fbpx
ประกาศคณะราษฎรกับ ‘หน้า’ ของพระปกเกล้า

ประกาศคณะราษฎรกับ ‘หน้า’ ของพระปกเกล้า

อิสระ ชูศรี เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ในเดือนมิถุนายนของทุกปี ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศย่อมเป็นโอกาสที่จะรำลึกถึงการอภิวัฒน์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่คณะราษฎรได้ร่วมกันก่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแผ่นดิน จากการปกครองโดยรัฐบาลที่มีกษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย มาเป็นการปกครองโดยรัฐบาลที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน

วิธีการรำลึกถึงการอภิวัฒน์ 2475 วิธีการหนึ่งที่ได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือการกลับไปทวนอ่าน “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” ที่เป็นคำแถลงจุดยืนและเจตนารมย์ทางการเมืองของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้น ทั้งในแง่ที่เป็นตัวบททางการเมืองที่เป็นเอกเทศจากกาลเทศะที่ถูกเขียนขึ้นและนำไปใช้ และในแง่ที่เป็นตัวบทที่มีความสัมพันธ์เชิงโต้ตอบกับตัวบทอื่นๆ ภายในบริบททางการเมืองเดียวกัน

บทความนี้จะนำเสนอวิธีการอ่าน (1) “ประกาศคณะราษฎร” (ลงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475) ในแง่ที่มีปฏิสัมพันธ์กับตัวบทที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (2) “พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475” (3) “บันทึกลับ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2475” เจ้าพระยามหิธร ผู้จดบันทึก (ใน แผนพัฒนาการเมืองฯ หน้า 314 – 323) และ (4) “พิธีขอพระราชทานอภัยโทษ ของคณะราษฎร เมื่อธันวาคม 2475” (ใน คำปราศรัย สุนทรพจน์บางเรื่องฯ หน้า 15 – 17)

แนวคิดที่ใช้ในการอ่านตัวบททั้ง 4 เรื่องข้างต้น ได้แก่ แนวคิดเรื่องวัจนกรรม (Speech Acts) หรือการกระทำการที่อาศัยภาษา เช่น การชี้แจงแสดงความให้เข้าใจ การแนะนำให้ทำตาม การให้สัญญา การเรียกร้อง-ข่มขู่ การขออภัย การให้อภัย เป็นต้น และแนวคิดเรื่องหน้า (Face) หรือภาพลักษณ์ต่อสาธารณะ

พจนานุกรมศัพท์ภาษาศาสตร์ (ภาษาศาสตร์ประยุกต์) ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2553: 164) นิยามว่าหน้าคือ “มโนทัศน์เกี่ยวกับการให้การยอมรับซึ่งกันและกันของผู้พูดกับผู้ฟัง ประกอบด้วยภาพลักษณ์ของผู้พูดที่ต้องการให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ (public self-image) และผู้พูดคาดหวังให้ผู้ฟังตระหนักถึงภาพลักษณ์หรือความรู้สึกทางอารมณ์และสถานภาพทางสังคมของตน…”

การประยุกต์ใช้แนวคิดเกี่ยวกับ ‘หน้า’ มาใช้ในการอ่านตัวบททางการเมืองทั้ง 4 เรื่องข้างต้นจะช่วยให้เราเข้าใจกระบวนการต่อรองอำนาจและการประนีประนอมในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อรองบทบาทของพระปกเกล้า ในฐานะกษัตริย์พระองค์แรกที่อยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน และในฐานะกษัตริย์ในจักรีวงศ์ที่ต้องธำรงรักษามรดกทางการเมืองของพระราชวงศ์เอาไว้

ด้านหนึ่งพระปกเกล้าทรงแสดงความเห็นพ้องและร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านประเทศสยามไปสู่การปกครองแบบที่มีกฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน แต่อีกด้านหนึ่งพระปกเกล้าทรงคัดค้านข้อความหลายส่วนในประกาศคณะราษฎรอย่างรุนแรง เมื่อทรงเห็นว่าข้อความเหล่านั้นคุกคามภาพลักษณ์ที่ประจักษ์ต่อสาธารณะของพระองค์ในฐานะผู้กำกับดูแลมรดกทางการเมืองของพระราชวงศ์จักรี

