fbpx
HE BELIEVERS ‘นุชนารถ แท่นทอง’ : “ไม่มีเรื่องของใครของมัน โดยเฉพาะคนจน”

THE BELIEVERS ‘นุชนารถ แท่นทอง’ : “ไม่มีเรื่องของใครของมัน โดยเฉพาะคนจน”

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

YouTube video

บ้านสองชั้นขนาด 16.9 ตารางวา อยู่กัน 3 ครอบครัว รวม 12 คน มีของใช้ส่วนตัวไม่กี่อย่างเท่านั้นที่เรียกว่าของ “ส่วนตัว” ที่เหลือทั้งหมดนั้นสำหรับ “ส่วนรวม” อาทิ ตู้เย็น ทีวี เครื่องซักผ้า ครัว โต๊ะกินข้าว โซฟา ห้องน้ำ ฯลฯ

เด็กสาววัยประถม 3-4 คนวิ่งเล่นจากถนนลูกรังหน้าบ้าน กระโดดแว่บผ่านเข้าไปในบ้าน ทะลุออกหลังบ้านเหมือนลูกแมวซนๆ ปล่อยผู้หลักผู้ใหญ่ พี่ป้าน้าอา นั่งปอกมะม่วงจิ้มน้ำปลาหวานแกล้มลมร้อนในแดดบ่าย

แหม่ม – นุชนารถ แท่นทอง สาวใหญ่วัย 51 เจ้าของบ้าน บอกว่าที่บ้านนี้ปิดประตูเฉพาะกลางคืนเท่านั้น เพื่อไม่ให้ยุงรบกวนยามหลับนอน

“กลางวันไม่เคยปิดประตูเลย ไม่ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่” เธอให้เหตุผลว่าเพราะโตมาแบบชาวสลัม บ้านไม่เคยมีรั้ว และเผื่อให้เพื่อนฝูงเข้ามาหลบแดดหลบฝนได้ยามฉุกเฉิน

เธอบอกอีกว่าบ้านหลังนี้ไม่ถือว่าเล็ก เมื่อบางสีหน้าออกอาการฉงนว่าอยู่กันได้ยังไงถึง 12 คน

“เคยเจอไหม บ้านขนาด 10 ตารางเมตร อยู่กัน 20 คน นอนพร้อมกันไม่ได้ต้องสลับกันนอน บางบ้านขนาดคฤหาสน์ เจ้าของบ้านไม่อยู่แต่เอาไว้เลี้ยงหมาเท่านั้น แต่บางคนต้องนอนข้างถนนเพราะไม่มีบ้าน” แหม่มให้ภาพที่ชัดในระดับดำดิ่ง มวลสารขุ่นมัวหนาทึบอยู่ในขณะคำนึง…

นุชนารถ แท่นทอง

บนผนังสีขาวควันบุหรี่เหนือขอบวงกบประตู เป็นที่แขวนกรอบรูปพ่อกับแม่ของเธอ พ่อ – ผู้เป็นช่างก่อสร้าง ตระเวนใช้แรงงานมาจากบ้านเกิดพิษณุโลก จนมาพบกับแม่ – ชาวสมุทรปราการ ก่อนจะลงหลักปักฐานกันในสลัมย่านสำโรง สมัยที่จอมพลถนอม กิตติขจร กำลังเริงอำนาจ

“แถวนั้นเขาเรียกกันว่าชุมชนทองสุข โดนไล่รื้อตั้งแต่ปี 2533 สมัยนี้เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อทับ” เธอพูดสบตากับรูปบุพการีพลางน้ำตารื้นว่าเสียดายที่ทั้งคู่สิ้นอายุไปก่อนจะได้ย้ายมาอยู่ด้วยกันที่บ้านหลังใหม่

บ้านหลังใหม่ที่ผ่านการรวมตัวกัน 28 คนจากชุมชนเก่าอย่างเข้มแข็งเพื่อเจรจาขอซื้อที่ดิน 1 แปลง ขนาด 1.5 ไร่ ย่านแพรกษา สมุทรปราการ

แม้จะมีบ้านเป็นหลักแหล่งแล้ว แต่แววตาของคนหัวอกเดียวกันก็คอยย้ำกับเธอว่า “ไม่มีทางที่เราจะสุขสบายได้เลย ถ้ายังมีคนไร้บ้านหลงเหลืออยู่”

