fbpx
THE BATTLE OF CHILE การจดจำคือการต่อต้าน

THE BATTLE OF CHILE การจดจำคือการต่อต้าน

วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา เรื่อง

 

เราควรเริ่มต้นจากกรอบแว่นตาแตกหักข้างหนึ่ง กรอบแว่นตาที่เหลือเพียงกรอบเลนส์ที่มีรอยปริแตก ตัวเลนส์เปื้อนฝุ่นสกปรกกับขาแว่นเพียงข้างเดียว ที่ถูกจัดวางไว้ในพิพิธภัณฑ์ประจำชาติ แว่นกรอบหักจากแรงระเบิดของกระสุนปืน AK-47 ลูกกระสุนที่ดับความฝันของคนชิลีจำนวนมากในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.1973

ในปี 2004 (ปีที่สารคดีเรื่อง Salvador Allende ออกฉาย) มันเป็นของชิ้นเดียวที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ประจำชาติ เศษซากประวัติศาสตร์แห่งความพ่ายแพ้ของสังคมนิยมในประเทศที่หลังจากนั้นกลายเป็นเผด็จการไปเกือบสองทศวรรษ มันคือกรอบแว่นตาของ Salvador Allende ประธานาธิบดีจากพรรคฝ่ายซ้ายที่เคยชนะเลือกตั้งอย่างล้นหลาม นำพาความฝันของคนชนชั้นแรงงานที่ฝันถึงการเป็นประเทศสังคมนิยมประชาธิปไตยประเทศแรกของโลก คิวบาเลือกปืน ชิลีเลือกบัตรเลือกตั้ง เขาถูกรัฐประหารในเดือนกันยายน สามปีหลังจากชนะเลือกตั้ง

วันนั้นเขาอยู่ในทำเนียบประธานาธิบดี ยืนยันว่าจะไม่หนีไปไหนหากประชาชนของเขายังอยู่ เขาถูกจับกุม หลังจากกล่าวถ้อยแถลงที่จับใจทางวิทยุ ระหว่างถูกควบคุมตัว เขาฆ่าตัวตายด้วยปืนที่ได้รับเป็นของขวัญจาก Fidel Castro เพื่อนรักของเขา เขาตาย ความฝันสูญดับ ประเทศเดินหน้าเข้าสู่เผด็จการเต็มรูปแบบไปยาวนานนับสิบปี รัฐบาลทหารที่หนุนหลังโดยพ่อค้า นายทุน คนชั้นกลาง และรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ผู้คนจำนวนมากล้มตายทั้งในตอนนั้นและเวลาต่อมา มีการจับกุมแรงงานและปัญญาชนจำนวนหนึ่งไปขังไว้ในสนามกีฬาแล้วสังหารหมู่ เรื่องราวในช่วงสามปีนั้นถูกกดทับไว้ ถูกทำให้ลืม ไม่ถูกพูดถึง เหลือเพียงแว่นตาข้างหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ และฟิล์มภาพยนตร์จำนวนหนึ่งที่ถูกลักลอบนำออกนอกประเทศไปทางเรือ นำฟุตเทจทั้งหมดในช่วงเวลาสามปีที่เหมือนฝันนั้นมาตัดต่อ ใช้เวลาอีกหลายปี เขาจึงนำมันออกฉายไปทั่วโลก และนานกว่านั้น นานนับทศวรรษ เขาจึงนำหนังทั้งสามเรื่องนี้กลับบ้าน บ้านที่เขาไม่รู้จักอีกต่อไป

 

2

 

Patricio Guzmán เกิดในปี 1941 ในซานติอาโก, ชีลี ตอนเป็นวัยรุ่น หลังจากเขาได้ดูหนังของ Chris Marker, Frédéric Rossif และ Louis Malle เขาก็ตัดสินใจเรียนภาพยนตร์และสนใจการทำสารคดี หลังเรียนจบภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยในชิลี เขาไปเรียนต่อที่มาดริดและจบการศึกษาในปี 1970