 

(1) “ประกาศคณะราษฎร”

 

ประกอบด้วยข้อความที่มีความยาว 7 ย่อหน้า กล่าวในนามของคณะราษฎร โดยมี ‘ราษฎรทั้งหลาย’ เป็นผู้ฟัง ย่อหน้าแรกกล่าวถึงปัญหาการแต่งตั้งข้าราชการที่ไม่ใช้ระบบคุณธรรม ปัญหาคอร์รัปชัน และปัญหาป่ากท้องของประชาชนที่ไม่ได้รับการแก้ไข ย่อหน้าที่สองอธิบายที่มาของปัญหาว่าเป็นเพราะรัฐบาลของระบอบเก่าไม่ได้ใส่ใจในทุกข์สุขของราษฎรเท่าที่ควร ย่อหน้าที่สามชี้ให้เห็นว่าผู้ปกครองในระบอบเก่าเอารัดเอาเปรียบราษฎรเหมือนไม่ใช่คนเหมือนกัน แถมยังหลอกลวงราษฎรว่าไม่พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการปกครอง ย่อหน้าที่สี่แสดงจุดยืนทางการเมืองของระบอบใหม่ ซึ่งอ้างอิงฐานที่มาของอำนาจจากราษฎร โดยย่อหน้าที่สี่นี้เริ่มต้นด้วยประโยคที่กลายเป็นตำนานว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง…”

ย่อหน้าที่ห้าระบุเป้าหมายของ ‘คณะราษฎร’ ที่รวมตัวกันยึดอำนาจจากรัฐบาลของกษัตริย์เพื่อเปลี่ยนเป็นการปกครองแบบมีสภาจะได้ช่วยกันให้คำปรึกษาในการปกครองบ้านเมือง และยังระบุข้อเรียกร้องในลักษณะการยื่นคำขาดไปยังพระปกเกล้าโดยเฉพาะเจาะจง

“คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ ฉะนั้น จึ่งได้ขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงค์ตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธ หรือไม่ตอบภายในกำหนด โดยเห็นแก่ส่วนตนว่า จะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะชื่อว่า ทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปตัย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา”

ย่อหน้าที่หกกล่าวถึงหลัก 6 ประการในการปกครองประเทศของคณะราษฎร ได้แก่ความเป็นเอกราช ความปลอดภัย ความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ สิทธิเสมอภาค เสรีภาพอิสรภาพ และการศึกษา ย่อหน้าสุดท้ายขอให้ราษฎรสนับสนุนคณะราษฎรเพื่อความเจริญของประเทศ

แม้ประกาศคณะราษฎรจะพูดกับ “ราษฎรทั้งหลาย” โดยกล่าวถึงพระปกเกล้าเป็นบุรุษที่สาม แต่การที่ประกาศนี้ถูกเผยแพร่ในวงกว้างย่อมหมายความว่ามันถูกสื่อสารไปถึงพระปกเกล้าและรัฐบาลของพระองค์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประกาศนี้เป็นหนึ่งในเอกสารที่ตัวแทนของคณะราษฎรนำไปยื่นให้กับพระปกเกล้าที่พระราชวังไกลกังวลอีกด้วย

ประกาศคณะราษฎรจึงมีฐานะเป็นวัจนกรรมที่ทำหลายหน้าที่ ทั้งการประกาศยึดอำนาจการปกครอง การชี้แจงแถลงจุดยืนของคณะราษฎรให้ ‘ราษฎรทั้งหลาย’ ทราบ การขอร้องให้ราษฎรร่วมมือ และการให้สัญญากับราษฎรว่าจะนำพาประเทศสู่ความเจริญ ในขณะเดียวกันก็ตำหนิติเตียนระบอบเดิมด้วยถ้อยคำที่รุนแรง คุกคามภาพลักษณ์ต่อสาธารณะของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ และเรียกร้องแบบยื่นคำขาดให้พระปกเกล้าทรงดำรงตำแหน่งกษัตริย์ที่อยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน

 

(2) พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475

 

พระปกเกล้าทรงลงนามในพระราชกำหนดฯ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2475 หลังเสด็จนิวัติพระนครด้วยรถไฟพระที่นั่งในวันเดียวกัน (หลังจากนั้นอีกหนึ่งวันพระองค์จึงทรงลงนามในธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน (ชั่วคราว) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475) ในคำปรารภของพระราชกำหนดนิรโทษกรรมฯ นอกจากจะอธิบายแรงจูงใจของคณะราษฎรที่จะนำพาประเทศชาติให้พ้นจากความเสื่อมโทรมไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองแล้ว ยังมีอีกส่วนที่กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรนั้นมีความสอดคล้องกับพระราชดำริของพระปกเกล้า

“อันที่จริงการปกครองด้วยวิธีมีพระธรรมนูญการปกครองนี้เราก็ได้ดำริอยู่ก่อนแล้ว ที่ราษฎรคณะนี้กระทำมาเป็นการถูกต้องตามนิยมของเราอยู่แล้ว และด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติ อาณาประชาชนแท้ๆ จะกระทำการหรือแต่เพียงเจตนาชั่วร้ายแม้แต่น้อยก็มิได้ ”

จะเห็นได้ว่าพระราชกำหนดนิรโทษกรรมฯ ไม่เพียงแต่อธิบายแรงจูงใจและยกความผิดอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรเท่านั้น แต่ยังมีข้อความที่ประกาศจุดยืนของพระปกเกล้าที่สอดคล้องกันกับจุดยืนของคณะราษฎรอีกด้วย ในตัวบทถัดไปที่จะกล่าวถึงก็มีลักษณะนี้เช่นเดียวกัน กล่าวคือพระปกเกล้าได้แสดงจุดยืนว่าเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงปกครองที่จำกัดอำนาจของกษัตริย์ แต่ไม่ทรงเห็นด้วยกับการกล่าวโจมตีสถาบันกษัตริย์และราชวงศ์ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1

 

(3) “บันทึกลับ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2475” เจ้าพระยามหิธร ผู้จดบันทึก

 

เป็นตัวบทที่มีลักษณะเป็นภาษาพูดมากที่สุด เพราะเป็นบันทึกการสนทนาระหว่างพระปกเกล้าและพระยามโนปกรณ์ พระยาศรีวิสาร พระยาปรีชาชลยุทธ พระยาพหล และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เนื้อหาในภาพรวมแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนแรกกล่าวถึงความพยายามต่างๆ ของพระปกเกล้าในการที่จะประกาศใช้ Constitution ซึ่งพระองค์ได้ให้ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศเป็นผู้ร่าง รวมทั้งการฝึกข้าราชการให้พร้อมสำหรับการทำงานในระบอบที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจจำกัด แต่ความพยายามเหล่านั้นก็ไม่บรรลุผลเนื่องจากที่ปรึกษาของพระองค์ยังไม่เห็นด้วยที่จะประกาศใช้ธรรมนูญการปกครอง และการขัดขวางโดยอภิรัฐมนตรีอีกด้วย เจตนาของพระปกเกล้าที่จะประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินถูกยืนยันโดยข้อเท็จจริงที่พระองค์ยอมโอนอ่อนตามข้อเรียกร้องของคณะราษฎร และไม่หลบหนีไปหรือนำกองทหารจากหัวเมืองเข้าปราบปรามคณะราษฎร พระองค์ตรัสว่า “ที่คณะราษฎรทำไปไม่ทรงกริ้วโกรธ และเห็นใจเพราะไม่รู้เรื่องกัน พอทราบเรื่องแล้วก็คาดว่าคงจะเป็นเรื่องการปกครอง เสียพระราชหฤทัยที่ได้ช้าไป ทำความเสื่อมเสียให้เป็นอันมาก”

เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีความจำเพาะอย่างยิ่งและปรากฏอยู่เฉพาะใน “บันทึกลับ” นี้ก็คือความในใจของพระปกเกล้าที่มีต่อข้อความที่ปรากฏใน “ประกาศคณะราษฎร” อย่างเรื่องที่พระองค์ตั้งคนสอพลอรับราชการ และการปล่อยคนโกงให้อยู่ตำแหน่งเป็นต้น พระองค์ได้ปลดคนโกงออกไปหลายคน แต่ที่ยังไม่หมดเพราะลำพังพระองค์เองไม่อาจตามปลดคนโกงได้หมด

“ที่ว่าเอาราษฎรเป็นทาสก็ไม่จริง หรือว่าหลอกลวงก็ไม่จริง และเป็นการเสียหายอย่างยิ่ง แต่อาจจะเป็นว่าได้ปฏิบัติการช้าไป ที่ว่าราษฎรช่วยกันกู้ประเทศนั้นก็เป็นความจริง แต่พระราชวงศ์จักรีเป็นผู้นำ และผู้นำนั้นสำคัญ เสียใจที่ได้ทิ้งเสียไม่กล่าวถึงพระคุณควบไปด้วย เป็นการเท่ากับด่าถึงบรรพบุรุษ เพราะฉะนั้นเสียใจมาก”

เมื่อได้ยินข้อความในประกาศคณะราษฎรแล้วพระองค์จึงไม่ต้องพระราชหฤทัยที่จะเป็นกษัตริย์ต่อไป

“เมื่อเขียนประกาศทำไมไม่นึก เมื่อจะอาศัยกันทำไมไม่พูดให้ดีกว่านั้น และเมื่อพูดดังนั้นแล้วทำไมไม่เปลี่ยนเป็น Republic เสียทีเดียว ไม่ทรงทราบว่าใครเป็นผู้เขียนประกาศนั้น แต่ทรงคิดว่าหลวงประดิษฐมนูธรรมเป็นผู้เขียน จึ่งทรงต่อว่า… ประกาศนี้คงอยู่ในมือราษฎรเป็นอันมาก ทำให้ขาดเสียความนิยม เมื่อไม่นับถือกันแล้วจะให้เป็นกษัตริย์ทำไม”

และทรงพระราชทานข้อแนะนำเกี่ยวกับผู้สืบสันตติวงศ์ว่า

“ผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อไปควรจะเป็นโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ตั้งกรมขุนชัยนาทเป็น Regent ก็สมควร จะได้เป็นการล้างเก่าตั้งต้นใหม่ เพราะพระองค์จะทรงเป็นกษัตริย์นานไปก็จะไม่มีผู้นับถือ หรือคณราษฎรจะเห็นควรกล่าวแก้ไขประกาศนั้นเสียเพียงใดหรือไม่ก็สุดแล้วแต่จะเห็นควร(เพิ่มการเน้นในบทความนี้)

หลังจากที่พระปกเกล้าตรัสความในใจครบถ้วนแล้ว

“หลวงประดิษฐมนูธรรม กราบบังคมทูลว่า พวกคณราษฎรไม่ทราบเกล้าฯ ว่าจะทรงพระราชทาน Constitution คิดว่าการเปลี่ยนแปลงอาจไม่เสด็จกลับ อาจไม่พระราชทานตามที่ขอร้อง เป็นด้วยไม่รู้เท่าถึงพระบรมราชประสงค์ ไม่ใช่เป็นการมุ่งร้ายต่อพระองค์ เมื่อได้ทราบเกล้าดั่งนี้ก็จะไม่มีความเข้าใจผิดอีกต่อไป และคงมีความเคารพนับถือในพระบารมีอยู่ตามเดิม”

โดยในส่วนที่เกี่ยว “ประกาศคณะราษฎร” นั้น

“หลวงประดิษฐมนูธรรม รับจะไปพิจารณาหาทางร่างประกาศถอนความที่ได้ปรักปรำ และขอพระราชทานอภัยให้เป็นที่สมพระเกียรติยศ”

