมต้นทุนไม่ได้ โดยเฉพาะต้นทุนเวลา มีช่วงหนึ่งเคยจะลองขายอาหารทะเล แต่แหล่งอาหารทะเลไกลจากบ้านผมมาก อาหารทะเลอยู่มหาชัย บ้านผมอยู่มีนบุรี พอเราไม่มีรถยิ่งลำบากมาก เสียเวลาทั้งวันไปกับการนั่งรถติดอยู่ในเมือง

ช่วงปี 53-54 ผมเคยเป็นกระเป๋ารถเมล์มาแล้ว มินิบัสสาย 71 เป็นรถร่วมบริการ ขับปาดเหมือนสาย 8 ดีๆ นี่เอง ตอนนั้นความที่ผมไม่ชอบทำงานอยู่กับที่ เลยลองไปทำดู เขาให้ค่าแรงไป-กลับเที่ยวละ 50 บาท จากนวมินทร์ไปวัดธาตุทอง วันหนึ่งวิ่งได้ 4 เที่ยว มันเป็นงานที่เหนื่อยมาก แค่นั่งรถเมล์ไปไหนก็ลำบากแล้ว นี่ต้องมาคอยเก็บเงินอีก ทำอยู่ได้ประมาณเดือนกว่าๆ ก็เลิก แต่คนขับเขาขับทั้งวัน วิ่งตั้งแต่ตี 5 ยัน 5ทุ่ม ที่ผมไปทำคือไปทำแทนเมียเขาที่เป็นกระเป๋าอยู่ก่อนแล้ว แต่ช่วงบ่ายเมียเขาต้องไปอยู่กับลูก เขาก็เลยต้องหาคนมาทำแทน

จริงๆ ผมเคยทำงานมาหลายอย่าง แต่ทำเพราะต้องการหารายได้มากกว่า สมัยเรียนมัธยมมีบางช่วงที่ทางบ้านมีสถานการณ์วิกฤตทางการเงิน พ่อกับแม่บอกยังพอซัพพอร์ตผมในชีวิตประจำวันได้ แต่ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือ และไม่ต้องการขอเงินที่บ้านซื้อหนังสือ ก็ต้องไปหางานเพื่อเก็บเงินซื้อเอง และด้วยความที่ผมไม่ชอบทำงานอยู่กับที่ งานอย่างหนึ่งที่มันถูกจริตคือการแจกใบปลิว แต่ละวันผมจะไม่ไปซํ้าที่ และความที่มันง่าย แค่ยืนแจกเฉยๆ ใครไม่รับก็เดินผ่านไป

จากงานนี้มันเริ่มทำให้คุยกับคนมากขึ้น เริ่มประสานงานเป็น เพราะว่าใบปลิวนั้นแต่ละคนเขาไม่ได้แจกตลอดปีตลอดชาติ เราต้องหาถ้าอยากแจก ต้องรู้จักคนหรือบริษัทห้างร้าน ก็ทำให้เราเริ่มรู้จักกับร้านค้าหรือโรงเรียนพิเศษมากขึ้น

มีช่วงหนึ่งผมหารายได้จากการเป็นเด็กเสิร์ฟร้านก๋วยเตี๋ยว แต่ทำได้ไม่นาน เพราะผมเป็นคนไม่ยอมคน เจ้าของร้านมันเป็นคนปากเสีย ด่าผมทั้งวัน แต่เราไม่ว่า เพราะเราเป็นลูกจ้าง จู่ๆ วันนึงมันเดินมาตบหัวผม ตบแรงมากจนผมเดือด ทนไม่ไหว ผมไม่ได้อยู่ในระบบทาส คุณจะมาตีไม่ได้ ผมเลยคว้าชามก๋วยเตี๋ยวที่ลูกค้ากินเสร็จแล้วควํ่าไปที่หัวมัน ผมบอก “มึงด่ากูได้ ด่าเช้าด่าเย็นกูไม่ว่า แต่มึงมาตีหัวกูไม่ได้” จนเมียเจ้าของร้านต้องมาห้าม และตำรวจก็มาเคลียร์

ตอนแรกมันหาว่าผมทำร้ายร่างกายมัน แต่จริงๆ มันทำผมก่อน ตำรวจก็บอกแค่ทะเลาะวิวาท เขาไม่อยากให้เรื่องเข้าไปอยู่ในระบบของเขา แต่ผมบอกผมเป็นคนโดนทำร้ายก่อนนะ ก็บอกไปว่า “แป๊ะ มึงต้องจ่ายค่าแรงกูมา” สุดท้ายมันก็ยอมจ่าย เลยจบๆ กันไป

มีอีกงานที่ผมเคยไปทำ เป็นร้านอาหาร fast food ในห้างสรรพสินค้า บางวันก็เข้าเช้าเลิกเย็น บางวันก็เข้าบ่ายเลิกดึก กระทั่งมีวันหนึ่งเขาบอกทุกคนต้องทำกิจกรรมพิเศษร่วมกันหลังร้านปิด คือช่วยกันล้างร้าน แล้วการล้างร้านอาหารมันไม่ใช่การล้างเล็กๆ เราทำงานมา 8 ชั่วโมงก็เหนื่อยมากแล้ว ยังให้มาล้างร้านต่อ ค่าโอทีก็ไม่ให้ แถมตอนกลับบ้าน ผมต้องเดินเกือบ 7 กิโลฯ เพื่อมาต่อรถเมล์อีกทอดหนึ่งเพราะมันดึกมาก แล้วนั่งรอรถเมล์อีกเกือบชั่วโมงกว่าจะถึงบ้าน นี่คือการเอาเปรียบกัน