เขากลับมาชิลีในปี 1971 ตื่นใจไปกับรัฐบาลสังคมนิยมประชาธิปไตย และความฝันใหม่ๆ ถึงอนาคตของชนชั้นล่าง ความมีชีวิตชีวาทางการเมืองทำให้เขาทำสารคดีเรื่องแรกชื่อ The First Year ซึ่งครอบคลุมเวลาสิบสองเดือนแรกของรัฐบาล Salvador Allende หนังออกฉายในปลายปีนั้น งานชิ้นนี้ไปเข้าตา Chris Marker จนทำให้เขาหาทางให้หนังได้ฉายในฝรั่งเศส และอีกสองปีต่อมา Marker ก็เป็นคนส่งฟิล์มเพิ่มเติมให้กับ Guzmán ใช้ถ่ายทำสารคดีเรื่องสำคัญของเขานั้นคือ The Battle of Chile ที่แบ่งออกเป็นสามภาค ยาวรวมกันสี่ชั่วโมงครึ่ง ว่าด้วยช่วงปีสุดท้ายของรัฐบาล Allende ก่อนการรัฐประหาร

 

Salvador Allende ที่มาภาพ: harvardfilmarchive.org

 

The Battle of Chile แบ่งตัวเองออกเป็นสามภาค โดยภาคแรกชื่อ กระฎุมพีจลาจล (The Insurrection of the Bourgeoisie, 1975) โดยเริ่มโฟกัสตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 1973 ก่อนการเลือกตั้งครั้งที่สองของ Salvador Allende ซึ่งอธิบายคร่าวๆ ได้ว่าเป็นปีเบ่งบานของแนวคิดประชาธิปไตยสังคมนิยม Allende เป็นมาร์กซิสต์ที่เข้าข้างแรงงานคนชั้นล่าง พยายามนำพาประเทศไปสู่สังคมนิยมโดยไม่ต้องจับปืนก่อการปฏิวัติ หากอาศัยการเลือกตั้ง นั่นทำให้ข้าราชการ นายทุน คนชั้นกลางเกลียดชังเขา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกาหวาดกลัวเขา

 

The Battle of Chile: The Insurrection of the Bourgeoisie (1975)

 

หนังตามสัมภาษณ์ผู้คน ทั้งแรงงานและคนชั้นกลาง เปิดความขัดแย้งภายในของฝ่ายซ้าย แรงงาน และการต่อสู้กับกระฎุมพีฝ่ายขวาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ถามผู้คนตามท้องถนนถึงพรรคการเมืองที่สนับสนุน การบลัฟกันไปมาของคนที่เลือกพรรค Popular Unity ของ Allende และฝ่ายตรงข้าม จนเมื่อ Allende ชนะเลือกตั้ง หนังก็ไล่ตามการก่อหวอดประท้วง การเปิดตลาดมืดกักตุนของ การยั่วยุนักศึกษา การพยายามแสดงเจตจำนงปฏิเสธรัฐบาลของศาล ทหาร และบรรดาชนชั้นกลาง ปัจจัยภายนอกอย่างการแทรกแซงของอเมริกา การรวมใจของคนชั้นล่าง การประท้วงใหญ่ของคนงานเหมืองทองแดง การปะทะกันของผู้ชุมนุม หนังจบลงด้วยการรัฐประหารครั้งแรก เป็นที่จดจำเพราะฉากสุดท้ายเป็นฉากว่าด้วยการบันทึกความตายของตัวเอง เมื่อ Leonardo Henrichsen ตากล้องชาวอาร์เจนตินาจับภาพทหารในยามเช้าของเดือนมิถุนายน ขณะพยายามเข้ายึดอำนาจ แล้วทหารคนหนึ่งยิงเขาล้มลงต่อหน้ากล้อง กล่าวให้ถูกต้อง เขาบันทึกภาพความตายของตนเอง

 

The Battle of Chile: The Insurrection of the Bourgeoisie (1975)

 

 