ประสบการณ์จากการถูกไล่รื้อและต่อสู้เรียกร้องให้ตัวเองและครอบครัวตั้งแต่ทศวรรษที่ 2530 ขยับเพดานมาต่อสู้เรียกร้องในนาม ‘เครือข่ายสลัมสี่ภาค’ จากโจทย์คนไร้บ้าน ขาดที่อยู่อาศัย เธอค่อยๆ ยกระดับมาจนพ้นเพดานว่า “ไม่มีเรื่องของใครของมัน โดยเฉพาะคนจน”

“ปัญหาคนจนในประเทศนี้เป็นเรื่องเดียวกัน คือการที่ประเทศนี้ไม่มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่มีรัฐธรรมนูญที่ให้โอกาสและสิทธิอย่างเสมอภาค” เธอบอก

แม้กำลังป่วยไข้จากหลายโรครุมเร้า ทั้งมะเร็ง เบาหวาน หัวใจ แต่ก็ยังนำชาวบ้านไปร่วมไฮด์ปาร์คหน้าหน่วยราชการ เพื่อทวงถามสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับ ราวกับว่าทั้งหมดแนบสนิทเป็นเรื่องเดียวกันจนแยกขาดไม่ได้

แล้วอะไรทำให้เธอตกผลึกว่าความทุกข์ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และความสุขไม่มีใครเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว

ลองพิจารณา…

วัยเรียนไม่ได้เรียน

 

“ตอนเด็กๆ พอจบ ม.3 เราอยากเรียนต่อเหมือนกับเพื่อนๆ บ้าง แต่แม่บอกว่าอย่าเรียนเลยลูก ต้องให้โอกาสน้องบ้าง ถ้าเรียนพร้อมกันบ้านเราไม่มีเงินพอ ความเสียใจนี้มันอยู่กับเรามากเลย แล้วก็รู้สึกโทษพ่อโทษแม่นะ ทำไมคนอื่นเขาได้เรียน ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าเขาจะหาเงินมาจากไหน เราคิดไม่เป็น แค่เสียใจว่าทำไมไม่ได้โอกาสเหมือนคนอื่น

“พอจบ ม.3 ก็ไปทำงานที่โรงงานเย็บผ้า เป็นพนักงานตัดหัวด้าย ตอนนั้นยังไม่มีประเด็นเรื่องแรงงานเด็ก เราไปทำตั้งแต่อายุ 15 ปี ทำตั้งแต่เช้ายันตีสอง สมัยก่อนประเทศไทยเราบูมมากเรื่องผลิตและส่งออกผ้าให้พวกแบรนด์เนม พอได้ค่าจ้าง แม่ก็มารับเงินให้

“ทำงานไปสักพักก็เริ่มมีความรัก มีแฟน แต่เราต้องหลบๆ ซ่อนๆ กลัวโดนแม่ตี เราเป็นครอบครัวที่ถูกปลูกฝังมาว่ามีผู้หญิงเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน แต่กับแฟนคนแรกก็อยู่กินกันมาจนถึงปัจจุบัน มีลูกด้วยกันสองคน

“ตอนอายุ 22 ทำงานที่โรงกลึงซึ่งมีแต่ผู้ชาย มีผู้หญิงอยู่สองคน ในฐานะที่เราได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเสมียนโรงงาน พอคนงานเขามีปัญหาเรื่องถูกกดค่าแรง เขาไม่กล้าคุยกับเถ้าแก่ เขาจะมาคุยกับเราเพราะเราใกล้ชิดเถ้าแก่ ด้วยความซื่อเราก็ไปคุยกับเถ้าแก่แทนพวกเขาว่าค่าแรงมันน้อย มันไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน

“พอเราพูดเสร็จ เถ้าแก่มองเราเป็นคนเนรคุณเลย เพราะคิดว่าเราจะพาคนงานสไตรค์ (strike) เราบอกว่าเราไม่ได้เนรคุณ เราทำงานแลกเงินและที่เราพูดคือเราหวังดี เพราะอยากให้คนอยู่กับเรา พอเขาเก่งแต่เขาไม่มีแรงจูงใจเดี๋ยวเขาก็ไป ไอ้เราก็เสียใจเลยออกจากงาน ปรากฏว่าพอเราออกแล้วคนงานออกตามครึ่งหนึ่ง กลายเป็นเหมือนแกนนำเข้าไปอีก แต่เวลานั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสไตรค์คืออะไร