 

แล้วตอนเรียนจบมหา’ลัย เคยหางานประจำไหม

เคย ผมตั้งใจลองสมัครไปเป็น product research บริษัทก็ตรวจประวัติผม ประวัติอาชญากรรมก็ขึ้นมาเป็นพรึ่บเลย ผมบอก “พี่ มันก็ไม่ใช่คดีร้ายแรงอะไร” เขาบอก “เข้าใจไอ้น้อง ปัญหาคือมีคดีความเยอะขนาดนี้ ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ก็หมดเวลาทำมาหากินแล้ว” เขาอธิบายว่าผมทำไม่ไหวหรอก มันกระทบกับระบบงาน ตรงนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าการจะทำงานประจำเริ่มเป็นปัญหา ไม่ใช่ไม่อยากจะทำ อยากทำนะครับ ผมไม่ได้ประท้วงเป็นอาชีพ คนชอบบอกผมไปประท้วงทุกวัน นี่คือข้อกล่าวหาที่คนชอบกล่าวหามาตลอด

จริงๆ แล้วผมไม่ชอบเป็นภาระให้ใคร อย่างนามสกุล “เสรีธิวัฒน์” ก็มีผมใช้แค่คนเดียว ผมไม่พูดถึงนามสกุลเก่าแล้วกัน ปัญหาคือตอนนั้นผมไปออกรายการหนึ่งที่ช่องเนชั่น จำชื่อรายการไม่ได้แล้ว ไปพูดประเด็นเกี่ยวกับชุดนักศึกษา ผมบอกว่าไม่ได้ไม่เห็นด้วย ใครจะใส่ก็ใส่ไปแต่อย่าบังคับให้กูใส่ นี่เป็นไอเดียที่ผมบอกกับทุกคนมาเสมอ พอจบรายการก็มีคนโทรมาหาผม แล้วก็บอกว่าเป็นคนนามสกุลเดียวกับผม เขาว่าผมว่า “มาพูดเรื่องแบบนี้ เดี๋ยวเขาหาว่าคนในตระกูลไม่สั่งสอน” ผมก็บอก “โอเค งั้นกูก็ไม่ใช่ลูกหลานมึง กูเปลี่ยนก็ได้ ถ้าห่วงนักนามสกุลนี้ก็ไม่เอา” ผมด่าเลยนะ วันนั้นผมใช้คำหยาบเลย แล้วช่วงนั้นก็ใกล้วันเกิดผมพอดี ไหนๆ จะถึงวันเกิดแล้วเปลี่ยนนามสกุลซะเลย

 

ทำไมเป็น “เสรีธิวัฒน์”

ผมไม่คิดอะไรมาก ก็หาคำที่มันดูดีๆ ให้มันไม่ยาวเกินไป เราเรียกร้องเสรี นามสกุลเราควรจะเป็นเสรีไหม เราต้องการทำให้เกิดกระบวนการที่ทำให้เป็นเสรี ในภาษาไทยมักจะใช้คำว่าว่า “ภิวัฒน์” ผมลองเอาไปใส่ในเว็บโหราศาสตร์ ปรากฏว่าตัว ภ มันไปตกห้องกาลกิณี ผมเลยเปลี่ยนเป็น ธ เพราะมันเขียนแล้วดูดี อ่านไม่ยาก และความหมายไม่ทิ้งกันมาก เลยกลายเป็นเสรีธิวัฒน์

ตอนนี้ก็จะแปลกอย่างหนึ่งคือคนที่บ้านผมไม่มีใครใช้นามสกุลนี้ ผมเปลี่ยนเองคนเดียว และใครจะใช้นามสกุลนี้ร่วมกันกับผมในอนาคตก็ต้องรอกันต่อไป (หัวเราะ)

 

นิวกับแม่ของเขา

 

ที่บอกว่าชอบอ่านหนังสือ ได้นิสัยรักการอ่านมาจากไหน

แม่ผมชอบอ่านหนังสือ ที่บ้านเมื่อก่อนมีนิตยสารคู่สร้างคู่สม ผมก็จะหยิบมาอ่าน จริงๆ หนังสืออะไรที่แม่ผมได้มา ผมอ่านได้หมด ตอนนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ต อะไรที่ไม่เกี่ยวกับดาราผมก็อ่านไป มีอยู่วันนึงแม่เขาได้หนังสือแแปลกๆ มาเล่มหนึ่ง เป็นเรื่องแม่ของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่พี่สาวจิตรเขียน ไม่รู้แม่ได้มาจากไหน ตอนแรกผมไม่สนใจ นึกว่าเป็นนิยาย แต่ลองอ่านดูผมเลยรู้ว่าชีวิตคนอย่างจิตรกับครอบครัวเขาเองพลิกผันมาก ทำให้เห็นว่าประชาชนเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานมาโดยตลอด แม้กระทั่งสิทธิความเป็นคน