ภาคสองชื่อ การรัฐประหาร (The Coup d’Etat, 1976) เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากรัฐประหารครั้งแรกที่ไม่ประสบความสำเร็จ มีคนตายไปราวยี่สิบคน พวกทหารแพ้ถอยไป และหนังโฟกัสช่วงสองเดือนอันวุ่นวายเหลือคณาของรัฐบาล ที่ต้องผเชิญปัญหากับพวกฝ่ายค้าน ชนชั้นกลาง ทหาร ศาล ไปจนถึงปัญหาภายในของฝ่ายซ้ายคนงานกันเอง ต้องเจอกับการที่ทหารเข้าไปคุกคามชาวบ้าน ขุดสุสานบรรพบุรุษด้วยข้ออ้างว่ามีอาวุธ จนชาวบ้านนึกอยากจับปืนสู้จริงๆ แม้รัฐบาลจะไม่ยอมให้ทำ

หนังตามไปดูการดีเบตภายในของฝ่ายซ้ายคนงาน ไปดูสไตรก์ของคนขับรถบรรทุก ซึ่งที่จริงเป็นการสไตรก์ของเจ้าของบริษัทรถบรรทุกและรถเมล์โดยมีอเมริกาหนุนหลังเพื่อหวังให้เกิดการขาดแคลนอาหาร ทรัพยากร ตัดขาดการคมนาคมและการขนส่ง เพื่อล้มรัฐบาล หนังตามไปดูการชุมนุมของชาวบ้านเพื่อสนับสนุน Allende ในทั้งปีกสันติและปีกจับปืน ไปดูการปะทะกับตำรวจ การเล่นลวดลายของพรรคฝ่ายค้าน การประท้วงคนงานเหมืองทองแดงที่เข้าข้างฝ่ายตรงข้ามจนแทบทำให้การส่งออกหยุดชะงัก ดูการยื่นมือมายุ่งเกี่ยวของโบสถ์ที่พยายามจะปรองดองทั้งสองฝ่าย การสไตรก์รถบรรทุกและรถโดยสารทำให้ไม่มีอาหารเพียงพอ และผู้คนไม่มีรถเข้ามาทำงานในโรงงาน ถึงที่สุด ทหารที่บุกไปตามสายพานการผลิตเที่ยวจับชาวบ้าน ก็เอารถถังมาวิ่งกร่างในเดือนกันยายน ช่วงครบรอบสามปีที่ Allende ครองตำแหน่ง

Arturo Araya ปีกฝั่งทหารของ Allende ถูกลอบสังหาร คนราวแปดแสนคนออกมาเดินขบวนสนับสนุนประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายที่ตนเลือกมาโดยปราศจากอาวุธ อเมริกากับคนชั้นกลางทิ้งไพ่ใบสุดท้าย ปิโนเช่ต์ทำรัฐประหาร กองทัพบบุกเข้าไปถล่ม La Moneda Palace ซึ่งเป็นทำเนียบประธานาธิบดี Allende ซึ่งอยู่ในนั้น ไม่ยอมหนี เขากล่าวแถลงเป็นครั้งสุดท้ายทางวิทยุก่อนที่เขาจะเสียชีวิตไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น และชิลีก็ไม่เหมือนเดิมไปตลอดกาล

 

The Battle of Chile: The Coup d’Etat (1976) ที่มาภาพ: harvardfilmarchive.org

 

ภาคสามออกฉายสามปีหลังภาคสอง ในชื่อ พลังประชาชน (Popular Power หรือ The People’s Power, 1979) หนังพาเราย้อนกลับไปยังสองภาคแรกอีกครั้งโดยมองจากมุมของประชาชน เป็นการย้อนเวลากลับไปช่วงที่ประเทศกำลังไปสู่สังคมนิยม แล้วไปสำรวจตรวจสอบชีวิตของแรงงาน เกษตรกร ชนชั้นล่าง ฉายความหวังและการต่อสู้ของพวกเขา