 

(4) พิธีขอพระราชทานอภัยโทษ ของคณะราษฎร เมื่อธันวาคม 2475

 

ก่อนวันประกาศรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 สมาชิกคณะราษฎรได้เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษโดยนำดอกไม้ธูปเทียนทูลเกล้าถวายตามประเพณี และพระยาพหลเป็นตัวแทนกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัย โดยมีเนื้อความที่กล่าวถึง “ประกาศคณะราษฎร” โดยตรงว่า

“การที่พวกข้าพระพุทธเจ้า ได้ประกาศกล่าวข้อความในวันเปลี่ยนแปลงด้วยถ้อยคำอันรุนแรงกระทบกระเทือนถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และพระบรมวงศานุวงศ์ ก็ด้วยมุ่งถึงผลสําเร็จทันทีทันใดเป็นใหญ่ สมเด็จพระมหากษัตราธิราชในพระบรมวงศ์จักรี ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ได้ทรงมีส่วนน่าความเจริญมาสู่ประเทศสยามตามกาลสมัย บัดนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกข้าพระพุทธเจ้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนี้ กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษอีกครั้งหนึ่งเป็นคำรบสองในถ้อยคำที่ได้ประกาศไป” (เน้นตามต้นฉบับ)

หลังจากนั้นพระปกเกล้ามีพระราชดำรัสตอบ ซึ่งนอกจากจะพระราชทานอภัยแล้วยังตรัสชื่นชมที่สมาชิกคณะราษฎรได้กล่าวแก้ไขความในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์จักรีข้างต้น

“ข้าพเจ้ามีความยินดีมากที่ท่านได้คิดมาทำพิธีขอขมาวันนี้เอง โดยที่ข้าพเจ้ามิได้ร้องขออย่างใดเลย การที่ท่านทำเช่นนี้ย่อมเป็นเกียรติยศแก่ท่านเป็นอันมาก เพราะท่านทั้งหลายได้แสดงว่ามีธรรมในใจ และเป็นคนที่สุจริตและใจเป็นนักเลง เมื่อท่านรู้สึกว่า ได้ทำอะไรที่เกินไปพลาดพลั้งไปบ้าง ท่านก็ยอมรับผิดโดยดีและโดยเปิดเผย การกระทำเช่นนี้เป็นของที่ทำยาก และต้องใจเป็นนักเลงจริงๆ จึงจะทำได้ เมื่อท่านได้ทำพิธีเช่นนี้ในวันนี้ก็แสดงให้เห็นชัดว่าการใดที่ท่านได้ทำไปนั้น ท่านได้ทำไปเพื่อหวังประโยชน์แก่ประเทศแท้จริง ท่านได้แสดงว่าท่านเป็นผู้มีน้ำใจกล้าหาญทุกประการ ท่านกล้ารับผิด เมื่อรู้สึกว่าตนได้ทำการพลาดพลั้งไป ดังนี้, เป็นการที่ทำให้ประชาชนรู้สึกไว้ใจในตัวของท่านยิ่งขึ้นอีกเป็นอันมาก ในข้อนี้ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอันมาก(เน้นตามต้นฉบับ)

 

เมื่ออ่าน “ตัวบท” ทั้ง 4 เรื่องตามลำดับเวลาที่ถูกสร้างขึ้นและใช้งานในบริบทของการสื่อสารตามเป้าหมายแรกเริ่มของมัน ก็จะเห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวบทดังกล่าว