จริงๆ มี 3 เล่มที่ผมอยากแนะนำ เล่มแรกคือ สามก๊ก นี่เป็นหนังสือที่ผมเริ่มอ่านตั้งแต่มัธยม ตอนนั้นด้วยความที่สังคมไทยชอบพูดถึงและเปรียบเปรยกับตัวละครในสามก๊กหลายอย่าง เลยทำให้ผมสนใจว่ามันคืออะไร แต่ละคนมีประสบการณ์ยังไง และใช้อำนาจยังไง ใช้ยุทธวิธียังไง ดำเนินชีวิตยังไง มันเป็นทั้งประวัติศาสตร์และนวนิยาย เป็นอะไรที่คลาสสิกและอธิบายเปรียบเทียบได้ตลอด

 

ชอบตัวละครไหนในสามก๊ก

ผมว่าทุกตัวมีดีเลว มีถูกผิด เพียงแต่ว่าเราจะเอาตัวอย่างของคนไหนมาประยุกต์ใช้กับชีวิตเรามากที่สุด สำหรับผมไม่มีตัวไหนที่ชอบนะ แม้ว่าคนดูจะบอกว่าเล่าปี่หรือขงเบ้งดูดีที่สุด เอาเข้าจริงสองคนนี้ก็เป็นคนที่มีมุมโฉดชั่วอยู่เหมือนกัน ผมไม่ได้ยึดใครเป็นแบบอย่าง ดูแค่ว่าแต่ละคนมียุทธวิธียังไง มีปฏิสัมพันธ์กับคนยังไง ดูว่าคนเขาทำยังไงกับอำนาจ

เล่มที่สองคือ ไบเบิ้ล เพราะเวลาดูหนังฝรั่ง มันชอบพูดถึงไบเบิ้ล ผมเลยคิดว่าหลายๆ อย่างถ้าเรารู้ไบเบิ้ลซะบ้าง น่าจะทำให้การดูหนังฝรั่งสนุกขึ้น เพราะมันคือโลกทัศน์ของพวกตะวันตก และมันแตกต่างกับคัมภีร์ของพุทธที่เป็นภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาไปแล้ว แต่ไบเบิ้ลเขาใช้ภาษาอังกฤษ มันก็ช่วยให้ผมเข้าใจโลกทัศน์ของฝรั่งได้ระดับหนึ่ง ในไบเบิ้ลมันมีความรู้บางอย่าง มีปริศนาสัญลักษณ์ เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง แม้ว่าผมจะเป็นคนที่ไม่มีศาสนาก็ตาม

เล่มสุดท้ายคือ The Prince ของมาเคียเวลลี่ เล่มนี้มันช่วยถอดเราออกจากความเป็น idealistic เพราะช่วงแรกๆ ผมก็เป็น idealistic แต่ความเป็นจริงมนุษย์มันไม่ได้มีอุดมคติเป็นธงนำตลอด ระหว่างทางที่เราจะไปถึงเป้าหมาย มันต้องมีวิธีการอะไรบางอย่างที่เราควรเรียนรู้ ตอนแรกผมไม่อยากอ่าน เพราะมีคนบอกว่ามันคือหนังสือของคนชั่ว หนังสือที่แนะนำวิธีหาอำนาจ แต่พออ่านแล้วผมได้ข้อสรุปว่าเราจะเป็นพิราบขาวก็ได้ แต่เราต้องรู้เท่าทันอสรพิษ นี่เป็นหนังสือที่มีอิทธิพลกับผมในระดับหนึ่ง

 

แล้วคนที่มีอิทธิพลในชีวิตล่ะ ในทางการเมืองคุณนับถือใคร

ถ้าเป็นในไทย คนหนึ่งที่น่าเคารพก็คือพระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในคณะราษฎร ตอนแรกผมไม่ได้ใส่ใจรายละเอียด แต่พอศึกษาไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าแกเป็นคนที่แปลกมาก ตำแหน่งทางการเมืองก็ไม่ค่อยอยากจะได้ อยู่แบบสมถะ แล้วท้ายที่สุดลึกๆ แล้วที่คนพวกนี้ต่อสู้มา ไม่ได้สู้เพื่อเอาอำนาจสูงสุดให้กับตัวเอง

อีกอย่างหนึ่งคือเราถูกวาทกรรมสอนมาว่าคนพวกนี้มันเลว แต่พอเราได้ศึกษาประวัติศาสตร์จริงๆ คนพวกนี้ได้เปลี่ยนอะไรหลายอย่าง อย่างแรกคือทำให้คนทั่วไปรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศ ทำให้คนรู้สึกว่าความเป็นประชาชนมีความสำคัญ

ปรีดี พนมยงค์ ก็เหมือนกัน ผมให้เหตุผลเดียวกับพระยาพหลฯ ที่แกไม่ได้ต่อสู้เพื่อให้ได้อำนาจสูงสุดมาไว้ที่ตัวเอง แล้วท้ายที่สุดแกเป็นคนที่รู้จุดผิดพลาดของตัวเอง คำพูดที่แกพูดว่า “วันที่มีอำนาจกลับไม่มีประสบการณ์ วันที่มีประสบการณ์ก็ไม่มีอำนาจเสียแล้ว” อันนี้ผมว่าแกเข้าใจตัวเอง ที่สามารถบอกว่าตัวเองผิดพลาดอย่างไรได้ คนเหล่านี้เป็นคนที่น่านับถือ

 