“เราโดนกดมาตั้งแต่เด็ก ตอนเรียนหนังสือมีเงินไปโรงเรียนวันละไม่ถึงบาท ใช้หนังสือชุดเดียวกันกับน้องชาย ก็ถูกครูด่าว่าเอาตำรามาไม่ครบ พอวันหนึ่งน้าได้สามีเป็นคนเยอรมัน เขากลับมาเมืองไทย แจกตังค์ให้พวกหลานๆ วันนั้นเราเอาเงินไปโรงเรียน 8 บาทก็ถูกหาว่าเป็นขโมย เพราะครูคิดว่าเราไม่เคยมีเงินเยอะขนาดนี้ นี่คือสิ่งที่เราเจ็บปวดคับแค้นใจ”

วันฟ้าฟาด

 

“ตอนนั้นแหม่มอายุ 22 อยู่ชุมชนทองสุข สมุทรปราการ วันหนึ่งเลิกงานกลับมาบ้าน แม่บอกว่าเราโดนไล่ที่ ตอนนั้นรู้สึกเหมือนฟ้าฟาดลงมาเลย เอ๊ะ เราจะไปอยู่ไหนวะ พ่อแม่ก็ลำบาก

“ชาวบ้านเราก็รวมหัวคุยกัน แล้วได้ไปรู้จักศูนย์พัฒนาชุมชนแถวคลองเตย จากนั้นก็มีคนแนะนำให้รวมกลุ่มกันสร้างโรงเรียน เพราะสมัยนั้นโรงเรียนรัฐเขาไม่รับลูกคนจนนะ โรงเรียนเอกชนก็ยังไม่มี พอชาวบ้านลงขันกันสร้างโรงเรียน เราได้รับเลือกเป็นครู แม้ว่าจะงงๆ ว่าจะไปสอนเด็กได้ยังไง เรียนก็ไม่ได้เรียนสูง แต่ต้องมาเป็นครู ทุกคนบอกว่าเราทำได้เลยลองทำ ต่อมาเลยได้เข้าใจว่าศูนย์เด็กที่ร่วมกันสร้างขึ้นเป็นที่มาของการสร้างอำนาจในการต่อรองของคนจนในสลัม

“ที่โรงเรียนวันแรกมีเด็กเข้ามา 50 คน เป็นลมเลย เพราะเด็กร้องพร้อมกัน 50 คน แต่ก็ผ่านไป เราได้เรียนรู้การอยู่กับเขา การเป็นครูของเราไม่ได้สอนให้เขาเก่งวิชาการ แต่เราสอนให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ ให้เขาทำอะไรด้วยตัวเองจากที่แต่ก่อนต้องให้พ่อแม่ทำให้ เช่น กินข้าว ล้างก้นเวลาเข้าห้องน้ำ นี่คือสิ่งที่ครูศูนย์เด็กทำให้

“แต่พ่อแม่บางคนก็ไม่เข้าใจว่าลูกไปโรงเรียนทำไมอ่านหนังสือไม่ออก เขาคิดว่าลูกต้องแข่งขันได้ดีจนลืมไปว่าสิ่งสำคัญกว่าคือการช่วยเหลือตัวเอง เราก็บอกผู้ปกครองว่าถ้าต้องการแบบนั้นคงต้องไปเรียนที่อื่น เพราะที่โรงเรียนนี้ลูกคุณต้องล้างก้นเป็น ใส่เสื้อผ้าเป็น กินข้าวเองเป็น แล้วเวลาว่างค่อยมาท่อง ก-ฮ กัน นอกจากนี้เราก็พาเด็กไปเล่นในชุมชน พอถึงกลางวันชาวบ้านที่เป็นผู้ปกครองบางส่วนจะทำอาหารเวียนกันมาเลี้ยงเด็ก เด็กก็ได้รู้จักชุมชนมากขึ้น

“แต่ต่อมามันมีเจ้าหน้าที่บังคับคดีมาไล่ที่ ระหว่างนั้นเรากำลังพาเด็กไปเล่นแถวชุมชนพอดี ผู้ปกครองที่เขาไม่เข้าใจก็รับรับเด็กกลับบ้านหมดเลย เพราะคิดว่าเราเอาลูกเขาไปต่อสู้ แต่วันรุ่งขึ้นกลับมีผู้ปกครองพาลูกมาสมัครเรียนเพิ่ม เลยเข้าใจว่าถ้าจะปกป้องชุมชน ปกป้องโรงเรียน ผู้ปกครองกับครูต้องร่วมมือกัน

