fbpx

ประวัติศาสตร์ของพรรคการเมืองสำคัญอย่างไร (หรืออนาคตของสามลุง)

เร็วๆ นี้ผมให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เรื่อง “ความเคลื่อนไหวพรรคการเมืองเตรียมพร้อมการเลือกตั้ง หลายพรรคเปิดตัวผู้สมัครนายกรัฐมนตรี และทีมเศรษฐกิจเป็นจุดขายเพื่อชูเป็นนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งใหญ่” (มติชนรายวัน 29 ม.ค. 2566) ประเด็นที่ผมวิพากษ์คือ บรรยากาศความพร้อม ความเต็มที่ของพรรคการเมือง โดยภาพรวมแล้วไม่อยู่ในสภาพการณ์ที่พร้อม คือยังมีจุดอ่อนหลายเรื่อง ตั้งแต่กฎหมายพรรคการเมืองที่แก้ก็ยังไม่ผ่านการประกาศใช้ ยังไม่พูดถึงว่าเนื้อหาของการปรับเปลี่ยนจากบัตรใบเดียวมาเป็นสองใบจะสร้างผลในทางรูปธรรมอย่างไร ไปถึงคณะกรรมการเลือกตั้งที่ยังไม่พร้อมในการจัดการการเลือกตั้งอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

กล่าวโดยรวมคือกลไกและกฎเกณฑ์สำหรับการเลือกตั้งอยู่ในมือและวินิจฉัยของหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ การตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจนั้นแทบไม่มีอย่างจริงจัง นี่คือสิ่งที่การเลือกตั้งทั่วไปต้องมีคือ ‘ยุติธรรมและเสรี’ (free and fair) ผมให้คำตอบว่าจุดอ่อนเหล่านี้เกิดมาจาก ‘การไม่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของพรรคการเมือง’ แต่ผมไม่ได้ให้อรรถาธิบายอย่างละเอียดว่า ข้อวิพากษ์นั้นหมายความว่าอย่างไร ประวัติศาสตร์มาเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้งได้อย่างไร ผมจึงถือโอกาสนี้วิเคราะห์วิจารณ์ข้อคิดนี้โดยเปรียบเทียบกับระบบพรรคการเมืองในสหรัฐอเมริกา จะทำให้เห็นชัดเจนและเข้าใจได้ดีขึ้น

ในขณะที่เวทีหาเสียงทางการเมืองในไทยเริ่มเปิดขึ้น ด้วยเสียงอึกทึกครึกโครมของหัวหน้าพรรคและรัฐบาล ในนามของ ‘สอง ป.’ เพื่อสร้างหัวข่าวหน้าหนึ่งในสื่อมวลชนมากกว่าการเสนอและทำให้แนวนโยบายและวิธีการของพรรคเป็นที่รับรู้อย่างเป็นระบบ ที่เป็นจุดหมายจริงๆ ของพรรคฝ่ายรัฐบาลคือการกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่พวกตนเขียนขึ้นเอง ข้อนี้คงปฏิเสธยากว่าเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากสภาพการณ์ของผู้นำการเมืองโลกขณะนี้ล้วนดำเนินไปในแนวทางเดียวกันนี้หมดเลย คือแทบทุกคนไม่ว่าจุดยืนเป็นแบบเสรีนิยม สังคมนิยม และขวาอนุรักษ์สุดขั้วอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงสีจิ้นผิงและปูตินล้วนต้องการอยู่ในอำนาจและยึดครองอำนาจรัฐต่อไปอย่างไม่มีขีดจำกัด ทำไมอำนาจรัฐปัจจุบันถึงหอมหวานและมอมเมาผู้นำได้อย่างเบ็ดเสร็จ สุดจะพรรณนาได้ คงต้องยอมรับไปอย่างงงๆ ว่ามันเป็นอาการของโรคโลกาภิวัตน์แห่งศตวรรษที่ 21