ถ้าเป็นต่างประเทศมีใครบ้าง

คนหนึ่งคือซุนยัตเซ็น ผมชอบคนที่สามารถเข้าสู่อำนาจแต่ไม่ได้คิดจะยึดกุมอำนาจไว้กับตัวเองตลอดไป อย่างซุนยัตเซ็น วันที่แกปฏิวัติซินไฮ่แล้วขึ้นเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาล แกก็บอกว่าถ้าใครสามารถทำให้การปฏิวัติของประเทศจีนไปถึงเป้าหมายคือการโค่นล้มราชวงศ์ชิงได้ ปฏิวัติรอบแรก 1911 ราชวงศ์ชิงยังไม่ไป แต่แกยินดีที่จะออกจากตำแหน่งนี้ แล้วก็ทำตามสัญญา และไม่ได้มีโอกาสกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกเลย เป็นประธานาธิบดีแค่สามสี่เดือนเท่านั้น แม้ว่านิสัยแกอาจจะมีข้อเสียหลายอย่าง เช่น ความเจ้าชู้ แต่การยึดติดในอำนาจแกไม่มี

สิ่งหนึ่งที่เขาสามารถเปลี่ยนจีนได้ คือทำให้คนที่เคยเชื่อว่าผู้ปกครองไม่ต้องมาเน้นเรื่องสิทธิของประชาชน หันมาสนใจเรื่องสิทธิของประชาชนได้ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยอยู่ในหัวของสังคมเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะคนจีน แต่ซุนยัตเซ็นวางรากฐานใหม่

 

คิดยังไงกับคนที่มองคุณว่าเป็นพวกซ้ายจัด 

ไม่แปลกที่เขาจะมองแบบนี้ ฝ่ายซ้ายมันคืออะไรที่กินใจคนรุ่นใหม่ตลอด ผมเห็นแต่ฝ่ายซ้ายที่เรียกร้องความเท่าเทียม เพราะมันเป็นผลประโยชน์ส่วนรวม แต่พอโตมาแล้วได้เรียนรู้จริงๆ หลายอย่างพวกที่อ้างตนเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นซ้ายสุดๆ ก็พาคนไปฉิบหายเยอะอยู่เหมือนกัน บทเรียนทางการเมืองทำให้เราสามารถบาลานซ์ได้ว่าเราไม่ควรสุดโต่ง

มีคำพูดหนึ่งที่ว่า คนที่เป็นวีรบุรุษหรือคนที่น่ายกย่องจริงๆ มักจะเป็นคนอายุไม่ยืน ซึ่งหลายคนก็เป็นแบบนั้นจริงๆ อาจเพราะความอายุสั้นของพวกเขา เลยทำให้เขาไม่แก่มาทำเรื่องเลวร้ายระยำตำบอน

 

 

แต่การเป็นฝ่ายซ้าย เบื้องต้นเลยคือการถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตี ไม่ว่าจะเบาหรือหนักคุณเรียนรู้อะไร รับมือยังไง

การถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีคือเรื่องธรรมดามาก บางครั้งทำให้รู้สึกปลง แต่บางครั้งเราก็เห็นศักยภาพ เห็นภูมิปัญญาของเขาว่ามีเท่านี้จริงๆ บางทีเราจะอดทนหรือปล่อยผ่านไป บางทีเราก็เข้าไปถกเถียง แต่ว่าเขายังอยู่ในมิติอันลึกลับ ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง

อย่างตอนที่ผมถูกโจมตีแรกๆ ทางโซเชียลมีเดียในหลายๆ เรื่อง ผมถามว่าคุณเอาข้อเท็จจริงมาจากไหน เห็นข้อเท็จจริงนั้นโดยตัวคุณแล้วหรือยัง หรือสุดท้ายคุณพูดมาจากความเชื่อ ถ้าแบบนั้นก็อย่ามาพูดกันเลย

ทุกวันนี้ผมยังโดนด่าว่ายังเรียนไม่จบอยู่เลย ผมบอกกูเกิลมี เสิร์ชหน่อยสิพี่ ก่อนจะด่าใคร ผมยอมรับว่าผมด่าคนเยอะนะ แต่กว่าผมจะด่าคนๆ หนึ่งได้ เราต้องค้นหาข้อมูลว่าจริงเท็จจริงยังไง แล้วต้องไม่ด่าเกินกว่าสิ่งที่เขาทำผิดพลาด ไม่งั้นคุณเองนั่นแหละที่กระทำเลวร้ายกว่าเขาอีก คือการใส่ไฟคนอื่น

คนเรามีผิดพลาดกันได้ เราต้องตำหนิความผิดที่เขาทำหรือสิ่งที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่ใช่ด่าไปเรื่อยเตลิดเปิดเปิง ยุคนี้กูเกิลก็มี เล่นโซเชียลมีเดียอย่ามีไว้แค่ส่งไลน์ ยุคนี้เรามีโอกาสเข้าถึงความรู้มากๆ แต่ภูมิปัญญาเรากลับต่ำลง คนบอกผมเรียนไม่จบ แค่พิมพ์ชื่อจ่านิวในกูเกิลรูปที่ขึ้นมาก็เป็นรูปใส่ชุดครุยแล้ว ผมก็ไม่รู้จะพูดยังไง อาจเป็นผลของการได้รับข้อมูลทางเดียวมาตลอดชีวิตหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ วันนี้เรามีเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ถ้าภูมิปัญญาไม่ได้พัฒนาแล้วเราจะมีเทคโนโลยีไปทำไม