กลับไปเริ่มตั้งแต่การสไตรก์รถบรรทุก พอไม่มีรถเมล์ หนังก็พาเราลงไปดูพลังของชาวบ้านคนทำงานที่รวมตัวกันมาทำงานโดยรถเท่าที่มี ห้อยโหนกันมาบ้าง เดินเท้ามาบ้าง ไม่มีใครยอมขาดงานเพราะพวกเขาเชื่อว่านี่คือทางที่จะสนับสนุนรัฐบาล ทางที่จะต่อสู้โดยสันติ  ครั้นพอไม่มีรถขนส่ง สินค้าขาดตลาด รัฐบาลเปิดร้านค้าชุมชนให้ประชาชนบริหารกันเองเพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงอาหาร จากนั้นไปดูการประท้วงพวก ‘มัมมี่’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้แทนชนชั้นกลาง พวกคนร่ำรวยฝ่ายขวา ศาล ทหาร ตุลาการ นายทุน ที่เป็นเหมือนมัมมี่ไม่ยอมตายคอยกัดกินประเทศ กรรมกรโรงงานในพื้นที่นอกเมืองตัดสินใจสร้าง ‘สายพาน’ เชื่อมแต่ละโรงงานเข้าด้วยกัน โดยต่างเข้ายึดโรงงานแลกเปลี่ยนวัตถุดิบและแรงงงานกัน เพราะพวกผู้บริหารกับวิศวกรนัดหยุดงานหวังให้ประเทศล่มจม ในขณะที่การรัฐประหารกำลังจะมาถึง หนังเต็มไปด้วยการสัมภาษณ์คนเล็กคนน้อยจำนวนมาก ทั้งพูดคุยซึ่งหน้าและผ่านการสังเกตการประชุมถกเถียง อุดมการณ์ของสังคมนิยม การปฏิเสธทหาร และการพยายามเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยสันติวิธี หนังจบลงที่การพยายามเดินสู่สังคมนิยมของเหมืองเล็กๆ ไกลออกไปจากเมืองหลวง และถ้อยแถลงจำนวนมากที่งดงามและทรงพลังอย่างยิ่งในระดับเอาชีวิตเข้าแลกของแรงงานที่ถูกมองว่าไร้การศึกษา

หนังมีฉากสะเทือนอารมณ์เมื่ออยู่ดีๆ ขณะหนึ่ง กล้องถอนตัวออกจากเรื่องเล่า แล้วหันไปจับภาพแรงงานหนุ่มคนหนึ่ง ลากเกวียนขนาดใหญ่บรรทุกตู้ไม้ไปตามถนนในแดดเช้า ใช้กำลังขามุ่งมั่นลากผ่านถนนว่างโล่ง ผ่านกำแพงที่เต็มไปด้วยคำขวัญสังคมนิยม พร้อมกับเสียงดนตรีแสนเศร้าของเพลง Venceremos (‘we will win’) เพลงประจำพรรค Popular Unity ซึ่งแปลว่าพลังประชาชน (หลังการรัฐประหาร เพลงนี้ถูกสั่งแบนเป็นเวลาหลายสิบปี) กลายเป็นการเฉลิมฉลองให้กับแรงงานที่ไม่ยอมจำนน ก่อนที่หนังจะจบเรื่องลงด้วยถ้อยแถลง เช่นเดียวกับตอนจบของภาคสอง แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ถ้อยแถลงของผู้นำ แต่เป็นถ้อยแถลงของคนงานเหมืองท่ามกลางฝุ่นควันพวกเขายังคงเชื่อมั่นในการต่อสู้ต่อไป

 

The Battle of Chile: Popular Power (1979) ที่มาภาพ: IDFA

 

หนังทั้งสามเรื่อง ไม่ได้เป็น found footage ย้อนหลัง แต่เขาถ่ายตามไปพร้อมๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น Guzmán เล่าว่าเขามีทีมงานเพียงสี่ห้าคน และมีจุดประจำที่รู้ว่าถ้าไปรอจะมีเหตุการณ์ เช่นหน้ารัฐสภา หรือในมหาวิทยาลัย โรงงาน ตารางการถ่ายจะเกิดจากการที่เพื่อนในแวดวง โรงงาน ตำรวจ นักข่าว ส่งข้อมูลมาแล้วพวกเขาก็ออกไปถ่าย นำฟุตทั้งหมดมาตัดต่อ ร้อยเรียงผ่านเสียงเล่าของ Guzmán เอง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเขาอยู่ข้างเดียวกับ Allende