การวิเคราะห์ถึงจุดอ่อนและความไร้ระเบียบและเอกภาพของพรรคการเมืองไทยอธิบายได้ไม่ยาก เพราะมันไร้ความเป็นมาและความสืบทอดต่อเนื่องของสมาชิกและกลไกทำงานของพรรค จึงมีแต่ปัจจุบันที่สมาชิกและแกนนำต่างใช้อำนาจบารมีของตนเองในการหาเสียง หาผู้สมัคร หาคนลงคะแนนเสียงกันเอง ไม่สามารถอาศัยระบบและกลไกที่เป็นของระบบพรรคการเมืองมาใช้ นอกจากเรื่องเดียวคืออย่าทำให้คณะกรรมการเลือกตั้งลงโทษถึงยุบพรรคก็แล้วกัน นอกนั้นทำได้หมด รวมถึงการไม่ทำตามกติกาและกฎหมายก็ตาม เป็นเสมือนเวทีของการห้ำหั่นและต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด หาไม่ก็ถูกคู่ต่อสู้ทำลายลงไป ในนั้นการเจรจาต่อรองและสร้างกติกาที่จำเป็นในการบรรลุภารกิจของพรรคการเมืองไม่อาจก่อเกิดขึ้นมาได้ เห็นได้จากสภาพที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรไทยที่ล่มแล้วล่มอีกในหลายเดือนมานี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปกติและไม่ควรเกิดอย่างยิ่งหากระบบพรรคเป็นปกติและทำงานได้

ตรงนี้เองที่จะเห็นความแตกต่างในภารกิจของพรรคการเมืองอเมริกันกับไทย พรรคเดโมแครตกับรีพับลิกันมีจุดหมายร่วมกันคือการออกกฎหมายและผลักดันการปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย อันมีผลต่อผู้ลงคะแนนเสียงสามารถรับรู้ได้จากการได้รับผลจากกฎหมายที่บังคับใช้ มีผลต่อคุณภาพชีวิต การใช้ชีวิตตามความเชื่อและประเพณี ไปถึงอนาคตของลูกหลานต่อไป ในขณะที่พรรคการเมืองไทยไม่มีจุดหมายนี้แต่อย่างใด เหตุเพราะว่าไม่เคยอยู่นานเกินสี่ปีหรือสมัยหนึ่ง รัฐธรรมนูญถูกฉีก รัฐสภาถูกล้ม รัฐบาลถูกโค่น ทั้งหมดทำให้ภารกิจการออกกฎหมายไม่เกิด ไม่มีนักการเมืองคนใดเห็นประโยชน์ของการไปหาเสียงผ่านกฎหมายที่ออก

สิ่งที่พวกเขาทำได้ง่ายและได้ผลดีกว่าคือการแจกเงิน ใช้อิทธิพลช่วยเหลือชาวบ้านและพรรคพวกในเรื่องต่างๆ ผลคือสร้างระบบอุปถัมภ์ขึ้นในพรรคการเมือง จนกลายมาเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดการทำงานของพรรค แทนที่พรรคจะเป็นฝ่ายไปกำหนดการทำงานของรัฐบาล หน่วยงานราชการและองค์กรสังคมผ่านกฎหมายที่ออก ในที่สุดพรรคแบบไทยกลายเป็นแค่องค์กรสังคมเช่นสมาคมฌาปนกิจ สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งชาติ เหมือนที่ทำกันในหมู่บ้านอำเภอและจังหวัด ไม่ได้มีฐานะและบทบาทในการกำหนดและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลต่อการพัฒนาประเทศต่อไป ลองนึกดูว่าภาพการหาเสียงของผู้นำพรรคการเมืองและรัฐบาลไทยขณะนี้ว่าเหมือนกับการหาเสียงว่าใครจะเป็นกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านมากกว่าผู้นำประเทศ

ระบบพรรคการเมืองอเมริกันมีวิกฤตถึงขนาดเสื่อมสลายลงไปเหมือนกัน สองครั้งในศตวรรษที่ 19 เป็นยุคของการสร้างประเทศและระบบการปกครองประชาธิปไตยที่เป็นแบบรีพับลิกันคือไม่มีประมุขที่เป็นกษัตริย์ อันเป็นนวัตกรรมล้ำยุคสมัยนั้นที่ประเทศในยุโรปส่วนมากเป็นระบบกษัตริย์หรือจักรพรรดิกัน ระบบสองพรรคที่กำเนิดมาจากอุดมการณ์การเมืองที่ต่างกัน ฝ่ายแรกเป็นพวกเฟเดอรัลลิสต์ (สหพันธรัฐ) ส่งเสริมอำนาจรัฐบาลกลางเหนือกว่ามลรัฐ อีกฝ่ายเป็นเดโมแครต-รีพับลิกัน (ยังไม่ใช่พรรครีพับลิกัน) สนับสนุนและรักษาอำนาจรัฐท้องถิ่นมากกว่าอำนาจส่วนกลาง กล่าวได้ว่าฝ่ายเฟเดอรัลลิสต์นั้นมีศรัทธาในประชาชนน้อยกว่าในรัฐบาลกลาง ส่วนพวกแอนตี้เฟเดอรัลลิสต์นั้นมีศรัทธาในประชาชนมากและศรัทธาในอำนาจรัฐ(บาลกลาง)น้อยกว่า