 

ถ้าบอกว่าปรีดี พนมยงค์ เห็นความผิดพลาดของตัวเองในบั้นปลายชีวิต วันนี้พอจะบอกได้ไหมว่าคุณเห็นความผิดพลาดของของฝ่ายประชาธิปไตยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังไงบ้าง รวมถึงตัวเองด้วย

ผมคิดว่าเรามีความเป็นปัจเจกมากเกินไป พอเป็นปัจเจกก็ไม่รู้จักที่จะสานประโยชน์ให้เป็นแนวทางเดียวกันได้ พอร่วมกันไม่ได้ก็จะแย่งกันนำ ผมเองโดนด่าประจำว่าชอบออกสื่อ “แต่มันผิดที่กูเหรอ” อันนี้ผมคิดในใจ เพราะสื่อเขามาสัมภาษณ์เอง มันต่างจากฝ่ายขวาที่เขามองไปในทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพมาก แต่ฝ่ายเราชอบไปโฟกัสที่เบี้ยบ้ายร่ายทาง ไม่ได้โฟกัสที่เป้าหมายอย่างที่ควรจะทำ

ในแง่หนึ่งความหลากหลายมันคือความสวยงาม เหมือนกับดอกไม้ แต่สุดท้ายไม่รู้จะไปสู่เป้าหมายเดียวกันยังไง แค่ไล่ คสช. ก็ไม่สามารถทำได้อย่างมีพลังเท่าไหร่

ส่วนข้อผิดพลาดตัวเอง ผมคิดว่าผมประเมินตัวเองสูงไป แต่จริงๆ ทรัพยากรเรามีไม่เยอะ ตั้งเป้าหมายใหญ่เกินไป เช่น ตอนต้นปี 2561 ผมต้องการเปิดแคมเปญว่าต้องไล่ คสช. ให้ได้ เราจะเดินเท้าไปทำเนียบกัน นี่เป็นการมองเป้าหมายที่เกินตัวไปเยอะ แต่ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะศักยภาพของเรามีไม่พอ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเขามีศักยภาพในการทำลายล้างเราได้มาก ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายของทุกคนที่อยากเห็นประชาธิปไตย

 

ตลอด 5 ปีมานี้ ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 มีอะไรที่คุณรู้สึกเสียดาย ทั้งที่ทำพลาดไปและไม่ได้ทำไหม

ที่เสียดายคือขบวนการประชาธิปไตยมันก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างไม่ได้ พูดตรงๆ ผมยังไม่เห็น แต่ก็คงเป็นข้อบกพร่องของผมด้วยที่เราเคลื่อนไหวแล้วไม่สามารถทำให้มันเกิดได้

แต่ส่วนหนึ่งผมคิดว่าสังคมมันสร้างความขัดแย้งอย่างร้าวลึกจนมันไม่สามารถสร้างพลังทางประชาธิปไตย ไม่มีอำนาจการต่อรองกับผู้มีอำนาจได้ นี่เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย หรือเราอาจจะแสวงหาองค์ความรู้ไม่พอก็ได้ แต่จะทำให้ขบวนการประชาธิปไตยก่อตัวได้ยังไงเป็นคำตอบที่ยากมาก

 

ตั้งแต่ออกมาเคลื่อนไหว ทราบว่าโดนคดีเป็นสิบคดี หลายคนมองว่าน่าจะภาคภูมิใจที่ได้สู้กับเผด็จการจนขึ้นโรงขึ้นศาล คุณรู้สึกแบบนั้นไหม

การมีคดีความสำหรับผมไม่ใช่เรื่องสนุกเลย ไม่ใช่เรื่องที่น่าภาคภูมิใจ ถ้าจะภูมิใจก็แค่ว่าเราได้ยืนหยัดในการต่อสู้มากกว่า แต่การมีคดีมันเป็นเรื่องที่น่ารำคาญใจมาก บางครั้งทำให้เราเสียทั้งเวลาเรียนและเวลางานด้วยซํ้า แต่ผมเข้าใจว่านี่เป็นเรื่องปกติที่พวกเขาจะทำกับเรา ถ้าเขาใช้ความรุนแรงโต้งๆ ไม่ได้ เขาก็สร้างความรำคาญใจให้เราด้วยการใช้กฎหมายปิดปากเรา

มีคดีหนึ่งที่ตลกร้ายมาก เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 พ.ค. 2561 ตอนนั้นเราจัดชุมนุมในธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยจะให้คนมาค้างคืนเพื่อที่ตอนเช้าจะเดินไปทำเนียบรัฐบาล แล้วปรากฏว่าไม่มีไฟฟ้า ทางทีมงานต้องตัดสินใจว่าจะต่อไฟกับตู้ไฟในธรรมศาสตร์ แต่สุดท้ายมันดันเป็นตู้ของการไฟฟ้าฯ การไฟฟ้าฯ ก็แจ้งความว่าเราขโมยไฟ