ด้วยลีลาแบบ cinéma vérité ที่กล้องคว้าจับเอาความจริงตรงหน้า มาร้อยเรียงและเล่าผ่านความคิดของคนทำ ซึ่งต่างไปจาก direct cinema ที่จะปราศจากตัวตนของคนทำโดยสิ้นเชิง หรือ observational cinema ที่พยายามที่สุดที่จะมอบความรู้สึกปราศจากกล้องราวกับคนทำเป็นแมลงวันที่เกาะบนผนังแต่ก็ยังอาศัยการตัดต่อ (แม้สามคำนี้จะถูกใช้สลับกันไปมาและเกี่ยวโยงกันเกินกว่าจะแยกขาดออกจากกันได้โดยสิ้นเชิง) Guzmán รู้ดีว่าเขาไม่ได้นำเสนอความจริงเพียงหนึ่งเดียว แต่เป็นเวอร์ชันที่แตกต่างกันไปของความจริง สำหรับเขาสารคดีไม่เคยเป็นภววิสัย (objective / ข้อเท็จจริงมีเพียงหนึ่งเดียว ไม่ขึ้นตรงต่อความเห็นและความรู้สึก เงื่อนไข หรือมุมมองเฉพาะ) สำหรับเขามันไม่ใช่แค่การเป็นพยานรู้เห็นความจริง หากคือการได้มีส่วนร่วมกับความจริงนั้นๆ เราทุกคนต่างนำเสนอมุมมองของตนเอง สารคดีจึงไม่ใช่หน้าต่างเปิดสู่ความจริง มันเป็นเพียงเวอร์ชันหนึ่ง ภาพแทนชนิดหนึ่ง ของความจริง สำหรับเขา กล้องชนิดเดียวที่คว้าจับความจริงไว้คือกล้องวงจรปิดในธนาคารที่จับจ้องเราในฐานะสิ่งของ เคลื่อนไปทางซ้ายและขวาในจังหวะเวลาที่เท่าๆ กัน สำหรับคนทำสารคดีนั้น เขาคือศิลปินที่นำเสนอภาพแทนของความจริงในแบบฉบับของเขาเอง

หากมองเพียงผิวเผิน เราอาจรู้สึกว่าหนังทั้งสามเรื่องเป็นเพียงแค่ภาพข่าวและการสรุปเหตุการณ์ที่มีน้ำหนักโน้มเอียงไปในทางสนับสนุนรัฐบาลมาร์กซิสต์ เป็นสารคดีชิ้นหนึ่งที่ทำให้อเมริกาและคนชั้นกลางเป็นตัวร้าย หากในความเป็นจริงคือการบันทึกนี้ไม่ได้ถูกจดจำไว้เสียด้วยซ้ำ ทันทีที่ปิโนเชต์รัฐประหารสำเร็จ ความทรงจำทั้งหมดเกี่ยวกับขวบปีของ Allende กลายเป็นสิ่งต้องห้าม เป็นความทรงจำบังคับลืม ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวครั้งที่อาจจะสำคัญที่สุดของประเทศตามที่ผู้ร่วมอุดมการณ์ในขณะนั้นนิยามว่ามันคือยุคสมัยของ ‘เรือของนักฝันคนบ้าและการจมลงของมัน’ ในที่สุดการบันทึกจึงกลายเป็นการต่อต้าน การบันทึกคือการจดจำ การจำมีหลากหลายรูปแบบ ดังเช่นคำที่ว่า ‘ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์ ผู้แพ้เขียนเพลง’ เมื่อรัฐยึดครองความจำอย่างเป็นทางการผ่านการเขียนประวัติศาสตร์ หรือการลบประวัติศาสตร์แล้วเขียนใหม่ การจดจำทั้งในฐานะความจำส่วนบุคคล และในฐานะศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ จึงเป็นพลังอำนาจไม่กี่อย่างที่ผู้คนมีสำหรับการต่อต้าน ไม่ต่างจากการจดจำหนังสือกันคนละเล่มของผู้คนใน Fahrenheit 451 หรือการพยายามสร้างพิพิธภัณฑ์จากกางเกงยีน และลำโพงรอยกระสุน ในกรณีของพิพิธภัณฑ์หกตุลา