“นี่เป็นที่มาที่ทำให้เราลุกขึ้นมาเป็นผู้ประสาน เราได้รู้จักชุมชนคนจนกลุ่มอื่นๆ อีกกว่า 40 ชุมชน สมัยก่อนเวลาเจ้าหน้าที่จะเข้าไล่รื้อ เขาใช้เจ้าหน้าที่หน่วยคอมมานโด จากการประสานกับคนจนชุมชนอื่นทำให้เราได้รู้จักกรุงเทพฯ มากขึ้น ได้รู้ว่าตรงไหนเป็นหัวเมือง ชานเมือง ส่วนไหนจะโดนบุกก่อนหรือหลัง ได้รู้ว่าถ้าโดนบุกจะต้องร่วมมือกันสู้ยังไง”

นุชนารถ แท่นทอง

ภารกิจใหม่

“หลังจากถูกไล่รื้อและศาลบังคับคดีให้ชาวบ้านย้ายออกปี 2533 เราเพิ่งตั้งท้องลูกคนแรก เลยถือโอกาสเอาลูกไปเลี้ยงที่โรงเรียนด้วย ลูกก็โตมากับเด็กคนอื่นๆ ในศูนย์ เด็กๆ ที่โตมาก็เรียกเราว่าครู ตอนนั้นรู้สึกดี เอ้อ จบ ม.3 แต่ก็ยังได้เป็นครู”

“ระหว่างนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะเจ้าของที่เดิมขายที่ต่อให้เจ้าของใหม่ เขาเป็นพวกสมาคมคนจีนที่มาสร้างศาลเจ้าพ่อทับ (อยู่ในปัจจุบันนี้)

“เขามาเจรจาขอไล่ที่ บอกเราว่าเจ้าของเดิมไม่เคยเก็บค่าเช่าเลย 20 ปี พวกเราควรจะออกไป สังคมก็มองเหยียดหยามพวกเราว่ามาอยู่ในที่เขาแล้วยังจะมายึดอีกเหรอ เราก็บอกว่าไม่ได้จะยึด เรายินดีไป แต่ที่ดินมันมีมูลค่ามีกำไร คุณน่าจะมีค่ารื้อถอนให้เราบ้าง เขาบอกว่าจะสร้างศาลเจ้าพ่อทับเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าเราย้ายไป คนอื่นๆ จะได้มากราบไหว้ เราก็ได้บุญ เราเลยบอกว่าเราไม่เอาบุญ ตอนนี้บุญมันใช้ไม่ได้ เราอยากมีที่อยู่มากกว่า ถ้าเราจะไปจากตรงนี้ เราต้องมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง เราพูดต่อหน้าพวกสมาคมฯ เขาก็กลับไปคุยกันแล้วมาบอกว่าจะให้เงินค่ารื้อถอน เราเลยบอกว่าชาวบ้านยังไม่มีรายได้อะไรมาก มีเงินออมกันไว้เป็นกลุ่ม ประมาณหมื่นกว่าบาทต่อคน ก็บอกเขาไปว่าเรากำลังหาที่ดินแปลงใหม่ โดยจะกู้เงินรัฐมาซื้อ แต่เงินยังไม่พอ เขาก็บอกว่าเขาจะให้เงินช่วย 2 ล้านบาท

“จากนั้นเราก็มานับหัวชาวบ้านที่รวมตัวกันมี 28 คน มาเจอที่ไร่ครึ่งแถวแพรกษา ราคามัน 3 ล้าน 2 แสนบาท พอหารดูมันเฉลี่ยคนละสี่หมื่นกว่าบาท เลยตัดสินใจซื้อที่ใหม่แล้วค่อยๆ แบ่งกันสร้างบ้านอยู่ บ้านเราสร้างอยู่ปีนึง ช่างก็เป็นชาวบ้านที่โดนไล่มาด้วยกัน บางคนก็สร้างเป็นเพิงแบบชั่วคราวแต่อยู่ชั่วโคตร (หัวเราะ)

“ผ่านตรงนั้นมาได้เหมือนง่าย แต่มันทรหดมาก บ้านเก่านี่อยู่ติดคลองสำโรง เวลาน้ำท่วมนอนไม่ได้เพราะกลัวงู มีอยู่ครั้งนึงปลาสวายเป็นร้อยตัวตายแล้วลอยเน่ามากับน้ำ พอน้ำท่วมปลาทะลักเข้ามาในบ้าน เหม็นอบอวล หนอนไช พูดแล้วขนลุก