ในคำบรรยายฟ้องว่าให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชดใช้ค่าไฟฟ้าทั้งสิ้น 140 บาท 26 สตางค์ และฟ้องข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ชีวิตนี้ผมไม่ค่อยมีกิน ยังไม่เคยคิดจะขโมยของใครเลย วันนีึงผมมาถูกข้อหาขโมยไฟมูลค่า 140 บาท 26 สตางค์ อันนี้ผมว่าเป็นการทำลายศักดิ์ศรีกันมาก เป็นการทำลายความชอบธรรมในการต่อสู้ของเรา

 

แต่ที่โดนคดีมา เคยคิดไหมว่าจะมาถึงขั้นเลือดตกยางออก

ไม่เคยคิดถึงขนาดนั้นเลย ที่ผ่านมาผมพยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปพูดหรือแตะผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง ผมพูดในหลักการพื้นๆ ด้วยซํ้า สังคมไทยมันย้อนกลับไปไกลมากจนเราต้องมาเรียกร้องในสิทธิพื้นๆ หลายคนบอกทำไมไม่พูดเรื่องอื่น ผมบอกแค่เรื่องพื้นๆ แค่นี้ยังไปไม่ได้ แล้วจะไปพูดเรื่องอื่นยังไง คุณพาสังคมย้อนหลังกันมาจนต้องพูดเรื่องเบสิคมากๆ มันไม่ใช่ความผิดพลาดของผมนะ มันเป็นความผิดพลาดของสังคมโดยรวม แล้วถ้าคุณไม่พอใจเรื่องที่ผมพูด ทุกวันนี้มีโซเซียลมีเดียคุณก็ตอบโต้ได้ แต่ทำไมต้องถึงขั้นทำร้ายร่างกายกัน

ผมคิดในใจ “กูพูดแค่นี้ มึงทำกับกูขนาดนี้เลยเหรอ” อารมณ์แค้นผมมี ผมเคยไปด่าพ่อล่อแม่มึงหรือเปล่า คนที่มาทำร้ายผมนั้น พูดตรงๆ เราก็ไม่มีความแค้นต่อกัน หรือว่าคุณเห็นแก่เงิน หรือเห็นแก่อะไร แล้วคนที่สั่งมามันคิดอะไร ผมถึงไม่ชอบแนวคิดเรื่องอโหสิกรรม เพราะคนพวกนี้มันไม่เคยสำนึก

 

 

แต่อย่างน้อยเจตนาของฝ่ายที่ต้องการทำร้ายคุณ ก็คืออยากให้คุณหยุดเคลื่อนไหว คุณเคยอยากหยุดไหม

ถ้าเรากลัวก็เท่ากับว่าความต้องการสร้างความกลัวของเขาชนะในที่สุด เราต้องทำให้เห็นว่าคุณชนะไม่ได้ คุณทำกับเราไม่สำเร็จ ความกลัวแบบนี้มันทำอะไรกับสังคมไม่ได้ มันอาจจะเจ็บปวด มันอาจจะเสียเวลา แต่เราก็ต้องทน นี่คือสิ่งที่ผมคิดมาตลอด มันเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้

ถ้าพูดตามสงครามแบบซุนวู มันเป็นสงครามหมาหยอกไก่ สงครามสั่งสอน สิ่งที่คสช. ทำมาตลอดคือสงครามหมาหยอกไก่ แต่แค่นี้มันก็รุนแรงไปแล้ว ผมไม่ได้ไปท้าทายอะไร แค่พูดตามวิถีครรลองประชาธิปไตย ผมแค่เรียกร้องสิทธิพื้นฐานที่เราเคยมีเท่านั้นเอง แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่เราเรียกร้องมันคือความรุนแรงสำหรับเขา

 

บางคนก็บอกว่าคุณเป็นพวกหัวรุนแรง

การกล่าวหาว่าพวกเราชอบใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ผมรำคาญใจมาก ผมทำทุกอย่างที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แม้รัฐธรรมนูญถูกฉีกไป แต่สิทธิเสรีภาพก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามธรรมชาติทั้งสิ้น การเรียกร้องต่างๆ คำพูดอาจจะดูกร้าวไปหน่อย แต่การมาบอกว่าเป็นพวกหัวรุนแรง ผมว่ากล่าวหากันเกินไป

ถ้าผมเป็นคนหัวรุนแรงจริง ป่านนี้ผมคงจับอาวุธไปยิงหัว คสช. แล้ว คงไม่มานั่งๆ ยืนๆ ประท้วงเชิงสัญลักษณ์ให้มันมาไล่จับผมหรอก ข้อกล่าวหานี้กลายเป็นว่า พวกเขาทำให้มาตรฐานของการเป็นหัวรุนแรงตํ่าลงมาก กลายเป็นว่าหัวรุนแรงเป็นกันง่ายมาก แค่ไม่ถูกใจพวกเขาก็เป็นได้แล้วหรือ

 

ลึกๆ เคยรู้สึกอยากเป็นนักการเมืองไหม ในมุมหนึ่งอาจจะปลอดภัยกว่าการเป็นนักกิจกรรม

ก็มีส่วนหนึ่ง คนที่จะมีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้สูงคือนักการเมือง เพียงแต่การเข้าไปมีบทบาททางการเมือง จะต่อสู้จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้ไหมก็เป็นความท้าทาย เราจะสู้กับจุดยืนของเราเองได้หรือเปล่า หรือเราจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ นี่คือสิ่งที่ผมคิดมาตลอด