อย่างไรก็ตามหากมองย้อนกลับไปยังวิธีการของ Guzmán เราพบว่าวิธีการบันทึกของเขานั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง กล่าวคือมันไม่ได้ทำหน้าที่แค่บอกเล่าว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร เราอาจบอกว่าหนังสองภาคแรกเรียงตามลำดับเวลาจากการเลือกตั้งไปถึงรัฐประหาร แต่ดูเหมือนหนังเล่าย้อนซ้ำไปซ้ำมาในแต่ละเหตุการณ์ เช่นการสไตรก์รถบรรทุก หรือเหตุการณ์ชาวเหมือง การพิจารณาเหตุการณ์เดิมซ้ำสองสามครั้ง หนังค่อยๆ คลี่คลายมุมมองใหม่ๆ จากมุมมองของฝ่ายขวา ไปยังมุมมองของแรงงานฝ่ายซ้าย จากการเล่าเรื่องการสไตรก์รถบรรทุกว่าส่งผลอย่างไร ไปสู่การฉายภาพการร่วมใจของมวลชนที่ถึงแม้จะไม่มีรถขนส่งก็จะไม่ยอมขาดงาน สำหรับคนชั้นกลางและบรรดาชนชั้นนำ การต่อต้านอยูในเล่ห์กระเท่ทางธุรกิจและเส้นสายอำนาจอุปถัมภ์ แต่สำหรับคนชั้นล่าง การต่อต้านอยู่ในชีวิตประจำวัน อยู่ในการไม่ยอมขาดงาน การปันส่วนอาหาร การแลกเปลี่ยนวัตถุดิบ และการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อน

Guzmán ให้สัมภาษณ์ว่า หนังของเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่เหตุการณ์ เหตุการณ์เป็นเพียงผิวเปลือกของแรงระเบิด แต่สิ่งที่เขาต้องการคือ ‘เหตุการณ์ที่มองไม่เห็น’ หากการชนะเลือกตั้ง หรือการประท้วง หรือการรัฐประหารคือเหตุการณ์ที่มองเห็น หนังของ Guzmán ได้ไหลเลื้อยไปถ่ายสัมภาษณ์ผู้คนก่อนการเลือกตั้ง หรือเข้าไปในโรงงาน ตามถ่ายการถกเถียงระหว่างสหภาพแรงงาน หรือการนัดพูดคุยกับเจ้านาย การถกเถียงทางการเมืองที่เข้มข้นทั้งในเชิงหลักการและทฤษฎีเหล่านี้คือ ‘เหตุการณ์ที่มองไม่เห็น’ คือปัจจัยพื้นฐาน คือฉากหลังของเหตุการณ์ เป็นภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำ และในการถกเถียงเช่นนี้ ผู้คนไม่ใช่มวลชนที่ไปลงคะแนน ไม่ใช่ ‘พวกคนโง่ไร้การศึกษา’ อีกต่อไป แต่พวกเขาคือคนที่เท่ากันและมีสิทธิ์พูดในสิ่งที่ตัวเองคิด เชื่อในสิ่งที่ตัวเองเชื่อเท่าๆ กับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร นักธุรกิจ หรือนายทหาร

ถึงที่สุด The Battle of Chile ทั้งสามภาคกลายเป็นทั้งหลักฐานชิ้นสำคัญถึงการมีอยู่ของช่วงเวลาพิเศษในประวัติศาสตร์ชาติและประวัติศาสตร์โลก ขณะเดียวกัน ยังเป็นสารคดีทางการเมืองที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งทั้งตัวเนื้อหา วิธีการและคุณูปการของมัน

 

3

 

Patricio Guzmán ที่มาภาพ: cinematropical

 