“ความลำบากตรงนี้ทำให้เรารู้ตัวเองว่าความเดือนร้อนมันต้องการโอกาส ต้องการความช่วยเหลือ พอเราได้บ้านใหม่สำเร็จ เราก็ไปแลกเปลี่ยนกับชุมชนต่างๆ ที่เจอปัญหาเหมือนกัน เหมือนลงเรือลำเดียวกัน ตอนนั้นคำว่าที่อยู่อาศัย ความมั่นคง คุณภาพชีวิตที่ดี ความเป็นธรรมทางสังคม สิทธิ ก็ค่อยๆ เข้ามาในหัว กลายเป็นธงในการทำงานของเครือข่ายสลัมสี่ภาค”

สายตาที่มองเข้ามา…

 

“คนจนมันเต็มไปด้วยความรู้สึกถูกกดทับ เราไม่มีบ้านของตัวเองก็จะถูกมองว่าเป็นพวกสลัมยึดที่เขา ทำให้ทัศนียภาพเสื่อมโทรม มีแต่ขี้ยา ถ้าไม่มีสลัมจะไม่มียาเสพติด เราถูกมองแบบนี้ตลอด แต่เราต้องการต่อสู้ให้สังคมยอมรับว่าคนสลัมไม่ใช่คนเลว แต่เขาเป็นคนจนที่ขาดโอกาสที่จะมีที่ดิน ที่เขาต้องเป็นคนสลัมเพราะเขาอยู่ใกล้ที่เขาใช้แรงงาน

“เราเป็นแรงงานสมุทรปราการ สมัยก่อนเป็นโรงงานทั้งนั้น คนจนเป็น รปภ. เป็นแม่บ้าน พวกเราผ่านมาหมด ถ้าไม่มีพวกเราคุณจะจ้างใคร ทำไมต้องดูถูกคนเหล่านี้ จากปี 2533 สู้มาจนถึงปี 2553 พวกเราถึงได้ที่ดินเพื่อปลูกบ้านใหม่

“บางชุมชนเขาอาจต้องไปซื้อที่ในนามของสหกรณ์ นี่คือโอกาสที่คนจนจะได้มีบ้าน ถ้าไม่ให้โอกาสเขา คนจนก็ไม่สามารถจะมีที่ ถึงแม้จะมีโครงการรัฐที่พยายามให้เราเข้าถึงบ้านได้ แต่กฎหมายมันไม่เปิดช่อง เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ต้องสร้างบ้านตามแบบ พ.ร.บ. ปลูกผิดแบบโดนฟ้องอีก แล้วคนจนจะไปปลูกให้ถูกมาตรฐานแบบคนรวยได้ยังไง แค่ให้มีที่คลุมหัวก็ลำบากแล้ว”

รสชาติความจน

“สมัยเด็กๆ ที่บ้าน ไข่ต้ม 1 ใบต้องคลุกข้าวเพื่อแบ่งกันกินสามคน แม่ไปทำงานก่อสร้างกับพ่อ กลับมาบ้านแค่วันอาทิตย์ ก่อนไปทิ้งตังค์ไว้ให้ลูก 20 บาท อาทิตย์นึงซื้อไข่ซื้อปลาทูได้บ้างนิดหน่อย เราก็แบ่งงานกันทำ น้องล้างจาน เราซักผ้า หุงข้าว เป็นแบบนี้จนอายุประมาณ 16 ก็ออกจากโรงเรียนไปทำงานโรงงาน

“บางครั้งไปบ้านป้าที่เป็นแม่บ้านให้นายตำรวจแถวพระโขนง เราเห็นเขาปลูกมะม่วงไว้ลูกดกมาก ลูกไหนที่ร่วงลงพื้น ลูกไหนยังกินได้เราก็เก็บใส่ถุงมาแบ่งกันกินกับน้อง

“เคยรู้ไหมว่าทำไมคนจนต้องไปขายยา เพราะมันได้เงินเร็ว แล้วทำไมไปทำงานอย่างอื่นไม่ได้ เขาไปขายของปกติก็โดนไล่จับ ไหนๆ จะโดนจับอยู่แล้ว ไปขายยาแล้วกัน นี่คือคำพูดที่คนสลัมพูด เขาคิดว่าเสี่ยงแต่ลูกมีข้าวกิน ไอ้เราก็สะเทือนใจ เราดีแต่ไปห้ามเขา แต่เราไม่มีปัญญาไปเลี้ยงเขา