หากพิจารณาว่าคณะราษฎรมีวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองและโดยมีพระปกเกล้าครองราชย์ต่อไปในฐานะกษัตริย์พระองค์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ก็อาจจะกล่าวได้ว่า  “ประกาศคณะราษฎร” มีส่วนช่วยให้คณะราษฎรบรรลุวัตถุประสงค์แรก และ “คำกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัย” มีส่วนช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ถัดมา โดยคณะราษฎรยอมกล่าวแก้ไขประกาศฯ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์จักรีเท่านั้น ไม่ได้กล่าวแก้ไขเนื้อความส่วนอื่นๆ ในประกาศฉบับนั้น โดยเฉพาะคำกล่าวที่ว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎร” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ประชาชนไทยยังจำได้จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น เมื่อเราอ่านตัวบททั้ง 4 ตามลำดับของการมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เราก็จะเข้าใจความพยายามของพระปกเกล้าที่จะแสดงรักษาและแสดงภาพลักษณ์ของพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะว่าเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีแนวคิดทางการเมืองการปกครองเหมาะแก่สมัย ซึ่งทรงเห็นด้วยและสนับสนุนช่วยเหลือการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองโดยคณะราษฎรให้ลุล่วงไปด้วยดี แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงสามารถดำรงเกียรติยศของพระราชวงศ์จักรีเอาไว้ได้ด้วย

ยิ่งเมื่อเราพิจารณาว่า “บันทึกลับ” ที่เจ้าพระยามหิธรเป็นผู้บันทึกนั้นน่าจะยังคงเป็นความลับอยู่ในขณะที่มีการทำ “พิธีขอพระราชทานอภัยโทษฯ” ในเดือนธันวาคม 2475 พระราชดำรัสตอบแก่คณะราษฎรที่ว่า “ท่านได้คิดมาทำพิธีขอขมาวันนี้เอง โดยที่ข้าพเจ้ามิได้ร้องขออย่างใดเลย” ก็ยิ่งแลดูมีความหนักแน่นยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่การต่อว่าคณะราษฎรของพระองค์ดังที่ปรากฏใน “บันทึกลับ” มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับ “พิธีขอพระราชทานอภัยโทษฯ”

หากพิจารณาที่เป้าหมายของวัจนกรรมระหว่างของคณะราษฎรกับของพระปกเกล้า จะเห็นได้ว่าคณะราษฎรสามารถบรรลุเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครองและการรักษาเสถียรภาพของระบอบใหม่ได้เป็นอย่างดีในระดับหนึ่ง โดยที่การขอโทษและถอนความบางส่วนของ “ประกาศคณะราษฎร” ทำให้พระปกเกล้าไม่จำเป็นต้องสละราชสมบัติเพื่อรักษาพระเกียรติยศ ในขณะที่พระปกเกล้าสามารถดำรงภาพลักษณ์ต่อสาธารณะของพระองค์ในฐานะผู้สืบทอดมรดกเกียรติยศพระราชวงศ์จักรีได้ในระดับหนึ่ง

การพยายามเน้นย้ำว่าพระปกเกล้ามีพระราชประสงค์ที่จะทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้วโดยที่คณะราษฎรไม่รู้มาก่อน เป็นจุดร่วมที่ทำให้คู่สนทนาทั้งสองฝ่ายสามารถประนีประนอมกันได้ คณะราษฎรสามารถที่จะอ้างได้การว่าการใช้ถ้อยคำรุนแรงในประกาศฯ เกิดจากความไม่รู้นี้ และใช้วัจนกรรมขอโทษเป็นการบรรเทา “การคุกคามหน้า” ของพระปกเกล้าตามที่ปรากฏในประกาศคณะราษฎร ในขณะที่พระปกเกล้าเองก็ทรงสามารถพระราชทานอภัยโทษแก่ถ้อยคำที่รุนแรงของคณะราษฎรได้โดยอาศัยการอ้าง “ความไม่รู้” นี้ด้วย

การอ่านประกาศคณะราษฎรแบบเชื่อมโยงกับตัวบทข้างเคียงที่ยกมาในบทความนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เราเห็นการใช้วัจนกรรมตอบโต้กันไปมาเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองในบริบทของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เท่านั้น แต่ยังเห็น “ความร่วมมือ-ต่อรอง” ในลักษณะที่คล้ายกันกับการสนทนาที่ต่างฝ่ายต่างมีวัตถุประสงค์ของการสนทนาเป็นของตนเอง แต่ก็ต้องอาศัยอีกฝ่ายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นั้น

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save