หาก The Battle of Chile ไม่ได้ฉายในชิลี ตัว Guzmán เป็นหนึ่งในผู้รอดตายจากการสังหารหมู่ในสนามกีฬา เขาระหกระเหินหนีออกนอกประเทศ ฟิล์มหนังทั้งหมดได้รับความช่วยเหลือจากสถานทูตสวีเดนในการลักลอบส่งออกไปยังสตอกโฮล์มทางเรือ ก่อนที่เขาจะหอบหิ้วทั้งหมดไปปารีส จากนั้นไปคิวบา หนังเกือบทั้งหมดถูกตัดต่อในฮาวานา หนังภาคแรกออกฉายในปี 1975 ภาคสองที่มีเรื่องราวเหลื่อมซ้อนและต่อเนื่องกันถูกฉายในปีต่อมา ก่อนที่เขาจะพักและกลับมาตัดภาคสามซึ่งเป็นการย้อนเกล็ดของสองภาคแรกด้วยดวงตาของแรงงานชั้นล่างในอีกสามปีต่อมา

กว่าหนังจะได้กลับมาฉายในชิลีก็ต้องรอจนกระทั่งหกปีหลังปิโนเชต์หมดอำนาจ ซ้ำเป็นการตระเวนฉายในมหาวิทยาลัย และเขาบันทึกดอกผลของการบันทึกความทรงจำส่วนบุคคลเหล่านี้ไว้ใน Chile, Obstinate Memory (1996) หนังที่เป็นเหมือนภาคจบของ The Battle of Chile จริงๆ

ยี่สิบปีหลังจากหนีออกนอกประเทศ Guzmán กลับบ้านเกิด เขากลับไปเยี่ยมเพื่อนเก่า ทั้งทีมงานที่เคยร่วมถ่ายหนังด้วยกัน กลับไปหาผู้คนที่เคยอยู่บนถนน เอาหนังไปให้พวกเขาดู แต่ละคนระลึกถึงวันเก่า พยายามนึกว่าใครเป็นใครในวันนั้น และตอนนี้พวกเขาทำอะไรอยู่ บางคนสูญเสียทุกคนในชีวิตไปในช่วงเผด็จการซึ่งเต็มไปด้วยการบังคับสูญหาย การฆาตกรรม ซ้อมทารุณ บางคนก็แยกย้ายไปมีชีวิตอื่นๆ เขาพาอดีตทหารองครักษ์ ของ Allende กลับไปยังสถานที่เกิดเหตุโดยปลอมตัวเป็นนักข่าว เช้าวันเกิดเหตุนั้นเขาจัดงานแต่งงาน จบงานแต่งก็กลับไปประจำการกับ Allende และอยู่ในภาพสำคัญคือภาพคนที่ถูกทหารคุมตัวออกจาก La Moneda Palace ในเวลาเดียวกับที่ Allende ฆ่าตัวตาย กลับไปเยี่ยมญาติคนเดียวของเขาเองที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งคือลุงของเขาที่เป็นคนเก็บฟิล์มหนังทั้งหมดไว้ในบ้าน และหาทางนำมาส่งที่เรือจนสำเร็จ นอกจากนี้เขายังกลับไปเยี่ยมเยียนภรรยาม่ายของ Allende ซึ่งต้องรอถึง 17 ปี จึงจะจัดงานศพของสามีได้ ผู้ซึ่งไม่ได้รับข้าวของอื่นใดของสามีคืนเลย ไม่มีอะไรจะให้ลูกหลานรำลึกถึงปู่ของเขา

‘ความดื้อรั้นของความทรงจำ’ คือชื่อสารคดี ความทรงจำเองก็เป็นการลืมรูปแบบหนึ่ง เพราะมนุษย์ไม่อาจจดจำทุกอย่าง เราอาจเลือกจำเพียงบางอย่าง เมื่อเราเลือกจำก็มีเรื่องที่เราเลือกที่จะลืม ดังเช่นที่ภรรยาม่ายของ Allende กล่าว “ถ้าความต้องการที่จะลืมคือการปกป้องตัวเอง ฉันก็อยากที่จะลืม” ราวกับว่าการลืมมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการลืมเพื่อหลบหนีบาดแผลในจิตใจ การลืมเพราะไม่เหลืออะไรให้จดจำ และการลืมเพราะถูกบังคับให้ลืม