“เขาบอกเขาทำดีที่สุดแล้ว พยายามทำอาชีพสุจริต แต่อาชีพสุจริตไม่เลี้ยงเขา ไม่มีใครสนับสนุน จะขายของก็เจอที่ห้ามขาย ที่ขายได้ก็ค่าที่แพง จะเอาเงินที่ไหนไปลงทุน แต่ขายยาลูกค้าเดินมาหาเอง มันเจ็บปวด คนถึงลุกมาด่าคนสลัมว่าเลว แต่ถามว่าคนรวยเลวๆ ไม่มีเหรอ

“คนไม่เข้าใจจะมองว่าคนจนชอบขอ บางคนบอกว่าภาษีทั้งประเทศทำไมต้องเอามาให้คนกลุ่มนี้ จนเราถูกมองว่าเป็นพวกไร้ประโยชน์ ทั้งที่พวกเราไม่ได้ร้องขอว่าให้เอาเงินมาให้ สิ่งที่เราควรได้คือการเข้าถึงสาธารณูปโภคเหมือนคนอื่น เราควรได้รับการดูแลเหมือนคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม

“แต่อย่างบัตรคนจน รัฐบาลมายัดเยียดให้เรา ถ้าจะเข้าถึงสิทธินี้เราต้องไปพิสูจน์ความยากจนให้เขาเห็นว่าฉันเป็นคนจนนะ แบบนี้มันมีศักดิ์ศรีตรงไหน ลูกๆ คนจนจะกินอาหารกลางวันต้องนั่งแยกโต๊ะ เพราะกลุ่มหนึ่งกินฟรี อีกกลุ่มกินแบบจ่ายเงิน

“หรืออย่างเรื่องรถกระบะ พวกเราโดนด่าว่าคนจนอะไรมีรถ แต่เขาไม่เข้าใจว่ารถเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบอาชีพ คนมีรถเพราะยอมเป็นหนี้ มันเป็นเครื่องมือที่เขาใช้ในการทำมาหากิน รถบางคันขับคนเดียวเต็มถนนเยอะแยะ แต่พวกนั่งรถกระบะเขามากันเป็นครอบครัว บางคนเขาเอื้อเฟื้อกับคนแถวบ้านที่เดินทางไปทางเดียวกัน ก็ให้อาศัยกันไป นี่คือความเหลื่อมล้ำเล็กๆ น้อยๆ ที่เห็นชัดเจน

“คนจนถูกดูถูกจนไม่เหลืออะไร แต่คนจนไม่ได้คนโง่นะ แค่เราไม่มีสิทธิไปพูดกับสังคมวงกว้างเท่านั้น วาทกรรม ‘จนแล้วไม่เจียม’ นี่มันดูถูกทรัพยากรมนุษย์นะ มีใครไม่รู้บ้างว่าคนเป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเราโง่เยอะแยะ

“สิ่งที่เรามีคือมือเท้ากับมวลชนที่เดือดร้อน ที่จะลุกมาบอกว่าเราเดือดร้อน เราไม่ได้โง่ ถ้าเอาปัญหาพวกเราไปวางกองกันที่สนามหลวง เราว่าพื้นที่ไม่พอ”

นุชนารถ แท่นทอง

ขบวนการ

 

“เราคิดว่าบทพิสูจน์ที่จะสามารถต่อรองกับนายทุนหรือหน่วยงานรัฐได้คือการรวมตัวกันต่อสู้เรียกร้อง ชุมชนอื่นที่เขาไม่รู้เพราะเขายังไม่เคยโดนไล่ ปัญหายังไม่มาถึงตัว หรือบางครั้งที่ต่อรองไม่สำเร็จก็เพราะชุมชนนั้นๆ เองที่ไม่ได้รวมกลุ่ม หรือก็ไม่เชื่อเรื่องขบวนการ

“ยิ่งมาดูนโยบายยุทธศาสตร์ชาติตอนนี้ ยิ่งสะท้อนว่ารัฐบาลเน้นแก้ปัญหาให้นายทุนก่อนเท่านั้น เช่น ทวงคืนผืนป่า สุดท้ายคือทวงมาให้ทุนใหญ่เช่า ยกเว้นภาษีให้ทุนข้ามชาติ แต่พวกเราแค่เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวยังโดนเรียกเก็บภาษี ที่ดินตรงไหนที่ถูกบอกให้เป็นที่พัฒนาทั้งเส้นรถไฟฟ้าหรือห้างสรรพสินค้า ย่านนั้นคนจนถูกไล่ที่ทั้งนั้น เจ้าของที่ดินบอกว่าที่ดินเขามีราคา เขาจะขาย พวกเราต้องเขยิบออกไปนอกเมือง ส่วนคนนอกเมืองก็โดนไล่จากเขตเศรษฐกิจพิเศษ จนตอนนี้หลังชนกันแล้ว