ต่อมาเมื่อนำเอาคะแนนเสียงทั้งประเทศ (popular vote) จากประชาชนมาใช้นับในการเลือกตั้งสมัยแอนดรูว์ แจ็กสัน (สมัยรัชกาลที่ 3) นำไปสู่การเกิดพรรคมวลชนขึ้น พรรคเดโมแตรตสมัยแอนดรูว์ แจ็กสันจึงเป็นบรรพบุรุษของพรรคเดโมแครตปัจจุบัน ส่วนฝ่ายเฟเดอรัลลิสต์กลายมาเป็นพรรควิก จนมาเจอวิกฤตศรัทธาในปัญหาระบบทาสว่าพรรคจะเอาหรือไม่เอา กระทั่งพรรควิกต้องสลายตัวไปเอง (ไม่ได้ถูกยุบ) จนเกิดพรรคใหม่คือรีพับลิกันขึ้นมา ซึ่งนโยบายหลักคือไม่เอาระบบทาส หลังสงครามกลางเมืองระบบสองพรรคดำเนินต่อไปและยกระดับเป็นระบบชาติในที่สุด

การเป็นระบบพรรคการเมืองระดับชาติแสดงออกในประการแรกคือการเป็นพรรคที่ผู้คนจำนวนมากฝากความหวังในผลประโยชน์ของพวกเขากับนโยบายของพรรค ประการที่สองคือการที่พรรคนำเอาสิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์ของผู้ลงคะแนนเสียงจำนวนมากเข้ามาด้วย อุดมการณ์แรกคือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของปัจเจกชน และขยายไปสู่เสรีภาพในการมีทาสของคนผิวขาวภาคใต้ไปด้วย กล่าวได้ว่าความขัดแย้งระหว่างพรรคในระยะแรกรวมศูนย์ที่ปัญหาว่าจะเอาเสรีภาพหรือเอาทาส ซึ่งจบลงด้วยสงครามกลางเมือง ประการที่สามคือการมีศรัทธาและเชื่อถือในตัวของผู้นำพรรคและสมาชิกพรรค ทั้งหมดนี้ประกอบกันเข้าเป็นกลไกและกระบวนการดำเนินงานของพรรคการเมือง ที่เดินไปด้วยความสัมพันธ์ของทุกองค์ประกอบ ไม่ใช่ด้วยหัวหน้าเพียงคนหรือสองคน ลองสังเกตดูว่าหัวหน้าหรือประธานพรรคการเมืองในสหรัฐฯ ไม่มีความหมายและความสำคัญอะไรมากนัก ดังนั้นโดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีนักธุรกิจอสังหาฯ ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันด้วย จึงแทรกเข้ามาและขึ้นไปบงการสมาชิกพรรครีพับลิกันในรัฐสภาจนปั่นป่วนไปทั่ว เพราะไม่มีใครสามารถบงการสั่งการควบคุมสมาชิกอื่นๆ ได้แม้จะมีตำแหน่งในพรรคระดับนำก็ตาม

ข้อที่น่าสนใจคือพรรคการเมืองอเมริกันเกิดและพัฒนาไปด้วยตัวของมันเอง ท่ามกลางปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจการเมือง จนกว่าจะยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงและพัฒนาต่อไป ไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก (พ.ร.บ.การเลือกตั้ง) หรือคณะกรรมการเลือกตั้งมาควบคุมหรือช่วยพัฒนาให้พรรคการเมืองเดินไปอย่างไร กำเนิดพรรคการเมืองแบบนี้เรียกว่าเป็นการเกิดภายในสถาบันรัฐสภา ส่วนแบบไทยเรียกว่าเกิดจากภายนอกรัฐสภา คือเป็นความต้องการหรือเป็นความฝันของคนนอกทั้งหลาย ที่ช่วยกันเขียนกฎระเบียบประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ให้แก่นักการเมืองและพรรคการเมืองนำไปปฏิบัติ  ส่วนคนที่ต้องปฏิบัติคือนักการเมืองนั้น ไม่เคยได้มีโอกาสอย่างจริงๆ ทั้งภายในพรรคและในสถาบันการเมืองการปกครองที่จะสรุปประสบการณ์และความรู้จากการปฏิบัติขึ้นมาเป็นกฎกติกาที่พวกนักการเมืองจะได้ใช้กำกับการทำงานของพวกเขากันเอง ดังที่นักการเมืองอเมริกันได้กระทำมานับศตวรรษ 