การปะทะกันของความจำและความหลงลืมมาถึง เมื่อเขาเลือกฉายหนังให้ผู้ชมในที่ต่างๆ สำหรับชนชั้นนำที่ยังกุมอำนาจ นี่คือหนังที่เต็มไปด้วยอคติต่อการรัฐประหารนั้นถูกต้องแล้ว ในบางที่ นักศึกษาถกเถียงกันอย่างรุนแรงเพราะพวกเขาเชื่อในสิ่งที่โรงเรียนสอน สิ่งที่พ่อแม่บอกเล่า สิ่งที่รัฐต้องการให้รับรู้ แต่ที่รุนแรงที่สุดคือการไปฉายครั้งหนึ่ง หลังฉายจบผู้ชมต่างเงียบใบ้ ไม่มีอะไรจะพูด ในที่สุดหลายคนร้องไห้ออกมา เพราะพวกเขาไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน บางคนยังเป็นทารกในขวบปีนั้น เรื่องราวเหล่านี้กระทบจิตใจพวกเขาอย่างรุนแรง ราวกับว่าพวกเขาเพิ่งได้เห็นหน้าตาที่แท้จริงของแผ่นดินที่ตนเองอยู่อาศัยเป็นครั้งแรก

ฉากนี้เองจึงอธิบายความสำคัญและความจำเป็นของศิลปะในนามของการต่อต้าน ซึ่งอาจไม่ได้เป็นไปเพื่อการต่อต้านแต่เพียงอย่างเดียว มันอาจเป็นไปได้ทั้งเพื่อศิลปะเอง เพื่อการบันทึก เพื่อการจำ หรือแม้แต่เพื่อการลืม ถึงที่สุดการเขียนเพลง ทำหนัง เขียนหนังสือ ไม่ได้เป็นไปเพียงเพื่อปลอบประโลม หรือเป็นเพียงความบันเทิงสำหรับการหนีไปจากโลกเท่านั้น ศิลปะที่งอกงามจากมนุษย์ย่อมติดเชื้อของบริบทสังคมที่ห่อหุ้มมนุษย์มาเสมอ และหากมนุษย์ไม่จำนน ศิลปะที่เขาสร้างก็จะมีเชื้อมูลของความไม่จำนนเช่นกัน

 

Chile, Obstinate Memory (1996) ที่มาภาพ: nfb.ca

 

เราอาจเริ่มต้นจากกรอบแว่นตา แต่เราจะจบด้วยเพลงเพลงหนึ่ง

หากฉากที่งดงามที่สุดใน The Battle of Chile คือฉากลากเกวียนในยามเช้าของแรงงานหนุ่มที่คลอไปกับเพลง Venceremos ฉากที่งดงามที่สุดของ Chile, Obstinate Memory คือฉากที่วงดนตรีวงหนึ่งร่วมกันบรรเลงเพลง Venceremos ขณะเดินไปตามถนนในจัตุรัสกลางเมือง อาจจะเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่เพลงต้องห้ามนี้ถูกบรรเลง วงดนตรีเดินขบวนไปกลางฝูงชนซึ่งพากันหยุดยืน ยกไม้มือแสดงความชื่นชม บางคนชูสองนิ้วให้กล้อง บางคนก็แสดงสีหน้าของความเป็นนักสู้ขึ้นมาวูบหนึ่ง ตรงนี้เองที่เราพบว่า เรื่องที่ถูกบังคับให้ลืมไม่เคยถูกลืม มันอาจซ่อนตัวจากความทรงจำส่วนรวม แต่เพลงบางเพลง หนังบางเรื่อง ศิลปะของความพ่ายแพ้จะสามารถลากจูงเอาความทรงจำคืนมาได้เสมอ ในแง่นี้ การบันทึกไม่ว่าแง่ไหนจึงคือการต่อต้านโดยตัวของมันเอง

 

 

อ้างอิง

Shooting Revolutions with Chile’s Patricio Guzman

พิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา : ความหวังของการกอบกู้ประวัติศาสตร์ที่สูญหาย

Patricio Guzmán

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save