แน่นอนว่าคนเรียนทางรัฐศาสตร์มาส่วนใหญ่ จะเข้าไปมีส่วนในราชการฝ่ายปกครอง ตั้งแต่ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ผู้ว่าฯ แต่เราก็เห็นว่าศักยภาพเขาไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะโครงสร้างมันทำให้กลไกราชการไม่ยึดโยงกับประชาชน และด้วยความที่ผมอายุยังไม่เยอะ ผมก็เลยตั้งเป้าว่าถ้ายังไม่อายุ 30 ผมยังไม่อยากเป็นนักการเมือง

ตอนนี้ผมอายุ 27 อยากเรียนรู้อะไรมากกว่านี้อีกหน่อย ผมไม่อยากให้คนมองว่าการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่บันไดไปสู่นักการเมืองเท่านั้น ถ้าผมจะเป็นนักการเมืองผมต้องมีประสบการณ์มากกว่านี้

 

พรรคการเมืองแบบไหนที่คุณอยากเข้าไปมีส่วนร่วม พรรคที่มีอยู่ตอนนี้ใช่หรือยัง

ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนที่ได้ตามความต้องการเต็มร้อย สำหรับผมตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีพรรคการเมืองของมวลชนจริงๆ

ด้วยความที่ผมอายุมากขึ้น ก็เริ่มมองอะไรที่เป็นเชิงปฏิบัตินิยมพอสมควร ผมเคยคิดว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมกำหนดทุกอย่าง แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่

มันมีคำๆ หนึ่งที่บอกว่าการเมืองการปกครองเป็นเรื่องของคณาธิปไตย แต่ว่าประชาธิปไตยสำหรับผมมันคือการดึงคำว่าการเมืองการปกครองออกจากมาจากคณาธิปไตยให้ได้มากที่สุด คุณต้องดึงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น มันไม่ได้อยู่เฉพาะคณะผู้มีอำนาจ หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ถูกเลือกเข้าไปเท่านั้น

 

แล้วรัฐธรรมนูญล่ะ ในฐานะที่เรียนรัฐศาสตร์มา รัฐธรรมนูญแบบไหนที่คุณอยากเห็น 

ถ้าพูดแบบอุดมคติเลย ตอนนี้แทบจะพูดไม่ได้ด้วยซํ้า เพราะผมคิดอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราพูดตามสภาพการณ์ความเป็นจริงกับสังคมไทย ทุกวันนี้รัฐธรรมนูญมันถูกผลักไปที่ความต้องการของชนชั้นนำฝ่ายเดียว

ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญ 40 มันคือการดีลกันระหว่างอำนาจของชนชั้นนำกับอำนาจของประชาชนได้มากที่สุด เช่น การให้อำนาจฝ่ายข้าราชการดำรงอยู่ในบางสถานะ ถ้าเป็นการแต่งตั้งก็ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ถ้าพูดถึงการปกครองส่วนท้องถิ่นก็มาจากการเลือกตั้ง จริงๆ ตามหลักการควรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มันก็เป็นภาพสะท้อนความพิกลพิการของประเทศไทย คือมีทั้งผู้ว่าฯ กับนายก อบจ. แต่รัฐธรรมนูญ 60 กลับเพิ่มอำนาจให้ราชการจากการแต่งตั้ง และลดอำนาจการเลือกตั้งลง

รัฐธรรมนูญปี 40 ทำให้เห็นว่ามันพอจะมีวิวัฒนาการไปได้ในอนาคต ตัวผมเองในช่วงวัยเด็กก็อยู่ในภายใต้รัฐธรรมนูญปี 40 มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ไม่ถูกตัดตอนจนกระทั่งรัฐประหารปี 49

เราต้องยอมรับว่าถ้าต้องการให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น รัฐธรรมนูญต้องไม่มีข้อความที่ซับซ้อนกำกวม บางข้อความต้องมานั่งตีความกันอีก จะทำยังไงให้สิ่งที่คนในสังคมจำนวนหนึ่งเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถาบันกษัตริย์ สถาบันศาสนา ให้มีการดำรงอยู่ในสภาวะที่ไม่เป็นปัญหากับสิ่งใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น

เพราะสิ่งที่ฝ่ายผู้มีอำนาจพูดก็ไม่ใช่เนื้อนาบุญของสังคมนี้อย่างแท้จริงทั้งสิ้น ดังนั้นการพูดฝ่ายเดียวว่าสิ่งที่คุณพูดเหมาะสมกับสังคมไทย เช่น ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ก็ไม่ใช่อะไรที่เป็นพื้นฐาน แต่ศาสนาพุทธคือศาสนาที่มาจากต่างประเทศ แล้วการที่คุณมาโจมตีว่าประชาธิปไตยมาจากต่างประเทศ และก็มาจากทิศเดียวกันคือทิศตะวันตก จะมีความหมายอะไร หรือการบอกว่าประเทศไทยควรจะอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ท้ายที่สุดนวัตกรรมทางการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็คือนวัตกรรมของฝรั่งที่เกิดมาในช่วงตั้งรัฐชาติแรกๆ มันไม่มีอะไรเลยที่เป็นไทยแท้

ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญต้องทำให้ไม่มีอำนาจที่คอร์รัปชั่น ที่จะบอกว่าใครอยู่เหนือกว่าใคร และต้องยอมรับเรื่องพื้นฐานของการเป็นเสรีประชาธิปไตย ต้องยอมรับว่าทุกคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน ยอมรับในสิทธิมนุษยชน และการถ่วงดุลอำนาจ ไม่ใช่ประเคนอำนาจหรือให้อาญาสิทธิ์ใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแบบที่เป็นในรัฐธรรมนูญ 60 นี้

ผมว่าเราเคยมีสัญญาประชาคมที่ทำให้สังคมเรามีความใกล้เคียงกับประชาธิปไตยมาก ก็คือสัญญาประชาคมในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาฯ ปี 35 จนเกิดเป็นรัฐธรรมนูญ 40 ผมว่าชนชั้นนำก็ไม่เสีย ประชาชนก็ได้ เรากลับไปจุดนั้นได้ไหม นี่คือมาตรฐานขั้นตํ่าที่ผมหวัง

แต่ถ้าพูดจากทุกวันนี้ มันก็ยากมาก เราไม่ได้เรียกร้องว่าต้องพลิกฟ้าควํ่าแผ่นดินด้วยซํ้า เราเรียกร้องแค่ว่าคุณกลับไปในจุดที่คุณเคยทำไว้แล้วได้หรือเปล่า ยอมรับตรงจุดนั้นได้หรือไม่ หรือว่าการจะกลับไปจุดนั้นมันคือการเสียอำนาจ คุณเลยต้องกดให้มันตํ่ากว่ามาตรฐานที่คนในสังคมเคยได้มาใช่ไหม

วันนี้กลายเป็นว่าฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยเองต่างหาก คือฝ่ายที่หาสมดุลให้ระหว่างขั้วอำนาจเก่ากับขั้วอำนาจใหม่ แต่ขั้วอำนาจเก่าไม่เคยหาสมดุลเลย มีแต่ความพยายามจะหมุนนาฬิกาย้อนกลับไป

 

 

แล้วอะไรเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เกิดรัฐธรรมนูญแบบที่คุณอยากเห็น หรืออย่างน้อยก็เห็นร่วมกันว่าให้กลับไปที่รัฐธรรมนูญ 40 ก่อน

คนต้องเคารพสิทธิของตัวเองและไม่เชื่อว่าเราต้องเอาสิทธิของประชาชนไปประเคนให้ใคร ที่ผ่านมามีคนจำนวนหนึ่งพร้อมที่จะประเคนสิ่งเหล่านี้ให้กับใครก็ไม่รู้ เพื่อมาใช้อำนาจครอบงำสังคม มันก็กลายเป็นการเปิดโอกาสให้มีการขูดรีดทุกอณู โดยที่เราไม่รู้สึกว่าถูกขูดรีด

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีการขูดรีดและกดขี่กันอย่างสมบูรณ์มาก เราขูดรีดกันจนคนไม่รู้สึกว่าถูกขูดรีด เรากดขี่คนกันจนคนไม่รู้สึกว่าถูกกดขี่ ถ้าสังคมไทยต้องการสร้างฉันทามติว่าจะอยู่ไปวันๆ มีเสรีภาพเท่าที่มี มันจะเป็นการสร้างปัญหาใหญ่มาก สิ่งที่ชนชั้นนำไทยกำลังทำกับฝ่ายประชาธิปไตยคือทำให้เราไม่สามารถสะสมชัยชนะได้แม้แต่ก้าวเดียว นี่คือการเหยียบกัน คุณไม่ยอมถอยแม้ว่ามันจะผิดกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญ ผิดศีลธรรม

ที่ผ่านมาผมเลยพยายามถามว่า เราอยู่กันได้ใช่ไหม ที่ผมออกมาแค่คนส่วนน้อยใช่ไหม เป็นส่วนเกินใช่ไหม ถ้าคนในสังคมนี้ส่วนใหญ่ตอบแบบนั้นผมก็จะถอยนะ เพียงแต่เวลาที่เราไปเจอกับผู้คนต่างๆ มันทำให้เรารู้ว่าเราไม่ใช่คนส่วนน้อย แต่เราถูกทำให้เสียงเบา โจทย์ของผมคือจะทำยังไงให้คนออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองมากกว่านี้

อย่างเรื่องครูตีเด็ก กลายเป็นว่าคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเด็ก ถูกบอกว่าทำไมอดทนไม่ได้ มันสะท้อนว่าคนไม่ได้เห็นคุณค่าของการเคารพสิทธิเด็กเลย แต่ไปเคารพว่าความอดทนต่างหากที่คือความต้องการของสังคมไทย หรือเป็นคุณธรรมของสังคมไทย ซึ่งเป็นคุณธรรมที่จอมปลอม

แล้วครูพวกนี้มักจะใช้อารมณ์ มันก็เป็นรากฐานที่ทำให้คนเชื่อว่าการใช้ความรุนแรงคือการทำให้สังคมสงบ แล้วถ้าเชื่ออย่างนี้ทุกคน สุดท้ายสังคมไทยก็ไม่มีวันพ้นจากการใช้ความรุนแรงได้ ไม่มีทางพัฒนาไปสู่สังคมที่เคารพสิทธิของคนซึ่งกันและกันได้ เพราะคนที่ทำหน้าที่ปลูกฝังกล่อมเกลาพลเมืองตั้งแต่ขั้นแรก เขาใช้ความรุนแรงมาโดยตลอด นี่เป็นโจทย์ที่ยากมาก

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save