ที่สำคัญต่อการรักษาบรรยากาศและจิตใจแบบประชาธิปไตยเอาไว้ คือการมีพื้นที่ของการเมืองประชาธิปไตยทั่วทั้งประเทศ หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 1789 นำไปสู่การมีรัฐบาลแห่งสหรัฐ (รัฐบาลกลาง) มีสภาคองเกรสและสภาเซเนต ในขณะที่ในระดับมลรัฐก็มีการร่างธรรมนูญของแต่ละรัฐซึ่งก็นำไปสู่การมีรัฐบาลมลรัฐขึ้นมา กระบวนการคัดเลือกอำนาจบริหารและนิติบัญญัติดำเนินไปผ่านการเลือกตั้งอย่างจำกัดของพลเมือง (ยุคแรกคือคนผิวขาว ผู้ชาย และต้องมีทรัพย์สินตามกำหนด โดยผู้หญิงผิวขาวก็ยังไม่ได้สิทธิในการเลือกตั้งจน ค.ศ. 1920 ส่วนคนผิวดำคือ ค.ศ. 1964) การเลือกตั้งเปรียบเสมือนน้ำประสานทองในการช่วยประสานมลรัฐต่างๆ กลุ่มการเมือง ซึ่งมีผลประโยชน์ต่างๆ กัน ทั้งมีความเชื่อในศาสนาแตกต่างกัน รวมถึงคนที่มีชาติพันธ์ุและภาษาต่างๆ กันให้เข้ามารวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในรัฐชาติใหม่ที่เรียกว่าสหรัฐอเมริกา

ทั้งหมดนั้นคือประวัติศาสตร์หรือชีวิตของพรรคการเมืองและนักการเมืองอเมริกันที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทุกคนจึงต้องมี ‘ขวัญใจ’ (ไอดอล) แม้กระทั่งอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งนอกคอกและไม่สนใจจารีตประเพณีใดๆ ในระบบการเมืองอเมริกันก็ตาม ก็ยังมีขวัญใจที่มีรูปติดในห้องทำงานรูปไข่ของเขาคือแอนดรูว์ แจ็กสันและอับราฮัม ลิงคอล์น ลองคิดถึงนายกรัฐมนตรีไทยว่าแต่ละคนมีใครเป็น ‘ขวัญใจ’ บ้าง หายาก เพราะไม่รู้จะชูอุดมการณ์อะไรที่คนทั้งประเทศเห็นด้วยอย่างไม่มีเงื่อนไข อดีตสมาชิกรัฐสภามีชื่อ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ สมัยที่ทำหน้าที่ในรัฐสภา เคยต้อนรับแขกต่างประเทศที่มาเยี่ยมรัฐสภาไทย พาไปชมห้องประชุม ได้รับคำถามเชิงสนเท่ห์จากแขกต่างชาติว่า ทำไมภาพของผู้นำการเมืองในรัฐสภาไทยถึงมีแต่นายทหารทั้งนั้น นักการเมืองพลเรือนไม่มีเลยหรือ ไกรศักดิ์เล่าให้ฟังว่าเขาอายมากในเวลานั้นเพราะไม่รู้จะอธิบายตอบอย่างไรว่า ก็เพราะเราไม่เคยเป็นประชาธิปไตยนี่หว่า!

พูดถึงโดนัลด์ ทรัมป์อดไม่ได้ที่จะต้องวิเคราะห์บทบาทของเขาในสถานการณ์การเมืองยุคโลกแตก เขาเป็นคนแรกที่ปฏิเสธการดำเนินการปกครองตามระเบียบและกติกาที่เคยทำกันมาก่อน เขาทำให้ผมนึกเปรียบเทียบว่า หากทรัมป์ทำได้สำเร็จ หมายความว่าระบบการเมืองและพรรคการเมืองที่มีประวัติศาสตร์ก็ไม่มีความจำเป็นหรือเป็นเงื่อนไขที่ต้องมีก่อนจะทำให้ระบบพรรคมีประสิทธิภาพและมีความสง่างามและศักดิ์ศรีในตัวได้ พูดอย่างสั้นๆ ผมมองถึงขนาดว่า โดนัลด์ ทรัมป์กำลังประพฤติปฏิบัติเหมือนกับผู้นำพรรคการเมืองและรัฐบาลในประเทศด้อยพัฒนาและด้อยประชาธิปไตยทั้งหลาย ไม่ว่าการละเมิดกฎหมาย การใช้ระบบอุปถัมภ์ แต่งตั้งลูกสาวและลูกเขยเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีและคุมทำเนียบขาวอย่างไม่เคยมีมาก่อน คณะรัฐมนตรีประกอบไปด้วยคนที่เห็นด้วยยอมตามเขาทุกอย่าง ประธานที่ปรึกษาใหญ่ทำเนียบขาวหรือ Chief of Staff อันเป็นตำแหน่งสำคัญที่สุดรองจากประธานาธิบดีเอง ก็เอาแต่คนที่ไม่เห็นต่าง เห็นค้านหรือสงสัยในวิธีการและวัตถุประสงค์ของประธานาธิบดี มากกว่าพิจารณาถึงความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารรัฐบาลและรัฐสภา

รัฐบาลทรัมป์จึงมีการเปลี่ยนตัวประธานที่ปรึกษาใหญ่ทำเนียบขาวมากที่สุดในประวัติการณ์ จนถึงคนสุดท้ายคือมาร์ก เมโดวส์ที่ดึงตัวมาจากรัฐสภา เขาเป็นคนที่วางแผนและช่วยทรัมป์หาทางทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นโมฆะ แม้จะต้องใช้การยึดรัฐสภาด้วยม็อบมวลชนเอียงขวาก็ตาม ซึ่งในธรรมเนียมของทำเนียบขาวแล้ว มันเป็นการทำหน้าที่ที่ผิดอย่างมหันต์ เพราะหน้าที่ของประธานคณะที่ปรึกษาทำเนียบขาวที่คนยอมรับและยึดถือเป็นแบบฉบับคือคนที่ต้องสามารถคิดต่างคิดค้านความคิดและวิธีการของประธานาธิบดีได้ หากเรื่องนั้นๆ ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือความถูกต้อง คนที่ได้รับการยกย่องคือนายเจมส์ เอช. เบเกอร์ (James H. Baker III) อดีตประธานที่ปรึกษาใหญ่สมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนและจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช ที่ตรวจสอบประเมินเรื่องทุกเรื่องก่อนส่งเข้าห้องประธานาธิบดี พร้อมที่จะปฏิเสธและเสนอข้อคิดต่างให้แก่ประธานาธิบดีทุกครั้งที่จะเกิดปัญหา ไม่แปลกใจที่ทำไมนโยบายสมัยประธานาธิบดีเรแกนซึ่งเป็นอดีตดาราหนังฮอลลีวูดถึงประสบความสำเร็จในการบริหารปกครองประเทศในยุคที่เศรษฐกิจการเมืองโลกมีการเปลี่ยนผ่านสำคัญภายใต้นโยบายเสรีนิยมใหม่หลายอย่างได้ ไปถึงการเจรจาที่ยุติสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียตได้ในที่สุด

ล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดนก็แต่งตั้งประธานที่ปรึกษาทำเนียบขาวคนใหม่ นายเจฟ ไซเอนต์ (Jeff Zients) แทนนายรอน เคลน (Ron Klain) ที่เพิ่งลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัว เขาทำงานการเมืองกับพรรคเดโมแครตมาหลายสมัยตั้งแต่คลินตันถึงโอบามาและโจ ไบเดนตอนที่เป็นรองประธานาธิบดี มีประสบการณ์ในการจัดการด้านนิติบัญัติ ซึ่งเป็นภารกิจหลักของพรรคคือการออกกฎหมายสำคัญ รอน เคลนสามารถเจรจาต่อรองกับนักการเมืองฝ่ายซ้ายเช่นเบอร์นี แซนเดอร์ได้ ทำให้รัฐบาลไบเดนสามารถบรรลุการผลักดันให้กฎหมายสำคัญที่ใช้งบประมาณมหาศาลสองฉบับในการแก้ปัญหาโควิดและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานหรือแก้ปัญหาเงินเฟ้อผ่านไปได้ในที่สุด

ทั้งหมดนี้เห็นได้ว่า พัฒนาการและการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองการปกครองอเมริกัน สามารถเข้าใจได้เพราะทุกเรื่องมีประวัติศาสตร์ของมันอยู่ มีความเป็นมา ที่ทำให้คาดการณ์ได้ว่าอนาคตจะนำไปสู่อะไร ไม่ว่ารัฐบาลและรัฐสภาจะตกอยู่ในมือของพรรคการเมืองใดและประธานาธิบดีอะไรก็ตาม ทุกอย่างอยู่ในสายตาและในวิจารณญานของประชาชนและสื่อมวลชนทั้งประเทศ การปกปิดหมกเม็ดแบบที่ทำกันอยู่ในระบบการเมืองและรัฐบาลไทยจึงไม่อาจทำได้ เพราะเขาไม่ได้ปกครองโดยผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน

ลองเดาดูว่าอนาคตทางการเมืองของลุงทรัมป์กับสองลุง ป. ใครจะไปถึงจุดจบหรือหลักชัยก่อนกัน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save