“นโยบายรัฐวันนี้มันกลายเป็นการเอาเงินภาษีประชาชนไปเข้ากระเป๋านายทุน แล้วอ้างว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่คนที่ได้ประโยชน์คือพวกทุนใหญ่ ไม่ใช่พวกเรา ไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะคนยังไร้อาชีพ สิ่งที่เราเรียกร้องคือรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า บางคนบอกทำไม่ได้ ทำไมจะทำไม่ได้ ก็ลดงบกลาโหมลงสิ จะซื้ออาวุธรบกับใคร พอพูดแบบนี้ก็ถูกมองว่าเป็นพวกสร้างความขัดแย้ง เป็นพวกคอมมิวนิสต์

“ตอนเราอายุ 30 ทำงานกับชุมชนไปสักพักถึงได้รู้ว่าเราถูกกดขี่เพราะโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ที่เราไม่ได้เรียนหนังสือไม่ใช่แค่เพราะเรายากจน แต่เพราะรัฐมันดูแลคนไม่เท่ากัน เราเถียงกับพ่อเรื่องโครงสร้างทางสังคม เราบอกว่าเราไม่ใช่ขอทาน เราก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นะพ่อ ทำไมเราต้องไปต่อไฟจากหม้อแปลงคนอื่น ทำไมเราไม่ขอหม้อแปลงเอง เราขอแล้วแต่เพราะเราไม่มีทะเบียนบ้าน เราเลยไม่มีไฟใช้ของตัวเอง เราปลูกบ้านกันตามที่เรามีเพราะเราจน มันเป็นความผิดเหรอ อธิบายไปพ่อก็ด่าว่าเราเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นพวกหัวรุนแรง แต่พอบ้านเราถูกไล่รื้อพ่อก็เข้าใจ”

ต้นตอที่เรื้อรัง

“ปัญหาที่ดินมันไม่เคยถูกแก้ ที่ดินไม่มีแล้วเราจะสร้างบ้านยังไง ที่ของรัฐมีเยอะแยะ แต่ไม่เปิดให้เราเข้าถึง มันจึงเกิดการรวมกลุ่มของประชาชนผลักดันนโยบายการถือครองที่ดิน อยากให้ออกกฎหมายภาษีอัตราก้าวหน้า โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน เพราะเราไม่มีที่ดิน ที่ดินมันกระจุกตัว มันไม่มีกฎหมายอะไรที่จะล้วงเอาที่ดินออกมาจากมือคนรวยได้ เราถึงเรียกร้องสิ่งเหล่านี้

“รัฐมีแต่กฎหมายที่ให้นายทุนได้ครอบครองที่ดินอย่างอิสระเสรี แล้วให้อำนาจพวกเขาเบียดขับพวกเราออกไปข้างนอก ถามว่าถ้าไม่มีพวกเราเป็นแรงงาน เมืองมันจะเจริญไหม เป็นไปไม่ได้ คนใส่สูทจะมากวาดถนนไหม เราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำเมืองให้โตขึ้น แต่เรากลับถูกไล่ที่เพื่อให้คนได้มีปอดกรุงเทพฯ

“เราเข้าใจว่าความเท่ากันมันไม่มีหรอก แต่สิ่งที่ทำได้คือการสร้างความเป็นธรรม ทำให้แต่ละคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้เหมือนกัน ทำให้เข้าถึงสาธารณูปโภค ที่ดิน ที่อยู่อาศัยได้ การขจัดความยากจนต้องไม่ใช่การทำให้คนจนตายไปเองแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้”

นุชนารถ แท่นทอง

รัฐธรรมนูญ

“สำหรับคนจน มันแก้ปัญหาไม่ได้เลยถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิในการชุมนุม สิทธิชุมชน รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเรา มันไม่เปิดให้เราตรวจสอบรัฐ แต่รัฐกลับตรวจสอบเราตลอด โดยเฉพาะเรื่องคนจนที่ควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไปด้วยกัน ไม่ใช่ให้รัฐออกแบบมาแล้วให้เราคอยแต่รับการสงเคราะห์

“การให้สวัสดิการถ้วนหน้าสามารถทำได้ ถ้าเราลดบางเรื่องที่ไม่สำคัญลง เงินบางส่วนมันใช้ไปไม่คุ้มค่ากับการพัฒนาประเทศ ไม่ได้เอามาลงกับทรัพยากรมนุษย์ ไม่ได้สร้างการศึกษาที่เป็นอิสระ

“ครอบครัวเราตอนนี้ไม่มีงานแล้ว เพราะโรงงานเองไม่มีงาน แล้วเขาก็ไม่มีเงินจ้างออก ส่วนข้าราชการได้เกษียณอายุตอน 70 แบบนี้คนจบมาจะทำอะไรกิน บ้านเราจะมีแต่เต่าล้านปีบริหารประเทศเหรอ เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่เด็กจบใหม่ไม่ได้งาน ต้องรอคนแก่ตายถึงได้ทำงานเหรอ

“รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แต่เขียนกันมาแค่คนไม่กี่คนที่ไปเข้าข้างกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จริงๆ มันเป็นกฎหมายที่เราต้องเคารพ เพราะครอบคลุมและเป็นธรรมกับทุกคนในสังคมไทย

“บางคนมองว่าคนจนมายุ่งเรื่องนี้ทำไม ลำพังแค่เรื่องปากท้องก็แย่แล้ว แต่เศรษฐกิจสังคมการเมืองมันสัมพันธ์กับทุกคนในสังคม ข้าวแพง ใครกำหนดราคาข้าว ใครกำหนดราคาสินค้า ไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญนี่เหรอที่เปิดช่องให้บางคนได้ประโยชน์ บางคนเสียประโยชน์”

ยังสู้

“เราคิดว่าเราอาจมีประโยชน์กับคนที่ยังไม่รู้ เราไม่คิดว่าการต่อสู้ของเราจบแล้ว เอาง่ายๆ ทำไมแฟนเราต้องตกงาน เพราะเศรษฐกิจไม่ดี เศรษฐกิจไม่ดีมันโยงมาถึงครอบครัว แล้วโครงสร้างการบริหารประเทศมันเป็นธรรมหรือไม่ ถ้าทุกคนเงียบ รัฐก็จะคิดว่าเขามีความชอบธรรมที่จะกดขี่พวกเราต่อไป

“คนสลัมเดี๋ยวนี้พูดเรื่องรัฐธรรมนูญ พูดเรื่องรัฐประหารได้เป็นปกติ เพราะนี่คือปัญหาที่เราประสบ เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นธรรมกับทุกคนทุกกลุ่ม ถ้าหยุดแค่ที่บ้านตัวเอง คนอื่นจะรู้ไหมว่ามันเกิดอะไรกับสังคมที่เขากำลังเผชิญ

“แต่ผู้มีอำนาจมีวิธีทำให้คนขัดแย้งกัน ทุกวันนี้รัฐเข้ามาทำงานกับชาวบ้าน มีสภาองค์กรชุมชน เขาปลูกฝังเรื่องที่เขาอยากเห็น เวลาไปประชุมมีกาแฟมีข้าวเลี้ยง มีโครงการพาชาวบ้านไปเที่ยว พอชาวบ้านยึดติดก็ลืมตัวคิดว่ารัฐดูแลแล้ว แต่จริงๆ ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย คนจนก็ยังจนลงเรื่อยๆ

“ตอนนี้อายุ 51 จะย่าง 52 เดือนมกราคม 2563 แม่เราก็ตายตอนอายุเท่านี้เพราะหัวใจล้มเหลว ไม่รู้ว่าจะไปแนวนั้นหรือเปล่า เพราะรู้สึกว่าป่วยบ่อย วันนี้ได้แต่คิดอยู่ว่ากลัวจะไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้เห็นรัฐธรรมนูญที่เราจะร่วมกันเขียน

“หลานตอนนี้คนหนึ่ง 5 ขวบ คนหนึ่ง 7 ขวบ เราอยากเห็นเขาได้ใช้ชีวิตแบบไม่ต้องเป็นกังวล อยากเห็นลูกหลานได้ใช้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ประชาชนทุกคนยอมรับ การที่ยังได้สู้คือความสวยงามในชีวิต ไม่ว่าคนจะยากดีมีจน มันทำให้เรามีคุณค่า”

นุชนารถ แท่นทอง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save